Tuesday, 14 May 2024
ราคาน้ำมัน

‘พีระพันธุ์’ ยัน!! เร่งปรับปรุงกฎหมาย-โครงสร้างราคาน้ำมัน ชี้!! ต้องคุมให้ราคาน้ำมันนิ่ง-ไม่หวั่นต่อปัจจัยนอกประเทศ

(3 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึง การใช้เงินกองทุนน้ำมันมาสนับสนุนภาษีสรรพสามิต แก๊สโซฮอล์ลง 2.50 บาทต่อลิตร ว่า ไม่มีผลกระทบ ถ้ามีผลกระทบคงทำไม่ได้ แต่ถ้าสถานการณ์โลกทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตนเคยพูดไปแล้วว่ามาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นมาตรการระยะสั้น ตนคิดว่า ต้องศึกษาปรับโครงสร้างแบบใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่าเวลาราคาน้ำมันโลกลดลง หรือเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ เราต้องเต้นตามกระแส เราควรหาทางทำให้ราคาพลังงานในประเทศนิ่งให้ได้ และทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกลดลง ฉะนั้นการจะทำตรงนี้ได้ ต้องปรับปรุงกฎหมาย และรูปแบบการทำงาน หรือการกำหนดวิธีการดูแลระดับราคาพลังงานให้เป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รมว.พลังงงาน กล่าวถึงการสู้รบในประเทศอิสราเอลว่า ถ้ามีปัญหาแบบนี้ก็กระทบทั่วโลกอยู่แล้ว แต่คิดว่าทุกประเทศก็ต้องคิดเหมือนกันว่าเมื่อเจอปัญหาแบบนี้ จะดูแลและป้องกันคนของตัวเองอย่างไร ซึ่งประเทศไทยก็หนีไม่พ้น เราต้องมานั่งคิดว่าควรทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในหลักที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ไม่ใช่ปล่อยนิ่งให้อยู่แบบที่เป็นมา ไม่เช่นนั้นเราจะเจอผลกระทบอีกแบบหนึ่ง

“ขณะนี้ผมกำลังศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพื่อจะเร่งดำเนินการปรับปรุงอยู่ ส่วนจะเป็นแนวทางใดยังพูดไม่ได้ ยังไม่สรุปว่า จะเป็นแบบไหน หากพูดไปก่อนอาจทำให้ข้อมูลสับสน เอาเป็นว่าตอนนี้กำลังหาวิธีการใหม่ในการรักษาระดับราคาพลังงาน ไม่ให้กระทบปัจจัยภายนอก” รมว.พลังงานกล่าว

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 6 - 10 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบชะลอตัว หลังนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ

• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจจีน ซึ่งล่าสุดสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลง 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 49.5 จุด ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ในเดือน ต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 3.9% สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว หลังสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers: UAW) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400,000 ราย มีการประท้วงหยุดงานจำนวน 46,000 ราย เพื่อขอขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66

• วันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 12 - 13 ธ.ค. 66

• ให้ติดตามการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (USDX) เทียบกับเงินสกุลหลักโลก 6 สกุล อยู่ที่ 104.8 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ 20 ก.ย. 66 โดย CEO ของบริษัทจัดการลงทุน DoubleLine Capital ในสหรัฐฯ นาย Jeffrey Gundlach คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) จากเงินสกุลดอลลาร์สู่สกุลเงินต่างประเทศอื่น ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะผลักดันอุปสงค์ของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน

• รมว. กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ประกาศซาอุดีอาระเบียจะคงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มตั้งแต่ ก.ค. 66) แม้ว่าจะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งตลาดกังวลว่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

‘พีระพันธุ์’ ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา ลั่น!! ตอนนี้ทุกปั๊มมีน้ำมันพร้อมให้บริการ

