Friday, 4 July 2025
พรรคพลังประชารัฐ

เปิดความหมาย โลโก้ใหม่ ‘พปชร.’ 3 แถบสี แสดงจุดยืน อนุรักษนิยมทันสมัย ‘แดง-น้ำเงิน-เขียว’ สื่อความสามัคคี พัฒนาชาติเจริญก้าวหน้า ไร้ความขัดแย้ง

(27 เม.ย. 68) ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค และนายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ และรองโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าวหลังการประชุมใหญ่สามัญของพรรคว่า ในวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มาทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมโดยได้แก้ไขข้อบังคับพรรค 3 ข้อคือ

1.ให้ยกเลิกข้อ 4 ของข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องหมายพรรคการเมือง โดยให้แก้ไขโลโก้เดิมเป็นของใหม่ โดยมีคำว่า "พรรค" อยู่บนกึ่งกลางด้านในของเครื่องหมายพรรคการเมือง เหนือตัวอักษรคำว่า "พลังประชารัฐ" โดยมี คำว่า "พลัง" เป็นสีเขียว คำว่า "ประชา" เป็นสีน้ำเงิน คำว่า "รัฐ" เป็นสีแดง อยู่ภายในวงล้อพลวัต ที่มี 3 แถบสี เป็นสีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว บนพื้นสีขาว โดยสีแดง หมายถึงความสามัคคีร่วมมือร่วมใจของประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ายั่งยืน ปราศจากความขัดแย้งในชาติ โดยจะสร้างพลังแห่งความเชื่อมั่น และความสุขของประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ สีขาว หมายถึง ความดีงามอภิบาล และการจัดการบ้านเมืองที่ดี และสีน้ำเงิน หมายถึง จุดยืนและการเมืองเชิงอนุรักษนิยมที่เป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีของคนในชาติปราศจากความขัดแย้ง ส่วนสีเขียว หมายความถึง ความทันสมัย และอนุรักษ์ทรัพยากร และปกป้องผลประโยชน์ชาติและของประชาชนเป็นสำคัญ 

2.เรื่องอุดมการณ์ของพรรค โดยแก้ไขประกาศจุดยืนทางการเมืองในการเป็นพรรคอนุรักษนิยมทันสมัยที่มีเจตจำนงแน่วแน่ และปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีจารีต และค่านิยมของชาติ เปลี่ยนแปลงแนวทางขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและการบริหารจัดการภาครัฐที่ทันสมัยมีความยืดหยุ่นกับบริบทการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ 

3.แก้ไขเรื่องที่เป็นกรรมการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หากขาดการประชุมพรรค 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่แจ้งหัวหน้าพรรคทราบ และคณะกรรมการพรรคการเมืองมีมติให้พ้นจาก 

จากนั้น ได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติมในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค 2 คน ได้แก่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายสุรเดช ยะสวัสดิ์ พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้นายสุรเดช เป็นผู้ดูแลภาคเหนือตอนบน และได้มอบหมายให้นายธีระชัย เป็นรองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นคนแรกในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อจะขับเคลื่อนภารกิจของพรรคพลังประชารัฐต่อไป

'โฆษก พปชร.' ทวงแรงถาม รัฐบาลกลัวอะไร กับ 'กัมพูชา' ร้องเพลงชาติบนปราสาทตาเมืองธม พร้อมแจงมติพรรค พร้อมเดินหน้าตรวจสอบด้านเศรษฐกิจรัฐ ชูนโยบาย พปชร. แก้ปัญหาปากท้องลงมือทำจริง ซัด รบ. แก้ปัญหา ศก.ประเทศติดอันดับรั้งท้ายภูมิภาค

เมื่อวันที่ (13 พ.ค.68) เวลา 14.00 น.ที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธาน ได้พิจารณา ออกคำสั่ง แต่งตั้งทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ โดยให้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นหัวหน้าทีม หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี  เป็นรองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วย นายอัคร ทองใจสด นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ นางสาวบุณณดา สุปิยะพันธุ์ และนายมนูญ พรหมลักษณ์ ร่วมคณะทีมเศรษฐกิจ ซึ่งนับ เป็นทีมเศรษฐกิจคนรุ่นใหม่ และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร เศรษฐกิจระดับมหภาคและจุลภาค รวมถึงการแก้หนี้ครัวเรือน อย่างเชี่ยวชาญและชัดเจน

ทั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การบริหารราชการ ด้านเศรษฐกิจ ของรัฐบาล ในการดูแล ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ที่จะนำไปสู่การเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ แก่สังคม รวมถึงการนำเสนอนโยบายสำคัญ ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ เพื่อแสดงศักยภาพ และความพร้อมของพรรค โดยการขับเคลื่อนของ ทีมเศรษฐกิจ ที่พร้อม ลงมือทำงานได้ทันที อาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรดพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 ดังนี้

