Thursday, 16 May 2024
สมรสเท่าเทียม

'ก้าวไกล' ปลื้ม!! สหรัฐฯ ผ่าน กม.รับรองสมรสคู่รักทุกเพศ ลุ้น!! สภาไทยใกล้โหวต วอน ปชช.ส่งเสียงให้รับร่าง

‘พิธา’ ยินดี สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักทุกเพศ เผยสภาไทยใกล้โหวต ‘สมรสเท่าเทียม’ ด้าน ‘ธัญวัจน์’ ขอประชาชนติดตามใกล้ชิด ส่งเสียงบอกผู้แทนให้รับร่าง

(20 ธ.ค. 65) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการผลักดันร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลในช่วงปลายของสภาชุดปัจจุบันว่า ตอนนี้ร่างกฎหมายสำคัญของพรรคก้าวไกลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะทำให้คู่รักทุกคู่ได้รับสิทธิของการเป็นคู่สมรส อย่างเท่าเทียมกัน สามารถสร้างครอบครัวร่วมกันโดยไม่มีอุปสรรคหรือข้อจำกัดเรื่องเพศเช่นในอดีต เช่น สิทธิรับมรดก สิทธิรักษาพยาบาล หรือการทำธุรกิจร่วมกัน

'ครูธัญ' นำทีมก้าวไกล ร่วมงานจดแจ้งสมรสเพศหลากหลาย ชี้ สังคมไทยพร้อมเปิดรับสมรสเท่าเทียม ลุ้น รบ.ใหม่ สานต่อ

(14 ก.พ. 66) ที่ห้อง Sunset Terrace ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล และนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรม “รักแท้…ไม่แพ้พ่าย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พร้อมกันกับหลายสำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอหลายแห่งในประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดแจ้งการสมรสได้

นายธัญวัจน์ ระบุว่า แม้การจัดงานในวันนี้อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันไป บางส่วนเห็นว่าเป็นการจดแจ้งที่ไม่มีผลตามกฎหมายและไม่ทำให้ได้อะไรขึ้นมา แต่ตนคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีฉันทมติระดับหนึ่งแล้ว ว่าการสมรสเท่าเทียมควรต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเสียที

โดยเฉพาะจากการตอบรับโดยหน่วยงานราชการ ที่มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และเปิดพื้นที่ให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงตัวตน ก็ถือว่าเป็นพลวัตในการเปลี่ยนแปลงและเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่เป็นด้านบวก

‘ครม.’ ไฟเขียว ‘สมรสเท่าเทียม’ เตรียมส่งสภาฯ พิจารณา 12 ธ.ค.นี้ ยกระดับความเท่าเทียมทางเพศแก่คู่รักเพศเดียวกัน ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

(21 พ.ย. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้มีกฎหมายรับรองสิทธิการก่อสร้างครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน

โดยมีหลักการสำคัญคือ “แก้ไขคำว่า ‘ชาย-หญิง-สามี-ภรรยา’ เป็น ‘บุคคล-คู่หมั้น-คู่รับหมั้น และคู่สมรส’ เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมว่า การสมรสต่อไป ‘ชายหญิง’, ‘ชายชาย’ หรือ ‘หญิงหญิง’ สามารถสมรสกันได้ โดยไม่ตัดสิทธิการสมรสเหมือนชายหญิง”

นายคารม ยังชี้แจงขั้นตอนระหว่างนี้ว่า จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน อาทิ เรื่องบำเหน็จ บำนาญ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา จะไปแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งดังกล่าว ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว โดยหลังการตรวจสอบของกฤษฎีแล้ว ก็สามารถเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

‘เศรษฐา’ เล็งหนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมเต็มที่

(19 ธ.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) ว่า…

“ผมเชื่อว่าความรักไม่มีนิยามตายตัว เราทุกคนมีสิทธิรักใครสักคนหนึ่งในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่งรักมนุษย์อีกคน’ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องใดทั้งสิ้น กฎหมายนี้จะทำให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้น และสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

เรื่องสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่การทำให้ความรักของคนสองคนถูกกฎหมาย แต่เราให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิ และเสรีภาพในการแต่งงานของคนรักกันที่ควรได้รับเหมือนกันทุกคน

