Saturday, 19 April 2025
POLITICS NEWS

‘สส. ต้นกล้า’ พรรคส้ม โพสต์ขอโทษแล้ว ปมทำผิดกฎหมายดูดบุหรี่ไฟฟ้ากลางสภาหมื่นล้าน

‘ต้นกล้า จรยุทธ’ สส. พรรคประชาชน โพสต์ขอโทษแล้ว ปมดูดบุหรี่ไฟฟ้ากลางสภาหมื่นล้าน พร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ลั่น ขอมุ่งมั่นทำงาน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จากกรณีที่ปรากฏภาพ สส. เดินสูบบุหรี่ไฟฟ้ากลางรัฐสภา ที่ถูกแชร์ว่อนโซเชียล จนตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทย แต่ สส. กลับกระทำผิดกฎหมายกลางสภาฯ เสียเอง 

ล่าสุดวันนี้ (12 มี.ค. 68) นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ สส. พรรคประชาชน ซึ่งเป็นบุคคลในภาพดังกล่าว ได้โพสต์เฟซบุ๊กขอโทษประชาชนแล้ว โดยระบุว่า จากกระแสข่าวที่เผยแพร่ออกมา ผมทราบดีว่าทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความกังวลและมีข้อสงสัย ผมจึงอยากขอโทษจากใจจริงที่ทำให้พี่น้องประชาชนไม่สบายใจ ผมเข้าใจถึงความคาดหวังที่พี่น้องประชาชนมีต่อตัวผมในฐานะผู้แทน ผมเองก็ซาบซึ้งกับทุกความคิดเห็นที่ส่งมา

ผมให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ในขณะเดียวกัน ผมพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบจากทางรัฐสภา เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีของการเป็นผู้แทนราษฎร

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนและขอยืนยันว่าผมยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

โพสต์ของ สส.ต้นกล้า ทำให้แฟนเพจและแอนตีแฟน เข้ามาคอมเมนต์ตอบโต้กันไปมา โดยฝ่ายแอนตีแฟน ต้องการให้ดำเนินการกับ สส.ของพรรคทั้งหมดที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่แฟนคลับผู้ชื่นชมในตัว สส.ต้นกล้า เข้ามาให้กำลังใจ พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบ สส. ฝ่ายรัฐบาลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่ราชการด้วย เพื่อความเท่าเทียม

‘กรณ์’ หนุน ‘มาดามแป้ง’ พิสูจน์ให้ถึงที่สุด ปมดรามาสมาคมฟุตบอลฯ ส่อไปในทางทุจริต

จากกรณีที่ “มาดามแป้ง” นางนวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แถลงยืนยันแนวทางของสมาคมฯในการยืนฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บริหารสมาคมชุดเก่า หลังศาลฎีกาสั่งมีคำพิพากษาให้ชดใช้เงิน 360 ล้านบาท ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท

ล่าสุด ( 12 มี.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าวว่า ดราม่าสมาคมฟุตบอล ดราม่าที่น่าติดตาม

ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องฟุตบอล หรือเพราะเป็นเรื่องของคุณแป้ง  แต่ที่สำคัญที่สุดเพราะครั้งนี้ดูเหมือนจะมีคนเอาจริงกับพฤติกรรมโคตรแย่ (หากจริง - ตอนนี้ทั้งประเทศกำลังรอคำชี้แจ้งจากผู้ถูกกล่าวหา) และเป็นพฤติกรรมโคตรแย่ที่สะท้อนหลายอย่างใน ‘สังคมระดับผู้มีอำนาจของไทย‘

ผมขอติดตามเรื่องนี้ โดยหวังว่าจะมีการพิสูจน์ความจริงกันถึงที่สุด หวังว่าเรื่องจะไม่เงียบไปเฉยๆ เพราะปกติดราม่าความขัดแย้งในสังคมระดับผู้มีอำนาจ จะจบด้วยการสมยอม (ฮั้ว) โดยที่ผลประโยชน์ที่ลงตัวมักได้รับความสำคัญเหนือกว่า ‘ความจริง‘ หรือการ ’รับผิดชอบ’ ต่อการกระทำผิด

แต่เรื่องนี้ผม ‘เชื่อแป้ง’ ว่าจะเอาจริง ซึ่งควรเป็นเช่นนั้นเพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องขององค์กรที่มีประชาชนมีส่วนร่วมด้วยมากที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศ

เรื่องนี้จบอย่างไร มีการทุจริตจริงหรือไม่ และถ้ามีจริงจะทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีความหวังเรื่องการกำจัดทุจริตคอร์รัปชันอย่างไร…นี่คือสาเหตุที่ดราม่านี้น่าติดตาม

‘สุชาติ’ สวน ‘ไอซ รักชนก’ ปม สปส. ซื้อตึกเก่า 7 พันล้าน ขอให้หยุดวิจารณ์คนอื่นให้เสื่อมเสีย ลั่นภูมิใจผลงานช่วงโควิด

(12 มี.ค. 68) ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ สวนกลับ ‘ไอซ์ รักชนก’ หยุดวิจารณ์คนอื่นให้เสื่อมเสีย อย่าบิดเบือนโดยการเมืองแบบสกปรก ลั่น ที่ผ่านมาสุดภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่สร้างผลงานช่วงโควิด ขณะที่ไอซ์ โต้ทันควัน ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง ไม่ต้องร้อนรน 

จากกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน (ปชน.) ร่วมแถลงข่าว “แฉเสียดฟ้า กองทุนประกันสังคมจงใจลงทุนผิดพลาด เพื่อเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องหรือไม่” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ซึ่งเป็นอาคารที่ก่อสร้างไม่เสร็จตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้อมาในราคา 7 พันล้านบาท ขณะที่ราคาประเมินอยู่ที่ 3 พันล้านบาท เกิดเป็นส่วนต่างกว่า 4 พันล้านบาท เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ หรือนักการเมืองคนใด หรือพรรคใดหรือไม่ ในช่วงรมว.แรงงานคนก่อนหน้านี้ เพราะส่งคนของตัวเองไปอยู่ในอนุกรรมการการลงทุนนั้น

ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11มี.ค. 68 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้น โพสต์เฟซบุ๊ก ตอบโต้ถึงกรณีดังกล่าวว่า คุณไอซ์ รักชนก และทีมงานเป็นคนของประชาชน วิพากษ์วิจารณ์ ตามสมควรได้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องถ้าเกินสมควร หรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด หรืออาจเข้าใจผิดหรือกล่าวอ้าง จนทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง มันก็ไม่สมควร

มันง่ายที่คุณว่าคนนั้นคนนี้ โดยไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้สังคมตีความไป ทุกวันนี้มีใครครับที่ออกมาประกาศดังๆๆ ว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่พวกคุณพูด อย่าสนุกกับการวิพากษ์คนอื่น เมื่อไหร่ที่มันยังไม่ใช่เรื่องของคุณ คุณจะคิดว่า ทำไมจะทำไม่ได้ หรืออะไรต่างๆนานา

“สิ่งที่ผมสร้างมา ทั้งการงาน ครอบครัว ผมใช้เวลามาทั้งชีวิต ผมไม่เคยเห็นด้วย และไปกระทำกับใคร อย่ารอให้ปัญหาแบบนี้มาถึงตัวพวกคุณเลยครับ ทุกคนทำงาน มีสิ่งที่ต้องแลกมาทั้งนั้น เวลา สุขภาพ ผมตระหนักดี ช่วงเวลาที่ผมทำหน้าที่ สิ่งที่ผมภูมิใจคือ แม้จะเป็นวิกฤตที่ไม่มีใคร แม้แต่ตัวผม ที่ไม่อยากให้เกิด คือ Covid-19 แต่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการวางนโยบายช่วยพี่น้องแรงงาน ตรวจคัดกรอง ประสานขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเข้า ครม. โดยท่านนายกรัฐมนตรี เห็นชอบ และถูกใจ ผู้นำแรงงาน รวมถึง พี่น้องผู้ใช้แรงงาน จนทำให้เกิด Factory Sandbox เกิดการยับยั้งการแพร่กระจายในโรงงาน ส่งออกเติบโตในรอบ 30 ปี“

พร้อมทิ้งท้ายว่า เข้าใจครับ #คนไม่รัก #ยังไงก็ไม่รัก แต่ขอแค่ให้ท่านมองไปหลายๆทาง อย่ามองอะไรแค่ที่เขาหยิบใส่ให้เราทราบ ความจริงก็คือความจริง อย่าบิดเบือน โดยการเมืองแบบ "สกปรก" พอตัวคุณโดนบ้าง ก็อ้าง กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมทั้งที่ "ความจริงก็คือความจริง"

ในขณะเดียวกัน ทางด้านนางสาวรักชนก ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวว่า 
1) ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง ไม่ต้องร้อนรน แล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ

2) นักการเมืองอย่าง คุณสุชาติ ชมกลิ่น ยังกล้าไปชี้หน้ากล่าวหาคนอื่นว่า ‘การเมืองสกปรก’ ด้วยหรือคะ พูดอะไรไม่เกรงใจประวัติการทำงานของตัวเองเลย

‘พรรคการเมือง’ เก่งแต่หาเสียงผ่านคำพูด ‘ลดเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม’ สุดท้าย! เป็นเพียงวาทะเสนาะหู ถึงเวลากลับไม่กล้าแตะเทวดาชั้น 14

“เราจะสู้เพื่อความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม” หนึ่งในคำโฆษณาหลอกต้มผู้คนของพรรคล้มล้างการปกครอง 

วัยรุ่น วัยคะนอง ที่ไม่หัดลงลึกกับเรื่องการเมืองไทย มักทำทุกอย่างตามกระแสสังคม รวมถึงผู้ใหญ่ 'ขี้แพ้' แถม 'คิดไม่เป็น' จำนวนหนึ่ง ที่ฝังหัวตัวเองมาช้านานว่าประเทศไทยมีแต่ความไม่เสมอภาค ไร้อิสระ ถูกกดขี่ และคนจะไม่สามารถจะมีสิทธิ์มีเสียงเท่าคนรวย ผู้คนเหล่านี้มักจะสนับสนุน 'พรรคส้มเน่า' ที่ชูการหาเสียงไว้อย่างแข็งขันว่า เราจะสู้ให้ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียม หมดหายไปจากแผ่นดินไทย ประชาชนทุกคนจะต้องมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน 

โดยที่การหาเสียงเพื่อเอาใจ 'เหล่าคนบ้องตื้น' เหล่านี้ ส่วนลึกก็หวังพาดผ่านไปกระทบสถาบันเบื้องสูง ดังที่เราจะเห็น 'นักการเมืองสามกีบ' คอยเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เพื่อลด 'ความน่าเชื่อถือ' ของสถาบันที่คนไทยเคารพรักมาโดยตลอด คนพวกนี้พยายามทุกวิถีทางผ่านวิธีสกปรก แม้แต่การ 'หลอกใช้เด็กหิวแสง' ให้ไปติดคุก หรือลี้ภัย เพียงเพื่อให้ 'สถาบันอ่อนแอ' ลง ลดต่ำลงมาเทียมประชาชนคนธรรมดา เพื่อโยงเหตุผลการต่อสู้เพื่อความไม่เท่าเทียมให้ดูสมจริง แต่ความเลวร้ายสุดโต่งที่ซ่อนไว้ก็คือการปกครองแบบเดิมจะต้องถูกทำลายลง 

