‘ก้าวไกล' ลั่น! ลุยต่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ ผิดหวังคำวินิจฉัย ‘ศาลรธน.’ ทำถึงทางตัน

ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.พรรคก้าวไกล ธัญวาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล 

ร่วมแถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส มาตรา 1448 ที่กำหนดว่าการสมรสนั้นต้องเกิดขึ้นระหว่างเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ว่าไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่การยื่น พวงเพชร เหงคำ และเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักเพศเดียวกัน ที่ถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสด้วยเหตุแห่งเพศ จากเจ้าหน้าที่ และได้รับแจ้งว่าไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายประมวลแพ่งพาณิชย์ 

ณัฐวุฒิ ระบุว่าผลการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ เป็นการตอกย้ำทางตันของประเทศอีกครั้ง และจากมติดังกล่าวมีนัย 3 ประการ 

1.) การอธิบายในมาตรา 4 และมาตรา 5 ที่พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างจำเพาะเจาะจง ถ้าเกิดว่าไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครอง

2.) การบอกว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 27 นั้นเขียนหลักการที่รองรับระหว่างเพศก็จริงอยู่ แต่มีอยู่วรรคหนึ่งที่บอกว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาลไม่เห็นว่าเพศไม่ได้ไปไกลกว่าคำว่าชายหรือหญิง จึงเป็นเหตุมาสู่การตีความว่าบทบัญญัตินั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

3.) ความตอนท้ายของคำวินิจฉัย กรณีของการจะคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ต้องไปตรากฎหมายออกบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อ 

ขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังปิดทางไม่ให้มีการแก้ไขเสนอกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส มาตรา 1448 หรือกำลังปิดทางไม่ให้ภาคประชาชนเสนอกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผมคงไม่อาจตอบแทนศาลได้ว่า เจตนาในการเขียนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเช่นไร แต่พรรคก้าวไกล ขอยืนยันเดินหน้าผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง 69 มาตราที่ยื่นไว้ก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าอำนาจในการออกกฎหมายเป็นของรัฐสภา อำนาจการออกกฎหมายที่คุ้มของสิทธิของพี่น้องประชาชน เป็นของประชาชน พวกเขามีสิทธิในการออกแบบครอบครัวของตนเอง 

ด้าน ธัญวัจน์ ระบุเพิ่มเติมในฐานะผู้ที่ร่างกฎหมายฉบับบนี้ ว่า พรรคก้าวไกลคือพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และ สิ่งนี้จะมีใครพรากไปไม่ได้ และสิทธิการก่อตั้งครอบครัวนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกฎหมายมีขึ้นเพื่อเพียงแค่รับรองสถานะเท่านั้น และการที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญยืนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการสมรสนั้น เพราะเราเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและจำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

กล่าวง่าย ๆ คือ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตกับคนที่ตนเองรักแต่ทะเบียนสมรสเป็นเพียงแค่การรับรอง และการคุ้มครองเพื่อความเป็นธรรมทั้งฝ่ายใน บทบาท หน้าที่ สิทธิ และ สวัสดิการ 

ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมี 30 ประเทศมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว และสำหรับเอเชียมีไต้หวันที่มีกฎหมายดังกล่าว ที่เกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไต้หวันยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญในไต้หวันก็มีคำวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จนนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรส หรือแม้แต่ต้นปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็มีการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าการสมรสที่ระบุเพียงแค่ชายหญิงนั้นขัดต่อสิทธิเสรีภาพ 

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยนั้นผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด จึงขอเชิญชวนพรรคการเมืองทุกท่านทุกคน ที่เชื่อในเรื่องความเสมอภาคเชื่อว่าคนเท่ากันให้ช่วยร่วมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลเพื่อให้กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิการก่อตั้งครอบครัว 

ด้าน ธัญวาริน ในฐานะผู้ร่วมผลักดันกฎหมายดังกล่าว กล่าวว่าวันนี้แม้ตนจะไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว แต่ยังติดตามกฎหมายดังกล่าว จึงอยากฝากความหวังกับ สส. พรรคก้าวไกล เดินหน้าทำงานเพื่อสิทธิความเสมอภาคของพี่น้องประชาชนต่อไป