Wednesday, 23 April 2025
POLITICS NEWS

‘สรวงศ์’ เผย ‘เพื่อไทย’ ไม่มีคุยดึง ‘สส.ก้าวไกล’ ร่วมงาน หากถูกยุบพรรค ลั่น!! ไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ยัน!! ข้อตกลงเดิมที่เคยพูดคุยกัน ตอนจัดตั้งรัฐบาล

(4 ส.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้วและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาระบุว่ามีความพยายามจากพรรคร่วมรัฐบาลติดต่อดึง สส.พรรค ก.ก.ไปร่วมงานด้วย หากพรรคถูกยุบ ในฐานะพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล มองเรื่องนี้อย่างไร ว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ในส่วนของพรรค พท. ตนในฐานะเลขาธิการพรรคยืนยันว่าไม่มี

เมื่อถามว่า จะมีผลอะไรกับรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไร หากพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเพิ่มขึ้นก็ต้องว่าไปตามข้อตกลงที่เคยพูดคุยกันตอนร่วมตั้งรัฐบาล

เมื่อถามถึง กรณีที่หากพรรค ก.ก.ถูกยุบ อาจจะมีปรับเปลี่ยนเรื่องเก้าอี้ประธานสภา และรองประธานสภา พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยกันใหม่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า จะต้องมีการพูดคุยกันแน่นอน แต่เบื้องต้นตนไม่อยากให้มีข่าวร้ายในการยุบพรรคใดๆ ทั้งสิ้น

‘ดร.นิว’ ชำแหละ 9 ข้อแถโง่ๆ ที่ฟังไม่ขึ้นของ ‘พรรคก้าวไกล’ ฟาด!! เล่นแง่กฎหมายไปเรื่อย ตีความเข้าข้างตัวเองได้ ในทุกกรณี

(4 ส.ค. 67) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความระบุว่า …

ชำแหละ 9 ข้อแถโง่ๆ ที่ฟังไม่ขึ้นของพรรคก้าวไกล

ข้อ 1. ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยยุบพรรคได้อย่างไรในเมื่อมีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านมาก็มีการยุบพรรคที่ทำผิดให้เห็นๆ กันอยู่ แล้วถ้าพรรคก้าวไกลทำผิด ทำไมจะยุบไม่ได้?

ข้อ 2. ถ้าคิดว่าคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลก็ต้องดำเนินการเอาผิดกับ กกต. ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำมาแถให้พรรคก้าวไกลพ้นผิดไปได้

ข้อ 3. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรและคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ก็มีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสืบเนื่องมาจากการที่พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ก็แค่นำมาวินิจฉัยต่อไปว่าสมควรยุบหรือไม่ ไม่ใช่ข้อหาที่แตกต่างกันตามที่พรรคก้าวไกลแถแบบโง่ๆ

ข้อ 4. เมื่อบุคคลทำเกินมติพรรคถ้าพรรคไม่ยอมรับก็ต้องจัดการแต่เนิ่นๆ ในทุกกรณี แต่ทว่าพรรคก้าวไกลกลับไม่เคยจัดการใดๆ การอภิปรายบิดเบือนให้ร้ายในสภาก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้แต่ถวายพระพรก็ยังไม่มี แถมพรรคก้าวไกลยังออกหน้าประกันตัว สส. ผู้กระทำผิด ม.112 อย่างชัดเจนอีกด้วย

ข้อ 5. พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือหลักป้องปรามในการยุบพรรค พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจนก็อาจเข้าข่ายโดนยุบพรรคเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้พรรคก้าวไกลยุยงปลุกปั่นมวลชนหรือใช้กำลังในการล้มล้างเสียก่อน

ข้อ 6. ยุบหรือไม่ยุบเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ผู้วินิจฉัยเท่านั้น ส่วนจะสมควรแก่เหตุหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของศาล หากมองว่าการที่พรรคก้าวไกลสร้างความแตกแยกทางความคิดชี้นำไปสู่บั้นปลายของการล้มล้างซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงและการสูญเสีย เพียงแต่ยังไม่ได้ปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมเท่านั้น การยุบพรรคก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยกว่าเหตุ เพื่อยับยั้งความรุนแรงก่อนที่อนาธิปไตยจะเกิดขึ้นมาทำลายประชาธิปไตย

ข้อ 7-9. พรรคก้าวไกลเล่นแง่แถกฎหมายไปเรื่อย เพราะถ้าคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สิทธิในการเพิกถอนสิทธิจริงก็ควรจบตั้งแต่ข้อ 7. ไม่ใช่แถไปจนถึงข้อ 9. ในลักษณะต่อรองเป็นขั้นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่รู้กฎหมายจริง หากแต่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองสุดๆ ในทุกกรณี

