Wednesday, 23 April 2025
POLITICS NEWS

มาแล้ว เนติบริกร ‘วิษณุ’ ยันคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ "ธรรมนัส" ไม่พ้นตำแหน่งไม่ขัดความเห็นกฤษฎีกา ชี้พ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี ระบุ กระแสวิจารณ์เรื่องจริยธรรมไม่เกี่ยวข้อกฎหมาย

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงการเกษและสหกรณ์ ไม่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี เนื่องจากไม่ขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.และ รัฐมนตรี กรณีเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือออสเตรเลีย ความผิดคดียาเสพติด เมื่อปี 2536 ว่า เคยมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำสั่ง ว่าหากถูกพิพากษาจำคุกในหรือต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. แต่กรณี ร.อ.ธรรมนัสถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดียาเสพติด ตั้งแต่ ปี 2536 และพ้นโทษ เมื่อปี 2540 ถือว่าพ่นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย

นายวิษณุ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ความเหมาะสม จริยธรรม ว่า ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่จะวิจารณ์กัน ส่วนจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. วินิจฉัยในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ในข้อกฎหมาย ถือว่าสิ้นสุดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า จากที่เป็นประเด็นถกเถียงข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญควรจะทำคำชี้แจงกับสังคมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรือพูดอะไรเพิ่มเติม เพราะได้วินิจฉัยจบแล้ว ส่วนผลทางวิชาการ ทางการเมือง แล้วแต่จะวิจารณ์กันไป ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน และใช้ได้กับความผิดทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่ความผิดคดียาเสพติดอย่างเดียว แต่ไม่ใช่การล้างมลทิน เพราะเป็นเรื่องคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งอาจจะมีมลทินก็ได้

‘สัณหพจน์’ จี้ ‘พาณิชย์’ เร่งรับซื้อ ‘พริกเขียว’ เท่าเทียม หลังพบไปซื้อแต่ที่ ‘สงขลา’ แต่ไม่แวะมา ‘นครศรีฯ’

ส.ส.พปชร. นครศรีฯ ติงกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน วางกรอบการรับซื้อ ‘พริกเขียว’ อย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรการที่ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน หลังเกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ยังคงเดือดร้อนหนัก ขายพริกราคาขาดทุน แนะหน่วยงานรัฐเกษตรฯ-พาณิชย์ บูรณาการทำงานร่วมกัน

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ กระทรวงพาณิชย์โดย กรมการค้าภายใน ออกมาตรการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือรับซื้อพริกขี้หนูดวงมณี หรือ พริกเขียวหัวไทร ราคากก.ละ 5 บาท จำนวนเป้าหมาย 3,000 ตัน ว่า วานนี้ (5 พ.ค.64) ตนได้ทราบข้อมูลจาก ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.เขต 4 จ.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ถึงกระบวนการรับซื้อพริกเขียวในพื้นที่จ.สงขลา

ทั้งนี้พบว่า กรมการค้าภายใน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ได้ประสานให้ผู้รับซื้อพริกเขียว จากเกษตรกรในพื้นที่ในพื้นที่ อ.ระโนด และอ.สทิงพระ จ.สงขลา ในราคา กก.ละ 10 บาท แล้ว พร้อมทั้งบันทึกหลักฐานการรับซื้อจากเกษตรกรแต่ละราย เพื่อจะได้สนับสนุนงบช่วยเหลือ 5 บาท/กก.ให้กับเกษตรกร โดยมีจำนวนการรับซื้อที่ 1,000 ตัน

ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกพริกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จำนวน 1,072 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 2,000 ไร่ ใน 6 อำเภอคือ อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.เมือง ผลผลิตรวมประมาณ 10,117 ตัน/ฤดูกาล ยังคงประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ เนื่องจากผู้รับซื้อได้รับซื้อผลผลิตในราคา กก.ละ 7-8 บาท จากที่ก่อนหน้านี้ 2-3 วันที่ผ่านมา ราคาพริกเขียวตกต่ำจนถึง กก.ละ 6 บาท โดยผู้รับซื้อแจ้งว่ายังไม่ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานราชการใด ๆ

“จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวของพี่น้องเกษตรกร ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เก็บผลผลิต เนื่องจากกำลังรอการอนุมัติงบช่วยเหลือจากกรมการค้าภายในก่อน ซึ่งในช่วงนี้มีฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกุ้งแห้ง ซึ่งจะทำให้พริกยืนต้นตาย ยิ่งจะทำให้เกษตรกรขาดทุนมากยิ่งขึ้น

เบื้องต้นทราบแต่เพียงการกำหนดจำนวนรับซื้อที่ 1,000 ตันนั้น ซึ่งเท่ากันทั้ง 2 จังหวัดคือ จ.สงขลา และจ.นครศรีฯ หากเปรียบเทียบจำนวนผลผลิตแล้ว จ.สงขลาผลิตได้วันละ 20 ตัน ขณะที่จ.นครศรีฯ มีผลผลิตพริกออกสู่ตลาดมากถึงวันละ 80-100 ตัน ผลผลิตรวมต่อฤดูกาลถึง 10,117 ตัน/ฤดูกาล ซึ่งตนมองว่า มีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม” นายสัณหพจน์ กล่าว

ดังนั้นตนจึงอยากให้ กรมการค้าภายในได้กำหนดกรอบการรับซื้อพริกเขียวจากเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตพริกของเกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดทุกวัน หากปล่อยไว้นาน จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ภาคประชาชนสังคม และ ส.ส.หรือผู้แทนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ วันนี้จำเป็นที่จะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะพี่น้องประชาชนกำลังเดือดร้อน

ไทย-สหราชอาณาจักร พร้อมร่วมมือด้านวัคซีนควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เดินหน้าการลงทุนทั้งทวิภาคิและพหุภาคี

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้อนรับ นายไบรอัน จอห์น เดวิดสัน (H.E. Mr. Brian John Davidson) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ที่เข้าเยี่ยมคารวะเพื่ออำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ขอแสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของดุ๊กแห่งเอดินบะระ เชื่อว่าพระกรณียกิจที่พระองค์ทรงทุ่มเทเพื่อสาธารณประโยชน์จะอยู่ในความทรงจำของทั่วโลกตลอดไป ขอบคุณเอกอัครราชทูตที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่ดีตลอดช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งในไทย

ด้านเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยสำหรับความร่วมมือที่ดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และพหุภาคีระหว่างกันเป็นไปด้วยดี เชื่อมั่นว่าไทยและอาเซียนยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก พร้อมที่จะสนับสนุนนักลงทุนจากสหราชอาณาจักรให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน อาทิ ด้านพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ ทั้งนี้ ขอบคุณที่ไทยตอบรับข้อเสนอเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด (Ten for Ten) เชื่อมั่นไทยจะได้รับความสนใจด้านการลงทุนมากขึ้น อีกทั้ง ชื่นชมแนวทางการทำงานของไทย แนวคิดการจัดการวัคซีนของไทยที่ต้องการให้เป็นยาพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งวัคซีนแอสตร้าซีเนก้าเป็นวัคซีนที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเชื่อมั่นและไทยโดยบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้รับเลือกเป็นศูนย์กลางการผลิตเเละกระจายวัคซีนโควิดของแอสตร้าซีเนก้า 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตฯได้แลกเปลี่ยนแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 “Build back better” ไทยหวังว่าจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า และกลไกสนับสนุนอื่น ๆ ที่ได้ลงนามไป จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันโดยเร็ว โดยเชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือกับไทยจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรสามารถเพิ่มบทบาทในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้น ซึ่งเอกอัครราชทูตเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยที่จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมสหราชอาณาจักรกับอาเซียน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอินโดแปซิฟิก 

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอื่นๆ อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม ไทยพร้อมสนับสนุนสหราชอาณาจักรในการเป็นประธานการประชุม COP26 และหวังว่าผลลัพธ์ของการประชุมส่งผลสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา สหราชอาณาจักรชื่นชมและเข้าใจในแนวทางปฏิบัติของไทย ที่ได้แสดงออกถึงความห่วงใยต่อประเทศเพื่อนบ้าน การช่วยเหลือประชาชนผู้หนีภัยตามหลักมนุษยธรรม และการสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ถูกใจมั้ย!!! ครม. เทกระจาด เคาะรัว ๆ มาตรการเยียวยาโควิดระลอกใหม่ แจกแหลก ทั้ง ‘คนละครึ่ง-เราชนะ-ม.33เรารักกัน’ เพิ่มให้คนละ 2,000 บาท คนละครึ่งเฟส 3 อีกคนละ 3,000 บาท บัตรคนจน-กลุ่มเปราะบาง ได้ด้วย

จากการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

เริ่มจาก มาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 คนละ 3,000 บาท จำนวน 31 ล้านคน คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 93,000 ล้านบาท ระยะเวลาเดือนก.ค.-ธ.ค.64

ต่อด้วย โครงการเราชนะ จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน เพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64

ขณะที่โครงการ ม.33 เรารักกัน กลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน ได้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ วงเงินรวม 18,500 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64

นอกจากนี้ ยังอนุมัติขยายวงเงินให้กับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ประชาชน 13.65 ล้านคน ให้เงินค่าครองชีพแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม) และเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจำนวนเป้าหมาย 2.5 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.)

พร้อมอนุมัติมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาตามมาตรการเดิมที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.64 ต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย.-พ.ค.

โดยให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าดังนี้

กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง

กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้

1.) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.64

2.) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.64 ในอัตราร้อยละ 50

3.) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าขอใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.64 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

มาตรการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก โดยมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพ.ค.ถึงมิ.ย.64

ส่วน มาตรการลดค่าน้ำประปา ให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพ.ค.-มิ.ย.64

สุดท้าย ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ผ่านโครงการ ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ โดยรัฐสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชน ที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า อาหารและเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนอีกด้วย

ศปฉ.ปชป. รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีเตียง 25 เม.ย - 6 พ.ค 64 ช่วยได้เกินร้อย เริ่มมีกลับบ้านได้

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป) รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2564 ดังนี้

รับเรื่องไป 150 ราย

ช่วยเหลือไป  144 ราย 

โรงพยาบาล 81 ราย (กลับบ้านได้แล้ว 1 ราย /เสียชีวิต 1 ราย)

โรงพยาบาลสนาม 19 ราย

Hospitel  44 ราย

โดยเคสอื่น ๆ ที่เหลือขณะนี้พรรคได้รับข้อมูล ประสานงานกลับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกราย และส่งต่อข้อมูลไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดสรรตามมาตรการต่อไป

ทั้งนี้ สัญญาณในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดค้าง ไม่มีเตียง เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้มีการปรับรูปแบบกระบวนการทำงาน ทำให้ทีมประสานงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ศปฉ.ปชป.สามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น ส่งตัวผู้ป่วยได้เร็วขึ้น ไม่ค้างในระบบยกเว้นกลุ่มผู้ป่วยหนัก ICU ที่ยังต้องรอเตียงอยู่บางส่วน และมีสัญญาณที่ดีจากผู้ป่วยบางกลุ่มที่เริ่มกลับบ้านได้จากการที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็วจึงทำให้ได้รับการรักษาแบบทันท่วงที

“เป็นที่น่าเสียใจว่าวันนี้มีผู้ป่วยสูงอายุที่เราประสานงานและพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เสียชีวิต 1 ราย จึงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้ป่วยบางรายที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ซึ่งถือเป็นข่าวดีในทุกครั้งที่ได้ยินว่าผู้ป่วยรอดและปลอดภัย” นางดรุณวรรณ กล่าว

หากต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งผ่านมาที่ผู้ประสาน ศปฉ.ปชป ได้ที่กล่องข้อความในเฟซบุ๊ก facebook.com/DemocratPartyTH ทวิตเตอร์ twitter.com/democratTH หรือ BLUE HOUSE ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ และช่วยเหลือประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ 02-828-1010

จุรินทร์ ฟันธง! รัฐบาลมุ่งแก้โควิด ส่วนการเมืองยังไม่วิกฤต ย้ำรัฐบาลต้องตระหนักไม่สร้างเงื่อนไขเพื่อปัญหาทางการเมืองผ่อนเบาลง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองบ้านเมืองปัจจุบัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่าตนมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นปกติที่การเมืองจะนิ่ง 100% ในทุกสถานการณ์เป็นไปไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน ขัดแย้งกันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ถ้ามองในภาพรวมประเทศของเราเผชิญกับ 3 ปัญหา (1.) โควิด (2.) เศรษฐกิจ (3.) การเมือง ทั้ง 3 ปัญหานี้สัมพันธ์กันและเป็นเรื่องปกติ หลายประเทศในโลกก็เจอทั้ง 3 ปัญหานี้อยู่ที่ว่าเราจะคลี่คลายสภาพปัญหาในรูปแบบไหน

