Wednesday, 15 May 2024
ราคาน้ำมัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 - 31 มี.ค.66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 3 - 7 เม.ย.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากนักลงทุนคลายความวิตกต่อวิกฤติภาคธนาคาร ประกอบกับท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk - Ceyhan (0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ที่สูบถ่ายน้ำมันดิบจากเขตปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรักสู่ตุรกีปริมาณ 4 - 4.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ต้องระงับการสูบถ่ายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 66 หลังอิรักชนะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทการส่งออกน้ำมันเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 66 

อย่างไรก็ดี วันที่ 2 เม.ย. 66 รัฐบาลอิรักและรัฐบาลท้องถิ่นเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Regional Government: KRG) บรรลุข้อตกลงกลับมาส่งออกน้ำมันดิบแล้ว และคาดว่าจะเริ่มส่งออกน้ำมันได้ในวันที่ 3 เม.ย. 66

สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80 – 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัว หลังประเทศสมาชิก OPEC+ จำนวน 7 ประเทศ ประกาศลดการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ ปริมาณรวม 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. - ธ.ค. 66 เพิ่มเติมจากโควตาเดิมของ OPEC+ ซึ่งลดการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 65 - ธ.ค. 66 ประกอบกับรัสเซียประกาศลดการผลิตน้ำมันดิบ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. - ธ.ค. 66 ซึ่งจะสนับสนุนราคาน้ำมัน โดย Goldman Sachs ปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 66 และ 67 เพิ่มขึ้น 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิม มาอยู่ที่ 95 และ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

‘บิ๊กป้อม’ วิดีโอคอล ขอบคุณชาวเเท็กซี่ ดูเเลผู้โดยสารช่วงสงกรานต์ พร้อมรับปาก หากได้เป็นรัฐบาล จะช่วยดูเเลเรื่องค่าเเก๊ส-น้ำมันให้

(12 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันนี้ (12 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘FC ลุงป้อม’ ได้โพสต์คลิปของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่วิดีโอคอลให้กำลังใจผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยหนึ่งในกลุ่มแท็กซี่ที่มาร่วมวิดีโอคอลกับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ นายพัลลภ ฉายินธุ นายกสมาคมผู้ประสานงานรถรับจ้างสนามบินสุวรรณภูมิและกลุ่มที่ปรึกษาสมาคมชมรมรถแท็กซี่ อาทิ เช่น นายอำนาจ เผือกบาง และผู้ขับแท็กซี่หลายคนได้ร่วมวิดีโอคอลกับพลเอกประวิตร

โดยนายกสมาคมผู้ให้บริการแท็กชี่และรถรับจ้างกล่าวว่า สวัสดีพลเอกประวิตร ขอให้สู้ ๆ และก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้ช่วยดูแลราคาค่าแก๊สและน้ำมันของรถแท็กซี่ด้วย

จากนั้น พลเอกประวิตร กล่าวทักทายให้กำลังใจผู้ขับขี่แท๊กซี่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นว่า ขอบคุณที่ให้กำลังใจตน ดังนั้นตนขอให้กำลังใจทุกคน และขอฝากให้ดูแลผู้โดยสารด้วย หากตนได้เป็นนายกฯ รัฐบาลจะลดราคาน้ำมันและแก๊สช่วยรถแท็กซี่ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น กลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวจึงร้องเรียนมายังรัฐบาลขอความช่วยเหลือ 4 ประเด็น ได้แก่ ขอให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท นำอาชีพแท็กซี่เข้าเป็นแรงงานนอกระบบ เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 รวมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 17-21 เม.ย.66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 24-28 เม.ย.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ประกาศอาสาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมกัน 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. - ธ.ค. 66 ทำให้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวในช่วงประมาณ 80 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 66 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 เม.ย. 66 ราคาเริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

สัปดาห์นี้ คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 80 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อน Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 2 - 3 พ.ค. 66 นอกจากนี้ ตลาดเริ่มคลายความตระหนกจากการตัดสินใจลดการผลิตของ OPEC+ รวมทั้งอุปทานจากรัสเซียและสหรัฐฯ ที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักวิเคราะห์ 90% คาดการณ์ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% ในการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 2-3 พ.ค. 66 และนักวิเคราะห์ 59% คาดว่าหลังจากนั้นจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใหม่ไปจนถึงสิ้นปี 66 และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 3.5% ไปอยู่ที่ 4.3% ในช่วงปลายปี 66 

- EIA รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 4.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน (+1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า) ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน (0.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เนเธอร์แลนด์ (0.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และสหราชอาณาจักร (0.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน) 