โดย 1.การติดตามวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในรัฐสภาและภายนอกและทั้งในประเทศและในต่างประเทศ เพื่อวางแนวทางที่จะแถลงแนวทางในแต่ละเรื่องให้แก่ประชาชนได้รับทราบ โดยบางเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยประชุมรัฐสภาก็จะพิจารณาทำการแถลงข่าวจุดยืนร่วมกับ สส. ของพรรค 2. ประสานให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยรวบรวมข่าวและคำวิจารณ์ในสื่อต่างๆ ในแต่ละวัน เพื่อทีมเศรษฐกิจ จะได้พิจารณาแถลงข่าวเพื่อตอบโต้หรือเสนอแนะได้ทันท่วงที 3. ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงปัญหาเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนค่อนข้างมาก ซึ่งรัฐบาลขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปอย่างเชื่องช้าและไม่ถูกทิศทาง ก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดเจนจากสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดระดับทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นที่น่าตกใจก็คือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลำดับทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่ำกว่าประเทศกัมพูชาและลาว โดยเราอยู่ในลำดับเกือบรั้งท้ายในแถบประเทศอาเซียน

“วันนี้พี่น้องประชาชนกำลังจะอดตาย แต่นายกรัฐมนตรียังปล่อยให้เพิ่มภาษีน้ำมัน สิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการแข่งขันทางด้านธุรกิจและการขนส่ง ในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง แต่รัฐบาลกลับตัดแขนตัดขาประชาชนด้วยการเพิ่มภาษีน้ำมัน ทำให้ราคาแพงกว่าที่ประเทศเวียดนาม แล้วเราจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไร“ พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว

“นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงความคืบหน้าของกรณีที่นายทหารชั้นนายพล ได้นำชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่ง ขึ้นมาร้องเพลงชาติกัมพูชา บริเวณปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ม และมีการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดอธิปไตยของไทยในดินแดนของไทย แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการประท้วงผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หรือดำเนินคดี หรือดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด เป็นลายลักษณ์อักษร หรือให้เป็นพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าหากทางประเทศกัมพูชาจะเรียกร้องพื้นที่นี้เป็นอาณาเขตของประเทศตนเอง พร้อมทั้งกล่าวว่า ไม่รู้ว่ากลัวอะไรทางกัมพูชา อีกทั้ง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยังมีคำสั่งให้ทหารไทยถอยออกจากพื้นที่ที่เป็นอธิปไตยของประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้  ทางพรรคพลังประชารัฐ ได้เคยเรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการประท้วง หรือท้วงติงเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังรัฐบาลกัมพูชา ในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 จนถึงวันนี้ เป็นเวลาหลายเดือนแล้วยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลแต่อย่างใด“

“ถ้าทหารและครอบครัวกลุ่มนั้นมาร้องเพลงชาติในห้องนอนของนายกฯ หรือในห้องนอนของท่าน รองนายกฯ ท่านจะยังนิ่งเฉย และสั่งให้คนในบ้านของท่านออกจากห้องนอน หรือออกจากบ้าน ไปอยู่ที่สนามหญ้าหน้าบ้านหรือไม่ ผมอยากรู้ว่า ท่านจะทำอย่างเดียวกับที่ท่านทำกับประเทศไทยหรือแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักของเราหรือไม่ พรรคพลังประชารัฐต้องขอบคุณพี่น้องทหารหาญทุกท่านและพี่น้องประชาชนคนไทยที่รักชาติและแผ่นดิน วันนี้ประเทศไทยเป็นสุขได้เพราะบรรพบุรุษของไทยทุกคนช่วยกันรักและพิทักษ์ไว้ซึ่งแผ่นดินไทย เราจะไม่ยอมให้ประเทศเพื่อนบ้านเอาแผ่นดินของประเทศไทยไปแม้แต่นิ้วเดียว รัฐบาลไทยกลัวอะไรถึงขนาดนี้ กลัวว่า จะมีการเพิกถอนสัญชาติของญาติท่านบางคน หรือจะเอาญาติของท่านที่ไปแต่งงานกับคนใกล้ชิดท่านนายกฮุนเซน  เอามาคืนหรือ พรรคพลังประชารัฐจะไม่ยอมให้ ผู้หนึ่งผู้ใดนำผืนแผ่นดินไทยไปแลกผลประโยชน์ ส่วนตนและเครือญาติโดยเด็ดขาด” พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว

พปชร.เชื่อมั่นแพทยสภาคงมติตามเดิม รักเกียรติภูมิ ความตรงไปตรงมา ถือหลักการ มาตรฐานวิชาชีพ และประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มากกว่าประโยชน์ของคนบางคน วอน ปชช.ประณามการเมืองแทรกแซง องค์กรวิชาชีพ

(12 มิ.ย.68) พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ  กล่าวว่า “วันนี้ (12 มิ.ย. 68) แพทยสภาจะมีการลงมติผลการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยให้ลงโทษแพทย์ 3 ราย ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบอนญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม กรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริงและนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ ได้วีโต้ผลการพิจารณาและส่งมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง ตาม ม.25 พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 วรรคสี่  และแพทยสภาได้พิจารณาและอนุญาตให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะสภานายกพิเศษเข้าร่วมประชุมได้15นาทีในวันนี้นั้น

ในส่วนตัวเชื่อมั่นว่า มติที่ประชุมใหญ่ คงเป็นไปตามเดิม เพราะข้อโต้แย้งของ รมว.ในฐานะสภานายกพิเศษ ไม่มีเหตุผลหรือสาระสำคัญที่จะทำให้มติแพทยสภาเปลี่ยนไป  เหตุผลส่วนใหญ่แย้งเป็นเหตุผลทางธุรการซึ่งกรณีดังกล่าวทางแพทยสภาได้ส่งข้อมูลตอบกลับไปยังสภานายกพิเศษเรียบร้อยแล้ว แม้ว่า นายสมศักดิ์ฯจะขอใช้อำนาจตาม มาตรา 24 เพื่อขอเข้าร่วมประชุมในวันนี้ก็ตาม  ยังเชื่อมั่นว่า มติที่ประชุมใหญ่คงไปตามแนวทางเดิม  ทั้งนี้ เนื่องจาก มาตรา 14 พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ระบุ คณะกรรมการแพทยสภาประกอบด้วย  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ นายแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกอีกจำนวนเท่ากับจำนวน

กรรมการโดยตำแหน่งใน ขณะเลือกตั้งแต่ละวาระ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการ  ซึ่งในมาตรา 14 บอกไว้ชัดเจนว่าคณะกรรมการแพทยสภาประกอบด้วยใครบ้าง  และที่สำคัญคือไม่มี รมว. เป็นคณะกรรมการแต่อย่างใด  ดังนั้น  ท่านไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนหรือออกเสียงเพราะท่านไม่ได้เป็นคณะกรรมการ   

และในกรณีที่ท่าน รมว.เข้าร่วมประชุมและชี้แจงในครั้งนี้  ทางแพทย์และพี่น้องประชาชนเข้าใจดีว่าท่านมีวัตถุประสงค์อะไร  และไม่เคยมีรัฐมนตรีท่านใดมีพฤติกรรมเช่นนี้มาก่อน ส่วนข้ออ้างว่าจะไปอธิบายสาเหตุที่วีโต้มติแพทยสภานั้น อันนี้ทางแพทยสภา เห็นหนังสือของท่านและเข้าใจดีอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นการผิดมารยาทอย่างมากเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรวิชาชีพเช่นนี้ มาก่อน“

พล.ต.ท.ปิยะฯกล่าว “หากแพทยสภายืนยันตามผลการพิจารณาเดิม ก็จะส่งผลในการพิจารณาของ ปปช. และศาลฯ ในวันที่ 13 หรือ 23 มิถุนายนที่จะถึงนี้อย่างแน่นอนเพราะ หากมติแพทยสภามีผลครบถ้วนตามกฏหมาย แสดงให้เห็นว่า การออกมาจากเรือนจำของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อทำการตรวจรักษามีลักษณะ“ป่วยทิพย์” หรือเป็นไปโดยทุจริต และมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกมาตรวจรักษาจำนวน 180 วัน ไม่มีการป่วยจริงในภาวะวิกฤต ที่อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้  กรณีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีเหตุจำเป็นจะต้องสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร  กลับไปรับโทษตามกฎหมายตามกำหนดเสียก่อน     

ดังนั้น การอ้างว่าถูกควบคุมตัว หรือรับโทษมาแล้ว 180 วัน หรือ 1 ใน 3 ของโทษที่เหลือนั้น หากไม่เกิดขึ้นจริงหรือเป็นไปโดยผิดขั้นตอนและระเบียบกฎหมาย  จะส่งผลให้นายทักษิณฯขาดคุณสมบัติหรือเป็นเหตุให้ไม่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษในโทษที่เหลือ 1 ปีนั้นได้  เมื่อนายทักษิณฯขาดคุณสมบัติในการขอพระราชทานอภัยโทษ  การขอพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญญัติของกฎหมาย จึงจำเป็นต้องกลับไปรับโทษที่เหลือ 1 ปีตามเดิม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ที่จะอันตรายถึงแก่ชีวิต ต่อมาเมื่อภาวะวิกฤติที่จะอันตรายถึงแก่ชีวิตหมดไป  ก็ถือว่า ความจำเป็นที่จะต้องพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำก็จะหมดไปด้วย เป็นหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องตรวจสอบและนำตัวผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นกลับไปยัง โรงพยาบาลในเรือนจำหรือเข้าควบคุมในเรือนจำตามแต่อาการที่ปรากฎ ไม่ใช่ปล่อยให้พักอยู่ รพ. ภายนอกเรือนจำจนหายปกติ แข็งแรง ตีกอล์ฟ เต้นระบำ นวดหน้า ขึ้นเวทีปราศรัย ด่าใครต่อใครได้

