Monday, 7 July 2025
WORLD

เปิดแผน 'นกนางนวล' ภารกิจปราบ 'จีนเทา' เฟสแรกจับแก๊งคอลฯ เฟสสองมุ่งพนันออนไลน์

(21 ก.พ.68) การเข้ามามีบทบาทของหลิวจงอี้ในประเทศไทยทำให้หลายฝ่ายจับตาถึงภารกิจของเขาที่เดินทางเข้า-ออกไทยหลายรอบเพื่อเดินหน้าภารกิจในการปราบปรามจีนเทาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการ 'ปฏิบัติการนกนางนวล' (海鸥行动) ซึ่งชื่อปฏิบัติการนี้ได้รับการเปิดเผยในสื่อจีนเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา

จากรายงานข่าวของเว็บไซต์ Caixin และสำนักข่าว Xinhua พบว่ามีการกล่าวถึงปฏิบัติการนกนางนวล เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีจีนเป็นผู้นำการปฏิบัติการนี้

ปฏิบัติการนกนางนวลครั้งแรกช่วงปี 2024 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือบังคับใช้กฎหมายแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยมีคณะผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน กระทรวงความมั่นคงสาธารณะและกระทรวงกลาโหมลาว กระทรวงมหาดไทยเมียนมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย และกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนามเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติและองค์การตำรวจอาเซียนเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

จากรายงานข่าวระบุว่า 'ปฏิบัติการนกนางนวล (海鸥行动) ระยะที่ 1' จะเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยมีจีนเป็นผู้นำการปฏิบัติการนี้ที่เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2024 มีเป้าหมายหลักในการปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคมและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การลักลอบขนอาวุธปืนและกระสุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนความร่วมมือระยะห้าปีระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง (2023-2027)

ผลการดำเนินงานในระยะแรกของปฏิบัติการสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้มากกว่า 70,000 คน และช่วยเหลือเหยื่อจากคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมได้มากกว่า 160 ราย โดยทางจีนได้ส่งข้อมูลและความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการสืบสวนคดีฉ้อโกงและยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องสงสัยหลายพันหมายเลข

จีนให้ความสำคัญกับการปราบปรามการฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์และการพนันออนไลน์ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความปลอดภัยและชีวิตของพลเมืองของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา กรณีการฉ้อโกงนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงในระดับภูมิภาคและเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค

ในอนาคต ปฏิบัติการนกนางนวลระยะที่ 2 จะเริ่มขึ้นในปี 2025 โดยมุ่งเป้าไปที่การปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมเหล่านี้ โดยจะมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในระดับนานาชาติ

หลิวจงอี้เดินทางไปยังพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาบ่อยครั้ง โดยในฝั่งเมียนมาไม่เพียงเป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งธุรกิจของคาสิโนพนันออนไลน์ด้วย สะท้อนว่าจีนอาจเตรียมเปิดปฏิบัติการ 'นกนางนวล' ระยะที่ 2 ในเร็วๆ นี้

ฟิลิปปินส์บุกรังสแกมเมอร์กลางมะนิลา รวบผู้ต้องหากว่า 400 คน พบคนไทยเอี่ยว 2 ราย

(21 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์บุกตรวจค้นศูนย์ปฏิบัติการพนันออนไลน์ในกรุงมะนิลา จับกุมผู้ต้องหากว่า 400 คน โดยพบว่ามีชาวจีนเป็นผู้ควบคุมเครือข่าย  

คณะกรรมการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมแห่งฟิลิปปินส์เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) ว่า ผู้ต้องหาประกอบด้วยชาวฟิลิปปินส์ 307 คน ชาวจีน 137 คน รวมถึงชาวเวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวันอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีคนสัญชาติไทย 2 รายที่ถูกจับกุมจากปฏิบัติการนี้  

ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก การสืบสวนเบื้องต้นพบว่า เครือข่ายดังกล่าวใช้แพลตฟอร์มการพนันกีฬาและการลงทุนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเหยื่อชาวจีนและอินเดีย  

แม้ว่าฟิลิปปินส์จะสั่งห้ามธุรกิจพนันออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปยังชาวจีนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลยอมรับว่ายังคงมีชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวตกค้างอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก และกำลังอยู่ในกระบวนการเนรเทศ

เผยตัวจริงผู้บริหาร DeepSeek เหลียง เหวินเฟิง นักพัฒนา AI จีน ผู้อยู่เบื้องหลังคู่แข่งตัวฉกาจของ ChatGPT

(21 ก.พ.68) โลกกำลังจับตามอง 'DeepSeek' ปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม AI ระดับโลก ถึงขั้นทำให้หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ร่วงระนาว และถูกพูดถึงในระดับ 'Talk of the World' บางฝ่ายถึงกับกังวลว่าอาจเกิด 'AI War' ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ชื่อของ DeepSeek ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่กรุงปักกิ่ง โดยมีบรรดาผู้นำจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, BYD, Huawei, CATL, Xiaomi, Tencent, Meituan และแน่นอน DeepSeek

บุคคลที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในงานนี้คือ เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) นักพัฒนา AI ชาวจีนวัย 40 ปี ผู้ก่อตั้ง DeepSeek และกลายเป็นบุคคลที่สื่อเทคโนโลยีทั่วโลกจับตามอง ในฐานะซีอีโอหนุ่มที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับผู้นำสูงสุดของประเทศเคียงข้างเจ้าของธุรกิจระดับแนวหน้า

เหลียงเกิดเมื่อปี 1985 ที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง มีความหลงใหลในคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก แม้ไม่ได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยในตะวันตก แต่เขาจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) หรือ 'เจ้อต้า' เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และต่อปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมข้อมูลและสื่อสาร ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของจีนในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมข้อมูลและการสื่อสาร

หลังจากเรียนจบ เขาเริ่มต้นทำงานในแวดวงเทคโนโลยีที่หางโจว ก่อนขยายเส้นทางสู่เฉิงตู และก่อตั้งสตาร์ตอัปของตัวเอง ในช่วงชีวิตการทำงาน เหลียงตั้งรกรากอยู่ในหางโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน และเคยทำงานในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ 

ในปี 2015 เหลียงเข้าสู่โลกสตาร์ตอัปอย่างเต็มตัวด้วยการร่วมก่อตั้ง High-Flyer กองทุนเฮดจ์ฟันด์ประเภท Quantitative Hedge ที่ใช้ AI วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและซื้อขายหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติ ความสำเร็จจากธุรกิจนี้ทำให้เขาสั่งซื้อ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของ Nvidia นับพันชิ้น ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อพัฒนา AI ของตัวเอง

DeepSeek ไม่ใช่แค่ AI ทั่วไป แต่มันสามารถแข่งขันกับ ChatGPT ได้อย่างสูสี โดยใช้ต้นทุนเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ตามที่รายงานข่าวระบุ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่บริษัท AI ตะวันตกใช้ไปหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่ทำให้ DeepSeek เป็นที่จับตามองคือความสามารถในการพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพสูง แม้จีนจะถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงชิปประมวลผลระดับสูงของ Nvidia แต่ทีมของเหลียงสามารถ "ปลดล็อกศักยภาพ" ของ GPU รุ่นเก่าให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

"วิศวกรของ DeepSeek รู้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพของ GPU ที่มีอยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่เทคโนโลยีล่าสุดก็ตาม" นักวิจัย AI ที่ใกล้ชิดกับบริษัทกล่าว

DeepSeek ยังเลือกใช้ โมเดลแบบเปิด (Open-Source) ซึ่งต่างจาก OpenAI ที่เน้นการปกป้องเทคโนโลยีของตัวเอง โดยเหลียงเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้จะช่วยดึงดูดคนเก่งและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในวงการ AI

การที่เหลียงเป็นผู้บริหารด้าน AI เพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับสีจิ้นผิง พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สุขภาพ และกีฬา เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานของรัฐบาล

การเข้าร่วมประชุมระดับสูงของเหลียงตอกย้ำ เขาถือเป็นบุคคลสำคัญในยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน ท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ตลาด AI ของจีนคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 5.6 ล้านล้านหยวน (765 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของ China International Capital Corp (CICC)

"ผมเชื่อว่านวัตกรรมคือหัวใจสำคัญ" เหลียงกล่าว "จีนเคยขาดความมั่นใจในการพัฒนา AI ระดับแนวหน้า แต่เราต้องกล้าที่จะลองและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ผมอยากแสดงให้โลกเห็นว่าจีนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากศูนย์ได้"

PETA UK เล่นใหญ่!! บุกสถานทูตไทย เทน้ำกะทิใส่ตัวเอง สร้างภาพดึงดรามาใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว

เมื่อวันที่ (13 ก.พ.68) กลุ่มนักเคลื่อนไหวจาก PETA UK จัดการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน โดยราดตัวเองด้วยของเหลวที่ดูเหมือนน้ำกะทิ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านอุตสาหกรรมกะทิของไทยที่ใช้แรงงานลิง พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์จากการบังคับใช้แรงงานสัตว์

PETA Asia อ้างการเปิดเผยผลการตรวจสอบที่พบว่า ลิงถูกล่ามด้วยเชือกสั้นจนแทบขยับตัวไม่ได้ บางตัวถูกขังในกรงแคบและต้องเดินวนไปมาอย่างสิ้นหวังจนเกิดความเครียดรุนแรง "ลิงเหล่านี้ควรได้ใช้ชีวิตอิสระในธรรมชาติ ไม่ใช่ถูกจับมาทรมานเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ" เจ้าหน้าที่ PETA Asia กล่าว

PETA ระบุว่า พวกเขาเรียกร้องให้บริษัททั่วโลกหยุดสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานลิง และให้ประเทศไทยดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

จีนส่งตัว 200 ผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงกลับจากเมียนมา เปิดฉากล่าต่อเนื่องขบวนการโกงข้ามพรมแดน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนได้นำตัวพลเมืองจีน 200 ราย ซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง กลับสู่จีนเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.68) หลังจากถูกส่งตัวจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา  

ปฏิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างจีน เมียนมา และไทย โดยผู้ต้องสงสัยทั้งหมดถูกส่งตัวมายังประเทศไทยก่อน จากนั้นจึงขึ้นเที่ยวบินเช่าเหมาลำหลายเที่ยวเพื่อเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติหนานจิงลู่โข่ว ในนครหนานจิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน  

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนเปิดเผยว่า การส่งตัวครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางโทรคมนาคม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาระดับภูมิภาคและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ  

โป๊ปฟรานซิสป่วยหนัก ตรัสชัด ‘อยู่ได้อีกไม่นาน’ ทหารสวิสการ์ดซ้อมพิธีการรับมือ กรณีสิ้นพระชนม์

(21 ก.พ.68) นครรัฐวาติกันอยู่ในภาวะเตรียมพร้อม หลังสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส วัย 88 ปี ทรงมีปัญหาสุขภาพรุนแรง โดยก่อนหน้านี้พระองค์ตรัสว่า "ข้าพเจ้าอยู่ได้อีกไม่นานจากปัญหาสุขภาพโรคปอดบวม" ทำให้หน่วยสวิสการ์ด ซึ่งเป็นกองกำลังรักษาความปลอดภัยของวาติกัน เริ่มซักซ้อมพิธีศพเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

การเตรียมความพร้อมเกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในกรุงโรมอย่างเร่งด่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง แพทย์วินิจฉัยว่าพระองค์ทรงติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างซับซ้อน ส่งผลให้นครรัฐวาติกันต้องยกเลิกหรือเลื่อนการเข้าเฝ้าหลายรายการในสัปดาห์นี้

วาติกันออกแถลงการณ์ยืนยันว่า สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นโรคปอดบวมและมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลอดลมอักเสบจากอาการหอบหืด ทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะประเภทคอร์ติโซน ทั้งนี้ พระองค์เคยผ่านการผ่าตัดเอาปอดบางส่วนออกเมื่อหลายปีก่อน ทำให้การติดเชื้อในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล

ล่าสุด เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ (ตรงกับ 02.00 น. วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ตามเวลาไทย) สำนักวาติกันแถลงอัปเดตอาการของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า "อาการมีพัฒนาการดีขึ้นเล็กน้อย พระองค์ไม่มีไข้ และค่าการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตยังคงที่ ในช่วงเช้า สมเด็จพระสันตะปาปาทรงรับศีลมหาสนิทและปฏิบัติพระภารกิจตามปกติ"

มัตเตโอ บรูนี่ ผู้อำนวยการสื่อมวลชนวาติกัน ระบุว่า พระอาการของพระองค์เป็น 'ปอดอักเสบเฉพาะที่' หมายถึงการติดเชื้อในปอดที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณจำกัด ไม่ใช่การติดเชื้อที่แพร่กระจาย นอกจากนี้ การหายใจของพระองค์เป็นปกติและพระหทัยเต้นเป็นจังหวะปกติ สร้างความหวังว่าพระองค์จะทรงฟื้นตัวได้ในเร็ววัน

ทรัมป์เผยแผนตั้ง 'External Revenue’ เก็บภาษีต่างชาติแทนเงินจากคนอเมริกัน

(21 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมยกเลิกกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (IRS) และมีแผนจัดตั้ง External Revenue Service (ERS) ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรและธุรกรรมจากต่างประเทศ แทนการเก็บภาษีจากประชาชนและธุรกิจภายในประเทศ

โฮเวิร์ด ลัทนิค (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ของทรัมป์ เปิดเผยกับ Fox News ว่า “เป้าหมายของทรัมป์คือการยกเลิก IRS และให้คนนอกเป็นผู้จ่ายภาษีแทน”

รัฐบาลทรัมป์ต้องการให้ ERS ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรและกำจัดช่องโหว่ทางภาษี โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากมาตรการนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้ "DOGE Task Force" ของอีลอน มัสก์ ค้นหาการทุจริตและความสูญเปล่าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทรัมป์เคยกล่าวถึงแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้นปี 2024 แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า IRS จะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือเพียงแค่ลดบทบาท

แม้ว่าทรัมป์จะกล่าวว่าภาษีศุลกากรเป็นรายได้จากต่างชาติ แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าภาษีเหล่านี้มักถูกผลักภาระให้กับบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง 

ตามรายงานของ Axios หน่วยงานที่ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรในปัจจุบันคือกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) ไม่ใช่ IRS ขณะที่ทรัมป์ยังคงยืนยันว่า "Tariff เป็นคำที่ไพเราะที่สุดในพจนานุกรมของผม"

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% สำหรับสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม เขายอมระงับมาตรการกับเม็กซิโกและแคนาดาชั่วคราวเพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อาจทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นถึง 272,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

ทรัมป์ยังเสนอให้ ERS ดูแลภาษีจาก เรือสำราญต่างชาติ เรือบรรทุกน้ำมัน และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ต้องเสียภาษีในสหรัฐฯ โดยลัทนิคยืนยันว่า 'ภาษีเหล่านี้จะถูกเก็บภายใต้รัฐบาลทรัมป์'

ในขณะที่ทรัมป์ผลักดัน ERS เขายังเคยกล่าวถึงแนวคิดการยกเลิกภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้ IRS หมดบทบาท อย่างไรก็ตาม IRS ยังเป็นผู้จัดเก็บภาษีเงินเดือน ภาษีประกันสังคม และภาษีมรดก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล

แม้ว่าทรัมป์จะมุ่งเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้พึ่งพารายได้จากภายนอก แต่ในทางปฏิบัติ ภาษีศุลกากรยังคงเป็นภาระของภาคเอกชนและประชาชนสหรัฐฯ การปฏิรูปครั้งนี้อาจเผชิญแรงต้านจากภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าเป็นนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ทรัมป์ยกย่องตัวเองเป็น 'กษัตริย์แห่งอเมริกา' หลังยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในนิวยอร์ก

เมื่อวันที่ (19 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย Truth Social ยกย่องตัวเองเป็น 'กษัตริย์' หลังจากการตัดสินใจยกเลิกโครงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Pricing) ในเมืองนิวยอร์ก โดยทรัมป์เขียนว่า โครงการนี้ “ตายไปแล้ว” และกล่าวว่าแมนฮัตตันและนิวยอร์กปลอดภัย พร้อมลงท้ายข้อความด้วยคำว่า “LONG LIVE THE KING!”

ไม่นานหลังจากทรัมป์โพสต์ลง Truth Social บัญชีโซเชียลมีเดียของทำเนียบขาวในแพลตฟอร์ม X ได้โพสต์ภาพทรัมป์สวมมงกุฎ โดยมีกรอบเส้นสีทองแบบเดียวกับหน้าปกนิตยสารไทม์ พร้อมคำว่า “LONG LIVE THE KING” ที่ทรัมป์ใช้ในการยกย่องตัวเอง ซึ่งทำให้คำนี้กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมและติดเทรนด์ในสหรัฐฯ บางสำนักข่าวได้แสดงความสงสัยต่อการโพสต์ลักษณะนี้จากบัญชีทางการของทำเนียบขาว ซึ่งปกติจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นทางการมากกว่า

สำนักข่าว NBC รายงานว่าโพสต์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ทรัมป์กำลังสร้างภาพลักษณ์ตัวเองในฐานะ “กษัตริย์” ซึ่งได้รับคำวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย บางคนมองว่าทรัมป์กำลังใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้ว่าจะเป็นเพียงการเริ่มต้นของการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

ด้านผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เคธี ฮอเคิล ได้ออกมาคัดค้านโพสต์ดังกล่าว โดยระบุว่า "นิวยอร์กไม่มีผู้ปกครองในลักษณะนั้นมานานกว่า 250 ปี"

นอกจากนี้ ผู้ว่าการรัฐอื่น ๆ ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกระทำของทรัมป์ เช่น เจ.บี. พริตซ์เกอร์ ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ สังกัดเดโมแครต กล่าวว่า "ตามประวัติศาสตร์ของอเมริกา เราไม่มีกษัตริย์ และเราจะไม่ยอมคุกเข่าต่อทรัมป์หรือใครก็ตาม"

อย่างไรก็ตาม หลังทรัมป์โพสต์ดังกล่าว บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์กลับให้การสนับสนุนโพสต์และคำพูดของเขาอย่างกว้างขวาง

ไต่สวนแก๊งสแกมเมอร์เมียนมา เสียหายหมื่นล้าน พบเหยื่อดับ 14 ราย เร่งล่าผู้ก่อเหตุอีกนับพัน

(20 ก.พ. 68) ศาลท้องถิ่นเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ได้ดำเนินการพิจารณาคดีความกับจำเลยทั้งหมด 23 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มฉ้อโกงทางโทรคมนาคมขนาดใหญ่หลายกลุ่มในภาคเหนือของเมียนมา ระหว่างวันที่ 14-19 ก.พ. โดยมีการพิจารณาหลายข้อหา รวมถึงอาชญากรรมที่ทำให้พลเมืองจีนเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย

จำเลยส่วนหนึ่ง ได้แก่ เมียง มยิ่น ชอน พยิ่น และมะ ทิริ เมียง หัวหน้าแก๊งอาชญากรรมที่นำโดยครอบครัวของพวกเขา รวมถึงสมาชิกหลักของแก๊งและสมาชิกแก๊งอื่นๆ ที่เป็น “ผู้สนับสนุน” การก่ออาชญากรรม โดยพวกเขาถูกตั้งข้อหาทางอาญา 11 กระทง เช่น ฉ้อโกง เจตนาฆ่า เจตนาทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฎหมาย เปิดกาสิโน ค้ายาเสพติดและประเวณี

คณะอัยการกล่าวว่าจำเลยเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของครอบครัวในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา จัดตั้งแหล่งซ่องสุมแก๊งอาชญากรรมหลายแก๊ง ให้การคุ้มกันด้วยอาวุธแก่ปฏิบัติการของ “ผู้สนับสนุน” และสมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น แผนการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่มีเป้าหมายเป็นประชาชนในจีน

คำฟ้องร้องระบุว่าอาชญากรรมการพนันและการฉ้อโกงเกี่ยวพันกับเงินทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5 หมื่นล้านบาท) และส่งผลให้พลเมืองจีนเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย

เหตุการณ์ที่เป็นกรณีสำคัญเกิดขึ้นวันที่ 20 ต.ค. 2023 แก๊งอาชญากรรมร่วมมือกับ “ผู้สนับสนุน” จัดการคุ้มกันด้วยอาวุธระหว่างโยกย้ายคนที่ทำงานให้แก๊งของพวกเขาเพื่อหลีกหนีการปราบปราม โดยบางคนพยายามหลบหนีแต่ถูกทีมคุ้มกันยิงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย

คณะอัยการได้แสดงหลักฐานให้จำเลยแต่ละรายและทนายความของพวกเขาตรวจสอบระหว่างการพิจารณาคดีความ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้อธิบายโต้แย้งตามลำดับและจำเลยให้การครั้งสุดท้าย ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ปรึกษาทางการเมือง นักข่าว สมาชิกครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนรวมมากกว่า 100 คน

อนึ่ง ศาลจะประกาศผลการพิจารณาคดีความครั้งนี้ใน

นอกจากการพิจารณาคดีความครั้งนี้ มีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมอีกหลายพันราย เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อมโยงกับคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมมากกว่า 10,000 คดี โดยการจัดการคดีความเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายของชาติและพลเมือง

แหล่งข่าวอัยการระบุว่าอาชญากรรมบางส่วนเกิดขึ้นภายในพรมแดนจีน มุ่งเป้าที่พลเมืองจีนเป็นพิเศษ และสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ร่วมของประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้จีนมีอำนาจการพิจารณาคดีความภายใต้กฎหมายอาญาและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ญี่ปุ่นจ้างที่ปรึกษาความงาม สอนตำรวจชายดูแลผิวแต่งหน้า เสริมภาพลักษณ์มืออาชีพ ชี้สำคัญไม่แพ้การจับคนร้าย

