Monday, 29 April 2024
สมรสเท่าเทียม

‘ก้าวไกล' ลั่น! ลุยต่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ ผิดหวังคำวินิจฉัย ‘ศาลรธน.’ ทำถึงทางตัน

ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.พรรคก้าวไกล ธัญวาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล 

ร่วมแถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส มาตรา 1448 ที่กำหนดว่าการสมรสนั้นต้องเกิดขึ้นระหว่างเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ว่าไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่การยื่น พวงเพชร เหงคำ และเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักเพศเดียวกัน ที่ถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสด้วยเหตุแห่งเพศ จากเจ้าหน้าที่ และได้รับแจ้งว่าไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายประมวลแพ่งพาณิชย์ 

ณัฐวุฒิ ระบุว่าผลการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ เป็นการตอกย้ำทางตันของประเทศอีกครั้ง และจากมติดังกล่าวมีนัย 3 ประการ 

1.) การอธิบายในมาตรา 4 และมาตรา 5 ที่พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างจำเพาะเจาะจง ถ้าเกิดว่าไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครอง

2.) การบอกว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 27 นั้นเขียนหลักการที่รองรับระหว่างเพศก็จริงอยู่ แต่มีอยู่วรรคหนึ่งที่บอกว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาลไม่เห็นว่าเพศไม่ได้ไปไกลกว่าคำว่าชายหรือหญิง จึงเป็นเหตุมาสู่การตีความว่าบทบัญญัตินั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

3.) ความตอนท้ายของคำวินิจฉัย กรณีของการจะคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ต้องไปตรากฎหมายออกบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อ 

ขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังปิดทางไม่ให้มีการแก้ไขเสนอกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส มาตรา 1448 หรือกำลังปิดทางไม่ให้ภาคประชาชนเสนอกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผมคงไม่อาจตอบแทนศาลได้ว่า เจตนาในการเขียนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเช่นไร แต่พรรคก้าวไกล ขอยืนยันเดินหน้าผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง 69 มาตราที่ยื่นไว้ก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าอำนาจในการออกกฎหมายเป็นของรัฐสภา อำนาจการออกกฎหมายที่คุ้มของสิทธิของพี่น้องประชาชน เป็นของประชาชน พวกเขามีสิทธิในการออกแบบครอบครัวของตนเอง 

‘ครูธัญ’ ยินดีหน่วยงานตระหนักรู้ความเท่าเทียม หลังเขตบางขุนเทียน จัดจดทะเบียนคู่รัก LGBTQ+

‘ปักธงสมรสเท่าเทียม’ โดยภาครัฐ ‘ครูธัญ’ ชม สำนักงานเขตบางขุนเทียน จัดจดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQ+ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ชี้ ยอมให้แสดงสัญลักษณ์ แม้ยังไม่มีผลทางกฎหมาย คือความก้าวหน้า

วันที่ 14 ก.พ. 65 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวชื่นชมสำนักงานเขตบางขุนเทียน ที่จัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ที่ศูนย์การค้า The Bright พระราม 2 โดยระบุว่า เป็นอีกกิจกรรมที่สามารถสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือการจดทะเบียนในวันนี้จะยังไม่มีผลทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตนรู้สึกมีความยินดีที่หน่วยงานราชการมีความตระหนักรู้และให้ความสำคัญต่อประเด็นความไม่เท่าเทียมที่ยังมีอยู่ในสังคม โดยเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตี มีส่วนในการร่วมเปลี่ยนแปลงผลักดัน แม้ในเชิงสัญลักษณ์ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ  

‘ธัญวัจน์ ก้าวไกล’ เดินหน้าหารือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ชี้ ไม่สามารถเอาประกบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เหตุคนละความหมาย

ธัญวัจน์ ก้าวไกล เดินหน้าหารือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกับภาครัฐ ย้ำชัดคาดตีกลับเข้าสภา เมษายนนี้ ชี้ชัด สมรสเท่าเทียม ไม่เท่ากับ คู่ชีวิต หลังครม.ถกกว่า 2 เดือนพร้อมเตรียมสอดไส้พรบ.คู่ชีวิต ประกบพิจารณาร่วม 

