สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 17-21 เม.ย.66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 24-28 เม.ย.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ประกาศอาสาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมกัน 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. - ธ.ค. 66 ทำให้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวในช่วงประมาณ 80 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 66 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 เม.ย. 66 ราคาเริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

สัปดาห์นี้ คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 80 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อน Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 2 - 3 พ.ค. 66 นอกจากนี้ ตลาดเริ่มคลายความตระหนกจากการตัดสินใจลดการผลิตของ OPEC+ รวมทั้งอุปทานจากรัสเซียและสหรัฐฯ ที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักวิเคราะห์ 90% คาดการณ์ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% ในการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 2-3 พ.ค. 66 และนักวิเคราะห์ 59% คาดว่าหลังจากนั้นจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใหม่ไปจนถึงสิ้นปี 66 และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 3.5% ไปอยู่ที่ 4.3% ในช่วงปลายปี 66 

- EIA รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 4.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน (+1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า) ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน (0.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เนเธอร์แลนด์ (0.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และสหราชอาณาจักร (0.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน) 

- Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 0.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 63.9 ล้านตัน (14.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

- Ministry of Petroleum and Natural Gas ของอินเดียรายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- Bank of America ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 2566 อยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ +5.5% จากปีก่อนหน้า) จากการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งจะสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมัน