Saturday, 19 April 2025
POLITICS NEWS

สมุทรปราการ-อรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา แถลงนโยบายต่อสภาพร้อมเดินหน้าพัฒนาท้องถิ่น

(7 มี.ค.68) สภาเทศบาลตำบลเเพรกษา ได้จัดการประชุมสภาเทศบาลตำบลเเพรกษา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมี นายธนกฤษ ศิรกุลวัฒน์ รองประธานสภาเทศบาลตำบลแพรกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสภาฯ โดยมีคณะผู้บริหาร คณะสมาชิกสภาเทศบาล 

พร้อมด้วย นายวรรณวุฒิ มาสุข รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนปลัดเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ 

โดยนางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ได้กล่าวแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลแพรกษา ถึงนโยบายที่จะดำเนินการขับเคลื่อนพร้อมทั้งการพัฒนาท้องถิ่นและสานงานต่อให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด 

ประกอบด้วยนโยบายทั้ง 7 ด้าน คือ1. ด้านการศึกษา ระดับปฐมวัย ,ระดับประถมศึกษา ,ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา 2. ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 4.ด้านสาธารณสุข 5. ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 6. ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 7. ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรี ยังได้กล่าวต่อที่ประชุมอีกว่า จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น และตั้งใจ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนต่อไป

 

'แก้วสรร' ออกบทความด่วน 'น่าสงสาร...ดีเอสไอ' ชี้ หากฟ้องตาม กม.ฟอกเงิน ต้องผ่านข้อหาซื้อสิทธิขายเสียงก่อนเท่านั้น

(6 มี.ค. 68) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย เผยแพร่บทความเรื่อง 'น่าสงสาร...ดีเอสไอ' โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

อำนาจใคร ที่ใช้รับคดีพิเศษ

ถาม   กฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดช่องทางให้คดีอาญาหนึ่งๆ เข้าเป็นคดีพิเศษไว้อย่างไรครับ
ตอบ   ตามมาตรา ๒๑ จะระบุไว้สองประตู ประตูแรกคือ ๒๑(๑) รับไว้เพราะเป็นฐานความผิดที่กำหนดไว้ท้าย พรบ. และมีลักษณะควรแก่การสอบสวนพิเศษ เช่น คดีซับซ้อน  คดีข้ามชาติ คดีเกิดขึ้นกว้างขวาง คดีส่งผลกระทบความมั่นคงฯ คดีพวกนี้   อธิบดี ดีเอสไอ เป็นผู้พิจารณาและสั่งรับคดี คณะกรรมการคดีพิเศษ ( กคพ.) ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ได้แต่วางระเบียบในการคัดกรองคดีเท่านั้นว่า ต้องมีลักษณะพิเศษอย่างไร

ถาม   ประตูที่สองคืออะไรครับ
ตอบ   เป็นความผิดนอกบัญชี แต่ ๒๑(๒) ระบุว่า ดีเอสไอขอมติคณะกรรมการ สองในสาม  ให้เป็นคดีพิเศษได้ เช่นเห็นว่าคดีฮั้ว สว.มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่  แต่ความผิดอั้งยี่นี้ไม่มีในท้ายบัญชีก็เลยมาขอ มติ สองในสาม ของ กคพ. ให้รับเป็นคดีพิเศษ

ถาม   แล้วในที่ประชุม วันที่ ๖ มีนาคม กคพ.มีมติรับเป็นคดีพิเศษ หรือไม่
ตอบ   ชัดเจนว่าไม่มีมติ สองในสาม ให้รับเป็นคดีพิเศษครับ  ไม่ทราบว่าเห็นควรไม่รับคำขอของ ดีเอสไอ แต่แรกเลย  หรือ รับแล้ว ลงมติแล้ว ได้เสียงไม่ถึงสองในสาม ผมก็ไม่ทราบ

ถาม   แต่ในที่สุดแล้วก็รับเป็นคดีพิเศษไม่ใช่หรือครับ ผมเห็นรองภูมิธรรม กับ รมต.ทวี บอกว่า กคพ.มีมติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาประชุมว่า ดีเอสไอ มีอำนาจรับได้อยู่แล้ว ตาม ๒๑(๑) เพราะคดีนี้มีความผิดฐานฟอกเงินอยู่ด้วยและความผิดฐานนี้ก็มีระบุอยู่ในบัญชีท้าย พรบ.ด้วย มันหมายความว่าอย่างไรครับ  
ตอบ   หมายความว่าเรื่องนี้ กคพ.เกินกึ่งเห็นว่า อธิบดี ดีเอสไอ ทำได้เองอยู่แล้ว มาขอเราให้ใช้เสียงถึงสองในสามทำไม  ให้เป็นปัญหา

ถาม   ตกลง เรื่องนี้รับเป็นคดีพิเศษ ด้วยอำนาจใคร
ตอบ   คณะกรรมการมีอำนาจรับเป็นคดีพิเศษ ด้วย ม.๒๑(๒) เท่านั้น การรับตามมาตรา ๒๑(๑) ในความผิดตามบัญชีนั้น คณะกรรมการไม่มีอำนาจมีมติใดๆ มีเป็นแค่ความเห็น บอก ดีเอสไอ เท่านั้นว่า เรื่องฟอกเงินนี่ คุณมีอำนาจอยู่แล้ว รับไปทำด้วยอำนาจคุณเองก็แล้วกัน