เมื่อ วันที่ 7 มีนาคม 2565 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ1448 ) #สมรสเท่าเทียม กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติภายหลังจากที่ส่งร่างดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งระยะเวลา 60 วัน ก่อนนำกลับมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ตนได้เข้าประชุมทางออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ พ.ศ. … หรือ #สมรสเท่าเทียม โดยมีกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรี และ สถาบันครอบครัว สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมสวัสดิการ งานเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ กฤษฎีกา ธัญได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมถึงสาระสำคัญ และตอบคำถาม ข้อสงสัยให้กับหน่วยงานต่างๆ 

ในการประชุมครั้งนี้จะมีการสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การที่คณะรัฐมนตรีจะมีร่างกฎหมายมาประกบเพื่อพิจารณาในกระบวนการรัฐสภา และในขณะประชุมกรมคุ้มครองสิทธิ์ที่ได้มีการร่างพระราชบัญญัติ #คู่ชีวิต ฉบับที่ พ.ศ. ….  ได้ชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่างแล้ว และอาจจะใช้ร่างดังกล่าวมาพิจารณาร่วม

'ธัญวัจน์' อ้าง!! ต่างชาติกังขา ครม.เตะถ่วงร่างกม.สมรสเท่าเทียม จี้!! กรมองค์กรระหว่างประเทศ เผยการแถลงที่เจนีวา

14 มี.ค. 65 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ( ปพพ.1448 ) หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสรายงานสถานการณ์ประเด็น #สมรสเท่าเทียม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand : FCCT) ซึ่งมีเครือข่ายภาคประชาชนความหลากหลายทางเพศ #YoungPrideClub #ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม #1448forAll ร่วมอภิปรายด้วย จึงขอขอบคุณภาคีเครือข่าย อาทิ  Phil Robertson และ FCCT ที่เปิดพื้นที่สื่อต่างประเทศประเด็นสมรสเท่าเทียม

"นี่เป็นประเด็นหนึ่งของความเสมอภาคที่ทั่วโลกเองก็จับตามอง น่าเสียดายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยได้เชิญกรมคุ้มครองสิทธิ์ให้มาเป็นผู้ร่วมอภิปรายในฐานะฝ่ายรัฐ แต่ทางกรมคุ้มครองสิทธิ์ไม่สามารถมาร่วมได้" 

ธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า นักข่าวและกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มาร่วมฟังการอภิปราย ต่างสะท้อนว่าไม่เข้าใจถึงขั้นตอนที่นำกฎหมายไปพิจารณา 60 วันก่อนรับหลักการวาระ 1 ว่าทำไมจึงต้องนำกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปพิจารณาอีก เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน 

"มีคำถามถึงประเด็นดังกล่าวว่าจะตีเป็นเรื่องของการเมืองได้หรือไม่ เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกเสนอโดยฝ่ายค้าน แต่ก็มีทางออก 2 ทางคือ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์เพื่อประกบกับพรรคก้าวไกล เพราะร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตไม่สามารถประกบกับสมรสเท่าเทียมได้ เพราะเป็นคนละเรื่อง และแยกพิจารณาสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตคนละวาระกันไป และอีกทางหนึ่งคือผลักคู่ชีวิตให้เป็นกฎหมายสำหรับทุกเพศเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะนิยามความสัมพันธ์แบบ "เพื่อน" หรือแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสมรส เพราะอย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นต้องผ่านกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเท่านั้น"

‘ณธีภัสร์’ ส.ส.ก้าวไกล รายงานตัว สน.ลุมพินี คดีฝ่า ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ร่วมม็อบ ‘สมรสเท่าเทียม’

ณธีภัสร์ ก้าวไกล จวก รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ริดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ยืนยัน ร่วมสู้ไปกับผู้ต้องหาอีก 19 คน เพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม 

