Thursday, 19 June 2025
WORLD

‘นักท่องเที่ยวจีน’ แห่บินไปต่างประเทศช่วงวันหยุดยาวเช็งเม้ง นิยม ‘เที่ยวเองไม่ง้อทัวร์’ ดันยอดเดินทางออกนอกประเทศสูงสุดในรอบ 3 ปี

(10 เม.ย. 68) บรรยากาศการท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลเช็งเม้งปีนี้คึกคักเป็นพิเศษ หลังจากที่จีนมีวันหยุดยาว 3 วัน ประกอบกับนโยบายยกเว้นวีซ่าจากหลายประเทศทั่วโลก ตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด และเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การวางแผนการเดินทางสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แพลตฟอร์มท่องเที่ยว Tuniu รายงานว่า ยอดการจองทริปเดินทางต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงหยุดเช็งเม้งปีนี้ อาจสูงที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานการท่องเที่ยวระบุว่า มากกว่า 80 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ได้ยกเว้นการขอวีซ่าหรือให้ขอวีซ่าเมื่อเดินทางถึง สำหรับนักท่องเที่ยวจีนในปี 2025

หวัง ลี่หยาง ผู้บริหารจาก Fliggy แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดัง เผยว่าแนวโน้ม “เที่ยวเอง-วางแผนเอง” กำลังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนหันมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการจองกิจกรรมที่แปลกใหม่ เช่น ดำน้ำ, ล่องเรือ, แช่น้ำพุร้อน และกิจกรรมท่องเที่ยวธรรมชาติในพื้นที่ชนบท

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้านการท่องเที่ยว ในหลายประเทศยังช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถออกแบบแผนเดินทางเฉพาะตัว พร้อมแนะนำจุดท่องเที่ยวตามความสนใจ และจองตั๋วแบบเรียลไทม์ได้สะดวกขึ้น

อีกทั้ง แพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วออนไลน์ของจีนยังระบุว่า ตั๋วเครื่องบินราคาถูก และขั้นตอนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่รวดเร็ว เป็นปัจจัยหนุนให้การเดินทางต่างประเทศกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยพบว่าเที่ยวบินตรงจาก ปักกิ่ง ไปยัง ฮานอย, กรุงเทพฯ, และจาก เซี่ยงไฮ้ ไปยัง กรุงโซล, โอซากา มีราคาต่ำกว่า 1,000 หยวน (ราว 4,800 บาท)

เว็บไซต์ข่าว Skift คาดการณ์ว่า ยอดการเดินทางขาออกของจีนจะ พุ่งแตะ 200 ล้านเที่ยวภายในปี 2028 ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก

ไต้ปิน ประธานสถาบันการท่องเที่ยวจีน ให้ความเห็นว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนยุคใหม่ยินดีจ่ายเงินเพื่อไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพักในโรงแรมระดับพรีเมียม รับประทานอาหารหรู ไปจนถึงการเข้าชมการแสดงวัฒนธรรมที่มีคุณภาพระหว่างการเดินทาง

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอเก็บภาษี 90 วัน ยกเว้นจีน ทำตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีดแรงที่สุดในรอบปี

(10 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลบังคับใช้ในทันที ยกเว้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังคงเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 125% ตามมาตรการที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานนี้

“จากการขาดความเคารพที่จีนมีต่อตลาดโลก ผมจึงขอปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% โดยจะมีผลทันที” ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดีย “ในอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะตระหนักว่าการเอาเปรียบสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ นั้นไม่ยั่งยืนหรือเป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป”

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและพันธมิตรทางการค้า ที่กังวลว่าการตอบโต้ทางภาษีอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ระบุว่าการระงับชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปิดทางให้เกิด “กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์” กับพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบ

“เราต้องการโอกาสให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเราสามารถหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขความไม่สมดุล โดยไม่ต้องมีแรงกดดันจากมาตรการภาษีในทันที” ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงถูกแยกออกจากการผ่อนปรนดังกล่าว โดยทำเนียบขาวระบุว่า จีนยังไม่แสดงความตั้งใจในการแก้ไขพฤติกรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ มองว่า “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จาก 34% เป็น 84% ในการตอบโต้ล่าสุด

