Wednesday, 15 May 2024
ราคาน้ำมัน

‘ก.พลังงาน’ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บ./ลิตร ถึง 19 เม.ย. ย้ำ!! หากมีการปรับขึ้นราคา จะควบคุมไม่ให้ขึ้นพรวดในครั้งเดียว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือเพื่อพิจารณาแนวทางดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่หากไม่มีเงินเข้ามาสนับสนุน ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ดีเซลปรับขึ้นไปเกิน 30 บาทต่อลิตร แต่จะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได โดยค่อย ๆ ลดการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกมากขึ้น ที่สำคัญต้องกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

“แต่การทยอยปรับราคาดีเซลขึ้นจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวนี้แน่นอน เพราะเห็นใจประชาชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในการเดินทาง”

ทั้งนี้ ‘สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ จะยังช่วยอุดหนุนราคาดีเซลไปก่อนในอัตรา 4.57 บาทต่อลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้กองทุนอุดหนุนดีเซลเพิ่มเติมอีก 40 สตางค์ต่อลิตร จากก่อนหน้านี้อุดหนุนอยู่ 4.17 บาทต่อลิตร แม้มาตรการตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล จะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา แต่กองทุนน้ำมันฯ ยังคงอุดหนุนราคาดีเซลด้วยตัวกองทุนน้ำมันฯ เองมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.2567 ช่วยอยู่อีก 1 บาทต่อลิตร จากที่ต้องเก็บเต็มอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร แต่นับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2567 จะเป็นอย่างไร ต้องมาลุ้นกันอีกที ซึ่งหากไม่มีมาตรการใด ๆ เข้ามาอุดหนุนเลย ราคาดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 35-36 บาทต่อลิตร แต่ยืนยันว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลไม่ให้ปรับขึ้นพรวดพราดครั้งเดียวแน่นอน

ปัจจุบัน ณ วันที่ 4 เม.ย.2567 จะเห็นว่าราคาพรีเมี่ยมดีเซล B7 ที่ใช้เติมในรถยนต์ราคาแพง ได้เริ่มปรับขึ้นแล้ว 40 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 41.94 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล B7 B10 และ B20 ยังคงอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร

โดยกองทุนได้เข้าอุดหนุนในอัตรา 4.57 บาทต่อลิตร ไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ฐานะกองทุน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 มีสถานะติดลบ 99,821 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 52,729 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 47,092 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ในประเทศในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.-4 เม.ย. 2567 ปรับขึ้นต่อเนื่อง 5 ครั้ง เป็นเงิน 2.10 บาทต่อลิตร ตามทิศทางตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นอยู่ที่ 47.84 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 38.48 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.95 บาทต่อลิตร E20 อยู่ที่ 37.84 บาท/ลิตร E85 อยู่ที่ 37.59 บาทต่อลิตร พรีเมี่ยม แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 47.64 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2567 ณ วันที่ 5 ม.ค.4 เม.ย. 2567 ราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นแล้ว 15 ครั้ง เป็นเงิน 6.10 บาท ขณะที่มีการปรับลดลง 4 ครั้ง เป็นเงิน 1.40 บาท ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินปรับขึ้นสุทธิ 4.70 บาท

15 เมษายน 2567 วันสำคัญที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์พลังงานไทย ครั้งแรกที่ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก' ต่อจากนี้ทุกเดือน

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!! กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ต่อจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันนี้ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลก 

เพราะทุกครั้งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นราคา ผู้ค้าน้ำมันทุกราย ก็จะประกาศขึ้นราคาตามราคาตลาดโลกทันที ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันในประเทศควรเป็นไปตามราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลานั้นๆ 

งานนี้ ก็คงต้องขอบคุณตรงๆ ไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว ซึ่งนี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมได้รับประโยชน์เต็มๆ จากประกาศฉบับนี้ ผ่าน...ราคาพลังงานที่เป็นธรรม!!

15 เมษา ถึงเวลา 'ปลดแอก' คนไทยจากราคาพลังงานแบบเดิมๆ เสียที...

ทำไม? น้ำมันในไทยถึง ‘แพง’

เคยสงสัยไหม ทำไมราคา ‘น้ำมัน’ ในไทยถึง ‘แพง’ วันนี้ THE STATES TIMES มีคำตอบ!!

