Friday, 9 May 2025
ECONBIZ NEWS

'ช.การช่าง-ไอทีดี' พร้อม!! เริ่มก่อสร้าง 65 คาดพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2570

เพจ ข่าวรถไฟ โพสต์ข้อความระบุว่า ปักหมุดเตรียมก่อสร้างสายสีม่วงใต้!

ตอนนี้ก็รู้ผลกันแล้วว่า สายสีม่วงใต้ใครจะได้บริษัทอะไรบ้างสร้างในช่วงไหนบ้าง โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ทาง รฟม. หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยผลการประกวดราคาจ้างการก่อสร้างดังนี้

สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน - หอสมุดแห่งชาติ ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ CKST-PL JOINT VENTURE (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน))

สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ CKST-PL JOINT VENTURE (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน))

“สุชาติ” รมว.แรงงาน เผยข่าวดี ผู้ประกันตนมาตรา 40 เฮ!! อีกรอบ ครม.เห็นชอบของขวัญปีใหม่ 65 ลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 60 ต่ออีก 6 เดือน (ก.พ. – ก.ค. 65)

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการ จ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงกำหนดที่รัฐบาลอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน พ.ศ. ...

ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 จากกระทรวงแรงงาน ที่พร้อมมอบให้กับผู้แรงงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ และสมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ ต่ออีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในงวดเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในอัตราใหม่ 3 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย จากเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่ เป็น 42 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 2 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ จากเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 3 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร จากจากเดิมจ่าย ในอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 180 บาท/เดือน

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับทั้ง 3 เลือก ยังคงเดิม ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน สำหรับขั้นตอนของกฎกระทรวงดังกล่าว กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนดต่อไป

ครม. ให้ ก.แรงงาน ปรับสูตรคำนวณบำเหน็จชราภาพ กรณีผู้ประกันตนที่รับบำนาญเสียชีวิต 

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับเงินบำเหน็จชราภาพในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน 

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท โดยได้รับมาแล้ว 20 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60 - 20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท 

2.บุคคลซึ่งถูกงดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุเสียชีวิต หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนครั้งสุดท้าย ก่อนกลับเขาเป็นผู้ประกันตน เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน”

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือน ต่อมากลับเข้ามาทำงาน เงินบำนาญชราภาพดังกล่าวจะถูกงดจ่าย และเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60 - 20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท

ครม.เห็นชอบ ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.40 อีก 6 เดือน เริ่ม 1 ก.พ.- 31 ก.ค.65

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 – 31 กรกฎาคม 2565 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

“สุชาติ” รมว.แรงงาน แจ้งข่าวดี นายจ้าง! ประกาศขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงานจากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้าง และเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครองประกอบกับเพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และส่งเสริมการคงระยะห่างทางสังคม โดยสนับสนุนให้นายจ้างทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบัดนี้ กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศดังกล่าว ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 เป็นต้นไx

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การขยายกำหนดเวลาให้นายจ้างยื่นแบบและนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ในครั้งนี้ว่า นายจ้างจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะขยายกำหนดเวลาในกรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4)พ.ศ.2558 โดยวิธีการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการนับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เงินสมทบงวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2566 รวม 24 เดือน

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! ‘แผนคุมโควิด-ฉีดวัคซีน’ อุตฯ เข้ม!! ดันดัชนีผลผลิตฯ 64 ทะลุเป้า พ่วงยอดส่งออกสูงลิ่ว

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 6.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.93 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 23.56 มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้าเพื่อการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 5.93 สูงกว่าเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการซึ่งจากเดิมคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0-5.0 นอกจากนี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2565 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) เดือนธันวาคมที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 23.56 ซึ่งมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 19,572.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนธันวาคม 2564 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป

“สถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังประเทศคู่ค้ามีมาตรการรับมือทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น รวมถึงตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ” นายสุริยะ กล่าว 

‘จุรินทร์’ กาง 7 แผนสอดรับ Saudi Vision 2030 เน้นขยายการค้า บุกตลาด ‘ฮาลาล’ เต็มพิกัด

หลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ วิเคราะห์สถานการณ์การค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบีย หากมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน สืบเนื่องจากการเยือนของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบียนั้น

