Thursday, 2 May 2024
ฝรั่งเศส

‘มาครง’ ไม่ขัด!! บรรดาชาติตะวันตกส่งทหารไปยูเครน ฟากประเทศที่ 3 พร้อมหนุน ‘เงินทุน-อาวุธ’ บู๊หมีต่อ

ไม่นานมานี้ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แถลงหลังเสร็จสิ้นการหารือของผู้นำยุโรป 20 ประเทศว่าด้วยยูเครน ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส โดยสาระสำคัญอยู่ที่ ‘ฝรั่งเศส’ ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ว่า ประเทศตะวันตกอาจส่งทหารไปยูเครน แต่เขาจะยังคงใช้ ‘ยุทธศาสตร์ความคลุมเครือ’ ในประเด็นนี้ต่อไป

มาครงกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม 20 ผู้นำยุโรปครั้งนี้ ยังเห็นพ้องที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศต่าง ๆ ที่ช่วยรัสเซียให้เลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ใช้อยู่

มาครง ยังกล่าวสนับสนุนโครงการจัดซื้อกระสุนหลายแสนนัดจากประเทศที่ 3 ให้แก่ยูเครน ซึ่งริเริ่มโดยสาธารณรัฐเช็ก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มาครง เคยแสดงท่าทีคัดค้านการจัดซื้อกระสุนให้ยูเครน จากประเทศที่ 3 ที่ไม่ใช่ยุโรป เพราะหวังว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมอาวุธของยุโรปก่อน

ด้าน นายกรัฐมนตรี มาร์ค รุทเทอ ของเนเธอร์แลนด์ เต็งหนึ่งที่อาจได้ขึ้นเป็นเลขาธิการนาโตคนใหม่ เปิดเผยหลังเข้าร่วมประชุมที่ปารีสดังกล่าวว่า เนเธอร์แลนด์จะให้เงิน 100 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยราว 4,000 ล้านบาท ช่วยในโครงการจัดซื้อกระสุนให้ยูเครนที่ริเริ่มโดยสาธารณรัฐเช็ก โดยจัดซื้อจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

สำหรับปัญหาขาดแคลนกระสุนกำลังเป็นปัญหาวิกฤตของยูเครน หลังยุโรปกำลังจะล้มเหลวในเป้าหมายส่งกระสุนปืนใหญ่ 1 ล้านนัดให้แก่ยูเครนภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่งผลให้ยูเครนกำลังเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิภาคตะวันออกของประเทศ เหล่านายพลของยูเครนที่กำลังทำศึกกับรัสเซีย ต่างบ่นถึงปัญหาขาดแคลนทั้งอาวุธและทหาร

‘สภาฝรั่งเศส’ รับรองสิทธิ ‘การทำแท้ง’ ในรัฐธรรมนูญ หลังออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง เมื่อกว่า 50 ปีก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ ‘การทำแท้ง’ เป็นเสรีภาพของพลเมืองภายใต้กฎหมายสูงสุด ถือเป็นชาติแรกของโลก

ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่บัญญัติเสรีภาพการทำแท้งไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นหมายความว่า สิ่งอื่นใดจะมาล้มล้างเสรีภาพนี้ไม่ได้

โดยหลักการทางกฎหมาย เสรีภาพคือภาวะโดยอิสระของมนุษย์ แม้จะไม่มีกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองไว้ บุคคลก็ยังคงมีเสรีภาพนั้น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องนับถือศาสนาใด และทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกศาสนาที่จะนับถือ

ในทำนองเดียวกัน เสรีภาพในการทำแท้งนี้ก็หมายความว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการตัดสินใจทำแท้ง โดยที่ใครก็มาละเมิดความคิดหรือบังคับไม่ให้ทำไม่ได้

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส จะต้องมีเสียงข้างมาก 3 ใน 5 ซึ่งในการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทำแท้งให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากสภาสูงและสภาล่างของรัฐสภาฝรั่งเศส ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ถึง 780 ต่อ 72 เสียง

การลงคะแนนเสียงล่าสุดถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการนิติบัญญัติ หลังก่อนหน้านี้วุฒิสภาฝรั่งเศสและรัฐสภาต่างเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างท่วมท้นเมื่อต้นปีนี้

การแก้ไขระบุว่า เพื่อให้ “การทำแท้งเป็นเสรีภาพที่พลเมืองในฝรั่งเศสจะได้รับอย่างแน่นอน” แต่ผู้ร่างกฎหมายบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการเรียกการทำแท้งอย่างชัดเจนว่าเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช่แค่เสรีภาพ

ฝ่ายนิติบัญญัติยกย่องความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นหนทางสร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศสในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของการสนับสนุนสิทธิการเจริญพันธุ์ ขณะที่อิสระในการทำแท้งกำลังถูกคุกคามในสหรัฐฯ และบางส่วนของยุโรป เช่น ฮังการี