วันนี้เรามีความก้าวหน้าไปอีกขั้น ในการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งจะบรรจุเข้าพิจารณาวาระที่ 1 วันที่ 21 ธ.ค.นี้แล้ว” 

‘รัดเกล้า’ เผย ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ พิจารณาครบถ้วนแล้ว พร้อมเตรียมดันเข้าระเบียบวาระสภาฯ 20 มีนาคมนี้

(29 ก.พ.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี โฆษกประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เปิดเผยว่า วานนี้ (28 ก.พ.67) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ครบถ้วนทุกมาตราทั้ง 68 มาตราแล้ว และได้มีการทบทวนการพิจารณาแก้ไขรายมาตราทุกมาตราเรียบร้อยแล้ว พร้อมมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำมติที่ประชุมไปจัดทำร่างรายงานนำเสนอคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2567

ซึ่งภายหลังจากคณะกรรมาธิการมีมติเห็นชอบแล้ว จะนำเสนอบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 3 โดยตั้งเป้าหมายให้ทันวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะสามารถเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

“คณะกรรมาธิการทุกท่านให้ความสำคัญและทุ่มเทให้กับการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกันเป็นอย่างมาก การพิจารณากฎหมายได้ดำเนินการไปด้วยความเข้มข้น ละเอียด และถี่ถ้วน เพราะเนื้อหาในร่างกฎหมายนี้เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนสูงในหลากหลายมิติ

นอกเหนือจากความปิติยินดีในภารกิจพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกันที่ได้เสร็จสิ้นไปแล้วนั้น สมาชิกหลายคนในคณะกรรมาธิการเดินหน้าจัดงานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม ‘บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 (Bangkok Pride Festival 2024)’ ที่จะจัดขึ้นภายใต้ธีม ‘Celebration of Love’ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการนับถอยหลังสู่การฉลองสมรสเท่าเทียมกันในประเทศไทย โดยงานแถลงข่าวดังกล่าวจะมีขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 29 ก.พ. 2567) เวลา 13:00 - 15:00 น.” นางรัดเกล้า กล่าว

'รัดเกล้า' แจง!! พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นัดประชุมพิเศษอีกครั้งบ่ายนี้ เผย!! เพื่อรับรองร่างส่ง พ.ร.บ. เข้าสภาฯ ให้ทัน 27 มี.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี โฆษกประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ใช้เวลาในการประชุมนานกว่าที่คาดไว้จริง เพราะในโค้งสุดท้ายของการกลั่นกรอง ได้มีการนำเนื้อหาทั้งหมดที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำงานร่วมกันมากว่า 3 เดือนมาย้อนพิจารณา มีการทบทวนในหลายจุดยืนและหลายรายละเอียดของการตัดสินใจเลือกใช้ภาษา เพื่อให้มั่นใจว่าครบถ้วน สมบูรณ์ รอบคอบ และถูกต้องที่สุด  

ขั้นตอนสุดท้ายคือ การมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำข้อคิดเห็นที่มีเพิ่มเติมเพียงบางส่วนในวันนี้ ไปปรับแก้ฉบับร่างฯ ที่ได้เตรียมไว้เกือบสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นทันการประชุมครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นการประชุมรอบพิเศษเพื่อรับรองฉบับร่างฯ โดยเฉพาะ โดยการประชุมจะจัดขึ้นในบ่ายวันนี้ (14 มี.ค.67) เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 303 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

“ภายหลังจากคณะกรรมาธิการมีมติเห็นชอบและรับรองฉบับร่างฯ แล้ว จะนำเสนอ พรบฯ บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 โดยเป้าหมายของเราคือ ให้ทันในวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ก่อนสภาปิดวาระการประชุมครั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ฉบับร่างฯ ก็จะสามารถเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป” นางรัดเกล้า กล่าว

สภาฯ ฉลุย 400 เสียงผ่านร่าง ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ฟากโซเชียลเฮ ติด #สมรสเท่าเทียม ลุ้นต่อในชั้น สว. 