ถาม   ถ้าทำไปแล้ว อธิบดีโดน  ๑๕๗  คณะกรรมการก็ไม่โดนใช่ไหมครับ
ตอบ   อาจโดนแค่สนับสนุนเท่านั้น 

คดีนี้เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่

ถาม   ถ้าจะเอาอย่างนี้  คดีนี้ ก็จะมีการสอบสวนสองสาย ขนานกันไป คือ ดีเอสไอ ทำคดีฟอกเงิน และ กกต.ทำคดี ซื้อสิทธิขายเสียง อย่างนั้นหรือ
ตอบ   ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ การกระทำเดียวผิดได้หลายบทก็จริง แต่สอบหลายสาย ตัดสินหลายศาล ไม่ได้ ทุกฐานความผิดต้องถูกรวมฟ้องเป็นคดีเดียวเท่านั้นกฎหมาย กกต. ก็ระบุไว้แล้วว่า  ถ้าใครรับคดีเลือกตั้งไว้ กกต.ก็สั่งให้ยุติแล้วส่งคดีมาให้ กกต.ทำ ก็ได้

ถาม   ดีเอสไอเขาเถียงได้ไหมครับว่า  เขารับทำแต่คดีฟอกเงิน
ตอบ   เถียงอย่างนั้นไม่ได้ กฎหมายดีเอสไอระบุไว้เองเลยว่า ทุกฐานความผิดที่เกี่ยวกับความผิดท้ายบัญชีให้ถือเป็นคดีพิเศษด้วย   การรับคดีข้อหาฟอกเงิน จึงเป็นการรับคดีซื้อสิทธิขายเสียงด้วยในตัว  

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อหาฟอกเงินในครั้งนี้ มันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินได้   มันต้องผ่านข้อหาซื้อสิทธิขายเสียงก่อนเท่านั้น ดีเอสไอทำเรื่องฟอกเงินในคดีนี้เมื่อไหร่   ก็ต้องทำคดีซื้อสิทธิขายเสียงด้วยเสมอ ทำแล้วก็ต้องฟ้องซื้อสิทธิขายเสียงด้วย เพราะกฎหมายดีเอสไอ บอกว่าให้ถือเป็นคดีพิเศษด้วย

ถาม   สรุปแล้วเป็นการใช้อำนาจซ้อนอำนาจ กกต.อย่างชัดเจน ใช่มั้ยครับ
ตอบ   ถูกต้องครับ มันเป็นเรื่องจะเอาให้ได้ในฐานอั้งยี่ แต่เมื่อเสียงไม่ถึงสองในสาม  ก็เลยให้ ดีเอสไอลุยเอง ในฐานฟอกเงิน  ซึ่งไม่ว่าจะความผิดฐานไหน มันก็ซ้อนอำนาจ กกต.จนทำไม่ได้อยู่ดี   

ที่สำคัญ  ต้องไปดูมาตรา ๗๗ ของ กฎหมายเลือกตั้ง สว.ให้ดีๆว่า ที่เขาระบุให้การซื้อสิทธิขายเสียงผิดฐานฟอกเงินด้วยนั้น มาตรานี้เขาบัญญัติชัดเจนนะครับว่า “เมื่อปรากฏความผิดฐานซื้อสิทธิขายเสียงนี้ ก็ให้คณะกรรมการ กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ปปง. ดำเนินคดีฟอกเงินต่อไป ”    

มันชัดเจนนะครับว่าข้อหานี้มันต้องเริ่มด้วย กกต. แล้วส่งไป ปปง.เท่านั้น

ผมว่า ในดีเอสไอเขาคงเห็นมาตรา ๗๗ นี้ขวางทางอยู่เหมือนกัน ถึงเลี่ยงจะไปเอาผิดฐานอั้งยี่ด้วยอำนาจใหญ่ของคณะกรรมการ แต่วันนี้บักหำน้อยนี้ กลับถูกดีดกลับมาให้เป็น Home alone ลุยเองอีก

ถาม   อาจารย์ไม่เห็นช่องที่ ดีเอสไอจะถือบัตรพิเศษสอดเข้ามา ในงานนี้ได้เลยใช่มั้ยครับ

ตอบ   น่าสงสารครับ  ผมเห็นแต่ประตูคุกรำไรๆ รออยู่เท่านั้น

เปิดเอกสารบันทึกประชุม กมธ. กฎหมาย ฉบับจริง ยืนยัน ไม่พบข้อความบางประเทศพร้อมรับตัวอุยกูร์

(6 มี.ค. 68) จากกรณีนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้อ้างการจดชวเลขการประชุม กมธ.กฎหมายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ซึ่งผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวในไทยว่า มีบางประเทศแสดงความพร้อมรับชาวอุยกูร์ไปตั้งถิ่นฐาน อย่างเช่น สหรัฐ สวีเดน ออสเตรเลีย

