Saturday, 18 May 2024
LGBTQIA

เพศไหนก็คน!! เข้าใจ 'LGBTQIA' ให้มากขึ้น ผ่านมุมมองของ 'บุ๊ค-ธีรชยา'

สัมภาษณ์พิเศษ : “บุ๊ค-ธีรชยา พิมพ์กิติเดช” อดีตรองอันดับ 1 Miss Tiffany's Universe 2018

พอได้หรือยัง กับความ (ไม่) เท่าเทียม
เพศไหน “ก็คนเหมือนกัน” 

สวัสดีค่ะ บุ๊คนะคะ ธีรชยา พิมพ์กิติเดช ตอนนี้เป็น Senior Writer อยู่ที่ นิตยสาร Vogue Beauty Thailand 

1.) Love is Love คิดอย่างไรกับคำนี้? 
บุ๊ค : สำหรับตัวบุ๊คแล้วจริง ๆ วลีนี้ หรือประโยคนี้มันเกิดขึ้นช่วง Movement ของกลุ่ม LGBTQIA แต่จริง ๆ มันก็คือนิยายความรักของทุกคนเลยนะ ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเท่านั้น รักมันก็คือรักนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องจำกัดหรือไปนิยายแบบเจาะจงว่าคนนี้จะต้องคู่กับคนนี้ ก.ไก่ ต้องคู่กับ ข.ไข่ หรือเพศชายจะต้องคู่กับเพศหญิง แค่เรารู้สึกดีกับใคร เราก็สามารถอยู่กับเขาอย่างมีความสุขได้ ทำอะไรได้ แค่ต้องอยู่ในความถูกต้องของกฎหมาย เพราะคำว่า Love is Love มันก็แค่นี้จริง ๆ 
 
2.) เรื่องที่สังคมมักจะเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ “LGBTQIA+” คืออะไร? 
บุ๊ค : จริง ๆ แล้ว บุ๊คคิดว่าสังคมชอบคิดว่า กลุ่ม LGBTQIA เนี่ย ชอบเรียกร้องเป็นแบบ Sensitive ต้องการสิทธิพิเศษแต่จริง ๆ แล้วเปล่าเลย เราแค่เรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้รับ โดยที่แทบไม่ต้องออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานเลย และส่วนเรื่องของคาแรคเตอร์ บุคลิกลักษณะนิสัย ที่มันอาจจะมีภาพจำจากสังคมว่า “เหมารวม” อะไรแบบเนี่ยว่าเราจะต้องเป็นแบบวี้ดว้ายเสียงดังอะไรแบบนี้ คนก็อาจจะเข้าใจผิดอยู่ในกลุ่มบางกลุ่มเนอะ จริง ๆ บุ๊คคิดว่าไม่ว่าเป็นใคร ก็สามารถมีทั้ง Extrovert หรือ Introvert อยู่เหมือนกัน 

3.) จากการที่ ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็มีกระแส พ.ร.บ.ชีวิตคู่ ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มีความเห็นอย่างไรบ้าง? 
บุ๊ค : จริง ๆ ตอนนี้มันก็ไม่เท่ากันจริง ๆ เราเองก็เห็นหลายสื่อหลายสำนักเลยเนี่ย ที่เขาตีแผ่ออกมาให้ได้ดูเลยว่า อะไรที่เราได้ อะไรที่เราไม่ได้จริง ๆ ตรงนี้เนี่ย บุ๊คมองว่ามันเป็นก้าวแรกมากกว่า หลังจากที่เรามีการเรียกร้องกันมาเนิ่นนานมาก เลยอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือ แก้ไข อย่างน้อย ๆ ตรงนี้มันก็คือก้าวแรกที่เราได้รับชัยชนะ ถึงแม้อาจจะไม่ได้ชัยชนะแบบ 100% ถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะมีการก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จะไม่ใช่ก้าวแรกและก้าวสุดท้ายอย่างแน่นอน เราเองก็ยังต้องช่วยกันเรียกร้อง ช่วยกันอธิบายให้อีกหลากกลุ่มคนหรือคนที่มีอำนาจได้เข้าใจ ว่าอะไรที่เรายังขาดอยู่ 

‘รัดเกล้า’ เผย ‘รทสช.’ ยินดี ร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ฉลุย!! ดีใจที่ได้เป็นส่วนผลักดัน ความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

(27 มี.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (27 มี.ค.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 2 และ 3 ด้วย 400 เสียงต่อ 10 เสียง หลังจากนี้คือการนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญในการให้สิทธิแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถสมรสกันได้ การเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส การให้สิทธิคู่สมรสตามกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิหมั้นหรือสมรสต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ที่ 17 ปี 

พรรครวมไทยสร้างชาติมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มในการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง สร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและศักดิ์ศรี และยังเป็นการปกป้องค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา และวัฒนธรรมของไทย และยังเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยและผลักดันมาโดยตลอด

“จากที่ได้เจอตัวแทนทูตหลาย ๆ ประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย จะเห็นได้เลยว่าทั่วโลกจับตาดูประเทศไทยอยู่ การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีภาคประชาชนและภาคการเมืองเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ

ขอแสดงความยินดีกับ LGBTQIA+ ในประเทศไทยทุกคน ที่ใกล้ที่จะสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียมแล้ว การผ่านกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การผ่านกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยพร้อมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นเสน่ห์ของค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมของคนไทย นอกเหนือจากเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและสังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยนำไปสู่ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ในอนาคต” นางรัดเกล้ากล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top