Sunday, 28 April 2024
สุริยะ_จึงรุ่งเรืองกิจ

‘สุริยะ’ เผย ‘ไดกิ้น’ พร้อมใช้ไทยเป็น ‘ฮับ’ อาเซียน โชว์ศักยภาพนิคมฯ ‘สมาร์ท ปาร์ค’ รองรับทุกการลงทุน

'สุริยะ' แย้มข่าวดี 'ไดกิ้น' ยืนยันใช้ไทยเป็น 'ฮับ' ในอาเซียน โชว์ความพร้อมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับนักลงทุนญี่ปุ่นทุกรูปแบบ ล็อคเป้า 'นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) - ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2)'

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2566 มีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Co.,Ltd. ที่นครโอซาก้า เพื่อหารือถึงการพัฒนาบริษัท Daikin ในประเทศไทย ซึ่งบริษัท Daikin ระบุว่า มีแผนที่จะพัฒนาบริษัท Daikin ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นฮับของอาเซียน ที่คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน โดยบริษัท Daikin ปีนี้ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น รองจากบริษัทโซนี่อีกด้วย

“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทาง บริษัท Daikin เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฮับของอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ซึ่งปัจจุบัน บริษัท Daikin ประเทศไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) 4 โรงงาน และที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) อีก 1 โรงงานอีกด้วย” นายสุริยะ กล่าว

นอกจากนี้ ได้หารือกับนายมัตสึโอะ ทาเคฮิโกะ (Mr. Matsuo Takehiko) อธิบดีกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Director General, Trade Policy Bureau Ministry of Economy, Trade and Industry : METI ) ถึงประเด็นการสนับสนุนโครงการไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park  โดย กนอ.ได้ย้ำถึงการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด และแผนการนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถรับส่งแรงงาน/พนักงานภายในนิคมอุตสาหกรรม การใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนด้านพลังงาน การสร้างสังคมปราศจากคาร์บอนโดยการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนขยายผลเทคโนโลยีรถยนต์พลังงาน รวมถึงการตั้งโรงงานเพื่อผลิตไฮโดรเจน 

ทั้งนี้ กนอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) การศึกษาเพื่อพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Industrial Estate) ในพื้นที่มาบตาพุด” ร่วมกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ 7 ราย เพื่อสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับการใช้งาน และการกักเก็บพลังงานหมุนเวียน เพื่อพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล  ขณะเดียวกัน องค์การส่งเสริมการต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายในการขอทุนจากองค์กรพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ในการพัฒนาและลงทุนไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ด้วย

‘สุริยะ’ ห่วงค่าไฟแพง กระทบต้นทุนผลิต แนะผู้ประกอบการใช้พลังงานทดแทนช่วย

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยทิศทางราคาพลังงานทรงตัวระดับสูง กดดันต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม แนะผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนการผลิต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ทิศทางราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น และเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจะมีผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทำการศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่าการขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.88 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย และเซรามิค

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่อภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากการศึกษาพบว่าการขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.41 ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.96 ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.14 ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.98 และต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิคเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.49 

‘สุริยะ’ สั่ง กรมโรงงานฯ เร่งอบรมเจ้าหน้าที่ กทม.  ก่อนถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2

‘สุริยะ’ สั่ง กรมโรงงานฯ เร่งเครื่องอบรมเจ้าหน้าที่ กทม. กำกับโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 เน้นทำงานได้จริง สอดคล้อง 'MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน'

(23 ม.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม อบรมเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต เน้นการลงมือปฏิบัติงานจริง โดยบูรณาการกับหลักทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจกำกับโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้ กทม. เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนด ลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน สอดคล้อง ‘MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน’

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) รับนโยบายรัฐบาลในการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท. และ กทม. ควบคุมดูแลกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2  และรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2  ตลอดจนตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อนในพื้นที่ โดยได้แต่งตั้งข้าราชการของ อปท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อปท. และ กทม. ให้ปฏิบัติภารกิจได้ถูกต้อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกฎหมาย สามารถบริการด้านการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน มุ่งสู่การปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ สอดคล้องแนวทางนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2566 ‘MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน’

‘สมศักดิ์-สุริยะ’ เข้ากราบลา ‘บิ๊กป้อม’ แล้ว หลังตัดสินใจย้ายพรรค ยันไม่มีความขัดแย้ง

