Thursday, 24 April 2025
POLITICS NEWS

สกัดจับรายวัน..!!!! “กกล.สุรสีห์” จับอีกต่างด้าว 49 คน ลอบเข้าเมืองผิด กม.

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 จากกรณีตามนโยบาย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กำชับทุกกองกำลัง (กกล.) ชายแดนและหน่วยทหารสกัดจับป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกองทัพภาคที่ 1 โดยกองกำลังสุรสีห์ รายงาน การจับกลุ่มแรงงานต่างด้าว และผู้นำพา รายละเอียดดังนี้

ชุดปฏิบัติการข่าว (ชป.ขว.) ที่ 2 ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า พบเส้นทางเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว (ร่องรอยใหม่) จึงได้ประสานชุดทหารม้าลาดตระเวน (มว.ลว.) ที่ 4 ฉก.ลาดหญ้า จำนวน 4 นาย, สารวัตรกำนันตำบลบ้านเก่า และนายพนมกร คล้ายเมือง ผญบ.หมู่ 7 หนองบ้านเก่า พร้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 2 นาย รวมกำลังทั้งหมด 11 นาย ร่วมกันตรวจสอบเส้นทางและวางแผนซุ่มเฝ้าตรวจ เมื่อเวลา 02.10 น.

สามารถจับกุมผู้นำพา จำนวน 3 คน ทราบชื่อเบื้องต้นนายแป๊ะ (ไม่ทราบชื่อสกุลจริง) พี่ชาย นายมนัส ทองเถาว์, นายแอ๊ด อุดเรือน หรือแอ๊ด และนายติ่ง (ไม่ทราชื่อสกุลจริง) พร้อมแรงงานต่างด้าว จำนวน 49 คน (ชาย 25 คน หญิง 24 คน) บริเวณพื้นที่บ้านประตูด่าน หมู่ 14 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 

ปัจจุบันยังควบคุมตัวทั้งหมดไว้ในพื้นที่จับกุม ซักถามเบื้องต้นจะมีผู้นำพาชื่อ “ป๊อกเด้ง” เดินพาต่างด้าวตามมาอีก 30 คน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กำลังซุ่มเพื่อจับกุมต่อไป

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้มีการจัดแถลงข่าวออนไลน์ถึงกรณีที่จะมีการพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยในการประชุม ครม. ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟู

ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และเจ้าหนี้ คุยข้ามหัวประชาชนไทยไปมา แต่กลับไม่เคยสื่อสารโดยตรงกับประชาชน ทั้งที่การช่วยเหลือการบินไทยต้องใช้ภาษี หรือหากจะค้ำประกันหนี้ เจ้าหนี้ก็จะมาเก็บจากผู้ค้ำ ซึ่งก็พวกเราประชาชนคนไทยทุกคนเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี

“รัฐบาลต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการเข้าช่วยเหลือการบินไทย หวังผลตอบแทนอย่างไรบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่เป็น ทางเลือกไหนดีกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบจากรัฐบาล”

แผนฟื้นฟูให้พนักงานเสียสละ แต่นายทุนไม่ลดหนี้

ศิริกัญญา ยังได้พูดถึงการทำแผนฟื้นฟูที่แผนธุรกิจในส่วนของการลดต้นทุนทำได้ค่อนข้างดี ยกเว้นแต่ส่วนของแผนการเงินที่ยังไม่น่าพอใจ

“ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชมคณะผู้บริหารที่ทำแผนธุรกิจไว้ได้ดี และได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือ สามารถลดจำนวนพนักงานลงไปได้ถึง 13,000 คน ลดจำนวนตำแหน่งผู้บริหาร รวมทั้งมีการเซ็นสัญญาใหม่ที่มีการปรับลดค่าตอบแทนลง

“แต่สำหรับแผนการเงินก็ถือว่ายังไม่น่าพอใจ สิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไปเจรจากับเจ้าหนี้มีใจความหลักคือ หนี้ของธนาคารพาณิชย์ไม่มีการลดหนี้ แต่เป็นการยืดหนี้ออกไปอีก ไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุนสำหรับเจ้าหนี้เดิม ผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีการลดทุน มีแค่การลดหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การขอกู้เพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 5 หมื่นล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ยังต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันมากกว่า 25,000 ล้านบาท”

ศิริกัญญา เน้นย้ำว่า แผนนี้ประนีประนอมกับทุกฝ่ายมากเกินไป เกรงใจนายทุนมากเกินไป ไม่ยอมเจ็บแต่จบเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อซื้อเวลาเท่านั้น

