Tuesday, 21 May 2024
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

'สุริยะ' ชี้!! ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน 5 โต 7.46% คาด!! ศก.ภาคอุตฯ ขยายตัวอีกหลังจีนคลายล็อกดาวน์

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2565  ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 7.46 เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยสะท้อนได้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 19.97 ชี้ภาคการผลิตรับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบจากการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาด!! การขาดแคลนวัตถุดิบเป็นผลกระทบระยะสั้น ส่วนภาคการผลิตจะขยายตัวหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.46 โดยสะท้อนได้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 19.97 ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 5 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.11 ทั้งนี้จำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีนที่ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นผลกระทบระยะสั้น ภาคการผลิตขยายตัวอีกครั้งหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 

ด้านนางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 2.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลน เซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในเดือนหน้าหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ ในขณะที่การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก  ด้านสถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนมีผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะเดียวกันภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมขยายตัวที่ร้อยละ 11.8 เร่งตัวขึ้นจากเดือนเมษายนขยายตัวที่ร้อยละ 11.4

ก.อุตฯจับมือมหาดไทย-ก.ทรัพย์-ผู้ว่า 39 จ. ร่วมขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์

กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง มหาดไทย ก.ทรัพย์ สภาอุตฯ ลงนาม MOU พร้อมผู้ว่าฯ 39 จังหวัดเป้าหมาย พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5 การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน ยกระดับเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมอบหมายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพดำเนินงาน

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรอ. กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจังหวัดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด เพื่อการแสดงเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกัน ในการร่วมบูรณาการความร่วมมือพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของหน่วยงานภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

โดยได้รับเกียรติจาก นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายธัญญา เนติธรรมกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน และลงนามบันทึกความเข้าใจโดย นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด 39 จังหวัดเป้าหมาย แบ่งเป็น…

‘สุริยะ’ ชี้ MPI ฝ่าวิกฤตศก. ครึ่งปีโต 0.48% เผยอานิสงส์เปิดประเทศ หนุนปิโตรเลียม – สิ่งทอ ฟื้น

อก. เผย MPI 6 เดือนแรกปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.48 อานิสงส์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตฯ น้ำมันปิโตรเลียมและอุตฯ สิ่งทอ ฟื้นต่อเนื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ครึ่งปีแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอบรับสถานการณ์การผลิตกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว พร้อมผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 หนุนกำลังการบริโภคประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยประมาณการ MPI ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและเพิ่มกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก คาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สำหรับภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ใน 6 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.48 ขณะที่เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ในระดับทรงตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 63.81 ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 98.05 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.41 โดย สศอ. ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 - 3.0 จากการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบประกอบกับประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ ยานยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี รองเท้า กระเป๋า และเบียร์ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบ ประเทศคู่ค้าเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศ อาทิ ศรีลังกา เมียนมาร์ และลาว อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนของไทย

'สุริยะ' เชื่อเหตุสภาล่ม ไม่เกี่ยว 'บิ๊กป้อม' ยันสมัยหน้า 'สามมิตร' ยังอยู่กับ พปชร.

'สุริยะ' ยัน 'พล.อ.ประวิตร' ไม่มีล็อบบี้ ส.ส.พรรคโดดร่ม ชี้สูตรหาร 100 เป็นกติกาสากล ลั่นสมัยหน้าสามมิตรยังอยู่ ไม่ตอบ 'บิ๊กป้อม' เหมาะนั่งนายกฯ หรือไม่

11 ส.ค. 2565 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงเหตุการณ์การประชุมรัฐสภาสภาล่มในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการดีลกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่ว่า เท่าที่อยู่ร่วมด้วยข้อมูลนี้ไม่จริง และเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามกลไกของสภา

ขณะเดียวกันนายสุริยะ ยังระบุอีกว่าไม่ทราบรายงานข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. โทรศัพท์ไปล็อบบี้ ส.ส.ภายในพรรคให้ออกจากห้องประชุม เพื่อให้สภาล่มและกลับไปใช้ร่างของรัฐบาลหา ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยวิธีหาร 100 แต่ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เนื่องจากไม่เคยได้รับการประสานและจากการสอบถาม นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็บอกว่าไม่มีเช่นกัน

เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพรรค พปชร.ถูกพุ่งเป้าจะทำให้เกิดปัญหา รอยร้าวเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหามาโดยตลอด นายสุริยะกล่าวว่า ต้องพิจารณาให้ดี เชื่อในสูตรหาร100 เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบอยู่แล้ว ในการเลือก ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหากใช้สูตรหาร 100 มองว่าตรงไปตรงมา พรรคใดได้คะแนนก็ว่ากันไป เป็นระบบที่ดี จึงเชื่อได้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่านำมาเป็นประเด็นทางการเมือง

‘สุริยะ’ ชูนโยบาย BCG ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ผ่านเวทีประชุมเอเปคด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ ชูนโยบาย BCG โชว์ศักยภาพเจ้าภาพการประชุมเอเปคด้านมาตรฐาน จับมือ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค พลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีการค้าโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตามแนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.”  

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปค (Sub-Committee on Standards and Conformance: SCSC) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCSC ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2565  ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ สมอ. ได้ผลักดันภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ 1.) การพัฒนาและผลักดันกิจกรรมด้านมาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับ BCG Model 2.) สนับสนุนและส่งเสริมแนวทางใหม่ เพื่อให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 และฟื้นฟูการค้าและการลงทุน 3.) ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนตลาดและเชื่อมโยงสู่สากล และ 4.) สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าให้ผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs)  โดยมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน ภายใต้หัวข้อ "Open. Connect. Balance." หรือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล" ผ่านแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นมาตรฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (2) การจัดกิจกรรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การสัมมนาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ BCG Model เช่น แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบ การออกใบรับรองดิจิทัล และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

ก.อุตฯ เดินหน้ากระจายความสุขให้คนไทย 'หนุน SMEs - ส่งเสริมรถยนต์ EV - ลดต้นทุนปุ๋ยแพง'

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ากระจายความสุขสู่ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผ่านแคมเปญเด่น 3 โครงการ ส่งเสริมสนับสนุน SMEs เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของประชาชนระดับชุมชนและประชาชนทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV หลังความต้องการใช้ของประชาชนเพิ่มขึ้น และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วยการลดต้นทุนจากสถานการณ์ราคาปุ๋ยแพง ด้วยการเพิ่มศักยภาพ 'แร่โพแทช' นำมาสกัดเป็น 'ปุ๋ยโพแทช'  เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่านรายการ 'คุยเรื่องบ้าน เรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี' ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากซึ่งก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญนำไปสู่การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถกระจายรายได้อย่างทั่วถึงทุกท้องที่ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในระดับชุมชนและประชาชนทั่วไปครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยการฟื้นฟูผู้ประกอบการ สร้างทักษะจำเป็นให้กับแรงงาน เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจและสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้ได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการดำเนินโครงการ 'พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม' หรือ 'โครงการอาชีพดีพร้อม' นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย, พิจิตร, นครสวรรค์, ชัยนาท, ชลบุรี, สงขลา และยะลา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถบรรเทาปัญหาปากท้องของประชาชนที่ขาดแคลนรายได้จากการว่างงานและยังเพิ่มทักษะอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีให้ได้รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา และจากความสำเร็จดังกล่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จึงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณ 1,249 ล้านบาท ให้แก่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยภายใต้ 'โครงการอาชีพดีพร้อม' กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ดำเนิน 'โครงการอาชีพดีพร้อม' เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงสิ้นปีนี้ โดยมี 4 หลักสูตร ได้แก่...