ดังนั้น หากดูเพียงผิวเผินด้วยความไม่รู้กฎหมายก็อาจมองว่าพรรคก้าวไกลเก่งฉกาจที่สามารถยกข้อต่อสู้ทางกฎหมายขึ้นมาได้ถึง 9 ข้อ แต่ทว่าความเป็นจริง พรรคก้าวไกลก็แค่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองแบบเด็กเอาแต่ใจ ไร้วุฒิภาวะ ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการและความเป็นจริงแต่อย่างใด

ดร.ศุภณัฐ

4 สิงหาคม พ.ศ. 2567

‘แกนนำคณะก้าวหน้า’ เตือน ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ อ้าง!! ยุบ ‘ก้าวไกล’ จะทำให้ไทยพลาดเก้าอี้ใน ‘ยูเอ็น’

(4 ส.ค. 67) นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มีประสบการณ์ผ่านคดียุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว วิเคราะห์คำตัดสินของศาลรธน.ในวันที่ 7 ส.ค.นี้โดยมองว่า พรรคก้าวไกลมีโอกาสรอดจากการถูกยุบพรรคจากเหตุผลทั้งบริบทการเมือง-ข้อกฎหมายและเรื่องของเวทีต่างประเทศ โดยเรื่องของเวทีต่างประเทศ ก็เพราะในเดือนหน้านี้ ศาลรธน.ของไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร (มีประธานศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่า จากประเทศสมาชิก 18-19 ประเทศ เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีมาร่วมงานประมาณเกือบ400 คน) ซึ่งจุดนี้ คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ เหตุใด ศาลรธน.จึงนัดตัดสินคดีสำคัญๆ ในช่วงนี้เพื่อให้เสร็จก่อนการประชุม ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ก็ไม่รู้ว่าจะแบกหน้าไปคุยกับเขาได้อย่างไร เพราะการที่จะสั่งยุบพรรคการเมือง มันต้องเป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ

นายชำนาญ ยังกล่าวอีกด้วยว่า นอกจากนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังรณรงค์อย่างหนัก เพื่อสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในวาระปี ค.ศ.2025-2027 ซึ่งเท่าที่ทราบถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่แค่เฉพาะคดี 112 ที่จะพบว่าเกือบทุกคดี จะไม่มีการให้ประกันตัวยกเว้นแค่บางคดี เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว แล้วยิ่งหากจะมายุบพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถ้าแบบนี้ ก็ปิดประตูตายได้เลย ไม่ต้องไปลุ้นให้เหนื่อย 

แกนนำคณะก้าวหน้า มองว่า ผลการลงมติของ 9 ตุลาการศาลรธน.วันที่ 7 ส.ค.นี้ จะไม่ออกมาแบบเอกฉันท์แบบตอนลงมติตัดสินคดีที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองฯ โดยอาจจะออกมา 5 ต่อ 4  หรือ 6 ต่อ 3 ประมาณนี้ ซึ่งแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่จะออกมา จะมีแค่สองแนวทางเท่านั้น คือ หนึ่ง “ไม่ยุบพรรคก้าวไกล” ส่วนหากจะออกมาเป็นแบบยกคำร้อง โดยใช้เหตุว่ากระบวนการพิจารณาของกกต.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย-ระเบียบของกกต. ถ้าออกมาแบบนี้ มันจะไม่ตัดสิทธิที่กกต.จะยื่นคำร้องเข้ามาใหม่อีกครั้งได้ เช่น หากตัดสินยกคำร้องด้วยเหตุว่า กกต.ไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง ก็ยังทำให้กกต.สามารถไปเช็กคำร้องคดีขึ้นมาใหม่ได้ อาจใช้เวลา 1-2 ปี ก็ว่าไป มันไม่ใช่การฟ้องซ้ำ เพราะฟ้องซ้ำคือการมาฟ้องคดีที่ตัดสินคดีไปแล้วแต่เป็นคดีประเภทเดียวกัน คู่ความคนเดียวกัน ข้อหาเดียวกัน มาฟ้องซ้ำอีก แต่ถ้าศาลรธน.ยกคำร้อง ก็หมายถึงทำไม่ถูกขั้นตอน ก็ยังให้ไปทำมาใหม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก แต่ก็อาจเป็นทางออกของเขา แต่มันก็จะเป็นชนักติดหลังพรรคก้าวไกลได้อยู่ว่า”อย่าดิ้นมาก”เดี๋ยวจะยื่นคำร้องไปศาลรธน.ใหม่ได้อีก ที่ก็ต้องไปตั้งอนุกรรมการไต่สวน-มีการเรียกพยานอะไรไปชี้แจง กว่าจะเสร็จอาจถึงช่วงตอนเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า และแนวทางที่สอง ก็คือ ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งหากจะเป็นแบบนี้ ก็แค่อิงคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ เมื่อ 31 ม.ค.2567 ก็พอ  

แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่า พรรคก้าวไกลจะรอดในคดียุบพรรค ก็เพราะหากก้าวไกลโดนยุบพรรค จะยิ่งแปรเป็นความคับแค้น ความเห็นใจ  อย่างคนที่อยู่กลางๆ เองเขาจะมีความเห็นใจ จนกลายเป็นคะแนนให้มาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น กับการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ทั่วประเทศในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า และตามด้วย เทศบาล -อบต. -กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา ถ้ายิ่งไปทำแบบนี้ คนก็จะยิ่งเลือกผู้สมัครท้องถิ่นของพรรคใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ดูได้จากที่ก้าวไกลได้ส.ส.และมีสมาชิกพรรคมากกว่าสมัยอนาคตใหม่

นายชำนาญระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล จะทำให้การเมืองไทยเหลือเพียงขั้วเดียว ซึ่งประสบการณ์ในอดีต ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไร หากการเมืองขั้วที่เหลืออยู่ เห็นหมดเสี้ยนหนาม ถ้าก้าวไกลหายไประยะหนึ่งจะยิ่งลำพองใจ สมัยก่อนก็เคยเห็นกันแล้ว ได้มา 377 เสียง ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง  แต่หากยังคงให้มีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็ยังทำให้เกิดการคานกัน-การถ่วงดุลกันได้อยู่ ทำให้จึงเชื่อว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งหลาย ก็คงคิดเก็บพรรคก้าวไกลไว้ก่อน  คือ ศาลรธน.เป็นคดีที่ตัดสินคดีการเมือง การเมืองมันพลิกผันได้ตลอดเวลา ผมเข้าใจเอาเองว่า ตอนนี้มันนิ่งแล้ว ฝ่ายผู้มีอำนาจเขาคิดว่าเขาชนะแล้ว เพราะแกนนำที่เคยเคลื่อนไหวเรื่อง 112 ก็ติดคุกกันเยอะ ส่วนพรรคก้าวไกลก็โดนฟรีซแช่แข็งเรื่อง 112 ทำอะไรไม่ได้ คือเขาคอนโทรลได้หมดทุกอย่างแล้ว เอาเฉพาะตอนนี้ และถ้าไม่ยุบก้าวไกล จะทำให้ก้าวไกล ก็จะมีโซ่ค้ำคออยู่ขยับเรื่อง 112 ไม่ได้

“เชื่อว่าไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องมีการไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนด้วยการจะไปยุบพรรคก้าวไกล แนวโน้มความเชื่อผม มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะยกคำร้อง ก็เช่นอาจจะออกมาไปในแนวทางว่ากกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการไต่สวนคำร้องตั้งแต่แรก  เพราะหากจะไปยกคำร้องว่าก้าวไกลไม่ผิด ทางศาลรธน.ก็มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ค้ำคอเขาอยู่ ที่สำคัญ หากไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล แต่จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ในคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลสั่งห้ามพรรคก้าวไกลกระทำการใดๆ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตรงนี้ก็จะค้ำคอพรรคก้าวไกลไว้ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปในเรื่อง 112 แต่หากมีการยุบพรรคก้าวไกล แล้วมีการไปตั้งพรรคการเมืองมาแทนก้าวไกล พรรคการเมืองตั้งใหม่ ก็จะไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ความตามคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองอีกต่อไปแล้วเพราะก้าวไกลโดนยุบพรรคไปแล้ว พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาแทน ก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับก้าวไกลอีกต่อไป คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อพรรคการเมืองใหม่ที่ขึ้นมาแทนพรรคก้าวไกล” นายชำนาญ กล่าวทิ้งท้าย

‘นิด้าโพล’ เผย ประชาชนไม่เชื่อ ‘เปลี่ยนตัวนายกฯ-ยุบพรรค’ แต่ถ้าต้องเปลี่ยน!! ‘อุ๊งอิ๊งค์’ ขึ้นเสียบนายกฯ แทน 'เศรษฐา'

(4 ส.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘Believe It or Not! ทางการเมืองไทย ตอน เดือนพิพากษา’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึง 1 สิงหาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในเดือนสิงหาคม 2567 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.42 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 29.62 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 8.63 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.06 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อมากและค่อนข้างเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ (จำนวน 313 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับบุคคลที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคร่วมรัฐบาล หากมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.95 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) รองลงมา ร้อยละ 30.99 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) ร้อยละ 11.82 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) ร้อยละ 8.31 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ร้อยละ 2.23 ระบุว่าเป็น นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย) และร้อยละ 14.70 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในเดือนสิงหาคมนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.44 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 27.94 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 24.20 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 13.44 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อมากและค่อนข้างเชื่อว่าจะมีการยุบพรรคการเมืองในเดือนสิงหาคมนี้ (จำนวน 493 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ สส. จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จะไปสังกัดกับพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.97 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 27.99 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 16.84 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 14.20 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการพ้นโทษของคุณทักษิณ ชินวัตร จะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 26.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 19.01 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 11.45 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

