Monday, 20 May 2024
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

'เลขาฯ สุริยะ' ขีดเส้นตาย 7 วัน จี้!! 'เวียตเจ็ท' เร่งเข้าชี้แจง ปมปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่อง ยัน!! เอาเรื่องให้ถึงที่สุด

'สรวุฒิ' เข้ารับหนังสือร้องเรียนเหตุสายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่องบิน พร้อมมอบหมาย กพท. เรียกสายการบินไทยเวียตเจ็ทเข้ามาชี้แจง ให้เส้นตาย 7 วัน หากไร้ความคืบหน้าจะพิจารณาการต่อใบอนุญาตการบิน

(28 ก.พ. 67) นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ได้เข้ารับหนังสือร้องเรียนกรณีสายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่องบิน พร้อมมอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เรียกสายการบินไทยเวียตเจ็ทเข้ามาชี้แจง รายละเอียดภายใน 7 วัน พร้อมหาแนวทางแก้ไข และปรับปรุงการให้บริการต่อกลุ่มคนพิการและคนทั่วไปอย่างเท่าเทียม และภายหลังจากนั้นให้มีการนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปต่อไป แต่หากสายการบินไทยเวียตเจ็ทยังคงเมินเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะพิจารณาเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการบินต่อไป

"หากการส่งหนังสือตักเตือนครั้งนี้ไม่คืบหน้าภายใน 1 อาทิตย์ และหากยังคงนิ่งเฉยจะเอาเรื่องถึงที่สุด โดยทางกระทรวงคมนาคมพร้อมดูแลประชาชนทุกภาคส่วน แต่ขอเวลาสักครู่เพื่อรอคำตอบจากสายการบินไทยเวียตเจ็ทเสียก่อน" นายสรวุฒิ กล่าว

พร้อมกันนี้ยังได้กำชับให้ทุกสายการบินทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศยานของผู้โดยสารที่เป็นคนพิการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการปฏิเสธการรับขนส่งผู้โดยสารที่เป็นคนพิการ จากเดิมตามกฎหมายนั้นทุกสายการบินต้องไม่ปฏิเสธการให้บริการผู้โดยสาร เว้นแต่กรณีที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย

โดยตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้ความสำคัญกับทุกเสียงสะท้อนของประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือกลุ่มคนพิการ กระทรวงคมนาคมใส่ใจในทุกปัญหาของประชาชนทุกภาคส่วน และพร้อมนำปัญหาไปแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาระบบขนส่งทุกมิติ เพื่อให้มีความสะดวกปลอดภัย สามารถให้บริการกับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

‘สุริยะ’ ลั่น!! ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ ไม่อยากโทษรัฐบาลไหน ฮึ่ม!! แต่ต้องจบปี 68 หากผู้รับเหมาทำไม่ได้เจอลดเกรด

(1 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีสื่อโซเชียลมีเดียทำคลิปล้อเลียนปมสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า แม้กระทรวงคมนาคมจะประกาศคืนพื้นที่ให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จนมีคำถามว่าจะสามารถคืนได้จริงหรือไม่ ว่า วันนี้จะเชิญผู้รับเหมาก่อนสร้างที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ถนนพระราม 2 ซึ่งตามกำหนดการต้องสร้างเสร็จภายในปี 2568 เพื่อมายืนยันให้เสร็จจริง เพราะขณะนี้มีความล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมที่ทางกรมบัญชีกลางได้เลื่อนให้ เพราะติดเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้คิดว่าต้องมีการพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา และต้องขอความร่วมมือ

“สิ่งนึงที่ผมคิดว่าจะเป็นไม้ตายของกระทรวงคมนาคม คือ เราจะมีสมุดพกที่ดูว่าถ้าเขาทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เราจะไปประสานกับกรมบัญชีกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดแล้วว่า ถ้าทำไม่ได้ต่อไปจะมีการลดระดับ จากผู้รับเหมาชั้นพิเศษลงมาเป็นผู้รับเหมาชั้นหนึ่ง ทำให้เขาไม่สามารถรับงานใหญ่ๆ ได้ และอีกอย่างอาจมีสิ่งที่รุนแรงกว่านั้น คืออาจจะไม่ให้เขาประมูลในโครงการใหม่ๆ ของกระทรวงคมนาคมเลย” นายสุริยะ ระบุ

รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 4 มีนาคมนี้ ตนจะลงพื้นที่ไปตรวจสภาพข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องการสร้างให้ตรงเวลา และเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีการยกคานขึ้นไปในที่สูง ตรงนี้ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

เมื่อถามว่า ระยะเวลาได้ขยายไปถึงปี 2568 เลยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า “ถูกครับ เพราะเกิดผลกระทบมาจากช่วงโควิด-19 และย้ำว่าปี 2568 เป็นปีสุดท้ายต้องเปิดให้ได้ ส่วนที่ระบุว่าจะคืนพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้นั้น หมายถึงขณะนี้มีการก่อสร้างก็จะต้องไปคืนพื้นที่เพื่อให้เดินทางได้สะดวก”

เมื่อถามย้ำว่า มีโอกาสจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดการเดิมหรือไม่ เพราะสร้างมานานแล้ว นายสุริยะ กล่าวว่า ตนคิดว่าถนนพระราม 2 เป็นถนนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ แต่ตนคิดว่าเป็นอดีตที่ผ่านมา และไม่อยากจะไปโทษรัฐบาลไหน แต่เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งแล้วปัญหาต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาก็จะต้องทำตามได้ ก่อนปฏิเสธว่าไม่ได้ลงพื้นที่พร้อมนายกรัฐมนตรี เพราะท่านติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ

'สุริยะ' เยือน 'ฝรั่งเศส' ร่วมหารือพัฒนา อุตสาหกรรมการบิน ของไทย  พร้อมชวนภาคเอกชน ร่วมลงทุน 'ธุรกิจอากาศยาน - แลนด์บริดจ์'

(10 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมหารือกับนาย Damien Cazé ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (DGAC France) ณ โรงแรม Prince de Galles กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยได้หารือในหลายประเด็นสำคัญถึงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า และยั่งยืนในระยะยาวต่อไป 

ทั้งนี้ ตนได้แสดงความขอบคุณ DGAC France ที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน และสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (Memorandum of Understanding on Technical Cooperation) มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแก้ไขปัญหาด้านการบินในช่วงที่ผ่านมามีประสิทธิผลที่ดี อีกทั้งยังทำให้การพัฒนาระบบการบินของไทยมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อบทบาทของไทยในฐานะรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการหารือครั้งนี้ ได้พิจารณาถึงการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศทางการบินในอนาคต ซึ่งจะมีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) หลากหลายประเภทเข้ามาใช้งาน ทั้งการใช้งานสำหรับวัตถุประสงค์ทั่วไป และความท้าทายในการนำอากาศยานประเภท eVTOL (Electric Vertical Take - offand Landing) ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ หรือ UAM (Urban Air Mobility) ที่เป็นการใช้อากาศยานขนาดเล็กในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในระดับการบินต่ำในเขตเมืองเข้ามาใช้งาน

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการยกระดับการดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาคการบินในปัจจุบัน รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมการบิน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในภาคการบิน (Decarbonization) ผ่านการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่ยั่งยืน (SAF: Sustainable Aviation Fuel) ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญของโลกในปัจจุบัน และเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ขณะเดียวกัน ในการหารือครั้งนี้ ยังได้เชิญชวนภาคเอกชั้นนำจากภูมิภาคยุโรปมาร่วมลงทุนกับประเทศไทย ได้แก่ บริษัท SATYS (ซาทิส) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ดําเนินกิจการด้านทําสีอากาศยาน และตกแต่งภายในอากาศยานและรถไฟ ดําเนินงานให้กับ Airbus, Boeing, Stelia Aerospace และ Air France อีกทั้งเชิญชวนบริษัท Volocopter (โวโล คอปเตอร์) บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ดําเนินการด้านการพัฒนาการเคลื่อนย้ายทางอากาศในเขตเมืองและชานเมือง (UAM) และมีการผลิตยานพาหนะที่สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (eVTOL) อาทิ VoloCity และ VoloConnect หรือที่เรียกว่าแท็กซี่อากาศ (Air Taxi) ที่จะให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และ VoloDrone ที่จะให้บริการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและปลอดมลพิษ 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากการหารือด้านการบินแล้ว ในโอกาสนี้ ยังได้ประชุมหารือกับบริษัท CMA CGM จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการขนส่งทางทะเล อันดับที่ 3 ของโลก และบริษัท Artelia จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างที่มีสาขากว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำเสนอโครงการและเชิญชวนนักลงทุน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการลงทุนในโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้ให้ความสนใจและสอบถามรายละเอียดโครงการฯ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อ เพื่อประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป

“การเดินทางมาประชุมร่วมกับฝรั่งเศสในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจกับภาคเอกชน อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตต่อไป” นายสุริยะ กล่าว

'สุริยะ' ปลื้ม!! มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เดินหน้าทะลุเป้า 5 เดือน 'สีแดง-สีม่วง' ทุบสถิตินิวไฮ ยอดผู้โดยสารเพิ่มต่อคน-เที่ยว 18%

(20 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 - 14 มีนาคม 2567 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 - 20% ขณะที่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น จากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่า มาตรการดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงวันละ 2,640,000 บาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และลดการใช้พลังงานภายในประเทศได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคจากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายใน และภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป

‘สุริยะ’ โต้!! ‘ก้าวไกล’ บอก 20 บาทตลอดสายทำไม่ได้ จะทำให้ดู ชี้!! ตอนนี้ดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เตรียมลุยเสนอ ครม.

(18 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กรณี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า ตนทราบสิ่งที่นายสุรเชษฐ์ออกมาให้ความเห็น ตนยินดีรับฟังทั้งคำติคำชมจากประชาชนและฝ่ายค้าน แต่สิ่งที่ดูแล้วคิดว่าการวิจารณ์ในนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ตนพยายามดำเนินการ ตามที่นายสุรเชษฐ์บอกว่าไม่เห็นด้วยและไม่ควรทำนั้น ตรงนี้ตนยอมรับไม่ได้ เพราะประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้าในปัจจุบันหากต้องโดยสารระยะทางไกลราคาค่าโดยสารสูงสุดถึง 192 บาท ถือเป็นภาระของประชาชนจำนวนมาก และการทำให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเยอะ ๆ ก็จะมีส่วนลด PM 2.5 และลดค่าใช้จ่ายประชาชนไม่เช่นนั้นราคาจะแพงไม่น่าจะรับได้ ตนยืนยันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามที่เคยให้สัญญาภายใน 2 ปีต้องทำให้ได้ ตนให้สัมภาษณ์ไว้ตอนเดือน ก.ย.66 เพราะฉะนั้น ก.ย.68 รัฐบาลจะดำเนินการให้ได้

เมื่อถามว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายอื่น ๆ จะทำให้ราคา 20 บาททั้งหมดใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ถูกต้อง ทุกสายคือ 20 บาท นายสุรเชษฐ์บอกว่าทำไม่ได้ตนจะทำให้ดู

เมื่อถามอีกว่า วิธีการที่จะทำให้ได้สำเร็จเป็นอย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงได้ดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อชดเชยให้กับผู้ประกอบการและจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เร็ว ๆ นี้ 

นายสุริยะ กล่าวว่า ส่วนที่วิจารณ์ว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีผลงานนั้น ขอชี้แจงว่าสิ่งที่ทำมาเป็นรูปธรรมวันนี้บริษัทจัดอันดับสนามบินทั่วโลกได้ปรับอันดับของประเทศไทยจากอันดับ 67 มาเป็น 57 เป็นเพราะนายกฯ ใส่ใจและสั่งการให้ตนไปปรับปรุงระบบต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิ รองรับการท่องเที่ยว เห็นได้ชัดผลที่เกิดจากการที่เราได้ไปทำ ทำให้ถูกปรับขึ้นมา 10 อันดับในระยะเวลาที่รัฐบาลทำงานมา ตนเชื่อว่าผลงานที่กระทรวงคมนาคมทำมีสิ่งที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม อีกตัวอย่างคือสถานีขนส่งมวลชนหมอชิต จะเห็นว่าสภาพเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ประชาชนใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย และช่วงสงกรานต์ประชาชนเดินทางผ่านถนนเส้นสำคัญได้อย่างปลอดภัย การจราจรไม่ติดขั้นเหมือนที่มีการประเมินไว้ก่อน เราช่วยกันจนได้ผลลัพธ์ที่ดีออกมาทั้งถนนพระราม 2 และถนนมิตรภาพ และวันนี้ (18 เม.ย.) หลังเสร็จประชุมคณะรัฐมนตรี ตนก็จะลงพื้นที่ภูเก็ตแก้ปัญหาการจราจนในพื้นที่เพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ จะไปติดตามข้อสั่งการเรื่องการสร้างสะพานหรือทางแยกต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการจราจรอาจปิดจุดกลับรถช่วงเร่งด่วน และวันที่ 19 เม.ย. นายกฯ จะมีการลงพื้นที่ก็จะได้รายงานการบ้านตามข้อสั่งการของนายกฯ

