Saturday, 5 July 2025
ราคาน้ำมัน

ย้อนอดีต 'ซีพี' ร่วมทุน 'ปตท.-จีน' เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันร่วมกัน แต่ล่ม สะท้อนผู้เล่นจะอยู่ได้ ราคาน้ำมันต้องถูก-ขายง่าย-กระจายกลุ่มลูกค้า

รู้หรือไม่? ซีพีก็เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2536 ซีพี ร่วมลงทุนกับ 'ซิโนเปค' บริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของจีน จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมชื่อ 'ปิโตรเอเชีย' โดยเชิญการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้าร่วมทุนด้วย

ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่ ซีพีถือหุ้น 35% / ปตท.ถือหุ้น 35% และซิโนเปค 30%

ปิโตรเอเชีย ภายใต้สัญลักษณ์ 'ช้างแดง' เริ่มเปิดให้บริการในปี 2537 มีสถานีบริการน้ำมัน 37 แห่ง และจุดจ่ายน้ำมันขนาดเล็กอีก 450 แห่งทั่วประเทศ

หนึ่งในจุดขายสำคัญของปั๊มช้างแดงตอนนั้น คือ มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นให้บริการ ในยุคที่ ปตท.ยังคงบริหารร้านสะดวกซื้อแบรนด์ของตัวเอง เช่น จอย, พีพีทีที, สไมล์, ปตท.มาร์ท

แต่ธุรกิจปั๊มน้ำมันช้างแดงไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 5-7 ล้านบาท หรือตลอดที่เปิดกิจการ ขาดทุนราว 200 ล้านบาท แม้ปรับแผนการตลาดในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดขึ้น ผู้ค้าน้ำมันทุกรายระส่ำ ปิดกิจการจำนวนมาก เอาแค่เฉพาะ ปตท.เจ้าเดียวก็ขาดสภาพคล่องราว 2 พันล้านบาท

จากจุดนี้ ทำให้ทั้ง ซีพี และ ซิโนเปค เสนอถอนทุน และให้ ปตท.เข้าซื้อหุ้นแทนทั้งหมด ขณะเดียวกัน ปตท.ถูกตัดลดงบลงทุนโครงการ ก็เลยจะขายหุ้นปิโตรเอเชียให้กับต่างชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระ

เรียกว่าเป็นเผือกร้อนที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนใส่กัน

แม้ว่าช่วงหนึ่ง ปตท.จะเปิดเผยว่ามีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง 'อาร์โก้' ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ร้านเอเอ็มพีเอ็มในขณะนั้น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สนใจที่จะซื้อหุ้นแล้ว

ในปี 2541 ซีพีเสนอขายปั๊มน้ำมัน 37 แห่งทั่วประเทศให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากขาดทุนสะสมสูงถึง 300 ล้านบาท อีกทั้งยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

แต่ ปตท.ก็ตัดสินใจไม่รับซื้อกิจการ เพราะต้องการประคับประคองปั๊ม ปตท.ที่ในขณะนั้นเหลือเพียงแค่ 1,500 แห่งให้อยู่รอด อีกทั้งปั๊ม ปตท.กับปั๊มพีเอหลายแห่งอยู่ติดกัน จะเกิดการแข่งขันกันเอง

อย่างไรก็ตาม ผลที่สุด ที่ประชุมบอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2541 อนุมัติให้ ปตท.ซื้อปั้มน้ำมันปิโตรเอเชีย 17 แห่ง ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมีทำเลไม่เหมาะสม

จากนั้นในวันที่ 21 ส.ค. 2541 การประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง ปตท. / ซีพี และ ซิโนเปค เห็นชอบให้หยุดดำเนินธุรกิจขายปลีกน้ำมัน แต่ยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายส่งน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรม และดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม

ส่วนปั๊มปิโตรเอเชียที่ดูแลโดยตัวแทนจำหน่าย 11 แห่ง ถ้าต้องการดำเนินกิจการต่อ ก็ให้เปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. แต่ถ้าไม่ต้องการก็ให้ปิดกิจการ เพื่อหยุดความเสียหายต่างๆ