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล เดินทางไปพบตำรวจ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียก จากข้อกล่าวหาฝ่าฝืน ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ กรณีการชุมนุมที่แยกราษฎรประสงค์ เพื่อเรียกร้องการสมรสเท่าเทียม หรือ #ม็อบ28พฤศจิกา โดยมี ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ใธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ, เบญจา แสงจันทร์, วรรณวิภา ไม้สน และกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไปร่วมให้กำลังใจ

ณธีภัสร์ กล่าวว่า รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการริดรอนสิทธิการแสดงออกหรือสิทธิการชุมนุมของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และปัจจุบันยังคงใช้อยู่ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ เป็นจำนวนมากทั้งที่ควรยกเลิกไปได้แล้ว 

“วันนี้มาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและแสดงเจตจำนงว่าไม่หลบหนี ยืนยันว่าจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมร่วมไปกับพี่น้องประชาชนอีก 19 คน ที่โดนคดีเดียวกันจากการไปร่วม ม็อบสมรสเท่าเทียม คดีนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเราไปเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิสร้างครอบครัวและได้สิทธิสมรสอย่างที่ควรได้ ซึ่งบางคนโดนหมายไปแล้วหลายคดี แต่พวกเขายังยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ลดละ” 

ณธีภัสร์ กล่าวต่อว่า เมื่อประชาชนต่อสู้และเพื่อให้การต่อสู้ของพวกเขาไม่สูญเปล่า จึงหวังว่า ในวันที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง ส.ส.ที่พี่น้องประชาชนไว้วางใจให้เป็นตัวแทนปากเสียงของพวกเขาและทุกท่านที่เคยอภิปรายสนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในครั้งก่อน จะไม่ผิดสัญญากับผู้มีความหลากหลายทางเพศ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะต้องไม่ถูกปัดตก กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะต้องไม่ถูกบิดเบือนให้เป็นกฎหมายฉบับอื่นที่ริดรอนสิทธิความเสมอภาคและความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

โซเชียลแชร์สนั่น #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต หนุนสมรสเท่าเทียมให้สิทธิ์ทุกรักเท่ากัน

กลายเป็นข้อพิพาทในโลกโซเชียลขึ้นมาทันที ภายหลังจาก แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ได้รับการพูดถึงอย่างมากในหมู่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ในไทยเมื่อวันอังคาร (7 มิ.ย.) ต่อเนื่องมาถึงวันพุธ (8 มิ.ย.) เพื่อแสดงการคัดค้านความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตเพื่อใช้กับคู่รักกลุ่มเพศหลากหลาย

การแสดงเสียงคัดค้านนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคาร (7 มิ.ย.) เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมนำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่พรรคก้าวไกลผลักดัน หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำลังกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันพุธ (8 มิ.ย.)

กระแสในโซเชียลมองว่า สำหรับคู่หลากหลายเพศที่ต้องการสร้างครอบครัว ไม่ได้หยุดที่สิทธิประโยชน์ของคนสองคนเท่านั้น แต่หมายถึงการมีบุตร มีคนที่เรารักเพิ่มเข้ามาในครอบครัวเล็กๆ นั้นด้วย 

แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ริดรอนสิทธิ์ในข้อนี้ ซึ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบัน พ.ร.บ.อุ้มบุญ ที่ควบคุมการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์อนุญาตให้เฉพาะคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และจะมีสิทธิ์มีบุตรได้ด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้น คู่ชีวิตไม่มีสิทธิ์ 

ฉะนั้นถ้ามีเพียง พ.ร.บ. คู่ชีวิต สิ่งที่พ่อแม่หลากหลายเพศมักจะถามไถ่เข้ามาเสมอและเป็นความต้องการเป็นสิทธิ์ในฐานะมนุษย์และพลเมืองคือการมีบุตร ก็จะไม่สามารถทำได้ และยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายยสำหรับพวกเขา จะทำได้เพียงการรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงเท่านั้น

‘วิษณุ’ แจงเหตุทำ กม.แยกจากสมรสชาย-หญิง ชี้ กฎหมายคู่ชีวิต ไม่จำเป็นต้องเหมือน ‘คู่สมรส’