รู้จัก ‘ฤกษ์อารี นานา’ อดีตนักเรียนไทยในต่างแดน ผู้ไม่ถูกกลืนตัวตน-ละทิ้งความเป็นไทย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ แมน-ฤกษ์อารี นานา ทายาทของ ‘ไกรฤกษ์ นานา’ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของประเทศไทย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นบุคคลทรงคุณค่าและมีดีกรีไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

โดย ฤกษ์อารี นานา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง Institut Catholique de Vendee ประเทศฝรั่งเศส และระดับปริญญาโท เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา SOAS University of London ประเทศอังกฤษ และเคยปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

สำหรับมุมมองต่อประเทศฝรั่งเศสรวมถึงประเทศในแถบยุโรป ‘ฤกษ์อารี นานา’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ UTN World กับ แมน นานา EP.1 ซึ่งได้เล่าเรื่องราวขณะที่ตนได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส สรุปได้ว่า…

สมัยนั้นระบบการศึกษาที่ฝรั่งเศส ก็มีความคล้ายคลึงกับในไทย คือ เน้นท่องจำ เน้นทฤษฎีซะส่วนใหญ่ แต่จะต่างกันตรงเด็กส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายในการทำคะแนนที่แข่งกับตัวเองอย่างมาก และถึงขั้นต้องทำคะแนนให้ได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนอื่นด้วย โดยที่ฝรั่งเศสเขาจะวัดคะแนนเป็นเต็ม 20 คะแนน แต่ถ้าเมืองไทยจะเป็นเกรด 1-2-3-4 ซึ่งถ้าอยู่ที่ฝรั่งเศสคะแนนเต็ม 20 หากทำได้สัก 15 ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว 

“มีช่วงหนึ่งที่ผมไปสอบวิชาเศรษฐศาสตร์ (เทียบระดับพอ ๆ กับ ม.6 ของไทย) ผมทำคะแนนได้ 19 คุณครูกับเพื่อน ๆ ก็ตกใจอย่างมาก” ฤกษ์อารี นานา กล่าวพร้อมอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า “การที่คนที่นั่นรู้สึกตกใจในสิ่งที่คนเอเชีย ซึ่งเป็นคนไทย คนที่พวกเขาคิดว่ามาจากประเทศด้อยพัฒนาทำได้จากคะแนนที่สูงเช่นนั้น ส่วนสำคัญเพราะ หากการพัฒนาของประเทศไทย จะเป็นการพัฒนาทุก ๆ เรื่องไปตามการพัฒนาของประเทศ ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงความสามารถด้านการศึกษา แต่กลับกันกับฝรั่งเศสหรืออาจจะหมายรวมถึงยุโรปด้วยนั้น จะยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง”

“พวกเขายังชื่นชมในประวัติศาสตร์ของประเทศตน ทวีปตน ที่เคยยิ่งใหญ่ล้ำหน้าใครในโลก เรียนรู้เร็ว เจริญเร็ว แต่วันนี้พวกเขาเริ่มหยุดเจริญแล้ว และความเจริญที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนมาจากบุญเก่า”

สังเกตได้ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ยังอยู่ได้เพราะชื่อเสียงด้านการศึกษา ทำให้มีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนมากมายในลอนดอน ซึ่งหากถ้าไม่มีนักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนเอเชียด้วยแล้ว ก็นึกภาพอนาคตของประเทศนี้ไม่ออกเช่นกัน เพราะนักเรียนที่ไปเรียนต่อ ล้วนแล้วแต่ไปสร้างรายได้ให้กับประเทศของเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเรียนต่อ ค่าเช่าบ้าน ค่าร้านอาหาร ค่า Shopping และอื่น ๆ … ความขลังของบุญเก่ายังมีผลอยู่

จากมูลเหตุเหล่านี้ จึงทำให้ประเทศในยุโรป (ฝรั่งเศส) ยังกระหยิ่มยิ้มย่อง และทำให้เขามองว่าเอเชียอย่างเรา ยังไงก็ยังล้าหลัง

“เวลาเขามองประเทศไทยวันนี้ เขายังรู้สึกว่าเหมือนมองเมืองไทยในยุคเลย 20 ปีที่แล้วไปอีกไกล คนไทยขี่ช้างอยู่ คนไทยขี่เกวียนอยู่ จนกระทั่งวันที่เพื่อนของผมที่เป็นคนฝรั่งเศสได้มาไทย ก็ตกใจกันอย่างมาก เพราะเมืองไทยมีการใช้จ่ายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ใช้จ่ายกันตั้งแต่ร้านค้าใหญ่ ๆ ไปจนถึงร้านค้าเล็ก ๆ เมืองไทยมีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ที่ไม่มีความสกปรก ไม่มีขอทาน รถไฟฟ้าไม่มีกลิ่นฉี่ ดูดีมาก แต่ในปารีสกลับมีหนู มีคนปัสสาวะเรี่ยราด มีขอทาน แล้วก็มีคนเล่นยาด้วยในรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งคนฝรั่งเศสคนไหนที่ได้มาเปิดหูเปิดตาในไทยตอนนี้ พูดได้แค่คำเดียวว่า ‘ศิวิไลซ์’ มาก ๆ...