(20 ก.พ. 68) เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถาบันตำรวจฟุกุชิมะ (Fukushimaken Keisatsugakko) ในจังหวัดฟุกุชิมะ ได้เปิดหลักสูตรแต่งหน้าให้กับนักเรียนตำรวจ 60 คน รวมถึงตำรวจชายหลายคนที่ใกล้จะจบการศึกษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้คนในโลกออนไลน์ 

รายงานระบุว่า สถาบันตำรวจฟุกุชิมะ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีภาพลักษณ์ที่สะอาดตาและเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน การสร้างความประทับใจที่ดีและการสร้างความไว้วางใจถือเป็นสิ่งสำคัญ จึงจัดการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เตรียมสำเร็จหลักสูตร เข้าฝึกอบรมการดูแลผิวและแต่งหน้าเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

“เราต้องการเตือนนักเรียนว่าการรักษาภาพลักษณ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพวกเขาคือสมาชิกของสังคมและในอนาคตจะเป็นตำรวจ” ทาเคชิ ซูกิอุระ รองผู้อำนวยการสถาบันตำรวจกล่าวในการสัมภาษณ์กับ Nippon TV

เพื่อให้หลักสูตรแต่งหน้าเป็นไปตามมาตรฐานมืออาชีพ สถาบันได้ร่วมมือกับที่ปรึกษาจากแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง ชิเซโด (Shiseido) โดยผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงแต่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งหน้าเท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำเฉพาะบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับนักเรียนตำรวจแต่ละคนด้วย

ในระหว่างหลักสูตร อาจารย์ได้สอนเทคนิคการแต่งหน้าพื้นฐาน เช่น การบำรุงผิว การทาไพรเมอร์ และการใช้ดินสอเขียนคิ้ว รวมถึงทักษะการดูแลตัวเองพื้นฐาน เช่น การตัดคิ้วและการจัดทรงผม

ที่น่าสนใจคือ หลายคนในกลุ่มนักเรียนชายที่ไม่คุ้นเคยกับการแต่งหน้าพบว่ามันเป็นความท้าทาย บางคนถูกพบว่าทาไพรเมอร์ไปทั่วใบหน้าด้วยความยุ่งเหยิง ขณะที่บางคนดูเหมือนจะมองหาความช่วยเหลือจากเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ

ยูเซย์ คุวาบาระ หนึ่งในนักเรียนตำรวจชายที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่หลังจากหลักสูตร กล่าวว่า “ผมไม่เคยแต่งหน้าเลยครับ ผมคิดว่าอาชีพตำรวจคือการต้องอยู่ในสายตาของสาธารณะบ่อยๆ ดังนั้นผมอยากให้ตัวเองดูดีเมื่อไปทำงาน”

โดยทั่วไปแล้ว สถาบันตำรวจญี่ปุ่นมักจะเน้นการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและการเตรียมความพร้อมทางกายภาพอย่างเข้มงวด การเปิดหลักสูตรดังกล่าวถือเป็นการปรับปรุงการฝึกอบรมให้ทันสมัย และเตรียมตำรวจในอนาคตให้มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนด้วยความสุภาพ

สถาบันในฟุกุชิมะไม่ใช่แห่งเดียวที่เปิดหลักสูตรนี้ โดยก่อนหน้านี้ สถาบันตำรวจในจังหวัดยามากูชิยังได้เปิดหลักสูตรที่คล้ายกัน โดยเริ่มจากการสอนนักเรียนชายทำความสะอาดใบหน้าอย่างถูกวิธี

หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกนำเสนอ ปรากฎว่าบรรดาชาวเน็ตจีนต่างแสดงความเห็นกันอย่างฮือฮา “ตอนนี้พวกเขาสามารถโยนแป้งฝุ่นใส่ตาลูกผู้ต้องสงสัยแล้วจับได้!” ผู้ใช้งานคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นอย่างขำขัน

ขณะที่อีกคนกล่าวว่า “ตอนแรกที่อ่านข่าวนี้ ผมคิดว่าพวกเขากำลังเรียนวิธีพรางตัวเพื่อจับคนร้าย”

