Wednesday, 7 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘ดีพร้อม’ ยกระดับกาแฟภาคเหนือตอนบนไทย ปั้น ‘แลนด์มาร์กอาราบิก้า’ ชิงแชร์ 4 หมื่นล้าน 

ดีพร้อม ติดสปีดผู้ประกอบการ “กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบน” โตทะลุ 5 พันล้าน พร้อมปรับแนวทางธุรกิจรับยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) - เทรนด์โลกกับคาเฟ่ครบวงจร 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ต้อนรับเปิดประเทศ และสอดรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจรจากต้นสู่แก้ว (Coffee to Cup : C2C) ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน ได้ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟในภาคเหนือตอนบนเติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมเผยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว รับการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) รวมถึงพฤติกรรมการเว้นระยะห่าง และการปรับรูปแบบการเลือกซื้อสินค้า อาทิ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟ การเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด พร้อมยกระดับกาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบนให้มีมาตรฐาน และเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญในระดับโลก

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศ และในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบนโยบายให้ดีพร้อมเร่งฟื้นฟูภาคส่วนสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งการเข้าถึงวิสาหกิจชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ โดยนโยบายที่สำคัญด้านหนึ่งคือการยกระดับกาแฟอาราบิก้าให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพและทำให้ภาคเหนือตอนบนเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในปี 2562 จนถึงปัจจุบันได้ผลักดันทักษะของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในภาคการผลิตและภาคบริการให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

การพัฒนาดังกล่าว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟของภาคเหนือตอนบน เติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเป็นแรงผลักดันให้การเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 10-15% โดยตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 37,000 - 38,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดกาแฟในประเทศไทยอยู่ที่ 42,537 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟสด 4,119 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 อัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8% ต่อปี ส่วนกาแฟสำเร็จรูปอยู่ที่ 38,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.3 และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อศึกษามูลค่าในระดับโลกยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในช่วงระหว่างปี 2564 - 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% และมีมูลค่าที่สูงมากถึง 191.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมยังได้มีการศึกษาภาพรวมในตลาดกาแฟซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ การลดบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านจากมาตรการล็อกดาวน์ ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 และเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การดื่มกาแฟสด - เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากช่องทางออนไลน์และดิลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ ด้วยแนวทางที่สำคัญดังนี้...

นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน  โชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยืนยันเดินหน้าสนับสนุนและร่วมมือกับไทยทุกด้าน 

ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) ผ่านรูปแบบผสมระหว่างการเข้าพบหารือและการประชุมทางไกล (hybrid) โดยมีนาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก USABC และผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ จำนวน 49 บริษัท เข้าร่วมการประชุมฯ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

นาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สอท. สหรัฐฯ ประจำประเทศไทย การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ไทยเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานและความมั่นคงอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นหลัก พร้อมชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าต้องการจะขยายการลงทุนในไทย และยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า

นายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้พบหารือกับผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ซึ่งถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในการเยือนภูมิภาคประจำปีของ USABC และถือเป็นมิตรของไทยที่พบกันเป็นประจำทุกปี รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นว่าร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวมกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวร้อยละ 6.19 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมทั้งในทางนโยบายทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ การส่งเสริมพลังงานสะอาด การพัฒนา เทคโนโลยี EV และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง ยั่งยืน และหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่ดีในการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกบริษัทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน 

นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 3 ประการหลักที่ไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal อย่างยั่งยืน มั่งคั่ง และเข้มแข็ง ดังนี้

1. การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจโดยมุ่งดูแลฐานทรัพยากร และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งด้านพลังงานสะอาด ไทยจะเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และการพัฒนาอุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ของโลก    

2.  การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง ในภูมิภาค โดยเฉพาะในสาขาแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับไทยและภูมิภาคในระยะยาว ผ่านการพัฒนาความร่วมมือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นจุดหมายปลายทางของ Medical Tourism อันดับต้นของโลก

3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรับมือกับความท้าทายในยุค Next Normal มุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง data center และศูนย์กลางคลาวด์ในระดับภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบแบ่งปันและบริการคลาวด์ ส่งเสริม e-commerce ธุรกิจ digital startups และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 15 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลด้วยการเสริมทักษะแก่บุคลากร ขณะเดียวกันได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกันขับเคลื่อน Digital Thailand ผ่านการลงทุน ณ Digital Valley และ IoT Institute ใน EEC อาทิ การรักษาแบบ Telemedicine    