(13 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า จากกรณีที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปัญหาน้ำมันในสถานีบริการมีไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายเนื่องจากประชาชนตอบรับนโยบายลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ทำให้ก่อนวันลดราคาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนชะลอการเติม และมาเติมพร้อมกันในวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งมียอดเติมน้ำมันเบนซินทุกชนิดรวมกันสูงถึงเกือบ 70 ล้านลิตรในวันเดียว จากปกติมีการเติมเฉลี่ยวันละ 30 ล้านลิตร

โดยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังทราบปัญหา จึงได้มีการสั่งการตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที และมีการจัดประชุมในเย็นวันเดียวกันเพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ก็ได้เร่งลงพื้นที่ พร้อมกำชับสถานีบริการน้ำมันที่มีน้ำมันไม่เพียงพอจำหน่ายเร่งซื้อน้ำมันเข้ามาเติมเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทุกฝ่าย ที่เร่งดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งขอบคุณเจ้าของสถานีบริการน้ำมันและผู้ค้าน้ำมัน ที่เร่งดำเนินการ ทั้งการเพิ่มรอบส่งน้ำมัน การปรับแผนกระจายน้ำมันให้ทั่วถึง จากการตรวจสอบก็พบว่า สถานีบริการที่อยู่ในเมือง สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 1-2 วัน ยกเว้นสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่จำเป็นต้องจ้างรถเอกชนเพิ่มเติม ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ใน 3-4 วัน

"ผมยังยึดมั่นคำเดิม อะไรที่ทำได้ ทำก่อน อย่างกรณีวันแรก (7 พ.ย.66) ทันทีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องสถานีบริการมีน้ำมันไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ผมได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมัน และส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง เพื่อแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงานให้เร่งประสานผู้ค้าน้ำมันในการเพิ่มรอบการส่ง กระจายปริมาณน้ำมันจากคลังให้เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งบางสถานีบริการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงอาจเกิดความล่าช้าในการขนส่ง และบางสถานีระบบสั่งจ่ายน้ำมันก็เกิดเหตุขัดข้อง ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว กระทรวงพลังงานจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบว่าปัญหาเรื่องการจำหน่ายน้ำมัน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน โทร 02-140-7000” นายพีระพันธุ์กล่าว

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 13 - 17 พ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 20 - 24 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากนักลงทุนเทขายทำกำไรและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย 

-ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping ได้ตกลงที่จะฟื้นฟูการเจรจาทางทหารระดับสูงตลอดจนการหารือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ

-สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อน  2.8% MoM อยู่ที่ 15.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวและค่าการกลั่นลดลง ส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลดลงจากเดือนก่อน 0.6% อยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท 2 ราย ด้วยราคาเฉลี่ย 77.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะออกประมูลซื้อเพิ่มเติมอย่างน้อยจนถึงเดือน พ.ค. 67

-รายงานฉบับเดือน พ.ย. 66 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  2.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 104.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน)

-คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ $80-85/BBL ติดตามบันทึกการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 20 พ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 26 พ.ย. 66 โดย ตลาดคาดการณ์ซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 MMBD จากเดิมสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มต้นเดือน ก.ค. 66) ไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาส 1/67 หรืออาจขยายถึงครึ่งแรกของปี 2567 และมองว่า OPEC+ จะมีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบรวม 3.66 MMBD ไปจนถึงสิ้นปี 2567

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18-22 ธ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 25-29 ธ.ค. 66

ตลาดน้ำมันกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลแดง

- Platts รายงานจำนวนเรือขนส่งผ่านช่องแคบ Bab el-Mandab ก่อนเข้าสู่ Red Sea (ทะเลแดง) ที่เชื่อมกับคลอง Suez วันที่ 19 ธ.ค. 66 อยู่ที่ 50 ลำ/วัน (ช่วง 1-14 ธ.ค. 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 75 ลำ/วัน) หลังกองกำลัง Houthi ในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ทำให้ BP บริษัทพลังงานรายใหญ่หยุดการขนส่งทางเรือทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว และบริษัทเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่หลายราย เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ไปอ้อมแหลม Good Hope ใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่า 10 วัน และค่าใช้จ่ายสูงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