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร ได้โพสต์เอกสารบันทึกการประชุม กมธ.กฎหมายฯ โดยระบุว่า ทุกคนคะ บันทึกการประชุมครั้งที่ 24 วันที่ 10 ก.ค. 67 กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ฉบับจริงที่มีลายน้ำและเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐสภา ไม่พบข้อความหรือเอกสารที่ทาง สส.กัณวีร์ และ ช่อ พรรณิการ์ อ้างถึงว่า "บางประเทศก็แสดงความพร้อมรับชาวอุยกูร์ไปตั้งถิ่นฐาน อย่างเช่น สหรัฐ สวีเดน ออสเตรเลีย"

จึงขอถามกับไปที่พี่ทั้ง 2 ว่า เอกสารที่เอามาโชว์คือเอกสารอะไร ทำไมไม่มีตราประทับ และ ทำไมเนื้อหาต่างจากเอกสารฉบับจริง

ลิงก์ฉบับจริง https://www.parliament.go.th/.../105/news/114/1_114.pdf

จรัญ-อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายชัดข้อหา ‘อั่งยี่-ซ่องโจร’ เกิดจากปมฮั้วเลือกสว. ต้องอยู่ในอำนาจ ‘กกต.’ ตามกฎหมายโดยตรงไม่ใช่ดีเอสไอ หวัง 6 มีนาคม ‘บอร์ดคดีพิเศษ’ ไม่รับเป็นคดีพิเศษ เตือนหากรับอาจมีวิกฤติบางอย่างรออยู่ข้างหน้า!

เมื่อวันที่ (5 มี.ค.68) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน ไทยโพสต์ เกี่ยวกับกรณีที่ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ 'บอร์ดคดีพิเศษ' นัดประชุมวันที่ 6 มีนาคม เพื่อลงมติว่าจะรับกรณี ฮั้วเลือก สว.เป็น คดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาของสังคม โดยเฉพาะใน ประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายจรัญระบุว่า กฎหมายเปิดช่องให้ดีเอสไอรับคดีอาญาได้ทุกคดี ผ่านมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ แต่ปัญหาอยู่ที่ กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. โดยตรง

“รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายข้างมากหรือฝ่ายข้างน้อย เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง” นายจรัญกล่าว

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า กกต. ได้รับอำนาจให้จัดการเลือกตั้งโดยอิสระ หากไม่มีความเป็นกลาง การแข่งขันทางการเมืองจะไม่เป็นธรรม และอาจ กระทบต่อคุณภาพของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ

นายจรัญ ชี้ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน ในมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ว่าความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการของ กกต.

“ถ้ามีการจ่ายเงิน จ่ายทอง วางระบบฮั้วกัน ถือเป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งต้องอยู่ในอำนาจของ กกต.”

อย่างไรก็ตาม ประชาชนมองว่าการเลือก สว. ครั้งนี้มีปัญหา และเมื่อ กกต. ใช้เวลานานโดยไม่มีความคืบหน้า จึงเกิดแรงกดดันให้ผู้ร้องเรียนไปที่ดีเอสไอ

นายจรัญ ตั้งข้อสังเกตว่าดีเอสไอไม่สามารถรับทำคดีนี้ได้เอง เพราะเป็น ความผิดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในอำนาจของ กกต. ซึ่ง หากมีเรื่องฟอกเงิน ก็ต้องให้ กกต. ตรวจสอบก่อน แล้วจึงส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

นายจรัญ กล่าวถึงการที่ดีเอสไอตั้งข้อหา อั่งยี่-ซ่องโจร ว่าเป็น ความผิดอาญาตามกฎหมายทั่วไป ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเหตุผลในการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษได้

“แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ทรงอำนาจมาก มีอำนาจมากกว่าตำรวจ และที่สำคัญดีเอสไออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหารผ่านกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นสายตรงของคณะรัฐมนตรี”

นายจรัญ เตือนว่า หากปล่อยให้ดีเอสไอเป็นตัวหลักในการทำคดี และแยกความผิดเลือกตั้งออกจาก ข้อหาอั่งยี่-ซ่องโจร อาจทำให้ ดีเอสไอกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

“นี่ไม่ใช่อั้งยี่ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ค้ามนุษย์ แต่มันเป็นอั้งยี่ที่เกิดจากการฮั้วเลือก สว. ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในอำนาจของ กกต.”

นายจรัญ เตือนว่า หากบอร์ดคดีพิเศษลงมติรับคดีนี้ เท่ากับเป็น การแย่งอำนาจ กกต.และอาจนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองใช้ DSI แทรกแซง กระบวนการเลือกตั้งในอนาคต

“ถ้ารับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐาน ไม่ใช่แค่เรื่อง สว. แต่รวมถึงการเลือกตั้ง สส. และประชามติ ฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจรัฐอยู่ก็จะใช้ ดีเอสไอ รับทำคดีเลือกตั้งได้ทุกประเภท”

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอว่า ดีเอสไอควรให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินคดีหลัก และหากมีหลักฐาน ควรส่งต่อให้ กกต. ไม่ใช่รับทำคดีเอง

“อยากให้สองหน่วยงานหารือกัน กกต. ทำหน้าที่ของตนเอง ส่วน ดีเอสไอมีข้อมูลอะไรก็ส่งให้ ไม่ใช่ให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตี”