อย่างไรก็ตาม บางคนก็แสดงความกังวลว่า “การเรียนรู้ทักษะหลายๆ อย่างไม่ใช่เรื่องแย่ แค่ขอให้มันไม่กลายเป็นเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับการประเมินผลงาน”

‘ดร.อักษรศรี’ ชี้เหตุ ‘ทรัมป์’ เอาใจ ‘ปูติน’ ขั้นสุด ถึงขั้นหัก NATO พร้อมประณาม ‘เซเลนสกี้’ เชื่อ ต้องการพรากปูติน จากอกพญามังกร ‘สีจิ้นผิง’

(20 ก.พ. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า 

คำถาม: ทำไม ทรัมป์ เอาใจ ปูติน แบบสุดๆ (ไม่สน NATO +ประณาม เซเลนสกี้ ว่าเป็น “เผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” !!)

คำตอบ : ทรัมป์มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือ จะดึงปูตินไปจากอ้อมอกของ สีจิ้นผิง !!

แต่ฝันนี้ของทรัมป์จะสำเร็จหรือไม่ ? หรือจะเป็นแค่ ฝันค้าง หรือไม่ ? ต้องวัดใจปูตินกันนะ
กองเชียร์แต่ละฝ่าย ก็ต้องติดตามด้วยใจระทึกนะคะ

Note: ปูตินและสีจิ้นผิง คู่นี้ รักกันมานานแล้ว และคู่นี้เขา ร่วมทุกข์ร่วมสุข กันมานานเกิน 10 ปีแล้วจ้าาาา

สิงคโปร์มอบคูปองเงินสด 20,000 บาท หนุนประชาชนจับจ่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจ

(20 ก.พ.68) นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศมอบคูปองเงินสดสูงสุด 800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 20,000 บาท) ให้กับพลเมืองสิงคโปร์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป เนื่องในโอกาสฉลองวันชาติสิงคโปร์ครบรอบ 60 ปี ซึ่งคูปองเงินสดดังกล่าวจะเริ่มแจกจ่ายในเดือนกรกฎาคมนี้และสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นปี 2026

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 'SG60' ที่จะมอบคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 60 สำหรับปีภาษี 2025 รวมถึงของขวัญสำหรับทารกแรกเกิดในปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงการยอมรับในผลงานของประชาชนสิงคโปร์และแบ่งปันผลประโยชน์จากการเติบโตของประเทศ

ทั้งนี้ คูปองเงินสด SG60 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 2,020 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 50,740 ล้านบาท) และจะมีประโยชน์แก่ประชาชนประมาณ 3 ล้านคน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับคูปองเงินสดเพิ่มอีก 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมเป็น 800 ดอลลาร์สิงคโปร์

คูปองเงินสดสามารถรับสิทธิ์ได้ทางดิจิทัลและสามารถใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า และแผงลอยในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 60 สำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง โดยจะได้รับการลดหย่อนสูงสุดที่ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์

นายหว่องยังประกาศเพิ่มเติมว่าในปีนี้ ศูนย์อาหารแผงลอยและตลาดที่บริหารจัดการโดยรัฐบาลจะได้รับเงินสนับสนุนค่าเช่าครั้งเดียวจำนวน 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์ พร้อมทั้งการลงทุนเพื่อปรับปรุงและสร้างศูนย์อาหารแผงลอยใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีการแจกเครดิต ActiveSG มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับการเล่นกีฬา และเครดิต SG Culture Pass มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นให้ชาวสิงคโปร์เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรม โดยเครดิตเหล่านี้จะมีอายุถึงสิ้นปี 2028

โครงการ SG60 นี้ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองวันชาติ แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตของชุมชนสิงคโปร์ที่มุ่งหวังให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไป

'มัสก์' เล็งแจกเงินชาวอเมริกัน คนละ 1.5 แสนบาท หลัง DOGE ช่วยประหยัดงบแสนล้าน แต่เสี่ยงเงินเฟ้อ-ขัดกฎหมาย

(20 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ได้จุดกระแสใหม่บนโซเชียลด้วยการเผยแนวคิดเงินปันผล  DOGE (DOGE Dividend) ซึ่งอาจมาในรูปแบบของเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ ให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกา โดยระบุว่า การมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์นี้ เป็นผลพลอยได้จากการที่หน่วยงาน DOGE ของมัสก์สามารถประหยัดงบประมาณประเทศไปได้หลายแสนล้าน

แนวคิดนี้มาจากเจมส์ ฟิช แบ็ค ซีอีโอบริษัทการลงทุนและที่ปรึกษา DOGE ซึ่งเสนอให้จัดสรร 20% ของเงินออมที่คาดว่าจะเกิดจากนโยบาย DOGE ไปมอบเป็นเงินช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยฟิชได้อ้างว่าหาก DOGE สามารถประหยัดงบประมาณรัฐบาลได้ถึง $2 ล้านล้าน ก็สามารถจัดสรร 20% หรือราว $400,000 ล้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ 78 ล้านครัวเรือนที่เสียภาษีได้ในอัตรา $5,000 ต่อครัวเรือน

“เราต้องการทำให้ DOGE เป็นเรื่องจริงสำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน พวกเขาสมควรได้รับส่วนแบ่งจากเงินออมที่ DOGE จะช่วยให้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์” ฟิชแบ็คกล่าว

มัสก์ตอบรับแนวคิดนี้โดยกล่าวว่า เขาจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ อาทิ 

การอนุมัติจากสภาคองเกรส การใช้เงินงบประมาณรัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจมีการคัดค้านจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ต้องการนำเงินไปใช้กับโครงการอื่น เช่น การลดหนี้สาธารณะ

นอกจากนั้นหากจ่ายเงินช่วยเหลือ5,000 ดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณเตือนว่า การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณมหาศาลอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พรรครีพับลิกันเคยต่อต้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพรสตัน แบรชเชอร์ นักวิจัยด้านนโยบายภาษีจาก Heritage Foundation กล่าวว่า “การลดรายจ่ายของรัฐบาลช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ถ้ารัฐบาลแจกเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อจะกลับมาอย่างหนัก”

นอกจากนี้ยังอาจติดปัญหาทางกฎหมาย เพราะโครงการ DOGE เองกำลังเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมาย และผลลัพธ์ของคดีความที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลกระทบต่อแนวคิดเงินปันผลนี้

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณานโยบายลดภาษีในหลายรูปแบบ แต่ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้อาจสูงถึง $5-11 ล้านล้าน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเงินปันผล DOGE อาจต้องแข่งขันกับนโยบายอื่น เช่น การยกเลิกเก็บภาษีเงินได้จากค่าทิปและโอที แม้ว่าการได้รับเช็ค 5,000 ดอลลาร์ จะเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

ทรัมป์ซัดเซเลนสกี ขู่ให้รีบเลือกตั้ง กดดันถ้าไม่เร่งสันติภาพ ยูเครนอาจถึงจุดจบ

(20 ก.พ.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อย่างรุนแรง โดยเรียกเขาว่าเป็น "เผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" และเตือนว่าหากไม่เร่งสร้างสันติภาพ ยูเครนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียประเทศ คำพูดของทรัมป์ตอกย้ำความตึงเครียดระหว่างผู้นำทั้งสองและสร้างความกังวลให้กับพันธมิตรยุโรป

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทรัมป์กล่าวโทษยูเครนว่าเป็นต้นเหตุของสงครามที่ปะทุขึ้นในปี 2565 จุดยืนนี้ทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปวิตกกังวลว่าแนวทางของทรัมป์อาจเอื้อประโยชน์ต่อรัสเซียมากกว่ายูเครน

ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “เผด็จการเซเลนสกีควรเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้ายังไม่ลงมือ จะไม่มีประเทศให้ปกครองอีกต่อไป”

แม้เพิ่งกลับมาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ทรัมป์ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อสงครามยูเครน-รัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยละทิ้งแนวทางการโดดเดี่ยวรัสเซีย มีการติดต่อพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และมีการจัดประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ขณะที่ยูเครนถูกกันออกจากเวทีเจรจา

ตามกำหนดการเดิม วาระการดำรงตำแหน่งของเซเลนสกีจะสิ้นสุดลงในปี 2567 แต่การเลือกตั้งยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

คำพูดของทรัมป์มีขึ้นไม่นานหลังจากเซเลนสกีออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวปลอมจากรัสเซีย” ที่กล่าวหายูเครนว่าเป็นฝ่ายจุดชนวนสงคราม ทั้งที่ความขัดแย้งเริ่มต้นจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อสามปีก่อน

นอกจากนี้ เซเลนสกียังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่า คะแนนนิยมของเขาในยูเครนเหลือเพียง 4% โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งข่าวของรัสเซีย และยืนยันว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

“เรามีหลักฐานว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางของรัสเซีย น่าเสียดายที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์หลงเชื่อ” เซเลนสกีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของยูเครน

อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top