- ผู้ค้ายังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก แม้สหรัฐฯ เปิดตัวกองกำลังนานาชาติ (10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และเซเชลส์) เพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง เนื่องจากแผนปฏิบัติการ และจำนวนเรือยังไม่ชัดเจน

- กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำหรับส่งมอบในเดือน ก.พ. 67 ปริมาณรวม 2 ล้านบาร์เรล ด้วยราคาเฉลี่ย 74.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

- 21 ธ.ค. 66 รมว.กระทรวงน้ำมันของแองโกลา นาย Diamantino Azevedo ประกาศยุติสมาชิกภาพในกลุ่ม OPEC ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ทั้งนี้ แองโกลาเข้าร่วม OPEC ตั้งแต่ปี 2550 โดยในเดือน พ.ย. 66 ผลิตน้ำมันดิบ 1.08 MMBD และโควตาที่ OPEC กำหนดปีหน้า คือ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำเกินไป อนึ่งแองโกลาเคยผลิตได้สูงสุด 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2551

'รสนา' สงสัย!! จดหมายเปิดผนึกของผู้ใหญ่ 3 ท่านถึงนายกฯ สงสัยห่วงใยประชาชน หรือห่วงใยผลประโยชน์ของใครกันแน่

(5 มี.ค. 67) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ดิฉันออกจะผิดหวังกับข้อเสนอของผู้หลักผู้ใหญ่ 3 ท่านที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรี อ้างความห่วงใยในความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติที่เกิดจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลจำนวน 5 ข้อ 

โดยภาพรวมของประเด็นความห่วงใยของพวกท่าน ล้วนเป็นความห่วงใยต่อผลประโยชน์ที่จะกระทบทุนพลังงานเป็นหลัก มิได้ห่วงใยประชาชนที่ต้องแบกรับราคาน้ำมันแพง ค่าไฟแพงและค่าก๊าซหุงต้มที่แพงเกินสมควรตลอดมา ใช่หรือไม่

ข้อที่ 1) ท่านห่วงกรณีเรื่องกองทุนน้ำมันติดลบเพราะรัฐบาลนำไปตรึงราคาดีเซล และลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1บาท/ลิตรในผู้ใช้เบนซิน เพื่อลดภาระบนหลังของผู้ใช้เบนซินลงบ้าง แต่พวกท่านไม่เห็นด้วย โดยอ้าง 'ตรรกะดึกดำบรรพ์' ที่ว่า น้ำมันราคาถูก จะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด ซึ่งเข้าทางตลาดโลกของผู้ประกอบการ ที่หาทางล้วงส่วนต่างค่าน้ำมันที่มีราคาลดลงตามตลาดโลก แต่ไม่ลดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โยกไปไว้ในค่าการตลาดบ้าง ย้ายไปไว้ในน้ำมันเอทานอลให้แพงขึ้นโดยไร้การตรวจสอบ จะได้ไม่ต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ตามราคาตลาดโลก ด้วยข้ออ้าง น้ำมันแพง ประชาชนจะได้ประหยัด ใช่หรือไม่ !?! 

ดิฉันขอย้ำว่ากองทุนน้ำมันตามกฎหมายคือ เงินที่ประชาชนสะสมไว้ช่วยเหลือตัวเองในยามราคาน้ำมันแพงจากตลาดโลก แต่ปัจจุบันน้ำมันแพงไม่ได้มาจากราคาตลาดโลก แต่มาจากกลไกบวกเพิ่มของผู้ประกอบการ ทั้งค่าการตลาด ราคาน้ำมันชีวภาพ และรวมถึงค่าการ กลั่นด้วย โดยมีกองทุนฯ เป็นเงินประกันกำไรให้ผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่

