Monday, 20 May 2024
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

‘สุริยะ’ เร่งเพิ่มเที่ยวบิน รับนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยว ดันผู้โดยสารจีนเยือนไทยเพิ่ม 5 ล้านคน ช่วงไฮซีซั่นนี้

(14 ก.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงมอบนโยบายในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมว่า นโยบายเร่งด่วนที่ตนจะต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มตารางการบิน (Slot) และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ

โดยขณะนี้ ได้มอบให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้มีการจัด Slot การบินสำหรับฤดูหนาวนี้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวหลักอย่างตลาดจีน จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคน จากนโยบาย VISA Free สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาแนวทางปฏิบัติในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า และประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้

ขณะเดียวกันได้มอบหมายงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูแลรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ ได้แก่ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4.สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ 5.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด

ทั้งนี้ ได้ให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
2.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
3.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
4.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
5.) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
6.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)
7.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
8.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

ส่วนที่เหลืออีก 9 หน่วยงานตนจะกำกับดูแล ประกอบด้วย
1.) กรมทางหลวง (ทล.)
2.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.)
3.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
4.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ทอท.’
5.)กรมท่าอากาศยาน (ทย.)
6.)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
7.)สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
8.)สถาบันฝึกอบรมระบบราง
9.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

‘สุริยะ’ เดินหน้าลุยโครงการพัฒนาคมนาคม ‘อุดรธานี-สกลนคร’ สั่งซ่อมบำรุงเส้นทางสัญจร เพิ่มความสะดวก-ปลอดภัยแก่ ปชช.

(24 ก.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญ ของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร และลงพื้นที่ก่อสร้างโครงข่าย ทางหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง, นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท, นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่  23 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงอุดรธานีที่ 1 จังหวัดอุดรธานี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน จึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ดังนี้

การพัฒนาทางหลวงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
1.) โครงการทางหลวงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ทล.216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี (ด้านตะวันออก) ทล.2 ตอน บ้านห้วยหินลาด - อำเภอโนนสะอาด และ ทล.2023 ตอน อำเภอกุมภวาปี - บ้านโนนสวรรค์ ระยะทางรวม 57 กิโลเมตร

2.) โครงการทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ ทล.2 ตอน อุดรธานี - อำเภอสระใคร (เป็นตอนๆ) ดำเนินการบูรณะพร้อมขยายถนนเป็น 6 ช่องจราจร คืบหน้า ณ เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 90.20% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567

3.) โครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมของบประมาณปี 2567 ได้แก่ ทล.2263 ตอน อุดรธานี - บ้านเพีย (กุดจับ) งานซ่อมสะพานข้ามลำน้ำปาว ทล.2023 ตอน น้ำฆ้อง - ศรีธาตุ ทล.2350 ตอน หนองหาน - กุมภวาปี ทล.2096 หนองเม็ก - คำตากล้า และ ทล.2022 ตอน นิคม - บ้านดุง

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคตในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีอีก  5 โครงการ ระยะทางรวม 229.69 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างรวม 27,596 ล้านบาท

การพัฒนาทางหลวงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
1.) โครงการทางหลวงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ทล.2 สกลนคร - นครพนม ตอน 1 และ 2 และ ทล.2 อำเภอหนองหาน - อำเภอพังโคน ตอน 1 และ 2 ระยะทางรวม 83 กิโลเมตร

2.) โครงการทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ ทล.223 สกลนคร - อำเภอธาตุพนม ตอน สกลนคร - อำเภอนาแก ขยายเป็น 4 ช่องจราจร ความคืบหน้า ณ เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 95.62% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

3.) โครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมของบประมาณปี 2567 ได้แก่ ทล.222 ตอน พังโคน - หนองแวงทล.2218 ตอน คำเพิ่ม - ห้วยบาง และ ทล.227 ตอน บ้านผาสุก - พังโคน

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคตในพื้นที่จังหวัดสกลนครอีก 10 โครงการ ระยะทางรวม 207 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 10,140 ล้านบาท

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย ถนนสาย ทล.2263 สายอุดร - กุดจับ ตรวจสอบความชำรุดของสะพานลำน้ำปาว เชื่อมต่อระหว่างอำเภอกุมภวาปีและอำเภอศรีธาตุ โครงการขยายช่องทางจรจรบน ทล.2023 สายน้ำฆ้อง - วังสามหมอ ตั้งแต่เมืองเก่า (บ้านพันดอน) ถึงเมืองใหม่ อำเภอกุมภวาปี ตรวจสอบและศึกษาการออกแบบโครงการขยายช่องจราจรถนน ทล.2350 ตอน หนองหาน - กุมภวาปี และ ทล.2022 สายสุมเส้า - บ้านดุง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีที่มารอต้อนรับ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิต ครอบคลุมทุกมิติ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้