นายจรัญ ย้ำว่า กรรมการบอร์ดคดีพิเศษควรพิจารณาอย่างรอบคอบในวันที่ 6 มีนาคม เพราะหากลงมติรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษเท่ากับหัก กกต. แย่งชิงบทบาท ซึ่งวิกฤตการณ์บางอย่างอาจจะรออยู่เบื้องหน้าก็ได้

“มั่นใจว่ามติบอร์ดคดีพิเศษ มีวิจารณญาณ พอจะไม่รับคดีนี้ แต่จะหาทางออกที่เหมาะสม” นายจรัญกล่าวทิ้งท้าย

ถ้า ‘สส.มุก’ โดนใบแดง เลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีฯ ดุเดือดแน่ แม้ปี่กลองยังไม่เชิดเลย แต่บางพรรคก็เริ่มร่ายรำแล้ว

ศาลอุทธรณ์ยังไม่ตัดสินคดี 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกร้องเรียนเรื่องทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 26 มีนาคมนี้ แต่ปรากฏเห็นการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองคึกคัก เตรียมส่งคนลงสมัครเลือกตั้งซ่อมกันแล้ว

ปี่กลองยังไม่เชิดเลย แต่บางพรรคก็ร่ายรำแล้ว ประเดิมด้วยพรรคประชาชน กรรมการบริหารพรรคประชาชน มีมติให้ณัฐกิตต์ อยู่ด้วง เป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จ.นครศรีธรรมราช ในนามของพรรคประชาชน

โดยพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 8 จะประกอบไปด้วย อำเภอพิปูน, อ.ฉวาง, อ.นาบอน และอำเภอช้างกลาง

ณัฐกิตต์ฯ กล่าวว่า ตนมีความพร้อมและทุ่มเทความตั้งใจอย่างเต็มกำลัง จึงขอให้ประชาชนให้โอกาสในการทำงานรับใช้พื้นที่นี้ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ตนก็เป็นลูกหลานของพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอพิปูน ฉวาง ช้างกลาง นาบอน เช่นกัน

พยายามค้นหาโปรไฟล์ของณัฐกิตต์ฯในระบบออนไลน์ (กูเกิล) ไม่ว่ากันนะ แทนจะไม่พบเลย จึงไม่อาจจะสาธยายสรรพคุณได้

สำหรับพรรคภูมิใจไทย เจ้าของพื้นที่ยังสงบนิ่งอยู่ คงรอให้ศาลตัดสินก่อนในวันที่ 26 มีนาคม แต่ในระดับพื้นที่เข้าใจว่าคงจะมีการเตรียมการอยู่บ้างแล้ว อย่าง 'เลื่องสีนิล' แน่นอนว่าน่าจะเสนอทายาทให้พรรคพิจารณา อาจจะเป็นสามี หรือหลานของ สส.มุกดาวรรณ ก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพรรคว่าจะเอาสายเดิม หรือเปลี่ยนสาย ซึ่งถ้าพรรคภูมิใจไทยจะเปลี่ยนสาย ก็มี 'สุนทร รักษ์รงค์' ที่ไปยืนคอยอยู่แล้ว เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยแล้ว

การเลือกตั้งปี 66 สุนทรลงสมัครในเขต 8 แข่งกับมุกดาวรรณ ในนามพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนมา 18000 กว่าคะแนน แพ้ให้กับมุกดาวรรณ ถ้ามุกดาวรรณโดนใบแดง สุนทรก็จะเป็นอีกตัวเลือกที่ดีของพรรคภูมิใจไทย

พรรคประชาธิปัตย์คงจะไม่พลาดในการชิงพื้นที่กลับคืนมา อยู่ที่ว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ใน 'ตระกุลบุณยะเกียรติ์' แน่นอน จะเป็นชินวรณ์ หรือลูกสาวเท่านั้นเอง แต่แว่วมาว่าชินวรณ์จะลงสมัครเอง

พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าจะเดินหน้าพรรคต่อก็ไม่ควรพลาดสนามเลือกตั้งนี้ แต่ไม่รู้ว่ามีตัวเลือกของพรรคหรือไม่ แต่ทราบว่า ดร.คมเดช มัชฌิมวงค์ ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 7 ทุ่งใหญ่ ในนามพรรคพลังประชารัฐ สนใจว่าย้ายมาลงเขตนี้ เนื่องจากเป็นคนพิปูน เคยเป็นนายกฯอบต.อยู่ที่พิปูน แต่จะลงพรรคพลังประชารัฐ หรือย้ายมาพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องติดตามกันต่อไป

แต่ที่น่าสนใจ คือ 'บิ๊กโอ' สจ.ก้องเกียรติ์ เกตุสมบัติ ที่ช่วงหลังใกล้ชิดกับ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม และ รอ.ธรรมนัส ก็สนับสนุนบิ๊กโอเต็มที่ด้วยบุคลิก และอะไรที่เข้ากันได้ดี เมื่อจังหวะ และโอกาสมาถึงบิ๊กโอ จึงน่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคกล้าธรรม