ถ้าพวกท่านห่วงใยประชาชน ไม่อยากเอากองทุนน้ำมันมาตรึงราคาดีเซล ก็ควรเสนอให้ตัดน้ำมันไบโอดีเซลที่เติมในดีเซล 7% ออกไปทำให้ลดราคาน้ำมันลงได้ 2.42 บาท/ลิตร สามารถคงราคาดีเซล 30 บาทโดยไม่ต้องขึ้นราคาดีเซลเป็น 32 บาท ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ราคาน้ำมันลดลงได้อีกถ้าให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลดกำไรส่วนเกินของตนเองลงไปบ้าง เหมือนสมัยที่ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลาค่าการกลั่นพุ่งสูงขึ้นตามความผันผวนตลาดโลก กพช.ก่อนยุคปตท.ถูกแปรรูป เคยมีมติ (การประชุมครั้งที่ 8/2543) ว่า "ในช่วงที่ภาวะตลาดน้ำมันผิดปกติ ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวนมาก ให้ ปตท.และโรงกลั่นไทยออยล์ ใช้หลักการบริหารค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยนำส่วนลดค่าการกลั่นมาช่วยตรึงหรือลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารความผันผวนของตลาด" โดยไม่ได้ใช้กองทุนน้ำมันมารับภาระชดเชยค่าน้ำมันแพงตลอดเวลา ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยด้วย แต่ปัจจุบันล้วนแต่เงินกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินประชาชน ผู้ประกอบการรับแต่กำไร ใช่หรือไม่

ช่วงปี 2566 ที่โรงกลั่นได้กำไรอู้ฟู่จากค่าการกลั่นที่ผันผวนในตลาดโลก กพช.และนายกฯ ในรัฐบาลก่อนไม่หือ ไม่อือ ทั้งที่ควรใช้เครื่องมือของกระทรวงการคลังเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันมาชดเชยให้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลก็ปล่อยให้โรงกลั่นได้กำไรค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 8 - 11 บาท ทั้งที่ค่าการกลั่นบวกกำไรในเวลาปกติ ลิตรละ 1.50 บาทก็ใช้ได้แล้ว พวกท่านก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องสักแอะให้ประชาชนเลย ใช่หรือไม่ 

ประชาชนคงออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน ถ้าท่านจะแนะนำท่านนายกฯ ให้รัฐบาลยกเลิกการคิดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่บวกต้นทุนเทียมเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ (Import Parity) ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นในประเทศไทย 100% ในอดีตรัฐบาลเคยให้แรงจูงใจโรงกลั่นสมัยแรกตั้งโรงกลั่น เพื่อให้มีกำไรมากขึ้นในช่วงเริ่มกิจการ แต่นั่นมันก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว ปัจจุบันควรยกเลิกแรงจูงใจนี้ได้แล้ว จะได้ลดภาระบนหลังของประชาชนลงบ้าง ท่านก็ไม่เรียกร้องให้ประชาชนบ้างเลย ใช่หรือไม่ 

แม้ บมจ.ปตท.เป็นบริษัทเอกชนมหาชน แต่รัฐถือหุ้นเกิน 51% รัฐบาลสามารถสั่งการ บมจ.ปตท.ให้ควบคุมค่าการกลั่น ค่าการตลาดที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ดีเซลลิตรละ 1.50 บาท และเบนซินลิตรละ 2 บาท ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ลิตรละ 2-3 บาทโดยไม่ต้องไปล้วงกองทุนน้ำมันเลยก็ได้ ใช่หรือไม่

ข้อที่ 2) ท่านวิจารณ์การลดค่าไฟ โดยการให้ กฟผ. ยืดหนี้ เป็นวิธีแก้ที่จะสร้างภาระหมักหมมหนี้ในอนาคต ข้อนี้ดิฉันเห็นด้วย 

