Monday, 20 May 2024
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

‘สุริยะ’ แกะกล่องของขวัญคมนาคมรับปีมังกร จ่อเสนอ ครม.พรุ่งนี้ แบบครบจบทุกการเดินทาง

(25 ธ.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานเตรียมของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อมอบให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด ‘Gifts : คมนาคมส่งความสุข 2567’ ให้พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างมีความสุข สะดวก ปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงฯ เตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายละเอียดในวันที่ 26 ธันวาคมนี้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิด ‘Gifts : คมนาคมส่งความสุข 2567’ ซึ่งประกอบด้วย…

G = Gift to People คมนาคมส่งมอบความสุข 
I = Infrastructure for Nation คมนาคมสร้างเส้นทางไทย 
F = Facilitation คมนาคมสะดวก บริการประทับใจ 
T = Tourist Promotion คมนาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว
S = Safety Journey คมนาคมใส่ใจปลอดภัยทุกการเดินทาง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า G = Gift to People ส่งมอบความสุขด้วยการเปิดให้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางด่วน และรถไฟฟ้าฟรี ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-บ้านฉาง) และมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษกหรือถนนวงแหวนรอบนอก) และรวมถึงเปิดให้บริการฟรีบนทางพิเศษ (ทางด่วน) บูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. อีกทั้งทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น.

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีส่วนลดค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ 5% ให้กับผู้ที่ซื้อคูปองผ่านทาง ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 และส่วนลดค่าโดยสาร บขส. 20% ทุกเส้นทางให้กับผู้ที่จองตั๋วรถ บขส. ผ่านช่องทางออนไลน์ของ บขส. ที่เดินทางระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม 2566 และวันที่ 4-8 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย เพื่อให้บริการตรวจสภาพความพร้อมของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฟรี กว่า 20 รายการ ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการอาหารเช้ากับผู้โดยสารรถไฟในวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่สถานีดอนเมือง และแจกถุงรถไฟรักษ์โลกให้กับผู้ที่เดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สามเสน ดอนเมือง รังสิต มักกะสัน วงเวียนใหญ่ และธนบุรี รวมจำนวน 12,000 ใบ

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับ I = Infrastructure for Nation คมนาคมสร้างเส้นทางไทย โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้เปิดให้ใช้บริการมอเตอร์เวย์ฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและลดปัญหาจราจรติดขัด ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา ช่วงอำเภอปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กิโลเมตร (กม.) ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป จนกว่าระบบเก็บค่าผ่านทางจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อแบ่งเบาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ)

นายสุริยะ กล่าวว่า ทั้งนี้ มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 จะเปิดให้เข้า-ออก 4 จุด ได้แก่ บนถนนมิตรภาพ บริเวณ อ.ปากช่อง และ อ.สีคิ้ว บนถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา บริเวณ อ.ขามทะเลสอ และบริเวณทางเชื่อมต่อกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาด้านตะวันตก และมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางนครปฐมฝั่งตะวันตก ถึงด่านกาญจนบุรี (จุดสิ้นสุดโครงการ) ระยะทาง 51 กม. ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 16.30 น. – 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. โดยสามารถเข้า - ออกได้ 2 จุด คือ ด่านนครปฐม ฝั่งตะวันตก และด่านสิ้นสุดโครงการที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

นายสุริยะ กล่าวว่า ในส่วนของ F = Facilitation คมนาคมสะดวก บริการประทับใจ ได้จัดให้มีบริการด้านต่าง ๆ ของระบบคมนาคมขนส่ง โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขยายเวลาการเดินรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ ในเส้นทางที่ผ่านสถานที่จัดงานสวดมนต์ข้ามปีและงานเคาน์ดาวน์ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศฯ สนามหลวง วัดเบญจมบพิตร เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม เมกาบางนา เอเชียทีค ซีคอนสแควร์ เป็นต้น รวมทั้งเปิดเส้นทางใหม่ 5 เส้นทาง เพื่อรองรับประชาชนที่พักอาศัยในเขตชานเมือง

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง และสีแดง ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงเปิดให้บริการบัตร EMV Contactless ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดง โดยชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท รวมทั้งเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ ตั้งแต่สถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร และจอดรถฟรีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ตด้วย

