Sunday, 28 April 2024
สุริยะ_จึงรุ่งเรืองกิจ

'สุริยะ' จี้!! ทุกหน่วยเกี่ยวข้อง ปราบ 'รถบรรทุกน้ำหนักเกิน-ส่วยสติกเกอร์'  สั่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 'ติดตาม-ตรวจสอบ' ปิดช่องโหว่ทุจริตคอร์รัปชัน

(13 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบาย “คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ทางหลวงของกรมทางหลวง (ทล.) ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ได้เน้นย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้ติดตามเรื่องส่วยสติกเกอร์มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ ทล. รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำงานเชิงรุก หมั่นตรวจตรากวดขัน และบังคับใช้กฎหมายในเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างจริงจังต่อเนื่องเพื่อป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการทุจริต อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดิน หรือมีสภาพทรุดโทรมก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งทำให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มาดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนด้วย

นอกจากนี้ได้สั่งให้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในการตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่แอบหลีกเลี่ยงเข้าไปใช้เส้นทางในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นผิวจราจร หรือโครงสร้างของทางพิเศษ นอกจากนี้ ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งจะมีความแม่นยำและช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวถึงสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า จากการรายงานของ ทล. ในการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของสถานีตรวจสอบน้ำหนักและการจัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จากทุกสถานีฯ และหน่วยเฉพาะกิจส่วนกลาง ทำการออกสุ่มตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) สามารถจับกุมได้ 3,416 คัน และในปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 2566) จับกุมได้ 394 คัน ขณะที่ ทช. ได้ดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สถานีฯ และจัดหน่วย Spot Check ตามสายทาง พบว่า ในปีงบประมาณ2566 รวม 8 คัน

ทั้งนี้ในส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รวบรวมข้อมูลผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจาก ทล. และ ทช. ในกรณีที่ได้รับแจ้งว่ามีการดัดแปลง/ต่อเติมตัวรถ โดยได้นำข้อมูลรถบรรทุกดังกล่าว แจ้งต่อ นายทะเบียนตามเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อแจ้งผู้ประกอบการขนส่งให้นำรถเข้าตรวจสภาพ โดยจะตรวจสอบว่า มีการดัดแปลง/ต่อเติมแก้ไขตัวรถ หรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ หรือผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืนนั้น ทล. ได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์ควบคุมเครือข่ายส่วนกลาง สามารถส่งข้อมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ และมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับ ขบ. ในเรื่องของระบบ GPS เพื่อติดตามรถบรรทุกที่คาดว่าจะมีน้ำหนักเกิน จากนั้นส่งข้อมูลการต่อเติมรถบรรทุกให้ ขบ. ดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ทล. ยังขอความร่วมมือภาคเอกชนและผู้ประกอบการรถบรรทุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อป้องกันโอกาสการทุจริต อีกทั้งนำเทคโนโลยีระบบชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (WIM) มาใช้ให้เพียงพอกับการปฏิบัติงาน และการนำกล้องตรวจการณ์มาใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะแก่เจ้าหน้าที่ อาทิ เบี้ยเลี้ยง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและลดปัญหาการทุจริต

ขณะที่ ทช. ได้จัดทำหลักสูตรอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับน้ำหนักบรรทุกตาม พ.ร.บ. ทางหลวงพ.ศ. 2535 ให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่รถบรรทุกกับเจ้าหน้าที่และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น ระบบ WIM ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

ส่วน ขบ. โดยกองตรวจการขนส่งทางบกได้ออกตรวจสอบรถที่ผิดกฎหมาย โดยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะออกตรวจสอบทุกวัน สำหรับสำนักงานขนส่งจังหวัดจะออกตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้งต่อเดือน รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องชั่งแบบ WIM และเครื่องชั่ง Static สำหรับให้รถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักและบันทึกข้อมูลน้ำหนักรถเข้าสู่ระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ (GCS) ขาออก ก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า เพื่อให้พนักงานขับรถทราบถึงน้ำหนักสินค้าที่บรรทุกก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัดด้วย

‘สุริยะ’ เตรียมชง ครม. สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงิน 8.7 หมื่นลบ. ช่วงรังสิต-บางปะอิน และบางขุนเทียน-บางบัวทอง คาด!! เปิดใช้ปี 71

(27 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เสนอโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ ที่มีความพร้อม ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คือโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5)  ระยะทาง 22 กม. และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม.

โดยจะมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าจะนำเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเดือนม.ค. 2567 

สำหรับ โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

ปัจจุบันเส้นทาง ‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ ที่เปิดให้บริการจากดินแดง-อนุสรณ์สถาน-รังสิต ระยะทาง 25 กม. ซึ่งถนนพหลโยธินยังมีปัญหารถติด การต่อขยายเส้นทางออกไป เชื่อมไปถึง Junction บางปะอินซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์มอเตอร์เวย์ 3 สาย จะช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนพหลโยธิน

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท จะเป็นการก่อสร้างปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกเต็มรูปแบบ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นที่ กม.0 ที่ต่างระดับบางขุนเทียนและสิ้นสุดที่ กม.36 ต่างระดับบางบัวทอง มีทางขึ้น 8 จุด ทางลง 6 จุดและมีทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง (บางขุนเทียน บรมราชชนนี ศรีรัชบางใหญ่ และบางบัวทอง) มีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คิดตามระยะทาง ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

‘สุริยะ’ ไฟเขียว ‘ทางด่วน-มอเตอร์เวย์’ วิ่งฟรี 7 วัน อำนวยความสะดวก ปชช. ตั้งแต่ 28 ธ.ค. - 3 ม.ค.67

(28 พ.ย. 66) ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่องแนวทางการเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามแผนอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วม ว่า ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเตรียมลงพื้นที่โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 เส้นทางปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ ตรวจสอบความเรียบร้อยเรื่องความปลอดภัย และเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ก่อนเปิดให้บริการในช่วงปีใหม่ 2567 รวมถึงจะมีการพิจารณาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ 2567 แก่พี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมกันให้บริการพิเศษแก่พี่น้องประชาชน ประกอบด้วย ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-เมืองพัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน

การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน 

การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 2 วัน

การเปิดใช้มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 จาก ปากช่อง-เลี่ยงเมืองนครราชสีมา เปิดให้บริการ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น และมีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด คือ ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว กม. ที่ 147 ทั้งทิศทางขาเข้าและขาออก การเปิดให้ทดลองวิ่งฟรีบนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ช่วงด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก-ด่านกาญจนบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร

“ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะถึงนี้ผมขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข เดินทางด้วยความระมัดระวัง และมีความปลอดภัย โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวก และดูแลประชาชนในทุกมิติ ตามนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

ได้ฤกษ์!! 'มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน' เปิดวิ่งฟรี 80 กม.  ดีเดย์ 28 ธ.ค.นี้ อนุญาตเฉพาะรถ 4 ล้อเท่านั้น

(7 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครนครราชสีมา และความพร้อมที่จะเปิดให้บริการช่วงสีคิ้ว - นครราชสีมา ภายหลังตรวจติดตามฯ และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครนครราชสีมา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป จะเปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 หรือ มอเตอร์เวย์ M6 หรือ ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ฟรีตลอดจนกว่าการก่อสร้าง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเก็บค่าผ่านทางในปี 2568 พร้อมสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง เปิดใช้ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ตอน 24 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ถึง ตอน 40 อำเภอเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา แบบไปกลับ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด ช่วง อำเภอปากช่อง - อำเภอสีคิ้ว ที่ กม.147 ทั้งขาเข้าและขาออก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมทางหลวง กำชับสำนักงานทางหลวง และแขวงทางหลวง ที่ดูแล ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ มอเตอร์เวย์ M6 ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้เส้นทาง ปรับปรุงเส้นทางให้เกิดทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจน มีการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชนในพื้นที่ ติดตั้งไฟฟ้าส่องแสงสว่างตลอดเส้นทาง รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะติดตั้งป้ายระหว่างการก่อสร้าง ในช่วงที่ยังมีการก่อสร้าง ต้องมีป้ายเตือน ไฟเตือนให้เป็นไปตามระเบียบ และให้เพิ่มให้มากขึ้นในช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับความคืบหน้า ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 แผนงานความก้าวหน้าร้อยละ 92.588 ผลงานความก้าวหน้าร้อยละ 93.054 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.466 คาดว่าจะเปิดทดลองให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่ปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ งานโยธาจะก่อสร้างเสร็จแล้วปลายปี 2568 โดยจะทดลองวิ่งจริงและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้ง 196 กิโลเมตรแบบเก็บค่าผ่านทาง ส่วนโครงการก่อสร้างกำแพงบังสายตาพร้อมวัสดุปิดคลุมแบบสมบูรณ์ 700 เมตร และกำแพงบังตารวม 1,000 เมตร ช่วง กม.140+040.000 ถึง กม.140+345.000 และช่วง กม.141+045.000 ถึง 141+740.000 ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