“ไม่เพียงเท่านี้ เขายังมองอีกว่า บ้านเราอารยะ มีมารยาทสูง เอาแค่ในรถไฟฟ้าของไทย ผู้คนจะมีมารยาทในการใช้งาน ไม่โวยวาย ไม่คุยเสียงดัง เข้า-ออก ตามคิวอย่างเป็นระเบียบ และยังเอื้อเฟื้อต่อเด็ก, สตรีมีครรภ์ และ คนชรา ได้นั่งก่อน กลับกันในรถไฟฟ้าที่ยุโรป เช่น ในฝรั่งเศส ใครจะโทรศัพท์หาใคร จะตะโกนยังไงก็ได้ เพราะเขามองว่ามันก็เป็นสิทธิ์ของเขา หนักข้อคือจะกินข้าวเลอะเทอะยังไงก็ได้ ซึ่งตรงนี้ในมุมมองคนฝรั่งเศสที่ได้มาไทย เขายอมรับเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว”

นอกจากมุมมองต่อประเทศฝรั่งเศสและประเทศในยุโรปแล้ว ‘ฤกษ์อารี นานา’ ก็ยังเคยแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองไว้ด้วยว่า “ที่เข้ามาเพราะมีเรื่องหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจมานาน ก่อนจะกลับมาไทย คนที่จบเมืองนอกมาเหมือนกัน โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส แล้วพูดถึงความเท่าเทียม อะไรต่าง ๆ ในสังคม แล้วอ้างประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส แต่อยากให้ดูว่า ฝรั่งเศสก็ไม่ได้เจริญขึ้นมากกว่า 400 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน ก็ยังมีชนชั้นเหมือนเดิม ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม รัฐบาลต้องลดความเหลื่อมล้ำนั้นในสังคม”

“อย่างไรก็ดีมองว่า ปัจจุบันประเทศไทยดีที่สุด และดีมากกว่านี้ได้แต่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ใช้วิธีการยกเลิก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการทำการเมืองที่ง่ายเกินไป และที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตคนดีขึ้น ถ้าไม่มีหลักในตัวเอง”

ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ฝากความห่วงใยไปยังเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยด้วยว่า “เป็นห่วงคนรุ่นใหม่เหมือนกัน ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จบเมืองนอกมาก็ไม่อยากให้คนไทยสรรเสริญต่างชาติมากเกินไป เพราะคนไทยก็มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ดี และต้องปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้น ไม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ด้อยค่าตัวเอง ให้มองประเทศไทยดีกว่านี้เป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่านี้และมีความหวังไม่ใช่ต้องย้ายประเทศ ผมก็มีเพื่อนฝรั่งเศสย้ายมาไทย และเขาก็สรรเสริญประเทศไทยดีทุกอย่าง”

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ เลื่อนลำดับนั่งเก้าอี้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลัง ‘สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ ยื่นใบลาออก

(3 ส.ค.67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ซึ่งได้ประกาศให้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้น

บัดนี้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 105 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงประกาศให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน คือ นายก่อแก้ว พิกุลทอง

‘พิธา’ หารือ ‘ทูต-อุปทูต-เจ้าหน้าที่’ จากยุโรป 18 ประเทศ กรณี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ นัดวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกล

(3 ส.ค.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความใน X ว่า … 

ขอบคุณท่านทูต อุปทูตและเจ้าหน้าที่จากประเทศในยุโรป @EUinThailand ภายใต้การนำของท่านทูต @DavidDalyEUรวมทั้งหมด 18 ประเทศ ; ออสเตรีย, เบลเยียม, เช็กเกีย, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮังการี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์,โปแลนด์, โปรตุเกส,โรมาเนีย, สโลวาเกีย, สเปนและสวีเดน  ที่ได้แลกเปลี่ยนกับผมและทีมก้าวไกลเป็นอย่างดีครับ

มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.67) เอกอัครราชทูตและอุปทูตจากหลายประเทศ ได้พบปะพูดคุยกับ นายพิธา และคณะจากพรรคก้าวไกล ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเยอรมัน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติประชาธิปไตยในประเทศไทย และกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้

'พิธา' ดิ้น!! ยุบพรรค อัดบางกลุ่มเอาความภักดีไปหากินทางการเมือง แค่เอื้อผลประโยชน์ส่วนตน และไว้อ้างสนับสนุนการรัฐประหาร

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.67) ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

โดยนายพิธา กล่าวในภายย่อยถึงเส้นแบ่งระหว่างคดีของพรรคก้าวไกลกับคดีของพรรคอื่น ๆ ที่ถูกยุบมาในอดีต ซึ่งคือระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ที่ผ่านเป็นระเบียบกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่, พรรคไทยรักษาชาติ, พรรคไทยรักไทย หรือย้อนไปนานกว่านั้น ซึ่งไม่มีระเบียบข้อบังคับกฎหมายของ กกต.ในการรวบรวมพยานหลักฐานของการยุบพรรค แต่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีกระบวนการนี้เกิดขึ้น