ปัจจุบัน ปั๊มปิโตรเอเชียได้เลือนหายไปจากความทรงจำ เพราะทุกปั๊มเปลี่ยนเป็น ปตท.หมดจนไม่เหลือเค้าความเป็นปั๊มช้างแดงที่มีอยู่เดิม ขณะที่บางส่วนก็ปิดกิจการไปแล้ว

ความล้มเหลวของปั๊มช้างแดงในอดีต สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ยึดติดแบรนด์เดิม กระทั่งมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ยิ่งซ้ำเติมให้ปิโตรเอเชียอยู่ลำบาก

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป มีความเป็นไปได้ว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ซีพีลงมาทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เพราะเซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นร้านสะดวกซื้อตามปั๊มน้ำมัน (Gasoline Store) หรือ G Store ซึ่งในเวลานั้น มีร้านไทเกอร์มาร์ทของปั๊มเอสโซ่ ร้านสตาร์มาร์ทของปั้มคาลเท็กซ์ และร้านซีเล็คของปั๊มเชลล์ ซึ่งแต่ละค่ายต่างหาจุดดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการในปั๊มของตัวเอง

ซีพี จึงก่อตั้งปั๊มน้ำมันของตัวเองภายใต้ชื่อ ปิโตรเอเชีย เพื่อให้เซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขา G Store ที่จะมารองรับไลฟ์สไตล์ของคนเดินทาง ภายหลังปั้มปิโตรเอเชียเปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. ก็ยังคงให้บริการอยู่

ขณะที่ร้านเอเอ็มพีเอ็ม ที่ ปตท.บริหารในปี 2540 โดยมีทิพยประกันภัยร่วมลงขัน ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในความเป็นจริงได้เพียงแค่โลโก้เอเอ็มพีเอ็มมาติดไว้หน้าร้าน แต่ไม่ได้รับเซอร์วิสต่างๆ มาเลย

เมื่อ ปตท.ตัดสินใจเซ็นสัญญาให้เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดร้านสะดวกซื้อแทนร้านเอเอ็มพีเอ็มเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2545 กลายเป็นการต่อความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสองธุรกิจยักษ์ใหญ่ มาจนถึงทุกวันนี้

 

‘พีระพันธุ์’ ร่าง กม. แยกค่าใช้จ่ายอื่นออกจาก ‘ต้นทุนน้ำมัน’  ปิดช่องผู้ค้าน้ำมัน ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 15/2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาร่างแนวทางการจัดตั้งสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเชื้อเพลิงของประเทศไทย 

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่านายหน้าจากการซื้อขายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นในประเทศไทย โดยนายพีระพันธุ์กำลังยกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนำ ‘ค่านายหน้า’ และค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ ‘ค่าใช้จ่ายโดยตรง’ ในการได้มาซึ่งน้ำมันมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ต้นทุนน้ำมัน’ ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้แทนในท้ายที่สุด 

