Monday, 29 April 2024
สุริยะ_จึงรุ่งเรืองกิจ

‘สุริยะ’ ลุยยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรม มุ่งเติบโตอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

‘สุริยะ’ เดินหน้ายกระดับผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย พร้อมเพิ่มขีดแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์โควิด - 19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมไทยในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) จะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศหรือเป็นห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมศักยภาพ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำมาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในอัตราร้อยละ 4.6 และมีการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอัตราร้อยละ 2.2

‘สุริยะ’ สั่งอุ้มโรงงานรับผลกระทบวิกฤตน้ำท่วม งัดมาตรการ ‘ป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู’ เร่งด่วน

‘สุริยะ’ สั่งการกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับเฝ้าระวังสถานการณ์ ย้ำให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมมาตรการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟู ช่วยเหลือโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต พร้อมจัดม้าเร็วในการติดตาม ประสานงานสถานการณ์ในพื้นที่แบบทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นได้รับรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม ว่าขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, สิงห์บุรี, ปราจีนบุรี, หนองบัวลำภู, มหาสารคาม, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 59 ราย แบ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 55 ราย เหมืองแร่ 1 ราย และวิสาหกิจชุมชน 3 ราย ซึ่งได้ สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเร่งด่วนสำหรับประเมินสถานการณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้ความช่วยเหลือได้ในทันที

พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในด้านต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ การจัดทีมงานทำความสะอาดและซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ และการจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้มาตรการ 3 ระยะ ‘ป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟู’ 

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมแผนการรับมือไว้แล้วตามนโยบายของรัฐมนตรีฯ สุริยะ ตามมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่... 

สุริยะ สั่ง กรมโรงงานฯ เข้มระบายน้ำทิ้งจากรง. หวั่นเกิดผลกระทบซ้ำเติมประชาชนช่วงน้ำท่วม

สุริยะ สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ออนไลน์ หวั่นซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากอุทกภัย 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดูแลการระบายน้ำจากโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบระบายน้ำโดยไม่บำบัด พร้อมสั่งกำชับโรงงานให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนด เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับให้ กรอ. กำกับดูแลโรงงานที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ออนไลน์ ซึ่งระบายน้ำทิ้งตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนด ปัจจุบันมีกว่า 300 โรงงาน ในพื้นที่ 40 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่รวม 20 จังหวัด 150 โรงงาน จึงต้องตรวจสอบการระบายน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน

‘สุริยะ’ โชว์ผลสำเร็จ คืนชีพแบตฯยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเปิดตัวแบตฯโซเดียมไอออนครั้งแรกในอาเซียน

'สุริยะ' โชว์ผลสำเร็จการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว นำกลับมาเป็นแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และเปิดตัวแบตเตอรี่โซเดียมไอออน (Na-ion Batteries) จากแร่เกลือหิน พร้อมโชว์รถต้นแบบครั้งแรกในอาเซียน 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation–Driven Entrepreneurship) ผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามนโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) โดยการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพให้นำกลับมาใช้เป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Second Life Electric Vehicle Batteries for Small Electric Vehicles) รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบรถกอล์ฟไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นศูนย์กลางการออกแบบ วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลผลการทดสอบพบว่า แบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานเทียบเท่ากับระยะเวลาการรับประกันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี และสำหรับแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อนำลิเทียมและสารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ทางเลือกที่ไทย โดยนำแร่เกลือหินซึ่งเป็นวัตถุดิบที่พบมากในประเทศไทยนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่โซเดียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และได้นำมาใช้งานได้จริงในจักรยานไฟฟ้าต้นแบบ (E-Bike) นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในอาเซียน

“ผลงานครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญในการรองรับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถรักษาตำแหน่งการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และก้าวไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นคำตอบที่สำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) ตลอดห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และก่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่อป้องกันปัญหาขยะและมลพิษจากแบตเตอรี่ในอนาคต ด้วยการหมุนเวียนวัสดุที่ใช้แล้วภายในประเทศอย่างครบวงจรและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาล” นายสุริยะ กล่าว

‘สุริยะ’ แนะคนไทย ‘ลอยกระทง’ ด้วยวัสดุธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม แถมช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ชวนคนไทยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน มผช. ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ที่จะมาถึงนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมขอเชิญชวนคนไทยเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงเปลือกข้าวโพด และกะลามะพร้าวที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ของไทยเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยให้คงอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าของคนไทย ช่วยกระจายรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับชุมชนอีกด้วย