3 ข้อเสนอ เจ็บแต่จบ ปลดภาระขาดทุนสะสมการบินไทย

ในส่วนของการหาทางออกนั้น ศิริกัญญา มีข้อเสนอให้รัฐบาล 3 ข้อ เพื่อล้างขาดทุนสะสม ทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก และสามารถทำให้การบินไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

“ข้อเสนอแรก คือ #การลดทุน เราจำเป็นต้องลดทุนเพื่อล้างการขาดทุนสะสม ปัจจุบันการบินไทยขาดทุนสะสม 161,898 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ -128,742 ล้านบาท เสนอให้ลดทั้งทุนที่ชำระแล้วและส่วนของทุนอื่น ๆ ซึ่งการลดทุนเดิมไม่ใช่อะไรนอกจากเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

“ขั้นที่สอง เจ้าหนี้ต้องยอมเจ็บ #ต้องมีการลดหนี้หรือแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นกู้ต้องร่วมรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่ง คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ หนี้ที่สามารถลดได้อยู่ที่ประมาณ 300,00 ล้านบาท ถ้าขอ haircut หรือลดหนี้ได้ 40% จะสามารถทำกำไรลดขาดทุนสะสมได้ถึง 120,000 ล้านบาท”

.

แต่ข้อควรระวังทุกคนพูดถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องช่วยเหลือเป็นราย ๆ ไป เพราะผู้ถือหุ้นหรือผู้ฝากเงินสหกรณ์ล้วนแต่เป็นประชาชนรายย่อย

 

“ขั้นสุดท้าย เมื่อลดหนี้จนผลของการขาดทุนสะสมเหลืออยู่น้อย แล้ว #การเพิ่มทุนใหม่อาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล ถ้ารัฐบาลต้องแทรกแซงเสนอให้ต้องกำหนดแผนการขายหุ้นออกที่ชัดเจนใน 3-5 ปี เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard”

.

นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังเสนอให้พิจารณาการเปิดประมูลผู้ร่วมทุนใหม่ หรือหาสายการบินอื่นควบรวมได้ ซึ่่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร British airways ของอังกฤษที่ควบรวมกับ Iberia ของสเปน, Air France ของฝรั่งเศสที่ควบรวมกับ KLM ของเนเธอแลนด์ การบินไทยในช่วงเริ่มต้นก็เป็นการร่วมทุนเช่นเดียวกัน

“ดังนั้นดิฉันสรุปว่าแผนการนี้เป็นแผนที่เจ็บแต่จบ คือการลดส่วนของทุน เจรจาลดหนี้ และถ้ามีการเพิ่มทุนโดยรัฐต้องมีแผนการออกใน 3-5 ปี เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก และสามารถรอดพ้นปัญหาถ้าเกิด shock ขึ้นมาในขณะนี้ และจะเป็นการแก้ปัญหาการบินไทยอย่างยั่งยืน” ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความระบุว่า...

ฝ่ายค้านบางคนตั้งหน้าตั้งตาปั่นว่าวัคซีนมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจนมีคนจำนวนหนึ่งไม่กล้าไปฉีด เพราะมีเป้าหมายทางการเมือง ไม่ต้องการให้รัฐบาลจัดการควบคุมโควิดได้สำเร็จ

คนที่ทำแบบนี้ใจดำอำมหิตมาก คิดแต่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตน แต่ไม่คิดถึงความปลอดภัยของประชาชน และความอยู่รอดของประเทศไทย ลองสงบจิตสงบใจ คิดใคร่ครวญใหม่หน่อยเถอะนะว่า ที่ทำอยู่นี้มันยังมีความเป็นคนอยู่หรือเปล่า สมควรหรือไม่ที่จะเอาเรื่องความเป็นความตายของคนไทยมาเล่นการเมือง

หมอเขาพูดอธิบายกี่คน กี่ครั้ง ทำไมถึงไม่ยอมเข้าใจ ทำไมจึงไม่หยุดปั่นเรื่องอันตรายของวัคซีน ทำไมไม่รักประเทศไทยให้มากกว่าความเห็นแก่ตัวเสียทีนะ ส่วนประชาชนนั้น ขอให้คิดเป็น เชื่อหมอนะคะ อย่าเชื่อหมา


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/242884

นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้แพทย์ประจำทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้าตรวจร่างกาย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน พบว่า...

สัญญาณชีพและตรวจร่างกายทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ รู้สึกตัวดี พูดคุยรู้เรื่อง ช่วยเหลือตัวเองได้ ยังคงปฏิเสธการรับประทานอาหาร ไม่มีอาการปวดท้อง ดื่มนมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสูตรครบถ้วนที่ให้สารอาหารที่ร่างกายต้องการชนิดผงได้หมดตามแผนการรักษาของนักโภชนาการ รวมทั้งไม่มีอาการแสดงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 คือ...