ที่ผ่านมาเรื่องโควิดรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ มีความคืบหน้าในเรื่องของวัคซีนที่ประชาชนอยากเห็นว่ารัฐบาลจะตัดสินใจทางไหน ขณะนี้สัญญาณชัดอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของคนจำนวนมาก คือ เปิดโอกาสให้เอกชนทำได้สามารถนำเข้าวัคซีนได้ด้วยเพื่อผ่อนแรงของภาครัฐ คิดว่าหลายฝ่ายก็เห็นสอดคล้องกัน

"ในเรื่องของเศรษฐกิจรัฐบาลก็พยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหา เมื่อวานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือกับทุกภาคส่วนที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในส่วนที่ผมรับผิดชอบการส่งออกตัวเลขดีขึ้นเป็นลำดับ เดือนมกราคมเป็นบวก เดือนมีนาคมบวก 8.47% และเชื่อว่าเดือนเมษายนก็ยังเป็นบวกอยู่ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในทางเศรษฐกิจที่เห็นภาพชัดเจน ส่วนปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไปเพราะมีความเห็นที่หลากหลายไม่ตรงกันอยู่ ไม่คิดเป็นวิกฤติ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนพูดอยู่เสมอ รัฐบาลต้องตระหนักอะไรที่เป็นเงื่อนไขก็อย่าไปสร้างเงื่อนไขหรือไปทำให้เป็นเงื่อนไข รวมถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถปลดเงื่อนไขให้หมดไปทีละข้อสองข้อปัญหาทางการเมืองก็จะผ่อนเบาลง แต่ถ้าจะหมดคงไม่หมด" นายจุรินทร์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ (วานนี้) นายจุรินทร์ กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้นไม่สามารถที่จะทำเป็นอย่างอื่นได้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพราะอันนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตนไม่อยู่ในฐานะที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องไปถามพรรคพลังประชารัฐเพราะเป็นส่วนที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของพรรคพลังประชารัฐ

ก.แรงงาน รับมอบผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท ไบ่ ลี่ ฯ นำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่สู้โควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับมอบขนมจำนวน 4,000 ลัง จากบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ดูแลผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งเป็นข้าวผัดอบกรอบผสมผักและผลไม้อบแห้ง ตรา ว่าง ว่าง รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,000 ลัง คิดเป็นมูลค่า 2,826,200 บาท จาก นางสราญจิตร หวัง กรรมการผู้จัดการบริษัท เป็นผู้ส่งมอบ โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่เสียสละ ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ต่อไป 

โดยนางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและประชาชนทั่วไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่านสุชาติ ชมกลิ่น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม บูรณาการความร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจโควิด+19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และที่อาคารโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ได้เปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก อีกครั้ง ระหว่างวันที่ 5-11 พ.ค.นี้ 

นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้มารับมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เพื่อให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่เสียสละ ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ต่อไป

ไทยติดเชื้อ 1,911 ราย ดับ 18 ราย ข่าวดี วันนี้คนหายป่วย มากกว่าคนป่วย เร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชน สัปดาห์ละ 2.6 หมื่นราย ยัน ตั้งศูนย์บูรณาการฯไม่ซ้ำซ้อนศบค. ปรับเวลาแถลงข่าวประจำวัน เป็น 12.30 น.

