Wednesday, 7 May 2025
ECONBIZ NEWS

กนง.มติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ประคองเศรษฐกิจ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง.ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศ รวมทั้งการเร่งกระจายวัคซีนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานโลกเป็นหลัก 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง 

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น ในระยะต่อไป แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐจะแผ่วลงหลังจากที่ได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวตามปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลงในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านสูงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้และข้อจำกัดด้านอุปทานในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ 

“บิ๊กตู่” กำชับพาณิชย์เร่งดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดราคาพุ่ง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ว่า เรื่องนี้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก เนื่องจากผลผลิตปาล์มของอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายสำคัญออกสู่ตลอดน้อยลงมากกว่า 5% อันเป็นผลจากสถานการณ์โควิด ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์และกำชับให้กระทรวงพาณิชย์เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค 

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสกัดตรึงราคาน้ำมันปาล์มดิบให้มากที่สุด และจากการสำรวจราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในห้างค้าปลีกค้าส่งอยู่ที่ 50 – 53 บาทต่อขวด แต่จะเป็นการปรับตัวในระยะสั้นตามภาวการณ์ของตลาดโลก และในช่วงปลายปีจะมีปริมาณน้ำมันถั่วเหลืองเข้ามาทดแทนน้ำมันปาล์มมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน

”นายกฯ” เตรียมร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 พร้อมรับมอบการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมปี 65 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2564 โดยมีกำหนดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรีร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC – Leaders’ Dialogue) วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน ช่วงบ่าย ​นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาในการประชุม APEC CEO Summit เวลา 18.00 น. ​นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 โดยในตอนท้ายของวันที่ 12 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีจะร่วมพิธีรับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปค ซึ่ง นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จะส่งมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปคให้นายกรัฐมนตรีไทย

นายธนกร กล่าวว่า ในปี 2564 นี้ นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในหัวข้อหลัก (Theme) ร่วมกัน ทำงาน เติบโต ไปด้วยกัน (Join, Work, Grow. Together.) และได้นำเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นได้แก่ 1. นโยบายเศรษฐกิจ และการค้าที่ส่งเสริมการฟื้นฟู (Economic and Trade Policies that Strengthen Recovery) 2. การเพิ่มการมีส่วนร่วมและความยั่งยืนเพื่อการฟื้นฟู
(Increasing Inclusion and Sustainability for Recovery) 3. การมุ่งสู่นวัตกรรม
และการฟื้นฟูที่ใช้ดิจิทัล (Pursuing Innovation and a Digitally-Enabled Recovery)

ประเมินน้ำท่วมสูญ 1.6 ล้านไร่ เสียหาย 5,400 ล้าน

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงหลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 5,400 ล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพิจิตร เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2564 ส่งผลเสียหายน้อยเมื่อเทียบกับมหาอุทกภัยในปี 2554 และปัญหาภัยแล้งในปี 2558 โดยอุทกภัยปี 2554 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43,600 พันล้านบาท ขณะที่ภัยแล้งในปี 2558 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่  2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10,500 ล้านบาท

ธ.ก.ส.จัดเงินกู้หนุนเกษตรกรมีเงินทุนปลูก “กัญชง กัญชา กระท่อม”

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลผลักดันโครงการเงินทุนสนับสนุนการเพาะปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ผ่านสินเชื่อ ธ.ก.ส “ธุรกิจชุมชนสร้างไทย” กรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก 0.01% ต่อปี มีเงื่อนไขในการขอสินเชื่อเบื้องต้น คือ 1. ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 2. มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลระหว่างผู้ขอกู้กับหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือให้บริการทางการแพทย์  และ 3. ต้องได้รับใบอนุญาตให้ผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้อนุมัติสินเชื่อวิสาหกิจชุมชนไปแล้วกว่า 10 ราย จาก 157 ราย

“นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการเกษตรไทยโดยเฉพาะค้นหาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ตามนโยบายส่งเสริมเกษตร BCG  ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จนนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 โดยปัจจุบันพืช 3 ก. อันได้แก่ กัญชง กัญชา กระท่อม เป็นพืชที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถยกระดับกลายเป็นอาชีพทางเลือก”

สภาอุตฯ ชงข้อเสนอรัฐบาล 4 ข้อเร่งฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้จัดทำข้อเสนอถึงภาครัฐเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ 4 ข้อ คือ

1. เร่งรัดการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนตามเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. ภาครัฐควรมีแผนรองรับการเปิดประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจ

3. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรค เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

และ 4. ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการภาคอุตสาหกรรม

รมว.เฮ้ง สั่งกกจ.ดันโครงการช่วย SMEs หวั่นนายจ้าง สถานประกอบการ SMEs ลงทะเบียนรับสิทธิไม่ทัน

