Sunday, 28 April 2024
สุริยะ_จึงรุ่งเรืองกิจ

'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับ VISA Free 'จีน-คาซัคฯ' ยืนยันทุกสนามบินมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร

(22 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานตามนโยบาย VISA Free ของรัฐบาล โดยมี นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดนโยบายมาตรการ VISA Free ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566 - 2567 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับเทศกาลวันชาติของจีน คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากมาตรการ VISA Free ของรัฐบาล จากเดิม เฉลี่ย 72 เที่ยวบิน/วัน เป็น 96 เที่ยวบิน/วัน และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากเดิม 9,680 คน/วัน เป็น 18,656 คน/วัน โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุดตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย

"ผมได้สั่งการให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น" รมว.คมนาคม กล่าว

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนี้...

(1) ผู้โดยสารขาเข้า

- ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมประจำการเต็มช่องตรวจหนังสือเดินทาง ทั้ง 138 ช่อง ในชั่วโมงหนาแน่น และเตรียมเครื่องตรวจอัตโนมัติ 16 เครื่อง ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ กำกับดูแลและติดตามเวลาการจัดส่งสัมภาระให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน จัดเตรียมอัตรากำลังและอุปกรณ์ให้เต็มขีดความสามารถและสอดคล้องกับเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

(1.1) ผู้โดยสารขาออก

- ขั้นตอนการเช็กอิน ประสานสายการบินจัดให้มีพนักงานให้บริการเช็กอินเต็มทั้ง 302 เคาน์เตอร์ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และใช้บริการเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมการทำ Early Check-in

- ขั้นตอนจุดตรวจค้น จัดเจ้าหน้าที่เกลี่ยแถวผู้โดยสารให้สามารถเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 โซน ในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ตรวจค้น ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์ 25 เครื่อง ที่ได้ติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนการตรวจลงตรา ประสานเจ้าหน้าที่ ตม. ให้นั่งเต็ม 69 ช่องตรวจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วน และเตรียมเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คน ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. จะได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด และการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

'กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ" รมว.คมนาคม ทิ้งท้าย

'ก.คมนาคม' เผย สะพานข้ามทางรถไฟประจวบฯ เสร็จสมบูรณ์ ช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุยั่งยืน ยกระดับความปลอดภัย ปชช.

(27 ก.ย. 66) กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามทางรถไฟบนถนนสาย ปข.1003 จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพการแก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน พร้อมรองรับรถไฟทางคู่ในอนาคต ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับ
ถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 แยก ทล.4 - บ้านโพธิ์เรียง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการรถไฟทางคู่ของกระทรวงคมนาคมในอนาคต ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ปัจจุบันถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช. ที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟมี จำนวน 153 แห่ง สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 แยก ทล.4 - บ้านโพธิ์เรียง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่บนถนนที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟ ซึ่งในอดีตบริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงจุดตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้บริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟที่มีค่าคูณควบจราจร (Traffic Moment หรือ T.M.) มากกว่า 100,000 ให้ก่อสร้างทางผ่านเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการรองรับโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง (โครงการรถไฟทางคู่)

โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 288.700 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการ เชื่อม ทล.4 (กม.ที่ 278) จุดสิ้นสุดเชื่อมถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (กม.ที่ 1+450) ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย

- สะพานแห่งที่ 1 ยาว 310 เมตร พื้นสะพานกว้าง 10 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมแบบคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.5 เมตร รวมความยาวถึงจุดสิ้นสุดโครงการ 1,246 เมตร พร้อมก่อสร้างทางกลับรถใต้สะพานผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก 

- สะพานแห่งที่ 2 ยาว 449.95 เมตร พื้นสะพานกว้าง 8 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมแบบคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร รวมความยาวถึงจุดสิ้นสุดโครงการ 195 เมตร พร้อมสะพานลอยคนเดินข้าม 1 แห่ง มีผนังกันราวตกและมีหลังคาคลุมตลอดทางเดิน

'กรมทางหลวง' พร้อม!! ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร เปิดใช้ฟรี 'มอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว' 8 กม.กลางปี 67

(11 ต.ค. 66) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในข้อตกลงคุณธรรมร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร (กม.) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566

สำหรับการลงนามข้อตกลงคุณธรรมในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดภายใต้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ 2564 เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตในโครงการร่วมลงทุน ส่งผลให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน

นายสราวุธ กล่าวว่าแผนการดำเนินโครงการ O&M มอเตอร์เวย์ M82 นั้น วงเงิน 15,724 ล้านบาท สัญญาสัมปทาน 32 ปี แบ่งเป็น ค่างาน O&M วงเงิน 14,687 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี และ ค่าก่อสร้างงานระบบ วงเงิน 1,037 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ ทล. จัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน (RFP) แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาเห็นชอบต่อไป