‘วิษณุ’ เผยร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีรายละเอียดต่างกับการสมรสชาย-หญิง จำเป็นต้องทำกฎหมายแยก คาดเสร็จทันรัฐบาลนี้ รับเป็นเรื่องอ่อนไหว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งพรรคก้าวไกลมีความเห็นว่าทำไมไม่จัดทำให้เหมือนการสมรสของชาย-หญิงทั่วไป ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไปรับฟังความคิดเห็นกันมาว่าอย่างไรก็ไม่เหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือน ซึ่งบางประเทศใช้แบบนี้ เพราะเหตุนี้บางพรรคฝ่ายค้านเห็นว่าไม่ต้องทำพ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ให้แก้ประมวลกฏหมายแพ่ง เช่น จากเดิมที่เป็นชายกับหญิง ก็เปลี่ยนเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง แต่ตนคิดว่า เป็นคนละระบบและต้องคู่ขนานกัน

“เหมือนกับมีประมวลกฏหมายแพ่งว่าด้วยบริษัท แต่เมื่อวันหนึ่งมีบริษัทมหาชน จะเข้าไปแทนบริษัทในประมวลกฏหมายแพ่งเลยก็ไม่ได้ จึงต้องออกเป็นพ.ร.บ.มหาชนอีกฉบับหนึ่ง เพราะมีรายละเอียดแตกต่างกันเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตของคนเพศเดียว จะมีความแตกต่างที่ไม่เหมือนชายกับหญิง” นายวิษณุ กล่าว

'ก้าวไกล' แถลงขอบคุณมติประวัติศาสตร์ หลังสภารับหลักการ 'สมรสเท่าเทียม'

หลังสภาเสียงข้างมากมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ,ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมด้วย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ในฐานะผู้ร่วมร่างและผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมและอดีต ส.ส.ของพรรค รวมถึงเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันผ่านมติประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

พิธา กล่าวว่า การลงมติในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การตีความกฎหมายตามตัวอักษร แต่เป็นการส่งสัญญาณต่อประชาชนและโลกว่าประเทศไทยให้คุณค่ากับสิ่งใด ชัยชนะครั้งนี้ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เป็นชัยชนะของประชาชน

ด้าน ธัญวัจน์ กล่าวขอบคุณทุกเสียงที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร นึกย้อนกลับไปตั่งแต่วันแรกที่ยื่นกฎหมายเข้าสภา วันนั้น #สมรสเท่าเทียม ได้ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งทันที 

'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' จับมือจัด 'เสวนา-ปาร์ตี้' หลัง 'สมรสเท่าเทียม' ผ่านสภาวาระแรก

ปักธงความเท่าเทียม ก้าวไกลจัดเสวนาก้าวต่อไปหลังสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรก พร้อมปาร์ตี้สุดพิเศษ Progressive Pride Party โดยคณะก้าวหน้า เพื่อฉลองวาระแห่งความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางกฎหมายครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับซีรีส์วาย GMM และปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงและนางแบบ ร่วมเสวนาถึงก้าวต่อไปของร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม โดยมีพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ดำเนินรายการ ในหัวข้อ “อนาคตกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม สู่ความหวังสังคมที่คนเท่ากัน” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ภายในงาน ธัญวัจน์ได้เปิดเผยความรู้สึกวินาทีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกไว้ว่า  “จริงๆ วันนั้นตื่นขึ้นมารู้สึกมืดมิดแต่ในใจก็คือต้องทำให้ได้ ตอนประกาศปุ๊บมันเห็นเหมือนแสง เห้ย เราได้จริงๆ ด้วย เรารู้สึกมันเป็นมง(ลง)ประชาชน หลายคนยังมีความคิดและการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ แม้แต่ในรายงานรัฐสภา ที่บอกว่าพวกเราผิดธรรมชาติ จึงต้องใช้กฎหมายแยกออกไป ซึ่งธัญพยายามจะบอกว่า เราบินไปดาวอังคาร เรายอมรับธรรมชาตินั้น แต่เราไม่ยอมรับคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้ยังไง”

