วงจรหายนะของ ‘ฝรั่งเศส’ ที่ฉุด ‘เศรษฐกิจ’ ให้ถดถอย หลังตัวจุดชนวน ‘การประท้วง’ ปะทุบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ใช้ติ๊กต็อกบัญชี ‘@spacebarmediath’ ซึ่งเป็นช่องที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจ สำหรับ EP. นี้ จะเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศสที่กําลังเดินวนอยู่ในวงจรหายนะ ยิ่งวนอยู่ในวงจรนี้นานเท่าไร เศรษฐกิจก็ยิ่งถดถอย แล้ววงจรนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ‘คุณทราย-โศธิดา โชติวิจิตร’ พิธีกรดำเนินรายการ ได้ออกมาอธิบายเอาไว้ว่า…

“1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือ มูลค่าความเสียหายคร่าว ๆ เฉพาะภาคการท่องเที่ยวสําหรับการประท้วงฝรั่งเศสครั้งนี้ เพราะว่านักท่องเที่ยวต้อง ‘ยกเลิก’ ทริปการท่องเที่ยวทั้งหมด เพราะผู้ชุมนุมประท้วงได้ทุบทําลายและปล้นซูเปอร์มาร์เก็ตไปมากกว่า 250 แห่ง เผาธนาคารไป 250 แห่ง ทำลายร้านค้าเล็ก ๆ ไปอีก 250 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ที่ถูกเผาไปรวมกันมากกว่า 5,000 คัน จากความเสียหายเหล่านี้ ทำให้มีตัวเลขที่จะออกมา ‘กดดันเศรษฐกิจ’ คือ ‘ค่าเคลมประกัน’ ที่ตอนนี้ยอดสูงถึง 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการเคลมประกันถึง 5,900 เคส 

จุดที่เป็นตัวกระตุ้นของการประท้วงครั้งนี้ เกิดจากที่ตํารวจไปยิงเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตก็จริง แต่ความอัดอั้นทุกข์ทนที่ทําให้คนออกมาเผาบ้านเมืองตัวเองได้ขนาดนี้ มันเกิดจาก ‘ความยากจน’ ต่างหาก ซึ่งในประเทศฝรั่งเศส เด็ก ๆ ไม่มีบ้านอยู่กันมีมากกว่า 3 หมื่นคน และอาศัยอยู่ในสลัมอีกมากกว่า 9 พันคน รวมถึงทุก ๆ ปี จะมีเด็กมากกว่า 140,000 คน ต้องออกจากโรงเรียนเพราะว่า ‘ไม่มีเงิน’ สําหรับอัตราความยากจนของประเทศฝรั่งเศสตอนนี้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากถึง 15.6% นอกจากนี้ ความรุนแรงที่ตำรวจใช้ในการขับไล่คนไร้บ้านก็ยังถูกพาดหัวข่าวให้เห็นกันอยู่เสมอ

สําหรับตอนนี้ PMI Service Sector ที่ได้แก่ การท่องเที่ยว การขายส่ง แฟชัน ตกลงจาก 52.5 มาอยู่ที่ 48 ซึ่งถือว่าเยอะมาก ตั้งแต่เปิดโควิดเป็นต้นมา และ Service Sector นับเป็นอัตราส่วน 80% ของเศรษฐกิจประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเกิดความเสียหายมากที่สุดในตอนที่มีคนมาชุมนุมประท้วง เพราะว่าคนไม่มาเที่ยว คนไม่ซื้อของหรู ไม่ซื้อหลุยส์ วิตตอง ไม่ไปดินเนอร์หรู ไม่ไปปาร์ตี้บนเรือยอร์ช หรือไม่เช่ารถลีมูซีน

ซึ่งการประท้วงในฝรั่งเศสดูจะบ่อยมากขึ้น เพราะนอกจากครั้งนี้ หากย้อนกลับไปครั้งล่าสุดก็ 3 เดือนที่แล้วนี้เอง และถ้าย้อนกลับไปแค่ประมาณปีกว่า ๆ ก็คือภายในปี 2022 ฝรั่งเศสประท้วงมาแล้ว 4 ครั้ง 

หากมองเป็นภาพวงจร ก็คือ คนจน > โกรธ > ประท้วง > เศรษฐกิจเสียหาย > เงินก็ยิ่งน้อย > คนก็จนลงไปอีก ทีนี้จึงเกิดความรู้สึกโกรธ และก็เกิดการประท้วงวนลูปอยู่อย่างนี้ต่อไป ยิ่งวนเศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัว 

ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสเองก็มีปัญหาใน ‘การใช้จ่าย’ คือ ใช้เงินเกินรายได้ และตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินรายได้ไปเยอะมากมาโดยตลอด ส่วนอัตราภาษีตอนนี้ก็อยู่ที่ 45% แล้ว ถ้าจะไปขูดรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษีประชาชน ก็คงดูจะทำได้ลําบากยิ่งขึ้น ทำให้ประธานาธิบดี ‘แอมานุแอล มาครง’ จึงต้องไปจีบทั้งจีนและบริดจ์ โดยที่ไม่สนใจการแตกแถวจากสหรัฐอเมริกา

แต่ประเทศฝรั่งเศสที่ปัจจุบันร่ำรวยเป็นอันดับ 7 ของโลกจะเดินออกมาจากวงจรแห่งความหายนะนี้ได้หรือไม่? เราก็คงทำได้แค่เอาใจช่วย