บิ๊กโอ ตั้งใจจะลงสมัคร สส.ตั้งแต่คราวที่แล้ว ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่การจัดสรรคนไม่ลงตัว เมื่อบุณยเกียรติ์ ลงสมัครถึงสองเขต ทำให้บิ๊กโอพลาดโอกาสนั้นไป ทั้ง ๆ ที่ลาออกจาก ส.อบจ.มานั่งรออยู่แล้ว แต่ประเด็นของบิ๊กโอคือ ถ้าลงสมัครรับเลือกตั้งเขตนี้ อาจจะต้องชนกับพ่อตา (ชินวรณ์) หรือน้องเมีย (ปุณสิริ) ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับการตัดสินใจ แต่การเมืองคือการเมือง สามีภรรยาอยู่คนละพรรคกันก็มี เพียงแต่ไม่ได้ลงแข่งกันในเขตเดียวกัน แต่บิ๊กโอ จะต้องแข่งกับพ่อตา หรือน้องเมีย อาจจะยุ่งยากใจอยู่บ้าง

คร่าว ๆ เบื้องต้นสำหรับการเมืองในสนามเลือกตั้งเขต 8 นครศรีธรรมราช แต่ย้ำว่า ศาลยังไม่ตัดสินนะ

เลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีฯถ้ามีขึ้นจริง ดุเดือดแน่นอน พรรคการเมืองใหญ่ต้องมารุมกันอยู่ที่นี้ ยังไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทย จะร่วมวงกับเขาด้วยหรือเปล่า

‘กัณวีร์’ โชว์จดหมายชาวอุยกูร์ ยันเป็นฉบับจริง จี้ รัฐบาลเปิดหลักฐานชาวอุยกูร์สมัครใจกลับจีนจริงหรือไม่?

‘กัณวีร์’ เปิดจดหมาย ‘อุยกูร์’ โชว์สื่อ แจงตราประทับเป็นลายน้ำ ไม่ใช่ตราปั๊ม ขออย่าหลงประเด็น สิ่งสำคัญคือ ‘ชาวอุยกูร์’ อยากกลับจีนจริงหรือไม่ ชี้ไม่เกี่ยวกันหลัง ‘ภูมิธรรม’ บอกช่วยลดเหตุการณ์รุนแรง

(4 มี.ค. 68) ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม แถลงกรณีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ขอหนังสือชี้แจงหลังเปิดเผยจดหมายที่อ้างว่าได้จากชาวอุยกูร์ โดยกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าไม่ใช่หนังสือร้องเรียนจากกลุ่มชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัว และเป็นหนังสือร้องเรียนปลอม ว่า  ตนไม่อยากให้หลงประเด็นการผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่าว่าจดหมายร้องเรียนจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่จำเป็นคือคำตอบจากรัฐบาลไทยว่าชาวอุยกูร์เหล่านั้นสมัครใจกลับ จริงหรือไม่ และอยากถามกลับว่าไม่มีประเทศอื่นจะรับตัวคนเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานเลยหรือ

นายกัณวีร์ กล่าวว่า วันนี้ตนไม่อยากออกมาแถลง แต่สังคมแคลงใจว่าเป็นจดหมายจริง หรือจดหมายปลอม ซึ่งมันไม่ใช่สารัตถะสำคัญ เรื่องสำคัญคือการที่ผู้ลี้ภัยอยู่ในห้องกักขังมา 11 ปีแล้ว จนกระทั่ง 27 ก.พ. 68 ที่มีการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

ระหว่างแถลงนายกัณวีร์ ได้เปิดจดหมายโชว์ให้สื่อมวลชนดูว่าตราสัญลักษณ์มุมล่างขวาของกระดาษไม่ใช่ตราปั๊ม แต่เป็นลายน้ำจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกระดาษแผ่นนี้สามารถหาได้จากกรมราชทัณฑ์ มีขายในราคาแผ่นละ 1 บาท

“ผมไม่เคยพูดว่าจดหมายฉบับนี้ออกมาอย่างถูกระเบียบจากรมราชทัณฑ์ แต่บอกว่าได้รับมาจากผู้ต้องกักที่ สตม.สวนพลู ซึ่งผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันชาวอุยกูร์ครั้งนี้ เป็นการพูดคุยกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อีกทั้งช่วงเวลานี้ เป็นการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พวกเขาถูกกักขังลืมเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำไมเราไม่เคยได้ยินว่า ผู้ต้องกักมีความสมัครใจมากน้อยแค่ไหนว่า เขาต้องการกลับบ้าน จนปลายเดือน ก.พ. ที่รัฐบาลบอกว่า ทุกคนสมัครใจกลับ ซึ่งในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ในฐานะตนเป็น สส.พยายามจะสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ หากรัฐบาลมีหลักฐานใด ที่ระบุได้ว่า ชาวอุยกูร์เหล่านี้สมัครใจจะกลับประเทศจีนจริง ขอให้เอาออกมาแสดงให้สังคมและเวทีระหว่างประเทศ มั่นใจว่า เราไม่มีการผลักดันคนเข้าสู่หลักประหารอีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยต้องรับแรงปะทะในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะถ้าถูกถาม เราจะตอบได้หรือไม่ ส่วนในมุมความชอบธรรม ตนมองว่านี่เป็นการติดกระดุมผิดตั้งแต่ต้น