การแก้ปัญหาค่าไฟแพงสำหรับประชาชน ไม่ควรต้องให้ กฟผ.มาแบกรับภาระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว ท่านก็ควรเสนอวิธีแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้นเหตุคือให้รัฐบาลหยุดทำสัญญาซื้อไฟเพิ่มจากเอกชน เพราะปัจจุบันเรามีสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานมากกว่า 50% แล้ว ทั้งที่ควรมีสำรองไว้แค่ 15% ตามหลักเกณฑ์ทึ่เหมาะสม ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะการสำรองไฟมากเกินไป อุ้มเอกชนมากเกินไป โดยจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตลอดอายุสัญญา 25 ปีให้เอกชน จึงควรเสนอรัฐบาลเจรจาเอกชนที่ได้กำไรคุ้มทุนแล้ว ลดค่าความพร้อมจ่ายลง 

นอกจากนี้ควรสนับสนุนรัฐบาลให้รีบเปิดทางให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาผลิตไฟลดค่าใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ รัฐบาลแค่ลดอุปสรรคให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้สะดวก อนุมัติให้ใช้วิธีหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ กับไฟฟ้าที่ใช้ จ่ายเงินส่วนเกินที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้า เรียกว่าระบบ Net Metering เพียงแค่นี้ประชาชนก็ลดภาระได้มากโขแล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ 

ท่านควรสนับสนุนนายกเศรษฐาให้รีบปฏิบัติตามมติ ครม.สมัยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ควรเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยลดค่าไฟประชาชนด้วยวิธีนี้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเป็นจริง ดีกว่าการบีบให้กฟผ.ชะลอหนี้สินออกไปเพื่อลดค่าไฟให้ประชาชนแบบชั่วคราว ใช่หรือไม่

ข้อ 3 และ ข้อ 4 ที่ท่านผู้ใหญ่แสดงความกังวลห่วงใยคุณภาพอากาศของประเทศ แต่มาสรุปท้ายให้รัฐบาลอนุมัติโรงกลั่น 6 โรงที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 สามารถขึ้นราคาน้ำมันได้นั้น

เป็นข้อเสนอที่ทำให้ผู้ฟังสะดุดกึก และทำให้ประชาชนอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด พวกท่านยอมใช้เครดิตตำแหน่งฐานะทางสังคมมาทวงเงินแทนโรงกลั่นเหล่านี้!? หรือท่านถือหุ้น? รับทุน? หรือเป็นกรรมการ ฯลฯ ในบริษัทเหล่านี้หรือไม่ อย่างใด !?

ในเมื่อพวกท่านเป็นห่วงคุณภาพอากาศจากคุณภาพน้ำมัน ดิฉันก็อยากให้ท่านช่วยสอบถามบริษัทพลังงานที่ขายก๊าซ NGV ว่าปัจจุบันยังเติมก๊าซ CO2 สูงถึง 18% ในก๊าซ NGV อยู่อีกหรือเปล่า? 

สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ 2551-2557) เคยตรวจสอบเรื่องการเติม CO2 ในก๊าซรถยนต์ NGV 18% โดยมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยแต่ละแหล่งมี CO2 สูงต่ำไม่เท่ากันตั้งแต่ 14-16 % และก๊าซบนบกมี CO2 ต่ำประมาณ 2-3% เพื่อไม่ให้ค่าความร้อนแตกต่างเกินไป เลยปรับให้เท่ากัน ด้วยการเติม CO2 ลงไป 18% เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์มีปัญหา หรือเกิดการน็อก แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเอา CO2 ออกจากก๊าซในทะเลออกไป ผู้บริหารในกระทรวงบอกกรรมาธิการว่า ที่ทำแบบนี้เพื่อให้ธุรกิจพอจะอยู่ได้ ?!!!? 