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังการประกาศดังกล่าวว่า “ยังไม่มีอะไรจบลง แต่เรามีความศรัทธาอย่างล้นหลามจากประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนด้วย จีนต้องการทำข้อตกลง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

นักวิเคราะห์มองว่าการยกเว้นจีนจากมาตรการผ่อนปรนนี้สะท้อนถึงแนวทางแข็งกร้าวที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ในการเจรจาการค้ากับปักกิ่ง และอาจส่งผลให้ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินต่อไป

ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดพุ่งแรงในวันพุธ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตร

ดัชนี ดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ปิดที่ 40,608.45 จุด เพิ่มขึ้นถึง 2,962.86 จุด หรือ +7.87% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นรายวันที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบหลายเดือน

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,456.90 จุด เพิ่มขึ้น 474.13 จุด หรือ +9.52% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก ปิดที่ 17,124.97 จุด พุ่งขึ้น 1,857.06 จุด หรือ +12.16% นับเป็นหนึ่งในวันที่ดีที่สุดของ Nasdaq ในรอบปี

นักลงทุนทั่วโลกตอบรับเชิงบวกต่อท่าทีผ่อนปรนของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะการยกเว้นประเทศคู่ค้าสำคัญจากมาตรการภาษีเป็นการชั่วคราว แม้ว่าจีนจะยังคงถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าระดับสูงถึง 125% ก็ตาม

“นี่เป็นสัญญาณว่าเส้นทางของการเผชิญหน้าทางการค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ หากมีพื้นที่ให้เจรจา” นักวิเคราะห์จากบริษัทการเงินแห่งหนึ่งในนิวยอร์กกล่าว

จีนยื่นร้องเรียน WTO กรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 125% ชี้ละเมิดกฎการค้า พร้อมประณามมะกันมีพฤติกรรม ‘กลั่นแกล้ง-รังแก’

(10 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนยื่นเรื่องร้องเรียนฉบับใหม่ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) หลังสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมอีก 50% กับสินค้านำเข้าจากจีน โดยถือเป็นการยกระดับมาตรการ 'ภาษีตอบโต้' ที่เคยประกาศใช้มาก่อนหน้านี้

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า มาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ นั้น “ละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO อย่างร้ายแรง” และถือเป็น “ความผิดพลาดมหันต์ที่ต่อยอดจากความผิดพลาดเดิม” พร้อมทั้งประณามว่าสหรัฐฯ มีพฤติกรรมที่ 'กลั่นแกล้งและรังแก' โดยดำเนินการอย่างลำพังฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงกติกาสากล

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนหลายสิบประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึงร้อยละ 125 ส่งผลให้สงครามการค้าโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทรัมป์กล่าวว่าภาษีศุลกากรมีความจำเป็นเพื่อยุติการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ กับหุ้นส่วนทางการค้าหลายราย โดยจีนเป็นประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด

จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 84 เปอร์เซ็นต์ จาก 34 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สหภาพยุโรปจะเปิดตัวมาตรการตอบโต้ครั้งแรก โดยส่วนใหญ่จะมีอัตราภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์หน้า

“แม้ว่าจีนจะคัดค้านสงครามการค้า แต่จีนจะปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนอย่างมั่นคง” จีนกล่าวในแถลงการณ์ต่อสมาชิก WTO ระหว่างการประชุมว่าด้วยการค้าสินค้า

บรรดาสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จำนวน 20 ประเทศ รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ สหภาพยุโรป และแคนาดา ต่างออกแถลงการณ์ร่วมในที่ประชุม WTO ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวาในวันพุธ แสดงความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง

สมาชิกองค์การการค้าโลกหลายประเทศแสดงจุดยืนต่อที่ประชุมในเจนีวา โดยมีบางรายระบุว่ามาตรการภาษีตอบโต้ซึ่งกันและกันของสหรัฐฯ ขัดต่อหลักการพื้นฐานของ WTO และอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เจ้าหน้าที่การค้าประจำเจนีวาเผยว่า สมาชิกบางประเทศชี้ว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะผลักดันต้นทุนให้เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม บั่นทอนห่วงโซ่อุปทาน และสร้างผลกระทบต่อทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ขององค์การการค้าโลกเปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คำร้องเรียนล่าสุดของจีนต่อสหรัฐฯ ซึ่งยื่นเมื่อวันพุธ เป็นการดำเนินการแยกต่างหากจากคำขอปรึกษาหารือทวิภาคีที่จีนได้ยื่นไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

สำหรับการยื่นคำขอปรึกษาหารือถือเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติข้อพิพาทภายใต้กรอบของ WTO โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างเป็นมิตรภายในระยะเวลา 60 วัน หากการเจรจาไม่บรรลุผล จีนสามารถยกระดับข้อพิพาทโดยยื่นคำร้องต่อหน่วยงานระงับข้อพิพาทของ WTO เพื่อให้มีการตั้งคณะผู้พิจารณาคดีอย่างเป็นทางการ

ทรัมป์เผยหลายประเทศแห่โทรหาพร้อมยื่นข้อเสนอ วอนขอทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ หลังรัฐบาลเดินเกมกดดันสำเร็จ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อคืนที่ผ่านมา (8 เม.ย. 68) ว่า ผู้นำจากหลายประเทศกำลังพยายามทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศภาษีศุลกากรใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในเช้าวันพุธ (9 เม.ย. 68)

โดยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของคณะกรรมการรัฐสภาพรรครีพับลิกันแห่งชาติ ทรัมป์กล่าวถึงการตอบสนองจากผู้นำต่างประเทศว่า

“ผมบอกคุณได้เลยว่า ประเทศเหล่านี้กำลังโทรมาหาผม พร้อมมาจูบก้นผม พวกเขาพยายามอย่างหนักที่จะทำข้อตกลง แล้วพูดว่าได้โปรด ได้โปรดท่าน ทำข้อตกลงเถอะ ผมจะทำให้ทุกอย่างครับท่าน” 

คำพูดของทรัมป์สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่แข็งกร้าวในการต่อรองการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับ จีน ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาษีที่มีอัตรา 104% สำหรับสินค้านำเข้าบางประเภท ขณะที่ ประเทศอื่นๆ รวมทั้ง สหภาพยุโรป กำลังเผชิญกับภาษีที่สูงถึง 50%

สำหรับการขึ้นภาษีนี้มีเป้าหมายไปที่สินค้าที่หลากหลายประเภทจากทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิด สงครามการค้าระหว่างประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลก โดยเมื่อมาตรการภาษีใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ ตลาดหุ้นในเอเชีย ได้ร่วงลงอย่างหนัก โดย ดัชนีนิเคอิ ของญี่ปุ่นร่วงลงกว่า 5% ขณะที่ ดัชนีฮั่งเส็ง ของฮ่องกง และดัชนีเวทเตทไต้หวัน ร่วงลงมากกว่า 4% และ 5% ตามลำดับ

ในสุนทรพจน์เดียวกัน ทรัมป์ยังได้เปิดเผยแผนการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับการนำเข้า ผลิตภัณฑ์ยา โดยกล่าวว่า

“เราจะจัดเก็บภาษียาของเรา และเมื่อเราทำเช่นนั้น ยาเหล่านั้นจะรีบไหลกลับเข้ามาในประเทศของเราอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเราเป็นตลาดขนาดใหญ่”

มาตรการภาษีนี้สะท้อนถึงการพยายามควบคุมตลาดยาในประเทศและการรักษาผลประโยชน์ภายในประเทศ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อราคายาและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับประชาชนก็ตาม

แคนาดาเอาคืน เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์-ชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ 25% หวังป้องแรงงาน 500,000 คน จากนโยบายการค้าที่ยากจะยอมรับ

(9 เม.ย. 68) ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแคนาดา แถลงยืนยันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า มาตรการตอบโต้ทางการค้าของแคนาดาจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 00.01 น. วันที่ 9 เมษายน 2568 ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ (EDT) หรือตรงกับเวลา 11.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการที่สหรัฐฯ เก็บ ภาษีนำเข้าเกินควรจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา

ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการคลัง แคนาดาระบุว่า มาตรการตอบโต้นี้จะมีลักษณะ “ตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยว” โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมซึ่งกระทบต่อ แรงงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมหลัก ของประเทศ

“รัฐบาลแคนาดาจะไม่ยอมให้ภาษีศุลกากรที่ไม่ยุติธรรมจากประเทศใดมาทำลายเศรษฐกิจของเรา เราจะตอบโต้ด้วยมาตรการที่ชัดเจน รวดเร็ว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแคนาดา” ชองปาญกล่าวในแถลงการณ์

