Wednesday, 23 April 2025
POLITICS NEWS

‘เศรษฐา’ ปลื้ม ‘พลเอกประยุทธ์’ แนะให้อดทน รู้ว่าทำงานหนัก พร้อมแซว!! มีใครดื้อบ้าง บอก รทสช.ช่วยงานนายกฯ ดีๆ

(5 ส.ค. 67) ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ที่มาร่วมฟังสวดพระอภิธรรม คุณแม่ชดช้อย ทวีสิน มารดานายกฯ ได้มีการพูดคุยอะไรกันบ้างหรือไม่ ว่า ตามที่เห็นท่านให้ความเมตตา ซึ่งท่านมางานสวดศพคุณแม่ตน และระหว่างเดินมาก็ได้ให้กำลังใจ โดยท่านบอกว่าเป็นกำลังใจให้นะ ไปไหนมาบ้าง ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ตนได้ไป จ.นราธิวาส มา ท่านก็บอกว่า “โอ้ย ทำงานหนักเลย” และได้เดินผ่านรัฐมนตรี และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มาให้การต้อนรับ ท่านก็บอกว่า “ให้ช่วยนายกฯ ดี ๆ นะ” และหันไปแซวบางคนว่า “คนนี้ดื้อไหม อะไรอย่างไรไหม” ตนก็บอกว่า “ไม่ดื้อครับ ไม่มีใครดื้อ ทุกคนทำงานกันไม่มีเวลาดื้อ ปัญหาของพี่น้องประชาชนเยอะ” ซึ่งท่านก็หัวเราะ และยังเดินผ่าน 2-3 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านก็บอกว่า “โอ้ย นี่ช่วยเหลือได้ดี” ซึ่งตนก็บอกว่า “ใช่ครับ เป็นกำลังสำคัญ” ก็เป็นการพูดคุยกันอย่างมีมิตรภาพที่ดี และระหว่างที่นั่งอยู่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็นั่งด้วย ก็มีการพูดคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากข้อห่วงใยอะไรหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า “ท่านบอกให้อดทน และท่านเป็นกำลังใจให้ และท่านก็ฝากตนกับพรรครวมไทยสร้างชาติ บอกให้ช่วยซึ่งกันและกัน ซึ่งก็เป็นความเมตตา” 

เมื่อถามว่า ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เจอกับ พล.อ.ประยุทธ์ หลังเจอกันที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และได้พูดคุยกันเยอะใช่หรือไม่? นายเศรษฐา กล่าวว่า “ไม่ครับ เคยได้เจอกันหลายครั้งกว่า 10 หน ระหว่างร่วมงานพระราชพิธี ระหว่างนั่งคอยที่ห้องรับรองก็พูดคุยกันเยอะ หลายๆ เรื่อง มีการขอความเห็นท่านหลาย ๆ เรื่องอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ปรากฏเป็นภาพออกไป”

เมื่อถามว่า จะมีโอกาสนัดพบและพูดคุยกันถึงเรื่องบ้านเรื่องเมืองเป็นกรณีพิเศษหรือไม่? นายเศรษฐา กล่าวว่า “ถ้าเกิดมีความจำเป็นก็คงต้องไปคุย ตนยินดีกับทุกท่านอย่างที่เคยบอก อดีตนายกรัฐมนตรีทุกท่านตนรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ได้คุยกับนายอานันท์ แต่คุยเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า”

เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าอย่าดื้ออย่าเกเร ให้ช่วยงานนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดื้อ และเกเรหรือเปล่า? จังหวะนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งยืนอยู่ด้วยตอนสัมภาษณ์ได้หัวเราะ ขณะที่นายกฯ ก็หัวเราะ พร้อมกล่าวว่า “ไม่ดื้อครับ อย่างที่ตนเคยบอกเป็นเรื่องภายในของเขา ตนไม่เคยต้องไปถาม ร.อ.ธรรมนัส เรามุ่งมั่นทำงานกันอยู่แล้ว ตรงนี้อย่าเป็นประเด็นเลย เอาเรื่องพี่น้องประชาชนเป็นหลักดีกว่า”

'ดร.นิว' ติง!! 'พยานก้าวไกล' สอบตกตอนแก่ กระสันช่วยก้าวไกลพ้นยุบ ทั้งที่กฎหมายออกแบบมาในลักษณะป้องปราม ไม่ต้องรอ 'ยุยง-ล้มล้าง'

(5 ส.ค. 67) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ 'ดร.นิว' นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'แนวทางกฎหมายวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล' ระบุว่า...

การที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ ออกหน้าเป็นพยาน โดยอ้างว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้านายสุรพลไม่โฉดเขลาเบาปัญญา ก็กระสันที่จะช่วยพรรคก้าวไกลจนหางส้มโผล่ เกิดความดัดจริตทางกฎหมายโดยไม่แหกตาดูความระยำตำบอนที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง 

นอกจากนายสุรพลจะเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งพรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง นายสุรพลยังอ่านและตีความกฎหมายไม่แตกฉาน เพราะเมื่ออ้างอิงถึงมาตรา 92 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง จะพบว่าเงื่อนไขการยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องด้วยการล้มล้างการปกครอง มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี 

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

นับว่านายสุรพลมาสอบตกตอนแก่หมดสภาพศาสตราจารย์ทางกฎหมาย เพราะกฎหมายออกแบบมาในลักษณะป้องปราม ไม่จำเป็นต้องรอให้พรรคก้าวไกลยุยงปลุกปั่นมวลชนหรือใช้กำลังในการล้มล้างการปกครองเสียก่อนถึงจะสามารถยุบพรรคได้ แค่กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองก็เข้าข่ายยุบพรรคได้แล้ว 

แม้ว่าพรรคก้าวไกลอาจไม่ได้ใช้กำลังล้มล้างการปกครองโดยตรงตาม (1) แต่ทว่ากระทำการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเคลื่อนไหวคู่ขนานกับม็อบสามนิ้วมาโดยตลอด อีกทั้งสมาชิกของพรรคจำนวนไม่น้อยยังเคยแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มิหนำซ้ำหัวหน้าพรรคยังออกหน้าช่วยประกันตัว สส. ซึ่งกระทำผิด ม.112 อย่างชัดเจนอีกด้วย 

เห็นได้ชัดว่าทั้งเจตนาและพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลส่อไปในทาง (2) ทั้งสิ้น การกระทำของพรรคก้าวไกลอันใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จึงเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยยุบพรรคเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มิอาจก้าวล่วงได้ แต่ในฐานะประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงไปสู่อนาธิปไตยล้มล้างประชาธิปไตยเสียเองในที่สุด จึงขอแสดงจุดยืน 1 สิทธิ์ 1 เสียง สนับสนุนยุบพรรคก้าวไกล 

#1สิทธิ์1เสียงสนับสนุนยุบพรรคก้าวไกล 

รู้จัก 'ปัณฑา สิริกุล' หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการวางเส้นเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ...

คุณหมู 'ปัณฑา สิริกุล' นักเขียนบท (2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution), นักเขียนบทสารคดี, ผู้ผลิตสารคดี และเป็นผู้ศึกษาแนวคิดการทำงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มากว่า 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของฝนหลวง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงนั้นคืออะไร

นอกจากนี้ คุณปัณฑา ยังถือเป็นผู้ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย นั่นจึงทำให้เธอกลายมาเป็นอีกหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการวางเส้นโครงเรื่อง และเกลาเส้นเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution ให้มีความน่าสนใจและย่อยง่ายแก่ผู้ชมที่ไม่เคยรับทราบประวัติศาสตร์มาก่อน

ทั้งนี้ ในบทสัมภาษณ์หนึ่งที่มีการกล่าวถึงทีมเขียนบท คุณปัณฑา ได้ยอมรับว่า กว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะออกสู่สายตาประชาชนได้ จำเป็นต้องได้ข้อมูลที่มีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่ใช่การมโนหรือปั้นแต่งขึ้นเอง เหตุการณ์ที่อยู่ในเรื่องทั้งหมด ล้วนเป็นเรื่องราวที่มีการถูกบันทึกทางประวัติศาสตร์ โดยเธอต้องใช้หนังสืออ้างอิงประมาณ 4-5 ลัง เพื่อเรียบเรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเขียนบทดังกล่าวขึ้นมา

"สำหรับภาพยนตร์เรื่อง 2475 Dawn of Revolution เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนายึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในกลุ่มคณะราษฎรตามมา" คุณปัณฑา กล่าวและเสริมว่า...

"โดยภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ และสร้างการรับรู้ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ในเหตุการณ์ ห้วงปี พ.ศ. 2475 ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการเสริมสร้าง และปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้กับกำลังพล ครอบครัว และเยาวชนต่อไป"

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

‘เครือข่ายบ้านใหญ่’ กวาดเรียบ!! สนามเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ 3 จังหวัด ‘อยุธยา-ชัยนาท-พะเยา’ ทิ้งห่าง ‘ก้าวไกล’ ขาดลอย

(5 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ใน 3 จังหวัด คือ จ.พระนครศรีอยุธยา , พะเยา และชัยนาท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สมัครในเครือข่ายบ้านใหญ่ทั้ง 3 จังหวัดกวาดชัยชนะทั้งหมด โดยเอาชนะผู้สมัครนายก อบจ. ที่แม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ แต่พบว่าบางคนเป็นอดีตผู้สมัคร สส. เขต พรรคก้าวไกล และบางคนได้รับการสนับสนุนจาก สส. เขตของพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ ในส่วนของ จ.พระนครศรีอยุธยา ชัยชนะตกเป็นของ ‘ซ้อสมทรง’ หรือนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา 5 สมัย โดยชนะ ‘นายกอุ๊’ หรือนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ อดีตนายก อบต.บ้านใหม่ ที่ลงสมัครในนามกลุ่มก้าวใหม่อยุธยาแบบขาดลอย โดยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงค่ำวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นางสมทรง ได้คะแนน 245,457 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งนายวัชรพงศ์ ที่ได้แค่ 114,063 คะแนน โดยในการหาเสียงที่ผ่านมา นายวัชรพงศ์ ใช้สัญลักษณ์สีส้มในการหาเสียง

ส่วน จ.ชัยนาท ชัยชนะตกเป็นของ นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา อดีตประธานสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ที่บ้านใหญ่ตระกูลนาคาศัยเป็นเจ้าของ โดยเป็นพี่สาวนายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนางจิตร์ธนา เอาชนะ นายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.ชัยนาท เขต 2 พรรคก้าวไกล โดยผลเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ นางจิตร์ธนา คว้าชัยชนะได้คะแนนรวม 62,860 คะแนน ส่วนอันดับ 2 คือ นายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ ที่ได้ 44,690 คะแนน