‘สุริยะ’ สั่ง ‘กทพ.’ เร่งหารือเอกชน แก้ปัญหาค่าทางด่วนแพง เล็งลดเหลือ 50 บาทตลอดสาย คาด!! ชงเข้า ครม. ส.ค. นี้

(25 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า ตามที่ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น

ล่าสุด กทพ. ได้รายงานว่า ขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สนข. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ในการพิจารณาปรับโครงสร้างลดอัตราค่าผ่านทางฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้กับประชาชน โดยได้นำผลการศึกษาการแก้ปัญหาจราจรเมื่อปี 2565 มาศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน - พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก

สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่มีการปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25 - 90 บาท กล่าวคือ จะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท คาดว่าจะหารือและได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในการปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว จะทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานลดลง ดังนั้น จากการหารือในเบื้องต้น กทพ. มีแนวทางขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2578 พร้อมกับการพิจารณาแบ่งสัดส่วนรายได้ โดย กทพ. จะมีรายได้ลดลง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในการลดค่าผ่านทาง จากเดิม กทพ. มีสัดส่วน 60% ผู้รับสัมปทาน 40% ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปรับลดค่าผ่านทางในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

"กระทรวงคมนาคม มีเรื่องใหญ่ที่อยากจะทำให้เห็นผลโดยเร็ว คือ การแก้ไขปัญหาค่าทางด่วนแพง เพราะตอนนี้ มีประชานที่ใช้ทางด่วนช่วงยาว มีระยะทางไกล ต้องจ่ายแพงถึง 100 กว่าบาท ผมเลยให้ กทพ. และ สนข. ไปหารือกับเอกชน เพื่อลดค่าทางด่วน ให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้ทางด่วนให้กับประชาชน" นายสุริยะ กล่าวและว่า

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ. หารือร่วมกับ สนข. และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง รวมทั้งการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ และ BEM เป็นผู้ลงทุนโครงการ Double Deck ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการแก้ไขสัญญาฯ

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 43 แล้วจะส่งร่างสัญญา ที่มีการปรับแก้ไขแล้วต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา และเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบ ก่อนเสนอไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2567 หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้มีนโยบายให้ส่งเสริมให้มีการใช้งานบัตร Easy Pass เพิ่มมากขึ้น โดยสั่งการให้ กทพ. เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการเติมเงิน Easy Pass ให้สะดวกขึ้น อาทิ การจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกัน จะมีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ Easy Pass ให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทาง โดยการยกไม้กั้นออก และจะมีการเพิ่มช่อง Easy pass มากขึ้น

'สุริยะ' เยือนจีน ฟื้นเจรจารถไฟความเร็วสูง 'ไทย-จีน' ดันเฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ตอกเสาเข็มปีหน้า ได้ใช้ปี 73

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันความร่วมมือโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. งานก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา (ระยะที่ 1) โดยได้เห็นชอบแนวทางและมาตรการร่วมกันในการเร่งรัดให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และรอการลงนามจำนวน 2 สัญญา ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

2. ความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ที่ฝ่ายไทยได้ออกแบบรายละเอียด งานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไปพร้อมกับการขออนุมัติโครงการ โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติ การประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 

3. การเชื่อมต่อโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ โดยระยะห่างประมาณ 30 เมตร ประกอบด้วยทางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 สำหรับการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขต ของงาน และราคากลาง เพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า โดย รฟท. ดำเนินการศึกษาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่รับรองการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างทางรถไฟขนาด 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน รวมถึงเป็นพื้นที่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางราง และใช้เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ อาคาร คลังสินค้า การให้บริการคลังสินค้า รวมทั้งการให้บริการพิธีการทางศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า X–ray ตู้สินค้า การตรวจรังสี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้นาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และจีน โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบให้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเสนอต่อสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 

ทั้งนี้ การหารือ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบในการปรับปรุงและดำเนินความร่วมมือให้ลึกซึ้งและประสานงานอย่างใกล้ชิดในการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อผลักดันให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าวก้าวหน้าต่อไป

4. ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบถึงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงคมนาคม โดย สทร. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการอำนวยความสะดวกและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบรางจากต่างประเทศ

5. ที่ประชุมได้ให้การรับรองและเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 32 ขึ้นในประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้คืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือและสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเพื่อให้บรรลุประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งรถไฟของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top