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ทล.มีแผนจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และจำหน่ายเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในไตรมาส 1/2567 โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอฯ ในช่วงไตรมาส 3/2567 ก่อนจะสรุปผลการคัดเลือกเอกชน และเสนอไปยังคณะกรรมการอัยการสูงสุด พร้อมลงนามในสัญญาภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกในช่วงไตรมาส 1/2568 ต่อไป 

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธานั้น ตอนที่ 1 หรือสัญญาที่ 1-3 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. วงเงิน 10,477.386 ล้านบาท ณ ก.ย. 2566 มีความคืบหน้าอยู่ที่ 86.45% จะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 และจะเปิดให้บริการทดลองใช้ฟรีทันที เชื่อมต่อการเดินทางกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบบไร้รอยต่อ 

นายสราวุธ กล่าวว่าขณะที่ ตอนที่ 2 อีก 10 สัญญา ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. ปัจจุบันผลงานคืบหน้า 33.94% ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 จากแผนจะแล้วเสร็จในปลายปี 2568 ซึ่ง ทล. จะพิจารณาเปิดใช้งานโยธา ควบคู่การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน เพื่อเข้าพื้นที่ไปดำเนินการโครงการ O&M โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569

“โครงการมอเตอร์เวย์ M82 ที่จะวิ่งลงสู่ภาคใต้นั้น ผมได้เร่งรัดให้งานโยธาแล้วเสร็จภายในกลางปี 68 จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จภายในปลายปี 68 ซึ่งจะถือว่า เป็นการปิดตำนานถนนเจ็ดชั่วโคตรบนถนนพระราม 2 จบแน่นอน ส่วนต่อขยายจากบ้านแพ้ว ไปยังปากท่อ ซึ่งอยู่ในแผนฯ ของ ทล.นั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 71 ซึ่งในช่วงดังกล่าว ยังมีปริมาณการจราจรไม่มากนัก และรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในระยะต่อไป“ นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการ O&M มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน–นครราชสีมา และหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่–กาญจนบุรี โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกนั้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการ M6 มีความคืบหน้าการดำเนินการล่าช้ากว่าแผน 19% เหตุจาก ทล. ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 12 ตอน ภายหลังได้รับการเพิ่มวงเงินจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 โดยในปี 2566 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 ตอน, ปี 2567 แล้วเสร็จ 6 ตอน และจะแล้วเสร็จอีก 4 ตอนครบตลอดสายทางภายใน มิ.ย. 2568 ขณะที่ โครงการ O&M M81 ล่าช้ากว่าแผน 16% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อแผนการดำเนินโครงการอย่างแน่นอน

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M82 จะใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางในรูปแบบไร้ไม้กั้น (M-Flow) เต็มรูปแบบ 100% ทั้งนี้ ทล. คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 64,203 คันต่อวัน และมีปริมาณจราจรตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ได้รับสัมปทานรวม 1,548,539,113 คัน ส่วนการคาดการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 1,272.71 ล้านบาท และมีรายได้ค่าผ่านทางตลอดสัญญาสัมปทาน 30 ปี อยู่ที่ 116,954.15 ล้านบาท

ครม.อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย  ประเดิม!! 'สายสีแดง-สายสีม่วง' คิกออฟบ่ายนี้  

(16 ต.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ประเดิมที่สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีม่วง (เตาปูน-บางไผ่) โดยรัฐบาลต้องใช้งบอุดหนุนปีละ 130 ล้านบาท 

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะไปเป็นประธานพิธีเปิดที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อใช้ทันที เริ่มบ่ายวันนี้ (16 ต.ค.66)

‘สุริยะ’ ปลื้มใจ!! ประชาชนชื่นชอบ 20 บาทตลอดสาย ยัน!! ไม่สุดแค่ 30 พ.ย.67 เตรียมเสนอต่ออายุมาตรการปีหน้า

(18 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อ 16 ต.ค. 66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น ล่าสุดทาง รฟม. และ รฟท.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นขอยืนยันว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่ระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าว จะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย.2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม. นั้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี

ถอดรหัสประโยชน์หลากเด้ง 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' ความเหลื่อมล้ำคนเมืองที่ถูกเคลียร์ไปพร้อมๆ กับการลดราคา

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเลือกตั้ง นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อย่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถูกปรามาสอย่างรุนแรง ว่าคงไม่สามารถทำได้จริง และมองนโยบายนี้เป็นเพียงนโยบายหาเสียงไว้เรียกคะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงวันที่นโยบายนี้ถูกเข็นออกมา…นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกเหตุผลประกอบที่พอฟังดี ๆ นี่ไม่ใช่แค่นโยบาย แต่จะเป็นหมัดเด็ดซื้อใจเพื่อโกยฐานคนกรุงและปริมณฑล หากมีโอกาสทำ ได้มากพอสมควร