>> เส้นทาง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ทั้งโครงการ มีแนวเส้นทางดังนี้ 

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ มีระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 196 กม. หากเดินทางจาก กรุงเทพฯ - โคราช คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม.

'เศรษฐา-สุริยะ' โชว์จุดแข็ง 'แลนด์บริดจ์' โน้มน้าวใจนักลงทุนญี่ปุ่น  ลด 'ต้นทุน-เวลา' ขนส่ง เล็งให้สัมปทานยาว 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี

(18 ธ.ค. 66) ที่ห้องซากุระ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริด์จ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ ในวันนี้ ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่าทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก 

ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วันดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% 

อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุริยะ กล่าวถึง 2 เหตุผลสำคัญ 1. ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ Landbridge ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสำหรับการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของช่องแคบ เรือจึงต้องเข้าคิวเป็นเวลานานก่อนที่จะสามารถผ่านช่องแคบ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง

นายสุริยะ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินโครงการ ได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ(International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฏหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทยโครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการลดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก

‘สุริยะ’ สั่งเข้ม!! คุมความปลอดภัยไซด์ก่อสร้าง ‘คมนาคม’ พร้อมมอบ 6 มาตรการ ป้องกันอุบัติเหตุ-ลดการสูญเสีย

(21 ธ.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ได้ประชุมคณะกรรมการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม และมาตรการความปลอดภัยในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยบริษัทเอกชนประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง เข้าร่วมหารือ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมที่อาจจะเกิดขึ้น นำไปสู่การส่งผลกระทบในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่โครงการก่อสร้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พบว่า ในรอบปี 2565 เกิดอุบัติเหตุขึ้นบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ เหตุคานสะพานกลับรถถล่ม เหตุมวลน้ำที่ขังในผ้าใบร่วงใส่รถ และเหตุท่อนเหล็กไถลไปถูกรถ ขณะที่ในปี 2566 ได้เกิดเหตุบนถนนพระราม 2 อีก 3 ครั้ง ได้แก่ เหตุคาน Segment หล่น เหตุโครงแผงผ้าใบถูกกระแทกไปโดนกระจกหน้ารถประจำทางสาธารณะ และเหตุการณ์ล่าสุดเหล็กแบบหล่นทับคนงานเสียชีวิตในโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญา 1

นายสุริยะ กล่าวว่า จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งดังกล่าว ในการประชุมครั้งนี้จึงได้มอบหมายให้เร่งจัดตั้งคณะทำงานฯ เพื่อเข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ พร้อมทั้งสำรวจและติดตามด้านความปลอดภัย ก่อนที่จะนำมาพิจารณาและกำหนดแนวทางที่เข้มงวดในอนาคตต่อไป รวมถึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงมาตรการเชิงป้องกันและนำระบบการตรวจการณ์ความปลอดภัย Safety Audit มาใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้อุบัติเหตุเกิดซ้ำขึ้นอีก

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ดำเนินการโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข กฎระเบียบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด ไม่ประมาท และเข้มงวดกวดขัน ตรวจสอบ รวมถึงกำกับดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดตามหลักมาตรฐานด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณการจราจรสูง เพื่อไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ

นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานและผู้รับจ้างดำเนินการตาม 6 มาตรการ เพื่อยกระดับความปลอดภัย ดังนี้

1. ให้ทุกหน่วยงานดำเนินกิจกรรมก่อสร้าง เน้นความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนและผู้ปฏิบัติงาน ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” มิให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างก่อสร้าง

2. ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมในพื้นที่ก่อสร้างและพื้นที่ผิวจราจรที่เปิดให้บริการประชาชน

3. ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการบริหารโครงการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในช่วงการออกแบบ (Design Stage) ช่วงจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Stage) และช่วงก่อสร้าง (Construction Stage)