ล่าสุด นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงข้อวิเคราะห์และรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมือง เจดดาห์ ระบุว่า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย พระองค์เป็นมกุฎราชกุมารและเป็นว่าที่กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียองค์ต่อไป ทั้งยังเป็นผู้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ที่ใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศซาอุดีอาระเบีย การที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทยมีโอกาสเข้าเฝ้าหารือกับเจ้าชายนั้น ทำให้เป็นโอกาสที่ซาอุดีอาระเบียจะฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในหลายด้าน เช่น การผ่อนปรนการเข้าออกประเทศ การผ่อนปรนมาตรการทางการค้า การสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น การร่วมลงทุนและการนำแรงงานฝีมือจากประเทศไทยเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย
ส่วนแผนงานและกิจกรรม ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยส่งเสริมการค้าระหว่างไทย วางแผนตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของนายจุรินทร์ กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้แก่... 

1.) การจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเปิดกว้างทางวัฒนธรรมของซาอุฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 
2.) การจัดคณะผู้แทนการค้านักธุรกิจทั้งจากไทยไปซาอุฯ และจากซาอุฯ มาเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างกัน 
3.) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุฯ เช่น ข้าว อาหารฮาลาล และผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น 
4.) การเชิญผู้ประกอบการไทยร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุฯ เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าฮาลาล Saudi Food Expo 
5.) การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารสินค้าฮาลาล ผ่านช่องทางออนไลน์
6.) การเชิญผู้นำจากซาอุฯ ร่วมเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ Online business Matching 
7.) การเชิญผู้นำจากประเทศซาอุฯ ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติของไทย ทั้งรูปแบบปกติ หรือรูปแบบไฮบริด และรูปแบบออนไลน์ 

โดย 7 แผนงานนี้ จะมีขึ้นในปี 2565 ขอให้ติดตามความเคลื่อนไหวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และอยากแนะนำให้ติดตามข่าวสารโดยผ่านทุกช่องทางของกระทรวง ผู้ประกอบการที่สนใจจะได้โอกาสและไม่พลาดตลาดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง

'รัฐบาล' ยืนยันความพร้อมเปิดประเทศอีกรอบ 1 ก.พ.นี้ แบบเทส แอนด์ โก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลยืนยันความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบเทส แอนด์ โกได้อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมรับแนวทางการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้เดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่รัดกุม เพื่อให้ประชาชนในหลายๆ สาขาอาชีพ มีงาน มีรายได้ เพื่อตนเองและครอบครัว แต่ไม่ขัดต่อสถานการณ์การควบคุมโรคโควิด -19 ของทั่วโลก

สำหรับความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศอย่างเต็มที่ภายใต้มาตรการสาธารณสุขขั้นสูงสุด ได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ภายใต้มาตรการคัดกรองที่เข้มงวด และตามแนวทางด้านสาธารณสุข โดยได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ปรับมาตรการเพิ่มเติมด้านสาธารณสุข รวมทั้ง ได้มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคต

ททท.เร่งโปรโมทดึงคนซาอุฯ เที่ยวไทย หลังฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยและซาอุดีอาระเบีย หลังจากทั้ง 2 ประเทศกลับมาการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีอีกครั้งในรอบ 30 ปี ว่า ททท. จะเร่งเดินหน้าวางแผนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเสนอขายการท่องเที่ยว เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวในซาอุดีอาระเบียได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เพราะผ่านมาทางการซาอุดีอาระเบีย ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบีย เดินทางไปยังประเทศไทย สำหรับการท่องเที่ยว แต่อนุญาตให้เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล การติดต่อเจรจาธุรกิจหรือทางราชการเท่านั้น 

สำหรับแผนการทำการตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ททท.จะร่วมมือกับ 3 สายการบินหลักในพื้นที่ตะวันออกกลาง ทั้งเอมิเรตส์ แอร์ไลน์, กาตาร์ แอร์เวย์ และ เอทิฮัด แอร์เวย์ส ที่มีเที่ยวบินเชื่อมโยงมาประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เคยเดินทางมาไทย โดยลงโฆษณาผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย การจัดทริปท่องเที่ยวให้กับเอเย่นต์ทัวและสื่อมวลชนของซาอุดีอาระเบีย และการใช้ Arab KOLs ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลทางความคิดในการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทย

คลังเปิดจีดีพีทั้งปี 64 โตแค่ 1.2% คาดปี 65 เร่งขึ้นเป็น 4% ได้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น 

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 - 4.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามา 7 ล้านคน ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 3.6% ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top