เมื่อแผนชั่วช้าไปไม่ถึงดวงดาว เด็กวัยรุ่น วัยคะนอง ที่เคยอ่อนด้อยในเรื่องการเมือง เริ่มอ่านหนังสือ เริ่มศึกษาความเป็นมาเป็นไป และไม่น้อยก็ลงลึกกับการสอดส่องติดตามดูพฤติกรรมของ 'พรรคการเมืองสีส้มล้มเจ้า' ก็พบว่า เรื่องที่บอกจะสู้เพื่อความเหลื่อมล้ำ ให้สังคมเกิดความเท่าเทียม เป็นเพียง 'เรื่องโกหก' ที่สร้างขึ้นมาไว้ 'หลอกต้มคนโง่แบบตัวเอง' เท่านั้น เพราะกรณีของ 'นักโทษเทวดา' ที่เป็นหัวหน้าตัวจริงของ 'พรรคเผาเมือง' กลับมารับโทษก็จริงแต่ไม่ต้องติดคุกเลยสักวันเดียว แถมยังเหาะเหินไปนอนบนสวรรค์ชั้น 14 ชนิดที่ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ แพทย์ ตำรวจ ข้าราชการ ต่างยอมศิโรราบด้วยแพ้อำนาจเงิน และอิทธิพลเทวดา ช่วยกันเข็น 'ผิดให้เป็นถูก' โดยไม่แยแสกระแสสังคม ถือเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนเกินจะรับได้

กรณีชั้น 14 จึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมที่ชัดเจนที่สุด ข่าวฉาวนี้ดังไปครึ่งค่อนโลก แต่พรรคการเมืองที่ประกาศก้องว่าข้านี่แหละจะสู้ให้ความเหลื่อมล้ำหมดหายไปจากแผ่นดินไทย กลับไม่มีสักตัวกล้าโผล่มาประจันหน้ากับเทวดา ไม่มีสักตัวที่จะปริปากทักท้วง หรือทัดทานการกระทำที่ตบหน้าคนไทย และเหยียบกระบวนการยุติธรรมไทยจนจมธรณี 

เสียหายต่อหน้าต่อตาหนักขนาดนี้ แต่ 'พรรคส้มสามกีบ' ก็ยังเฉย สยบยอมเป็น 'พรรคขี้ข้านักโทษ' ในคราบ 'คนรุ่นใหม่จอมปลอม' หากินกับเงินเดือนภาษีประชาชนไปวัน ๆ เท่านั้นเอง 

คนร้ายถล่มที่ว่าการ อ.สุไหงโกลก สะท้อนความเพ้อเจ้อของ ‘ทักษิณ’ “เหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้จะสงบในสองปี”

เหตุการณ์คนร้ายนับ 10 คน บุกยิงถล่มป้อม อส.อำเภอสุไหงโกลก จ.นราธิวาส พร้อมปาระเบิด จนเกิดการยิงปะทะกันเป็นเหตุให้ อส.สังเวยชีวิตไป 2 นาย เป็นภาพสะท้อนความเพ้อเจ้อของ 'ทักษิณ' เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังทักษิณลงไปเยือนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และเชื่อมั่นว่า จะแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ในสองปี และปี 68 จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ปี 69 จบ

เพ้อเจ้อ กับคำกล่าวของ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าจะได้รับความร่วมมือจากทางการมาเลเซีย และถ้าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ เป็นการกล่าวที่ไม่มีรายละเอียดของแผนการว่าจะทำอะไร อย่างไร แค่พูดลอย ๆ

แต่เป็นคำกล่าวที่ทำให้ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม หลงคารมเชื่อไปแล้วว่า ในสองปี เหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสำเร็จเสร็จสรรพกับการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา ไม่กี่ชั่วโมงกับความเพียรพยายามแก้ปัญหามานาน ผ่านมาหลายรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รากเหง้าของไทยรักไทย

การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ที่ว่าการแก้ไขปัญหาไฟใต้มองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และจะให้จบในปี 2569 เป็นแค่คำคุยโวโอ้อวดเท่านั้น เพราะยังหาความชัดเจนอันใดมิได้ ยังไม่นับคำขอโทษที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย ขาดความจริงใจ 

ในกรณีตากใบ ได้แค่คำว่า “ขออภัย” ถ้าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ในขณะที่ชาวตากใบต้องการ “คำขอโทษ”อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เกิดจากการสัมภาษณ์ ซักไซด์ไล่เลียง

การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทักษิณ 'พรรคประชาชาติ' ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นที่รับรู้กันดีว่า ทริปทักษิณล่องชายแดนใต้ครั้งนี้  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ และ  นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นผู้วางโปรแกรมออนทัวร์ โดยทุกจุดที่ทักษิณไปเยือนนั้นเป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ และล้วนแต่มีหัวคะแนนของ 'วันนอร์ – ทวี' มาต้อนรับร่วมกับภาคส่วนราชการ

เริ่มจากไปพบปะพี่น้องชาวไทยพุทธที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ก่อนจะไปกล่าวคำขออภัยต่อชาวมุสลิม ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และสุดท้ายมาจบที่บ้านศรียะลา ของ 'วันนอร์' ซึ่งวันนอร์ ยกมือไหว้ต้อนรับอย่างนอบน้อมในฐานะเจ้าบ้าน ส่วนทักษิณ ไม่ได้ยกมือไว้รับ แต่เอื้อมมือสองข้างไปโอบไหล่แบบเอ็นดูสงสาร เหมือนผู้ใหญ่เอ็นดูสงสารเด็ก ก่อนบินกลับกรุงเทพฯ

ไฮไลต์ทริปลงพื้นที่ 3 ชายแดนใต้ นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา ในหนึ่งนั้น เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2568 ของทักษิณ ในรอบ 20 ปี จึงมีจุดโฟกัส 3 เรื่องใหญ่ คือ