นี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ฝากท่านผู้ใหญ่ช่วยถามว่า ยังใส่ก๊าซขยะ 18% อยู่หรือเปล่า มาตรฐานต่างประเทศให้มี CO2 ในก๊าซ NGV ได้ไม่เกิน 3% และต้องลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือไม่เกิน 1% แต่บริษัทพลังงานของไทยเติม CO2 ถึง 18% โดยกระทรวงพลังงานอนุญาต ดูแล้วก็มีความลักลั่นกับแนวทางปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 หรือไม่?

การเติม Co2 18% นอกจากเอาเปรียบผู้ใช้ ที่จ่ายเงินซื้อก๊าซ NGV 100% แต่ได้เนื้อก๊าซไม่ถึง 100% เพราะคนขายใส่ก๊าซขยะมาให้ 18% และก๊าซขยะพวกนั้นถูกปล่อยเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลในแต่ละปีที่ทำให้โลกร้อน ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้ใหญ่เหล่านี้ ทราบหรือไม่ และผู้กำกับดูแล ได้แก้ไขแล้วหรือยัง?

ประชาชนอดสงสัยมิได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพทั้งที่เลวลง (กรณีเติม CO2 ใน NGV) และที่อ้างว่าดีขึ้น เช่นการปรับคุณภาพเป็นยูโร 5 เป้าประสงค์หลักคือการทำกำไรของผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่?

และการปรับน้ำมันเป็นยูโร 5 เป็นวิธีการกีดกันทางการค้าหรือไม่ เป็นการกีดกันน้ำมันราคาถูกจากที่อื่นด้วยหรือไม่?

ข้อที่ 5) ท่านอ้างว่า “ตั้งแต่ต้นปี 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบ ไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น” นั้น

ดิฉันผิดหวังจริง ๆ ที่ท่านเห็นว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยควรจะเป็นอภิสิทธิ์ของบริษัทปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท.ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกเท่านั้น แล้วประชาชนทั้งประเทศล่ะ ท่านไม่คิดถึงเลยหรือ?

ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของชาติ ประชาชนควรได้ใช้ในการดำรงชีพด้วยราคาในประเทศ ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ควรไปแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี การใช้แต้มต่อต้นทุนก๊าซราคาถูกเพื่อทำกำไร แต่ผลักประชาชนไปใช้ก๊าซหุงต้มราคาแพงตามราคาตลาดโลก เเล้วเอากองทุนมาชดเชย เป็นหนี้สินวน ๆ กันไป ไม่มีวันจบ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนไปทำกำไรให้กลุ่มทุน

แทนการล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนไปใส่กองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก การขายทรัพยากรก๊าซชั้นดีที่เป็นไม้สัก ควรได้ราคาไม้สัก จะได้นำกำไรจากการขายไม้สัก หรือก๊าซชั้นดีมาชดเชยราคาให้ประชาชน เพราะที่แล้วมาการใช้เงินจากกระเป๋าประชาชนในกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม วิธีแบบนั้นไม่ใช่การชดเชยราคา แต่เป็นวิธีหลอกขายก๊าซหุงต้มให้ประชาชนแบบผ่อนส่งราคาเพื่ออำพรางกำไรที่ฉกฉวยจากทรัพยากรก๊าซในประเทศไว้ในมือของคนฝ่ายเดียว ใช่หรือไม่

ด้วยวิธีนี้จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทยที่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ส่วนบริษัทเอกชนก็ขอให้ท่านใช้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดเสรีที่ท่านมักพร่ำพูดอยู่เสมอว่าราคาพลังงานในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี 

การสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่ใช่มาจากบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่เป็นการบริโภคภายในประเทศของประชาชน ซึ่งมีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งคือ 50% ของ GDP เลยทีเดียว การทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ด้วยการลดกำไรส่วนเกินที่ทำให้ราคาพลังงานไม่สูงเกินจริงลงไป จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน 

จึงขอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ และท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศนี้ด้วย

สรุปสาระสำคัญ ประกาศกระทรวงพลังงาน ‘การแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง’

น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศมีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ 

รัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายด้านการพลังงานให้เหมาะสมเพื่อเป็นหลักประกันให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรม มีปริมาณเพียงพอ และได้คุณภาพ แต่การที่รัฐจะสามารถกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการพลังงานได้อย่างเหมาะสมนั้น จำเป็นที่รัฐจะต้องได้มาซึ่งข้อมูลราคาและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง 

กระทรวงพลังงานจึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศด้านเศรษฐกิจและความผาสุกของประชาชน

วันนี้ THE STATES TIMES ได้สรุปสาระสำคัญ ประกาศกระทรวงพลังงาน ‘การแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง’ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 67 หวังสะท้อนต้นทุนแท้จริง และ ราคาที่ยุติธรรม จะมีข้อกำหนดอะไรบ้าง มาดูกัน…

‘สส.อัครเดช’ ชม ‘พีระพันธุ์’ กล้าหาญบี้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งต้นทุน ชี้!! ช่วยป้องกันค้ากำไรเกินควร-สร้างราคาเป็นธรรมให้ ปชช.

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมัน ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร ว่า ถือเป็นความกล้าหาญของนายพีระพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดกล้าทำเช่นนี้มาก่อน

ทั้งนี้ การออกประกาศกระทรวงพลังงานให้ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 ต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าของราคาน้ำมันที่แท้จริง เพราะว่าโรงกลั่นที่นำเข้าน้ำมัน เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ทั้งน้ำมันดิบ หรือน้ำมันที่กลั่นแล้ว จะต้องแจ้งต้นทุนการนำเข้า ส่วนค่าดำเนินการในการกลั่นก็ต้องไปแจ้งต้นทุนการกลั่นกับกรมสรรพากร ทำให้ภาครัฐรู้ต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น ทำให้ภาครัฐรู้ว่าโรงกลั่นมีกำไรหรือค่าการกลั่นที่แท้จริงเท่าไรกันแน่

นอกจากนั้น ประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือ ทำให้การจ่ายเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริง ทำให้กองทุนน้ำมัน สามารถจ่ายเงินชดเชยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการขาดทุนของกองทุนน้ำมันได้ ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนอย่างมากที่นายพีระพันธุ์กล้าหาญทำเช่นนี้

"ที่ผ่านมาไม่มีรัฐมนตรีพลังงานคนไหนกล้าออกประกาศแบบนี้ อาจเป็นเพราะเกรงใจนายทุน แต่ รมว.พลังงานคนปัจจุบัน กล้าหาญที่จะทำ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากในการรักษาผลประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ตรงนี้เป็นการตอกย้ำสิ่งที่นายพีระพันธุ์กำลังทำคือ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ตามนโยบายที่ประกาศไว้ เพื่อนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้กับพี่น้องประชาชน และถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง หลังจากนี้ก็จะมีการช่วยเหลือประชาชนทยอยออกมาเรื่อย ๆ ถือเป็นการปฏิวัติโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ" โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

ส่องราคาน้ำมันเฉลี่ยในประเทศอาเซียน (11 มี.ค. 67)

รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 67 โดยราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

1.แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน

2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่

3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 8 มี.ค. 67 และประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

ทั้งนี้สามารถดูราคาย้อนหลังได้ที่ EPPO - Energy Data Visualization หรือคลิกที่ https://public.tableau.com/app/profile/epposite/viz/EPPO_Inter_OilPrice/SUMMARYOILPRICING 

ส่องราคาน้ำมันเฉลี่ยในประเทศอาเซียน (18 มี.ค. 67)

รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 67 โดยราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

1.แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน

2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่

3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 15 มี.ค. 67 และประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

ทั้งนี้สามารถดูราคาย้อนหลังได้ที่ EPPO - Energy Data Visualization หรือคลิกที่ https://public.tableau.com/app/profile/epposite/viz/EPPO_Inter_OilPrice/SUMMARYOILPRICING 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top