เหตุที่ทำให้น้ำมันในไทยมีราคาแพง มี 4 ปัจจัย ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ค่าขนส่ง ภาษีต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศเรียกเก็บ และ ค่าการกลั่น นั่นเอง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ ‘ไทย’ ที่เจอปัญหาน้ำมันแพง แต่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหานี้เช่นกัน อีกทั้งประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จึงไม่อาจเลี่ยงความผันผวนในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม

‘พีระพันธุ์’ จ่อคลอดกฎหมายใหม่ เคาะราคาน้ำมันเดือนละครั้ง  ชดเชยราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ลดภาระให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

(7 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการโครงสร้างราคาพลังงานว่า หลังจากเข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ภายในกระทรวงพลังงานมีปัญหาที่ถูกหมักหมมมาเยอะมาก และแน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้าง แต่เมื่อทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จึงพบว่า ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นระบบเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะฉะนั้น จึงต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อที่จะรื้อระบบน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย

นอกจากการออกกฎหมายแล้ว ทางกระทรวงฯ ยังเร่งเดินหน้าสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมี และจำเป็นต้องมี นั่นคือ การสร้างระบบสำรองน้ำมันทางด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีระบบนี้อยู่ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมัน และในกรณีเกิดวิกฤตสงคราม ซึ่งจะทำให้น้ำมันขาดแคลนและราคาผันผวน 

ทั้งนี้ ระบบการสำรองน้ำมันในประเทศไทยที่มีอยู่นั้น เป็นการสำรองน้ำมัน เพื่อการค้าของผู้ประกอบการ หรือภาคเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล และมีปริมาณสำรองเพียงแค่ 20 กว่าวันเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศ จะต้องมีปริมาณขั้นต่ำตามมาตรฐานอยู่ที่ 90 วัน และเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ 100% ซึ่งระบบสำรองน้ำมันที่ใช้อยู่วันนี้เป็นการสำรองน้ำมันตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ใช่สำรองเพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะฉะนั้น เมื่อประเทศต้องใช้น้ำมัน คนที่รับผิดชอบ คือ รัฐบาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในประเทศหรือต่างประเทศ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ระบบใหม่ที่กำลังจะนำมาใช้ จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบกับคนไทย โดยราคาตลาดโลกจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการกับรัฐบาล ส่วนราคาในประเทศจะขายเท่าไร รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด โดยจะเอาระบบ SPR ของประเทศมาเป็นกลไกแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการรักษาระดับราคาน้ำมัน ด้วยน้ำมัน ไม่ใช่เงินกองทุนฯ สำหรับน้ำมันที่จะนำมาใช้ ก็คือน้ำมันที่สำรองไว้ 90 วันนั่นเอง

“เรื่องนี้คนที่ประสบการณ์เยอะ รู้เยอะ ก็จะบอกทำไม่ได้ ต้องใช้เงินเป็นแสนล้าน ผมบอกไม่ต้อง ผมจะไม่ใช้เงินเลย แต่ผมจะเก็บภาษีเป็นน้ำมัน ซึ่งเก็บภาษีเป็นน้ำมันหมายความว่า เวลานี้ถ้าคิดคร่าว ๆ เงินกองทุนน้ำมันเก็บจากผู้ค้า แต่เก็บเป็นเงิน ต่อไปผมจะไม่เก็บเป็นเงิน แต่เก็บเป็นน้ำมันแทน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะได้น้ำมันวันละ 10 ล้านลิตร เมื่อผมมีน้ำมันเป็นทุนสำรอง ผมก็จะแก้ปัญหาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันนี้เป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันสำรองของประเทศ และขณะเดียวกันผมจะใช้น้ำมันตรงนี้ที่มันจะหมุนเวียน เอามารักษาระดับราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ผมจะยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงิน เปลี่ยนเป็นกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นน้ำมันจริง ๆ นี่ก็เป็นการรื้ออย่างหนึ่ง”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า ระบบใหม่นี้สามารถทำได้แน่นอน ถ้าไม่มีคนขวาง เพราะหากจะรักษาระดับราคาน้ำมันคุณก็ต้องเอาน้ำมันไปรักษา ยกตัวอย่างสมัยตนเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ยังไปช่วยรักษาระดับราคาผลไม้เลย ผลไม้ราคาตกต่ำ ในยุคนั้นราคามังคุดตกต่ำจากกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหลือกิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็ไปกวาดซื้อมาหมดเลย จากนั้นเอาไปให้นักโทษกิน เมื่อพ่อค้าไม่มีจะขาย คนก็ต้องกลับมาซื้อกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหมือนเดิม แต่ต้องซื้อจากเกษตรกร ไม่ได้ซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เช่นเดียวกันกับน้ำมัน ซึ่งเป็นระบบที่ IEA (International Energy Agency) ที่มีสมาชิกอยู่ร้อยกว่าประเทศในโลก เขาก็ลงขันหาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นทุนสำรองเอาไว้ เวลาที่เกิดวิกฤติในตลาดโลกแพงเกินไป หรือว่าน้ำมันขาดแคลน ก็จะนำน้ำมันในสต็อกตรงนี้เข้าไปอัดในตลาดโลก ทำให้รักษาระดับราคาน้ำมันได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการวางระบบใหม่ จะมีองค์กรพิเศษใหม่มาคอยกำกับเรื่องราคาน้ำมันโดยเฉพาะ และความมั่นคงพลังงาน อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เป็นองค์กรที่ไม่ได้ค้ากำไร ไม่ได้มาแข่งกับผู้ค้า แต่เป็นองค์กรกำกับให้อยู่ในระบบเฉย ๆ เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังทำอยู่ และพยายามจะให้แล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือนนี้ 