(27 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายหลังใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ได้มีมติโหวตเห็นชอบ 400 ไม่เห็นด้วย 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3

ทั้งนี้ในการพิจารณากฎหมาย มีกรรมาธิการอภิปรายสงวนความเห็น โดยเฉพาะเสียงข้างน้อย จากพรรคก้าวไกล และภาคประชาชนที่มีความเห็นเพิ่มมาตราเกี่ยวกับกรณีบุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดามารดา หรือบุพการีลำดับแรก รวมถึงการอุปการะเลี้ยงดูให้เติบโต อำนาจปกครองบุตร

นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และเรื่องบุพการีลำดับแรก ยังไม่มีผลศึกษาผลกระทบอย่างเป็นทางการมารองรับ จึงกังวลว่ายังไม่ได้รับฟังความคิด เห็นจากทุกภาคส่วนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และกระทบต่อกระบวนการตรากฎหมายฉบับนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญทำให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ

อีกทั้ง ‘บุพการีลำดับแรก’ เป็นคำใหม่ยังไม่มีในระบบกฎหมายไทย ยังไม่มีนิยามถ้อยคำในกฎหมายไทย อาจเกิดปัญหาในการตีความว่าเป็นใคร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายทั้งประเทศ ที่เกี่ยวกับบิดามารดาหากเพิ่มเติมถ้อยคำลงไปก็จะต้องกระทบกับกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะมีอยู่มากกว่าหลาย 100 ฉบับ ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงพอสมควร

พร้อมแนะแนวทางออกว่าสามารถแก้ไขได้ โดยไปติดตามแก้ไขในกฎหมายที่จำเป็นแก้ไขเพื่อรองรับสิทธิ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายการรับบุตรบุญธรรม กฎหมายการแก้ไขกฎหมายการคุ้มครองเด็ก ที่อาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

สำหรับสาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมี 68 มาตรา เช่น กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดหมั้นหรือสมรสกันได้ ให้การหมั้นจะทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว, เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมเมื่อฝ่ายหนึ่งไปมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้เมื่อมีผลบังคับใช้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 47 ฉบับ

ขณะที่โซเชียลเคลื่อนไหวพากันติด #สมรสเท่าเทียม จนติดอันดับ 1 ในแอปพลิเคชัน X โดยพรรคก้าวไกล โพสต์ภาพคะแนนโหวตในสภา #สมรสเท่าเทียม ผ่านแล้ว!! ที่ประชุมสภาฯ โหวตผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนนท่วมท้น เห็นด้วย 399 (+1) ไม่เห็นด้วย 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3

นายซูการ์โน มะทา เลขาธิการพรรคประชาชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุส่วนหนึ่งว่า ขอยืนหยัดจุดยืนทางการเมืองของผมและพรรคประชาชาติ ผมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ขอชี้แจงให้ผู้ที่ให้การสนับสนุนพวกเรา และพรรคประชาชาติว่า ‘จุดยืนทางเมือง’ ของพวกเราคือ ไม่เห็นด้วย ตั้งแต่วาระที่ 1 คือ ไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…

เพราะเราเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ กระทบกับวิถีชีวิตของคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะกฎหมายฉบับนี้ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม และขัดแย้งกับคำสอนของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นธรรมนูญชีวิตของพวกเรา

ดังนั้นวันนี้ผม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ก็ยังคงนั่งอยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่พวกเรามีมติของพวกเราว่า “พวกเราจะไม่ขอเป็นองค์ประชุมของกฎหมายฉบับนี้ทุกมาตรา และจะไม่ลงมติในวาระที่ 2 ทุกมาตรา แต่พวกเราจะลงมติในวาระที่ 3 คือ ไม่เห็นด้วย”

1ในผลงานของ“พรรคประชาธิปัตย์“

”เฉลิมชัย ศรีอ่อน“หัวหน้าพรรคปชป.หวัง สว.รับไม้ต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมหลังสภาผู้แทนฯผ่านวาระ3

ทันทีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 วันนี้ ( 27 มีนาคม 2567 ) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ควันนี้ว่า "ความรัก" ไม่เลือก "เพศสภาพ" ยินดีผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดินแดนที่3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายเฉพาะนี้ ต่อจากนี้...ขอส่งไม้ต่อให้ สว.