หนึ่งการขีดเส้นจบปัญหาชายแดนใต้ในปี 2569 แต่ยังไม่มีแผนการอะไรว่าจะจบแบบไหน อย่างไร

สอง คำขออภัยของทักษิณ ต่อความผิดพลาด ที่สะท้อนถึงความไม่จริงใจและไร้ความหมาย

และสาม อนาคตข้างหน้าของพรรคประชาชาติ จะรุ่งหรือร่วง หลังการโหนทักษิณ รวมถึงภาพวันนอร์ ไหว้สวยรับทักษิณขณะเยือนบ้านใหญ่ศรียะลา ซึ่งใคร ๆ ก็มองว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากทักษิณ ที่รับรู้ข้อมูลไม่รอบด้าน และตัดสินใจผิดพลาดในเชิงนโยบายรับรู้ข้อมูลว่า ขบวนการโจรใต้แบ่งแยกดินแดน แค่ 'โจรกระจอก' และมีไม่เกิน 20 คน เป็นคนที่ไม่มีอุดมการณ์อะไร เป็นโจรก่ออาชญากรรมธรรมดา อันนำมาสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาด คือสั่งยุบ 'ศอ.บต.' ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษจัดตั้งขึ้นสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐ เป้าหมายทำหน้าที่การพัฒนา และงานจิตวิทยามวลชน และยุบ พ.ต.ท.43 (กองกำลังผสมพลเรือน ทหาร ตำรวจ) อันเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อย

การตัดใจที่ผิดพลาดยังนำมาสู่การบุกเข้าไปปล้นปืนของทางราชการทหาร ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) เมื่อเช้ามืดของวันที่ 4 มกราคม 2547 อันเป็นปฐมบทของเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้นมายังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมากมายเป็นรายวัน รวมถึงเหตุการณ์บุกมัสยิดกรือเซาะ และจบลงด้วยการล้อมปราบ เกิดการสูญเสียมากมาย เป็นบาดแผลของสังคม ยังมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมปิดล้อมโรงพักตากใบ กดดันให้ปล่อยตัว 4 ผู้ต้องหาครอบครองอาวุธปืนของทางการ และจบลงด้วยการล้อมปราบเช่นกัน แต่ไปหนักตรงตอนขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร เป็นการขนย้ายด้วยรถยีเอ็มซี ที่อัดแน่น สุดท้ายเหยียบกันตาย ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตไปร่วม 80 คน

20 ปีกับขวัญร้ายของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องสูญเสียมากมาย สูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน เลือดเนื้อ และสูญเสียโอกาสอีกมากมาย ทหาร ตำรวจ ก็สูญเสียไม่น้อย ผู้ที่เปราะบาง อ่อนแอกว่าก็ตกเป็นเหยื่อ 20 ปีภาครัฐใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 3 แสนล้าน ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้ งบสามแสนล้าน นำไปใช้ในการพัฒนาอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ถ้าพิจารณากันตามข้อเท็จจริง ยังไม่เห็นวี่แววอะไรว่า เหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้จะจบลงในสองปี กรรมการเจรจาก็ยังไม่มี มาเลเซียจะยื่นมือมาช่วยอะไรได้ แค่ปัญหาคนสองสัญชาติข้ามแดนไปมา ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะเขาข้ามไปทำมาหากิน หรือเยี่ยมญาติ แต่อาจจะมีกลุ่มคนร้ายแอบแฝงเข้าไป ถามว่าที่ผ่านมามาเลเซียไม่ให้ความร่วมมือเหลอ ก็ร่วมมือกันมาตลอด แต่ปัญหาก็ยังดำรงอยู่

ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของบีอาร์เอ็น ที่ใช้ยุทธวิธีแบบสงครามกองโจร ยังเหนือกว่า หน่วยงานความมั่นคงของไทยเรามากนัก การตั้งโต๊ะเจรจาบีอาร์เอ็นก็มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ถามว่า เราเจรจากันมากี่รอบ กี่ครั้งแล้ว แต่ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ และเดินหน้าต่อไป ไทยเราก็มีเพียงคำปลอบประโลมใจ สถานการณ์ดีขึ้น สถิติการเกิดเหตุการณ์ร้ายลดลง แต่ทางหน่วยงานความมั่นคงพูดอย่างนี้มาสิบกว่าปีแล้ว

คำพูดของทักษิณก็เพ้อเจ้อไปเรื่อย ถ้าแค่ลงไปพูดแค่นั้นแล้วเหตุการณ์จะจบลง เขาทำกันไปนานแล้ว ถามว่า ทางการเราเคยได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นบ้างแล้วยัง พบที่ไหน พบเมื่อไหร่ พูดคุยกันเรื่องอะไร ผลการพูดคุยเป็นอย่างไร ใครตอบได้บ้าง…ไม่มี

อย่าไปหลงคารมของทักษิณ การไปครั้งนี้อาจจะทำให้เป็นจุดจบของพรรคประชาชาติก็ได้กับการ “ยกมือไหว้อดีตนักโทษโกงชาติ โกงแผ่นดินอย่างนอบน้อม” ที่พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่รับไม่ได้ “ไม่ให้เกียรติ ไม่ยกมือไหว้ ไม่สังคมด้วยกับคนเลว” พล.อ.เปรม เคยสอนพวกเราไว้

สมุทรปราการ-'ภัทรพล จำปารัตน์' เปิดปราศรัยใหญ่ตอบทุกประเด็นร้อน เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ (9 มี.ค.68) ผู้สมัครหมายเลข 2 โดย ดร.ภัทรพล จำปารัตน์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ได้เปิดปราศรัยใหญ่ ก่อนเข้าสู่โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ณ หอประชุมศูนย์กีฬาเทศบาลเมืองบางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 