4. ให้ทุกหน่วยงานออกมาตรการกำกับผู้รับจ้างและกำหนดบทลงโทษหากพบว่าผู้รับจ้างละเลยการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว

5. ควรมีการสร้างเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ ความปลอดภัยในการทำงานแก่บุคลากรในโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องทั้งสองทาง (Two - ways Communication)

6.ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยในโครงการก่อสร้าง เช่น การตรวจสอบ Checklist ความปลอดภัย ผ่านระบบ Mobile Applications

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานและผู้รับจ้างปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และให้รายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะต้องไม่เกิดอุบัติเหตุในโครงการของกระทรวงคมนาคม และในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะถึงนี้ ประชาชนต้องสามารถเดินทางสัญจรได้โดยสะดวก และถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ

'สุริยะ' ขอโทษ ปชช.ปมขึ้นภาษีน้ำมัน 'กทม.-ปริมณฑล' จูงใจใช้รถไฟฟ้า ชี้!! แค่ยกตัวอย่างจากต้นแบบในต่างประเทศ ยังไม่มีแนวคิดจะทำแต่อย่างใด

‘สุริยะ’ ขอโทษพี่น้องประชาชน สื่อสารคลาดเคลื่อนปมจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินเพิ่ม 50 สตางค์ต่อลิตรในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล นำเงินเข้ากองทุนหนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระบุไม่มีแนวคิด-นโยบายที่ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยเด็ดขาด 

จากกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวในประเด็นกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดจะจัดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.50 บาทต่อลิตร เฉพาะสถานีน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น และนำเงินจากภาษีดังกล่าวเข้ากองทุนฯ เพื่อนำสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่อาจจะสื่อสารและทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งในการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นเพียงการหยิบยกตัวอย่างจากต้นแบบในต่างประเทศเท่านั้น รวมถึงยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงกรณีศึกษา และการเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสีย โดยไม่ได้มีแนวคิดจะนำมาดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน

ส่วนมาตรการค่ารถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท นั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายใน 2 ปี โดยจะไม่มีการเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน

'สุริยะ' ปักธง ม.ค.67 ชง 7 โครงการเข้า ครม.มูลค่ากว่า 1.25 แสนล้านบาท พร้อมเปิดประมูล ‘อาคารตะวันออกสุวรรณภูมิ-ทางด่วน-มอเตอร์เวย์-รถไฟสีแดง’

(3 ม.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาโครงการทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งมีแผนงาน จำนวน 72 โครงการ ซึ่ง กระทรวงฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ เพื่อขับเคลื่อน ติดตามเร่งรัดตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและไทม์ไลน์ โดยภายในเดือน เดือนม.ค. 2567 มีโครงการที่มีความพร้อม ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติ จำนวน 7 โครงการ หลังจากครม.เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างต่อไป ซึ่งมีทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณ และโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) 

โดย 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต 3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 4. สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 5.สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง และ 7.โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน 

สำหรับโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้มีการทบทวนการศึกษาออกแบบ เพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป ใช้สำหรับรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 66,000 ตร.ม. และมูลค่าลงทุนปรับจาก 6.6 พันล้านบาท เป็น 8 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี ตามแผนจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570

โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 3.98 กม.วงเงินลงทุน 16,190 ล้านบาท (ค่างานโยธา 10,400 ล้านบาท / ค่างานเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,790 ล้านบาท) มีการปรับรูปแบบการลงทุนจาก PPP- Net Cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เป็น กทพ.รับผิดชอบงานก่อสร้างโยธาของโครงการเอง ส่วนงานบำรุงรักษา (O&M) จะศึกษารวมในโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ซึ่งจะใช้รูปแบบ PPP ร่วมลงทุนงานโยธาโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. และบริหาร O&M ทั้ง 2 ระยะ ซึ่ง คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 กทพ.อยู่ระหว่างสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม

รถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เสนอครม.ไปแล้วแต่กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องคืนเพื่อศึกษาทบทวนขยายระยะทางเพิ่มเติม ไปยังเมืองรอบนอกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางมากขึ้น เช่น ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ขยายไปถึงอยุธยา ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ขยายไปถึง นครปฐม ซึ่งคาดว่าจะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ม.ค. นี้

ส่วนโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ คือ มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. และ มอเตอร์เวย์ M 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม. ผ่านกระบวนการบอร์ด PPP และเสนอ ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โดยมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