‘อรรถวิชช์’ ฝาก รบ.ใหม่ควบคุมค่าการกลั่น เก็บภาษีลาภลอย ชี้!! ดีเซลต้องไม่ขึ้น 5 บาท เหตุน้ำมันดิบราคาลดลง

(30 พ.ค. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่กำลังจะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.2566 นี้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นจาก 32 เป็น 37 บาทต่อลิตร ว่า เป็นเรื่องน่าแปลก เพราะจริงๆ แล้วราคาน้ำมันต้องกลับมาลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ราคา 113.87 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันเหลือ 76.94 เหรียญต่อบาร์เรล ลดลงมาถึงร้อยละ 32.43 (https://www.opec.org/opec_web/en/data_graphs/40.htm) ขณะที่โรงกลั่นหลายโรงโกยกำไรไม่หยุดตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงไตรมาสหนึ่งปีนี้ (Q1/2566) เป็นหมื่นล้านบาท บางส่วนก็มีการนำกำไรไปขยายธุรกิจอื่นเพิ่มแล้ว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาปลายเหตุเพื่ออุ้มราคาน้ำมันโดยลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รายได้ภาษีหายไป 158,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนน้ำมัน แม้จะมีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไปแล้ว 1.1 แสนล้าน แต่สถานะยังคงติดลบอยู่ถึง 72,731 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเหมือนที่ผ่านมา

“ผมขอให้กล้าตัดสินใจ ควบคุมค่าการกลั่น ที่เป็นราคาสมมติให้เหมาะสม หรือออกกฎหมายเก็บภาษีลาภลอย ขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเฉพาะธุรกิจโรงกลั่น แล้วนำภาษีส่วนนั้นเก็บกลับไปใช้หนี้กองทุนน้ำมัน ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมัน เหมือนที่หลายประเทศเขาทำกัน” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า เหลือเวลาอีกไม่ถึงสองเดือนแล้วที่มาตรการอุ้มราคาดีเซลจะสิ้นสุดลง ผมมีความหวังที่จะเห็นรัฐบาลใหม่ได้เจรจากับโรงกลั่น เตรียมกฎหมายรื้อโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรม

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 19-23 มิ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 26-30 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยวันที่ 20 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People's Bank of China: PBOC) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate : LPR) ระยะเวลา 1 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 3.55% และ 5 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 4.20% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี Reuters รวบรวมคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 2566 จากวาณิชธนกิจชั้นนำล่าสุดอยู่ในช่วง 5.1-5.7% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมในช่วง 5.5-6.3% จากปีก่อนหน้า (เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 5% จากปีก่อนหน้า) สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง

ขณะที่วันที่ 20-21 มิ.ย. 66 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเพดานที่ +2% จากปีก่อนหน้า สะท้อนว่าที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00 -5.25% เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ยังมิใช่จุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินตึงตัว (Tightening) และวันที่ 22 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% มาอยู่ที่ 5.0% ปรับขึ้นต่อเนื่อง 13 ครั้งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ วันที่ 24 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ก่อกบฏโดยยึดครองกองบัญชาการทหารในเมือง Rostov-on-Don ทางตอนใต้ของรัสเซีย และจะเคลื่อนพลสู่กรุง Moscow อย่างไรก็ดี วันที่ 25 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ล้มเลิกภารกิจ พร้อมถอนกำลังจากเมือง Rostov-on-Don โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้นาย Yevgeny Prigozhin ผู้นำกองกำลัง Wagner ไม่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ และนำกองกำลังลี้ไปอยู่เบลารุสแทน ทั้งนี้ รัสเซียยังคงใช้มาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุง Moscow โดยประกาศให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 26 มิ.ย. 66

ติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระยะสั้น โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วาณิชธนกิจ HSBC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ในปี 2566 อยู่ที่ +5.3% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า) จากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง

- S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index : PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 2.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 46.3 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

- 21 มิ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ภายในปี 2566

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 66 ลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

- Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลงประมาณ 3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 7.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และผลิตน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

‘เพื่อไทย’ เปิดนโยบายเร่งด่วน พาคนไทยฝ่าแก้วิกฤต ศก. พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น-ดอก พร้อมลดค่าไฟ-น้ำมันทันที!!