“เรื่องหนึ่งที่เป็นกังวลเกี่ยวกับต้นทุนน้ำมันในวันนี้ ก็คือ เรื่องค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายโดยตรงในการซื้อน้ำมัน ถ้าคุณสามารถเอาค่านายหน้ากับค่าใช้จ่ายพวกนี้มาบวกกับค่าน้ำมันแท้ ๆ คุณก็สามารถเอาค่าโน่น ค่านี่มาบวก ทำให้ต้นทุนสูง เลยต้องขายราคาเท่านั้นเท่านี้ พอเป็นอย่างนี้ เราไม่รู้ว่าต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงคือเท่าไหร่ เพราะเขาเอารายจ่ายอย่างอื่นที่ไม่มีเหตุจําเป็นมารวมตรงนี้ด้วย ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันไม่มีกฎหมาย มันก็เลยกลายมาเป็นภาระของประชาชน เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะไปตรวจละเอียดได้หมดทุกรายการ แต่ถ้าเรามีกฎหมายแยกไว้เฉพาะ โดยกําหนดไว้ว่า สิ่งที่คุณจะมาบวกเป็นต้นทุนน้ำมัน คือ 1. ค่าน้ำมันจริง ๆ 2. ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนเขาจะมีค่านายหน้าหรืออ้างค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเนื้อน้ำมันแท้ ๆ ก็มีไป แต่เอามารวมไม่ได้ คุณอยากให้บริษัทคุณมีภาระเยอะ ๆ เพื่อจะไปลดกําไร เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเยอะ หรืออะไร ก็เลือกทำได้ตามสบาย แต่คุณจะเอาค่าใช้จ่ายพวกนั้นมาโยนให้ประชาชนผ่านต้นทุนน้ำมันไม่ได้ สิ่งที่เราไม่มีวันนี้คือ เรายังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจทำแบบนี้ แต่นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย และ สปป.ลาว รวมถึง กฎหมายพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคาน้ำมัน และกฎหมายพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ ทั้งด้านรูปแบบการจัดเก็บ ที่มาของเนื้อน้ำมัน โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บ แหล่งเงิน การบริหารจัดการ และองค์กรที่กำกับดูแล เพื่อร่างแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในภาพรวมไม่น้อยกว่า 90 วัน (ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายโดยภาคเอกชนอยู่ที่ 25 วัน) โดยกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้จะดำเนินการผ่าน สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ทำหน้าที่กำกับและออกคำสั่งไปยังภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของภาครัฐ  

สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะเริ่มต้นนั้น จะมีการร่างกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 6 ฉบับ และจะมีการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปยัง สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้ง การเตรียมการจัดหาพื้นที่สำหรับการเก็บสำรองน้ำมัน

ทั้งนี้ ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR มีประโยชน์ในภาพรวม โดยสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดต้นทุนการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศในช่วงตลาดโลกราคาสูง และยังสามารถเพิ่มบทบาททางการค้าของไทยในฐานะศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคได้ด้วย

'มาเลเซีย' ยุติหนุนดีเซล ประคองการเงินประเทศ ทำราคาน้ำมันจ่อพุ่ง 50% ด้าน 'นายกฯ อันวาร์' ยัน!! ช่วยประหยัดเงินรัฐได้ถึงปีละ 4 พันล้านริงกิต

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาเลเซีย ได้เปลี่ยนทิศทาง ยุติการอุดหนุนดีเซลแบบถ้วนหน้า เพื่อหวังพลิกวิกฤตการเงินของประเทศ หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ประกาศมาตรการสุดกล้าในการปรับเปลี่ยนนโยบายการอุดหนุนดีเซล จากแบบครอบคลุมไปสู่การอุดหนุนแบบมุ่งเป้า เพื่อช่วยประเทศฝ่าวิกฤตทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่ 

สำหรับตัวเลขค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนดีเซลของมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 1.4 พันล้านริงกิตในปี 2019 เป็น 1.43 หมื่นล้านริงกิตในปี 2023 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของรัฐบาล

แม้จะเป็นมาตรการที่ไม่เป็นที่นิยม แต่นายกฯ อันวาร์ยืนยันว่าจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความอยู่รอดของประเทศ โดยคาดว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋ารัฐบาลได้ถึงปีละ 4 พันล้านริงกิต 

ผลกระทบที่จะเห็นได้ชัดตามมาคือ ราคาดีเซลในมาเลเซียตะวันตกจะพุ่งขึ้นกว่า 50% เป็น 3.35 ริงกิตต่อลิตรในขณะที่ซาบาห์และซาราวักจะยังคงราคาเดิมที่ 2.15 ริงกิตต่อลิตร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้การอุดหนุนแก่กลุ่มรายได้ต่ำ เช่น ชาวประมง เกษตรกร รวมถึงการใช้ในรถโรงเรียนและรถพยาบาล

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อามีร์ ฮัมซะห์ อาซิซาน ชี้แจงว่านโยบายใหม่นี้จะช่วยป้องกันการลักลอบนำดีเซลราคาถูกข้ามพรมแดน และยืนยันว่าจะไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น 