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจแคนาดา การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าในภาคส่วนนี้ จึงจุดชนวนความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากฝั่งออตตาวา

โดยมาตรการตอบโต้ดังกล่าวได้รับการประกาศโดยนายกรัฐมนตรี มาร์ค คาร์นีย์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อ “ปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดาอย่างถึงที่สุด” และมีเนื้อหาหลักสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1.การเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ประกอบสำเร็จ ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี CUSMA (Canada–United States–Mexico Agreement)

2.การเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่แคนาดาหรือเม็กซิโก หากอยู่ในรถยนต์ประกอบสำเร็จที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง CUSMA

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลแคนาดาเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้เมื่อ 3 เมษายน 2568 ซึ่งเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ของแคนาดาในอัตรา 25% และวางแผนจะขยายไปยัง ชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ แรงงานมากกว่า 500,000 คน ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ข้อมูลจากปี 2567 ระบุว่า แคนาดานำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.56 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา หรือราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แคนาดาย้ำว่าจะเดินหน้าตอบโต้ภาษีศุลกากรที่เกินกว่าเหตุเหล่านี้อย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมแสดงจุดยืนว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในทุกช่องทางที่เป็นไปได้

ปักกิ่งโต้เดือด ‘ไม่ยอมอยู่ใต้การแบล็กเมล์’ หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจีน 104% ทำเนียบขาวเตือนอย่าตอบโต้ทรัมป์ ชี้ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อแม้แต่น้อย

(9 เม.ย. 68) ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนพุ่งขึ้นอีกระลอก หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 50% เพื่อโต้ตอบการตอบโต้จากปักกิ่ง ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนรวมจากฝั่งสหรัฐฯ พุ่งแตะ 104% อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทรัมป์ให้เหตุผลว่า จีนยังคงใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการตอบโต้ที่ผ่านมาจากปักกิ่งเป็น “การท้าทายอย่างชัดเจน” ต่ออำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแถลงว่า “จีนเล่นเกมนี้มานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องยืนหยัดและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”

แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝั่งวอชิงตัน แต่ปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่ระบุว่าเป็น 'การแบล็กเมล์ทางเศรษฐกิจ' และมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวและกีดกันทางการค้า

ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนระบุว่า “จีนมีเครื่องมือทางนโยบายที่เพียงพอในการรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอก และยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นอกจากนี้ หลี่เฉียงยังเน้นย้ำว่า การตอบโต้ของจีน ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการปกป้องกฎกติกาการค้าในระดับสากล ที่ทุกประเทศควรยึดถือร่วมกัน

ขณะที่ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อ และระบุว่าจีนกำลัง 'ทำพลาดอย่างหนัก' ด้วยการตอบโต้สหรัฐฯ

“ประเทศต่างๆ เช่น จีน ซึ่งเลือกที่จะตอบโต้และพยายามเพิ่มโทษต่อการปฏิบัติต่อคนงานชาวอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม และกำลังทำผิดพลาด”

ลีวิตต์ กล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีความแข็งแกร่ง และจะไม่มีวันแตกหัก พร้อมยืนยันว่า การตัดสินใจทางการค้าของผู้นำสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานและเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งจีนต้องการทำข้อตกลง กับสหรัฐฯ แต่ “ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร" และปฏิเสธที่จะเปิดเผยเงื่อนไขใด ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพิจารณา เพื่อผ่อนคลายมาตรการภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในฝั่งผู้ผลิตจีน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาสินค้าและชิ้นส่วนจากจีน อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเดินหน้าเพิ่มกำแพงภาษีต่อจีนเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกการค้าเต็มรูปแบบ และคาดว่าปักกิ่งจะตอบโต้กลับอีกระลอกในไม่ช้า

ประธานอาเซียน วอนสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผนึกกำลัง ย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รับมือภาษีศุลกากรสุดโหดจากสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนประจำปี 2568 ได้แถลงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเรียกภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายการค้าโดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากหลายประเทศ 

ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายอันวาร์กล่าวว่า “อาเซียนต้องยืนหยัดในฐานะกลุ่มที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการเผชิญกับนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศภายนอก” 

เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “ระลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ประเทศในอาเซียนมีร่วมกัน” และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวที่มีความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคในยุคที่การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