ลาแล้ว! ‘สมศักดิ์-สุริยะ’ เข้ากราบลา ‘บิ๊กป้อม-อ.วิษณุ’ หลังตัดสินใจการเมือง ก่อนแถลงใหญ่ 17 มี.ค.นี้ เผยยังเคารพทั้ง 2 ท่าน แต่แนวทางทำการเมืองมีเหตุผลหลายประการ ยันไม่มีความขัดแย้ง ด้าน ‘สันติ-วิรัช-ธรรมนัส’ ร่วมวงอาหารเที่ยงชื่นมื่น

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เพื่อกราบลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.หลังจากตัดสินใจย้ายไปทำงานร่วมสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) และเตรียมจะยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และรัฐมนตรีแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศพูดคุยเป็นไปด้วยดี พูดคุยด้วยความเข้าใจ ไม่มีปัญหาติดใจ โดยในวงสนทนาที่ร่วมรับประทานอาหารนี้ มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค , นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ร่วมวงพูดคุยและร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น

รู้จัก ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ มือเก๋าการเมือง ว่าที่ ‘รมว.คมนาคม’ ใน ครม.เศรษฐา 1

รู้จัก ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ว่าที่ ‘รมว.คมนาคม’ ครม.เศรษฐา 1 หลังโผทุกกระทรวงเริ่มลงตัว

โผ ครม. ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐา 1 ในขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าลงตัวเกือบทุกตำแหน่ง ภายหลังการหารือร่วมกันของ 11 พรรคร่วมรัฐบาล และได้จัดสรรตามโควตาของแต่ละพรรคเรียบร้อย อาจมีเพียงบางพรรคที่อาจมีการสลับคน

แต่หนึ่งในโผที่ค่อนข้างแน่นอนคงหนีไม่พ้นกระทรวงเกรด AAA อย่าง ‘กระทรวงคมนาคม’ ที่นักการเมืองรุ่นเก๋า ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ จะหวนคืนนั่งเก้าอี้ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม’ อีกครั้ง

THE STATES TIMES จะพาไปย้อนรอยเส้นทางการเมือง และตำแหน่งต่าง ๆ ที่ ‘สุริยะ’ เคยผ่านมาบนเส้นทางการเมืองกว่า 25 ปี

‘สุริยะ’ ผันตัวเองจากนักธุรกิจ เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในสีเสื้อของของพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นด้วยการที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม - ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี - ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ก่อนที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อปี 2541 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ 

แต่ทว่าชื่อเสียงของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรือกิจ’ เริ่มก้าวสู่ทำเนียบนักการเมืองระดับบิ๊กเนม เมื่อปี 2544 หลังจากแท็กทีม ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลาออกจากพรรคกิจสังคม แล้วย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ก่อตั้งพรรคใหม่ในขณะนั้น

ด้วยฐานเสียงของ สส.ภาคเหนือตอนล่างในมือของ ‘สมศักดิ์’ ผนวกกับการมีทุนใหญ่อย่าง ‘สุริยะ’ ทำให้มุ้งการเมืองในชื่อ ‘กลุ่มวังบัวบาน’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘เจ๊แดง’ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กลายเป็นมุ้งใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูงขึ้นมาในทันที

แน่นอนว่า ด้วยทุนและอำนาจต่อรองในมือ รวมถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถคุยได้กับทุกก๊กทุกก๊วนการเมืองในพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ ‘สุริยะ’ ขยับขึ้นเป็นแกนนำหลักของ พรรคไทยรักไทย ในเวลาไม่นาน มีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการพรรค และผู้สมัคร สส. ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้น พร้อมตามมาด้วยการเป็นเจ้ากระทรวงเกรดเอ อย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ปี 2544 และปี 2548) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2545 และปี 2548) เรื่อยมา โดย ‘สมศักดิ์’ ช่วยเหลือผลักดันอยู่เบื้องหลัง