"เพศ" ไม่ใช่ตัวกำหนด "ความเท่าเทียม" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของเราทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะชาย-หญิง หรือ LGBTQ+ ทุกเพศสมควรที่จะได้มีความรัก และมีโอกาสแสดงความรัก บนพื้นฐานสิทธิของกฎหมายสมรสได้ การหมั้น การแต่งงาน การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สิน การเซ็นต์อนุญาตเข้ารับการรักษา การเป็นผู้แทนทางอาญา การจัดการมรดก และการรับรองบุตรบุญธรรม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ
ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่คู่สมรสทุกคู่ ควรได้รับสิทธิเหล่านี้เท่ากัน ไม่เฉพาะเจาะจง แค่ชาย-หญิงเท่านั้น รวมถึง "บุพการีลำดับแรก" ในกฎหมาย จะมีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา หลังจากนี้ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ปีนี้เราคงได้ใช้กฎหมายฉบับนี้กัน“ สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเสียงข้างมาก 369 : 10 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระแรก จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 10,000 คน

โดยมีเหตุผลว่าจากบรรทัดฐานของสังคมไทยในอดีต ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน เช่น สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาล สิทธิมรดก และสิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น จึงเชื่อว่า การสมรสเท่าเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่จะยอมรับความแตกต่าง ใช้สิทธิทางเพศของตนเองได้อย่างเต็มที่ และเสริมสร้างโอกาส และความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และในเชิงเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ได้ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รายได้จากนักท่องเที่ยวกล่ม LGBTQ+ ในภูมิภาคเอเชียกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘วราวุธ’ เผยในเวทีอภิปรายระดับโลก รมต.ลาตินอเมริกา ชื่นชม ประเทศไทย ที่กล้าออกกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นประเทศแรก ในกลุ่มประเทศอาเซียน

(1 พ.ค. 67) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้แทนไทย  ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 โดยในช่วงเช้าได้ร่วมการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับผลการประชุม ข้อค้นพบสำคัญ และข้อเสนอแนะจากการประชุมว่าด้วยประชากรและการพัฒนาระดับภูมิภาค โดยร่วมอภิปรายกับรัฐมนตรีจากประเทศคองโก มอลโดวา โบลิเวีย และซีเรีย

นายวราวุธ กล่าวว่า ในเวทีการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคต่างๆ ตนเองจะขึ้นเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไม่เฉพาะเป็นตัวแทนของประเทศไทย แต่ยังเป็นตัวแทนของกว่า 70 ประเทศที่มีประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก โดยตนเองได้พูดถึงปัญหาว่ามีอัตราการเกิดของเด็กใหม่น้อย มีการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น ในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรามีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร แต่ละประเทศมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กแรกเกิด  การดูแลสุภาพสตรีช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งแต่ละประเทศมีการนำเสนอแนวคิดต่างๆ มากมาย และที่สำคัญได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ 

ซึ่งมีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาคนหนึ่งถามว่าจริงหรือไม่ที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ตนเองได้บอกว่าปลายปีนี้ เราได้จะเห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีดังกล่าวแสดงความชื่นชมและทึ่งในความสามารถและความกล้าหาญของประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

‘วราวุธ’ เผย ต่างชาติชื่นชม ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ ยกย่องเป็นประเทศตัวอย่างที่ ‘ทันสมัย-ก้าวหน้า’

(7 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ตนและคณะผู้แทนไทยเพิ่งกลับจากการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ที่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการเดินทางไปครั้งนี้ ได้มีการเสนอนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ในนามของประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนานาอารยประเทศ 

การที่เราได้มีโอกาสนำเสนอต่อห้องประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยของเราได้ดำเนินการด้านใดไปแล้วบ้าง และมีแผนจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของห้องประชุมใหญ่และการประชุมย่อยนั้น ได้รับการตอบรับและทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติประชากรนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่การเพิ่มประชากร แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ภาพใหญ่ และการแก้ปัญหาสังคม และหลาย ๆ เรื่องรวมกันนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน เป็นภารกิจของทุกกระทรวงจะต้องดำเนินการ

นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาได้สอบถามถึงประเทศไทยของเรานั้นจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งตนได้ยืนยันกับรัฐมนตรีคนดังกล่าวไปว่า ภายในไม่เกินปลายปีนี้ ประเทศไทยของเราจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีคนดังกล่าวถึงกับทึ่งและแสดงความชื่นชมว่าเป็นความก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีกหลายประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าในมิติสังคมของประเทศไทย เราทำงานและได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดเลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top