นายอันวาร์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน โดยการหักหลังนโยบายการค้าเสรีจากบางประเทศจะทำให้การค้าระหว่างประเทศ ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็น ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 ไปยังสหรัฐฯ รองจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ สูงถึง 3.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 11.2% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียนกับทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมากต่อบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา ซึ่งเผชิญภาษีศุลกากรสูงถึง 49% ขณะที่ ลาว และ เวียดนาม ต้องเผชิญภาษีที่ 48% และ 46% ตามลำดับ ขณะที่ มาเลเซีย เองก็ไม่รอดจากการเก็บภาษีที่สูงถึง 24% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

อินเดียปิดประตูใส่ BYD หวั่นโดนทุ่มตลาดจากจีน แต่เปิดช่องเจรจา Tesla ตั้งโรงงาน ดึงดูดทุนสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจ จำกัดการเข้าถึงตลาด สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนอย่าง BYD Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน EV ของโลก ท่ามกลางความพยายามของอินเดียในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง Tesla Inc.

แหล่งข่าวจากภาครัฐระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ Tesla กำลังพิจารณาการตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ซึ่งทางรัฐบาลได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการอำนวยความสะดวกและเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับบริษัทของอีลอน มัสก์ ในขณะที่บริษัทจีนอย่าง BYD กลับถูก 'ควบคุมและจำกัด' มากขึ้นในด้านการเข้าถึงตลาดและการขยายกิจการ

การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลด้านความมั่นคงระดับชาติของอินเดียที่ยังคงมีต่อจีน แม้ในช่วงหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีการทูตระดับภูมิภาค

“รัฐบาลอินเดียยังคงระมัดระวังอย่างมากกับการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ” พียูช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ท่าทีดังกล่าว สะท้อนแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยอินเดียได้กำหนด ภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูป (CBU) ไว้สูงถึง 100% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราภาษีนำเข้าที่ 'สูงที่สุด' ในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

“นโยบายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติสร้างฐานการผลิตภายในอินเดีย แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป” นักวิเคราะห์จากมุมไบให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี อินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และกำลังกลายเป็นจุดหมายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ท่ามกลางนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดของนายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดีแต่การจัดการสมดุลระหว่างความมั่นคงและการลงทุนต่างชาติยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปีที่แล้วนิวเดลีได้ปฏิเสธข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 36,000 ล้านบาท) จาก BYD ที่ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น 

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนรายอื่นอย่าง Great Wall Motor Co. ขอถอนตัวออกจากอินเดียหลังจากไม่สามารถขอรับการอนุมัติที่จําเป็นจากหน่วยงานกํากับดูแลได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทจีนต้องเผชิญในการพยายามเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในตลาดอินเดีย

ในขณะที่อินเดียยังคงรักษาจุดยืนที่ระมัดระวังต่อการลงทุนจากจีน และกําลังแสวงหาความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Tesla Inc อย่างไรก็ตามรายละเอียดของข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและ Tesla ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอินเดียอย่าง Tata Motors และ Mahindra & Mahindra สามารถเติบโตได้ดี โดยก่อนหน้านี้พวกเขาต่างคัดค้านการผ่อนปรนภาษีนำเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเปิดทางให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาทำตลาดในราคาที่แข่งขันได้ยากสำหรับผู้ผลิตท้องถิ่น

‘เนทันยาฮู-ทรัมป์’ จับมือสกัดนิวเคลียร์อิหร่าน หากยังดื้อเดินหน้าโครงการต่อ ชี้ทางเลือกสุดท้ายคงต้องใช้กำลัง

(9 เม.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ภายหลังการหารือร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว โดยทั้งสองผู้นำยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “อิหร่านจะต้องไม่มีวันครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”

เนทันยาฮูเปิดเผยว่า มีการพูดคุยอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวทางจัดการโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะต้องมีการทำ “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งสหรัฐฯ จะมีบทบาทหลักในการ เข้าไปควบคุม ทำลาย และรื้อถอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน

“ข้อตกลงนี้ไม่ใช่แค่เอกสาร แต่คือการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านเข้าใกล้อาวุธนิวเคลียร์แม้แต่น้อย” เนทันยาฮูกล่าว