นายพิธา กล่าวในภาพใหญ่ว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมด 33 พรรค มีนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ไปทั้งหมด 249 คนเป็นอย่างน้อย แต่มีอยู่หนึ่งพรรคที่รอดและถูกยกคำร้องเมื่อปี 2553 หรือ 14 ที่แล้ว เนื่องจากกระบวนการคำร้องมิชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนพรรคการเมืองในตอนนั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ และไม่ได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการ

นายพิธา กล่าวต่อว่า กระบวนการในการพิจารณายุบพรรคที่ กกต. ไม่ได้ทำตาม ทำให้ตนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อกล่าวหา ไม่มีโอกาสต่อสู้ ไม่มีโอกาสอธิบายให้ กกต.ฟัง และเป็นโอกาสที่ตนเสียไป ตนเชื่อเหลือเกินว่า ถ้า กกต. ทำตามระเบียบที่ตัวเองออกมาเอง ตนจะมีโอกาสได้อธิบายให้ กกต.เข้าใจ รวมถึงพยานหลักฐานหลาย ๆ ชิ้นที่เราได้มีโอกาสตรวจสอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เห็นภาพ และบุคคลที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบคดี ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอยู่เป็นจำนวนมาก

นายพิธา กล่าวถึงการอ้างอิงในข้อต่อสู้ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน ซึ่งถึงแม้ไม่ได้มีรูปแบบวาจาก็จริง แต่เป็นในแบบลายลักษณ์อักษร ซึ่ง ศ.ดร.สุรพล ได้เขียนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงถึงกระบวนการคณะกรรมาธิการเวนิส (la Commission de Venise) หรือชื่อเต็มว่า ‘คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย’ (la Commission Européen pour la Démocratie par le Droit) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กรณีการรับรองแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมือง ทั้ง 7 ข้อ

นายพิธา ย้ำว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบที่ดูจะย้อนแย้งกัน ๒ ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตย กับ พระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้

นายพิธา ชี้ว่า การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายพิธา ย้ำว่า แน่นอนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐาน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละประเทศนั้น ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม

นายพิธา ย้อนไปว่า ในประวัติศาสตร์ของเรา พระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาในการปรับตัวจนสามารถแผ่พระบารมีปกเกล้ามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว แตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่า และเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน

ดังนั้น การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบโดยใช้กำลัง หรือการกดปราบในนามของกฎหมาย แต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัยระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน

ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย

แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ในการสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้อง หรือพรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพ และความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย

‘ในฐานะผู้ถูกร้องขอเรียนต่อศาลว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก และจักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ’

'สภากาแฟ' เห็นพ้อง!! 14 ส.ค. 'นายกฯ นิด' น่าจะรอด 'ดิจิทัลหมื่น' ไปต่อ สวนทางห้ามบินดูไบ เพราะ 'ธรรมะจัดสรร' ความชอบธรรมเหนือถุงขนม

“อีกทั้งความผิดของผู้ถูกร้องที่ 2 ยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งในขณะที่มีการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 ให้เป็นรัฐมนตรี ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิดประธานโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้”

ที่ยกมาข้างต้นคือเศษเสี้ยวคำชี้แจง 32 หน้าของนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกร้องที่ 1 เมื่อ 7 มิ.ย.2567 ซึ่งได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 'เล็ก เลียบด่วน' ได้มีโอกาสทอดทัศนาแล้ว สรุปสั้นสุดไม่เกิน3บรรทัดเพิ่มเติมจากข้อความข้างต้นก็คือ...

'เศรษฐา' อ้างว่า ผู้ที่จะชี้ขาดว่า...ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่นั้น  คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กรรมการกฤษฎีกาหรืออดีต 40 สว.ผู้ร้อง...พร้อมยืนยันว่า การตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามผู้ถูกร้องที่ 2 (พิชิต  ชื่นบาน) ดำเนินการโดยชอบทุกประการ...

ครับประมาณนั้น...หากใครสังเกต 'นายกนิด' พักนี้จะเห็นว่า แม้ปมใหญ่ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' อนาคตยังน่าหวาดเสียว...แต่ภาษากายนั้นดูผ่อนคลายราวกับรู้อนาคตวันพุธที่ 14 ส.ค.ว่า 'น่าจะรอด' คือ ไม่พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค หนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) ที่อดีต 40 สว.ร้องต่อศาล...