ขณะที่นักวิเคราะห์ โอ้ อี้ ซุน จากศูนย์วิจัยแปซิฟิกแห่งมาเลเซียให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลกล้าใช้มาตรการที่ไม่เป็นที่นิยมเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ 

ทั้งนี้ มาเลเซียคาดว่าจะใช้จ่ายเงิน 5.28 หมื่นล้านริงกิตในการอุดหนุนและการช่วยเหลือทางสังคมในปีนี้ ซึ่งลดลงจาก 6.42 หมื่นล้านริงกิตในปี 2023 ตามงบประมาณปี 2024

'พีระพันธุ์' แจ้ง 'ม็อบรถบรรทุก' กฎหมายช่วยราคาพลังงานใกล้เสร็จแล้ว คาด!! เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันในสมัยการประชุมหน้า

เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประกาศเตรียมระดมพลผู้ประกอบการรถบรรทุกจัดคาราวานเพื่อนขบวนรถบรรทุกทุกภูมิภาค เข้ากทม.ในวันที่ 3 ก.ค. 67 เพื่อเรียกร้องตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ว่า ให้รอกฎหมายของตน ที่กำลังจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนรูปแบบการคิดราคาใหม่ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครกำกับดูแลการค้าน้ำมัน นอกจากนี้ตนจะให้สมาคมรถบรรทุกสามารถนำน้ำมันเข้ามาได้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงโดยปริยาย เพราะราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แบ่งคนละครึ่ง 50-50 ซึ่งราคาน้ำมันแท้ ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นภาษี ดังนั้นถ้าลดตรงนี้ไปได้น้ำมันก็ลดลง 

เมื่อถามว่า อีกนานหรือไม่ที่การยกร่างกฎหมายดังกล่าวจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ตอนนี้ยกร่างดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันในสมัยการประชุมหน้า”

เมื่อถามต่อว่า จะทันต่อการเรียกร้องของกลุ่ม สมาพันธ์รถบรรทุกหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “รอมาตั้ง 50 กว่าปีแล้ว ตนเข้ามายังไม่ถึงปีเลย แต่ตอนนี้กฎหมายจะเสร็จแล้ว”

เมื่อถามอีกว่า ราคาสินค้าและราคาค่าขนส่งกำลังจะขึ้นจะมีมาตรการเฉพาะหน้าออกมาก่อนหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “เราก็ต้องขอความร่วมมือ แต่ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องประหลาด กระทรวงพลังงานกำกับดูแลพลังงาน แต่ไม่มีอำนาจอะไรสักอย่าง กลายเป็นว่าเราต้องไปขอความร่วมมือทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เคยมีการออกกฎหมายให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการควบคุมขนาดมาม่าจะขึ้นราคายังต้องขออนุญาต แต่น้ำมันไม่ต้อง”

เมื่อถามอีกว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องพูดคุยกับนายกฯ ให้ชัดเจนหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "นายกฯ มอบหมายให้ตนดูแลอยู่แล้ว”

🔎ส่อง!! 40 ประเทศ ที่มีราคา 'น้ำมันดีเซลต่อลิตร' ถูกที่สุดในโลก

เมื่อไม่กี่วันก่อน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาเพิ่มเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลขึ้นอีกครั้งเป็น 2.02 บาทต่อลิตรจากเดิมชดเชยอยู่ 1.60 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง กบน.เองก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาดีเซลได้อีก เนื่องจากเต็มเพดานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ปรับขึ้นได้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันราคาดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร 

วันนี้ THE STATES TIMES จะพามาดู 40 ประเทศ ที่มีราคา 'น้ำมันดีเซลต่อลิตร' ถูกที่สุดในโลก ส่วนจะมีประเทศใดบ้าง มาดูกัน…

**ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในโลกต่อลิตรอยู่ที่ 45.48 บาท (1 USD = 36.98 บาท)
**ราคา ณ วันที่ 17 มิ.ย.67