1.) ให้ ทล. ทช. และหน่วยงานอื่น ๆ รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

2.) ให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่จะมาร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ณ จังหวัดอุดรธานี

3.) จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชน พบว่า มีบางเส้นทางผิวทางชำรุด คับแคบ ไม่สะดวกในการเดินทาง ซึ่ง ทล. ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงเพื่อบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น ตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปี 2566 แล้ว ดังนั้น เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพ มีความสะดวก ปลอดภัย และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ตนจะเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณให้ ทล. ทช. นำมาพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

‘สุริยะ’ เร่งสปีดดัน ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เตรียมชง ครม. ต.ค.นี้ พร้อมลุยโรดโชว์ดึงต่างชาติร่วมทุน ลุ้นเดินเรือยักษ์ใหญ่ร่วม

เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.66) จากช่องยูทูบ MONAI CHANNEL ได้โพสต์คลิปวิดีโออธิบายเกี่ยวกับ ‘โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร’ ที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าพร้อมเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยระบุว่า…

ณ ปัจจุบันนี้ หนึ่งในเส้นทางการเดินเรือสำคัญของโลกเป็นการเชื่อมกันระหว่างเอเชียตะวันออก ก็คือประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จากนั้นก็มีการอ้อมผ่านทางทะเลจีนใต้ ผ่านแหลมมลายู สิงคโปร์ ไปสู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ไปผ่านอินเดียตอนใต้แล้วค่อยไปออกแถวแอฟริกา จากนั้นไปผ่านคลองสุเอซ เข้าไปต่อที่บริเวณแถบยุโรป และนี่คือเส้นทางการเดินเรือสำคัญ หรือจากยุโรปเองจะมีการส่งสินค้ามาก็ผ่านเส้นทางนี้เช่นกัน

แต่ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษามาเรียบร้อยแล้ว คือเป็นการทำ ‘ชอร์ตคัท’ ไม่ต้องไปอ้อมแหลมมลายูของทางสิงคโปร์ แต่ผ่านบริเวณแผ่นดินของประเทศไทย โดยจุดเชื่อมสำคัญบริเวณ ‘ทะเลอ่าวไทย’ คือ จังหวัดชุมพร และจุดเชื่อมสำคัญของบริเวณ ‘ทะเลอันดา’ คือ จังหวัดระนอง ซึ่งเราจะมีทั้งรถไฟทางคู่และถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อที่จะให้เวลาเหลือ มีการเปลี่ยนโหมด ซึ่งพอมาถึงชุมพรจากนั้นก็ใช้เครื่องออโตเมติกหยิบตู้คอนเทนเนอร์ใส่รถไฟ รถไฟก็จะวิ่งข้ามแผ่นดินมาถึงที่จังหวัดระนอง จากนั้นก็มีระบบอัตโนมัติหยิบตู้คอนเทนเนอร์จากรถไฟไปลงเรือ จากเรือไปต่อมหาสมุทรอินเดียแล้วก็ไปส่งของต่อ ซึ่งจะเป็นเอเชียใต้ แอฟริกา หรือยุโรปก็ได้…

ซึ่งตอนแรกสุดเหมือน คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า…อาจจะไม่เดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่ล่าสุด ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566 คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ซึ่งขออนุญาตหยิบยกมาจากข่าวสด 

นายสุริยะกล่าวว่า “โครงการสภาเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย อันดามัน ชุมพรกับระนอง หรือแลนด์บริดจ์ คาดว่าจะเสนอให้ครม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายใน 2 สัปดาห์นี้” ซึ่งก็คือภายในเดือนตุลาคมนี้ 

“ก่อนจะเดินหน้าไปโรดโชว์ต่างประเทศอย่างยุโรป สหรัฐฯ รวมไปถึงตะวันออกกลาง เพื่อชี้แนะรายละเอียดของโครงการประกอบการจูงใจดึงดูดนักลงทุนให้มาร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย เพราะโครงการนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท” นายสุริยะกล่าว

