รู้จัก ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ มือเก๋าการเมือง ว่าที่ ‘รมว.คมนาคม’ ใน ครม.เศรษฐา 1

รู้จัก ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ว่าที่ ‘รมว.คมนาคม’ ครม.เศรษฐา 1 หลังโผทุกกระทรวงเริ่มลงตัว

โผ ครม. ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐา 1 ในขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าลงตัวเกือบทุกตำแหน่ง ภายหลังการหารือร่วมกันของ 11 พรรคร่วมรัฐบาล และได้จัดสรรตามโควตาของแต่ละพรรคเรียบร้อย อาจมีเพียงบางพรรคที่อาจมีการสลับคน

แต่หนึ่งในโผที่ค่อนข้างแน่นอนคงหนีไม่พ้นกระทรวงเกรด AAA อย่าง ‘กระทรวงคมนาคม’ ที่นักการเมืองรุ่นเก๋า ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ จะหวนคืนนั่งเก้าอี้ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม’ อีกครั้ง

THE STATES TIMES จะพาไปย้อนรอยเส้นทางการเมือง และตำแหน่งต่าง ๆ ที่ ‘สุริยะ’ เคยผ่านมาบนเส้นทางการเมืองกว่า 25 ปี

‘สุริยะ’ ผันตัวเองจากนักธุรกิจ เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในสีเสื้อของของพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นด้วยการที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม - ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี - ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ก่อนที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อปี 2541 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ 

แต่ทว่าชื่อเสียงของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรือกิจ’ เริ่มก้าวสู่ทำเนียบนักการเมืองระดับบิ๊กเนม เมื่อปี 2544 หลังจากแท็กทีม ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลาออกจากพรรคกิจสังคม แล้วย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ก่อตั้งพรรคใหม่ในขณะนั้น

ด้วยฐานเสียงของ สส.ภาคเหนือตอนล่างในมือของ ‘สมศักดิ์’ ผนวกกับการมีทุนใหญ่อย่าง ‘สุริยะ’ ทำให้มุ้งการเมืองในชื่อ ‘กลุ่มวังบัวบาน’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘เจ๊แดง’ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กลายเป็นมุ้งใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูงขึ้นมาในทันที

แน่นอนว่า ด้วยทุนและอำนาจต่อรองในมือ รวมถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถคุยได้กับทุกก๊กทุกก๊วนการเมืองในพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ ‘สุริยะ’ ขยับขึ้นเป็นแกนนำหลักของ พรรคไทยรักไทย ในเวลาไม่นาน มีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการพรรค และผู้สมัคร สส. ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้น พร้อมตามมาด้วยการเป็นเจ้ากระทรวงเกรดเอ อย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ปี 2544 และปี 2548) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2545 และปี 2548) เรื่อยมา โดย ‘สมศักดิ์’ ช่วยเหลือผลักดันอยู่เบื้องหลัง

ก่อนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 กลุ่มของ ‘สุริยะ-สมศักดิ์’ ที่ได้แยกออกมาตั้งกลุ่ม ‘วังน้ำยม’ ถูกลดบทบาทลง โดยตำแหน่งสุดท้ายของ ‘สุริยะ’ ในสีเสื้อพรรคไทยรักไทย เหลือเพียงเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ภายหลังถูกยึดอำนาจปี 2549 ‘สุริยะ’ เก็บตัวเงียบ เนื่องจากโดนพิษการเมืองเล่นงาน ซึ่งถือเป็นรอยด่างในชีวิตการเมือง ทั้งกรณีถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ตั้งแต่ 30 พ.ค. 2550 จากคดียุบพรรคไทยรักไทย และถูก คสต. ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตรวจสอบคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระภายในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ CTX 9000 ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อปี 2548 แต่ต่อมา ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องไปเมื่อปลายปี 2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

แต่อย่างที่เราทราบกันดี นักการเมืองไทยที่ครบเครื่องทั้งบารมี ฝีมือ และสามารถประสานได้ทุกทิศ อย่าง ‘สุริยะ’ มักจะ ‘ว่างงาน’ ได้ไม่นาน สุดท้ายก็ถูกจีบให้มาร่วมสร้างพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งในปี 2562 และมีส่วนสำคัญในการนำความสำเร็จมาสู่การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบดูแลกระทรวงสำคัญอย่าง ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ อีกด้วย ซึ่งหากย้อนดูอดีต จะพบว่า สำหรับพะยี่ห้อ ‘สุริยะ’ แล้ว กระทรวงที่ได้นั่งล้วนแล้วแต่เป็นกระทรวงระดับเกรดเอ และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวน พรรคประชาธิปัตย์, รัฐบาลทักษิณ ในนามพรรคไทยรักไทย จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐ

และในการเลือกตั้ง ปี 2566 ล่าสุด ‘สุริยะ’ พร้อม ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ได้ตัดสินใจโบกมือลาพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกลับเข้าไปร่วมงานการเมืองกับกลุ่มคนคุ้นเคยในสีเสื้อ ‘พรรคเพื่อไทย’ อีกครั้ง

ถึงแม้ว่า จะเปลี่ยนสีเสื้อ แต่บทบาทของ ‘สุริยะ’ ก็ยังคงโดดเด่นเช่นเดิม และเมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็เป็นชื่อแรก ๆ ที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตัวทันที ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกระทรวงไหนเท่านั้น แต่ก็เป็นที่คาดเดาได้ว่าจะต้องเป็นเก้าอี้กระทรวงระดับเกรดเออย่างแน่นอน

และสุดท้าย โผก็ออกมาว่า ‘สุริยะ’ จะได้หวนคืนเก้าอี้ ‘รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม’ อีกคำรบ และแน่นอนว่า มันเป็นการอยู่ถูกที่ถูกเวลา อยู่ถูกพรรค อีกครั้ง และไม่ว่าจะไปอยู่พรรคไหน ก็จะมีโอกาสได้คั่วตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงหลักมาตลอด

ใครที่ว่าแน่ หรืออวดอ้างตนเองเป็นของแท้ในห้วงเพลาใด แต่ดูเหมือน มีแต่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นี่แหละ ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ และผู้มากบารมีที่แทบทุกรัฐบาลจะขาดไม่ได้อย่างแท้จริง!!