Thursday, 2 May 2024
ฝรั่งเศส

‘มาครง’ โทษโซเชียลปลุกกระแสจลาจลในฝรั่งเศส เตรียมใช้อำนาจรัฐ ‘จัดการคอนเทนต์’ ปลุกปั่น!!

(3 ก.ค. 66) เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเดือดจัด ออกมากล่าวโทษสื่อโซเชียล อาทิ Tiktok, Snapchat และอื่นๆ เป็นตัวการสุมเชื้อไฟความรุนแรงในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่มีต้นเหตุจากคดีตำรวจฝรั่งเศสยิงนาย นาเฮล เอ็ม วัยรุ่นชายเชื้อสายแอลจีเรียวัย 17 ปีเสียชีวิต

โดยคลิปข่าว และการปลุกระดมจากคดีของ นาเฮล ถูกส่งต่อจนกลายเป็นไวรัลทั่วโลกโซเชียลในฝรั่งเศส ก่อให้เกิดความไม่พอใจในชุมชนคนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้อพยพ ลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นาเฮล จนกลายเป็นจลาจลวุ่นวายไปทั่วประเทศ

และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'พฤติกรรมเลียนแบบ' ชักชวนกันออกมาป่วนตามกระแสจากโซเชียล รวมถึงเกมออนไลน์ที่แฝงความรุนแรง เป็นแรงเสริมให้เกิดพฤติกรรมป่วนบ้าน ป่วนเมืองในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น

มาครง ถึงขั้นใช้คำว่า เด็กๆ พวกนี้ โดน "ล้างสมอง" จากการเสพคอนเทนต์ หรือ เกมออนไลน์ ที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาสังคม เห็นทีต้องเร่งประสานงานกับเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลให้กำจัด "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" และขอให้ระบุตัวตนของผู้ใช้ที่เผยแพร่ ปลุกระดม ให้เกิดความรุนแรงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้

ซึ่งผู้นำฝรั่งเศสไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ ว่า "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" ที่ว่านี้หมายถึงอะไร แต่เรียกร้องถึงสปิริตในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลมีเดีย และไม่เพียงแค่นั้น ตอนนี้รัฐบาลได้เรียกตัวแทนผู้ดูแลสื่อโซเชียลในฝรั่งเศสมาหารือแล้ว โดยเริ่มที่แพลทฟอร์ม Snapchat และ Twitter ให้ทำการลบคอนเทนต์ที่รุนแรง และให้หาตัวผู้ที่ปล่อยคลิป และภาพลงในโซเชียลด้วย

เจรัลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ออกมายืนยันคำสั่งของรัฐบาล โดยเขาเป็นคนฝากคำเตือนถึงทีมสื่อโซเชียลในที่ประชุมว่า รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางการปลุกระดมไปสู่ความรุนแรง จึงอยากเตือนให้รู้ไว้ว่าฝรั่งเศสมีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดทางโซเชียลเช่นกัน 

ที่ฝรั่งเศส มีกฎหมายต่อต้านการคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นคดีอาญาหากมีการข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย ฆ่า ข่มขืน หรือแม้แต่ด่าทอ ดูหมิ่นกันในออนไลน์ ถือเป็นความผิดทั้งสิ้น และในปี 2020 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายควบคุมสื่อโซเชียล และ search engine ให้นำคอนเทนต์ต้องห้ามออกภายใน 24 ชั่วโมง 

แต่ทว่า เท่าที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายในคดีคุกคามทางโซเชียลมักไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่นักในฝรั่งเศส แต่มาคราวนี้ มาครงจะเอาจริงแล้ว เพราะเชื่อว่าความอลหม่านในรอบ 4-5 วันที่ผ่านมาเกิดจากการปลุกปั่นในโซเชียล ไม่ผิดแน่

จากข้อมูลของตำรวจ พบว่าในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมจากการก่อเหตุจลาจลป่วนเมืองนั้น 1 ใน 3 เป็นเพียงเด็ก และเยาวชน หลายคนยังเด็กมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าออกมาก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไม่รู้สึกผิด ผู้นำฝรั่งเศสจึงฝากไปถึงพ่อแม่ ให้ดูแลลูกหลานของตัวเองให้ดีหน่อย 

"เพราะเป็นหน้าที่พ่อแม่ที่กันลูกตัวเองให้อยู่ในบ้าน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะไปตามจับตัวลูกคุณข้างนอกนะครับ"

เชื่อแล้วว่า เอมานูเอล มาครง ฉุนขาดจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสวันนี้ แต่ที่แปลกใจคือ ทางฝรั่งเศสเพิ่งจะตาสว่างหรือ? ว่าช่องทางโซเชียลถูกใช้ปลุกระดมให้เกิดม็อบจลาจลได้? เมื่อก่อนเห็นปกป้องตลอดเลยว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ตอนนี้แสดงออกไม่ได้แล้วนะ แถมยังใช้อำนาจรัฐบีบให้บริษัทโซเชียลส่งข้อมูลผู้ใช้ที่เข้าข่ายสร้างคอนเทนต์ปลุกระดมให้รัฐได้ด้วย 

ไฟไหม้บ้านคนอื่นไม่เดือดร้อนเท่าไฟไหม้บ้านตัวเองเช่นนี้แล

การเผชิญหน้า 'จลาจล-ประท้วง-เสรีภาพ' ของผู้นำหนุ่ม ในยุค 'วิกฤติเศรษฐกิจ-โซเชียลกำหนดวิธีคิด' ให้ผู้คนลุกฮือ

ไม่นานมานี้ YouTube ช่อง 'Kim Property Live' ได้โพสต์คลิป เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ การประท้วง การจลาจล ในประเทศฝรั่งเศส โดยได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ...