ธัญวัจน์กล่าวต่อไปว่า ตนเองเชื่อว่า ส.ส. ทุกคนทำงานตามหน้าที่ แต่ที่สุดแล้วทุกคนต้องมีหัวใจด้วย และการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมวาระแรกนี้มันทำให้เห็น ส.ส. ที่มีหัวใจ ธัญวัจน เผยต่อไปถึงอนาคตของสมรสเท่าเทียมในวาระ 2 ว่าไม่ง่าย แต่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ก็มีปัญหาในตัวเอง ยังไม่ให้สถานะคนหลากหลายทางเพศเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ ดังนั้นตนต้องทำงานต่ออย่างหนักเพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ผ่านให้ได้ โดยเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดคือประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นพื้นฐาน ทุกคนจดทะเบียนสมรสได้ แต่ก็มี พ.ร.บ. คู่ชีวิตด้วย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากจดทะเบียนคู่ชีวิต

ขณะที่นพณัช ในฐานะผู้กำกับซีรีส์วายชื่อดังหลายเรื่อง กล่าวว่าส่วนตัวเป็นคนที่อินกับประเด็นนี้ เคยมีโอกาสได้เดินพาเหรดไพรด์ที่ไต้หวัน และรู้สึกว่าหัวใจพองฟูหลังทราบว่าพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรก นพณัชยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้กำกับซีรีส์วาย และได้อธิบายความสัมพันธ์ของซีรีส์วายกับการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิว่า จุดเริ่มต้นของซีรีส์วายมาจากความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ได้มีหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลาย แต่ปัจจุบันในฐานะผู้ผลิต ก็ต้องพยายามบาลานซ์ทั้งความบันเทิงและเรียกร้องสิทธิไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้ซีรีส์วายรวมถึงซีรีส์ LGBT กำลังรวมทั้งความบันเทิงและการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเข้าด้วยกัน 

ผู้กำกับซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน” ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องที่สังคมสงสัย ว่านักแสดง ไอดอล สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อนได้หรือไม่ พร้อมยืนยันว่าบริษัทไม่มีนโยบายห้ามนักแสดงและไอดอลในการแสดงออก “คุณต้องรับรู้ว่าคุณคือไอดอล และมีอิทธิพลต่อความคิดของเยาวชน ไอดอลหนึ่งคนมีคนติดตามกว่าล้านคน การที่จะโพสต์อะไร ต้องคิดก่อนและรับผิดชอบต่อความเห็นที่คุณแชร์ ก็จะเห็นนักแสดง และน้องๆ ในซีรีส์วายหลายคนออกมาขับเคลื่อนประเด็นนี้” เขาสรุป

'ครูธัญ' มองความต่าง สมรสเท่าเทียม 'ไทย-ไต้หวัน' ชี้!! ไทยยัง 'อนุรักษ์นิยม-ไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ'

ธัญวัจน์ กมลวงวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา เสวนามองสมรสเท่าเทียมผ่านบทเรียนไต้หวัน โดยมี Joyce Teng – Deputy Executive Director of Taiwan Equality Campaign

ภายในงานพูดถึงการต่อสู้ของสมรสเท่าเทียมในไต้หวันและประเทศไทย และก้าวต่อไปของสมรสเท่าเทียมในอนาคต

ธัญวัจน์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า "การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มมีเสียงที่ดังขึ้นเพราะการเติบโตของสื่อโซเชียลมีเดียที่แพร่หลายและส่งผลต่อการรับรู้ในสังคมจึงทำให้การพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมกลับมาอีกครั้งในช่วงหลังการเลือกตั้ง 2562

"ความแตกต่างระหว่างประเทศไต้หวันและประเทศไทย คือ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทยสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์กับสังคมในวงกว้าง และสิ่งนี้ตนมีความเห็นว่าการศึกษาไทยยังเป็นความคิดอนุรักษ์นิยมและยังไม่มีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญก็แต่งตั้งจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top