1.) BUBBLE AND SEAL คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้าอย่างเด็ดขาด โดยการงดนำผู้ต้องขังออกทำงานนอกเรือนจำ งดย้ายผู้ต้องขังระหว่างเรือนจำ และการพิจารณาแนวทางอื่นแทนการนำผู้ต้องขังออกศาล

2.) SEPERATE การแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ที่มีประวัติเสี่ยง รวมถึงการเร่ง SWAB เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงทุกราย

3.) Mobile Field Hospital จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำ และทัณฑสถาน ทั้งในส่วนกลางที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และการจัดตั้งเพิ่มเติมในเรือนจำที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

เพื่อรองรับผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการให้อยู่ในการควบคุมไม่แพร่เชื้อสู่ภายนอก ภายใต้คำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กรณีเกิดการระบาดในเรือนจำ และทัณฑสถานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


ที่มา: https://mgronline.com/crime/detail/9640000044595

“เพื่อไทย” จี้ รัฐบาล ปรับแผนฉีดวัคซีน “โฆษกพรรค”เสนอ 4 ข้อเร่งฉีดวัคซีน ด้าน "วิชาญ" แนะควรให้อำนาจ ผอ.เขต บริหารจัดการทั้งฉีดวัคซีน-ล็อกดาวน์แต่ละเขต

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่พรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกทม. น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พร้อมผู้สมัคร ส.ก. ของพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าว โดยน.ส.อรุณี กล่าวว่า หลังรัฐบาลเปิดให้ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรคลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ลงทะเบียน  เพียง 1.55 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 16 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสอบตกในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน บกพร่องต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงที่แท้จริงให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ 

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด  ควรเร่งดำเนินการดังนี้ 1.ปรับเปลี่ยนแผนการลงทะเบียนฉีดวัคซีน ให้บุคคลทั่วไปที่สมัครใจและมีความพร้อม 2.ปรับให้กลุ่มอาชีพบริการซึ่งต้องสัมพันธ์กับการพบปะผู้คนในเมืองได้ฉีดวัคซีนก่อน เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง, คนขับรถตู้, ตุ๊กตุ๊ก , พนักงานส่งพัสดุอหรือส่งอาหารเดลิเวอรี่ ฯลฯ 3.เร่งสืบสวนหาสาเหตุอาการข้างเคียงของวัคซีน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างชัดเจน และ 4.สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน หากเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน รัฐบาลควรจ่ายเงินชดเชยที่สูง โดยนำกรณีของต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น ในมาเลเซีย หากเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน รัฐบาลจ่ายชดเชย 3.7 ล้านบาท, สิงคโปร์จ่าย 5.25 ล้านบาท แต่ไทยจ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท


“ 1 ปีที่ผ่านมาของการระบาด รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนประเทศได้ในทุกด้าน  ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหา การรับมือ หรือการป้องกันการระบาด จึงไม่แปลกใจหากจะมีประชาชนทยอยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อฉีดวัคซีน เพราะต้องการเลือกยี่ห้อวัคซีนเอง แต่ประชาชนคนทั่วไปไม่ได้มีโอกาสเลือกแบบนั้นทุกคน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ไทยจะเป็นประเทศเดียวที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  ในขณะที่หลายประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว” น.ส.อรุณี กล่าว

ด้านนายวิชาญ กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อไทยลงพื้นที่พบชาวบ้านโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เห็นปัญหาต่างๆ เราได้แจกทั้งแมส และแอลกอฮอล์อย่างกว้างขวาง พร้อมประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยกว่า 76 ครั้ง ซึ่งสถิติที่ได้มาถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูง ทางพรรคจึงขอเสนอแนะให้รัฐบาล โดยเฉพาะกทม. ดำเนินการตามนี้ 1.รัฐควรนำผู้ป่วยออกไปอยู่ที่โรงพยาบาล หรือสถานที่รักษา ขณะที่กลุ่มเสี่ยงก็ควรคัดออกจากชุมชนไปเลย ให้ไปอยูในสถานที่ที่จัดให้ 14 วัน เพราะไม่เช่นนั้น เขาก็ยังต้องดำเนินชีวิต ออกไปทำงาน ฯลฯ 2.กทม. ควรให้อำนาจกับผู้อำนวยการเขตในการบูรณาการในแต่ละเขต แล้วประสานงานกับส่วนราชการต่างๆโดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจะล็อกดาวน์ในเขตต่างๆ รวมถึงดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น อำนาจในการฉีดวัคซีน ฯลฯ ให้อำนาจเขาจัดการเลยโดยไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่ กทม. เท่านั้น 3.รัฐ โดย กทม. ควรกำหนดการฉีดวัคซีน โดยแผนการดำเนินการต้องชัดเจน และ4.ถ้าพบเจอผู้ติดเชื้อในชุมชนใดควรปิดกั้นชุมชนไปเลย เช่น คลองเตย เมื่อเจอแล้วก็ห้ามบุคคลเดินทางเข้าออก แล้วคัดแยกผู้ป่วยให้รวดเร็ว และตอนนี้เขตราชเทวี ห้วยขวาง และวังทองหลาง มีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่าต้องการปิดชุมชน 