วันนี้จะมาชวนคุยเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส การประท้วง การจลาจล การต่อต้านและความไม่สงบ ภายใต้บริบทของประเทศคิดที่มีความหลากหลาย และสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นเจ้าของแบรนด์หรู ต่างๆ มากมาย ซึ่งวันนี้ต้องเผชิญความท้าทายจากอำนาจของประชาชนภายใต้อิทธิพลสื่อที่ผู้นำหนุ่มแห่งฝรั่งเศสกำลังปวดหัว

โดยเราต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับรากเหง้าและวัฒนธรรมการประท้วงของฝรั่งเศสกันก่อน ประเทศของเขามีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปีค.ศ 1789 ซึ่งเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส และนี่ก็คือเอกลักษณ์ของทางประเทศฝรั่งเศส ที่เกี่ยวกับ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ประเทศฝรั่งเศสมีการนัดกันหยุดงานและประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพลักษณ์ของประชากรในฝรั่งเศสเป็นคนที่ดูเข้มแข็ง และกล้าท้าทายต่ออำนาจ คนในฝรั่งเศสนั้นมีความรู้ มีการศึกษาค่อนข้างดี และก็ยังมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เยอะอีกด้วย อีกทั้งทางด้านสหภาพแรงงานก็เข้มแข็ง ทำให้เกิดการประท้วง ทั้งในฝั่งของคนทำงานและบริษัท จึงทำให้เราเห็นภาพที่วุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม ประเทศฝรั่งเศสนั้น ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสินค้าแบรนด์ดัง แบรนด์หรูที่โด่งดังไปทั่วโลกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น หลุยส์วิตตอง Hermes Chanel ยิปแซง Peugeot ยางมิชลิน ห้างคาร์ฟูร์ เครื่องสำอางลอรีอัล Ibis axa แต่ก็แทบจะไร้ค่า เมื่อเทียบกับพลังของผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีคิดแห่งเสรีภาพค้ำชู

กลับมาพูดกัน ในปัจจุบันของฝรั่งเศส มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหตุการณ์มันลุกลามกันมาตั้งแต่ เหตุการณ์เสื้อกั๊กเหลือง ที่คนประท้วงกันในเรื่องของนโยบาย โลกร้อน ขึ้นภาษีน้ำมัน ประชาชนไม่พอใจรัฐบาล ที่นโยบายเอื้อไปทางคนที่ร่ำรวย เพราะว่าประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง มาจากสายของการเงินธุรกิจ 

นอกจากนี้ตัวเขาก็ยังมีแนวคิดที่จะเลื่อนการเกษียณออกไปอีก 2 ปี เนื่องด้วยระบบบำนาญของฝรั่งเศส ดูแลประชาชนไม่ไหวแล้วประชาชนเริ่มที่จะแก่มากขึ้น เงินที่เข้ามาก็น้อย ดอกเบี้ยก็ต่ำ พอยืดเวลาเกษียณออกไปก็ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ เกิดการหยุดทำงานการประท้วงไปทั่วฝรั่งเศส (สำหรับคนไทยนั้นอาจจะตกใจแต่สำหรับคนฝรั่งเศสการ Strike หยุดงานการเดินขบวนการประท้วงนั้น เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว)

ทว่า เหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่มความร้อนแรงให้กับประเทศฝรั่งเศส ทั้งในเรื่องของการเมืองและเรื่องของสังคมนั่นก็คือ การที่ตำรวจท่านหนึ่ง ทำการวิสามัญวัยรุ่นอายุ 17 ปี ซึ่งน้องคนนี้ก็ได้มาจากแอฟริกาเหนือ (ก็ต้องบอกว่าในประเทศฝรั่งเศสนั้นมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติที่เยอะ มีผู้ที่อพยพเข้าเมืองมาเยอะ และถ้าดูจากแผนที่แล้วประเทศฝรั่งเศสนั้นจะอยู่ทางตอนบนของประเทศซีเรีย ตะวันออกกลาง) 

ฉะนั้นเมื่อมีผู้อพยพเข้ามากันเยอะ เพื่ออาศัยลี้ภัยสงคราม เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติก็เริ่มมีการก่อตัวให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้อพยพนั้นก็เติบโตขึ้นมากเช่นเดียวกัน และนั่นก็ทำให้ประชาชนเริ่มไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ไม่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) พอมีเหตุการณ์การวิสามัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา จึงทำให้เกิดความไม่พอใจเกิดขึ้น ทำให้ความรุนแรงปะทุขึ้นมา มีคนยิงพลุใส่ตำรวจ เผารถยนต์ของตำรวจ โดยล่าสุดมีการจับกุมผู้ประท้วงไปแล้ว ประมาณ 1,100 คนจากทั่วประเทศ และปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 40,000 คนได้เข้าควบคุมสถานการณ์ 

แน่นอนว่า การประท้วงในครั้งนี้ ได้ท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ซึ่งก็ได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินและมีการขอให้ผู้ปกครองนั้นดูแลบุตรหลานให้ดี ให้อยู่กันแต่ในบ้าน ซึ่งทางฝ่ายค้าน ก็ได้ใส่ประธานาธิบดีมาครงทันทีว่าอ่อนแอ ควบคุมกฎหมายไม่ดีรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ไม่ได้

ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ก็ปวดหัวพอสมควร ปัญหาเก่าก็มีสะสมมาเยอะอยู่แล้ว ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ที่สูงขึ้นไปถึง 6% ตอนนี้ก็ได้ลงมาอยู่ราวๆ 5% แล้ว ส่วนตัวเลข GDP นั้นถึงแม้จะไม่ติดลบแต่ก็ถือว่าแทบจะไม่โตเลย ตัวเลขอยู่ที่ 0.9% เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูง ประชาชนก็ย่อมจะมีความกดดันสูงอยู่แล้วและเมื่อมีเหตุการณ์ปะทุขึ้นมาอีก จุดเดือดนี้ ก็ได้แพร่ขยายออกไปได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของท่านประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ก็ได้มี Action ต่างๆ เพื่อจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องรายได้ ค่าครองชีพ ได้มีการเชิญชวนนักธุรกิจทั่วโลกให้มาตั้งโรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส เพราะถ้าโรงงานการผลิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ก็จะเกิดการจ้างงานทำให้คนฝรั่งเศสนั้นมีงานทำเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ซึ่งประธานาธิบดีมาครง ก็เคยจีบอีลอนมัสก์ ให้มาสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศฝรั่งเศส 

ขณะเดียวกัน ก็เคยชวนเจ้าสัวซีพีของไทยไปเปิดโรงงานที่ฝรั่งเศส เพราะนโยบายหลักของประธานาธิบดีมาครงนั้น เน้นไปที่พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศในทวีปยุโรปอยู่แล้วที่จะเน้นในเรื่องนี้ เขาไม่อยากจะซื้อพลังงานจากทางด้านประเทศรัสเซีย แต่การขึ้นภาษีดีเซลนั้นก็ยังติดขัดกับพวกเสื้อกั๊กเหลืองอยู่ คนฝรั่งเศสไม่เอาด้วย เพราะว่ามองว่าเป็นการรังแกคนที่จน คนทางภาคเกษตรกรรมนั้นใช้พลังงานดีเซลที่เยอะ แล้วต่อมาเหตุการณ์จลาจลในประเทศฝรั่งเศสนั้นก็ได้ลุกลามไปยังประเทศเบลเยียม ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกิดการปล้นในเมืองโลซาน โดยยึดประเทศฝรั่งเศสเหมือนโมเดลในการประท้วงการเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนในหลายประเทศดูฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการประท้วงการจลาจลแบบนี้ มันก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เปิดอยู่ก็ต้องปิดตัวลงไป จะทำการค้าการขายกันก็ไม่ได้ ทำให้เกิดการสูญเสีย ประมาณ 1 billion Euro หรือว่าประมาณ 1,000 ล้านยูโร ซึ่งก็คล้ายคลึงกับบ้านเราถ้าเกิดการประท้วงปิดห้างกันการค้าการขายระบบเศรษฐกิจของบ้านเราก็เสียหาย นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวเพราะว่าคนไม่กล้ามาท่องเที่ยวกัน ทำให้เกิดการกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมากขึ้นไปอีก เพราะฝรั่งเศสนั้นก็เป็นประเทศที่เน้นการท่องเที่ยว ของที่เป็นแบรนด์เนมของที่เป็นแฟชันสัญลักษณ์ของความหรูหรา จนรัฐบาลของฝรั่งเศสจะต้องมาการันตีให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ถึงตรงนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีแนวคิดทางด้านการเมืองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน มีความเข้มแข็งของประชาชน มีความเข้มแข็งของสหภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองค่อนข้างสูง แต่อีกด้านหนึ่งก็มักทำให้เกิดการประท้วงการจลาจล ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงหลัง Social Media ก็มีผลอย่างมากต่อการนำมาซึ่งความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเมื่อก่อนที่เดินขบวนกันแบบสันติ แต่ปัจจุบันก็ได้ รุนแรง จนเกินต้านจากการปลุกปั่นในออนไลน์

วงจรหายนะของ ‘ฝรั่งเศส’ ที่ฉุด ‘เศรษฐกิจ’ ให้ถดถอย หลังตัวจุดชนวน ‘การประท้วง’ ปะทุบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ใช้ติ๊กต็อกบัญชี ‘@spacebarmediath’ ซึ่งเป็นช่องที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจ สำหรับ EP. นี้ จะเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศสที่กําลังเดินวนอยู่ในวงจรหายนะ ยิ่งวนอยู่ในวงจรนี้นานเท่าไร เศรษฐกิจก็ยิ่งถดถอย แล้ววงจรนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ‘คุณทราย-โศธิดา โชติวิจิตร’ พิธีกรดำเนินรายการ ได้ออกมาอธิบายเอาไว้ว่า…

“1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือ มูลค่าความเสียหายคร่าว ๆ เฉพาะภาคการท่องเที่ยวสําหรับการประท้วงฝรั่งเศสครั้งนี้ เพราะว่านักท่องเที่ยวต้อง ‘ยกเลิก’ ทริปการท่องเที่ยวทั้งหมด เพราะผู้ชุมนุมประท้วงได้ทุบทําลายและปล้นซูเปอร์มาร์เก็ตไปมากกว่า 250 แห่ง เผาธนาคารไป 250 แห่ง ทำลายร้านค้าเล็ก ๆ ไปอีก 250 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ที่ถูกเผาไปรวมกันมากกว่า 5,000 คัน จากความเสียหายเหล่านี้ ทำให้มีตัวเลขที่จะออกมา ‘กดดันเศรษฐกิจ’ คือ ‘ค่าเคลมประกัน’ ที่ตอนนี้ยอดสูงถึง 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการเคลมประกันถึง 5,900 เคส 

จุดที่เป็นตัวกระตุ้นของการประท้วงครั้งนี้ เกิดจากที่ตํารวจไปยิงเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตก็จริง แต่ความอัดอั้นทุกข์ทนที่ทําให้คนออกมาเผาบ้านเมืองตัวเองได้ขนาดนี้ มันเกิดจาก ‘ความยากจน’ ต่างหาก ซึ่งในประเทศฝรั่งเศส เด็ก ๆ ไม่มีบ้านอยู่กันมีมากกว่า 3 หมื่นคน และอาศัยอยู่ในสลัมอีกมากกว่า 9 พันคน รวมถึงทุก ๆ ปี จะมีเด็กมากกว่า 140,000 คน ต้องออกจากโรงเรียนเพราะว่า ‘ไม่มีเงิน’ สําหรับอัตราความยากจนของประเทศฝรั่งเศสตอนนี้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากถึง 15.6% นอกจากนี้ ความรุนแรงที่ตำรวจใช้ในการขับไล่คนไร้บ้านก็ยังถูกพาดหัวข่าวให้เห็นกันอยู่เสมอ

สําหรับตอนนี้ PMI Service Sector ที่ได้แก่ การท่องเที่ยว การขายส่ง แฟชัน ตกลงจาก 52.5 มาอยู่ที่ 48 ซึ่งถือว่าเยอะมาก ตั้งแต่เปิดโควิดเป็นต้นมา และ Service Sector นับเป็นอัตราส่วน 80% ของเศรษฐกิจประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเกิดความเสียหายมากที่สุดในตอนที่มีคนมาชุมนุมประท้วง เพราะว่าคนไม่มาเที่ยว คนไม่ซื้อของหรู ไม่ซื้อหลุยส์ วิตตอง ไม่ไปดินเนอร์หรู ไม่ไปปาร์ตี้บนเรือยอร์ช หรือไม่เช่ารถลีมูซีน

ซึ่งการประท้วงในฝรั่งเศสดูจะบ่อยมากขึ้น เพราะนอกจากครั้งนี้ หากย้อนกลับไปครั้งล่าสุดก็ 3 เดือนที่แล้วนี้เอง และถ้าย้อนกลับไปแค่ประมาณปีกว่า ๆ ก็คือภายในปี 2022 ฝรั่งเศสประท้วงมาแล้ว 4 ครั้ง 

หากมองเป็นภาพวงจร ก็คือ คนจน > โกรธ > ประท้วง > เศรษฐกิจเสียหาย > เงินก็ยิ่งน้อย > คนก็จนลงไปอีก ทีนี้จึงเกิดความรู้สึกโกรธ และก็เกิดการประท้วงวนลูปอยู่อย่างนี้ต่อไป ยิ่งวนเศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัว 

ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสเองก็มีปัญหาใน ‘การใช้จ่าย’ คือ ใช้เงินเกินรายได้ และตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินรายได้ไปเยอะมากมาโดยตลอด ส่วนอัตราภาษีตอนนี้ก็อยู่ที่ 45% แล้ว ถ้าจะไปขูดรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษีประชาชน ก็คงดูจะทำได้ลําบากยิ่งขึ้น ทำให้ประธานาธิบดี ‘แอมานุแอล มาครง’ จึงต้องไปจีบทั้งจีนและบริดจ์ โดยที่ไม่สนใจการแตกแถวจากสหรัฐอเมริกา

แต่ประเทศฝรั่งเศสที่ปัจจุบันร่ำรวยเป็นอันดับ 7 ของโลกจะเดินออกมาจากวงจรแห่งความหายนะนี้ได้หรือไม่? เราก็คงทำได้แค่เอาใจช่วย

‘ผู้ต้องขัง’ ใน ‘คุกฝรั่งเศส’ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นี่อาจไม่ใช่ 'สวรรค์' ในแบบที่คนไทยหลายคนคิดไว้

(1 ส.ค.66) เพจ 'ดร.โญ มีเรื่องเล่า' ได้เผยความเป็นจริงด้านมืดของประเทศฝรั่งเศส ที่คนไทยหลายคนที่เคยมองว่าเป็นดินแดนสวรรค์ อาจจะต้องพิจารณาใหม่ ว่า...

ฝรั่งเศสที่คนไทยหลายคนคิดว่าเป็น ‘สวรรค์’

ผู้ต้องขังในเรือนจำของฝรั่งเศสพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ความแออัดยัดเยียดภายใต้นโยบาย ‘อาชญากรรมเป็นศูนย์’ กลายเป็นปัญหาที่ผู้ต้องขังหลายพันคนไม่มีแม้แต่พื้นที่ที่พอจะซุกหัวนอนได้

ฝรั่งเศสมีผู้ถูกคุมขังมากกว่าที่เคย โดยสูงถึง 74,513 คน ตามสถิติอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประเทศนี้ได้ทำลายสถิติผู้ต้องขังของตนเองถึง 6 ครั้ง โดยเกิดขึ้นเกือบทุกเดือน นับตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 2022

ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงการเพิ่มขึ้น 2,446 คน ตั้งแต่ปีที่แล้ว และ 15,818 คน นับตั้งแต่ฤดูร้อนปี ค.ศ. 2020 หลังจากนักโทษประมาณ 10,000 คน ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรเทาความแออัดยัดเยียดของระบบเรือนจำ ฝรั่งเศสมีผู้ต้องขังเกิน 73,000 คน เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว (ค.ศ. 2022)

อัตราการคุมขังของระบบเรือนจำในฝรั่งเศสทั้งหมดอยู่ที่ 122.8% และเพิ่มขึ้นเป็น 146.3% สำหรับสถานที่เหล่านั้นซึ่งเป็นคุมขังของผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีและผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกระยะสั้น ส่งผลให้ผู้ต้องขัง 2,478 คนไม่มีแม้แต่เตียงที่จะนอนและต้องนอนบนที่นอนที่วางบนพื้นแทน