โดยการกล่าวปราศรัยครั้งนี้ มีประชาชนชาวบางแก้ว กว่า 1,000 คน เดินทางมาเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยพร้อมทั้งตอบข้อซักถามรวมถึงประเด็นร้อนของการเลือกตั้งนายกบางแก้วฯ ในครั้งนี้ ทั้งนี้การกล่าวปราศรัยใหญ่ของ ดร.ภัทรพล จำปารัตน์ ได้พูดถึงนโยบายการแก้ปัญหาเร่งด่วน 8 ข้อ คือ 

1.การประสานกรมทางหลวงสร้าทางกลับรถถนน บางนา-ตราดช่วงกม.10 เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนในการเดินทางของประชาชน 2.โครงการกำจัดขยะ 3.ร่วมแก้ไขปัญหา ชุมชนราชวินิตบางแก้ว 4.โครงการวางท่อระบายน้ำ 5.โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดcctv 6.แก้ไขปัญหาน้ำท่วมชุมชนเปรมฤทัยหมู่15 7.แก้ปัญหาน้ำท่วมซอยบางนา-ตราด 39 และ 8.เปลร่วนขยะ วัชพืช และเศษกิ่งไม้ให้เป็นทรัพย์มีค่า

ซึ่งการปราศรัยได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังการปราศรัยได้ซักถามในข้อสงสัยต่างๆ รวมถึงมีประชาชนได้ร้องขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด โดยหลังจาก
เสร็จสิ้นการปราศรัยแล้วทาง ดร.ภัทรพล ได้ให้สัมภาษณ์กับคณะสื่อมวลชนรวมถึงตอบประเด็นร้อนที่สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ได้ลงข่าวอ้างถึงคดีที่ ป.ป.ช.ฟ้องเอง คุก 3 ปี 4 ด.รอลงอาญา อดีตนายกอบต.บางแก้ว นั้น จะส่งผลกระทบเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ 

โดยทางด้าน ดร.ภัทรพล จำปารัตน์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีฯ หมายเลข 2 เปิดเผยว่า คดีที่เกี่ยวกับ ปปช. นั้น ไม่ส่งผลกระทบการเลือกตั้งแน่นอนรวมถึงทุกคดีที่ผมได้ต่อสู้มาด้วยความสุจริตใจ ตั้งแต่เป็นนายก อบต. ทุกนโยบาย ทุกโครงการที่อนุมัติ อนุญาต สั่งการไปนั้น ล้วนแล้วเกิดขึ้นด้วยความจริงใจ และความสุจริตใจ ไม่มีเจตนาใดๆ เลย ที่จะนำไปสู่การโกงกิน หรือทุจริตบ้านเมือง ทุกการกระทำ ทุกนโยบาย ทุกโครงการ ทุกลายเซ็นในฐานะนายกฯ นั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข้อบกพร่อง และข้อผิดพลาด 

ผมไม่โทษใครและพร้อมที่จะแก้ไขพร้อมที่จะต่อสู้ ในกระบวนการยุติธรรมเคารพการตัดสินของศาลทุกศาล ผมมีความมั่นใจในการกระทำของผมไม่ทุจริตอย่างแน่นอน ความบกพร่องเกิดขึ้นได้สำหรับคนที่ทำงานจริงๆ คนที่ไม่ทำงานย่อมไม่มีความผิดพลาดได้ 

อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวบางแก้วออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ในวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

‘ทนายวันชัย’ โพสต์เฟซ!! ศึกอภิปรายของ Gen Y กับ Gen Y ชี้!! ฝ่ายค้าน อาจไม่รู้จริง เปิดไอแพดอ่าน ‘อุ๊งอิ๊ง’ ไม่สะเทือน

(9 มี.ค. 68) นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และทนายความชื่อดัง ด้โพสต์เฟซบุ๊ก “ทนายวันชัย สอนศิริ” เรื่อง “ศึกอภิปรายของ Gen Y กับ Gen Y” เนื้อหาระบุว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกอุ๊งอิ๊งโดยพรรคฝ่ายค้านในครั้งนี้ จะมีชื่อคุณทักษิณ ชินวัตร ในญัตติหรือไม่ ผมว่าไม่สำคัญ เพราะดูจากเนื้อหาสาระที่จะอภิปราย คนอภิปรายดูแล้วก็อย่างงั้นๆ แหละ เพราะเป็นการปะทะกันของคนรุ่น Gen Y ต่อ  Gen Y  ไอแพดต่อไอแพด AI ต่อ AI ไม่ใช่มาจากฝ่ายค้าน ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถตรงต่อเรื่องนั้นๆ ก็คงจะเป็นข้อมูลที่ได้รับมา หามา แล้วก็เอามาประมวลโดยผู้อภิปรายบางคน ก็อาจจะไม่รู้จริง เพราะอภิปรายครั้งที่ผ่านๆมา ก็ตะบี้ตะบัน อ่านไอแพดกันเป็นวรรคเป็นเวร ไม่ลืมหูลืมตา จนไม่แน่ใจว่าผู้อภิปรายนั้น รู้จริงต่อเรื่องนั้นๆ หรือเปล่า จึงไม่มีอะไรน่ากลัว น่าตื่นเต้น น่าติดตาม และก็คงไม่มีไรที่จะทำให้นายกอุ๊งอิ๊งสั่นสะเทือนไปได้