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า สำหรับการติดตามการดำเนินการของภาครัฐ และกทม.ที่ทีม กทม. เราทำ เห็นว่า กทม.ยังดำเนินการน้อยมาก โดยวัดที่ทำการฌาปนกิจผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิดสะท้อนมาว่า ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆ กลุ่มจิตอาสา อสส. และมูลนิธิก็เช่นกัน ตนจอแนะให้นำเงินกองทุน 500 ล้านบาทของสปสช.ที่อุดหนุน กทม. มาใช้ นอกจากนี้ ควรเร่งเข้าไปดูแลผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านอย่างเร่งด่วน 

‘ธันวา’ ยกเคส ได้เตียงแต่ไม่มีหมอ รอนาน 5 วันจนเสียชีวิต เหตุย้ายผู้ป่วยโควิดข้ามจังหวัดไม่ได้ วอนเร่งปรับเกณฑ์การส่งตัวผู้ป่วยโควิด ย้ำ ต้องพูดความจริง จะได้แก้ปัญหาตรงจุด 

นายธันวา ไกรฤกษ์ โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโควิดรอเตียงจนเสียชีวิตว่า ไม่ใช่รายแรก ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตหลังจากเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยตั้งแต่วันแรกทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินหายใจ จึงขอทำเรื่องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่น และพยายามโทรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตกรุงเทพหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่านโยบายการรีเฟอร์นั้นจำกัดอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพด้วยกัน รวมถึงกรณีผู้ป่วยใหม่รอเตียง อยู่จังหวัดไหนก็ให้รอเฉพาะในจังหวัดนั้น กลายเป็นรอจนแพร่เชื้อสู่บุคคลในครอบครัวไปอีก 

“ตรงนี้แหละครับที่ผมไม่เข้าใจ ว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่ผ่อนคลายกฎดังกล่าว ทั้งที่รู้ว่าโรงพยาบาลในเขตพื้นที่สีแดงเข้มรองรับไม่ได้แล้ว เพราะมีทั้งข้อจำกัดทางด้านเตียง อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ จนถึงวันที่เสียชีวิตเป็นเวลากว่า 5 วัน ที่ผู้ป่วยรายนี้ต้องรอการส่งตัว เพื่อให้ได้เข้าถึงแพทย์ผู้ที่มีองค์ความรู้เหมาะสมต่อการรักษา ทั้งที่ขับรถไปไม่ถึงชั่วโมงก็เข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือจังหวัดอื่นใกล้เคียงที่ยังพอมีศักยภาพในการรองรับแล้ว เช่น ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ซึ่งเดินทางเพียง 2-3 ชั่วโมง ยังดีกว่าให้ผู้ป่วยรอจนอาการวิกฤต” นายธันวา กล่าว 

โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า ไม่มีเจตนาจะโทษโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ใดๆ เลย เพราะทุกคนทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถและดีมากๆแล้ว แต่โทษผู้รับผิดชอบทางนโยบาย อยากให้รับฟังเสียงประชาชนบ้าง ซึ่งข้อเสนอนี้หากทำได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ว่ามา ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหามันวนซ้ำเดิมบ่อยๆ เพราะมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะข้อจำกัดนี้ไปแล้วหลายราย

ระวังเสียตังฟรี! โฆษกรัฐบาล แนะประชาชน ตรวจสอบข้อมูล ก่อนบินเข้าประเทศสมาชิกอียู - สหรัฐฯ หวังได้ฉีดวัคซีน ชี้ ข้อปฏิบัติแต่ละประเทศต่างกัน 

เมื่อวันที่9 พ.ค.นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรป (อียู)ที่ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว ว่า ประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศมีอำนาจในการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง โดยมี 13 ประเทศสมาชิกที่สามารถเดินทางจากประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ 