ตอนนั้น เศรษฐา ร่ายยาวว่า ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง เป็นปัญหายอดนิยมคู่กรุงเทพฯ มานานตั้งแต่รถไฟฟ้าเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ปี 2542 โดยเป้าหมายแท้จริงตอนที่จะเริ่มสร้างนั้น ก็เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในความเป็นจริง กลับตาลปัตรมิได้เป็นเช่นหวัง เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้ากลายเป็นระบบขนส่งของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น เนื่องด้วยค่าบริการที่คนในสังคมหลาย ๆ กลุ่มเข้าไม่ถึง 

ที่กล่าวว่าหลายกลุ่มในสังคมเข้าไม่ถึงก็เพราะว่า ถ้าเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ต่อเที่ยวคิดเป็น 11% ของค่าแรง (ไปกลับก็ 22%) ซึ่งแพงมากเทียบกับอัตราส่วนเพียงแค่ 1.5% ของค่าแรงที่เกาหลีใต้ 2.9% ที่ญี่ปุ่น หรือ 3.5% ที่สิงคโปร์ ซึ่งสังเกตได้ว่าในประเทศเหล่านั้นการขึ้นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ จนเหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน 

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นอัตราค่าโดยสารที่แพงกว่าคนอื่นนี้ ถูกซ้ำเติมโดยสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตโควิดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาอีก ในเมื่อสินค้าจำเป็นแพงขึ้นและรายได้ลดลง รถไฟฟ้าก็กลายเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและเข้าไม่ถึงยิ่งไปกว่าเดิม ทำให้ประชาชนหลายคน ต้องยอมเสียเวลาเดินทางหลายต่อ นั่งรถตู้มาจากบ้าน ต่อรถเมล์ และเดินเพื่อให้ไปถึงที่หมาย เพียงเพราะไม่สามารถจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ เผลอ ๆ จะต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกเป็นชั่วโมง

เกมนี้ พรรคเพื่อไทย จึงฉลาดที่พยายามย้ำคำว่า “รถไฟฟ้าควรเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้” และเลือกสร้างนโยบายที่จะเข้าไปแตะราคาค่ารถไฟฟ้าให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเตรียมเร่งเจรจากับทุกภาคส่วนเพื่อลดค่าโดยสารลงให้เหลือ 20 บาทตลอดสายกับเส้นสีอื่น ๆ ให้เป็นอัตราขั้นต่ำที่เข้าถึงได้ และเป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น ฝรั่งเศส)

กล่าวโดยสรุป ประโยชน์จากนโยบายการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ก็เพื่อปลดล็อกรถไฟฟ้าให้เหมาะต่อกลุ่มคนเมืองจำนวนมาก ด้วยราคาที่ไม่เกินเอื้อม

ขณะเดียวกัน การเข้าถึงระบบการเดินทางที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัย ตอบโจทย์ จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวเมืองดีขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ถ้ามองเชื่อมไปถึงประโยชน์ภาพใหญ่ของประเทศ นโยบายนี้ก็จะเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพของเมือง’ ซึ่งตีเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ในทางตรง ขณะที่ในทางอ้อมนโยบายนี้ก็จะจูงใจให้คนเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จนลดการใช้รถใช้ถนน ลดปริมาณจราจรบนท้องถนน ช่วยบรรเทาปัญหารถติด สามารถคืนเวลาทำมาหากินที่เสียไปเปล่า ๆ กับการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งสามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มหาศาล และยังทำให้ประชาชนชาวไทย ไม่ต้องอดหลับอดนอน มีเวลากับตัวเอง กับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายนี้ยังจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในทางบวก จะช่วยลดการปล่อยมลภาวะอันเกิดจากการลดอัตราการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นภัยเงียบของประชาชนอีกด้วย 

เรียกได้ว่า ถ้าเพื่อไทยทำแล้วเกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้แบบโดมิโน่ แถมอาจเข้ามาเป็นฮีโร่ปลดล็อกราคาสายรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ นอกจาก 'ม่วง-แดง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายหลักสีเขียว (ไม่ต้องถึง 20 บาทก็ได้) โอกาสที่ชื่อเพื่อไทยจะไม่หลุดไกลจากสารบบคนกรุง ในวาระการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูง

'สุริยะ' เผย 'สนามบินเชียงใหม่' พร้อมเปิดให้บริการ 24 ชม. รองรับ นทท. ตามนโยบาย 'Quick-Win' เริ่ม!! 1 พ.ย.นี้