จาก 'คนคลั่งแดง' สู่การ 'ชูสามนิ้วคลั่งส้ม' เปลี่ยนข้างด้วยเหตุผลเดียวในใจคือ 'ไม่เอาสถาบัน'

(4 มี.ค. 68) คุณลองสังเกตคนรอบ ๆ ตัวของคุณดู จะมีจำนวนไม่น้อยที่แต่ก่อนคือคนที่เลือก “พรรคเผาเมือง” หรือพรรคที่เริ่มต้นการ “จาบจ้วงสถาบัน” อยู่เป็นนิจ ถึงกับเคยป่าวประกาศให้คนไทยภาคอิสาน “ปลดรูปในหลวงรัชกาลที่ ๙” ออกจากข้างฝา ยังกล้าเผาห้าง เผาศาลากลางจังหวัด เรียกว่าเผาผลาญประเทศจนย่อยยับ ถูกขับไล่ด้วยข้อกล่าวหาอภิมหาคอรัปชั่นชาติ จนที่สุดหัวหน้าพรรคทั้งสองคน และเป็นอดีตนายกทั้งคู่ ต้องหนีคดีออกนอกแผ่นดินไทย 

เมื่อภาพการ “หนีคดี” เกิดขึ้นซ้ำ ๆ สะท้อนถึงความสั่นคลอน ไม่มั่นคง ภารกิจของ “เศรษฐีล้มเจ้า” ที่น่าจะไปต่อไปจึงค่อย ๆ เฟดลงตาม กลายเป็นภาพการหมอบคลาน การยอมรับความผิด ยอมกลืน “น้ำลายเน่า ๆ" จากคนปากดีที่จะนำ “การล้มเจ้า” เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยเป็นระบอบอื่น  กลายเป็น “พรรครักสถาบัน” ขึ้นมาหน้าตาเฉย ทั้งหมดก็เพื่อจะได้ลดทอน “ความเกลียดชัง” ของสังคมคนส่วนใหญ่ที่ยังคงเชิดชูสถาบันไว้สูงสุด กลุ่มคนที่ชังเจ้าชนิดฝังหุ่น ที่เคยกาเลือก “พรรคเผาไทย” มาตลอด จึงต้องหา “พรรคล้มเจ้าพรรคใหม่” ไว้เป็นที่พึ่งทางใจ

คนป่วยเหงาเหล่านี้ “เปลี่ยนจากแดงมาสู่ส้ม” ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ “แอบเป็นคนที่ไม่เอาสถาบัน” แต่ไม่กล้าปริปากบอกใครตรง ๆ ใช้ชีวิตแบบ “ตีสองหน้า” ไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ถอยห่างจาก “พรรคแดง” เพราะปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น หรือการหนีคดี แต่เพราะได้กลายเป็นพรรคที่ไม่แน่ใจแล้วว่า “จะล้มเจ้า” ได้จริง ๆ จึงเกิดความไม่แน่ใจ เมื่อมี “พรรคส้มสามกีบ” โผล่ขึ้นมา โฆษณาว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” มีแผนการร้ายที่จะ “ล้มล้างการปกครอง” กล้าบ้าบิ่นด้วยเล่ห์เพทุบายโฉดชั่ว จึงโดนใจ “คนเกลียดเจ้า” ที่ผิดหวังจาก “พรรคหนีคดี” ต่างกระโจนไปสนับสนุน “พรรคสามนิ้ว” โดยไม่ดูความสามารถในเรื่องการบริหารบ้านเมืองแม้แต่น้อย 

สังเกตดี ๆ พฤติกรรมคนเหล่านี้ ไม่เคยกล้าตำหนิการทุจริตคอรัปชั่น หรือข้อเสียใด ๆ ของ “พรรคเผาเมือง” หรือ “พรรคส้มสามกีบ” ที่ตนเองสนับสนุน มักจะทำเป็นมองไม่เห็น ตราบที่ยังคงยึดแนวทางการ “ล้มล้างการปกครอง” ให้เห็นดังเดิม เพราะแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับเหล่า “คนแอบเกลียดเจ้า” ที่แอบซุกตัวใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยแล้ว

คนไทยที่แอบเกลียดชังสถาบัน และคอยมองหาพรรคการเมืองที่คอยดูหมิ่น จาบจ้วง กัดเซาะ ล้มล้างการปกครอง เพื่อที่จะสนับสนุน ถือเป็นคนไทยที่เป็น “อันตรายต่อชาติ” และต่อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ไม่ต่างจาก “พรรคการเมืองล้มล้างการปกครอง” 

‘เทพไท’ เปิดข้อดีล็อกเป้าอภิปราย ‘นายกฯเจนวาย’ คนเดียว แนะฝ่ายค้านใช้เวทีสภาวิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีได้เต็มที่

(4 มี.ค. 68) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘เทพไท - คุยการเมือง’ ในหัวข้อ อภิปราย 'อุ๊งอิ๊ง' คนเดียว ดีอย่างไร?