ก่อนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 กลุ่มของ ‘สุริยะ-สมศักดิ์’ ที่ได้แยกออกมาตั้งกลุ่ม ‘วังน้ำยม’ ถูกลดบทบาทลง โดยตำแหน่งสุดท้ายของ ‘สุริยะ’ ในสีเสื้อพรรคไทยรักไทย เหลือเพียงเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ภายหลังถูกยึดอำนาจปี 2549 ‘สุริยะ’ เก็บตัวเงียบ เนื่องจากโดนพิษการเมืองเล่นงาน ซึ่งถือเป็นรอยด่างในชีวิตการเมือง ทั้งกรณีถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ตั้งแต่ 30 พ.ค. 2550 จากคดียุบพรรคไทยรักไทย และถูก คสต. ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตรวจสอบคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระภายในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ CTX 9000 ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อปี 2548 แต่ต่อมา ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องไปเมื่อปลายปี 2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

แต่อย่างที่เราทราบกันดี นักการเมืองไทยที่ครบเครื่องทั้งบารมี ฝีมือ และสามารถประสานได้ทุกทิศ อย่าง ‘สุริยะ’ มักจะ ‘ว่างงาน’ ได้ไม่นาน สุดท้ายก็ถูกจีบให้มาร่วมสร้างพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งในปี 2562 และมีส่วนสำคัญในการนำความสำเร็จมาสู่การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบดูแลกระทรวงสำคัญอย่าง ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ อีกด้วย ซึ่งหากย้อนดูอดีต จะพบว่า สำหรับพะยี่ห้อ ‘สุริยะ’ แล้ว กระทรวงที่ได้นั่งล้วนแล้วแต่เป็นกระทรวงระดับเกรดเอ และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวน พรรคประชาธิปัตย์, รัฐบาลทักษิณ ในนามพรรคไทยรักไทย จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐ

และในการเลือกตั้ง ปี 2566 ล่าสุด ‘สุริยะ’ พร้อม ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ได้ตัดสินใจโบกมือลาพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกลับเข้าไปร่วมงานการเมืองกับกลุ่มคนคุ้นเคยในสีเสื้อ ‘พรรคเพื่อไทย’ อีกครั้ง

ถึงแม้ว่า จะเปลี่ยนสีเสื้อ แต่บทบาทของ ‘สุริยะ’ ก็ยังคงโดดเด่นเช่นเดิม และเมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็เป็นชื่อแรก ๆ ที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตัวทันที ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกระทรวงไหนเท่านั้น แต่ก็เป็นที่คาดเดาได้ว่าจะต้องเป็นเก้าอี้กระทรวงระดับเกรดเออย่างแน่นอน

และสุดท้าย โผก็ออกมาว่า ‘สุริยะ’ จะได้หวนคืนเก้าอี้ ‘รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม’ อีกคำรบ และแน่นอนว่า มันเป็นการอยู่ถูกที่ถูกเวลา อยู่ถูกพรรค อีกครั้ง และไม่ว่าจะไปอยู่พรรคไหน ก็จะมีโอกาสได้คั่วตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงหลักมาตลอด

ใครที่ว่าแน่ หรืออวดอ้างตนเองเป็นของแท้ในห้วงเพลาใด แต่ดูเหมือน มีแต่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นี่แหละ ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ และผู้มากบารมีที่แทบทุกรัฐบาลจะขาดไม่ได้อย่างแท้จริง!!

‘สุริยะ’ สัญญาทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เร่งผลักดัน ‘สายสีแดง-สีม่วง’ เป็นของขวัญปีใหม่

(12 ก.ย. 66) การแถลงนโยบายรัฐบาลช่วงค่ำวานนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า เมื่อตนมารับตำแหน่งรมว.คมนาคมแล้ว หลายโครงการต้องทบทวน อะไรดีก็ทำต่อ อะไรมีปัญหาก็ต้องทบทวน เพื่อประโยชน์ประชาชน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำต่อไป นโยบายนี้จะเริ่มทันที เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจะรวบรวมสัมปทานเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกสายมาเจรจา ขั้นตอนเจรจาอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ‘ตลิ่งชัน-รังสิต’ ราคา 14-42 บาท และสายสีม่วง ‘บางซื่อ-คลองบางใหญ่’ ราคา 14-42 บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น 20 บาท จะเร่งผลักดันภายใน 3 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขณะที่สายสีเขียวที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. ต้องให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงคมนาคมพร้อมจะสนับสนุน ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับสายสีส้ม เนื่องจากตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ขอเวลาพิจารณารายละเอียดทุกมิติ ทั้งข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ประชาชน จะทำด้วยความโปร่งใส เพื่อผลประโยชน์ประเทศ ทราบว่าที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เคยเชิญนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เคยออกมาเปิดเผยความไม่โปร่งใสเรื่องรถไฟฟ้า มารับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แต่นายสุรเชษฐ์ไม่เคยรับคำเชิญ ดังนั้นในครั้งนี้จะขอเชิญท่านไปให้ข้อมูลอีกครั้ง