ถ้ารอดก็ทำงานต่อไป...เดินหน้าปรับใหญ่ครม.ตามจันทร์ส่องหล้าลิขิตหรือใครลิขิตก็ว่ากันไป...แต่ถ้าหลุดจากตำแหน่งหนนี้ ขอเคลียร์ไว้ที่ตรงนี้ว่า หมดสิทธิที่ถูกเสนอชื่อชิงนายกฯ อีก เพราะเป็นปัญหาประเด็น 'ขาดคุณสมบัติ' ต่างจากกรณี สมัคร สุนทรเวช ที่หลุดเพราะคดี 'ชิมไปบ่นไป' กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ...แต่ สมัคร แค่โชคร้าย กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบไม่ได้ เพราะประเด็น 'เลือดข้นกว่าน้ำ' ตอนนั้นทักษิณดันน้องเขย...สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ แทน...แต่ สมชาย ก็เป็นนายกฯ ได้แค่ 57 วัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร...ตอนนี้สภากาแฟบางวง ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ, สื่อมวลชน, นักการเมือง, นักสังเกตการณ์ ค่อนข้างจะมีทั้งข้อมูลเก่า ข้อมูลใหม่ตรงกันแล้วว่า...โอกาสเศรษฐา 'รอด' ได้ไปต่อนั้น มีมากกว่าไม่รอด...โดยศาลอาจจะมองในประเด็นไม่มีเจตนา...หรือบกพร่องโดยสุจริต คล้ายกรณีทักษิณเมื่อปี 2544 แต่จะเป็นตามนี้หรือไม่ก็รอดูกันอีกที...

อนึ่ง สำหรับกรณี ทักษิณ ชินวัตร ขอเดินทางไปดูไบแต่ศาลยกคำร้องไม่อนุญาตให้ไปนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันสนั่นลั่นเมืองว่า มีอะไรในกอไผ่...ซึ่งน่าสังเกตว่า ทีมทนายไปยื่นคำร้องในวันเสาร์ที่ 27 ก.ค.

คอลัมน์ 'เลียบการเมือง' ขออนุญาตฟันธงหมากเกมความน่าจะเป็น 3 ประการ...

1) ทดสอบ ตรวจเช็กอุณหภูมิท่าทีของศาลหลังการเปลี่ยนตัวอธิบดีศาลอาญาเมื่อเดือน ก.ค.
2) ไปเคลียร์ธุรกิจสำคัญ และพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว
3) แก้เคล็ดดวงชะตาด้วยการย้ายที่พัก...และเผื่อเหลือเผื่อขาด หากมีความวุ่นวาย ก็อาจขอหลบภัยอยู่ต่างประเทศยาวอีกครั้ง และอาจตรวจรักษาสุขภาพตามที่อ้างว่านัดหมอไว้ 2 ครั้งด้วยก็ได้

ตามคำร้องทักษิณขอลา 1-16 ส.ค.ขณะที่คดีความผิดมาตรา 112 ศาลนัดตรวจเอกสารหรือนัดพร้อมวันที่ 19 ส.ค.  

ดังนั้น...สมมติ...หากทักษิณได้รับการอนุญาตออกนอกประเทศ...ภาพของทักษิณก็จะยิ่งถูกตอกย้ำความเป็น 'นักโทษเทวดา' ความเป็นผู้ทรงอิทธิพล ทว่า หากบังเอิญวันที่ 14 ส.ค.2567 เศรษฐา 'รอด' ก็อาจจะเคลมมั่ว ๆ ได้ว่า ไม่ใช่เพราะบารมีอิทธิพลของเขาเพราะเขาอยู่ต่างประเทศ!!

ต้องบอกกล่าวกันตรงนี้ว่า คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตหนนี้นั้นได้รับการอนุโมทนาสาธุ ว่าชอบด้วยเหตุด้วยผลเป็นยิ่งนัก...หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ร่วมเดือนเศษ...ศาลอาญาเพิ่งเปลี่ยนตัวอธิบดี  เหตุเพราะคนเก่าที่ถูกปล่อยข่าวเรื่อง 2 พันล้านนั้น มีเหตุอื้อฉาวบนรถไฟจนถูกย้าย ดังที่สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอไว้...แต่ทั้งนี้ท่านที่มาทำหน้าที่รักษาการอยู่ปัจจุบันและจะอยู่ชั่วคราวก็ทำหน้าที่เป็นอย่างดีโดยเฉพาะกรณีล่าสุดนี้ ก่อนที่เดือน ต.ค.ปีนี้ จะมีอธิบดีท่านใหม่มารับตำแหน่งเป็นทางการ...

ธรรมะจัดสรร...ถุงขนม หรือ ผลประโยชน์ หลายสิบล้าน หลายร้อยล้าน ไม่สามารถชนะความถูกต้องชอบธรรมได้ในท้ายที่สุด!!

รู้จัก 'ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์' 'นักวิชาการรุ่นใหม่' ผู้หวังให้สังคมไทยไม่มองตนถูกต้องที่สุด ส่วนผู้อื่นผิดหมด หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ...

ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กลุ่มวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รองผู้อำนวยการศูนย์การเมือง สังคม และอาณาบริเวณศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ ถือเป็นบุคคลที่มีความสนใจเชิงลึกในทฤษฎีการเมือง, ปรัชญาสังคมศาสตร์, การเมืองการปกครองไทย รวมถึงทฤษฎีประชาธิปไตย สะท้อนผ่านผลงานทางวิชาการ และ งานวิจัยมากมาย อาทิ...

จาก 'เดโมกราเตีย' ถึง 'เดโมคราซี่' การเปลี่ยนไปของมโนทัศน์ 'ประชาธิปไตย' / นักสอพลอประชาชนแห่งประชาธิปไตยเอเธนส์กับบทเรียนต่อประชาธิปไตยไทยร่วมสมัย / 'การศึกษากำเนิดและความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์' / 'การเมืองของกระบวนการกำหนดนโยบายโฉนดชุมชน' / 'ระบอบการปกครองลูกผสมไทย: 'บทเรียน' หรือ 'ลางร้าย' ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอาเซียน' / 'คุณธรรม' ใน 'เจ้าผู้ปกครอง' ของมาคิอาเวลลี' และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่ ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มักจะมองการเมืองไทยในปัจจุบันและสะท้อนออกมาสู่สังคมได้อย่างจี้ใจดำผู้คนเสมอ โดยอาจารย์ เคยเผยถึงนิยามหนึ่งของ 'การเมือง' ให้รับทราบกันด้วยว่า...

'การเมืองไทยในปัจจุบัน มันไม่ใช่การเมืองแล้ว แต่มันคือ การยุทธ์ การรบ หรือการสงครามมากกว่า และทุกฝ่ายเลยที่เข้าร่วมแบบไม่มีข้อยกเว้น ตั้งแต่ นักการเมือง, ทหาร, ตำรวจ, นักวิชาการ, นักกิจกรรม, นักศึกษา ผมเห็นแต่ละฝ่ายจ้องจะเอาชนะคะคานกันอย่างเดียว พูดกันตรง ๆ ฝั่งเสื้อแดงขึ้นก็บี้ เสื้อเหลือง-เสื้อน้ำเงิน-เสื้อเขียว ให้ตายไปข้าง เสื้อเหลือง-เสื้อน้ำเงิน ขึ้นก็บี้เสื้อแดงให้ตายไปอีกข้าง สุดท้ายบี้กันเองจนเละ เสื้อเขียวเข้ามาก็จัดการทุกฝ่าย อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่

"ฉะนั้นผมถือว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีแต่สัญญาณอันตรายของการเมืองไทย สังคมของเรามาถึงจุด ที่น่าเป็นห่วงมาก ดูเหมือนว่าเราไม่อยากจะอยู่ร่วมกันแล้ว ที่มันน่ากลัวคือ สังคมเราแบ่งขั้วแบบสุดโต่ง ไร้เหตุผลกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครมีแนวคิดทางการเมืองเป็นเสื้อสีอะไรก็เห็นตัวเองถูกอยู่พวกเดียว พวกอื่นผิดหมด บ้านเมืองเรามาถึงจุด ๆ นี้ได้อย่างไร ไม่ดูเหตุดูผลกันแล้ว แต่ไปดูที่เป็นพวกใคร เป็นฝ่ายไหน ถ้าไม่ใช่กลุ่มตัวเองแค่อ้าปากก็ผิดแล้ว แล้วผมคิดว่ามันเป็นกันทุกกลุ่ม แย่พอกันทั้งหมด"

ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ เผยอีกว่า "ถ้ากรอบคิดในการมองการเมืองไทยเป็นแบบนี้ อนาคตการเมืองไทยจะเละเป็น 'ซีเรีย' แน่นอน แต่ทางออกยังมี อย่างผมเองถือว่ามีโอกาสดีที่ตอนเรียนปริญญาโทได้ไปเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ศึกษาวิธีคิดของกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง พอเราได้ลงไปสัมผัสพี่น้องเสื้อแดงและเสื้อเหลืองอย่างใกล้ชิด มันเห็นเลยว่า เขาหวังดีต่อบ้านเมืองด้วยกันทั้งคู่ ผมเชื่อว่าคนเราพอสัมผัสกันมันมองกันออก มันอ่านใจกันออก ในยุคนี้ก็เหมือนกัน ทหารก็ไม่ได้แย่กันทั้งกองทัพ หรือแม้แต่ตัวเราเองยังมีดี มีชั่ว มีถูก มีผิดกันทั้งหมด...

"อย่ามองความเห็นตัวเองถูกไปทั้งหมด แล้วมองคนอื่นผิดหมด โทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง ต้องเลิกเสียที ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก่อน อคติหรือการเหมารวมที่มันนำไปสู่ความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มมันจะเบาบางลง มันจะเริ่มคุยกันได้ คุยกันรู้เรื่อง ถอยคนละก้าวบ้าง สังคมเราจึงพอจะเห็นทางออกจากวิกฤตนี้"

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top