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ภายใต้แนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและทุกภาคส่วน จึงหวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมทำงาน และสนับสนุนประเด็นที่ให้ความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากไทยไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2566 อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่าไทยเป็นตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ และยืนยันความร่วมมือในการส่งเสริมและขยายการส่งออกต่อไป โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสาธารณสุข ยินดีจะยืนเคียงข้างไทย รวมทั้งชื่นชมการเปิดประเทศและความมุ่นมั่นของไทยที่จะเพิ่มเติมบทบาทด้านการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า ซึ่งทางคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ยินดีที่จะสร้างความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบและใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการต่อสู้สถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน และจะติดตามการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ซึ่งขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นต่อไป

กนอ.- GPSC - TTM ลงนามศึกษาโรงไฟฟ้า เล็งใช้พลังงานสะอาด หนุนภาคการผลิต

กนอ. ลงนามร่วม GPSC - TTM ศึกษาและวิจัยพัฒนาโรงไฟฟ้าป้อนภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เล็งสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า หนุนพลังงานสะอาด มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดึงความเชื่อมั่นการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่ออุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ระหว่าง กนอ. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท  ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย ) จำกัด หรือ TTM เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของในพื้นที่ภาคใต้ โดยโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ปี 2565 - ปี 2566) 

ทั้งนี้ กนอ. เลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาด้านพลังงานหลากหลายรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ได้

“ความร่วมมือครั้งนี้ กนอ. จะจัดหาข้อมูลรายละเอียดเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต รวมถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ และรองรับการขยายการลงทุนสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกรสวนยางพาราของไทย ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางของประเทศในอนาคต” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

น่าห่วง! เปิดผลสำรวจเอสเอ็มอีซมพิษโควิดปิดกิจการเพียบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยหลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข จากกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอีจำนวน 625 รายทั่วประเทศ พบว่า แม้ปัจจุบัน รัฐบาลจะมีการคลายล็อกกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วก็ตาม

แต่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 40.1% ยอมรับว่าได้รับผลกระทบมากและมีโอกาสปิดกิจการ ถึงแม้ว่ารัฐจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาลดผลกระทบ แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้ โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องเนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องของการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันและเงื่อนไขของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามามีส่วนทั้งต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากการผลิตสินค้าและต้นทุนที่สูงขึ้นจากมาตรการโควิด-19 จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ดีขึ้น การลดหย่อนภาษี สำหรับอนาคต และการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคการท่องเที่ยว และขอให้รัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนสามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากมี สัดส่วนต่อจีดีพี ถึง 20% คิดเป็นเงิน 2-3 ล้านล้านบาทต่อปี 

นายกฯ ปลื้ม!! หารือผู้ก่อตั้ง 'หัวเว่ย' ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนไทย

25 พ.ย. 64 ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเหริน เจิ้งเฟย (Mr. Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของการหารือว่า

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย ชื่นชมการดำเนินกิจการของบริษัทหัวเว่ยฯ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำของโลก ขอบคุณบริษัทฯ ที่ได้สนับสนุนรัฐบาลในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการบริจาคหน้ากากอนามัยและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ขอบคุณความร่วมมือที่มีให้รัฐบาลไทย และขอบคุณที่เลือกทีมงานที่มีศักยภาพและความพร้อมมาประจำการที่ประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการร่วมงานกับรัฐบาลไทยเสมอมา 

นายธนกร กล่าวว่า ด้านนายเหรินฯ กล่าวยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นการพบกันผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศซึ่งไทยสามารถบริหารสถานการณ์ให้ดีขึ้นจนประกาศการเปิดประเทศ ขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่รัฐบาลไทยมีให้หัวเว่ยตลอดมา ทั้งนี้หัวเว่ยต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างแท้จริง 

คลังหนุนรถยนต์ไฟฟ้า เล็งลดภาษี-ตั้งกองทุน หวังดึงราคาต่ำลงคนจับต้องได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เตรียมพิจารณามาตรการส่งเสริมการใช้และการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ เพราะปัจจุบันราคารถไฟฟ้ายังมีราคาสูง อาจไม่จูงใจให้คนมาใช้ จึงต้องทำให้กลไกราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน ส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้า อาจต้องใช้กลไกของสถาบันการเงินรัฐ เข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้น 