“กระทงจากเปลือกข้าวโพด และกระทงจากกะลามะพร้าว เป็นสินค้าชุมชนที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นของสารเคมีสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และนอกจากจะแนะนำให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติในเทศกาลลอยกระทงแล้ว ผมขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย เพราะโคมลอยที่ได้มาตรฐาน ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มีปริมาณเชื้อเพลิง ไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไมให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” นายสุริยะฯ กล่าว

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มกระทงทรงธรรม 2) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ 3) นางเตือนคนึง ราชา และ 1) นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตกระทงจากกะลามะพร้าวที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 40 ราย

'สุริยะ' สั่งกรมโรงงานฯ เดินหน้าตรวจโรงงานเชิงรุก ช่วยรับมือ PM 2.5 ย้ำ!! ไม่ปรับปรุง สั่งปิดทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มอบนโยบายดำเนินการต่อเนื่องตาม 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วน เข้มงวด กรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ให้ออกคำสั่งปรับปรุงแก้ไขทันที 2. มาตรการระยะกลาง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) และ 3. มาตรการระยะยาว ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายสู่การดำเนินการอย่างบูรณาการ และให้เน้นตรวจเชิงรุกด้านฝุ่นละอองโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรงงาน หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที

'ก.อุตฯ' เดินหน้าขับเคลื่อน EV ชงมาตรฐานเข้ม 'แบตเตอรี่-สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV เร่งรัด สมอ. ชงมาตรฐาน 'แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า - รถยนต์ไฟฟ้า' และ 'สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน พร้อมนำทีมลงพื้นที่พบผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย เพื่อศึกษาข้อมูลประกอบการทำมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้แล้วจำนวน 128 มาตรฐาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า, รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า  ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์, สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ EV เป็นต้น  

ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว อ้างอิงมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการใช้พลังงาน และทั้ง 128 มาตรฐานนั้นยังเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง แต่เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลก ขณะเดียวกันแนวคิดการยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป รวมถึงกระแสการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย

‘สุริยะ’ มอบ กนอ. เร่งดำเนินการ หลัง ‘ไทย-จีน’ เซ็น MOU ปั้นนิคมฯ ในไทย พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 

‘สุริยะ’ มอบ กนอ.เร่งดำเนินการประสานงาน หลังกระทรวงอุตสาหกรรม (MOI) จับมือ กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณประชาชนจีน (MOFCOM) ลงนามบันทึกความเข้าใจตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม แห่งราชอาณาจักรไทย และ กระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมนโยบายความคิดริเริ่ม ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road initiatives) เชื่อมโยงสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งศึกษาและดำเนินการประสานงานต่อไป

'สุริยะ' เอื้อ!! 'คนตัวเล็ก-เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน' คลอด 'มอก.เอส' อนุมัติอู่รถแปลงเครื่องยนต์เป็นอีวี

(13 ธ.ค.65) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการเครื่องหมายการันตีสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค จำนวน 2 มาตรฐาน

ได้แก่ 1. การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าและ 2. การบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หลังผู้บริโภคให้ความสนใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันผู้บริโภคบางส่วนเลือกที่จะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ไปดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ อู่ซ่อมรถต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยรายในประเทศ จะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพการให้บริการจนสามารถสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้

‘สุริยะ’ นำทีมเยือนญี่ปุ่น ดึงนักลงทุน หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ

‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รมว.อุตสาหกรรม นำทีมเยือนญี่ปุ่น หารือร่วมรัฐมนตรี METI ย้ำความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ (Mr.Nishimura Yasutosh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่น วันที่ 11-15 มกราคม 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนานในหลายด้าน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้มาลงทุนในประเทศไทย 

โดยการเข้าหารือกับ METI ยังเป็นการครบรอบ1 ปี ที่ทั้ง 2 กระทรวงฯ คือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) ได้ร่วมกันปรับแนวคิดจาก 'Connected Industries' มาสู่ความร่วมมือ Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อปลายปี 2565 โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 

1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-Creation)

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังหารือในประเด็นการลงทุนภายใต้กรอบ AJIF (Asia-Japan Investing for the Future) มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่าง ๆ จึงเน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการต้อนรับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล รวมทั้งสิ้น 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด พื้นที่รวมเกือบ 2 แสนไร่ (ประมาณ 320 ตารางกิโลเมตร) เป็นนิคมฯที่ทันสมัย และมีเงินลงทุนสะสมรวมกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top