ยิ่งตอนนี้พรรคฝ่ายค้านมีชนักปักอกอยู่ที่ ปปช. จะรอดหรือไม่รอด ก็น่าจะวิตกมากกว่านายกอุ๊งอิ๊ง คงจะทำให้พะวงหน้าพะวงหลัง อภิปรายไป วิตกไป อ่านไอแพดไป ก็คงจะผิดๆถูกๆ เหมือนหลายคน ที่อ่านตัวเลขผิด ขายขี้หน้ากันมาหลายคนหลายครั้งแล้ว ดังนั้นการที่จะมาถกเถียงกัน เรื่องชื่อคุณทักษิณ ว่าจะมีอยู่ในญัตติหรือไม่  ผมว่าผ่านๆไปเหอะ ฝ่ายค้านเค้าคงขอแค่อภิปราย ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านเท่านั้น แต่เนื้อในของการอภิปรายแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเท่าไหร่ เพราะลำพังฝ่ายค้านแค่อยู่ให้รักษาตัวรอดปลอดภัยก็เก่งแล้ว… การอภิปรายนายกอุ๊งอิ๊ง ก็เป็นเรื่องของเด็กกับเด็ก รุ่นกับรุ่น ว่ากันไปว่ากันมา หาอะไรไม่ได้ แล้วก็เลิกๆกันไป ก็แค่นั้นแหละ อย่าไปห่วงเรื่องชื่อของคุณทักษิณในญัตติเลย

‘นิด้าโพล’ เผย!! คนไทยมอง อภิปรายซักฟอก ‘ฝ่ายค้าน’ ทำอะไร ‘แพทองธาร’ ไม่ได้

(9 มี.ค. 68) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ไม่ไว้วางใจ แค่นายกรัฐมนตรี!! ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.49 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รองลงมา ร้อยละ 31.83 ระบุว่า เห็นด้วยกับการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ แค่เพียงคนเดียว ร้อยละ 17.63 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลยกับการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และ/หรือ รัฐมนตรีคนใด ร้อยละ 11.91 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีบางคน และร้อยละ 2.14 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเฉพาะรัฐมนตรี ไม่รวมนายกรัฐมนตรี

ด้านระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 37.25 ระบุว่า จำนวน 3 วัน รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่า จำนวน 2 วัน ร้อยละ 21.30 ระบุว่า จำนวน 5 วัน ร้อยละ 11.68 ระบุว่า จำนวน 1 วัน ร้อยละ 4.35 ระบุว่า จำนวน 4 วัน และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากทราบผลการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.44 ระบุว่านายกฯ แพทองธาร ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 31.22 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 28.17 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 21.15 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 11.76 ระบุว่า จะมียุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 6.64 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่นายกฯ คนใหม่จะยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 5.95 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 5.80 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง ร้อยละ 5.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 4.43 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘เถ้าแก่หลี’ ประเดิมช่วยครอบครัว 4 ผู้พิการสิงหนคร มอบ!! แพมเพิร์ม เงินสด มูลค่า 40,000 บาท

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 มีนาคม 2568 น.ส.ชัชฎาภรณ์ ยิ้มแก้วชึ่งเป็นภรรยานายเฉลิมชัย ครุอำโพธิ์ (เถ้าแก่หลี) เศรษฐีผู้ใจบุญแห่ง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้เป็นตัวแทนของเถ้าแก่หลีนำสิ่งของ(แพมเพิร์ส)จำนวน 100โหลคิดเป็นเงิน 32,000 บาทพร้อมด้วยเงินสดอีก10,000บาทมามอบให้กับครอบครัวผู้เปราะบาง(พิการทั้งครอบครัว 4 คน ชึ่งครอบครัวดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ 1. นางปวีณา พรหมสถิตย์ อายุ 63 ปี 2. นายชัยยันต์ พรหมสถิตย์ อายุ 61 ปี 3. นายดำรงค์เดช พรหมสถิตย์ อายุ 36 ปี 4. นายนัทพงค์ พรหมสถิตย์ อายุ 29 ปี ซึ่งดำรงชีวิตด้วยเงินสวัสดิการจากภาครัฐ อาทิ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ 800 บาท และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 300 บาท อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน และมีรายได้เสริมจากการรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ

โดยนส.ชัชฎาภรณ์ได้พูดถึงการลงมาในครั้งว่าได้ทราบข่าวจากคุณพงค์ศักดิ์ มากสุวรรณ ชึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารมะม่วงเบาคาเฟ่ ในอำเภอสิงหนคร ช่วยเป็นสะพานบุญในการบริจาคในครั้งนี้ด้วยการแจ้งข่าวพบผู้เปราะบางอยู่ในบ้านเดียวกันถึง 4 คน เมื่อเถ้าแก่หลีทราบเรื่องจึงยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน แต่หากเดือดร้อนอะไรอย่างไรก็ขอให้แจ้งมายินดี และพร้อมให้ความช่วยเหลือ และอยากฝากถึงผู้ที่มีจิตศรัษธาที่มีกำลังทรัพย์อยากจะบริจาคถ้าเป็นสิ่งของก็สามารถบริจาคฝากไว้ที่ร้านอาหารมะม่วงเบาที่สิงหนครก็ได้หรือถ้าเป็นเงินก็สามารถบริจาคผ่านบัญชี9270437183กรุงไทย นายดำรงค์เดช พรหมสถิตย์ได้เลย นส.ชัชฎาภรณ์กล่าว

นับเป็นการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้เปราะบางโดยภาคเอกชน แต่สำหรับภาคราชการ นายอำเภอ ได้นำเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองสิงหนคร เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจแล้ว หลังทราบข่าว แต่ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ช่วยอะไรได้หรือไม่ เช่นเดียวกัน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจแล้ว พร้อมควักเงินส่วนตัว 3000 บาทช่วยเหลือไปก่อน แต่มาตรการภาครัฐ ยังไม่เห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร

ต้องขอขอบคุณพงค์ศักดิ์ มากสุวรรณ เจ้าของร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ สิงหนคร ที่พบเห็นแล้วไม่มองผ่าน แจ้งประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาใส่ใจดูแล ง่ายๆ คือไม่นิ่งดูดาย ขอบคุณเถ้าแก่หลีผู้มากบุญ มากด้วยน้ำใจยื่นมือเข้ามาช่วยคนบ้านเดียวกัน

