Wednesday, 7 May 2025
ECONBIZ NEWS

เอกชนหวังยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปีถึงเป้า 1.6 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภทช่วง 10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.64) มีทั้งสิ้น 1.365 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 22.89% ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก 788,826 คัน เท่ากับ 57.75% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.77% โดยทั้งปี ส.อ.ท. ยังคงเป้าหมาย ยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปี 64 จำนวน 1.6 ล้านคัน ยอดการส่งออกทั้งปี 850,000 คัน และยอดจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน 

“ตอนนี้ยังไม่ปรับเป้า และยังคงติดตามสถานการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งปัจจัยเรื่องกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน การเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยว และการจัดงานมอเตอร์เอ็กโป ช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ จะช่วยดันยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

‘เฉลิมชัย’ ปูพรมเกษตรกรรมยั่งยืน 1.7 ล้านไร่ เดินหน้าดันฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล

“เฉลิมชัย” โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ปี 64 กว่า 1.7 ล้านไร่ เร่งเครื่องวางหมุดหมายฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล ดึง “พอช.” ลุยชุมชนสีเขียวพร้อม ผนึก “ศธ.” ปั้นกรีนสกูล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (18พ.ย.) ว่าดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ ZOOM โดยมีนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม, นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย, ตัวแทนหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ตัวแทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), เครือข่ายของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย, ตัวแทนภาคเกษตรกร ร่วมในการประชุม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคีภาคส่วน ทำให้การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากรายงานการดำเนินงานของหลายหน่วยงานสามารถขยายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประจำปีงบประมาณ 2564 ได้กว่า 1,766,269.15 ไร่ ทั้งในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล (Tambom Sustainable Agriculture Development Project : TAP) ซึ่งมีเป้าหมาย 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ โดยจะเน้นส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในทุกตำบล และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนกินได้ อยู่ได้ และอยู่ดี ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน” ใน 21 แนวทางได้แก่ 

(1) 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ 
(2) 1 ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรตำบล
(3) 1 ตำบล 1 แปลงเกษตรอินทรีย์ 
(4) 1 ตำบล 1 Product Champion 
(5) 1 ตำบล 1 วนเกษตร 
(6) 1 ตำบล 1 กลุ่ม Young Smart 
(7) 1 ตำบล 1 เกษตรธรรมชาติ 
(8) 1 ตำบล 1 แปลงสมุนไพร 
(9) 1 ตำบล 1 เกษตรผสมผสาน 
(10) 1 ตำบล 1 กลุ่มปศุสัตว์ 
(11) 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 
(12) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง 
(13) 1 ตำบล 1 องค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 
(14) 1 ตำบล 1 ท่องเที่ยวเกษตร 
(15) 1 ตำบล 1 โครงการชลประทานชุมชน 
(16) 1 ตำบล 1 เครือข่าย ศพก. 
(17) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) 
(18) 1 ตำบล 1 วิสาหกิจชุมชน 
(19) 1 ตำบล 1 กลุ่มเครื่องจักรกลเกษตร 
(20) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ 
(21) 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน 

ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการขับเคลื่อนต่อไป 

‘สุริยะ’ แนะปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ - ไฟฟ้าลัดวงจร

กระทรวงอุตสาหกรรม ห่วงใยและเตือนประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ปล่อยโคมลอย ที่ได้มาตรฐาน มผช. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าลัดวงจร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปล่อยโคมลอย ควรยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้ 

จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยกำหนดเป็นมาตรการสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการ พัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของผู้ผลิตชุมชนมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ให้สามารถผลิตสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตชุมชนสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายไม่ซับซ้อน ช่วยให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย และได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และประกาศใช้แล้วจำนวน 1,355 มาตรฐาน รวมทั้งให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชนแล้วจำนวน 18,270 ราย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างยั่งยืน “โคมลอย” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีการผลิตโดยใช้    ภูมิปัญญาชาวบ้าน และนิยมปล่อยกันในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมทางภาคเหนือของไทย 

'นายกฯ' หารือ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) ตัวแทนภาคเอกชนขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญ ย้ำความพร้อมในการสนับสนุนร่วมมือนายกฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (American Chamber of Commerce in Thailand: AMCHAM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักธุรกิจบริษัทสมาชิก เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้  
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ พร้อมขอบคุณ AMCHAM และภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ในรูปแบบ Next Normal และการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมขอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป 

นาย Gregory Wong ประธาน AMCHAM กล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้พบปะกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนสมาชิกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 400 คน โอกาสนี้ ประธาน AMCHAM เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก พร้อมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้รับคะแนนดีเยี่ยมจากภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในเรื่องของการเปิดกว้างและการปรับตัว การประชุมในวันนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปิดรับและยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ประธาน AMCHAM แสดงความประทับใจต่อแผนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกประเด็น รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย โดยขอให้ไทยมอง AMCHAM เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทยอย่างดีเยี่ยม
 