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 66 พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์นโยบายเร่งด่วนที่จะทำหากได้เป็นรัฐบาล ระบุว่า…

“พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มุ่งมั่นที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน

ภาระหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจะต้องมีหนทางในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก เพื่อลดภาระและเปิดโอกาสใหม่ให้พี่น้องเกษตรกรในการทำมาหากิน พลิกฟื้นภาคการเกษตรของไทย ด้วยหลัก ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ รวมทั้งการผลักดันการพักชำระหนี้ SME ที่ประสบภัยโควิด 1 ปี คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง พร้อมต่อยอดด้วยชุดนโยบายของพรรคต่อไป

วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย โพสต์อีก “หากเพื่อนไทยเป็นรัฐบาล ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ลดราคาทันที”

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอปรับราคา 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ลดค่าใช้จ่าย ปชช. พร้อมเปิดทางนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ในราคาที่เป็นธรรม-เหมาะสม

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความจริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้วและตนได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่น ๆ ด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่า น่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ตนเห็นว่า ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจและได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่ อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบนั้น จนประสบความสำเร็จโดย นอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร  ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็น บริษัท ปตท.จำกัด ในปัจจุบัน

“ที่มาของพลังงานในประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ และ การหาน้ำมันราคาถูกให้ประชาชนใช้ ผมจึงคิดว่าภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและของกระทรวงพลังงานวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจน้ำมันแต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของกระทรวง แต่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่กำกับดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมถูกต้องแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการหาพลังงาน หาน้ำมัน หาเชื้อเพลิงมาใช้ได้อย่างเสรี จะต้องไม่ปิดกั้นต้องให้โอกาสเพื่อให้ราคาถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าสามารถลดต้นทุนตรงนี้ลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม ฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่คือภารกิจของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่การทำธุรกิจ” นายพีระพันธุ์กล่าว

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 ส.ค. - 1 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 4 - 8 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบ (ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ออกไปถึงเดือน ต.ค. 66 จากเดิมช่วง ก.ค.- ก.ย. 66 ขณะที่รัสเซียจะขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบออกไปถึง ต.ค. 66 เช่นกัน (ก่อนหน้ารัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ก.ย. 66 ปริมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอาจจะอาสาลดการผลิตจนสิ้นปีนี้

พายุเฮอริเคน Idalia (ระดับ 3: ความเร็วลมสูงสุด 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนผ่านรัฐ Florida ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท Chevron อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Platforms) แถบ Gulf of Mexico (GoM) บางส่วน โดย Reuters คาดว่าจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ GoM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของการผลิตในสหรัฐฯ

ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (Core Personal Consumption Expenditure: PCE) ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งใช้วัดเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะอยู่ที่ +4.2 จากปีก่อน ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 88% ที่ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนัก 12% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ภาคการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 49.7 จุด รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘ลดภาษี-อุดหนุนเงินเข้ากองทุน’ ทางออกปัญหา ‘พลังงานแพง’ ช่วยลดภาระ ปชช. ควบคู่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(6 ก.ย. 66) ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายจัดการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 6 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก ดร.พรายพล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

“สำหรับการจัดการเรื่องราคาน้ำมัน ทางเดียวที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุน จะทั้งทางลดภาษีสรรพสามิต หรือการอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้ทั้งนั้น อีกทั้งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้ด้วย ที่พูดมานี้หมายถึงตัวน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีความจำเป็นในการขนส่ง รถโดยสาร”

ดร.พรายพล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้รัฐได้อุดหนุนน้ำมันดีเซลผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยควบคุมให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น โดยอุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 5.60 บาท แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละเกือบ 6 บาท ถ้าเทียบดูแล้ว ฟากที่รัฐเก็บเข้ามาและจ่ายออกไปก็พอ ๆ กัน โดยสรุปก็คือรัฐเก็บภาษีได้ไม่กี่สตางค์ต่อลิตร 

ส่วนทางด้านของน้ำมันเบนซิน ในขณะนี้มีการเก็บภาษีเต็มที่คือ 5 บาทกว่า ๆ ต่อลิตร และอุดหนุนเข้ากองทุนลิตรละประมาณ 2 บาทกว่า ๆ อาจจะฟังดูไม่เป็นธรรม แต่หากมองราคาที่หน้าปั๊มจะเห็นว่า ราคาขายปลีกของเบนซินสูงกว่าดีเซล

ดร.พรายพล กล่าวต่อว่า แนวคิดรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา จะมองว่าคนที่ใช้เบนซินจะเป็นคนที่มีกำลังจ่ายมากกว่าคนที่ใช้น้ำมันดีเซล เพราะการใช้น้ำมันดีเซลจะใช้ในรถบรรทุก ขนส่ง รถโดยสาร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ จึงนำเงินมาช่วยอุดหนุนมากหน่อย แต่น้ำมันเบนซินใช้ในรถยนต์ส่วนตัว รถที่มีราคาแพง จึงมีการอุดหนุนที่น้อยกว่า 