เรือนจำของฝรั่งเศสล้นเกินขนาดจนกระทั่งในปี ค.ศ. 2020 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปถึงกับออกโรงประณามระบบการจำคุกของฝรั่งเศส เนื่องจากความแออัดของ 'โครงสร้าง' โดยสั่งให้จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ต้องขัง 32 คน เป็นเงินสูงถึง 25,000 ยูโร (27,500 ดอลลาร์) สำหรับ 'การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง'

ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสตอบรับด้วยการให้คำมั่นว่าจะเพิ่มเตียงในเรือนจำอีก 15,000 เตียงภายในปี ค.ศ. 2027 แต่ศาลก็ประณามอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ แล้วหลายสัปดาห์ต่อมา รัฐสภาฝรั่งเศสได้ออกรายงานที่เน้นถึง 'ความจำเป็นเร่งด่วน' สำหรับกลไกการควบคุมของเรือนจำ

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงหลังเหตุจลาจลรุนแรงปกคลุมประเทศเมื่อเดือนก่อน หลังตำรวจยิงวัยรุ่นเชื้อสายแอฟริกันเหนือระหว่างการประท้วงจนเกิดการปืดการจราจรในเมืองนองแตร์ รายงานระบุว่าข้อเรียกร้องของรัฐบาลสำหรับการตอบสนองที่ ‘มั่นคง’ ‘รวดเร็ว’ และ ‘เป็นระบบ’ ทำให้ผู้ประท้วงกว่า 742 คน ถูกตัดสินจำคุก และอีก 600 คน ถูกคุมขัง

เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 45,000 นาย ถูกส่งไปปราบความไม่สงบ ซึ่งสร้างความเสียหายมูลค่า 650 ล้านยูโร (721 ล้านดอลลาร์) ตามรายงานของสมาคมประกันภัย France Assureurs ความไม่สงบดังกล่าวส่งผลให้มีพลเมืองฝรั่งเศสกว่า 4,000 คน ถูกควบคุมตัว โดยที่มี 1,200 คน เป็นผู้เยาว์

กลุ่มผู้สนับสนุนนักโทษ Observatoire International des Prisons เตือนว่าความแออัดยัดเยียดอาจเลวร้ายลง เนื่องจากทางการได้เพิ่มนโยบาย ‘อาชญากรรมเป็นศูนย์’ เพื่อเตรียมการสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 2024 ที่กรุงปารีส

ปีที่แล้ว กลุ่มเรียกร้องให้ลดโทษความผิดทางอาญาบางประเภท ซึ่งรวมถึงการขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตและการใช้สารเสพติด ตลอดจนลดการใช้การควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี และคิดค้นทางเลือกอื่นแทนการจำคุกสำหรับอาชญากรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ โดยยืนยันว่าเพียง การสร้างเตียงในคุกให้มากขึ้นนั้น มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยกำหนดให้ ‘การล่วงละเมิดทางไซเบอร์’ เป็นความผิดทางอาญา และแม้แต่การกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็กลายเป็นโทษทางอาญาเช่นกัน 

'รัฐบาลทหารไนเจอร์' ดับเครื่องชนฝรั่งเศส ระงับการส่งออก 'แร่ยูเรเนียม-ทองคำ' แล้ว

(2 ส.ค. 66) กลายเป็นความสัมพันธ์ที่หวานอม ขมกลืนกันไปเสียแล้วระหว่างฝรั่งเศส และ ไนเจอร์ ประเทศที่เคยอยู่ใต้อาณานิคม และเป็นพันธมิตรมาอย่างยาวนาน มาวันนี้ ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นเหมือนเซ็นใบหย่าเสียแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารล้มผู้นำไนเจอร์คนล่าสุด โมฮัมเหม็ด บาซูม โดยคณะปฏิวัติจากสภาพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา

สร้างความยุ่งยากใจให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสไม่น้อย เพราะ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เคยฝากความหวังไว้อย่างมากกับ โมฮัมเหม็ด บาซูม ผู้นำไนเจอร์ ว่าจะเป็นเสาหลักให้กับฝรั่งเศสในแอฟริกา หลังจากที่ฝรั่งเศสเสียมาลีไปแล้วจากการรัฐประหารโค่นล้ม รัฐบาลของ อิบราฮิม บูบาการ์ คีตา อดีตผู้นำมาลีศิษย์เก่าฝรั่งเศสในปี 2020

ตามมาด้วยการรัฐประหารที่บูร์กีนา ฟาโซ ที่ได้ยกเลิกข้อตกลงด้านการทหารกับฝรั่งเศสไปแล้วเมื่อต้นปี 2023 โดยกล่าวว่า กองทัพของบูร์กินา ฟาโซ สามารถป้องกันตนเองจากผู้ก่อการร้ายในประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากองทัพฝรั่งเศสอีกต่อไป

ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องสั่งให้ถอนฐานทัพของตนจากทั้งมาลี และ บูร์กินา ฟาโซ ไปปักหลักใหม่ที่ไนเจอร์ แต่ยังไม่ทันได้ข้ามปี ไนเจอร์ก็หนีไม่พ้นคลื่นกระแสรัฐประหารในภูมิภาคซาเฮลจนได้

และเมื่อไนเจอร์ กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ขัดกับหลักการของฝรั่งเศส จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่ทางฝรั่งเศสต้องแสดงจุดยืนด้วยการประกาศตัดความช่วยเหลือด้านการเงิน และ การทหารที่เคยให้แก่ไนเจอร์ทั้งหมด มีผลทันทีตั้งแต่ประกาศ จนกว่าอดีตผู้นำ โมฮัมเหม็ด บาซูม ที่ตอนนี้ถูกฝ่ายกองทัพคุมตัว จะกลับคืนสู่ตำแหน่งตามเดิม

แต่วันนี้ รัฐบาลทหารของไนเจอร์ก็ประกาศดับเครื่องชนกับฝรั่งเศสเหมือนกัน ด้วยการสั่งระงับการส่งออกแร่ยูเรเนี่ยม และ ทองคำไปยังฝรั่งเศสทันที อย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมาก ไปรวมตัวประท้วงกันที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงนีอาเม เพื่อขับไล่กองกำลังฝรั่งเศสออกจากประเทศและที่น่าสังเกตคือ มีหลายคนโบกธงชาติรัสเซียเย้ยออกสื่อเสียด้วย

ไนเจอร์เป็นหนึ่งในผู้ผลิต และ ส่งออกแร่ยูเรเนียมมากเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยเฉพาะส่งออกไปยังฝรั่งเศส ที่ใช้แร่ยูเรเนียมที่มาจากไนเจอร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนถึง 17%

ซึ่งกิจการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ของไนเจอร์ตั้งอยู่ที่เมืองอาร์ลิท ที่ห่างจากกรุงนีอาเม ประมาณ 1,100 กิโลเมตร โดยบริษัท SOMAÏR แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกิจการของรัฐ แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดคือ AREVA บริษัทด้านธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ถือหุ้นอยู่ถึง 63.4% ส่วนที่เหลือเพียง 36.6% เป็นของรัฐบาลไนเจอร์

ทั้งทองคำ และ ยูเรเนียม เป็นหนึ่งสินค้าส่งออกที่เป็นรายได้หลักของไนเจอร์ทีเดียว โดยกว่า 50% ของแร่ยูเรเนียมที่ผลิตได้ถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าของฝรั่งเศส ส่วนอีก 25% ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรป

แต่ถึงแม้ว่า ไนเจอร์จะตัดการส่งออกยูเรเนียมไปฝรั่งเศส ก็อาจจะยังไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการผลิตพลังงานในฝรั่งเศสมากมายนักในตอนนี้ เพราะโดยปกติทางฝรั่งเศสจะมีสต็อกแร่สำรองตุนไว้เสมอ เผื่อเกิดกรณีที่ไม่คาดฝันอย่าง ภัยธรรมชาติ หรือเหตุผลด้านการเมืองที่ควบคุมไม่ได้อย่างในครั้งนี้ 

ดังนั้น ฝ่ายที่เจ็บก่อนคือ ไนเจอร์ ที่ต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกทั้งยูเรเนียม และ ทองคำ นับพันล้านเหรียญในแต่ละปี และทำให้ไนเจอร์ต้องหาตลาดใหม่มาทดแทน ที่คาดการณ์ว่าคงหนีไม่พ้นจีนอีกเช่นกัน

แต่การเจ็บคราวนี้ของไนเจอร์ ก็อาจเป็นการเจ็บแล้วจบก็ได้ ที่ตอนนี้รัฐบาลไนเจอร์จะได้โอกาสจัดการสัดส่วนการถือครองหุ้นส่วนในธุรกิจทรัพยากรของประเทศใหม่ ให้ยุติธรรมและเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

และหากไนเจอร์สามารถประคองตัวได้นานพอ ผล กระทบย่อมสะท้อนกลับมายังฝรั่งเศสเมื่อต้องเริ่มมองหาแหล่งที่ซื้อแร่ และ ทองคำใหม่ ถึงจะหามาทดแทนได้ไม่ยาก แต่มันจะไม่ใช่ราคาราคาที่เคยได้จากไนเจอร์แน่นอน และจะส่งผลต่อราคาแร่ยูเรเนียมในตลาดโลก รวมถึงค่าใช้จ่ายพลังงานในฝรั่งเศสอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

และสิ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสเจ็บยิ่งกว่า คือการสูญเสียอิทธิพลที่เคยมีในย่านแอฟริกา ที่ไม่รู้ว่ามหาอำนาจเมืองน้ำหอมจะมีโอกาสได้แก้ตัวอีกไหมในดินแดนกาฬทวีปแห่งนี้ 

จนท.อพยพประชาชน-นักท่องเที่ยวลงจากหอไอเฟล หลังเจอขู่วางระเบิด ก่อนพบว่าเป็นการเตือนภัยผิดพลาด

(13 ส.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์และซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มีการอพยพประชาชนลงจากหอไอเฟลและบริเวณใกล้เคียง ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม เป็นเวลานานหลายชั่วโมงหลังมีการขู่วางระเบิด อย่างไรก็ดี ล่าสุด หอไอเฟลได้เปิดให้นักท่องเที่ยวกลับขึ้นไปบนอาคารได้อีกครั้ง

สถานีโทรทัศน์บีเอฟเอ็มทีวีของฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้อพยพนักท่องเที่ยวที่อยู่บนหอไอเฟลทั้ง 3 ชั้นลงมาจากตัวอาคาร รวมถึงอพยพผู้คนที่อยู่บริเวณลานใกล้กับตัวหอไอเฟล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งตั้งแนวกั้นรักษาความปลอดภัย เปลี่ยนเส้นทางการสัญจรบนท้องถนนโดยรอบ และมีการส่งทีมเก็บกู้ระเบิดมาตรวจสอบในที่เกิดเหตุ