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า T = Tourist Promotion คมนาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ให้เดินทางด้วยความสุขและความประทับใจ ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ประดับตกแต่งไฟสวยงามบริเวณสะพานภูมิพล 1 และ 2 และสะพานมหาเจษฎา บดินทรานุสรณ์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 2 มกราคม 2567 ระหว่างเวลา 19.00 – 22.00 น. รวมทั้งจัดกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ 9 วัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิตให้กับประชาชน

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับ S = Safety Journey คมนาคมใส่ใจ ปลอดภัยทุกการเดินทาง ได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชนขั้นสูงสุด ปรับปรุงซ่อมแซมถนนและสะพานให้มีความปลอดภัย สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ไร้หลุมบ่อ ติดตั้งเครื่องหมายจราจร ป้ายเตือนต่าง ๆ ให้ชัดเจน ตรวจสอบความปลอดภัยในการปิดเบี่ยงการจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ติดตั้งอุปกรณ์ไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นของผู้ขับขี่ หยุดงานก่อสร้างชั่วคราว และคืนพื้นผิวทางและช่องทางจราจรให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางได้ด้วยความสะดวกปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลระบบคมนาคมขนส่ง ได้ตระหนักถึงความสะดวก ปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และขอส่งความห่วงใย ความปรารถนาดีให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยโดยสวัสดิภาพในทุกการเดินทาง และทุกเส้นทาง

‘สุริยะ’ สั่ง ‘บขส.’ เร่งเครื่องรีโนเวท ‘หมอชิต 2’  เล็งปรับปรุงสถานีให้ดีขึ้น หวังปิดจ็อบภายในสิ้นปีนี้

(15 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้มีนโยบายในการเร่งพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร นั้น ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะมีการดำเนินการใน 2 ประเด็น ควบคู่กันไป คือ 1. ปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ที่ถนนกำแพงเพชรในปัจจุบันให้มีสภาพที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นที่ต่างๆ มีการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม ปรับปรุงพื้นที่พักคอยของผู้โดยสาร ปรับปรุงห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร ไม่ให้มีพื้นที่ลับตา เป็นต้น โดยให้ บขส.เร่งจ้างที่ปรึกษาในการออกแบบ และเร่งดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

2. ดำเนินการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปอยู่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้ บขส.จ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด ออกแบบและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุน ให้ศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจาก บขส.ใช้พื้นที่ ย่านพหลโยธินจาก รฟท. 

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุนทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้นต้องรอผลการศึกษาออกมาก่อน ส่วนตัวเลข 7,000 ล้านบาทนั้นไม่ใช่มูลค่าลงทุน แต่เป็นการประเมินทรัพย์สินที่ บขส. มีในปัจจุบัน คือที่สถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าสูง ดังนั้น หากอนาคตหลังย้ายสถานีขนส่งเอกมัยไปที่สถานีใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว บขส.สามารถนำพื้นที่สถานีขนส่งเอกมัยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 

“ต่อไปสถานีขนส่ง บขส.ที่กระจายอยู่หลายแห่งจะมารวมกันที่พื้นที่ใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก (เอกมัย) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อทางรางได้สะดวก การพัฒนาจะเป็นแนวตึกสูง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ ผมมองว่า บขส.ไม่มีปัญหา เพราะมีทรัพย์สินแค่ที่สถานีขนส่งเอกมัย ตีมูลค่าได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทั้งการปรับปรุงพื้นที่และความสะดวกสถานีหมอชิต 2 และการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้” นายสุริยะกล่าว 

>> @รวมศูนย์ขนส่ง ผุดอาคารเพิ่ม รับรถสายใต้-ตะวันออก เชื่อมรางสะดวก 

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า หลักการพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้น เบื้องต้นในระยะสั้นจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สถานีในปัจจุบัน ขณะที่ในระยะยาวจะมีการศึกษาออกแบบเพื่อขยายพื้นที่สถานีเพิ่มเติม โดยอาจจะก่อสร้างอาคารใหม่ประมาณ 2 อาคารเพื่อรองรับเส้นทาง บขส.ทั้งสายใต้และสายตะวันออก (เอกมัย) ที่จะมารวมกัน โดยจะขยายออกมาด้านที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันหมอชิต 2-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฯ มีระยะทางห่างกันประมาณ ​800 เมตรเท่านั้น