รมว.แรงงาน ย้ำเตือนนายจ้างสถานประกอบการ ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อรับสิทธิภายใน วันที่ 20 พ.ย. 64  มอบกกจ.แจงชัดวิธีลงทะเบียน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชิญชวนนายจ้าง/สถานประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม และมีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” เพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 -มกราคม 2565 โดยเงินจำนวนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณี ไม่ต้องนำไปคิดเป็นรายได้ หรือคำนวณเป็นรายจ่ายในการหักภาษี ซึ่งการอุดหนุนเงินช่วยนายจ้างในโครงการฯ นี้เป็นสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง ที่รัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องเสริมสภาพคล่อง สร้างความแข็งแรงและฟื้นฟูกิจการในธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. - 8 พ.ย. 64 มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 98,135 ราย หรือร้อยละ 24.86 ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 1,645,539 คน หรือร้อยละ 40.8 โดยมีนายจ้างจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนร่วมโครงการ ซึ่งกรมการจัดหางานกำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึง วันที่ 20 พ.ย. 64  หรือขณะนี้เหลือเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น
“ผมฝากถึงพี่น้องสื่อมวลชน ช่วยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs อีกแรง เพื่อให้นายจ้างในกิจการเล็กๆ ที่ยังไม่ทราบข่าวว่าตนมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐไปฟื้นฟูกิจการ เงื่อนไขของโครงการไม่ยาก หลักฐานที่ต้องยื่นเฉพาะที่จำเป็นเพื่อเป็นยืนยันว่านายจ้างมีตัวตน เป็นสถานประกอบการตัวจริง มีการจ้างงาน และจ่ายประกันสังคมให้พนักงานของท่านจริงเท่านั้น ผมเองได้สั่งการกรมการจัดหางาน เร่งโทรศัพท์หานายจ้างในพื้นที่รับผิดชอบทุกวัน หวังให้นายจ้างไม่เสียสิทธิ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า  

นายจ้างสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” เพื่อรับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ และหากไม่สะดวกดำเนินการผ่านระบบด้วยตนเอง สามารถนำเอกสารซึ่งประกอบด้วย หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ สำเนาหน้าสมุดธนาคาร (กรณีใช้บัญชีกระแสรายวัน ให้ใช้สมุดหน้าเช็คที่มีชื่อนายจ้างและเลขบัญชี) และสำเนาหนังสือรับรองการจะทะเบียนนิติบุคคล หรือสำเนาบัตรประชาชน (นายจ้างบุคคลธรรมดา) โดยลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมให้ติดต่อที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 
สำหรับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการมีดังนี้ 

ทช. ดัน 2 สะพานข้ามทะเล ‘เกาะลันตา & สงขลา’ รอเสนอ ครม.สัญจร อนุมัติงบก่อสร้าง 6.2 พันลบ.

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) แจ้งว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เตรียมลงพื้นที่ จ.พัทลุง และ กระบี่ เพื่อตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและติดตามโครงการในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมรวมทั้งเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. นี้

ในส่วนของ ทช.จะเสนอความคืบหน้าการดำเนินงาน 2 โครงการ งบประมาณรวม 6,283 ล้านบาท ได้แก่ 

1.) โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง - ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ระยะทาง 2.200 กม. วงเงิน 1,648 ล้านบาท โดยออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเรียบร้อย อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนม.ค. 65 รวมทั้งเสนอ ครม. ขอยกเว้นมติห้ามใช้ป่าชายเลนในเดือนก.พ. 65 และเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าก่อสร้างโครงการเงินกู้ หากได้รับอนุมัติจะประกวดราคาหาผู้รับจ้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 66 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปี 69

ลักษณะโครงการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เชื่อมต่อเกาะลันตากับแผ่นดินใหญ่ จุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 4206 ต.เกาะกลางสิ้นสุดเชื่อมต่อกับทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ต.เกาะลันตาน้อย ความยาวรวม 2.200 กม. ช่วงสะพานยาว 1.920 กม. และทางเชื่อมยาว 280 เมตร สะพานมีขนาด 2 ช่องไปกลับ กว้างช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางกว้างด้านละ 2.50 เมตร สามารถจัดให้เป็น 4 ช่องได้ในอนาคต 

ส่วนรูปแบบสะพานมีความกว้างช่องลอด 110 เมตร ความสูงช่องลอด 15.40 เมตร เพื่อใช้เดินเรือ ประกอบด้วย สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balance Cantilever Bridge) เมื่อแล้วเสร็จจะลดเวลาการเดินทางเพียง 2 นาที ตลอด 24 ชม. จากปัจจุบันข้ามแพขนานยนต์จากท่าเรือบ้านหัวหิน ต.เกาะกลาง ไปเกาะลันตาน้อยประมาณ 2 ชม. รวมทั้งมีข้อจำกัดให้บริการ 06.00 น. - 22.00 น.

ธุรกิจโรงแรมที่พักเดือนต.ค.เริ่มฟื้น ทยอยปัดฝุ่นเปิดให้บริการแล้ว 67%

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก ประจำเดือนตุลาคม 2564 ระหว่างวันที่ 11-28 ตุลาคมที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 189 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักแรมได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย ทำให้เห็นโรงแรมทั่วประเทศกลับมาเปิดกิจการตามปกติ 67% เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน อยู่ที่ 51%

จากภาพรวม โรงแรมในทุกภูมิภาคกลับมาเปิดกิจการปกติเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีโรงแรมที่ยังไม่กลับมาเปิดกิจการปกติ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มองว่า ต้นทุนในการเปิดดำเนินการ อาทิ ค่าสาธารณูปโภค และค่าจ้างพนักงาน อยู่ในระดับสูง และนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ โดยมีโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราว ประมาณ 8% ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 23.5% เพิ่มขึ้นประมาณ 51.6% จากเดือนกันยายน ที่มีอัตราเข้าพัก 15.5% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของโรงแรมในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เป็นเพราะรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงโรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 6.38% จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ 25% ซึ่งเป็นเดือนที่โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

‘สสว.’ ชู ‘SME Restart’ ขานรับเปิดประเทศ ดัน 5 องค์ความรู้ท่องเที่ยววิถีใหม่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ปลายปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ (SME Restart) ปีงบประมาณ 2564 หรือโครงการ SME Restart ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สสว. และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการขานรับแผนการเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งประกาศโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ผอ.สสว. เผยอีกว่า วัตถุประสงค์โครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเข้มแข็งขึ้นและสร้างรายได้ให้ประเทศ เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี โดยโครงการดังกล่าว ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ และสามารถดำเนินการได้ใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี และพังงา ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top