โฆษกของเอสอีทีอี บริษัทผู้ให้บริการหอไอเฟลกล่าวว่า “นี่เป็นมาตรการตามปกติในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง” อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง แหล่งข่าวจากทางตำรวจฝรั่งเศสเผยว่า นักท่องเที่ยวสามารถกลับขึ้นไปบนหอไอเฟลอีกครั้ง เนื่องจากการขู่วางระเบิดดังกล่าวเป็นเพียงการเตือนภัยผิดพลาด

หอไอเฟลถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส มีนักท่องเที่ยวเกือบ 7 ล้านคนเดินทางไปชมหอไอเฟลทุกปี ทั้งนี้ การอพยพนักท่องเที่ยวลงจากหอไอเฟลเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยในปี 2019 เจ้าหน้าที่ต้องอพยพประชาชนลงจากหอไอเฟล หลังพบเห็นชายคนหนึ่งกำลังปีนขึ้นไปบนหอไอเฟล

‘ฝรั่งเศส’ จ่อแบนชุด ‘อาบายะห์’ ของชาวมุสลิมในโรงเรียนรัฐฯ อ้าง!! ลดการบ่งบอกศาสนาที่นับถือ ผ่านการแต่งกาย-สัญลักษณ์

(29 ส.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส ออกประกาศว่า เด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่ง จะถูกห้ามไม่ให้ใส่ชุดคลุมยาวอาบายะห์ มาตรการนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีในภาคการศึกษาใหม่ โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 4 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยรัฐบาลจะประกาศแนวทางปฏิบัติในระดับประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสมีข้อบังคับเข้มงวด และห้ามไม่ให้มีการสวมใส่เครื่องแต่งกาย หรือแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเชื่อทางศาสนาอย่างชัดเจนในโรงเรียนรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานราชการ มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักปรัชญาโลกิยนิยม และไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งข้อบังคับนี้ครอบคลุมไปถึงไม้กางเขนของศาสนาคริสต์ด้วย

‘กาเบรียล อัตตัล’ (Gabriel Attal) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์กับ TF1 TV ว่า “เมื่อคุณเดินเข้ามาในห้องเรียน คุณไม่ควรจะรู้ศาสนาที่นักเรียนคนนั้น ๆ นับถือได้ทันทีจากการแค่มองดู ผมจึงตัดสินใจว่าไม่ควรให้สวมชุดคลุมอาบายะห์ในโรงเรียนอีกต่อไป”

ด้าน CFCM องค์กรที่เป็นตัวแทนชาวมุสลิม ระบุว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพียงอย่างเดียว ไม่ถือเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา

‘เติ้ล วรพรต’ นักบิดดาวรุ่งจาก 'ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม' บิดเปิดตัวครั้งแรกคว้าท็อป 7 'ศึกดาวรุ่งชิงแชมป์ยุโรป' ที่ฝรั่งเศส

(10 ก.ย. 66) ‘เติ้ล’ วรพรต ทองดอนเหมือน ยอดนักบิดดาวรุ่งชาวไทยจาก ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม สร้างผลงานกระหึ่มเวทีดาวรุ่งยุโรป เปิดตัวครั้งแรกบิดคว้าท็อป 7 ในศึก Yamaha R3 bLU cRU European Championship 2023 ขณะ ‘ไอเดีย’ กฤตภัทร เขื่อนคำ โชคร้ายพลาดล้มในการแข่งขันสนามสุดท้ายเมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายนผ่านมา ที่ประเทศฝรั่งเศส

การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบดาวรุ่งชิงแชมป์ยุโรป รายการ Yamaha R3 bLU cRU European Championship 2023 สนามสุดท้าย ดวลความเร็ว 2 เรซเมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ที่ เซอร์กิต แม็กนีย์-คูร์ส ประเทศฝรั่งเศส

เกม 2 เรซสุดท้ายมีความหมายอย่างมากต่อการไล่ล่าอันดับบนตารางแชมเปียนชิพของดาวรุ่งชาวไทยอย่าง ‘ไอเดีย’ กฤตภัทร เขื่อนคำ เจ้าของหมายเลข 32 นอกจากนี้ ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม ยังมอบโอกาสทองเพื่อสัมผัสการแข่งขันระดับโลกให้กับ 2 ดาวรุ่งอย่าง ‘แฟรงค์’ ภาสกร แสนหลวง หมายเลข 53 และ ‘เติ้ล’ วรพรต ทองดอนเหมือน หมายเลข 54

เรซแรกของสุดสัปดาห์นี้ เกิดจุดเปลี่ยนตั้งแต่รอบแรกของการแข่งขัน เมื่อ ‘ไอเดีย’ กฤตภัทร ซึ่งออกตัวจากกริดที่ 4 พลาดล้มไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บแต้มสำคัญและพลาดลงแข่งในเรซที่ 2 ด้วย

ขณะที่ ‘เติ้ล’ วรพรต สตาร์ตจากกริดที่ 14 ไล่บดกับยอดดาวรุ่งจากทั่วโลกอย่างไม่เกรงกลัว บิดเข้าป้ายในอันดับ 11 ตามหลังผู้ชนะเพียง 2.559 วินาทีเท่านั้น ประเดิมเก็บแต้มได้สำเร็จ ส่วนทีมเมทอย่าง ‘แฟรงค์’ ภาสกร เข้าเส้นชัยในอันดับ 19 ตามหลัง 18.048 วินาที

ส่วนเกมเรซที่ 2 นับเป็นเรซที่ดาวรุ่งชาวไทยอย่าง ‘เติ้ล’ วรพรต เฉิดฉายอย่างมาก ไล่บี้กับกลุ่มหน้าอย่างสุดมัน ก่อนคว้าอันดับ 7 มาครองด้วยเวลาตามหลัง อัลดี้ มาเฮนดร้า นักบิดอินโดนีเซียเพียง 1.185 วินาทีเท่านั้น ขณะที่ ‘แฟรงค์’ ภาสกร ขยับขึ้นมาคว้าแต้มได้สำเร็จ หลังบิดเข้าป้ายในอันดับ 15 ตามหลังผู้ชนะ 22.691 วินาที