1.พัฒนาทักษะด้านการผลิต ประกอบด้วย ทักษะอาชีพลดรายจ่าย และทักษะอาชีพเพิ่มรายได้

2.พัฒนาทักษะด้านการบริการ อาทิ กลุ่มอาชีพช่าง หรือกลุ่มอาชีพบริการ

3.พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ต้นทุนอัตลักษณ์เดิมในชุมชน ให้ตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน

และ 4. พัฒนาต่อยอดทักษะจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การบริหารด้านการเงิน และการสร้างแบรนด์สินค้า 

"โครงการนี้ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างอาชีพเสริมที่มั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนรวม 700,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ล้านบาท เชื่อว่าการดำเนิน 'โครงการอาชีพดีพร้อม' ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูบานใหม่ ให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงโอกาส ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประโยชน์ทั้งหมด จะกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนฐานรากซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย 

"ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะได้รับคือความรู้และทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และภูมิปัญญาของคนในชุมชน สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้จากภายใน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ" นายสุริยะ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังผลักดันส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมีการใช้ในจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากรถยนต์ EV เป็นเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และปัญหาความผันผวนของราคาพลังงาน รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่ EV 

โดยคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมาย 30@30 (30 แอท 30) หรือ การผลิต EV ให้ได้ร้อยละ30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ออกนโยบายสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น มาตรการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station ให้ครอบคลุมการใช้งานมากที่สุด โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านลดอากรนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV ในประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2564 ปรากฎว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก จากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการจดทะเบียน EV เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 ทั้งปี โดยคาดการณ์ว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV ทั้งปี 2565 อาจสูงถึง 10,000 คัน 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญต่อมาตรฐานและความปลอดภัยของรถยนต์ EV โดยได้ก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ ATTRIC (แอททริค) และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้เกิดการยกระดับการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในด้านผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน และนวัตกรรม และต่อยอดอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานรถยนต์ EV และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการใช้พลังงาน มาตรฐานแบตเตอรี่ มาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในการใช้ EV ที่ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อไปด้วยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากหลายปัจจัยรวมกันได้แก่ การขึ้นราคาของแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตปุ๋ยเคมี สงครามในยูเครน ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยที่สำคัญ เช่น รัสเซีย และจีน ซึ่งราคาปุ๋ยเคมีเริ่มมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การหาทางออกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทย ด้วยการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีระยะยาวคือ โครงการเหมือนแร่โพแทช เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา โดยการนำแร่โพแทช มาสกัดเป็นปุ๋ยโพแทชซึ่ง เป็น 1 ใน 3 ของธาตุอาหารหลักของพืชใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยในปีนี้ (2565) ราคาปุ๋ยโพแทชภายในประเทศ ปรับขึ้นจากตันละ 9,000 บาท เป็นตันละ 25,600 บาท และมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก

‘สุริยะ’ มั่นใจเจรจาคิงส์เกตจะเป็นไปด้วยดี แจง ครม.ไม่ได้อนุมัติงบเพิ่มสู้คดีคิงส์เกต

'สุริยะ' แจง ครม.ไม่ได้อนุมัติงบเพิ่มสู้คดีคิงส์เกต ชี้ เป็นเพียงการขยายกรอบเวลา รับหารือแนวทาง 'วิษณุ' เน้นการเจรจา พร้อมเตรียมบินออสเตรเลียพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 10.55 น. วันที่ (22 ก.ย. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดีกับบริษัทคิงส์เกต ในคดีเหมืองทองอัครา โดยชี้แจงว่า ในที่ประชุมครม.ไม่มีการอนุมัติงบเพิ่มเติมแต่อย่างใด เป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อน เป็นเพียงงบเดิมที่มีการขยายกรอบระยะเวลาการสู้คดี เนื่องจากการเจรจายังไม่สิ้นสุด จึงขอชี้แจ้งว่า ไม่ได้มีการเพิ่มงบในการสู้คดีแต่อย่างใด

ก.อุตฯ เตรียมจ่ายเงินค่าตัดอ้อยสด-คุณภาพดี รอบแรก จำนวน 1.22 แสนราย ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ไม่เกิน 7 ตุลาคมนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ภายใต้กรอบวงเงิน 8,319.24 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายเงินรอบแรกช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีไม่เกินวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ของชาวไร่อ้อยแต่ละรายโดยตรง จำนวน 122,651 ราย มีปริมาณอ้อยสดส่งโรงงาน 64.36 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 7,723.73 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือครบทุกรายภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้วางแผนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมใช้สางใบอ้อย ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาอ้อย การลงนามในบันทึกความร่วมมือการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัดทั่วประเทศ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 - 2567 รวมถึงขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสด

สมอ. คุมเข้ม ‘ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร’ ปักธงดีเดย์ 3 ม.ค. 66 ต้องได้มาตรฐาน มอก.