ขณะที่ทางด้าน จ.พะเยา พื้นที่การเมืองสำคัญของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยนายธวัช สุทธวงค์ คนสนิทของนายอัครา พรหมเผ่า น้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย

ทั้งนี้ คะแนน ณ เวลา 23.02 น.วันที่ 4 ส.ค.67 พบว่า นายธวัช ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ในสายของ ร.อ.ธรรมนัส มีคะแนนสูงสุด 174,669 คว้าชัยชนะตามคาด ส่วนคู่แข่ง คือ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล มีเพียง 35,172 คะแนน 

‘หมอวรงค์’ ซัด!! ‘ก้าวไกล’ ยังแถลงบิดเบือนคดียุบพรรค พาดพิง 5 เรื่อง ‘เซาะบ่อน-กร่อนทำลาย’ สถาบันฯ

(5 ส.ค. 67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘แถลงการณ์พรรคไทยภักดี’ โดยระบุว่า

ต่อกรณีคำแถลงของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พบว่ามีการปลุกปั่นบิดเบือน ให้ประชาชนเข้าใจผิดในหลาย ๆ กรณี พรรคไทยภักดีจึงมีความจำเป็น ที่ต้องนำข้อเท็จจริงมาอธิบายให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ ต่อสิ่งบิดเบือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1.การที่นายพิธากล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของแต่ละประเทศ ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม ความพยายามทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย

ซึ่งในความเป็นจริง สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเรามีการปรับตัวมาตลอด และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องในแต่ละยุคสมัย จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนถึงปัจจุบัน การที่จงใจกล่าวให้ร้าย เซาะกร่อนบ่อนทำลาย และนำไปสู่การยกเลิกมาตรา 112 จึงไม่ใช่วิวัฒนาการเชิงสร้างสรรค์ต่อสถาบันฯ แต่ทำให้สถาบันฯ นำไปสู่การชำรุด ทรุดโทรม และ อ่อนแอ

2.กรณีที่กล่าวว่า การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะด้วยกำลัง ในนามของกฎหมาย

ซึ่งในข้อเท็จจริง การปกครองระบอบประชาธิปไตยในทุกประเทศ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของกฎหมาย ทุกฝ่ายแม้แต่พรรคการเมือง ต้องเคารพกฎหมาย ถ้าไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่สามารถไปดำเนินคดีใดๆ ได้เลย ดังนั้นพรรคก้าวไกลต้องตระหนักความจริงเหล่านี้ นั่นคือถ้าไม่ทำผิดกฎหมายก็จะไม่มีใครดำเนินคดีได้

3.การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหาร

ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในยุคปัจจุบัน และนำไปสู่การรัฐประหาร มีมูลเหตุหลักมาจาก การทุจริตคอร์รัปชัน และใช้อำนาจไม่ชอบ ไม่ใช่นำมูลเหตุเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นเหตุผล แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ นักการเมืองที่สร้างภาพว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย กลับไม่เคยสนใจปัญหาการทุจริตเหล่านี้

4.การอ้างว่า มีการบังคับใช้มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทั้ง ๆ ที่การบังคับใช้กฎหมายมาตรา112 ก็ล้วนเกิดจากการยุยงปลุกปั่น ให้เยาวชนจงใจจาบจ้วง ให้ร้ายสถาบันเบื้องสูง โดยพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีผู้จงใจกระทำผิด จะต้องถูกดำเนินคดี ไม่ใช่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดตามที่อ้าง สิ่งที่น่าสังเกตในช่วงปัจจุบัน การยุยงเยาวชนทำผิดลดน้อยลง การดำเนินคดี ตามมาตรา112 ก็จะลดน้อยลง

5.การที่อ้างว่า เล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์

สิ่งที่นายพิธากล่าวมา เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา112 เพื่อฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดี ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้ว นั่นคือผลที่เกิดขึ้น ทำให้มีการแยกสถาบันฯ กับความเป็นชาติไทย มุ่งลดสถานะการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ใช้สถาบันกษัตริย์หวังผลคะแนนเสียงเลือกตั้ง สุดท้ายนำไปสู่การเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม อ่อนแอ และการล้มล้างการปกครองฯ ได้ในที่สุด

พรรคไทยภักดีจึงขอเรียกร้อง พรรคก้าวไกล ที่อ้างว่าเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หยุดบิดเบือน ให้ร้ายในสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และไม่ว่าผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อพรรคก้าวไกล ขอให้พรรคก้าวไกลเคารพคำตัดสินของศาล เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเดินหน้าต่อไปได้

รู้จัก ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution หรือ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ซึ่งเป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมุ่งมั่นคืนความเป็นธรรมให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยใช้วิธีบอกเล่าผ่านภาพยนตร์แอนิเมชัน เพื่อสื่อสารให้คนไทยรู้ว่าในหลวง ร.7 สู้เต็มที่ และพยายามจะทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทยเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด

โดยคุณ วิวัธน์ จิโรจน์กุล เคยได้ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นการทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ไว้ว่า…