“เมื่อระบบ SPR สำเร็จ 100% จะช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันและกองทุนฯ ได้อย่างยั่งยืน และเป็นระบบที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่กระทบกับเอกชนแน่นอน และจะไม่ให้ปรับราคาขึ้นลงทุกวันตามอำเภอใจแบบนี้อีก จะให้ปรับได้เดือนละครั้ง ต้องเอาต้นทุนมาเคลียร์กับกระทรวงแล้วมาหาราคาเฉลี่ยกันว่าจะปรับขึ้นลงยังไง กฎหมายผมจะไม่มีตารางส้ม (ตารางต้นทุนผู้ค้าน้ำมันของสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน) แบบนี้อีกแล้ว ผมจะใช้ต้นทุนจริง ไม่ใช่ต้นทุนอ้างอิงสิงคโปร์อะไรกันอีก ทุกอย่างต้องเป็นของจริง ในกฎหมายที่ผมจะออกใหม่จะชัดเจนดูแลได้ทั้งหมด”

เหตุผลที่ต้องขยับราคาดีเซลขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อลิตร

กบน. ขยับราคาดีเซลขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ช่วยสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังติดลบกว่าแสนล้านบาท โดยลดการชดเชยดีเซลลงจาก 3.08 บาทต่อลิตร เป็น 2.58 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายประเภทน้ำมันดีเซลลดลงประมาณวันละ 35.42 ล้านบาท จากวันละ 216.99 ล้านบาท เป็น 181.57 ล้านบาท

(10 พ.ค. 67) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว เห็นว่ายังมีรายจ่ายต่อวันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้ยังมีความผันผวนต่อเนื่องจากสถานการณ์ด้านสงคราม และเศรษฐกิจ กบน. จึงมีมติลดอัตราเงินชดเชยประเภทน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จาก 3.08 บาท/ลิตร เป็น 2.58 บาท/ลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายประเภทน้ำมันดีเซลลดลงประมาณวันละ 35.42 ล้านบาท จากวันละ 216.99 ล้านบาท เป็น 181.57 ล้านบาท การลดอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันประเภทดีเซลในครั้งนี้ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 31.44 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่เห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน โดยวางกรอบการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และการดำเนินการนี้เป็นไปตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่เห็นชอบในหลักการให้ปรับอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกเกินกว่า 30 บาทต่อลิตรได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม กบน.จะพิจารณาลดการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เป็นไปตามช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป และให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนให้น้อยที่สุด  

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ติดลบอยู่ 109,186 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 61,640 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,546 ล้านบาท

ปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ดันราคาน้ำมันพุ่ง 250 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อ 1 ใน 5 ‘การค้าน้ำมันดิบ-ผลิตภัณฑ์น้ำมัน’ ต้องผ่านเส้นทางนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์วอร์เท็กซา (Vortexa) ระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ย. 2566 น้ำมันหนึ่งในห้าของการบริโภคทั่วโลกทั้งในรูปน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันต้องผ่านเส้นทางนี้ เฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ความหวาดวิตกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียถูกโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (ไออาร์จีซี) เสียชีวิตเจ็ดนาย ในจำนวนนี้เป็นระดับผู้บัญชาการสองนาย อิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.อลิเรซา ตังซิรี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน เผยกับสำนักข่าวอัลเมยาดีนที่สนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน

“เราสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ แต่เราไม่ทำ อย่างไรก็ตามถ้าศัตรูเข้ามาป่วนเรา เราจะทบทวนนโยบาย” ผบ.ทร.อิหร่านกล่าวและว่า ถ้าเรือพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐเข้ามายังน่านน้ำอิหร่าน ช่องแคบฮอร์มุซ “จะใช้การไม่ได้ไปอีกหลายปี”

ในอดีตอิหร่านเคยขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซหลายครั้งเมื่อเกิดความตึงเครียดกับสหรัฐและอิสราเอล

>> รู้จักช่องแคบฮอร์มุซ

น่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้มีรูปร่างเหมือนตัว V หัวตั้ง เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย มีอิหร่านอยู่ทางตอนเหนือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมานอยู่ทางตอนใต้ความยาวของช่องเกือบ 161 กิโลเมตร ส่วนแคบสุดกว้าง 33.8 กิโลเมตร ความลึกของช่องแคบไม่มากนักทำให้เรือเสี่ยงต่อทุ่นระเบิด และระยะทางห่างจากแผ่นดินโดยเฉพาะอิหร่านไม่ไกลนัก ทำให้เรือมีโอกาสถูกโจมตีจากขีปนาวุธยิงจากฝั่ง หรือถูกเรือลาดตระเวนและเฮลิคอปเตอร์ตรวจจับได้

>>ความสำคัญของช่องแคบ

ช่องแคบฮอร์มุซสำคัญยิ่งต่อการค้าน้ำมันโลก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรวบรวมข้อมูลพบว่า ในไตรมาสหนึ่งของปี 2567 เรือบรรทุกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย อิรัก คูเวต ยูเออีและอิหร่านผ่านช่องแคบนี้เกือบ 15.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กว่าหนึ่งในห้าของอุปทานโลก ส่วนใหญ่มาจากกาตาร์

>> ชนวนล่าสุด

วันที่ 13 เม.ย. หลายชั่วโมงก่อนใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ไออาร์จีซียึดเรือเอ็มเอสซีแอรีส์ ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าเกี่ยวข้องกับอิสราเอลใกล้ช่องแคบฮอร์มุซระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน

กองกำลังพิเศษโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงเรือแล้วบังคับเรือเข้าน่านน้ำอิหร่าน ทอดสมอระหว่างหมู่เกาะเคชม์ของอิหร่านกับช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวเปอร์เซีย

>> ทำไมอิหร่านต้องป่วนการเดินเรือ

อิหร่านคุกคามเรือในอ่าวเปอร์เซียมาหลายสิบปีเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูกคว่ำบาตร หรือแสดงอำนาจเหนือกว่าเมื่อเกิดข้อพิพาท

กรณีล่าสุดรัฐบาลเตหะรานอ้างว่ายึดเรือไว้เพราะละเมิดกฎหมายทางทะเล แต่นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นเพราะอิสราเอลเป็นเจ้าของเรือมากกว่า

ตอนที่อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันมุ่งหน้าไปสหรัฐในเดือน เม.ย.2566 ได้ให้เหตุผลว่า เรือลำนี้โจมตีเรือลำอื่น แต่ดูเหมือนอิหร่านทำไปเพื่อตอบโต้ทางการสหรัฐยึดเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านนอกชายฝั่งมาเลเซียโทษฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตร

เดือน พ.ค.2565 อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันกรีซสองลำไว้นานถึงหกเดือน สันนิษฐานว่าเพื่อตอบโต้ทางการกรีซและสหรัฐที่ยึดน้ำมันอิหร่านจากเรืออีกลำหนึ่ง สุดท้ายเรือทั้งสองลำก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ

>> อิหร่านเคยปิดช่องแคบฮอร์มุซหรือไม่

จนถึงขณะนี้อิหร่านยังไม่เคยปิดช่องแคบฮอร์มุซ ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ปี 2523-2531 กองทัพอิรักโจมตีสถานีส่งออกน้ำมันบนเกาะคาร์จ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของช่องแคบ เป็นชนวนหนึ่งให้อิหร่านต้องตอบโต้ซึ่งเป็นการดึงสหรัฐเข้ามาร่วมวงความขัดแย้งนี้ด้วย

หลังจากนั้นเกิดสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งสองฝ่ายโจมตีเรือของกันและกัน 451 ลำ เพิ่มต้นทุนการขนส่งน้ำมันอย่างมหาศาลดันราคาน้ำมันพุ่งสูงตามไปด้วย

ตอนถูกคว่ำบาตรในปี 2554 อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซแต่สุดท้ายก็ไม่ทำ

ผู้ค้าน้ำมันสงสัยว่าอิหร่านจะปิดช่องแคบทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะอิหร่านก็ส่งออกน้ำมันของตนไม่ได้เหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพเรืออิหร่านยังเทียบกันไม่ได้กับกองเรือที่ 5 ของสหรัฐและกองกำลังอื่น ๆ ในภูมิภาค

ก่อนเกิดเหตุยึดเรือลำล่าสุดในเดือน เม.ย.ได้ไม่นาน ผบ.กองทัพเรืออิหร่านพูดว่า อิหร่านสามารถใช้ช่องแคบฮอร์มุซป่วนการเดินเรือได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ

>> จะปกป้องช่องแคบฮอร์มุซได้อย่างไร
ระหว่างสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน กองทัพเรือสหรัฐกลับมาลาดตระเวนติดตามเรือในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง ปี 2562 สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำและเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 จำนวนหนึ่งเข้ามาในภูมิภาคนี้

ปีเดียวกันสหรัฐเริ่มปฏิบัติการ Operation Sentinel ตอบโต้อิหร่านก่อกวนการเดินเรือ ต่อมาอีกสิบชาติ อาทิ สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน เข้าร่วมด้วย เรียกว่า โครงสร้างความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปลายปี 2566 ปฏิบัติการปกป้องเรือสินค้าส่วนใหญ่ย้ายจากช่องแคบฮอร์มุซมายังทะเลแดงตอนใต้และช่องแคบบับเอลมันเดบ ที่เชื่อมช่องแคบกับอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย

การโจมตีเรือสินค้าเข้าออกทะเลแดงโดยฮูตีในเยเมนกลายเป็นความน่ากังวลมากกว่าช่องแคบฮอร์มุซ กองกำลังในทะเลแดงนำโดยสหรัฐจึงพยายามปกป้องการเดินเรือในพื้นที่นี้

>> ใครพึ่งพาช่องแคบฮอร์มุซมากที่สุด
การส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบนี้ แต่ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่อส่งความยาว 1,200.5 กิโลเมตรข้ามประเทศไปสู่สถานีน้ำมันในทะเลแดงได้

ยูเออีสามารถเลี่ยงช่องแคบฮอร์มุซได้บ้าง ด้วยการส่งน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านท่อส่งจากบ่อน้ำมันของตนไปยังท่าเรือฟูไจราห์ในอ่าวโอมาน

น้ำมันอิรักบางส่วนใช้เรือบรรทุกจากท่าเรือซีฮานของตุรกี แต่ 85% ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ อิรักจึงต้องพึี่งพาเส้นทางนี้อย่างมาก

คูเวต กาตาร์ และบาห์เรนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้เส้นทางนี้เท่านั้น

>> แนวโน้มราคาน้ำมันหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ
ต้นเดือน พ.ย.2566 ไม่กี่สัปดาห์หลังสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลปะทุขึ้น เกิดความกังวลกันมากว่าความขัดแย้งจะบานปลาย แบงก์ออฟอเมริการายงานว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซอาจดันราคาน้ำมันไปสูงกว่า 250 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ผู้ติดตามอุตสาหกรรมน้ำมันหลายคนมองว่า การปิดช่องแคบยังไม่น่าจะเป็นไปได้

แอนดี ลิโปว์ ประธาน Lipow Oil Associates กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และคูเวตยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

โกลด์แมนแซคส์แสดงความคิดเห็นแบบเดียวกัน คณะนักวิเคราะห์นำโดยแดน สตรูว์เยน หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันรายงานไว้เมื่อวันที่ 26 ต.ค.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top