ขณะที่ อีก 14 ประเทศที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามที่ประเทศปลายทางกำหนด ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส ผู้ที่จะเดินทางต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทางและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ อียูยังไม่ได้กำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือฉีดวัคซีนประเภทใดมาเป็นเงื่อนไขการเดินทางเข้าเขต โดยอยู่ระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองการฉีดวัคซีนฯ (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอกอียู หากพิจารณาแล้วเสร็จ ประเทศสมาชิกจะนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าต่อไป ดังนั้นขอให้ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิกจากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป (https://reopen.europa.eu)

นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวการเดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติในมลรัฐต่างๆ พบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเรียกดูข้อมูลหลักฐานถิ่นที่อยู่ หลักฐานการทำงานหรือการศึกษาในรัฐ รวมถึงจะพิจารณาหลักฐานการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และอาจปฏิเสธการให้บริการหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ร้องขอได้ ซึ่งแต่ละมลรัฐ มีนโยบายการฉีดและแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยภาพรวมจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีถิ่นพำนัก ทำงาน หรือศึกษาในมลรัฐนั้น แต่บางมลรัฐได้จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ไม่มีถิ่นพำนักและไม่ได้ทำงานหรือศึกษาในมลรัฐนั้น โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกเว้นมลรัฐอะแลสกาที่มีนโยบายชัดเจนว่า ตั้งแต่วันที่1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนได้  

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น หากรับวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง บริษัทฯผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ และหากไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีราคาสูงอีกด้วย จึงขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐฯเพื่อฉีดวัคซีน โปรดศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ อาทิ เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย รวมถึงนโยบายการจัดสรรวัคซีนของมลรัฐต่าง ๆ ข้อมูลการตรวจคนเข้าเมือง มาตรการด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ มาตรการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย

นอกจากนั้น ผู้ที่มีความประสงค์เดินทางไปต่างประเทศต้องตรวจสอบกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการทางด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ มีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันไป จึงควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นอย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนดก่อนเดินทาง เอกสารรับรองผลตรวจเชื้อ เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน การกักตัว ในที่พักอาศัย การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

รมว.สุชาติ สั่ง ปูพรมตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่แรงงานในโรงงาน 7 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในสถานประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบายตู้ตรวจโรคไปให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ถึงสถานประกอบการ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพิ่มจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการเพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผมได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่ เพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบาย ตู้ตรวจโรคไปตั้งยังสถานประกอบการให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ทราบผลภายใต้ 24 – 48 ชั่วโมง ซึ่งหากตรวจพบเชื้อก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยลูกจ้างในสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

"ผมได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ " นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

“นายกฯ ห่วงประชาชนหลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สั่งด่วนทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 


มีความห่วงใยประชาชนจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้  ส่งผลให้อาจมีภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วมและจากพายุได้ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยความเร่งด่วน อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักบางแห่ง และสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงได้ จึงขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล หากมีฝนตกหนัก อาจมีปัญหาการจราจรติดขัดได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้รับทราบว่ามีการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่มีน้ำท่วมขังและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกในปริมาณมากซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำท่วมขังบนผิวจราจรในบางพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเบสของสำนักการระบายน้ำ และของสำนักงานเขตพื้นที่เข้าเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาความดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ 

“ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ค. 64  กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ค. 64 ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ยก ราชกิจจาฯ “เสรีพิสุทธ์” ตรวจบ้านหลวง “นายกฯ” ต้องขออนุญาต “สำนักงานพระราชวัง” ผ่านทาง หลังราชกิจจา ประกาศโอนกำลังพล-หน่วย สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ปี 2562

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 จากกรณี กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธาน จะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม กรณีการอยู่บ้านพักรับรองในค่ายทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ตามที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องให้ กมธ.ตรวจสอบตามความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 128 ที่รับผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท พร้อมทำหนังสือขออนุญาตจากกองทัพบกนั้น

รายงานข่าวแจ้งว่า การเดินทางไปยังบ้านพักรับรอง พล.อ.ประยุทธ์  ต้องใช้ทางผ่านเข้า-ออก กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและเป็นพื้นที่ปิด ต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอผ่านทาง  ส่วนรายละเอียดการเข้าพักบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง ค่าน้ำ-ค่าไฟ  กองทัพบก เคยส่งข้อมูล ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และ สำนักงาน ป.ป.ช. ก่อนหน้านั้นแล้ว 

รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนด โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562
              
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์
              
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562”

 มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top