เนทันยาฮูยังเน้นว่า หากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว “ก็จะไม่เหลือทางเลือกมากนัก นอกจากต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทุกฝ่ายเข้าใจดี” ถึงความจำเป็นในกรณีที่การเจรจาล้มเหลว

แม้ยังไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แต่ท่าทีของทั้งทรัมป์และเนทันยาฮูส่งสัญญาณชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ต่ออิหร่านจะกลับมาแข็งกร้าวอีกครั้ง ภายใต้ความร่วมมือของสหรัฐฯ และอิสราเอล

ขณะที่ สตีฟ วิทคอฟฟ์ ทูตพิเศษของทรัมป์ จะนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจากับอิหร่านในวันเสาร์นี้ที่ประเทศโอมาน ตามรายงานของ Axios เมื่อวันอังคารโดยอ้างแหล่งข่าวสองรายที่ทราบแผนดังกล่าว

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับวิทคอฟฟ์ ผู้ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางการทูต มากกว่าไมเคิล วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติผู้มีท่าทีแข็งกร้าว และมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ซึ่ง “มีความสงสัย” ต่อกระบวนการทางการทูตของสหรัฐฯ 

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมมือกับอิหร่านโดยตรง โดยความคิดริเริ่มทางการทูตเริ่มต้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อทรัมป์ส่งจดหมายถึงอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน โดยให้เวลาเตหะรานสองเดือนในการบรรลุข้อตกลง

เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์กล่าวว่าการเจรจาเป็น “ผลประโยชน์สูงสุดของอิหร่าน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะใช้มาตรการทางทหารหากการเจรจาล้มเหลว พร้อมเตือนว่าเตหะราน “จะตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง” หากไม่มีข้อตกลง 

ด้าน อับบาส อาราฆชี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของอิหร่าน ยอมรับถึงความเสี่ยงที่สูง โดยกล่าวในโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคารว่า “มันเป็นทั้งโอกาสและการทดสอบ ลูกบอลอยู่ในสนามของอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ ที่ปรึกษาทรัมป์ ปัดตกข้อเสนอของเวียดนาม แม้ยื่นลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ก็ยังไม่พอ แนะต้องแก้ที่ ‘กลโกงทางการค้า’

(9 เม.ย. 68) ความพยายามของเวียดนามในการเสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% จากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่เป็นผล 

เมื่อปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าของทำเนียบขาว ออกมาตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า ข้อเสนอของเวียดนาม “ไม่มีความหมายอะไรเลย”

ความคิดเห็นของนาวาร์โรมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดเผยผ่านโพสต์ในแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้เสนอให้เวียดนามลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีใหม่จากสหรัฐฯ

ต่อมาในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวันจันทร์ นาวาร์โรไม่เพียงแค่ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แต่ยังกล่าวหาว่าเวียดนามใช้ “กลโกงทางการค้า” หลายรูปแบบ เช่น การเปิดช่องให้จีนหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยส่งสินค้าผ่านเวียดนาม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้า

“ดูอย่างเวียดนาม เมื่อพวกเขาเสนอจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันทั้งหมด สำหรับเราแล้วข้อเสนอนี้ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง” นาวาร์โรกล่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเสริมว่า “ทุกประเทศโกงเรา แค่วิธีต่างกันเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม นาวาร์โรได้ “ปรับน้ำเสียง” เล็กน้อยในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ โดยยอมรับว่าข้อเสนอของเวียดนามอาจถือเป็น “การเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ” แต่ยังห่างไกลจากการสร้างความน่าเชื่อถือหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นอุปสรรคในการค้าระหว่างสองประเทศ

คำให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ตอกย้ำแนวทางการค้าที่แข็งกร้าวของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการกดดันประเทศคู่ค้าให้ลดความไม่สมดุลทางการค้า และเตือนเวียดนามว่าการยื่นข้อเสนอเพียงผิวเผินอาจไม่เพียงพอในการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่เข้มงวดจากวอชิงตัน

‘อีลอน มัสก์’ เดือดจวกที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์เป็น ‘คนโง่’ ปมวิจารณ์มัสก์ไม่ใช่ผู้ผลิต Tesla แต่เป็นเพียงผู้ประกอบเท่านั้น