จำคุก!! คดี ม.116 ‘อานนท์-ณัฐชนน-ไฟซ้อน-ลูกมาร์ค’ 1 ปี ก่อนลดเหลือ 9 เดือน จากกรณี ชุมนุมปราศรัย สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ทำลายสถาบันกษัตริย์

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค. 68) ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 ของนักกิจกรรม 9 ราย กรณีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำเลยในคดีนี้ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์, 'บอล' ชนินทร์ วงษ์ศรี, 'ไฟซ้อน' สิทธินนท์ ทรงศิริ, 'ลูกมาร์ค' และ 'สาธร' (นามสมมติ) 

สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน รวมทั้งยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในวันดังกล่าวได้มีการอ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ 

ศาลเห็นว่าการปราศรัยมุ่งประสงค์สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ แต่ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.คอมฯ 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 18 จำเลยทั้งหกคนได้แก่ ณัฐชนน, ชนินทร์, ไฟซ้อน, ลูกมาร์ค และ “สาธร” ทยอยเดินทางมาฟังยังห้องพิจารณาคดี ต่อมาอานนท์ถูกเบิกตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยมีเครื่องพันธนาการเป็นกุญแจข้อเท้า โดยพบว่ามีคิ้วข้างขวาที่ถูกโกน ซึ่งมีเหตุมาจากการประท้วงศาลของเขาในคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันยังมี 'แอมป์' ณวรรษ ถูกนำตัวมาห้องพิจารณาคดีเดียวกัน เนื่องจากมีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 กรณีกิจกรรมหน้า สภ.คลองหลวง อีกคดีหนึ่ง

สำหรับวันนี้มีประชาชนและเพื่อนของจำเลยมาร่วมให้กำลังใจด้วยกว่าสิบคน อีกทั้งยังมีจำเลยในคดีมาตรา 112 ดังกล่าวอีก 3 คน ที่มารอการตรวจพยานหลักฐานด้วย ทำให้ห้องพิจารณาในวันนี้เต็มไปด้วยจำเลยในคดีทางการเมือง

เวลาประมาณ 10.25 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ และแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ก่อนที่จะตรวจพยานฯ ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ก่อนที่จะขานชื่อจำเลยทีละคนและให้ยืนขึ้นฟังคำพิพากษา ซึ่งสรุปเป็นใจความสำคัญ ได้ดังนี้

• ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

เห็นว่าการชุมนุมตามฟ้อง มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรวจอุณหภูมิตรงทางเข้าที่ชุมนุม ส่วนในลานพญานาคเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท เมื่อเปรียบเทียบกับที่ชุมนุมนั้นไม่คับแคบ ไม่ได้อยู่หนาแน่นที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกัน ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แม้มีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ก็เป็นส่วนน้อย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-2019 ทั้งยังไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุจะมีเหตุไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น 

ถือว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 6-9 ในฐานะผู้จัด ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดชุมนุมในสถานที่แออัด อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโรคหรือความวุ่นวายในการจัดกิจกรรม

• ข้อหามาตรา 116 

เห็นว่าพยานโจทก์ที่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่ชุมนุม ไปประจำตามจุดต่าง ๆ มีเวทีอยู่สูงและมีโปรเจคเตอร์ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะอยู่จุดใด จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย จึงมีความน่าเชื่อถือว่าพูดตามจริง

จำเลยที่ 1 ปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ และอ่านข้อเรียกร้องสิบประการ ส่วนจำเลยที่ 3 ปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และจำเลยที่ 4 อ่านประกาศคณะราษฎรและปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์

จำเลยที่ 1, 3, 4 ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องพระราชสถานะของกษัตริย์, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, กล่าวว่าสถาบันกษัตริย์ขยายพระราชอำนาจตามอำเภอใจ, ใช้อำนาจแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และใช้อำนาจคุกคามทำร้ายประชาชนที่เห็นต่าง และมีการให้ผู้ชุมนุมทำสัญลักษณ์ต่าง ๆ 

ย่อมทำให้ประชาชนคิดและเกิดความเคลือบแคลงสงสัยโดยประการที่น่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่อยู่ในที่เคารพสักการะ มีการใช้ข้อมูลบางส่วนซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกเล่าต่อกันมาในอดีต ปราศจากการพิสูจน์มาเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกเร้า ปลุกปั่นผู้ชุมนุมให้เห็นด้วยและคล้อยตาม เป็นการสร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง เกิดความแตกแยก

จำเลยที่ 7 และ 8 เป็นพิธีกร ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพูดปราศรัยบนเวที แต่มีการพูดว่า “รูปที่มีอยู่ทุกบ้าน” และ “ทรงพระเจริญ” เห็นว่าเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ฯ 

จำเลยที่ 1 ปราศรัยหยาบคาย ผู้คล้อยตามข้อมูลที่ได้รับ อาจนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้ข้อมูลที่มีเจตนาเพื่อบ่อนทำลาย หรือทำให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลายไป ไม่ว่าพูด เขียน หรือข้อเรียกร้อง เป็นการด้อยค่า ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ แสดงให้เห็นเจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นความหวังดี นั้นเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ที่ขัดกับการกระทำ ถือว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 7, 8 แบ่งหน้าที่กันทำ อีกทั้งยังมีการยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ “ หรือหนังสือปกแดง และ มีจอ LCD ที่ปรากฏข้อความ ‘ไม่ใช่ปฏิรูป แต่คือปฏิวัติ’ เห็นว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ ส่งผลให้เกิดความแตกแยก