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,911 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,902 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,749 ราย  มาจากการค้นหาเชิงรุก 153 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 76,811 ราย หายป่วยสะสม 46,795 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วยถึง 2,435 ราย ซึ่งมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกัน ทำให้มีเตียงว่างมากขึ้น อยู่ระหว่างรักษา 29,680 ราย อาการหนัก 1,073 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 356 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 18 ราย อยู่ใน กทม. 6 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี ยะลา สิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 13 ราย มี 1 รายที่อายุ 100 ปี สาเหตุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 336 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 155,820,246 ราย เสียชีวิตสะสม 3,255,270 ราย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. ได้แก่ กทม. 739 ราย นนทบุรี 273 ราย สมุทรปราการ 143 ราย ชลบุรี 76 ราย สมุทรสาคร 65 ราย และถ้าดูเฉพาะตัวเลข กทม.และปริมณฑล ยังไม่น่าไว้วางใจ กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ตลาด โดยศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย. ซึ่งดูแนวโน้มแล้วยังสูงขึ้น โดย 10 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ และบางแค โดยในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนคลองเตย ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ปทุมวัน และชุมชนบ้านขิง บางแค โดยเฉพาะชุมชนบ้านขิง ที่ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. -  1 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในเขตดังกล่าว จำนวน 1,413 ราย พบติดเชื้อ 68 ราย คิดเป็น 4.8% และยังมีท่าปล่อยรถเมล์ที่มีพนักงาน 100 คน พบติดเชื้อ 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. มีการตรวจหาเชื้อพนักงาน 70 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล ซึ่งพนักงานเหล่านี้เชื่อมโยงไปยังชุมชนบ้านขิงที่มีประชากรกว่าพันคน โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. มีการรับแจ้งว่าคนในชุมชนพบเชื้อ 30 ราย วันที่ 30 เม.ย.พบเชื้ออีก 24 ราย วันที่ 3 พ.ค. มีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนพบติดเชื้ออีก 25 ราย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตรวจพื้นที่เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแล้ว จำนวนที่พบจากการตรวจเชิงรุกถือว่าน้อยกว่าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ จึงคุยกันว่าต้องเพิ่มการตรวจเชิงรุกหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลระหว่างวันที่ 5 เม.ย.-5 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ทั้งสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และห้างสรรพสินค้า รวม 49 แห่ง 69 ครั้ง ตรวจไปแล้ว 42,251 ราย พบติดเชื้อ 1,677 ราย คิดเป็น 3.97% และยังรอผลอีก 559 ราย โดย กทม.มีแผนตรวจเชิงรุกให้ได้ 26,850 รายต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการตรวจเชิงรุกในคลัสเตอร์สำคัญ 8,300 รายต่อสัปดาห์ เฝ้าระวังเชิงรุกใน 6 โซน กทม. วันละ 3,000 ราย หรือ 15,000 รายต่อสัปดาห์ การสุ่มตรวจในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 250 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 1,750 รายต่อสัปดาห์ และการตรวจในสถานกักตัวของรัฐ ที่มีการจัดเป็นที่พักให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแยกตัวออกมาอยู่ในโรงแรม 3 แห่ง คือ โรงแรมธำรงอินน์ จรัญสนิทวงศ์ โรงแรมมายโฮเทล ห้วยขวาง และโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท วันละ 600 คนต่อวัน หรือ 1,800 รายต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน จะมีการจัดเตรียมเตียงรองรับไว้ให้ได้ 1,343 เตียงต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับคนที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19

เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการ 3 ชุดที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับงานของศบค. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. ได้ชี้แจงในที่ประชุมให้เห็นภาพของความเชื่อมโยงการทำงานกับศบค.ที่มีนายกฯเป็นผอ.โดยเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานเพื่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือเป็นส่วนหนึ่งในศบค. ทำงานประสานงานเชื่อมโยงระหว่างคณะทำงานชุดต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงข้อมูลขึ้นมาสู่การบริหารจัดการในระดับที่นายกรัฐมนตรีจะได้เข้ามารับรู้ข้อมูลเป็นรายวันโดยเร็วเพื่อบริหารสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับภาคส่วนอื่นๆก็ยังดูแลกันเหมือนเดิม 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในช่วงท้ายว่าขอย้ำว่าตั้งแต่ วันที่ 7 พ.ค. เป็นต้นไปศบค. จะบูรณาการงานด้านการข่าวเพื่อสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน เพื่อนำชุดข้อมูลที่มีจำนวนมากกลั่นกรองก่อนนำเสนอ โดยทีมโฆษกศบค. จะได้ช่วยกันชี้แจงทั้งข้อเท็จและข้อจริง ที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ โดยตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป จะมีการปรับเวลาแถลงข่าวของ ศบค.เป็นเวลา 12.30 น. เนื่องจากในช่วงเช้าจะมีการประชุมหลายคณะ ต้องใช้เวลาสรุปก่อนนำมาแถลงต่อประชาชน นอกจากนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะตอบคำถามผ่านไลฟ์สดในบางวัน