โอกาสนี้ ตัวแทนจากบริษัท 3 ประเภทหลัก ได้แก่ บริษัทข้ามชาติ บริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ลดอุปสรรคในการลงทุน โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนและกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ทั้งนี้ตัวแทนจากบริษัทฯ ประทับใจนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของรัฐบาลไทย 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแนวนโยบายของไทย โดยกล่าวถึงสถานการณ์โควิด - 19 ในประเทศว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตวัคซีน AstraZeneca ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนให้แก่ไทยและภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีความสมดุลระหว่างการป้องกันโรคกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบาย Smart Control and Living with COVID-19 รวมถึงมีการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  
 
โดยรัฐบาลให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างการดําเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และเกิดผลเป็นรูปธรรม ที่เมืองกลาสโกว ตลอดจน ไทยส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านนโยบายพลังงาน 4D1E และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles: EV) ผ่านนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินดีร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างห่วงโซ่ อุปทานที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคตามนโยบาย Thailand+1 
 
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในอนาคตและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ตามกรอบ Digital Thailand และนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การส่งเสริม e-commerce การส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจ digital startup การบริหารการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนากฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเขตนวัตกรรม EECd  
 
อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยมีความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้ 1. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน 2. การพัฒนาการให้บริการของภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 3. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าถึงและขยายช่องทางการตลาดทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนงานบริการของภาครัฐแก่ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) 12 ประการ และมาตรการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ผ่านการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว 
 

'โฆษกรัฐบาล' เผย การขนส่งสินค้าท่าเรือกลับมาคึกคักยอดการส่งออกไทย 9 เดือนแรกขยายตัว 15.5 % เป็นไปตามข้อสั่งการ ”นายก”

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานของในรอบปีงบประมาณ 2564  (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง รวม 13,840 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.9% สินค้าผ่านท่า 111.630 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.9% และตู้สินค้าผ่านท่า 9.857 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 8.6% รวมรายได้ 15,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ  6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% ซึ่งการเติบโตของตู้สินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการที่ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นต่อเนื่อง

อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สั่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในภาคธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลทันที ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านโดยรัฐบาลมีการมาตรการต่างๆ  อาทิ กรมเจ้าท่าออกประกาศให้เรือที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้าเทียบท่า ปรับลดภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ  ชดเชยค่ายกตู้ขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ท่าเรือแหลมฉบับ เป็นต้น ช่วยบรรเทาการขาดแคลนตู้สินค้า สนับสนุนให้ค่าระวางเรือขนส่งจากไทยลดลง ส่งผลให้บริการสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าสูงขึ้นด้วย

นายธนกร กล่าวว่า ที้งนี้ ผลการดำเนินงาน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่ผ่านมา ดังนี้ 
1) ท่าเรือกรุงเทพ เรือเทียบท่า 4,170 เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.1%  ตู้สินค้าผ่านท่า 1.438 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 0.2%
2) ท่าเรือแหลมฉบัง เรือเทียบท่า ลดลง 1.0%   ตู้สินค้าผ่านท่า 8.419 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 10.2%
 3) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เรือเทียบท่า 2,231 เที่ยว ลดลง 10.5% ตู้สินค้าผ่านท่า 5,064 ที.อี.ยู. ลดลง 32.3%
4) ท่าเรือเชียงของ เรือเทียบท่า ลดลง 96.6% สินค้าผ่านท่า ลดลง 98.9%
 5) ท่าเรือระนอง เรือเทียบท่า เพิ่มขึ้น 15.9% ตู้สินค้าผ่านท่า เพิ่มขึ้น 53.0%
โดยในปีงบประมาณ 2565  นี้ ยังประมาณการตู้สินค้าผ่านท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ 1.43 ล้าน ที.อี.ยู. และท่าเรือแหลมฉบัง 8.243 ล้าน ที.อี.ยู. ด้วย 

 

ไฟเขียว! กรอบวงเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ ปี 65 จำนวน 4,700 ล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดคัดเลือกสหกรณ์ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายจัดการของสหกรณ์กับคณะกรรมการของสหกรณ์ ในการที่จะดูแลส่งเสริมให้ความรู้ทั้งด้านการบริหารจัดการ การบริหารสินเชื่อ การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯได้จัดสรรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์นำไปเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก จุดประสงค์หลักของกองทุนคือการเสริมสร้างสหกรณ์ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่ผ่านมามีสหกรณ์หลายแห่งที่นำเงินกู้ กพส.ไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ สามารถพัฒนาธุรกิจสหกรณ์จนเติบโตก้าวหน้า สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและทำให้สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งกองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. เกิดจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท ปัจจุบัน กพส. มีทุนดำเนินงานกว่า 6,400 ล้านบาท 

กพร. เปิดตัว ‘แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออน’ ต้นแบบครั้งแรกของไทย เล็งต่อยอดป้อนอุตฯ EV

กพร. เปิดตัวแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบครั้งแรกของไทย หนุนห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบว่า กพร. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต 

ด้วยปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และประเทศไทยก็ได้กำหนดนโยบาย 30@30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle : ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 โดยอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ คิดเป็นต้นทุนหลักประมาณ 40% ของรถยนต์ไฟฟ้า และมีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกโดยใช้วัตถุดิบชนิดอื่น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเทียมและมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้ อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตเซลล์ต้นแบบ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีศักยภาพที่จะถูกพัฒนามาเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้ 

‘บิ๊กตู่’ ยอมรับ ‘กองทุนน้ำมัน’ ติดลบ เตรียมกู้ 2 หมื่นล้าน ตรึงราคาดีเซลอีก 4 เดือน

“บิ๊กตู่” ยอมรับกองทุนน้ำมันติดลบ ครม. อนุมัติขอเงินกู้อีก 2 หมื่นล้าน คาดสำรองจ่ายได้อีก 4 เดือน “วอน” รถบรรทุกอย่ากดดัน เตรียมรถ “บขส.-รถทหาร” ขนสินค้าแทนรถบรรทุกประท้วงราคาดีเซลแพง

เมื่อเวลา 13.15 น. ที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังกลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนขบวนรถบรรทุกในถนน 4 สายหลัก และมาชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ว่า ยืนยันแล้วว่าเราต้องรักษาให้ได้ในราคา 30 บาทต่อลิตรก่อน และถ้าราคาน้ำมันมีการปรับลดลงทุกอย่างก็จะดีขึ้น เพราะขนาดตรึงแค่ราคา 30 บาท ก็ใช้เงินอุดหนุนไปประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาทลงไป  

ในส่วนของกองทุนน้ำมันนั้นอยู่ในสภาพที่ติดลบแล้ว และวันเดียวกันนี้ ครม. ได้มีการอนุมัติ เงินกู้ไปเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายสำรองไว้ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าราคาน้ำมันลดลงก็ไม่มีปัญหาทุกอย่างก็จะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็จะลดลงมาเอง 

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่มีความพยายามกดดันด้วยการนำรถบรรทุกเคลื่อนไหวบนถนนสายหลัก และมาชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานก็เป็นความเคลื่อนไหวของสมาคมรถบรรทุก ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายสมาคมยอมรับว่ามีคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องดูแลทุกคนซึ่งรัฐบาลก็จำเป็นต้องดูให้ละเอียดถี่ถ้วน 

‘สุริยะ’ ยกทัพลงกระบี่ ชี้ช่องเพิ่มมูลค่า SMEs พร้อมฟังข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดกระบี่ ร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, พังงา, ระนอง และสตูล) เร่งยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ตั้งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการและร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในพื้นที่ และนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง พังงา, ระนอง และสตูล) โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังบริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด (ตามมติ ครม.) อาทิ ยูคาลิปตัส, กระถินณรงค์, กระถินเทพา, มะพร้าว, มะขาม, ไม้จามจุรี ฯลฯ  

โดยการอัดน้ำยาอบแห้ง เพื่อทำลังไม้ และไม้รองสินค้าเพื่อจำหน่าย มูลค่าการลงทุนกว่า 390 ล้านบาท กำลังการผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปกว่า 11 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มูลค่าการส่งออกกว่า 200 ล้านบาท/ปี โดยเป็นการส่งออก 90% ใช้ในประเทศ 10% ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมในหลายด้าน เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยทางบริษัทได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการยกระดับบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการมาตรการ Bubble and seal ด้วยการแยกพนักงานออกเป็นกลุ่มย่อยและไม่ให้ทำงานเข้ากลุ่มกัน รวมถึงจำกัดพื้นที่ หรือการเดินทางภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งโรงงานจะจัดเตรียมที่พักสำหรับพนักงาน ขณะที่พนักงานที่ติดเชื้อจะถูกแยกไปตามพื้นที่ที่จัดสรรตามระดับอาการป่วยเพื่อรับการรักษาต่อไป

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ MOU ป้องโกง จุดเปลี่ยนซื้อขายออนไลน์ ยกระดับมาตรฐาน ทำลายล้างสินค้าไม่ตรงปก

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ว่า…

ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ในวันนี้ กระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม มีพันธกิจที่จะเสนอแผนและนโยบายระดับชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดยหนึ่งในหน่วยงานสังกัดของเรา คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก โดย ETDA จะมีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ... 

1.) กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมดิจิทัล 

2.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

และ 3.) ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top