มอเตอร์เวย์ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก คาดดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

‘อีบีเอ็ม’ แจงเหตุล้อ รฟฟ.สายสีเหลือง ‘หลุด’ ใส่รถแท็กซี่ คาด!! ‘เบ้าลูกปืนล้อแตก’ ยืนยันวิ่งให้บริการได้ปกติ

(3 ม.ค.67) รายงานข่าวจากบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทาน โครงการ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 18.21 น.ได้รับแจ้งเหตุล้อประคองรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้หลุดร่วงลงมา ใส่รถแท็กซี่ บริเวณถนนเทพารักษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้จากการตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้นพบว่า เกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหายทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา โดยขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ ซึ่งมีการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงตามรอบโดยปกติ และขณะนี้กำลังตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียด

อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง กราบขออภัยผู้ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จะดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ และเร่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปหาสาเหตุ และแนวทางป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เบื้องต้น ได้ประสานกับบริษัทประกัน เพื่อให้เข้าดูแลผู้ได้รับความเสียหายต่อไป

'นายกฯ' หนุนสร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ยกระดับด้าน ‘คมนาคม-ท่องเที่ยว’

(11 ม.ค. 67) ที่ห้องประชุมกองบิน 41 ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงระบบขนส่ง และเดินทางในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วย 

นายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ขอขอบคุณวันนี้มาประชุมกันพร้อมเพียง ตน และคณะรัฐมนตรีมาพบทุกท่านที่เชียงใหม่ มีความห่วงใยกับสถานการณ์หมอกควัน และไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องภาคเหนือหลายจังหวัด จึงต้องการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง จากการที่ได้มาตรวจราชการเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานข้าราชการที่ช่วยกันให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข และคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขอเน้นให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือโดยยึดหลักแนวทางการดำเนินงานนี้

นายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์ต้องดีขึ้นทุกวัน ด้วยการทำงานเต็มหน้าที่อย่างจริงจัง ขอให้ท่านแบ่งหน้าที่ และพื้นที่ความรับผิดชอบเอ็กซเรย์พื้นที่ความรับผิดชอบของท่านว่ายังมีปัญหาใดที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน และรายงานให้ตนทราบทุกวันถ้าไม่ดีกว่าเดิมต้องแจ้งให้ตนทราบว่ามีอุปสรรคอะไร เป็นความประสงค์ของรัฐบาลนี้ที่อยากจะคืนอากาศบริสุทธิ์แก่พี่น้องประชาชนภาคเหนือให้ได้โดยเร็วที่สุด การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกไฟป่าต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อความยั่งยืน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนแม่นยำ เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว การดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพ

นายกฯ กล่าวว่า ขอให้จังหวัดและหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ สุขภาพอนามัยของเด็ก โดยเฉพาะผู้สูงอายุใช้ชีวิตความเป็นอยู่การรณรงค์ใส่หน้ากาก จัดพื้นที่เซฟตรงศูนย์พักพิงของประชาชน ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ประชาชนมีหน้ากากกรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพและราคาที่เข้าถึงได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร ยกระดับความตื่นตัวให้ประชาชนรู้ถึงภัยของ PM2.5  พร้อมขอความร่วมมือประชาชนดูแลพื้นที่ป่าลดการเผา เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว ต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างอากาศบริสุทธิ์ และปฏิบัติให้ได้ 

นายกฯ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการคมนาคมต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากการที่ตนได้ลงพื้นที่ มีการพูดคุยกับส่วนงานราชการหลาย หน่วยงาน รู้สึกกันดีเมื่อเทียบตัวเลขปีที่แล้วของ PM 2.5 พบว่าปัญหาฝุ่นลดลงไปหลายเท่าตัว การแสดงแผนที่ Red Zone อย่างมีในนัยพิสูจน์ทราบได้ว่า จากการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาจึงทำให้ตัวเลขลดลงอย่างมีนัย ส่งผลอย่างยิ่งเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ดอยอินทนนท์มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 13,000 คน เป็น 17,000 คนต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเรื่องการมี PM 2.5 น้อยลง ดูจากกราฟเป็นเรื่องที่ดี ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันบูรณาการ วันนี้เราจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะการคมนาคม ซึ่งหลายเรื่องยึดโยงถึง PM 2.5 ด้วย ไม่ใช่แค่การเผาป่าอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่เรา ใช้เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคม กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้และจะจัดสรรงบประมาณให้เป็นลำดับความสำคัญต้นๆในการที่จะดำเนินการเหล่านี้ต่อไป 