(9 เม.ย. 68) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและวิศวกรผู้เป็นเจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำอย่าง Tesla เรียกที่ปรึกษาการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร ว่าเป็น “คนโง่” จากความคิดเห็นที่เขาแสดงออกมาเกี่ยวกับบริษัท Tesla

มัสก์ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐบาลทรัมป์ โพสต์บนแพลตฟอร์ม X โซเชียลมีเดียของเขาเองว่า “Tesla มีรถยนต์ที่ผลิตในอเมริกามากที่สุด ส่วนนาวาร์โรนั้น โง่กว่ากระสอบอิฐ” ซึ่งเป็นการตอบรับการให้สัมภาษณ์ของนาวาร์โรที่วิจารณ์มัสก์ว่า “(เขา) ไม่ใช่ผู้ผลิตยานยนต์ เขาเป็นเพียงผู้ประกอบรถยนต์ในหลายๆ กรณี” นาวาร์โรกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นาวาร์โรสัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของทรัมป์ และกล่าวว่าในอนาคตเขาต้องการเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ผลิตในสหรัฐฯ แต่มัสก์ซึ่งเคยแสดงท่าทีคัดค้านนโยบายการค้าของทำเนียบขาว กล่าวว่าคำกล่าวอ้างของนาวาร์โรเกี่ยวกับเทสลานั้น “เป็นเท็จอย่างชัดเจน”

การทะเลาะวิวาทครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณความขัดแย้งต่อสาธารณะมากที่สุดระหว่างทีมการค้าของทรัมป์กับมัสก์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกและเป็นหัวหน้าแผนกประสิทธิภาพของรัฐบาล (Doge) ซึ่งมีหน้าที่ในการลดขนาดและการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง

ต่อมาในวันอังคาร แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ถูกถามถึงการโต้เถียงระหว่างมัสก์และนาวาร์โร เธอบอกกับนักข่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าทั้งสองคนมีมุมมองที่แตกต่างกันมากในเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร”

“เด็กผู้ชายก็คือเด็กผู้ชาย และเราจะปล่อยให้พวกเขาสู้กันต่อในที่สาธารณะต่อไป” ลีวิตต์กล่าว

ทรัมป์ได้ให้เหตุผลบางส่วนในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก โดยกล่าวว่าเขาต้องการฟื้นการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่นาวาร์โรได้หยิบยกขึ้นมาในระหว่างการปรากฏตัวทางสถานีข่าว CNBC เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

“หากคุณมองไปที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของเรา ถูกต้องแล้ว ตอนนี้เราเป็นสายการประกอบเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของเยอรมัน เรากำลังจะไปถึงจุดที่อเมริกาผลิตสิ่งของต่างๆ อีกครั้ง ค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น กำไรจะเพิ่มขึ้น” นาวาร์โรกล่าว

แดน ไอฟส์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกล่าวว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อภาษีศุลกากรน้อยกว่าผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นๆ ในสหรัฐฯ เช่น GM, Ford และ Stellantis พร้อมอ้างว่าบริษัทจัดหาชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากนอกสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจีน

“ภาษีในรูปแบบปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อ Tesla และห่วงโซ่อุปทานโดยรวม สำหรับฐานการดำเนินงานทั่วโลก ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่กำลังเติบโต เช่น BYD ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” เขากล่าว

ด้าน เจฟฟรีย์ ซอนเนนเฟลด์ คณบดีและศาสตราจารย์ของ Yale School of Management ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะผู้บริหารธุรกิจในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่า มัสก์กำลังแสดงออกถึงสิ่งที่ CEO ชาวอเมริกันหลายคนคิดแต่ลังเลที่จะพูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการค้าของทรัมป์

“79% คือคนที่บอกว่าพวกเขารู้สึกอายต่อหน้าพันธมิตรระหว่างประเทศ และ 89% บอกว่าเรื่องนี้ทำให้เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยไม่จำเป็น และมีนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด” นายซอนเนนเฟลด์กล่าวกับ BBC โดยอ้างถึงการสำรวจที่จัดทำขึ้นในงานที่เขาเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ บิล อัคแมน ผู้จัดการกองทุนมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อีกรายหนึ่ง ได้เรียกร้องให้หยุดการจัดเก็บภาษีศุลกากร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “ผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก”