หลังจากการโหวต หอไอเฟลก็สว่างไสวด้วยคำว่า ‘ร่างกายของฉัน ทางเลือกของฉัน’

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กาเบรียล แอตทาล กล่าวก่อนการลงคะแนนเสียงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเป็น ‘หนี้’ ผู้หญิงทุกคนที่ในอดีตเคยถูกบังคับให้ทนทำแท้งผิดกฎหมาย และบอกว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เรากำลังส่งข้อความถึงผู้หญิงทุกคน ร่างกายของคุณเป็นของคุณเอง”

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิสตรีสากล

ฝรั่งเศสออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งเป็นครั้งแรกในปี 1975 หลังจากการรณรงค์ที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซิโมน เวล

ในฝรั่งเศส การทำแท้งเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่เพราะพวกเขารู้สึกว่ามาตรการนี้ไม่จำเป็น โดยสิทธิการเจริญพันธุ์ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 25 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 1958

คริสตจักรคาทอลิกเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ประกาศต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดย Pontifical Academy for Life ซึ่งเป็นหน่วยงานของวาติกันซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรม กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในยุคของสิทธิมนุษยชนสากล เราไม่มี ‘สิทธิ’ ที่จะปลิดชีวิตมนุษย์”

‘ฝรั่งเศส’ เสนอร่าง กม.ห้ามคนวิจารณ์ ‘วัคซีนโควิด mRNA’ เพราะจะกลายเป็นความผิดทางอาญา มีโทษทั้งจำ-ปรับ

เมื่อไม่นานมานี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ในฝรั่งเศสที่อาจทำให้การวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA กลายเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงิน 45,000 ยูโร สถานการณ์นี้เป็นบททดสอบสมดุลระหว่างเรื่องสาธารณสุขและเสรีภาพการแสดงออก โหมกระพือประเด็นถกเถียงทั่วโลกเกี่ยวกับค่านิยมประชาธิปไตยและอำนาจของรัฐบาลในยุคศตวรรษที่ 21

โดยข้อเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้ กระพือเสียงอึกทึกครึกโครมบนท้องถนนของฝรั่งเศส ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลในหมู่พลเมือง โดยเวลานี้บรรดาสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างดังกล่าว ที่อาจเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านสาธารณสุขในประเทศแห่งอย่างรุนแรง

รายงานข่าวระบุว่า ข้อเสนอร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายทำให้การวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA เป็นความผิดทางอาญา ความเคลื่อนไหวที่มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงินอย่างหนักหน่วง 45,000 ยูโร (ประมาณ 1,750,000 บาท) อย่างไรก็ตาม แก่นกลางในประเด็นนี้ไม่ใช่แค่การคลอดกฎหมายฉบับหนึ่ง แต่มันเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการทดสอบสมดุลระหว่างการปกป้องระบบสาธารณสุขกับการธำรงไว้ซึ่งข้อเท็จจริงตามระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

ปมคำสัญญาของประเด็นโต้เถียงนี้ก็คือท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว พวกผู้เสนออ้างว่ายามที่กำลังเผชิญโรคระบาดใหญ่ระดับโลก ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับวัคซีนอาจเป็นอันตราย และเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่ความลังเลใจของประชาชนในการเข้ารับวัคซีน และบ่อนทำลายความพยายามสกัดการแพร่ระบาดของไว้รัส พวกเขามองว่ากฎหมายเช่นนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องความผาสุกโดยรวม

อย่างไรก็ตาม พวกวิพากษ์วิจารณ์มองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการบุกรุกเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างน่าเป็นกังวล พวกเขาเกรงว่าการลงโทษพวกที่วิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA อาจกลายเป็นแบบอย่างของการกัดเซาะเสรีภาพการแสดงออก ต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นแบ่งใดๆ ในอนาคตเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุขกับเสรีภาพการแสดงออก

ฝรั่งเศสไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังหาทางจัดการเกี่ยวกับสมดุลระหว่างความจำเป็นด้านสาธารณสุขกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยหลายชาติทั่วโลกได้บังคับใช้มาตรการต่างๆ ในการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่ บางส่วนเลือกใช้ยุทธการมอบการศึกษาแก่ประชาชน ขณะที่อื่นๆ ใช้มาตรการทางกฎหมายอันเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะว่าพวกเขาเล็งเป้าเล่นงานพวกวิพากษ์วิจารณ์วัคซีน mRNA โดยเฉพาะ และกำหนดบทลงโทษรุนแรง

ท่ามกลางการถกเถียงทั้งในแง่ของกฎหมายและในทางการเมือง ผู้คนชาวฝรั่งเศสมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างผสมผสานและมีหลายมุมมอง ไล่ตั้งแต่สนับสนุนรัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดกับการบิดเบือนข้อมูล ไปจนถึงแสดงความกังวลใหญ่หลวงต่อผลกระทบที่น่าตกใจต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