(27 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการอำนวยความสะดวกการเดินทางและรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) อาทิ นักท่องเที่ยวจีน ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายวีซ่าฟรี รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยวจากยุโรปและประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น (Quick-Win) ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จึงเตรียมเปิดดำเนินการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จากเดิมเปิดดำเนินการทำการบิน 18 ชม. หรือตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเที่ยวบินที่จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามสำหรับเที่ยวบินแรกที่จะเริ่มทำการบิน ภายหลังท่าอากาศยานเชียงใหม่เปิดดำเนินการ 24 ชม. นั้น คือ สายการบินไทยเวียตเจ็ท เที่ยวบินที่ VZ822 เส้นทางเชียงใหม่ - โอซาก้า ออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 00.30 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2566) เดินทางถึงท่าอากาศยานคันไซ (โอซาก้า) เวลา 07.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้ ทอท. หารือร่วมกับสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดตารางการบินให้เหมาะสม และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และให้ดำเนินการเป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งให้มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ให้ ทอท. จัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอีกครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ เช่น สถานที่ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น อีกทั้งให้ประสานระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรับ - ส่งนักท่องเที่ยว เข้าไปยังที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตามนโยบาย “Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน” ขณะเดียวกัน มอบหมายให้ ทอท. พิจารณาจัดสรรพื้นที่ในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนฯ นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดให้บริการ 24 ชม. นั้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สายการบิน และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมเวลาเปิดให้บริการ โดยคาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย จะมีเที่ยวบินและผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศของท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบันมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ยประมาณ 4,800 คนต่อวัน มีเส้นทางระหว่างประเทศ 20 เส้นทาง และมีเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้าและขาออก (เที่ยวบินปกติ - เที่ยวบินพิเศษ) รวม 36 เที่ยวบินต่อวัน

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก ดังนั้น การขยายเวลาการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 24 ชม. ถือเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดด้านเวลาที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว รองรับเที่ยวบินระยะกลางหรือระยะไกล ที่ใช้เวลาบินออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่หลังเวลา 24.00 น. เพื่อไปถึงประเทศปลายทางในตอนเช้า รวมถึงเป็นการเพิ่มตารางการบิน (Slot) และเที่ยวบิน ให้สายการบินมีทางเลือกในการจัดตารางการบินด้วย

‘สุริยะ’ เล็ง!! ใช้เวทีเอเปคที่สหรัฐฯ 11 - 17 พ.ย.นี้  ประเดิมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติร่วมทุน

(2 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนเตรียมเดินทางร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่าง 11 - 17 พ.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะใช้โอกาสนี้โปรโมทโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดัน เพื่อให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการสำคัญสนับสนุนการเดินทาง การค้า และการขนส่ง

“ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการและให้กระทรวงคมนาคมเริ่มโรดโชว์โครงการเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าร่วมลงทุนในแลนด์บริดจ์ การเดินทางไปประชุมเอเปกครั้งนี้ จึงถือเป็นการประเดิมโรดโชว์โครงการนี้ด้วย โดยกระทรวงฯ จะใช้เวทีกลุ่มย่อยในการเจรจาความร่วมมือด้านการคมนาคมและการขนส่งนี้ โปรโมทแลนด์บริดจ์เพื่อให้เป็นสื่อกลางไปยังนักลงทุนเอกชน และหลังจากนี้กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะโปรโมทแลนด์บริดจ์ไปในอีกหลายประเทศต้นไตรมาส 1 ของปี 2567” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับความพร้อมของการผลักดันแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 หลังจากนั้นจะมีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยหากขั้นตอนเหล่านี้แล้วเสร็จ คาดว่าแลนด์บริดจ์จะสามารถเริ่มเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการลงทุนจากเอกชนในปี 2568

ทั้งนี้กรอบการดำเนินงานที่ ครม.อนุมัติในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2558 และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2568 จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือน ส.ค. 2568 และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย. 2568 โดยโครงการนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค. 2573

สำหรับผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด

‘สุริยะ’ สั่ง!! ‘ทอท.’ เร่งลดความแออัดภายในสนามบิน พร้อมรับนักท่องเที่ยว ‘อินเดีย-ไต้หวัน’ 10 พ.ย.นี้

(8 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวอินเดียและไต้หวันตามนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลนั้น ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566-2567

“ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอื่น ๆ พร้อมทั้งให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน”

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด

ส่วนการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำอีกทั้งให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยนั้น จากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาข้อมูล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น 557,554 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 79,651 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 73,297 คน รองลงมา ได้แก่ จีน จำนวน 67,443 คน, รัสเซีย จำนวน 39,136 คน, อินเดีย จำนวน 30,547 คน และเกาหลีใต้ จำนวน 30,255 คน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 22,622,522 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 954,239 ล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top