'ครูธัญ' นำทีมก้าวไกล ร่วมงานจดแจ้งสมรสเพศหลากหลาย ชี้ สังคมไทยพร้อมเปิดรับสมรสเท่าเทียม ลุ้น รบ.ใหม่ สานต่อ

(14 ก.พ. 66) ที่ห้อง Sunset Terrace ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล และนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรม “รักแท้…ไม่แพ้พ่าย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พร้อมกันกับหลายสำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอหลายแห่งในประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดแจ้งการสมรสได้

นายธัญวัจน์ ระบุว่า แม้การจัดงานในวันนี้อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันไป บางส่วนเห็นว่าเป็นการจดแจ้งที่ไม่มีผลตามกฎหมายและไม่ทำให้ได้อะไรขึ้นมา แต่ตนคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีฉันทมติระดับหนึ่งแล้ว ว่าการสมรสเท่าเทียมควรต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเสียที

โดยเฉพาะจากการตอบรับโดยหน่วยงานราชการ ที่มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และเปิดพื้นที่ให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงตัวตน ก็ถือว่าเป็นพลวัตในการเปลี่ยนแปลงและเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่เป็นด้านบวก

นายธัญวัจน์ ยังกล่าวต่อไปว่า แม้วันนี้จะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าร่างกฎหมายนี้ไม่อาจได้รับการพิจารณาให้ทันในวาระของสภาชุดปัจจุบัน และร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องตกไปแน่ ๆ แต่ตนก็อยากให้ประชาชนทุกคนยังคงมีความหวังในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

ที่ผ่านมากฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการเดินทางมาเป็นเวลาถึง 972 วัน ผ่านทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ และแม้จะถูกสกัดกั้นโดยคณะรัฐมนตรีที่ขอนำไปศึกษาเป็นเวลาถึง 60 วันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่ก็ผ่านวาระหนึ่งมาได้ ทำให้เห็นว่าสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเราก็กำลังเข้าใกล้ความจริงขึ้นทุกขณะ จากทั้งการขับเคลื่อนของประชาชนและพรรคการเมืองในสภาฯ เอง

นายธัญวัจน์ ยังกล่าวด้วยว่า การตกไปของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาฯ ชุดนี้ ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปิดช่องไว้ ตามมาตรา 147 ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป สามารถร้องขอให้นำกฎหมายที่ค้างอยู่กลับมาพิจารณาได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ดังนั้น ถ้ารัฐสภาหลังการเลือกตั้งเห็นชอบ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาต่อได้ทันที

“ไม่อยากให้ประชาชนสิ้นหวัง เพราะความหวังเท่านั้นที่จะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่เราทุกคนได้ สมรสเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ เราสามารถก้าวต่อไปได้เลย และการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญมาก ที่จะตัดสินว่าความเท่าเทียมทางเพศจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้หรือไม่” นายธัญวัจน์กล่าว