“แอนิเมชันเรื่องนี้ใช้เวลาสร้างนานถึง 3 ปี มีทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประมาณ 30-40 คน มีทั้งคนที่เข้ามาแล้วก็ออกไป จุดเริ่มต้นมาจากคนกลุ่มเล็ก ๆ แล้วจึงหาทีมงานเพิ่มในภายหลัง หลายคนเป็น ‘ตัวจี๊ด’ พร้อมปะทะโต้เถียงบนโลกโซเชียล แต่ตนก็ได้บอกไปว่า ‘ตีกันไป-มา’ แบบนั้นไม่ได้ประโยชน์ มาทำความจริงป้อนให้เป็นความรู้จะดีกว่า…

“ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานภาพยนตร์เรื่องนี้คือการหาหลักฐานข้อมูล แล้วถึงจะหยิบประเด็นจากหลาย ๆ มุมมอง เพื่อหาว่ามุมมองต่าง ๆ มองเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องเดียวกันคือเรื่องอะไร เราถึงหยิบพวกนี้มาเล่า”

และแม้จะเลือกการนำเสนอกึ่ง ๆ จะเป็นนิยาย (Fiction) แต่ข้อมูลที่นำเสนอมาจากบันทึกจริงในประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าโดยบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในช่วงเวลานั้นซึ่งรวมถึงของฝ่ายคณะราษฎรผู้ก่อการด้วย ทั้งนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลมาได้แล้วก็ต้องมาเลือกอีกว่าจากข้อมูลจำนวนมากจะนำเสนออย่างไรให้พอดีกับเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงได้โดยสอดคล้องกับเป้าหมายหลักคือให้เข้าใจบทบาทของรัชกาลที่ 7 ที่พยายามประคับประคองสถานการณ์ในยุคเปลี่ยนผ่านให้ไปรอด

เช่น รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยคณะราษฎรหลายคนที่ร่วมก่อการก็ไม่ได้อ่าน แต่รัชกาลที่ 7 ท่านอ่านและแนะนำให้ไปแก้ไขมาใหม่ นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งภายในกลุ่มคณะราษฎร ระหว่างหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเข้าใจได้ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ หรือนายปรีดี มีความเป็นนักวิชาการแนวคิดหัวก้าวหน้า ณ ช่วงเวลานั้น แต่ยอมรับว่ายังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่ได้ใส่เข้าไป 

วิวัธน์ จิโรจน์กุล ยังได้กล่าวถึงประเด็นดรามาเกี่ยวกับงบประมาณในการทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ด้วยว่า…

“ตอนแรกไม่รู้นะว่างบประมาณในการสร้างภาพยนตร์มันต้องใช้เท่าไรต่อเรื่องหนึ่ง แล้วเป็นเรื่องพีเรียด (Period - เนื้อเรื่องแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์) ต้องย้อนอดีต หาสถานที่ พร็อพ ขนาดวาด (รูป) แต่เมื่อริเริ่มโปรเจกต์แล้ว ก็เริ่มวางแผนการสร้าง ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่า หากเป็นภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดง ทุนสร้างอาจอยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย อีกทั้งทุนประมาณนี้คงจะเป็นเพียงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฉากเขียว (Green Screen) แล้วใส่กราฟิกเป็นฉากหลังเข้าไป ผลงานที่ออกมาก็อาจไม่น่าดู หรือหากจะทำแอนิเมชันแบบ 3 มิติ เท่าที่ไปสอบถามราคามา พบว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง 100 ล้านบาท จึงมาสรุปที่การทำเป็นแอนิเมชัน 2 มิติ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มทำในทันที เพราะสอบถามราคาแล้วต้องใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทซึ่งเวลานั้นยังมีทุนไม่พอ…

“ดังนั้นเพื่อที่จะให้แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้ จึงใช้วิธีสร้างทีมนักวาดขึ้นมา สามารถทำรูปแบบเฟรมต่อเฟรม ออกแบบตัวละครและฉากทั้งหมด แล้วจึงนำเค้าโครงที่ร่างไว้นี้ไปให้สตูดิโอทำ ซึ่งพบว่าลดต้นทุนลงได้มาก แต่เมื่อเห็นผลงานแล้วก็ยังไม่ถูกใจ ท้ายที่สุดทีมงานจึงเลือกที่จะลงมือทำกันเองทั้งหมด โดยไปหาคนที่ชำนาญเรื่อง In Between หรือการเชื่อมต่อภาพแต่ละเฟรมให้ดูเหมือนตัวละครขยับเขยื้อนได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแอนิเมชันมีความยาว 2 ชั่วโมง ต้องใช้รายละเอียดมากในขณะที่มีทีมงานน้อย…

“ใช้แรงงานเยอะแต่มีคนน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าบางเฟรมเราก็จะใช้ซ้ำ ๆ บางเฟรมเราก็จะใช้ 3D มาผสม เพราะ 3D เราสามารถทำแล้ว Render ทีเดียว มันก็จะเป็นภาพขยับต่อเนื่อง ในฉากที่ทหารเยอะ ๆ เน้นใช้ 3D เข้ามาช่วย มันจะเป็นสื่อผสมหลาย ๆ อย่าง ใช้ Motion Graphic บ้าง ใช้ 3D ใช้ 2D ความรู้สึกผมเหมือนเป็นเชฟที่เห็นของเหลือในตู้เย็น สุดท้ายปรุงอย่างไรก็ได้ ออกมาให้มันเล่าเรื่อง 2 ชั่วโมงนี้จบอย่างที่เราต้องการ พอมันจบเสร็จปุ๊บ ก็รู้สึกโล่ง ตอนนั้นคือโล่ง เหมือนยกภูเขาออกจากอก มันเสร็จแล้ว แค่นั้นผมพอใจแล้ว หลังจากนั้นผมไม่สนใจแล้วคนดูจะรู้สึกอย่างไร…