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการคลัง พร้อมสนับสนุน ทั้งด้านภาษีสรรพสามิต ผ่านการปรับลดโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะสามารถเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง รวมทั้งการหากลไกเข้าไปสนับสนุนราคารถยนต์ไฟฟ้าให้ราคาถูกลง ผ่านการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น การจัดตั้งกองทุน ซึ่งขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณา และเรื่องการส่งเสริมลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า  ให้มีสถานีชาร์จกระจายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

นับหนึ่งลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หลังช้ามานาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธาน ในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับดีที่สุด เป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน และมติ ครม. ได้อนุมัติไว้

สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ โครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ F1 แล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ส่วนท่าเทียบเรือ F2 จะแล้วเสร็จปี 2572 และเมื่อโครงการในระยะที่ 3 แล้วเสร็จจะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี รับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก เป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่ง ยกระดับไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลกโดยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต) มีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี 

"จุรินทร์" สั่งลุย "ตลาดข้าวส่งออก" เร่งส่งเสริมการขายในต่างประเทศ เน้นเชิงรุก ทั้ง "เจรจา-โปรโมชั่น-OBM"

นางมัลลิกา บุญมีตระกูลมหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามรายงานสถานการณ์ตลาดข้าวโซนใกล้ โดยสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงาน พร้อมนายจุรินทร์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการตามแผนโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวประจำปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 โดยยึดหลักการ “ตลาดนำการผลิต” โดยอาศัยเครือข่ายของทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้การส่งออกข้าวไทยบรรลุเป้าหมายปริมาณ 6 ล้านตันตลอดปี 2564

นางมัลลิกา ระบุว่า ทั้งนี้ตลาดส่งออกข้าวไทยบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาด เห็นได้จากอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ตลาดญี่ปุ่น นำเข้าข้าวจากไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณ 215,580 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่า 3,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวขาว 100% เป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ตามลำดับ ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ขนมเซมเบ้ ผลิตเหล้าอาวาโมริ ซึ่งเป็นเหล้าพื้นเมืองของจังหวัดโอกินาวา ข้าวหอมมะลิของไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่นิยมอาหารไทย และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นซึ่งนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวมากกว่าข้าวเมล็ดสั้น

รวมทั้งข้าวเหนียวจากไทยยังได้รับการยอมรับจากชาวญี่ปุ่นว่า มีคุณภาพดีและสามารถนำมาผลิตเหล้าสาเกได้รสชาติดีเยี่ยมอีกด้วย โดยทีมเซลส์แมนที่โตเกียวได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Rakuten การร่วมกับทีมเซลส์แมนจังหวัดจัดเจรจาการค้าออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งแพลตฟอร์มแนะนำร้านอาหาร “Tabelog” ซึ่งเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับซูปเปอร์มาเก็ต Beisia ในเมืองรอง การใช้การ์ตูนคาแรคเตอร์มาประชาสัมพันธ์ข้าวไทย การส่งเสริมการจำหน่ายอาหารไทยผ่านรถอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัค เป็นต้น

ตลาดจีน นำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 339,177 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.15 คิดเป็นมูลค่า 5,716.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ39.19 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยทีมเซลส์แมนประเทศที่จีนได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสินค้าข้าวไทยทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การจำหน่ายข้าวไทยผ่านร้านขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มเถาเป่า การจัดกิจกรรม In-Store Promotion การร่วมมือกับร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ส่งเสริมการใช้ข้าวไทยในเมนูอาหารและให้ Key Opinion Leader (KOL) รีวิว รวมถึงการจัดทำคลิปวิดีโอสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้าวไทยให้เพิ่มขึ้น