โดยหลังจบฤดูกาล 2023 ‘ไอเดีย’ กฤตภัทร สร้างผลงานยอดเยี่ยมบิดคว้าโพเดียมมา 3 ครั้งในปีนี้ รั้งอันดับ 6 บนตารางแชมเปียนชิพมีทั้งสิ้น 119 คะแนน ส่วนทีมเมทอย่าง ‘เอิร์ธ’ ธุรกิจ บัวผา ที่ไม่ได้ลงแข่งสนามสุดท้ายจากอาการบาดเจ็บ รั้งอันดับ 19 มีทั้งสิ้น 57 คะแนน ในปีแรกที่เข้าร่วมแข่งขันรายการนี้

การแจ้งเกิดครั้งนี้ของ ‘เติ้ล’ วรพรต ทองดอนเหมือน และ ‘แฟรงค์’ ภาสกร แสนหลวง นับเป็นสัญญาณที่ยอดเยี่ยมของ ‘ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม’ ที่สามารถผลักดันนักแข่งดาวรุ่งชาวไทยขึ้นสู่เวทีระดับโลกอย่างแข็งแกร่ง

‘ฝรั่งเศส’ สั่ง ระงับขาย ‘iPhone 12’ หลังพบแผ่รังสีเกินมาตรฐาน ยัน หาก Apple ไม่รีบแก้ไข จะสั่งเรียกคืนสินค้าที่ขายออกไปทั้งหมด

(13 ก.ย. 66) นายฌ็อง-โนเอล บาร์โร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เลอปารีเซียง ซึ่งมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อวันอังคาร (12 ก.ย.) ว่า แอปเปิลต้องยุติการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น ‘iPhone 12’ ในฝรั่งเศส เนื่องจากมีการแผ่รังสีสูงเกินมาตรฐาน

นายบาร์โรระบุว่า ANFR ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านรังสีของฝรั่งเศส ได้แจ้งการตัดสินใจเรื่องระงับการจำหน่าย ‘iPhone 12’ ในฝรั่งเศสกับแอปเปิลแล้ว หลังผลการทดสอบระบุว่า อัตราการดูดกลืนพลังงานจำเพาะ (SAR) ของ iPhone 12 สูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดเอาไว้เล็กน้อย

นายบาร์โรระบุว่า การปรับปรุงซอฟต์แวร์เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องรังสีดังกล่าว โดยแอปเปิลวางจำหน่าย iPhone 12 ตั้งแต่ปี 2563

“แอปเปิลน่าจะตอบสนองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากแอปเปิลไม่ทำเช่นนั้น ผมจะสั่งให้เรียกคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ iPhone 12 ทั้งหมด ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเท่าเทียมกัน รวมถึง บริษัทดิจิทัลรายใหญ่” นายบาร์โร กล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สหภาพยุโรป (อียู) กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับ SAR ของโทรศัพท์เคลื่อนที่เอาไว้ ซึ่งการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า รังสีดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการก่อให้เกิดมะเร็ง

นายบาร์โรกล่าวด้วยว่า ANFR จะส่งผลการทดสอบรังสีให้หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบประเทศอื่น ๆ ในอียูและว่า “การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลกระทบแบบทวีคูณ”

อย่างไรก็ตาม แอปเปิลยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสบังคับสยาม ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แลกกับเมืองจันทบุรี ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112

วันนี้ เมื่อ 130 ปีก่อน ฝรั่งเศสบังคับสยาม สละพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นับเป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 2 

‘การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา’ จุดเริ่มต้นของ ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112’ หรือ ‘กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112’ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อกองทัพฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือแองกองสตองต์ และ เรือโกแมต์ โดยมีเรือสินค้า ‘เจ. เบ. เซย์’ เป็นเรือนำร่อง รุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา 

โดยหมู่ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและหมู่เรือรบซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทยได้ยิงสกัดถูกเรือสินค้าเสียหาย เรือรบของฝรั่งเศสจึงยิงตอบโต้ โดนเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย และทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 40 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บอีก 3 นาย จากนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองก็แล่นฝ่าเข้ามาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง 

โดยผลจากการปะทะกันครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้บังคับให้สยามลงนามใน ‘สนธิสัญญาสันติภาพ’ ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นการทำสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

โดยสาระสำคัญเป็นข้อกำหนดที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นเอง เช่น ให้สยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิ์อยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น ห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ รวมทั้งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร 

โดยให้บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรี ขออารักขาเมืองจันทบุรี ให้ลงโทษบุคคลที่เป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียชีวิตของทหารฝรั่งเศสในคำม่วนโดยมีคนของฝรั่งเศสเข้าร่วมพิจารณาตัดสินด้วย และที่สำคัญในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ให้ใช้ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น

นอกจากนี้สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้สยามชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1,560,000 บาท ในสมัยนั้น บังคับให้รัฐบาลสยามยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดถึงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งหมด เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร และฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่า 10 ปี (ระหว่างปี 2436-2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ ผลจากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสครั้งนี้ทำให้สยามต้อง เสียดินแดนเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งนับเป็นการเสียเนื้อที่ครั้งใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ กรณีพิพาทดังกล่าว ได้กลายเป็นชนวนสงครามความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งบนคาบสมุทรอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียยบูรพาอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top