'ธนาธร' ซื้อบ้าน 'นายปรีดี พนมยงค์' ที่เคยใช้อาศัยขณะลี้ภัยฝรั่งเศส หวังให้ผู้คนได้ 'จดจำ-รำลึก' ประวัติศาสตร์การปกครอง 24 มิ.ย. 2475

เมื่อวานนี้ (1 เม.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดเผยในรายการNEWSROOM ทางยูทูบ Thairath Online Originals เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 เมษายน 2567 ระบุว่าตนและภรรยาได้ซื้อบ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ฝรั่งเศส เรียบร้อยแล้ว

“เราอยากให้คนรำลึก อยากให้คนจำประวัติศาสตร์ 2475 เวลาเราไปอเมริกาคนจะเชิดชู 4th of July Independence Day ส่วนฝรั่งเศสเชิดชู คุกบัสตีย์ (Bastille Day) วันที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ที่เชิดชูสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพของประชาชน แต่วันที่ 24 มิถุนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นวันชาติที่ถูกหลงลืมไป ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ 24 มิถุนา ก็หายไป เราต้องบอกว่า เราต้องต่อสู้กับเรื่องพวกนี้ เพื่อให้คนตระหนัก ให้คนระลึกถึงความสำคัญของคนที่ต่อสู้ผลักดันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนไทยมาก่อนหน้าเรา”

“เมื่อปีที่แล้ว ทางชาวเวียดนามเจ้าของบ้าน มีความประสงค์อยากจะขาย เพราะคุณยายที่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มานานได้เสียชีวิต เราเลยคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะเก็บบ้านนี้ไว้ เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อจะให้มีการพูดถึงอาจารย์ปรีดี ที่ต่อสู้ทางการเมืองจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วก็เสียชีวิตในบ้านหลังนี้”

หลังจากนั้น นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ (x) ระบุว่า นายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ ได้ซื้อบ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 โดยระบุข้อความดังนี้
ธนาธร ได้ซื้อบ้านหลังที่ อ.ปรีดี พนมยงค์ เคยไปอาศัยลี้ภัยและเสียชีวิตที่นั่น ตั้งอยู่ที่เมืองอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ไว้เรียบร้อยแล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนได้จดจำรำลึกถึงประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญจัดเป็นวันชาติไทย

แต่ในปัจจุบันนี้ ปวศ.ที่เกี่ยวข้องกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ได้มีความพยายามถูกทำให้ลบเลือนและสูญหายไป

โดยจะมีการจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส

'พลโทนันทเดช' หยัน!! ซื้อบ้านเก่าของปรีดีที่ฝรั่งเศส แค่ละครฉากหนึ่ง ชี้!! เป็นการลงทุนแค่สลึงเดียว แต่คิดจะเอากลับคืนมาเป็นล้าน

(19 เม.ย. 67) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า...

บ้านเก่าของอาจารย์ปรีดี ที่ฝรั่งเศส หรือจะเป็นร้านกาแฟอีกร้านหนึ่งแค่นั้น

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เท่ากับเป็นการมองย้อนหลังไปหารากเหง้าของตัวเอง เพราะประวัติศาสตร์ คือ ต้นธารของสังคม และชีวิตผู้คนไม่ว่าจะเป็นไพร่ ผู้ดี หรือชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปฎิวัติ 24 มิถุนา 2475 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เขียนถึงกันมากมายหลายแง่มุม หลายทัศนะ แล้วแต่ความใกล้ชิดกับผู้คนในประวัติศาสตร์ หรือความเชื่อที่ได้รับมา หรือผลประโยชน์ที่ผูกพันกับตัวเอง จนกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเป็นกลางได้จริงในเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 แค่ดูหนังสือที่ขายในท้องตลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า มีแต่ผู้เขียนที่แข่งขันกันชื่นชมต่อคณะราษฎรเกือบ 80%

ดังนั้นเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 จึงถูกนำมาผลิตเป็นหนังสือ ขายแล้วขายเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น โดยไม่มีใครสนใจว่าข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร แค่ขอให้ตัวเองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชื่อ คณะราษฎร เท่านั้นก็พอ 

การซื้อบ้านเก่าของอาจารย์ ปรีดี ที่ฝรั่งเศส ก็คล้ายคลึงกัน มันเป็นแค่ละครฉากหนึ่งของพรรคการเมือง พรรคหนึ่ง ที่พิมพ์หนังสือออกมาขายเด็ก แล้วไม่มีคนอ่าน จึงลงทุนซื้อบ้านของ อาจารย์ปรีดี ซึ่งอุปมาเหมือนเป็นการลงทุนแค่สลึงเดียว แต่จะเอากลับคืนมาเป็นล้าน ยิ่งกว่าซื้อทองเก็งกำไร เห็นแล้วก็น่าสงสาร คณะราษฎร ที่วันเวลาผ่านมากว่า 90 ปีแล้ว ก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลเพียงบางกลุ่ม ..ก็แค่นั้นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top