“แอนิเมชันเรื่องหนึ่งใช้ทุนสร้างเป็นหลักสิบล้านบาท เป็นทุนของผมแล้ว 5 ล้านบาท แม้จะเป็นหนี้ก็ตาม เพื่อทำโปรเจกต์แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ผมต้องไปหยิบยืมเงินจากญาติสนิทมิตรสหายมาเพื่อทำให้สำเร็จ และในวันที่ผลงานแล้วเสร็จก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะได้ทำในสิ่งที่ต้องการมาตลอด…สำหรับผมวันนี้ถือว่าถึงตายก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว จะเป็นหนี้หรือล้มละลายก็ไม่เป็นไร  เพราะต่อให้ล้มละลายต้องปิดบริษัท ผมก็ยังไม่ตาย ไปทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ ผมเพียงอยากให้ผลงานนี้ทำเสร็จสมบูรณ์”

“อย่างที่ผมบอก ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรผมต้องทำให้มันเสร็จ ดังนั้น ผมต้องบอกเลยว่าผมแลกไปเยอะมาก ดังนั้นการที่มากล่าวหาว่าผมได้รับงบประมาณจากกองทัพ หรือมีเงินจากส่วนไหน ๆ มาช่วยซัปพอร์ตโปรเจกต์นี้ ผมถือว่าดูถูกผมมากเลย ดังนั้นผมก็เลยมองว่าวิธีการทำแบบนี้ผมอาจจำเป็นต้องใช้กฎหมาย แต่ถ้าเกิดคุณมาด่าว่าบิดเบือน หรือด่าว่าแอนิเมชันห่วย-กาก ผมไม่กังวลอะไร ไม่ว่าอะไร คุณวิจารณ์ได้ แต่ถ้าเกิดคุณมาด้อยค่าความตั้งใจมุ่งมั่นของทีมงาน หรือเครดิตของคนที่ตั้งใจทุ่มเทเพื่องานนี้ ผมแค่ไม่ยอมเรื่องนี้เรื่องเดียว” วิวัธน์ กล่าว

นอกจากนี้ วิวัธน์ จิโรจน์กุล ยังได้เผยถึงกระแสและผลตอบรับหลังเผยแพร่ภาพยนตร์แอนิเมชันแล้วว่า… “ตั้งเป้าไว้ว่ามียอดรับชมประมาณหลักหมื่นวิวก็สูงแล้ว และแม้จะไม่ได้ตั้งเป้าว่าอยากได้ยอดวิวเท่านั้นเท่านี้ แต่ทุกครั้งที่ยอดวิวขึ้น คนที่สนับสนุนแอนิเมชันเรื่องนี้ก็ดีใจและตื่นเต้นไปกับทีมผู้สร้างด้วย ผมก็จะคอยรายงานยอดเป็นระยะ ๆ โดยมีหนึ่งในทีมงานมาช่วยวาดรูปประกอบทุก ๆ ครั้งที่ยอดเพิ่มครบ 1 แสนวิว…”

“สำหรับผมยอดวิวไม่สำคัญเท่าการที่มีคนเข้ามาดูแล้วรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น” วิวัธน์ กล่าว

ส่วนประเด็นที่มีคนถามเข้ามามากมายว่า ทำไมไม่นำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เหมือนภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ วิวัธน์ จิโรจน์กุล ได้ตอบประเด็นนี้ไว้ว่า… 

“ประเด็นแรกเวลาทำหนังเสร็จ ถ้าเกิดจะเอาไปฉายตามโปรแกรมทั่วไปปกติ จะต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อน จัดเรตหนัง อนุญาตเรียบร้อยแล้วถึงจะฉายโรงได้ แต่ผมก็ประเมินแล้ว ผมเข้ากองเซ็นเซอร์ผมโดนหั่นเหี้ยนแน่เลย ประเด็นที่ผมกังวลที่สุดคือเราอาจจะโดนตัดฉากรัชกาลที่ 7 ออก กลัวว่าจะกระทบ เพราะผมบอกว่าเรื่องนี้ การเล่าเรื่อง 2475 ถ้าเราไม่เล่าในมุมของสถาบัน เรื่องนี้ไม่มีทางเล่าจบ ดังนั้นผมเลยคิดว่าผมแค่ฉายปฐมทัศน์แล้วผมฉายออนไลน์ให้ดูฟรี มันไม่จำเป็นต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ เราสามารถทำได้…

“เหมือนเราทำสารคดี (Documentary) สักอันหนึ่ง แต่เป็นการเล่าในรูปแบบแอนิเมชัน และเปิดฉายให้ดูฟรีเพื่อให้ความรู้ ผมเลยมองแค่มุมนั้น ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องเปิดฉาย ‘หาเงิน’ อะไร เราเชิญพวกพี่ ๆ ไปดู (รอบปฐมทัศน์ในโรงภาพยนตร์) คนที่เป็น Royalist คนที่รักสถาบันเข้าไปดู ผมอยากทดสอบด้วยว่าเราเล่าในมุมนี้รับไหวไหม? รับได้ไหมที่นำในหลวงรัชกาลที่ 7 มาเป็นคาแร็กเตอร์”

วิวัธน์ จิโรจน์กุล ได้ยืนยันทิ้งท้ายไว้ว่า “ความตั้งใจของการสร้างแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ไม่ใช่เพื่อทำร้ายหรือทำลายใคร แต่เพื่อทำประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนและเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นธรรมต่อทุกคน”

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

‘วิโรจน์’ ขอโทษ หลังโวยยับ กรณี กรรมการงบกทม. ถูกตัดโควตา สุดท้าย!! เข้าใจผิด สัดส่วนไม่หาย ส.ก.ก้าวไกล ได้จำนวนเท่าเดิม

(4 ส.ค. 67) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ...