แต่เราจะไม่ใช้งบประมาณจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด และจากนั้นให้สัมปทานไปยาว ๆ 50 ปีด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต่างถกเถียงกันเป็นอย่างมาก โดยบางส่วนห่วงเรื่องของการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และบางส่วนบอกว่าจำเป็นต้องเดินหน้าจะเป็นโครงการที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมหน้าประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้า การคมนาคมขนส่ง และแลนด์บริดจ์ที่ว่านี้ จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเดินหน้าเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ หรือ SEC โดยปัจจุบันนี้ เรามีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จากนี้ไปเราจะมีแต่ละภาคหมด อย่างภาคเหนือจะมี NEC ส่วนภาคใต้ก็จะมี SEC 

ซึ่ง คุณสุริยะ ได้บอกต่อว่า คาดว่าจะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA แล้วเสร็จ ภายในช่วงต้นปี 67 ก่อนจะขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนต่อไป เช่นเดียวกับแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง ก็จะให้สนข.ผลักดันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ‘แลนด์บริดจ์’ ยังไม่จบ…และจะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่ที่นี่ต้องรอดูว่าครม.จะเห็นชอบหลักการหรือไม่ และถ้าเกิดครม.เห็นชอบหลักการเวลาไปโรดโชว์ต่างประเทศ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจหรือเปล่า…เพราะเป้าหมายสำคัญนักลงทุนต่างชาติที่ต้องให้ความสนใจ คือ บริษัทเดินเรือขนาดใหญ่…

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! วันแรกรถไฟฟ้า 20 บาท ตอบรับดี ยัน!! เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดแค่ 30 พ.ย. 67

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น

และได้มีการประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รฟท. และ รฟม.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น

ยันมาตรการต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ 1 ปี
นายสุริยะกล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม.นั้น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

คาดผู้โดยสารเพิ่มปี 68 ใช้งบชดเชยลดลง
อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

ส่วนขอรับชดเชยส่วนต่างของ รฟท.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่ง รฟท.เสนอขอรับเงินชดเชยประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี ส่วนกรณี รฟม.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ขอรับเงินชดเชยรายได้ของภาครัฐโดยตรง แต่จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย

‘สุริยะ’ เยือน ‘สหรัฐฯ’ ร่วมประชุมเอเปค เตรียมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุน หวังดัน ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

(11 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเดินทางไปจัดงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ วันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ และตน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

‘เศรษฐา-สุริยะ’ เยือนสหรัฐฯ ลุยโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’  ดึงนักธุรกิจต่างชาติร่วมทุน ดันเส้นทางขนส่งแห่งใหม่ระดับภูมิภาค

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งก็คือวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การเข้าร่วมการประชุมฯ ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นโอกาสเพื่อนำเสนอนโยบาย สร้างความเชื่อมั่น รวมถึงสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยยังจะเป็นโอกาสให้ได้พบหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปค และภาคเอกชนเอเปค โดยประเด็นที่ไทยผลักดัน อาทิ 

1.การค้าการลงทุน ย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง 
2.ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการ Landbridge 
3. ความยั่งยืน ผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ 
4.เศรษฐกิจดิจิทัล 
5.ความครอบคลุมและความเท่าเทียม

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐาและผม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเดินทางไปจัดงาน Thailand Landbridge Roadshow ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ณ โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐ

นายสุริยะกล่าวอีกว่า ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนักลงทุนต่างให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ

นายสุริยะกล่าวว่า ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

‘คมนาคม’ เตรียมเพิ่มโทษปรับ ‘รถบรรทุกน้ำหนักเกิน’ ชี้!! จากเดิม 1 หมื่นบาท เพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท

(23 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ความสำคัญและตั้งใจแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงการตรวจสอบพบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น และ ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน 

ทั้งนี้เนื่องจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงถนนจำนวนมาก โดย กรมทางหลวง (ทล.) ต้องจ่ายค่าซ่อมถนนปีละ 26,000 ล้านบาท และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปีละ 18,000 ล้านบาท

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่นำมาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต เน้นย้ำว่าช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม จะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง 2535 มาตรา 73/2 เกี่ยวกับบทลงโทษการบรรทุกน้ำหนักเกิน ปัจจุบันระบุว่า ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะปรับแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น คือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด 