อีกประการหนึ่ง กระบวนการการตรวจรักษาภายนอกเรือนจำ กรณีนี้ เป็นการควบคุม ตัวตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การออกไปรับการตรวจรักษาภายนอกเรือนจำ จะขออนุญาตศาลฯก่อน หากเป็นกรณีเร่งด่วนไม่สามารถขออนุญาตศาลเพื่อส่งตัว มาทำการตรวจรักษาภายนอกเรือนจำได้ในทันที ก็ต้องรายงานเพื่อขออนุญาตศาลฯส่งตัวไปตรวจรักษาเพื่อทุเลาโดยเร็วที่สุด ซึ่งในกรณีนี้  ก็ไม่มีการขออนุญาตต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฏหมายแต่อย่างใด  

จากกระบวนการการสอบสวนของแพทยสภา ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ทำให้เห็นว่า นายทักษิณฯ ไม่ได้ป่วยเป็นเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย หรือเจ็บป่วยในภาวะวิกฤติที่อันอาจจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต เอกสารการตรวจทางการแพทย์ มีเหตุและข้อควรสงสัยว่า ไม่ตรงความจริง  จึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ลงโทษดังกล่าว“

พล.ต.ท.ปิยะฯ กล่าว “แม้จะมีการพยายามอ้างกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของราชทัณฑ์ หรือกฎหมายของหน่วยงานอื่น ซึ่งเป็นอนุกฏหมาย ไม่อาจมาหักล้างหรือ เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่ออกโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้  อีกทั้งการปฏิบัติตามกฏหมายย่อย ก็ยังปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน แสดงถึงข้อพิรุธที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะ เป็นการส่งตัวคนไข้ออกจากเรือนจำโดยแพทย์ผู้รับผิดชอบยังไม่ได้ทำการตรวจคนไข้โดยตรง เพียงแค่สอบถามอาการจากพยาบาลเวรทางโทรศัพท์ เท่านั้น ตลอดจนหลักฐานทางเวชระเบียนพยาบาลที่ปรากฎในคอมพิวเตอร์ และรายการจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ได้มีรายละเอียดยืนยันการผ่าตัดใหญ่จากเจ็บป่วยร้ายแรง ที่ต้องรับการตรวจรักษาภาวะวิกฤตินานถึง 180 วัน หากกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ มีอำนาจเหนือศาล คำพิพากษาของศาลจะศักดิ์สิทธิ์ลงโทษผู้กระทำผิดตามโทษานุโทษได้อย่างไร เพราะเมื่อถึงขั้นการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษากลับมาการเบี่ยงเบนไปเช่นนี้ ระบบนิติรัฐของประเทศก็จะสูญเสียไป“

‘ชัยวุฒิ’ เปรียบรัฐบาลเพื่อไทยเหมือน ‘เรือใกล้จม’ ย้ำชัด ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ไม่ร่วมรัฐบาล

(20 มิ.ย. 68) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย้ำจุดยืนพรรคตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พร้อมเผยว่า พรรคเพื่อไทยพยายามทาบทามเข้าร่วมรัฐบาล หลังภูมิใจไทยถอนตัว ทำให้เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิเปรียบรัฐบาลเพื่อไทยเหมือน ‘เรือใกล้จม’ และเตือนพรรคร่วมว่า หากยังดึงดันร่วมรัฐบาล อาจ ‘จมน้ำตายไปด้วยกัน’ พร้อมแนะให้ถอนตัวเพื่อเปิดทางจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพมากกว่า

ในส่วนของกระแสเปลี่ยนนายกฯ นายชัยวุฒิกล่าวว่า หากมีการเปลี่ยนตัวจาก น.ส.แพทองธาร ค่อยเปิดเจรจาใหม่ได้ แต่หากเพื่อไทยยังเป็นแกนนำ พปชร.จะยังไม่ร่วม พร้อมระบุว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลไม่ใช่เพราะม็อบ แต่เพราะประชาชนขาดศรัทธาในผู้นำเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top