หลังจากพรรคประชาชน และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียว ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา ว่าเป็นการสับขาหลอกบ้าง ข้อสอบรั่วบ้าง ไม่มีข้อมูลเพียงพอบ้าง แต่เมื่อพรรคฝ่ายค้านตัดสินใจอภิปรายนางสาวแพทองธาร เพียงคนเดียว น่าจะมีผลทางการเมืองอยู่ 6 ประการ คือ

1. เป็นการทำลายกล่องดวงใจของนายทักษิณ เพราะนางสาวแพทองธารยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า การถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจคืออะไร คนที่กังวลใจ เดือดเนื้อร้อนใจ หรือมีความหนักใจน่าจะเป็นนายทักษิณมากกว่า

2. เป็นการล็อกเป้า ให้นางสาวแพทองธารอยู่บนบัลลังก์เพื่อรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอดเวลา ถ้ามีการอภิปรายรัฐมนตรีหลายคน อาจจะใช้โอกาสตอนที่อภิปรายรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ชิ่งหนีออกจากสภากลับบ้านได้

3. เป็นการประจานวุฒิภาวะ และการตอบคำถามของนางสาวแพทองธาร ว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาแค่ตอบกระทู้ถามสด ก็ยังบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง เมื่อเจอกับอภิปรายไม่ไว้วางใจไฟท์บังคับก็หนีไม่ออก

4. เป็นการวัดใจความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลว่า มีการแตกแถวบ้างหรือไม่  เพราะไม่มีคนของพรรคร่วมรัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้การแลกคะแนนโหวตจึงไม่มี อาจทำให้มีสส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตแตกแถวก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์

5. เป็นการเปิดหน้าทีมองครักษ์ว่าใครคือสาวก หรือองครักษ์ตัวจริง ทำหน้าที่ได้ถูกใจนายใหญ่และนายน้อยมากที่สุด จะได้บันทึกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีการประท้วงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

6. ได้ใช้โอกาสนี้ตีแผ่ เปิดโปงข้อมูล เกี่ยวกับการบริหารประเทศของนางสาวแพทองธาร ให้ประชาชนรับทราบถึงความรู้ความสามารถ และความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรื่องความไม่ชอบมาพากล ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ให้มากที่สุด

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนางสาวแพทองธารในครั้งนี้ แม้ว่าจะได้ออกตัวว่าเป็นคนGen Y แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ที่เป็นคนเจนไหน แต่อยู่ที่ความรู้ความสามารถของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้ใช้เวทีอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีได้เต็มที่ ไม่ต้องรอให้เป็นผู้นำให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาวิจารณ์กันตามความคิดของนางสาวแพทองธาร

‘หมาแก่’ วิจารณ์ยับ ‘รัฐบาลลุงตู่’ บริหารไม่เป็น ซัด ประเทศเสียเวลาเกือบ 10 ปี โดยที่ไม่ได้อะไรเลย

เมื่อวันที่ (3 มี.ค. 68) นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ หรือ 'หมาแก่' พิธีกรชื่อดัง รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ กล่าวถึงการบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า จะให้ตนเองยอมรับการบริหารงานของรัฐบาลลุงตู่ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะทำให้ประเทศไทยเสียเวลาไปตั้งเกือบๆ 10 ปี โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย เป็นเพียงแค่การปะผุชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้อะไรจริง ๆ 

อย่างแรก 9 ปีกว่าของลุงตู่ ในช่วงครึ่งแรก 4 ปีกว่า เป็นช่วงที่ลุงตู่มีอำนาจเต็ม มีมาตรา 44 ในมือ จะทําอะไรก็ได้ ทําอะไรก็ไม่ผิด จัดการได้ทุกปัญหา แม้สั่งในเรื่องที่ผิด ๆ ก็มีมาตรา 44 คุ้มครอง ถึงจะรู้ว่าผิด รู้ว่าประเทศเสียหาย ก็ทำได้หมด โดยไม่มีความผิดเพราะมีมาตรา 44 เป็นเกราะคุ้มครอง

นายดนัย ยังกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ถ้ามีอำนาจพาวเวอร์ ฟูลขนาดนั้น ถ้ามีความจริงใจ และบริหารเป็น สิ่งที่ควรทำ คือ จะต้องแตะไปที่ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบของประเทศ ซึ่งควรจะทำอะไรได้ตั้งมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ปฏิรูปตํารวจ เมื่อครั้งตอนที่ทํารัฐประหารเมื่อปี 57 โดยอ้างว่า การเมืองเสื่อมโทรม จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าจะปฏิรูปการเมืองก็ต้องใช้คนที่ไม่ใช่คนการเมือง ถ้าใช้คนการเมืองมาปฏิรูปการเมือง สุดท้ายมันก็ไปไหนไม่ได้ ดังนั้นคณะรัฐประหาร คสช. ต้องเข้ามาปฏิรูปการเมืองเอง

ทั้งนี้ แค่ช่วง 4 ปีแรกในอํานาจของของ คสช. ของลุงตู่ ซึ่งมีอำนาจเต็ม และมีมาตรา 44 ในมือ ลองย้อนไปดูว่า ในช่วงนั้นทําอะไรบ้างกับการปฏิรูปการเมือง หลังจากนั้นพอเข้ามาปีที่ 5 ปีที่ 6 เมื่ออํานาจมันหอมหวาน อยากจะอยู่ต่อ อยากจะมีอํานาจอีก ภายใต้วลีเท่ ๆ “อยู่เพื่อสานงานต่อ” และได้อยู่ต่ออีก 4 ปี ถามว่า ปฏิรูปการเมืองถึงไหน? 

