'ธัญวัจน์' อ้าง!! ต่างชาติกังขา ครม.เตะถ่วงร่างกม.สมรสเท่าเทียม จี้!! กรมองค์กรระหว่างประเทศ เผยการแถลงที่เจนีวา

14 มี.ค. 65 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ( ปพพ.1448 ) หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสรายงานสถานการณ์ประเด็น #สมรสเท่าเทียม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand : FCCT) ซึ่งมีเครือข่ายภาคประชาชนความหลากหลายทางเพศ #YoungPrideClub #ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม #1448forAll ร่วมอภิปรายด้วย จึงขอขอบคุณภาคีเครือข่าย อาทิ  Phil Robertson และ FCCT ที่เปิดพื้นที่สื่อต่างประเทศประเด็นสมรสเท่าเทียม

"นี่เป็นประเด็นหนึ่งของความเสมอภาคที่ทั่วโลกเองก็จับตามอง น่าเสียดายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยได้เชิญกรมคุ้มครองสิทธิ์ให้มาเป็นผู้ร่วมอภิปรายในฐานะฝ่ายรัฐ แต่ทางกรมคุ้มครองสิทธิ์ไม่สามารถมาร่วมได้" 

ธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า นักข่าวและกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มาร่วมฟังการอภิปราย ต่างสะท้อนว่าไม่เข้าใจถึงขั้นตอนที่นำกฎหมายไปพิจารณา 60 วันก่อนรับหลักการวาระ 1 ว่าทำไมจึงต้องนำกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปพิจารณาอีก เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน 

"มีคำถามถึงประเด็นดังกล่าวว่าจะตีเป็นเรื่องของการเมืองได้หรือไม่ เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกเสนอโดยฝ่ายค้าน แต่ก็มีทางออก 2 ทางคือ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์เพื่อประกบกับพรรคก้าวไกล เพราะร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตไม่สามารถประกบกับสมรสเท่าเทียมได้ เพราะเป็นคนละเรื่อง และแยกพิจารณาสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตคนละวาระกันไป และอีกทางหนึ่งคือผลักคู่ชีวิตให้เป็นกฎหมายสำหรับทุกเพศเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะนิยามความสัมพันธ์แบบ "เพื่อน" หรือแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสมรส เพราะอย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นต้องผ่านกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเท่านั้น"

ธัญวัจน์ ระบุว่า ตนได้รายงานสถานการณ์การประชุมเกี่ยวกับประเด็นสมรสเท่าเทียมรวมกับกฤษฎีกา และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง แม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวกับเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ ก็ไม่มีข้อติดใจหรือท้วงติงใดใด เกี่ยวกับงบประมาณที่เคยกังวลจะบานปลายจากสิทธิประโยชน์ของคู่สมรสเพศเดียวกัน ซึ่งมาจากบทสัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม หรือแม้แต่ข้อโต้แย้งด้านความเชื่อและประเพณี ก็เป็นข้อโต้เถียงที่ทั่วโลกพูดคุยกันตกผลึกแล้ว เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร และในประเทศราชอาณาจักรนั้นก็มีชุมชนมุสลิม และก็มีทุกศาสนาเช่นเดียวกัน และสามารถอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย สิทธิในการสมรสคือสิทธิที่รัฐต้องให้ประชาชนทุกคน 

"ยังมีคำถามถึงกรณีที่กรมองค์กรระหว่างประเทศ เดินทางไปประชุมเพื่อหารือ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ช่วงกลางกุมภาพันธ์ ท่านแถลงจุดยืนเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมอย่างไรต่อเวทีโลก ก็ควรจะออกมาแถลงต่อประชาชนในประเทศด้วย

"ในฐานะผู้แทนราษฎรที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการที่เข้าประชุมในวันนั้น ขอให้เราทำงานเพื่อประชาชนเพราะนี่คือกฎหมายที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรอคอยมามากกว่า 10 ปี และเราทุกคนต่างรู้ว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว 60 วันในการที่ ครม. ขอนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ ขอให้เป็นการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่การเตะถ่วงหรือเล่นเกมการเมือง เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร นี่คือกลไกรัฐสภาหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ต้องทำเพื่อประชาชน" ธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย