'รัฐบาลทหารไนเจอร์' ดับเครื่องชนฝรั่งเศส ระงับการส่งออก 'แร่ยูเรเนียม-ทองคำ' แล้ว

(2 ส.ค. 66) กลายเป็นความสัมพันธ์ที่หวานอม ขมกลืนกันไปเสียแล้วระหว่างฝรั่งเศส และ ไนเจอร์ ประเทศที่เคยอยู่ใต้อาณานิคม และเป็นพันธมิตรมาอย่างยาวนาน มาวันนี้ ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นเหมือนเซ็นใบหย่าเสียแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารล้มผู้นำไนเจอร์คนล่าสุด โมฮัมเหม็ด บาซูม โดยคณะปฏิวัติจากสภาพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา

สร้างความยุ่งยากใจให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสไม่น้อย เพราะ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เคยฝากความหวังไว้อย่างมากกับ โมฮัมเหม็ด บาซูม ผู้นำไนเจอร์ ว่าจะเป็นเสาหลักให้กับฝรั่งเศสในแอฟริกา หลังจากที่ฝรั่งเศสเสียมาลีไปแล้วจากการรัฐประหารโค่นล้ม รัฐบาลของ อิบราฮิม บูบาการ์ คีตา อดีตผู้นำมาลีศิษย์เก่าฝรั่งเศสในปี 2020

ตามมาด้วยการรัฐประหารที่บูร์กีนา ฟาโซ ที่ได้ยกเลิกข้อตกลงด้านการทหารกับฝรั่งเศสไปแล้วเมื่อต้นปี 2023 โดยกล่าวว่า กองทัพของบูร์กินา ฟาโซ สามารถป้องกันตนเองจากผู้ก่อการร้ายในประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากองทัพฝรั่งเศสอีกต่อไป

ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องสั่งให้ถอนฐานทัพของตนจากทั้งมาลี และ บูร์กินา ฟาโซ ไปปักหลักใหม่ที่ไนเจอร์ แต่ยังไม่ทันได้ข้ามปี ไนเจอร์ก็หนีไม่พ้นคลื่นกระแสรัฐประหารในภูมิภาคซาเฮลจนได้

และเมื่อไนเจอร์ กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ขัดกับหลักการของฝรั่งเศส จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่ทางฝรั่งเศสต้องแสดงจุดยืนด้วยการประกาศตัดความช่วยเหลือด้านการเงิน และ การทหารที่เคยให้แก่ไนเจอร์ทั้งหมด มีผลทันทีตั้งแต่ประกาศ จนกว่าอดีตผู้นำ โมฮัมเหม็ด บาซูม ที่ตอนนี้ถูกฝ่ายกองทัพคุมตัว จะกลับคืนสู่ตำแหน่งตามเดิม

แต่วันนี้ รัฐบาลทหารของไนเจอร์ก็ประกาศดับเครื่องชนกับฝรั่งเศสเหมือนกัน ด้วยการสั่งระงับการส่งออกแร่ยูเรเนี่ยม และ ทองคำไปยังฝรั่งเศสทันที อย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมาก ไปรวมตัวประท้วงกันที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงนีอาเม เพื่อขับไล่กองกำลังฝรั่งเศสออกจากประเทศและที่น่าสังเกตคือ มีหลายคนโบกธงชาติรัสเซียเย้ยออกสื่อเสียด้วย

ไนเจอร์เป็นหนึ่งในผู้ผลิต และ ส่งออกแร่ยูเรเนียมมากเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยเฉพาะส่งออกไปยังฝรั่งเศส ที่ใช้แร่ยูเรเนียมที่มาจากไนเจอร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนถึง 17%

ซึ่งกิจการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ของไนเจอร์ตั้งอยู่ที่เมืองอาร์ลิท ที่ห่างจากกรุงนีอาเม ประมาณ 1,100 กิโลเมตร โดยบริษัท SOMAÏR แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกิจการของรัฐ แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดคือ AREVA บริษัทด้านธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ถือหุ้นอยู่ถึง 63.4% ส่วนที่เหลือเพียง 36.6% เป็นของรัฐบาลไนเจอร์

ทั้งทองคำ และ ยูเรเนียม เป็นหนึ่งสินค้าส่งออกที่เป็นรายได้หลักของไนเจอร์ทีเดียว โดยกว่า 50% ของแร่ยูเรเนียมที่ผลิตได้ถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าของฝรั่งเศส ส่วนอีก 25% ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรป

แต่ถึงแม้ว่า ไนเจอร์จะตัดการส่งออกยูเรเนียมไปฝรั่งเศส ก็อาจจะยังไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการผลิตพลังงานในฝรั่งเศสมากมายนักในตอนนี้ เพราะโดยปกติทางฝรั่งเศสจะมีสต็อกแร่สำรองตุนไว้เสมอ เผื่อเกิดกรณีที่ไม่คาดฝันอย่าง ภัยธรรมชาติ หรือเหตุผลด้านการเมืองที่ควบคุมไม่ได้อย่างในครั้งนี้ 

ดังนั้น ฝ่ายที่เจ็บก่อนคือ ไนเจอร์ ที่ต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกทั้งยูเรเนียม และ ทองคำ นับพันล้านเหรียญในแต่ละปี และทำให้ไนเจอร์ต้องหาตลาดใหม่มาทดแทน ที่คาดการณ์ว่าคงหนีไม่พ้นจีนอีกเช่นกัน

แต่การเจ็บคราวนี้ของไนเจอร์ ก็อาจเป็นการเจ็บแล้วจบก็ได้ ที่ตอนนี้รัฐบาลไนเจอร์จะได้โอกาสจัดการสัดส่วนการถือครองหุ้นส่วนในธุรกิจทรัพยากรของประเทศใหม่ ให้ยุติธรรมและเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

และหากไนเจอร์สามารถประคองตัวได้นานพอ ผล กระทบย่อมสะท้อนกลับมายังฝรั่งเศสเมื่อต้องเริ่มมองหาแหล่งที่ซื้อแร่ และ ทองคำใหม่ ถึงจะหามาทดแทนได้ไม่ยาก แต่มันจะไม่ใช่ราคาราคาที่เคยได้จากไนเจอร์แน่นอน และจะส่งผลต่อราคาแร่ยูเรเนียมในตลาดโลก รวมถึงค่าใช้จ่ายพลังงานในฝรั่งเศสอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

และสิ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสเจ็บยิ่งกว่า คือการสูญเสียอิทธิพลที่เคยมีในย่านแอฟริกา ที่ไม่รู้ว่ามหาอำนาจเมืองน้ำหอมจะมีโอกาสได้แก้ตัวอีกไหมในดินแดนกาฬทวีปแห่งนี้