“ต้องรอการศึกษาออกแบบเสร็จก่อนจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะเป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) หลักการคือ จะยังใช้สถานีหมอชิต 2 เดิมโดยปรับปรุงสภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น และมีการก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับรถสายใต้ สายเอกมัยที่จะมาอยู่รวมกัน โดยขยายพื้นที่มาใกล้ทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และมีทางเดินเชื่อมต่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการ โดยจะขอเช่าใช้พื้นที่จาก รฟท. ซึ่งขณะนี้แผนพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินยังสามารถปรับปรุงได้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน”

>> @บขส.รอตั้งบอร์ดชุดใหม่ พร้อมเสนอแผนเดินหน้าตามนโยบาย

ด้าน นางสาวระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส.พร้อมดำเนินการตามนโยบายของ รมว.คมนาคม ในการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสถานีหมอชิต 2 โดยตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.พิจารณาก่อน ซึ่งปัจจุบันบอร์ดบขส.ยังไม่ครบจึงยังประชุมไม่ได้ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท เพื่อแต่งตั้งบอร์ด บขส.ให้ครบตามระเบียบ 

‘สุริยะ’ หนุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้น จ.ท่องเที่ยวใต้ ชู!! แผนคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม ‘อ่าวไทย - อันดามัน’

(22 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง พร้อมตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ‘ถนน’ ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด 

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย...

1. มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร - ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้…

1. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็น ผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

2. โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอบคุณทุกส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงที่ให้การต้อนรับ และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดยตนจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

‘สุริยะ’ กำชับ ทอท. เตรียมรับมือช่วงตรุษจีน  คาดนักท่องเที่ยวจีนทะลักเพิ่มขึ้น 200% 

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีน นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาลและมาตรการ Visa Free 

(1 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. กว่า 3.52 ล้านคน จึงสั่งการให้ ทอท. เตรียมความพร้อมทั้งด้านความปลอดภัยและบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับผู้โดยสารและปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการการให้บริการภาคพื้นให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว สำหรับจุดตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งการให้ตรวจเช็กความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channels รวมทั้งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการ และเตรียมพร้อมในกรณีระบบตรวจคนเข้าเมืองเกิดขัดข้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ 

นอกจากนี้ ทอท. ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาลและมาตรการ Visa Free ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารประมาณ 3,523,929 คน เฉลี่ย 352,393 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 20% และมีเที่ยวบิน 21,115 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,112 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดย ทสภ. จะมีการเดินทางมากที่สุด 1,735,885 คน เฉลี่ย 173,588 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 24.3% และมีเที่ยวบิน 9,439 เที่ยวบิน เฉลี่ย 944 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 15.6% รองลงมา คือ ทดม. 842,251 คน เฉลี่ย 84,225 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 19.2% และมี 6,104 เที่ยวบิน เฉลี่ย 610 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 24.7%, ทชม. 284,123 คน เฉลี่ย 28,412 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 12.7% และมี 1,679 เที่ยวบิน เฉลี่ย 168 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.3%, ทภก. 523,988 คน เฉลี่ย 52,399 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.7% และมี 3,005 เที่ยวบิน เฉลี่ย 300 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.5%, ทหญ. 78,974 คน เฉลี่ย 7,897 คนต่อวัน ลดลง 9.2% และมี 529 เที่ยวบิน เฉลี่ย 53 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 8.8% และ ทชร. 58,709 คน เฉลี่ย 5,871 คนต่อวัน ลดลง 7% และมี 360 เที่ยวบิน เฉลี่ย 36 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 8.6%

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีสายการบินเฉพาะเส้นทางจีนแจ้งขอทำการบิน ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. รวมกว่า 3,086 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 202.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณผู้โดยสาร 458,813 คน เพิ่มขึ้น 220.2% โดยท่าอากาศยานที่แจ้งขอทำการบินมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ทสภ. 1,799 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 193.4% ผู้โดยสาร 282,982 คน เพิ่มขึ้น 224.6% รองลงมา คือ ทดม. 662 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 366.5% ผู้โดยสาร 88,074 คน เพิ่มขึ้น 328.5% และ ทภก. 497 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 167.3% ผู้โดยสาร 69,342 คน เพิ่มขึ้น 170.1% 

นอกจากนี้ ทอท. เตรียมพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวจีนจากนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน (Visa Free) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ และจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดด้านการบิน อาทิ ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ส่วนลดค่าบริการที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน (Landing Charges, Parking Charges และ Boarding Bridge Charges) ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน

ทั้งนี้ ทอท. ได้จัดกิจกรรมสร้างความสุขและอวยพรนักท่องเที่ยวเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในทุกท่าอากาศยาน และขอความร่วมมือผู้โดยสารเผื่อเวลาเดินทางล่วงหน้า 2 - 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการพลาดเที่ยวบิน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AOT Contact Center โทร. 1722 ตลอด 24 ชั่วโมง

'สุริยะ' เดินหน้า!! พัฒนาถนนสายรองเชื่อมโยงสายหลัก นำร่องถนนสาย อย.3006 อยุธยา หนุนแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง

(2 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการที่ได้มอบนโยบายกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาเส้นทาง นำความเจริญสู่ท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางทั่วทั้งประเทศให้เชื่อมถึงกัน โดยให้เน้นการดำเนินงานในด้านการพัฒนาถนนสายรอง เชื่อมโยงจากถนนสายหลักของกรมทางหลวงเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเพื่อนำพืชผลการเกษตรของพี่น้องประชาชนไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวก รวมถึงพัฒนาถนนสายรองเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางและเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ทั้งนี้ ทช. โดยสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 1 (ปทุมธานี) ได้รับนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินการก่อสร้างและยกระดับถนนทางหลวงชนบทสาย อย.3006 แยก ทล.340 - บ้านไม้ตรา อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้งบประมาณ 49.750 ล้านบาท โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 3.25 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1 - 2 เมตร ขยายความกว้างสะพานคอนกรีต พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องหมายจราจร ตั้งแต่ช่วง กม. ที่ 4+650 - 5+650 ระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการขนส่งพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เป็นแหล่งปลูกข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวจะมีรถบรรทุกขนส่งพืชผลทางการเกษตรใช้เป็นเส้นทางขนส่งจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และสถานที่ราชการบริเวณใกล้เคียง เช่น วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรมากถึง 7,727 คัน/วัน ซึ่งถนนสายดังกล่าวมีสภาพชำรุดตามระยะเวลาการใช้งาน 

"โครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางให้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนขนส่งพืชผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างถนนสายหลัก ใช้เป็นทางลัด - ทางเลี่ยงเชื่อมการเดินทางจากอำเภอลาดบัวหลวง สู่อำเภอบางไทร และเข้าสู่แหล่งชุมชนให้มีความสมบูรณ์อีกด้ว" รมว.คมนาคม กล่าว

‘สุริยะ’ ลุย ‘ทสภ.’ กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมช่วงตรุษจีน เน้นย้ำ!! การให้บริการ นทท.ต้องสะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย

(10 ก.พ. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ได้เดินทางตรวจติดตามความคืบหน้า ตามข้อสั่งการในการเตรียมพร้อมการให้บริการผู้โดยสาร ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และการแก้ไขปัญหาความหนาแน่นในการรอคิวตรวจหนังสือเดินทาง รองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลตรุษจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)

โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 ระหว่างวันที่ 4-16 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ ทอท. ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในทุกมิติ โดยให้มีการจัดเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริการผู้โดยสารในภาพรวมเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากที่ได้เริ่ม มาตรการ Visa Free ขณะนี้ได้มีเที่ยวบินขาเข้าสูงถึง 1,040 เที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน เตรียมแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดเหตุขัดข้อง และให้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ รองรับและสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ยังได้ให้ทาง ตม.2 เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการให้เพียงพอในการรองรับการใช้บริการผู้โดยสารในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยได้มีการเสริมเจ้าหน้าที่เวรปฏิบัติงานนอกเวลา และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตม. จากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาช่วยปฏิบัติงานที่ ทสภ. รวมถึงยังได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกหน่วยปฏิบัติงานมาเป็นเจ้าหน้าที่ ตม.2 กว่า 60 นาย นอกจากนี้ ตม.2 ได้มีการบรรจุเจ้าหน้าที่ใหม่แล้วจำนวน 200 อัตรา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอบรมภาคทฤษฎีคาดว่าจะสามารถ เริ่มปฏิบัติงานได้จริงตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ รวมทั้งยังมีแผนที่จะขอบรรจุอัตรากำลังเพิ่มอีก 400 อัตรา รวมเป็น 600 อัตราในอนาคต