ก่อนอื่น ผมต้องขอโทษ และขอยอมรับกับการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนกรรมการพิจารณางบประมาณ กทม. 2568 สัดส่วนพรรคก้าวไกลที่ผิดพลาด

ข้อเท็จจริงคือ กรรมการงบสัดส่วนก้าวไกลมีจำนวน 6 คน ไมใช่ 4 คน โดยลำดับเหตุการณ์และข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำชี้แจงนี้ของ ส.ก.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย 

ผมยังคงรู้สึกเสียดายที่คุณอธึกกิต และคุณอาณิก ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงบประมาณและการตรวจสอบการทุจริตจะไม่ได้เข้าไปเป็นกรรมการงบประมาณ กทม. ในปีนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอตั้งแต่แรก

และผมยังคงไม่เห็นด้วยกับกลเกมวิธีการที่เกิดขึ้นในสภา กทม. เมื่อคืนวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่ประชาชนย่อมดูออกว่าเป็นความพยายามสกัดกั้นอย่างไร้เหตุผล ไม่ให้พรรคก้าวไกลเสนอชื่อบุคคลภายนอกได้สำเร็จ เป็นการอ้างหลักการเสียงข้างมากโดยไม่เคารพเสียงข้างน้อย และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

อย่างไรก็ตาม ผมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะเกี่ยวกับการสื่อสารของตัวเอง นี่จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของผมในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน

การพิจารณางบประมาณของ กทม. วงเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาว กทม. ทุกคน ผม และ ส.ก. พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ผลักดันให้สภา กทม. มีความโปร่งใส งบประมาณถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยครับ

สรุปการชี้แจงของ ส.ก.ภัทราภรณ์

คณะกรรมการงบ กทม. ชุดนี้ กำหนดให้มีกรรมการ 37 คน สัดส่วน พท. 14 คน กก. 6 คน ปชป. 6 คน อิสระ 2 คน และฝ่ายบริหาร 9 คน

พรรคก้าวไกลเสนอชื่อไปทั้งหมด 6 คน (ส.ก. 4 คน+คนนอก 2 คน) ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ตาม พ.ร.บ.กทม. และข้อบังคับการประชุมสภา กทม. รวมถึงเป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคในการเลือกคนในสัดส่วนของตัวเอง

อย่างที่ทุกท่านทราบกันมาตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีความพยายามเพื่อไม่ให้ 2 คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคนนอกได้เข้ามาทำหน้าที่กรรมการ เมื่อเสนอชื่อกันไปตามปกติจนครบคนแล้ว ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อขึ้นมาอีก 2 ชื่อ ให้ชื่อเกินจำนวนที่กำหนด (เดิม 37 เป็น 39)

เมื่อชื่อเกิน จึงถูกนำเข้าสู่ข้อบังคับการประชุมข้อ 87 ที่ระบุว่า หากจำนวนชื่อที่เสนอเกินกว่าจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ ให้สามารถใช้ข้อบังคับฯ ข้อ 72 ได้

ข้อบังคับฯ ข้อ 72 ระบุให้ลงคะแนนเสียงแบบเปิดเผย โดยมีทางเลือกให้ 4 วิธี และใน (4) ระบุไว้ว่า วิธีอื่นๆ

จึงมี ส.ก.ท่านหนึ่งเสนอให้ 'วิธีอื่นๆ' เป็นการโหวตลับ ซึ่งจบลงด้วยเสียงข้างมากในสภาโหวตผ่าน กลายเป็นมติในที่ประชุมให้โหวตลับ

ทาง ส.ก.ก้าวไกล รู้ว่าหากเดินหน้าต่อไป 2 คนนอกของพรรคก้าวไกลจะถูกโหวตคัดออก และทำให้ ส.ก.ก้าวไกลเหลือเพียง 4 คน

ด้วยความชุลมุนที่ต้องตัดสินใจหน้างานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวต สก.ก้าวไกลจึงได้ตัดสินใจ ณ ตรงนั้น เพิ่มเติมรายชื่อ ส.ก.ของก้าวไกล เข้าไปอีก 2 คน เพื่อเป็นแผนสำรองในการรักษาสัดส่วนกรรมการของก้าวไกลไว้ที่ 6 คนตามเดิม เพื่อให้เรามีบุคลากรเต็มจำนวนในการทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ กทม.