เมื่อถามว่านอกเหนือจากภาษีที่ต้องจัดการ โครงสร้างราคาน้ำมันส่วนไหนที่สามารถจัดการได้อีกบ้าง เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง ดร.พรายพล กล่าวว่า จะต้องดูให้ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพลังงาน ส่วนเรื่องของค่าการกลั่นที่เคยเป็นประเด็นก็ควรจับตาดูด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการขยับขึ้นลงเสมอ ๆ และแม้ทั่วโลกจะมีค่าการกลั่นสูงเหมือนกันหมด แต่ก็น่าคิดว่าจะทำให้ค่าการกลั่นลดลงได้หรือไม่ สำหรับปีนี้ก็ลดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่แนวโน้มในช่วง 10 ที่ผ่านมาก็ยังสูง แต่คิดว่าก็น่าจะมีแนวทางที่จะลดลงได้

ส่วนค่าการตลาดที่ผ่านมาถือว่าไม่สูงเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วลิตรละ 2 บาท หากจะให้ลดลงอีกก็คงลดได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะก็ต้องมีช่องให้ผู้ประกอบการทำกำไรด้วย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้ ๆ กัน 

เมื่อถามว่าจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าเสรีใช่หรือไม่?

ดร.พรายพล กล่าวว่า เท่าที่ผมทราบ ค่อนข้างเปิดกว้างและเสรี ยกเว้นแต่เพียงก๊าซหุงต้ม ส่วนที่เหลือไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย การเสรีค้าในที่นี้หมายถึงเสรีภายใต้กรอบกฎหมาย และผู้นำเข้าจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปนำเข้ามาขาย เพราะก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพราะน้ำมันเป็นวัตถุอันตราย หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็จะเป็นเรื่องใหญ่

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เช่น หากเราไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูก ก็อาจจะโดนจับตามองจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะตอนนี้มีการคว่ำบาตรกันอยู่ 

สำหรับประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย ประชาชนซื้อราคาสูงมาก แต่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีซื้อในราคาถูก สามารถแก้เขาให้มีราคาเท่ากันได้หรือไม่? ดร.พรายพล กล่าวว่า การปรับราคาก๊าซธรรมชาติให้มีราคาถูกเท่ากันก็มีวิธีการทำให้เป็นไปได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ขายแก๊สก็ต้องมีรายได้ลดลง และต้องเป็นการหารือระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ต้องเห็นใจให้เขาสามารถทำกำไรได้ด้วย

เมื่อถามว่าจะบริหารจัดการให้เกิด ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง? ดร.พรายพล กล่าวว่า ความมั่นคงในที่นี้คือการมีปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยต้องดำเนินการอยู่บนพื้นฐานอำนาจของรัฐ เช่น ด้านภาษี หรือกลไกของกองทุนน้ำมัน เพราะหากออกนโยบายที่กดดันทางผู้ประกอบการมากเกินไป ก็อาจจะไม่มีเสถียรภาพในการให้บริการและไม่เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานตามมาได้

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะใช้มาตรการหรือวิธีการใดในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 4-8 ก.ย. 66  จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 11-15 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซาอุดีอาระเบียประกาศขยายกรอบเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายกรอบเวลาลดปริมาณการส่งออก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดว่าทั้งสองประเทศจะขยายเวลาออกไปถึงเดือน ต.ค. 66

ความกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มทุเลาลง หลังจากวันที่ 1 ก.ย. 66 ผู้ถือหุ้นกู้ Onshore Private Bond ของบริษัท Country Garden ที่ออกขายภายในประเทศและจำกัดเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ลงมติเห็นชอบเลื่อนกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินหยวน มูลค่า 3.9 พันล้านหยวน (537 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีกำหนดให้ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมมีกำหนดจ่ายภายในวันที่ 2 ก.ย. 66 อีกทั้งบริษัท Country Garden สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ก.ย. 66 ทันกำหนดระยะผ่อนผัน 30 วัน

วันที่ 10 ก.ย. 66 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation: NOC) ประกาศปิดท่าส่งออกน้ำมันจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ Ras Lanuf, Zueitina, Brega และ Es Sider กำลังการผลิตรวม 6.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 3 วัน หลัง Arab Regional Weather Center คาดการณ์พายุเฮอริเคน Daniel จะพัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ลิเบียภายในวันที่ 12 ก.ย. 66 อนึ่ง ลิเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ติดตามพายุเฮอริเคน Lee และพายุโซนร้อน Margot ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หรัฐฯ โดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (National Hurricane Center: NHC) คาดว่าพายุ Lee ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับที่ 1 (ความเร็วลม 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะเพิ่มกำลังกลายเป็นเฮอริเคนระดับที่ 5 (ความเร็วลม 249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคาดว่าพายุ Margot จะยกระดับจากพายุโซนร้อนเป็นพายุเฮอริเคนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ พายุทั้งสองยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกในสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 88-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top