“ขอให้ทุกท่านช่วยกัน ซึ่งการทำงาน 2 เดือนที่ผ่านมาต้องกราบพระคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงาน ที่ทำงานประสานงานกันอย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจุดศูนย์รวมของจิตใจและช่วยกันประสานให้ทุกฝ่าย เหมาะสำหรับการเป็นแม่แบบไปใช้ในจังหวัดต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างดีเยี่ยม ระหว่างฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ สาธารณสุข เกษตร คมนาคม คือเป็นแม่แบบที่ดีมากต้องขอชื่นชม” นายกฯกล่าว 

จากนั้นนายกฯ รับฟังข้อเสนอของทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องของการแก้ไขปัญหาจราจรและการคมนาคมที่ติดขัด โดยเฉพาะบริเวณหน้ากองบิน 41 และถนนนิมมานเหมินทร์ นายกฯ ระบุว่า หลังกลับจากเชียงใหม่จะเชิญรมว.คมนาคม และผู้บัญชาการทหารอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องการแก้ไขปัญหานี้ต่อ 

ส่วนข้อเสนอการจะทำรถไฟฟ้าเชื่อมต่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและการลดการใช้รถยนต์ เพื่ออากาศสะอาด ลดความแออัดในเมืองเป็นสิ่งที่ดี เห็นด้วยควรสร้างรถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่ในระดับต้น ๆ ถือเป็นเมืองที่ใหญ่มาก แต่ยังไม่มีระบบของรถไฟฟ้า ตรงนี้น่าจะนำมาพิจารณา ถือว่ามีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทั้งนี้ในระหว่างก่อสร้างไม่ต้องห่วงเรื่องปัญหาจราจร จะทำจริงก็ต่อเมื่อวงแหวนการจราจรข้างต้นเสร็จก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระการจราจรลงไปได้

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอบคุณที่ช่วยกันคิดในเรื่องของการท่องเที่ยวมาอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะทำให้ความมั่นใจดีขึ้น ส่วนเรื่องการพัฒนารถสองแถวแดงพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะรถสองแถวแดงถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยว ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญต่ออากาศสะอาดด้วย หากเรื่องสองแถวรถแดง ผู้ต้องการทำรถ EV และต้องการ การสนับสนุนเรื่องดอกเบี้ยต่ำ ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมและขอให้เป็นวาระสำคัญ ในการพูดคุย หาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อมาสนับสนุนจุดนี้ โดยเฉพาะธนาคารที่อยากมีส่วนช่วยเหลือสังคมและอยากจะมาช่วยดูแลตรงนี้

นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการพัฒนาระบบคมนาคม ซึ่งถ้าหากพี่น้องชาวเชียงใหม่และภาคเหนือได้มานั่งฟัง ก็น่าจะมีขวัญและกำลังใจขึ้นอีกเยอะ เพราะจากการทำงานบูรณาการของทุกภาคส่วน ถือว่าเป็นการทำงานที่คิดมาอย่างครบวงจรแล้ว แต่ต้องการประสานงานที่ดี ซึ่งตนอยากจะเห็นผู้ว่าราชการทุกจังหวัดมีความสามารถที่จะผนึกกำลังอย่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำไว้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งนี้ วันนี้ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็มา ช่วยทำให้ความมั่นใจสูงอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้มองเห็นไม่ใช่แค่แผนปฏิบัติการเร่งรัด (ควิกวิน) อย่างเดียว แต่เรามีแผนการทำงานที่ชัดเจนและอาจจะกลายเป็นแผนเพิ่ม 4-5 เท่า ได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับเรื่องฟรีวีซ่าที่รัฐบาลได้ทำ และเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ททท. ได้มาพูดคุยกับตนเรื่องเที่ยวบินอินเดียที่เข้ามาประเทศไทยน้อย ซึ่งจากการที่ตนได้เจอกับเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศ ไทย ก็จะมีการทำเอ็มโอยู เพื่อให้มีสายการบินเข้ามาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นักท่องเที่ยว ที่บินเข้ามาคือนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย รองลงมาคือนักท่องเที่ยวจีน และประเทศที่ 3 ที่ทำให้ตนแปลกใจคือประเทศเกาหลี เพราะจากที่ตนเดินทางมาเชียงใหม่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาก็เจอแต่นักท่องเที่ยวเกาหลี คาดว่าที่เชียงใหม่มีสนามกอล์ฟเยอะ จึงทำให้นักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมา 

นายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาคือปัญหาฝุ่น PM  2.5 ซึ่งเราได้มีการบริหารจัดการไปอย่างดีเยี่ยม รวมถึงการคมนาคมก็ต้องไม่ทำให้รถติด เพราะจะทำให้เขาไม่อยากมา ซึ่งรัฐบาลได้ตอบโจทย์ในระยะใกล้ ระยะกลางและระยะยาวแล้วอย่างบูรณาการเต็มที่ รวมถึงมีการรักษาเรื่องดี ๆ ของเชียงใหม่ไว้ด้วย อาทิ รถสองแถวแดงที่ถือเป็นไฮไลต์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเราพยายามจะเปลี่ยนให้เป็นรถไฟฟ้า ตนเชื่อว่าทุกอย่างมีการคิดกันมาอย่างดีมาก ทำให้การทำงานเชื่อมต่อระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่น และทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกัน รวมถึงพรรคการเมืองเองก็จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพที่โดดเด่นได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า ถ้าวันนี้พี่น้องชาวเชียงใหม่ได้มาได้ยิน ได้ฟังในสิ่งที่เรามาหารือกัน ตนก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ และอยากจะนำโมเดลดังกล่าวไปใช้ในหลายจังหวัด รวมถึงในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าถ้าหากเราร่วมใจกันเช่นนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนสนับสนุนเราอย่างดี 

“ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้มาเพียงแค่ 4 เดือน แต่ก็เห็นการทำงานของทีมไทยแลนด์อย่างชัดเจน ที่ทุกคนได้ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ รวมถึงคนที่ทำงานปิดทองหลังพระอย่างฝ่ายความมั่นคง กองทัพ  ที่ทำงานในการป้องกันไฟป่าแม้เป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามไป ผมจึงขอให้รักษาตรงนี้ไว้และดำเนินการต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องงบบูรณาการ ให้ข้อคิดตามหลักการทำงาน ถ้าปี 67 เราทำงานมีผลชัดเจนเชื่อว่าเรื่องงบเป็นเรื่องที่เราสามารถพูดคุยได้ไม่มีปัญหา เพียงแค่ต้องการเหตุผลที่ชัดเจน

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เรื่องสำคัญคือลดจุดความร้อน หรือ ฮอตสปอต การทำแนวกันไฟที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจพี่น้องประชาชน หาลดการเผา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และต้องไม่เผาวัชพืชเปลี่ยนทำเป็นปุ๋ยเพื่อจะใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ขณะเดียวกันก็มีการปลูกป่าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเชื่อว่าจุดความร้อนและค่า PM2.5 จะลดลง และวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี พ.ร.บ.อากาศสะอาดได้เข้าสภาแล้ว มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน

นอกจากนี้นายกฯ ขอร้องทางกองทัพภาคที่ 3 ช่วยจัดอากาศยานเพิ่ม มาช่วยปฏิบัติการแก้ปัญหาดับไฟป่า และยังเป็นการช่วยเรื่องของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเดียวกันก็จะประสานไปยังกองทัพอากาศเพื่อขออากาศยานมาช่วยขน วัชพืชส่งไปยังโรงงานต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องการขนส่งอีกทางนึง ส่วนเรื่องงบประมาณ ยืนยันรับทราบทุกหน่วยงานที่ขอมา ไม่ต้องเป็นห่วงขอให้ดำเนินงานตามขั้นตอนอย่างเต็มที่

ขณะที่แม่ทัพภาค 3 กล่าวว่ายินดีและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยจะมีการประสานไปยังส่วนกลาง

จากนั้นนายกฯ เยี่ยมชมรถไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากรถดีเซลมาเป็นรถอีวี ผลงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่จะขึ้นรถแดง ทะเบียน 30-6198 เชียงใหม่ เพื่อไปยังบริเวณจุดจอดอากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกองบิน 41 ติดตามความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงชมสาธิตวิธีการปล่อยฝนหลวงด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top