ตลาดมาเลเซีย นำเข้าข้าวจากไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก.ค. - ก.ย. 64) มูลค่ารวม 30.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 5,239.66 และเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 594.39 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการซื้อเพื่อกักตุนหรือสำรองไว้ที่บ้านช่วงที่มีมาตรการ Lockdown รวมถึงการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายรัฐซึ่งแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ อาทิ เคดาห์ กะลันตัน ตรังกานู (ฝั่งตะวันตก) ซาบาห์ และซาราวัก (ฝั่งตะวันออก)ตลาดฟิลิปปินส์ ปริมาณนำเข้าข้าวจากไทย 95,999 ตันในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 51.09 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีโดยมีปัจจัยบวกทั้งจากผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวไทยที่มีแนวโน้มลดลงในระดับที่แข่งขันได้ รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยที่ผ่านมา ทีมเซลส์แมนประเทศที่กรุงมะนิลาได้จัดกิจกรรมขยายตลาดข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดประชุมหารือกับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวไทยผลิตภัณฑ์ข้าวไทยภายใต้แคมเปญ Think Rice Think Thailand ร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ซึ่งช่วยกระตุ้นการจำหน่ายและการบริโภคข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์เป็นอย่างดี เป็นต้น 

สมอ. เตือนอย่าลืมติด QR code ย้ำต้องแสดงคู่เครื่องหมาย มอก. ให้เช็กได้ 

สมอ. ย้ำเตือนผู้รับใบอนุญาต มอก. กว่า 10,000 ราย ต้องแสดง QR code รายละเอียดสินค้าคู่กับเครื่องหมาย มอก. ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ พร้อมทั้งร้องเรียนในกรณีสงสัยในคุณภาพของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังจากมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ฝ่าฝืนปรับ 3 แสนบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล โดยเฉพาะภารกิจด้านการอนุญาตที่ต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถตรวจสอบได้ เช่น รายละเอียดข้อมูลของสินค้าที่ได้มาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ประกาศให้ผู้รับอนุญาตทุกรายต้องแสดง QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าด้วย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2563 ที่กำหนดให้ผู้รับอนุญาตทุกราย ต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้า หรือสิ่งบรรจุ หีบห่อ สิ่งหุ้มห่อด้วยก็ได้ โดยให้เห็นได้ง่ายและชัดเจน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและร้องเรียนได้ว่า สินค้าดี มีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งที่เป็นผู้ทำในประเทศ และผู้นำเข้ากว่า 10,000 ราย จำนวนใบอนุญาตกว่า 80,000 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 800 มาตรฐาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.มาตรฐานฯ และกฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตทุกรายจะต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าด้วย สมอ. จึงได้จัดทำเป็น QR Code เพื่อให้ผู้รับอนุญาตนำไปแสดงบนสินค้าที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าได้ง่าย ๆ เพียงสแกน QR Code ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้

“สมอ. ขอย้ำเตือนผู้รับใบอนุญาตทุกราย รีบดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หาก สมอ. ตรวจพบจะตักเตือนก่อนในครั้งแรก และหากยังพบการกระทำผิดซ้ำ จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตอีกด้วย โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tisi.go.th และ www.facebook.com/tisiofficial หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองตรวจการมาตรฐาน 1 โทร. 02-430-6822, กองตรวจการมาตรฐาน 2 โทร. 02-430-6823 และกองตรวจการมาตรฐาน 3 โทร. 02-430-6824” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘อรรถวิชช์’ คาใจ!! ผุด Sandbox ‘ชะอำ-หัวหิน’ แต่กลับดื่มในร้านไม่ได้ กระทบนักท่องเที่ยวหด

‘อรรถวิชช์’ คาใจ รัฐบาลลืมปลดล็อก ‘ชะอำ-หัวหิน’ แม้ประกาศเป็น Sandbox แต่กลับดื่มในร้านไม่ได้ ทำนักท่องเที่ยวไม่มา วอนขอมาตรฐานเดียวกับกรุงเทพฯ 

นายอรรถวิชช์ สุวรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กว่า... 

วันนี้ผมมาร่วมแถลงข่าวงาน ‘หัวหินวินเทจคาร์พาเหรด’ จัดขบวนรถโบราณหาชมยากกว่า 50 คัน ขับจากกรุงเทพ - หัวหิน ในวันที่ 17 - 19 ธ.ค. 64 ช่วยโปรโมตการท่องเที่ยว หัวหิน-ชะอำ 

ผมทำมาติดต่อกันเป็นปีที่ 19 จนอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของ ททท. และปฏิทินกิจกรรมผู้รักรถโบราณและรถคลาสสิกทั่วโลก 

มีเรื่องคาใจผมมาก คือ หัวหิน - ชะอำ ถูกประกาศเป็นเขต Sandbox ท่องเที่ยว แต่กลับดื่มสุราในร้านอาหารในโรงแรมไม่ได้ ทำแบบนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหนีหมด 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top