ส่วนจำเลยที่ 6 และ 9 (ชนินทร์และ “สาธร”) พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นตัวการแบ่งหน้าที่กันทำในการปราศรัย และไม่ปรากฏว่ามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง อันมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร 

• ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 6-9 เป็นผู้เผยแพร่ข้อความเชิญชวนหรือเป็นผู้ถ่ายทอดสด (Live) และพยานโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบ IP Adress บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าเป็นของบุคคลใด 

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 3 (อานนท์), 4 (ณัฐชนน), 7 (ไฟซ้อน), 8 (ลูกมาร์ค) มีความผิดตามมาตรา 116 (2), (3) ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ไม่รอลงอาญา 

และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 (ชนินทร์และ “สาธร”) ในทุกข้อหา และยกฟ้องจำเลยที่ 1, 3, 4, 7, 8 ในส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ ปรียานาถ เผือกสุวรรณ และ ชวลิต คณานิตย์ 

หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ณัฐชนนยังคงต้องอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งก่อน และเมื่อการพิจารณาทั้งสองคดีเสร็จสิ้นแล้ว ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้าใส่กุญแจข้อมือ โดยณัฐชนนถูกใส่กุญแจมือทั้งสองข้าง ส่วนไฟซ้อนและลูกมาร์คถูกใส่กุญแจมือคนละหนึ่งข้าง ก่อนนำตัวลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาลระหว่างรอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

ด้านณวรรษและอานนท์ เมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ก็ถูกนำตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลเช่นกัน เพื่อที่จะรอกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมกับโทษจำคุกรวมทั้งหมดของอานนท์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี 19 เดือน 20 วัน แล้ว (ทุกคดียังไม่สิ้นสุด เป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น) โดยในวันนี้อานนท์ไม่ได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลนี้แต่อย่างใด

ต่อมาในเวลา 14.51 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคน ได้แก่ ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค ในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางเงินประกันตัวคนละ 100,000 บาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม โดยหลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้วันนี้ทั้งสามคนจะได้กลับบ้านทันที

ออกหมายจับตั้งแต่ปี 63 แต่ตามจับกุมจำเลยถึงปี 66 ก่อนถูกสั่งฟ้องแยกออกเป็นสามคดี 

เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยทั้งเก้าคนถูกออกหมายจับทั้งหมดตั้งแต่ปี 2563 แต่ถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเวลาต่างกันไป จำเลยแต่ละคนยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่เหมือนกัน รวมถึงถูกอัยการสั่งฟ้องต่อศาลในวันเวลาและข้อหาที่แตกต่างกันเช่นกัน ซึ่งสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

ในการสั่งฟ้อง ทั้ง 9 คน ถูกอัยการฟ้องในวันที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ถูกแบ่งออกเป็นสามคดี ส่วนแรกเริ่มจากในวันที่ 30 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรม 5 คน ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 'ยุยงปลุกปั่น' ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่ชนินทร์ถูกฟ้องอีกราย แต่เฉพาะข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ส่วนที่สอง วันที่ 6 ต.ค. 2565 ไฟซ้อนถูกอัยการสั่งฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ และสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 'สาธร' และ 'ลูกมาร์ค' ถูกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ 

สำหรับไฟซ้อนและลูกมาร์คถูกกล่าวหาจากการทำหน้าที่เป็นพิธีกรบนเวที ส่วน 'สาธร' ถูกระบุว่ามีชื่อเป็นผู้ร่วมรับบริจาคในการจัดเวทีชุมนุม แต่ไม่ใช่ผู้ขึ้นเวทีปราศรัยแต่อย่างใด ทั้งสามคนถูกตำรวจไล่จับกุมตามหมายจับในช่วงปี 2565 และ 2566 หลังเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 3 ปี และหลังคดีแรกสั่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว

ต่อมา ศาลมีคำสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสามเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน 

จำเลยสู้คดี ยืนยันการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง-ใช้กำลัง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนสถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง อากาศถ่ายเท และมีมาตรการป้องกันโควิด 19

ในคดีนี้มีการสืบพยานทั้งสิ้นจำนวน 7 นัด ในระหว่างวันที่ 2–4, 9–10, 25 ต.ค., และ 12 พ.ย. 2567 โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 11 ปาก ฝ่ายจำเลยมี ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความเป็นพยาน 

ในระหว่างการสืบพยานไม่สามารถติดต่อภาณุพงศ์และพริษฐ์ได้ ศาลจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีในส่วนของทั้งสองคน ต่อมา ในนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568 ปนัสยาไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันนี้ 

สำหรับฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีคือ ในที่ชุมนุมวันเกิดเหตุ เป็นการชุมนุมปราศรัยเพื่อแสดงความเห็นโดยสงบ มีการตรวจคัดกรองอาวุธก่อนเข้างาน เป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้กําลังข่มขืนใจหรือใช้กําลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ 

สำหรับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อนั้น เป็นความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นเพียงข้อเสนอ ไม่ได้บีบบังคับหน่วยงานใดหรือบุคคลใดให้ดําเนินการแต่อย่างใด และข้อเสนอดังกล่าวไม่ถึงกับก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น จึงไม่ได้ส่งเสริมให้ใครก่อความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่อง หรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม 

อีกทั้งที่เกิดเหตุยังเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ไม่แออัด และผู้จัดชุมนุมมีมาตรการป้องกันโรคโควิดและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวัดอุณหภูมิ แจกเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม

การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ยังนำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดย ณฐพร โตประยูร ให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่านักกิจกรรม 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากการปราศรัยหรือไม่

ต่อมา วันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่า การกระทำของทั้ง 3 คน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ทั้งนี้คดีในศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวพันกับคดีอาญา ฝ่ายโจทก์ยังต้องนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาทางอาญาที่ฟ้องมาหรือไม่ อย่างไร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top