“ส่วนกรณีการเพิ่มโทษจำคุกนั้นให้ ทล. ไปศึกษาผลดีผลเสียที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งเอาผิดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี เชื่อว่าการเพิ่มอัตราโทษปรับที่สูงขึ้นนี้ทำให้แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เพราะปัจจุบันรถบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษปรับน้อยสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการถบรรทุกเสี่ยงต่อการกระทำผิดด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล โดยเฉพาะตำรวจจราจร ในพื้นที่ กทม. ให้มีอำนาจตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ กทม. ได้ จากเดิมตำรวจจราจรไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจจับ เพราะ พ.ร.บ.ทางหลวง ไม่ได้ให้อำนาจส่วนนี้แก่ตำรวจจราจร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเสนอเรื่องนี้มาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตนลงนามในประกาศกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้ต่อไป

2.เพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจ และ ทล. และ 3.นำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบจีพีเอส ของ ขบ. ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ ทช. ช่วยติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ทั้งนี้ทางภาคเอกชนเสนอขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. เพื่อนำปัญหามาหารือกันเป็นระยะๆ และหาแนวทางป้องกันไม่เกิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดต่อไป

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล. มีโครงข่ายถนนที่รับผิดชอบกว่า 50,000 กม. เพื่อป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติสำหรับชั่งน้ำหนักรถยนต์ขณะเคลื่อนที่ หรือ WIM ช่วยคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกินกฎหมายกำหนด สามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ต้องเข้าชั่งที่สถานี โดยมีแผนจะติดตั้งระบบ WIM บนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ จำนวน 960 แห่ง ซึ่งติดตั้งไปแล้ว 182 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้ง 21 แห่ง และ ที่เหลืออีก 757 แห่ง จะทยอยติดตั้งให้ครบต่อไป โดยในแต่ละปีจะได้รับงบประมาณดำเนินการอยู่แล้ว เน้นติดตั้งในจุดที่จำเป็นและมีปริมาณรถบรรทุกใช้เส้นทางจำนวนมากก่อน

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถบรรทุกขนาด 6 ล้อ และ รถบรรทุกขนาด 10 ล้อขึ้นไป จดทะเบียนกับ ขบ. มากกว่า 1,000,000 คัน ซึ่งมีการติดตั้งระบบจีพีเอสเกือบครบทั้งหมดแล้ว และ ขบ. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลจีพีเอสรถบรรทุก กับ ทล. และ ทช. แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

‘สุริยะ’ ไฟเขียว!! จัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ ช่วยประชาสัมพันธ์ - ดูแลนักลงทุนที่มาลงทุนในไทย

‘บอร์ดเร่งรัดลงทุน อีอีซี’ ไฟเขียวจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์เชื่อมร่วมมือ ‘บีโอไอ-กนอ.’ ดึงลงทุนเข้าประเทศ พร้อมอัปเดต 4 โปรเจกต์หลัก เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ลุ้นอัยการตีความบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จตามแผนในปี 71 ส่วน ‘เมืองการบิน-แหลมฉบังเฟส 3-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด’ เปิดใช้ปี 70

(11 ธ.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ในด้านพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขต แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 28 แห่งและพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง โดยพื้นที่นอกเหนือเขตส่งเสริมฯ ดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมายของบีโอไอและ กนอ. ด้านผู้รับสิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมลงทุน และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกับโครงการจากบีโอไอมาก่อน

นายจุฬา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการเคยได้รับส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ สกพอ. จะพิจารณาเฉพาะสิทธินอกเหนือ เช่น สิทธิประโยชน์ถือครองห้องชุด สิทธิประโยชน์ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้านการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย สกพอ. ได้มีระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC One Stop Service) รองรับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับแจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าขุดดินถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายคนเข้าเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ จำเป็นต้องร่วมกับบีโอไอ และ กนอ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยสิทธิประโยชน์ของ สกพอ. จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สกพอ. บีโอไอ และ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานฯ ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค. 2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว คงเหลือแต่รอให้เอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ซึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อน เพื่อครบเงื่อนไขเริ่มต้นโครงการที่กำหนดในสัญญา โดย รฟท. จึงได้ยื่นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่า สามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอบีโอไอ โดย รฟท. จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ส่วนปัญหาการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. 2566 จะมีการประชุมร่วมกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาอีกครั้ง ก่อนจะเสนอไปยังอัยการสูงสุด หากพิจารณาเห็นชอบก็จะเสนอกลับมายัง กพอ.เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลงนามสัญญาใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดกองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค. 2566 และเร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา และโครงการสนามบินอู่ตะเภา สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตามแผนในปี 2570

3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งรัด และกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล (Infrastructure) ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปลายปี 2570

4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในธ.ค. 2567 โดยในปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64% และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดให้บริการต้นปี 2570

‘สุริยะ’ โชว์ผลงาน ‘99 วัน 9 เรื่องเด่น’ สนองนโยบาย Quick Win โปรเจกต์เชื่อม ‘บก-น้ำ-ราง-อากาศ’ ดัน ศก.โต-ประชาชนอยู่ดีมีสุข

(20 ธ.ค. 66) ณ ห้องราชดำเนิน อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการแถลงผลงาน 99 วัน 9 เรื่องเด่น โครงการสำคัญเร่งด่วน พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า ในระยะเวลา 99 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการ และนโยบายต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ รวมถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบาย Quick win ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 99 วันที่ผ่านมา มี 9 โครงการเด่นที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ดังนี้ 

1. มาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล ส่วนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่น ๆ นั้น ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ในระยะต่อไป

2. การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินในปัจจุบัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

3. เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

4. เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยเตรียมเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี 2 เส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 คือ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ช่วงปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. และมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตก – กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. และเปิดให้บริการใช้งานฟรีต่อเนื่องจนกว่าด่านเก็บค่าผ่านทางจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง

ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐม - ชุมพร และได้เปิดให้บริการช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถอีกต่อไป

5. การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ โดยการยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วยระบบตั๋วร่วม พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) ทั้งหมด 29 ท่า ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 9 ท่า อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า และในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 15 ท่า จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป

6. เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge) โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โดยล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Landbridge ในการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจเป็นจำนวนมาก

7. การปรับเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์สันดาปที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์ EV ซึ่งจะนำร่องกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมด ให้เป็นรถยนต์ EV รวมถึงรถส่วนกลางที่จะหมดสัญญาเช่า จะเริ่มสัญญาเช่ารถใหม่ให้เป็นรถยนต์ EV ด้วย เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5 สอดรับนโยบายอากาศสะอาดเพื่อประชาชน

8. โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572, โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ.พารา - บ. เมืองใหม่, โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง, การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 จ.พังงา โดยขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดในการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการในเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานฯ - ห้าแยกฉลอง) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ เพื่อให้โครงการฯ เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2574 อย่างไรก็ตาม โครงการในจังหวัดภูเก็ตที่กล่าวมานั้น จะสามารถลดปัญหาการจราจร และเพื่อเสริมศักยภาพให้เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

9. การปราบส่วยทางหลวง แก้ปัญหาการทุจริต โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดรวมถึงแก้ไขข้อกฎหมายให้มีบทลงโทษมากขึ้น รวมถึงมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว

“สำหรับทั้ง 9 ผลงาน และโครงการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะสามารถขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีมาตรฐานตามระดับสากล รวมถึงเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น และกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค” นายสุริยะ กล่าว

‘สุริยะ’ สั่งการ!! รถตรวจทางวิ่งสำรวจ 'สายสีชมพู' ตอนตี 4 ก่อนเปิดทุกวัน พร้อมเผยสาเหตุเบื้องต้น 'รางจ่ายกระแสไฟฟ้า' ที่อาจทำให้หลุดร่วง

(24 ธ.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู บริเวณถนนติวานนท์ วันนี้ว่า ตามที่วันนี้เมื่อเวลา 04.45 น. บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ได้รับความเสียหาย โดยส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถนั้น

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และพี่น้องประชาชน ตนจึงได้สั่งการให้ปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด

สำหรับในวันพรุ่งนี้ (25 ธ.ค.66) จะเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี คือ ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) - สถานีมีนบุรี (PK30) ขณะที่ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานีนั้น ขร.จะต้องดำเนินการตรวจสอบ และประเมินเบื้องต้น 7 วัน จากนั้นจะตรวจสอบให้มั่นใจในด้านความปลอดภัย ก่อนที่พิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะมีบทลงโทษครอบคลุมตามสัญญา ด้วยเงื่อนไขในการเดินรถต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น ระบุว่า รถตรวจรางพบวัสดุแปลกปลอม ซึ่ง วัสดุแปลกปลอมดังกล่าว อาจจะเกิดจากรถเครนที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อคืนผิวจราจร แล้วไปขัดบริเวณตัวล้อด้านข้าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีรถยนต์บริเวณดังกล่าวเสียหาย 3 คัน และสายไฟฟ้าล้ม โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีรถตรวจทางวิ่งตรวจสอบในช่วงเวลา 04.00 น. ก่อนให้เปิดบริการทุกวัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัยในการให้บริการและการเดินทางอย่างแน่นอน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top