รวมถึงให้ตรวจสอบความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ ‘Automatic channels’ โดยวางมาตรการในการป้องกันการขัดข้องของระบบ Biometric พร้อมให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบตลอด 24 ชม. รวมถึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องลูกข่ายหน้าช่องตรวจทุกช่องทั้งขาเข้า ขาออก ทำให้ระบบการทำงานดีขึ้น และในระยะยาวทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จะได้จัดหาระบบใหม่ทดแทนเป็นระบบเดียว คือ ‘ระบบ TIS’ (Thailand Immigration System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจลงตราซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 นั้น เตรียมเปิดใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. จากเดิม 67 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของท่าอากาศยานหลักของไทยในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตามแผนยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคหรือ Aviation Upgrade ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค

“ในช่วง 20 ปีก่อน สนามบินสุวรรณภูมิ เคยติดอันดับ 7 ของโลก แต่ในปัจจุบันนี้ตกไปอยู่อันดับที่ 76 ของโลก สาเหตุจากการถดถอยของการให้บริการ ดังนั้นผมได้ให้นโยบายต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขต้องเร่งปรับเปลี่ยนโดยเร็ว เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิ เลื่อนอันดับขึ้นมาติด 1 ใน 20 ของโลกให้ได้” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรือ อาคาร SAT 1 ขณะนี้มีสายการบินหลายสายได้ย้ายไปให้บริการที่อาคาร SAT 1 เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวันกว่า 86 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์จะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 112 เที่ยวบิน และจะมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขี้นเป็น 16 สายการบินจากเดิม 13 สายการบิน

'สุริยะ' ห่วงภาระคุ้มทุน หลัง 'การบินไทย' เล็งซื้อเครื่องบินฝูงใหญ่ แจง!! รัฐไม่อาจก้าวล่วง ต้องปล่อยผู้บริหารแผนฟื้นฟูดำเนินการ

(13 ก.พ. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสื่อต่างชาตินำเสนอว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่จำนวน 45 ลำ ว่าถ้ายังจำได้การบินไทยอยู่ในแผนการฟื้นฟูกิจการ เพราะฉะนั้นผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพราะมีอำนาจในเรื่องนี้ เราเองก็พยายามจะถามว่า การจัดซื้อเมื่อลงทุนไปแล้วคุ้มค่าหรือไม่ แต่อำนาจของเราไม่มีไม่สามารถไปล้วงลูกในส่วนนี้ได้ เป็นเรื่องที่เขาต้องทำตามแผนฟื้นฟู 

"จริงๆ กระทรวงคมนาคมเป็นห่วงมาก เรื่องซื้อเครื่องบินมันมีภาระคุ้มทุนหรือไม่อย่างไร" นายสุริยะ กล่าว

เมื่อถามว่า ภาระดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณของรัฐบาลหรือไม่ หากซื้อมาแล้วเกิดขาดทุน? นายสุริยะ กล่าวว่า "เรื่องนี้การบินไทยในช่วงที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหลังจากนั้นการบินไทยผลประกอบการไม่ดี เป็นช่วงที่รัฐบาลที่แล้วไปขอเงินเพื่อจะมาซื้อเครื่องบิน แต่ทางรัฐบาลสมัยนั้นไม่อนุญาตที่จะเพิ่มทุน ทางการบินไทยก็เลยล้มละลาย และเข้าสู่กระบวนการตามศาล ล้มละลาย ผู้บริหารจึงได้จัดทำแผนฟื้นฟูยื่นต่อศาลล้มละลาย เพราะฉะนั้นกระบวนการตอนนี้ก็อยู่ที่ศาลฯ โดยรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงแม้เราจะมีความเห็นใดไปก็ตาม ถามว่าเราสบายใจหรือไม่ เราก็เป็นห่วง แต่เราไม่มีอำนาจตรงนั้น"

เมื่อถามว่า ข้อห่วงใยตรงนี้สะท้อนนอกจากที่รัฐบาลได้สะท้อนไปแล้ว ยังสามารถดำเนินการอย่างอื่นได้หรือไม่ หรือต้องให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ? นายสุริยะ กล่าวว่า "ใช่ครับ อำนาจเราไม่มี"

'สุริยะ' เผย!! สาย 'มห.3019' เชื่อมสะพานไทย-ลาว แห่งที่ 2 รุดหน้ากว่า 82% เตรียมเปิดใช้ภายในปีนี้ ช่วยหนุน 'โลจิสติกส์ฮับ-เขตเศรษฐกิจพิเศษ'

(23 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย มห.3019 แยก ทล.212 ถึงบ้านบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ความคืบหน้ากว่า 82% ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรทางเชื่อม ทางแยก และสะพาน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรอย่างเป็นทางการในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในตัวเมือง รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต เพิ่มศักยภาพการขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาฬสินธุ์ และนครพนม สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ส่งเสริมการเพิ่มขีดสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย 'ส่งเสริมและยกระดับเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ' และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก อีกทั้งเป็นการเพิ่มโครงข่ายโลจิสติกส์การขนส่งออกสู่ สปป.ลาว 

โครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 14.211 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 804.159 ล้านบาท โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่บริเวณตำบลโพนทราย และตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีจุดเริ่มต้นบริเวณ ทล.12 (กม. ที่ 781+000) และไปสิ้นสุดที่บริเวณ ทล.212 (กม. ที่ 414+262) ซึ่งใน 4 กิโลเมตรแรกจะดำเนินการขยายถนนทางหลวงชนบทจาก 2 ช่องจราจร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร จากนั้นในส่วนที่เหลือจะดำเนินการก่อสร้างถนนใหม่ทั้งหมดจนไปถึงจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมกับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 โดยก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ มีไหล่ทาง พร้อมสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 แห่ง มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและมั่นใจให้แก่ประชาชนที่สัญจรบนเส้นทางดังกล่าว

‘สุริยะ’ รับลูกนโยบายนายกฯ สั่ง ‘ขบ.’ เร่งแก้ไขปัญหาแท็กซี่ทั้งระบบ พร้อมยกระดับการให้บริการขนส่ง-การเดินทางของ ปชช.ให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อการใช้บริการในระบบรถโดยสารสาธารณะรถแท็กซี่ จึงได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการแก้ไขการให้บริการรถแท็กซี่ให้ประชาชนสามารถใช้บริการที่ดี สะดวก ปลอดภัย และมีราคาที่เหมาะสม พร้อมทั้งเร่งหาสาเหตุปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธการให้บริการประชาชน ในระหว่างชั่วโมงเร่งด่วน หรือในช่วงเวลาที่มีการจราจรติดขัดด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ขานรับของนโยบายนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ไปดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาคุณภาพ ในการให้บริการรถแท็กซี่ทั้งระบบ รวมถึงการวิจัยในเรื่องอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม สะท้อนต่ออัตราค่าครองชีพในปัจจุบัน และไม่เป็นการรบกวนต่อค่าครองชีพของประชาชน

สำหรับกระบวนการศึกษาในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาแผนการดำเนินการ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมผู้บริโภค สมาคมชมรมผู้ให้บริการรถแท็กซี่ รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความเห็นจากทุกฝ่าย นำมาปรับปรุงพัฒนาทั้งในส่วนของการให้บริการ และในส่วนของการรับบริการ ในระบบแท็กซี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ ขบ. ไปพิจารณาถึงแนวทางอื่นๆ ควบคู่ตามไปด้วย เพื่อให้ระบบการให้บริการเป็นไปตามระบบสากล มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อยกระดับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป ต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป

‘สุริยะ’ เผยความคืบหน้าปรับปรุง ‘หมอชิต 2’ คาด!! เมษายนนี้ดีขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรีโนเวท

(27 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หรือ หมอชิต 2 ว่า ขณะนี้ได้นำบันไดเลื่อนที่เชื่อมจากอาคารผู้โดยสารไปยังชานชาลาออก พร้อมปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยต่างๆ คาดว่าในช่วงเดือนเมษายนนี้จะดีขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรีโนเวท และกำลังจะจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะภายใน 1 ปีครึ่งจะสามารถทำให้แล้วเสร็จได้ 

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะย้ายหมอชิต 2 และสถานีขนส่งภาคตะวันออกกรุงเทพฯ (เอกมัย) ไปรวมกันที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) โดยจะสร้างเป็นตึกสูง และแต่ละชั้นจะแบ่งโซนภาคให้ชัดเจน รวมถึงจะทำศูนย์อาหารติดแอร์บริเวณโถงกลาง ซึ่งการเดินทางไปยังสถานีกลางบางซื่อนั้นสะดวก สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ทั้งหมดนี้คือแผนที่จะดำเนินการต่อไป 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top