ในระหว่างนั้น มีความวุ่นวายเกิดขึ้นมากมายในสภา กทม. เช่น มี ส.ก.ท่านหนึ่งเสนอชื่อ ส.ก.ก้าวไกลขึ้นมาเอง 2 คน จน ส.ก.ก้าวไกลต้องลุกขึ้นขอถอนชื่อออก ส.ก.ภัทราภรณ์ก็ได้เสนอชื่อ ส.ก.ก้าวไกล 2 คน แต่มีการถอนชื่อออก 1 คน ส.ก.อภิวัฒน์จึงได้เสนอชื่อ ส.ก. ของเราเองกลับเข้าไปอีก 1 คน มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอในสภา การโพสในโซเชียลมีเดีย ทำให้ ส.ก.ภัทราภรณ์ต้องลบโพสหนึ่งในคืนนั้นออก มีการระแวงคนนอกเข้ามาในสภาอย่างผิดปกติ สุดท้ายนำไปสู่การปิดไลฟ์การถ่ายทอดสดในสภา กทม. ก่อนการประชุมจะจบลง

สุดท้ายผลการลงมติคือ 2 คนนอก หลุดจากรายชื่อกรรมการอย่างที่คาดการณ์ไว้ และ ส.ก.ก้าวไกลได้สัดส่วน 6 คนตามเดิม

ปัญหาเกิดจาก การตัดสินใจที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน และการปรับเปลี่ยนแผนหน้างาน จึงทำให้การสื่อสารระหว่างหน้างาน และส่วนกลาง ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที จึงทำให้ส่วนกลางเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่ากรรมการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลที่ปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการลดลงเหลือ 4 คน

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่สำคัญด้านอื่นผิดไป และท้ายที่สุด ส.ก.พรรคก้าวไกลก็ถูกพรรคอื่นเข้ามาแทรกแซง และบีบให้เราไม่สามารถส่ง 2 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคนนอกในโควตาของก้าวไกลเองเข้าไปทำหน้าที่ตามที่เราต้องการได้

อย่างไรก็ตาม ส.ก.ก้าวไกลทุกคน จะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อตรวจสอบงบประมาณ กทม. ปีนี้อย่างเข้มข้น และถึงจะไม่สามารถถ่ายทอดสดจากในที่ประชุมได้ แต่จะมารายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป

‘สรรเพชร’ ฟาดรัฐบาล ดึง ‘งบเบิกจ่าย’ ล่าช้า รั้งไว้ ทำนโยบายแจกเงิน จี้!! ต้องตอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง มิใช่เพียงตั้งกรรมการ เพื่อลบข้อครหา

(4 ส.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร แสดงถึงความห่วงใยในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความล่าช้า 

นายสรรเพชญ กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 นี้ ตนมีความเห็นว่า ไม่ตรงตามเป้าที่ควรจะเป็นเนื่องจากภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 โดยกรมบัญชีกลางระบุว่า ในวงเงินงบประมาณทั้งหมดกว่า 3.48 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 2.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.50 ในส่วนของรายจ่ายประจำ วงเงิน 2.75 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไป 2.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.19 ซึ่งการเบิกจ่ายงบประจำ ตนมีความเห็นว่า มีความเหมาะสม เพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเศษ คือ ในสิ้นเดือนกันยายน จะปิดปีงบประมาณ 2567 สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องของการเบิกจ่ายงบลงทุน ในวงเงิน 7.2 แสนล้านบาท แต่กลับมีการเบิกจ่ายเพียง 3 แสนกว่าล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.36 โดยประมาณ ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีงบประมาณ 2566 มีการเบิกจ่ายร้อยละ 60 แสดงว่าลดลงจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 18 อีกทั้งยังเป็นที่น่าสงสัยในสังคมว่า รัฐบาลพยายามดึงการเบิกจ่ายให้ล่าช้า เพราะจะนำงบประมาณที่เหลือจ่ายจากปี 2567 มาใช้จ่ายในโครงการแจกเงินผ่าน DIGITAL WALLET โดยในเรื่องนี้รัฐบาลต้องตอบคำถามกับประชาชนให้กระจ่าง แม้ว่าจะมีการตั้งกรรมการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่าย แต่การทำงานยังไม่มีความคืบหน้า เกรงว่าจะเป็นเพียงการตั้งกรรมการเพื่อลบข้อครหาในเรื่องนี้มากกว่า ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือ การให้มีการเบิกจ่ายเป็นปกติและอย่ารั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้งบประมาณเข้าสู่ระบบตามที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน/การบริโภคของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หนึ่งในทางเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิด Fiscal Multiplier อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในเดือนหน้าที่จะครบวาระการทำหน้าที่ของรัฐบาลครบ 1 ปี ตนเห็นว่า รัฐบาลยังมีงานที่คั่งค้างอยู่อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องโครงการรับซื้อเรือประมงคืน ซึ่งเรื่องนี้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนมาก และยังรอคอยคำตอบจากรัฐบาลว่า จะช่วยเหลือชาวประมงเมื่อใด รัฐบาลยังคงเพิกเฉยในเรื่องนี้ ไร้วี่แววความคืบหน้า ในขณะนี้รัฐบาลสามารถใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือชาวประมงในเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถช่วยชาวประมงในเรื่องนี้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงเป็นอย่างมาก เพราะชาวประมงจะสามารถนำเรือที่โดนยึดกว่า 1,007 ลำ ออกไปประกอบอาชีพได้ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากสามารถไปต่อได้จากการหยุดชะงักมาหลายปี แต่สิ่งที่น่าชื่นชมรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ดีที่สุด คือ การทำให้ประชาชนคิดถึงรัฐบาลชุดก่อนที่กำลังเป็นกระแสในสื่อออนไลน์ หากแกนนำรัฐบาลไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำงานสำเร็จได้ตนแนะนำให้ไปถามรัฐมนตรีใน ครม. เพราะส่วนใหญ่มีแต่หน้าเก่า ๆ น่าจะเข้าใจปัญหาดี สามารถให้คำแนะนำเรื่องภารกิจที่คั่งค้างและควรทำให้สำเร็จโดยเร็วได้ 