รมว.พม. ลงพื้นที่ศูนย์พักคอยนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย (วัดสะพาน) กทม. ช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้านนายกฯ กำชับให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด

วันนี้ 6 พฤษภาคม 2564 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พักคอยนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย (วัดสะพาน) กรุงเทพฯ เพื่อพบปะให้กำลังใจเครือข่ายกระทรวง พม. และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 200 ชุด พร้อมเวชภัณฑ์ป้องกันการแพร่รระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้แก่ผู้แทนศูนย์ฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19  โดยมี นายอนุกูล  ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อธิบดี พส.) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ลงพื้นที่บูรณาการความช่วยเหลือร่วมกัน 

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ หน่วยงานของรัฐบาลและกระทรวง พม. มาช่วยกันระดมการดูแลในเขตกรุงเทพฯ โดยเราต้องการให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลตั้งใจและไม่ประมาท ซึ่งเราลงพื้นที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19  และวันนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดสะพาน โดยท่านเจ้าอาวาส และตัวแทนชุมชนเป็นอย่างดี จะเห็นว่าภาคประชาชนได้นำความช่วยเหลือมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวง พม. และรองอธิบดี พส.  มาร่วมกันทำงานกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือประชาชน นอกจากชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังมีชุมชนอื่นที่เราจะต้องเข้าไปดูแล  และขอให้มั่นใจว่าเราจะทำงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่แห่งนี้ได้แล้ว เราจะต้องพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ตนเห็นว่าประชาชนมีความพอใจและมั่นใจกับความปลอดภัยในสุขภาพอนามัยและการบริการดีขึ้น ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทำให้ทุกคนแบ่งหน้าที่กันหมด ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าปัญหาที่เคยติดขัดในช่วงแรก ได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยหน้าทั้งแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ และ อพม. ของชุมชน ที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ในส่วนของกระทรวง พม. ทำหน้าที่เป็นตัวเสริม เรามีความใกล้ชิดกับชุมชน เพราะทำงานกับชุมชนมานาน และมีองค์กรที่เข้าใจสามารถสื่อสารกับประชาชนได้รวดเร็ว ในเรื่องการรักษาพยาบาลและอนามัยเป็นหน้าที่ของแพทย์ โดยเราจะคอยประสานให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างหลังกระทรวงสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายและกำชับให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด และขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ 

“บิ๊กช้าง” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมเร่งเหล่าทัพ เข้าไปสนับสนุนศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อควบคุมจำกัด COVID ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เหล่าทัพ กอ.รมน.และ ตำรวจ ผ่านระบบทางไกล โดยในที่ประชุมได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน เร่งเข้าไปสนับสนุนการทำงานของ “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เพื่อควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กำลังเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ได้ย้ำขอให้ทุกส่วน ร่วมถึงเหล่าทัพ สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้นำกำลังพลและทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่ เข้าไปช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนการบริหารจัดการคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะชุมชนแออัดในหลายพื้นที่ พร้อมกับช่วยติดตามตรวจสอบข่าวสารที่มีการบิดเบือนและอาจสร้างความสับสนกับประชาชนซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้น โดยขอให้สนับสนุนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนในมาตรการที่ศูนย์กำหนด พร้อมทั้ง ขอให้ทาง ตำรวจเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของพื้นที่ในภาพรวม 

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ภาพรวมการสนับสนุนที่สำคัญของ กห.โดยทุกเหล่าทัพ อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ กับ สาธารณสุข เพื่อสนับสนุนจัดทำ รพ.สนาม เพิ่มให้มีเพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้จัดกำลังพลสายแพทย์สนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข ในการรับและบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่แจ้งผ่านสายด่วน และจัดยานพาหนะรวมการ สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ตกค้างในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เข้ารับการรักษาแล้ว รวม 659 ราย  ขณะเดียวกัน  กองทัพบก ได้เข้าไปช่วยเหลือเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนการจัดตั้ง รพ.สนาม และการบริหารจัดการทางการแพทย์เชิงรุก เพื่อควบคุมและคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในสถานควบคุมดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top