สมอ. ตั้งธงดีเดย์ 3 มกราคม 2566 กำหนดให้ ‘ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร’ เป็นสินค้าควบคุม ต้องได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน คุมเข้มทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าทุกรายต้องยื่นขอ มอก. ก่อนวันมีผลบังคับใช้ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

(8 พ.ย. 65) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว อีกภารกิจที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยการควบคุมสินค้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 136 รายการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะควบคุมเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 

1.) ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ที่ทำจากพอลิเอทิลีน, พอลิพรอพิลีน, พอลิสไตรีน, พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต, พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  

2.) ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ที่ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์, พอลิคาร์บอเนต, พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 

3.) ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหารที่ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์ 

4.) ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  

และ 5.) ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว 

โดยสินค้าทั้ง 5 รายการดังกล่าวแบ่งตามชนิดของพลาสติกที่ใช้ทำเฉพาะชั้นที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 3 มกราคม 2566 นี้ เนื่องจากภาชนะที่สัมผัสอาหารโดยตรงมีความเสี่ยงที่จะมีสารเคมีปนเปื้อน หรือสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ เช่น สารตั้งต้นที่ใช้ทำพลาสติก โลหะหนักที่อยู่ในสารเติมแต่ง หรือสีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก เป็นต้น 

ด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสินค้าทั้ง 5 รายการดังกล่าว เป็นสินค้ามาตรฐานทั่วไปที่ผู้ประกอบการสมัครใจในการยื่นขอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน มอก.655 และ มอก.2493 ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. รวมจำนวน 13 ราย แต่หลังจากวันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการทุกรายทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า จะต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีทำโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

‘สุริยะ’ กำชับ! อุบัติเหตุจากแอมโนเนียรั่วต้องเป็นศูนย์ สั่ง กรมโรงงานฯ ให้ความรู้ผู้ประกอบการเครื่องทำความเย็น

สุริยะ ลั่น!! อุบัติเหตุจากแอมโนเนียรั่วต้องเป็นศูนย์ กรมโรงงานฯ เด้งรับ จับมือ สมาคมเครื่องทำความเย็นไทย จัดงาน 'THAI AMMONIA REFRIGERATION 2022' ยกระดับความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นกว่า 3,000 โรงทั่วประเทศ สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำแข็งหลอด โรงงานผลิตน้ำแข็งซอง โรงงานห้องเย็นและโรงงานแปรรูปอาหาร เมื่อเกิดเหตุการรั่วไหลของแอมโมเนียของโรงงานเหล่านี้ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน และดูแลบำรุงรักษาระบบทำความเย็นอย่างถูกต้อง จึงสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระตุ้นผู้ประกอบการโรงงานที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นให้เกิดการตื่นตัว รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานและการดูแลรักษาระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนีย โดยมีเป้าหมายอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหลต้องเป็นศูนย์

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากแอมโมเนียรั่วไหล มักเกิดความเสียหาย และอาจส่งผลกระทบถึงประชาชนโดยรอบโรงงาน กรอ. จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเครื่องทำความเย็นไทย จัดงาน 'THAI AMMONIA REFRIGERATION 2022' เพื่อยกระดับด้านความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบทำความเย็นที่ใช้สารแอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก เสริมแกร่งด้วยความรู้ด้านกฎหมายและมาตรฐานการใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น เพื่อมุ่งลดอุบัติเหตุจากแอมโมเนียรั่วไหลเป็นศูนย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top