“4 - 5 ปี ผ่านไป อยากจะอยู่ต่อ สุดท้ายก็ไปผสมพันธุ์กับนักการเมืองที่ตัวเองประณาม ก็ใช้นักการเมืองอาชีพ นักเลือกตั้งอาชีพ มาช่วยเป็นนั่งร้านทางการเมือง สร้างพรรคการเมืองให้กับลุงตู่ แล้วแบบนี้มันจะไปรูปอย่างไรละ”

นายดนัย ยังย้ำด้วยว่า หากมองในแง่ตัวบุคคล ในความเป็นตัวตนของลุงตู่ ก็นับว่าเป็นผู้สูงวัยที่น่ารัก แต่ในเชิงหลักการมองภาพรวมและมองไปที่ประเทศ เป็นเรื่องที่ตนยอมรับไม่ได้ และยืนยันว่า ในช่วง 9  - 10 ปี ที่อยู่ภายใต้อํานาจของลุงตู่ ประเทศไม่ได้อะไรเลย โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีแรกที่มีอำนาจในมือ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างของประเทศเลย สิ่งที่เห็นคือ การสร้างกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ ๆ เท่านั้น  และ 4 ปีต่อมา อยากอยู่ต่อก็ไปใช้บริการนักเลือกตั้งอาชีพที่ตนเองเคยประณาม พร้อมทั้งอ้างความชอบธรรมในการทํารัฐประหาร สุดท้ายก็ไปผสมพันธุ์กับคนพวกนั้น สิ่งที่ควรทำอย่างการปฏิรูปตำรวจ ก็ไม่ทำ มิหนำซ้ำยังมีส่วนทำให้ตํารวจแย่กว่าเดิมอีก เช่นนี้แล้วจะให้ยอมรับได้อย่างไร 

และเมื่อพิจารณาถึงมิติของการแก้ปัญหาและการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดระยะเวลา 9 - 10 ปีที่ผ่านมา บริบริบทของโลกเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วยกันและในระดับเอเชีย รวมทั้งในระดับสังคมโลกที่เป็นภาพใหญ่ ๆ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทย ไม่ได้ปรับตัวตามบริบทของโลก ที่ถ้ามันเปลี่ยน และไม่ได้ตระหนักว่าเราจะต้องปรับตาม แม้จะรู้สึกว่า จะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ แต่ก็ทําไม่เป็น โดยเฉพาะในเชิงของการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีหรือไม่ และอย่ามาอ้างว่าได้ทำยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนแม่บทแห่งชาติ 20 ปี ไปแล้ว เพราะสิ่งที่นำมากล่าวอ้างนั้น ล้วนแต่ทําโดยข้าราชการแก่ ๆ ทั้งนั้น โดยมีนักธุรกิจระดับแถวด้านหน้าของประเทศที่เขาก็คล้อยตามอยู่แล้ว ไปร่วมเขียนแผนประเทศ 20 ปี แล้วจะได้อะไรขึ้นมา

'แพทองธาร' ลั่นเป็นผู้นำในแบบตนเองไม่ชอบชี้นิ้วสั่ง พร้อมฟาดฝ่ายค้าน ก่อนจะว่าใครต้องเป็นผู้นำให้ได้ก่อน

‘แพทองธาร’ ฟาดฝ่ายค้าน ก่อนจะว่าใครต้องเป็นผู้นำให้ได้ก่อน พร้อมขอให้คนเข้าใจ ‘นายกฯ Gen Y’ เพราะประเทศไทยไม่เคยมี ลั่นพร้อมปรับปรุงหลังโพลชี้ ไม่พอใจผลงาน ไม่เชื่อภาวะผู้นำ 

เมื่อวันที่ (3 มี.ค.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะการตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี ว่า  ยังไม่มีรายละเอียด แต่ทุกคนได้ให้ข้อมูลมามากพอสมควร ส่วนตัวไม่เคยถูกอภิปรายมาก่อน แต่จะเน้นชี้แจง ข้อเท็จจริง และ เรื่องของกฎหมายด้วย

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะไม่ใช้เวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการวัดผล KPI ของแต่ละกระทรวง เพราะค่า  KPI จะเห็นได้จากผลงานตามตามนโยบายแต่ละกระทรวง

เรื่องภาวะผู้นำเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่ยังไม่พอใจผลงาน และ ยังไม่เชื่อมั่นในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้แจงเรื่องนี้ ขณะที่ผลสำรวจความเห็นก็รับฟังทั้งหมด และ พร้อมปรับปรุง

“ไม่ได้อยากชี้นิ้วว่าใครเป็นผู้นำ หรือ เป็นผู้นำในแบบของเรา จะว่าใคร ก็ต้องเป็นผู้นำให้ได้ก่อน แล้วค่อยพูดถึงคนอื่นได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การอภิปรายไม่ใว้วางใจของสภาฯ เป็นเวทีที่ดี  ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจในข้อมูลที่แท้จริง และ เข้าใจความเป็นนายกรัฐมนตรี “Gen Y” ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เคยมีมาก่อน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top