🔎ส่องราคาน้ำมันเฉลี่ยในประเทศอาเซียน ราคา ณ วันที่ 24 มิ.ย. 67

‘กระทรวงพลังงาน’ รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2567 โดยราคาน้ำมันเบนซินที่ขายในประเทศไทยมีราคา 38.45 ต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายในประเทศไทยมีราคา 32.94 ต่อลิตร ทั้งนี้ ราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

1.แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่
3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

หมายเหตุ : ราคา ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2567 อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2567

*ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

‘พีระพันธุ์’ แง้ม!! ร่างกม. ให้อำนาจพลังงานคุมราคาน้ำมัน แล้วเสร็จ วอน!! ม็อบรถบรรทุกใจเย็นๆ รออีกไม่นานได้ใช้น้ำมันราคาถูก

(3 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในปัจจุบัน โดยหากไม่มีสถานการณ์พิเศษแบบที่เคยเกิด ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็จะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก

เมื่อถามว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนไปจนถึงสิ้นปีได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องกฎหมายก็ต้องดูและปรับรูปแบบซึ่งกระทรวงพลังงานเรากำลังปรับกฎหมายอยู่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงที่ต้องไปทำกฎหมาย

“รูปแบบเดิมกฎหมายเคยให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการกำหนดเพดานน้ำมัน”

เมื่อถามย้ำว่าในเรื่องของเพดานน้ำมันดีเซลที่มีการกำหนดไว้จะต้องปรับลงมาหรือไม่ เพราะกลุ่มรถบรรทุกที่จะเข้ามาประท้วงอยากให้ราคาน้ำมันดีเซลลงมาอีก นายพีระพันธุ์ก็ย้ำว่าที่ผ่านมาไม่มีการเตรียมการในเรื่องนี้ไว้เลยตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เรากำลังปรับแก้ส่วนนี้อยู่เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับตลาดโลก

ส่วนกฎหมายจะทันเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสมัยประชุมนี้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พยักหน้าแล้วบอกว่าทัน โดยอย่างน้อยที่สุดก่อนที่จะไปสู่การพิจารณาของสภาฯ จะต้องมีการส่งร่างกฎหมายให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีดูก่อน

“ผมจะพยายามทำให้ทัน กฎหมายนั้นร่างเสร็จทันแน่นอน แต่ก็มีกระบวนการที่จะออกกฎหมายต้องมีการทำประชามติ รับฟังความคิดเห็นตรงนั้นจะทำให้ช้า ตอนนี้ตัวกฎหมายเสร็จแล้วกำลังทบทวน”

เมื่อถามว่าค่าการตลาดที่ผู้ขายน้ำมันได้รับสูง กระทรวงพลังงานจะเข้าไปดูได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ตอบว่ากฎหมายปัจจุบันกระทรวงไม่มีอำนาจอะไรสักอย่าง เป็นไปได้อย่างไร แล้วก็ปล่อยอยู่กันมาแบบนี้ ก็ต้องมีการแก้กฎหมายให้กระทรวงมีอำนาจ ตอนนี้ยังไม่มี

ส่วนการแก้กฎหมายจะทันกับที่กลุ่มม็อบรถบรรทุกจะเข้ามาหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ตอบว่าในเรื่องนี้ถ้าจะรอสักหน่อย ใจเย็น ๆ จะได้ใช้ราคาน้ำมันราคาถูก ที่ผ่านมาไม่มีใครทำในส่วนนี้วันนี้ผมจะเข้ามาทำให้

'พีระพันธุ์' เผย!! ร่าง กม.คุมราคาน้ำมัน เสร็จแล้ว เตรียมปิดฉาก ผู้ค้า 'ขึ้น-ลง' ราคาตามอำเภอใจ

เมื่อวานนี้ (24 ก.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการดูแลราคาน้ำมันดีเซลในขณะนี้ ว่า ตอนนี้องค์ประกอบต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันขึ้น-ลง ตามอำเภอใจ ทุกวันนี้ไม่มีใครคุมได้ ผู้ค้าคิดจะขึ้นก็ขึ้น คิดจะลงก็ลง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้ คือ การแก้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจ ได้แต่ขอความร่วมมือ 

โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้ ร่างเสร็จแล้ว ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยหลังจากนี้ จะส่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้งก่อนประกาศใช้ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะทันปีใหม่หรือไม่ แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด

สำหรับแต่เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมัน ได้ 2 ขา ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงิน ยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง 

แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนจึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบเป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษีซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนไม่มีแล้ว 

ทั้งนี้ ตนได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยที่ผ่านมามีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน คือ ไทย เก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.51 บาท รวมเป็นภาษีน้ำมัน 6.50 บาทต่อลิตร เวียดนามเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 1.70 บาท สิงคโปร์เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 5.54 บาท แต่สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าไทยประมาณ 10 เท่า

ส่วนอีกคำถามที่พบเจอบ่อย คือ ทำไมราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซียจึงมีราคาถูกเพียงลิตรละ 10 กว่าบาทเท่านั้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาน้ำมันในมาเลเซียมีราคาถูกเนื่องจากรัฐบาลมาเลเซีย มีรายได้จากปิโตรเลียม จึงนำเงินรายได้ตรงนี้มาอุดหนุนชดเชยปีละ 3-4 แสนล้านบาท ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซียมีราคาถูกแต่หลังจากนี้ไปการอุดหนุนชดเชยเริ่มลดลง จะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในมาเลเซีย เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของไทย ราคาต้นทุนน้ำมันจริง ๆ จะอยู่ที่ราคาประมาณ 21 บาท แต่เราต้องจ่ายจริง 30-40 บาท ก็เพราะมีเรื่องภาษีน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

นายพีระพันธุ์ ย้ำด้วยว่า การช่วยเหลือประชาชน คือ การเอาปัญหาของประชาชนมาเป็นปัญหาของเราแทน เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อน ส่วนเรื่องการชำระหนี้กับ กฟผ. ถ้าต่อไปมีปัญหา รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล

🔎ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันแต่ละลิตร ประกอบด้วยอะไรบ้าง??

ในน้ำมันแต่ละลิตรที่เราใช้กันในทุกวันนี้ ประกอบด้วยราคาทั้งหมด 4 ส่วนดังนี้

>>40 - 60% ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

>>30 - 40% ภาษีต่าง ๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น

>>5 - 20% กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน และ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

>>10 - 18% ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำนั้นทั้งระบบ

ในส่วนของ ‘ราคาขายปลีก’ ในปัจจุบัน ก็จะประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่น / ภาษีสรรพสามิต / ภาษ / เทศบาล / กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง / กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน / ค่าการตลาด / ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับแนวทางการแก้ไขภายใต้การนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น นายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘คนดังนั่งเคลียร์’ ว่า… 

“ที่บอกว่าราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นคือ 20 บาท ไม่รู้มาจากไหน ราคาจริงเท่าไหร่ไม่อาจรู้ได้ ซึ่งผมว่าเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบ Cost Plus คือ ต้นทุนจริงบวกค่าใช้จ่ายจริง จะได้เป็นราคาขายจริง…

“อีกเรื่องที่ต้องแก้ไขคือ ‘เงินสมทบเข้ากองทุน’ กฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเป็นคนจ่าย เปรียบเหมือนภาษี และเมื่อจ่ายไปแล้ว ก็เป็นต้นทุนที่ต้องไปหักในส่วนของค่าดำเนินงาน ไม่ใช่นำมาบวกในค่าน้ำมัน แต่หากนำมาบวกในค่าน้ำมัน หมายความว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องจ่าย ซึ่งไม่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ผมต้องทำเป็นกฎหมายใหม่หมดเลย”

🔎ส่องราคาน้ำมันเฉลี่ยในประเทศอาเซียน ราคา ณ วันที่ 19 ส.ค. 67

รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2567 โดยราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

1.แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน

2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่

3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

หมายเหตุ : ราคา ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567 อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 *ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

สามารถดูราคาย้อนหลังได้ที่ EPPO - Energy Data Visualization หรือคลิกที่ https://public.tableau.com/app/profile/epposite/viz/EPPO_Inter_OilPrice/SUMMARYOILPRICING 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top