‘สรวงศ์’ เผย ‘เพื่อไทย’ ไม่มีคุยดึง ‘สส.ก้าวไกล’ ร่วมงาน หากถูกยุบพรรค ลั่น!! ไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ยัน!! ข้อตกลงเดิมที่เคยพูดคุยกัน ตอนจัดตั้งรัฐบาล

(4 ส.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้วและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาระบุว่ามีความพยายามจากพรรคร่วมรัฐบาลติดต่อดึง สส.พรรค ก.ก.ไปร่วมงานด้วย หากพรรคถูกยุบ ในฐานะพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล มองเรื่องนี้อย่างไร ว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ในส่วนของพรรค พท. ตนในฐานะเลขาธิการพรรคยืนยันว่าไม่มี

เมื่อถามว่า จะมีผลอะไรกับรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไร หากพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเพิ่มขึ้นก็ต้องว่าไปตามข้อตกลงที่เคยพูดคุยกันตอนร่วมตั้งรัฐบาล

เมื่อถามถึง กรณีที่หากพรรค ก.ก.ถูกยุบ อาจจะมีปรับเปลี่ยนเรื่องเก้าอี้ประธานสภา และรองประธานสภา พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยกันใหม่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า จะต้องมีการพูดคุยกันแน่นอน แต่เบื้องต้นตนไม่อยากให้มีข่าวร้ายในการยุบพรรคใดๆ ทั้งสิ้น

‘ดร.นิว’ ชำแหละ 9 ข้อแถโง่ๆ ที่ฟังไม่ขึ้นของ ‘พรรคก้าวไกล’ ฟาด!! เล่นแง่กฎหมายไปเรื่อย ตีความเข้าข้างตัวเองได้ ในทุกกรณี

(4 ส.ค. 67) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความระบุว่า …

ชำแหละ 9 ข้อแถโง่ๆ ที่ฟังไม่ขึ้นของพรรคก้าวไกล

ข้อ 1. ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยยุบพรรคได้อย่างไรในเมื่อมีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านมาก็มีการยุบพรรคที่ทำผิดให้เห็นๆ กันอยู่ แล้วถ้าพรรคก้าวไกลทำผิด ทำไมจะยุบไม่ได้?

ข้อ 2. ถ้าคิดว่าคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลก็ต้องดำเนินการเอาผิดกับ กกต. ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำมาแถให้พรรคก้าวไกลพ้นผิดไปได้

ข้อ 3. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรและคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ก็มีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสืบเนื่องมาจากการที่พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ก็แค่นำมาวินิจฉัยต่อไปว่าสมควรยุบหรือไม่ ไม่ใช่ข้อหาที่แตกต่างกันตามที่พรรคก้าวไกลแถแบบโง่ๆ

ข้อ 4. เมื่อบุคคลทำเกินมติพรรคถ้าพรรคไม่ยอมรับก็ต้องจัดการแต่เนิ่นๆ ในทุกกรณี แต่ทว่าพรรคก้าวไกลกลับไม่เคยจัดการใดๆ การอภิปรายบิดเบือนให้ร้ายในสภาก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้แต่ถวายพระพรก็ยังไม่มี แถมพรรคก้าวไกลยังออกหน้าประกันตัว สส. ผู้กระทำผิด ม.112 อย่างชัดเจนอีกด้วย

ข้อ 5. พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือหลักป้องปรามในการยุบพรรค พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจนก็อาจเข้าข่ายโดนยุบพรรคเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้พรรคก้าวไกลยุยงปลุกปั่นมวลชนหรือใช้กำลังในการล้มล้างเสียก่อน

ข้อ 6. ยุบหรือไม่ยุบเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ผู้วินิจฉัยเท่านั้น ส่วนจะสมควรแก่เหตุหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของศาล หากมองว่าการที่พรรคก้าวไกลสร้างความแตกแยกทางความคิดชี้นำไปสู่บั้นปลายของการล้มล้างซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงและการสูญเสีย เพียงแต่ยังไม่ได้ปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมเท่านั้น การยุบพรรคก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยกว่าเหตุ เพื่อยับยั้งความรุนแรงก่อนที่อนาธิปไตยจะเกิดขึ้นมาทำลายประชาธิปไตย

ข้อ 7-9. พรรคก้าวไกลเล่นแง่แถกฎหมายไปเรื่อย เพราะถ้าคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สิทธิในการเพิกถอนสิทธิจริงก็ควรจบตั้งแต่ข้อ 7. ไม่ใช่แถไปจนถึงข้อ 9. ในลักษณะต่อรองเป็นขั้นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่รู้กฎหมายจริง หากแต่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองสุดๆ ในทุกกรณี

ดังนั้น หากดูเพียงผิวเผินด้วยความไม่รู้กฎหมายก็อาจมองว่าพรรคก้าวไกลเก่งฉกาจที่สามารถยกข้อต่อสู้ทางกฎหมายขึ้นมาได้ถึง 9 ข้อ แต่ทว่าความเป็นจริง พรรคก้าวไกลก็แค่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองแบบเด็กเอาแต่ใจ ไร้วุฒิภาวะ ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการและความเป็นจริงแต่อย่างใด

ดร.ศุภณัฐ

4 สิงหาคม พ.ศ. 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top