ด้านนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงคมนาคมให้ไปรับฟังข้อมูลเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ทำหนังสือเชิญมา พร้อมจะไปรับฟังข้อมูล ซึ่งนายสุริยะตอบกลับว่า จะทำหนังสือเชิญนายสุรเชษฐ์มารับฟังข้อมูลต่อไป

'สุริยะ' เร่งเคลียร์ถนนแม่ฮ่องสอน หลังดินสไลด์ปิดกั้นทางสัญจร สั่ง!! 'กรมทางหลวงชนบท' จัดการด่วน ล่าสุดลุล่วงภารกิจ

กรมทางหลวงชนบท รับมืออุทกภัยเร่งด่วน นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรเข้าพื้นที่จัดการบริเวณที่มีดินสไลด์บนถนนสาย มส.3004 แยก ทล. 105 - บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้โดยเร็วตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันสัญจรผ่านได้เรียบร้อยแล้ว

(19 ก.ย. 66) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยแขวงทางหลวงชนบทแม่ฮ่องสอน หมวดบำรุงทางหลวงชนบทแม่สะเรียง จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือเครื่องจักรเข้าพื้นที่ดำเนินการจัดการดินที่สไลด์ลงมากีดขวางทางจราจรบนถนนทางหลวงชนบทสาย มส.3004 แยก ทล.105 - บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วง กม.ที่ 48 +000 เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้เกิดดินสไลด์บริเวณสายทางดังกล่าว

ปัจจุบันได้ดำเนินการเปิดเส้นทางโดยจัดการสิ่งกีดขวาง เพื่อให้ประชาชนสัญจรผ่านได้อย่างสะดวกปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตามข้อสั่งการของ 'นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม'

ทั้งนี้ ทช. จะติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง และจะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุอุทกภัยได้ที่แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่หรือสายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146

‘สุริยะ’ สั่ง ‘กรมทางหลวง’ เร่งซ่อมถนน ทล.213 ทรุดตัว หลัง ปชช. ร้องเรียน ‘จราจรติดขัด - เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ’

(20 ก.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการกรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวตำบลเกิ้ง จังหวัดมหาสารคาม ให้สามารถสัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัยโดยด่วน จากกรณีมีข้อร้องเรียนถนนสาย ทล.213 บริเวณถนนถีนานนท์ ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม เกิดเหตุไหล่ทางทรุดตัวและแตกร้าว เหลือช่องจราจรที่สามารถสัญจรได้เพียง 1 ช่องจราจรเท่านั้น ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาวและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีปัญหาภายหลังจากเกิดเหตุอุทกภัย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า แขวงทางหลวงมหาสารคามได้รายงานบริเวณจุดเกิดเหตุดังกล่าว การประปาส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการดึงท่อลอดในโครงการงานย้ายแนวท่อประปาออกจากแนวประสบภัยธรรมชาติผนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว บริเวณ ทล.213 ตอน มหาสารคาม - หนองขอน ระหว่าง กม. ที่ 3+642 - 3+940 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบูรณะซ่อมแซม ทล.213 

แต่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 บริเวณดังกล่าวได้เกิดไหล่ทางทรุดตัว ผิวจราจรบวมตัวและแตกร้าว มีน้ำและสารละลายเบนไทไนท์ (Bentonite) ที่ใช้ในการคว้านเจาะท่อลอดไหลขึ้นบนผิวจราจร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก ช่วงวันที่ 15 - 17 กันยายน ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่และพื้นที่ตอนบนตลอดลำน้ำไหลผ่าน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับน้ำเดิมประมาณ 0.60 เมตร ส่งผลให้ดินโดยรอบรูเจาะที่ระดับความลึกประมาณ 5.70 เมตร เกิดการอิ่มตัว ทำให้สารละลายเบนไทไนท์ไม่สามารถแทรกตัวออกด้านข้างและด้านล่างของรูเจาะได้ จึงเกิดการไหลดันขึ้นด้านบน ดันให้ชั้นผิวทางบวมตัวขึ้นและแตกร้าว

อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปิดการจราจร เพื่อเจาะรูระบายน้ำได้ เนื่องจาก ทล.213 เป็นเส้นทางหลักเข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม มีการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากการดันท่อลอดของการประปาส่วนภูมิภาค โดยเร่งดำเนินการปรับปรุงชั้นโครงสร้างทางให้มีความแข็งแรงด้วยวิธีการอุดรอยแตกร้าวด้วยซีเมนต์มวลเบส รวมถึงการปรับปรุงชั้นพื้นทางโดยวิธีงานหมุนเวียนวัสดุชั้นทางเดิมมาใช้ใหม่ (Pavement In - Place Recycling) และการปรับปรุงชั้นผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต

อีกทั้งปรับช่วงเวลาสัญญาณไฟจราจรระหว่างแยกดอนยม (ทางเข้ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม) - แยกวังยาว เพื่อให้มีความสัมพันธ์และสอดรับกันมากขึ้น พร้อมปรับช่องจราจรให้รถจักรยานยนต์ใช้ช่องทางในช่องไหล่ทาง เพื่อลดการตัดกระแสจราจรในช่องทางหลัก รวมถึงการติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเปิดการจราจรให้ใช้เส้นทางได้ปกติภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วน ทล. โทร. 1586 

‘สุริยะ รมว.คมนาคม’ ยัน!! ไม่เคยสั่งยกเลิก ‘แลนด์บริดจ์’ อยู่ในขั้นตอนศึกษาแผนงานอย่าง ‘รอบด้าน-รอบคอบ’

(21 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวตนสั่งชะลอการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือที่เรียกกันว่า ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ (Land Bridge) นั้น ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ โดยไม่เคยมีการสั่งการให้ยกเลิกการดำเนินงานโครงการตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด 

ทว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วนั้น กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หากเมื่อศึกษาแล้วเสร็จ จะเดินหน้าตามกระบวนการต่อไป 

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นไปตามการมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มอบหมายให้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบาย ‘คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน’ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นลำดับแรก เพื่อยกระดับการเดินทางและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ จะมีการจัดลำดับเป้าหมายในการขับเคลื่อนตามความสำคัญ ยึดหลักผลประโยชน์ประเทศและประชาชนจะได้รับเป็นที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ จะต้องมีการศึกษาและบูรณาการงานร่วมกันอย่างรอบคอบมากที่สุด โครงการไหนที่เป็นประโยชน์ พร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกโครงการฯ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ และได้มอบหมายให้ สนข. ทำการศึกษาโครงการฯ ให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างรอบคอบ  และรัดกุม เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง โดยในขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาและลงทุนโครงการ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตามแผนการดำเนินงานจะมีการจัดประชุมทดสอบความสนใจและรับฟังความเห็นของภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่มีต่อโครงการฯ เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเป็นไปในการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป

สำหรับโครงการนี้จะให้เอกชนลงทุน 100% โดยรัฐจะลงทุนเฉพาะค่าเวนคืนเท่านั้น เนื่องจากวงเงินลงทุนมีมูลค่าสูงประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจประมาณ 2 - 3 ราย แต่เงียบไป ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมีความสนใจในโครงการมากขึ้น กระทรวงฯ จะต้องไปทำ Roadshow เพื่อรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างในประเทศ ทั้งในจีน ยุโรป อเมริกา และประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดและดำเนินโครงการของกระทรวงฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค และให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและความอุดมสุขของพี่น้องประชาชน

‘พงศ์กวิน’ เคลียร์ชัด!! ‘สุริยะ’ ไม่เคยเอ่ยคำว่า ‘ยกเลิกแลนด์บริดจ์’ ชี้!! ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นศึกษา ‘โมเดลที่เหมาะ-ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิด’

(22 ก.ย.66) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ท่านสุริยะไม่เคยพูดเรื่องยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

'แลนด์บริดจ์' หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) จะทำให้ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยการลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่ผ่านช่องแคบมะละกาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

ในปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในไทม์ไลน์ของการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะมีการเสนอให้ครม.เห็นชอบหลักการในเดือนตุลาคม 2566 อนุมัติ EHIA ปลายปี 2567 และเปิดประมูลในช่วงกลางปี 2568

ขอยืนยันว่าทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันทุกนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนให้เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top