สื่อแฉ ‘มัสก์’ ขอร้อง ‘ทรัมป์’ ไม่สำเร็จ หวังให้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า ที่ทำหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ดิ่งกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าววอชิงตันโพสต์รายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลแห่งวงการเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร้องขอโดยตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าระดับสูง ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่เป็นผล

แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า บทสนทนาระหว่างสองผู้นำทางธุรกิจและการเมืองในครั้งนี้มีความตึงเครียดอย่างชัดเจน และอาจนับเป็นรอยร้าวสำคัญระหว่างมัสก์ ผู้เคยให้การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจเสรี กับทรัมป์ ผู้เดินหน้าดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งกร้าว

การเจรจาระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยมีบางประเทศที่อาจถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้นในระดับสูงเป็นพิเศษ

โดยก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรป ยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน โดยเขาย้ำว่า ภาษีนำเข้า ของสหรัฐฯ กำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจของเขาเอง

คำเรียกร้องของมัสก์เกิดขึ้นในช่วงการปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอลในการประชุมของพรรค League ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลี ที่จัดขึ้นในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

มัสก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ถือเป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และควรมีการ ลดลงเหลือศูนย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโต

การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักในบริษัทของเขาเอง หลังจาก ยอดขายรายไตรมาสของ Tesla ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงรถยนต์จากยุโรป

ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มัสก์ ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) พร้อมระบุว่าไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อเสนอเช่นนี้จาก “เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์” 

เนื่องจากหุ้น Tesla ของอีลอน มัสก์ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ราคา 233.29 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งลดลงกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

ขณะเดียวกัน มัสก์กำลังถูกจับตามองจากบทบาทใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้ง “แผนกประสิทธิภาพรัฐบาล” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกวิจารณ์ว่ากลยุทธ์ของเขาอาจไม่ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเตือนว่า การขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้เกิดเงินเฟ้ออีกระลอก เพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยบางครัวเรือนอาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มหลายพันดอลลาร์ต่อปี พร้อมเตือนว่าหากดำเนินต่อไป นโยบายนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนของภาวะ เศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ แม้มัสก์จะเคยสนับสนุนทรัมป์ในหลายโอกาส แต่ความเห็นต่างครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

จีนเข้มงวดควบคุมธาตุหายาก 7 ชนิด อาจสั่นคลอนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก CEO บ.ดังมะกันชี้ เป็นการโจมตีที่แม่นยำต่อการเข้าถึงของสหรัฐฯ

เมื่อวันศุกร์ที่ (4 เม.ย. 68) จีนได้ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออก ธาตุหายาก 7 ชนิด ที่สำคัญ โดยระบุว่าจะใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ตามรายงานจากสำนักข่าว Reuters ธาตุหายากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ ได้แก่ ซาแมเรียม, แกโดลิเนียม, เทอร์เบียม, ดิสโพรเซียม, ลูทีเทียม, สแกนเดียม, และอิตเทรียม ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบทางการทหารต่าง ๆ ตั้งแต่ ยานยนต์ไฟฟ้า, สมาร์ทโฟน, ไปจนถึง เครื่องบินขับไล่, ขีปนาวุธ, และ ดาวเทียม

จีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายากมากถึง ร้อยละ 90 ของการผลิตทั่วโลก และเป็นผู้นำด้านอุปทานธาตุหายากที่สำคัญมาอย่างยาวนาน การประกาศควบคุมการส่งออกนี้มีศักยภาพในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางจากปัจจัยภายนอกอยู่แล้ว กลายเป็นไม่มั่นคงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาธาตุหายากเหล่านี้ในการผลิต

มาตรการควบคุมการส่งออกใหม่ของจีนอาจกระทบต่อหลายประเทศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และ เทคโนโลยีการทหาร ที่ต้องใช้ธาตุหายากเหล่านี้ในการผลิต โดยเฉพาะในช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศกำลังทวีความรุนแรงขึ้น

มาร์ก เอ. สมิธ ซีอีโอของ NioCorp Developments (NASDAQ:NB) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการเพื่อสร้างแหล่งจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญภายในประเทศของสหรัฐฯ เรียกการกระทำของจีนว่าเป็น “การโจมตีที่แม่นยำ” ต่อห่วงโซ่อุปทานของกระทรวงกลาโหม

“นี่คือการโจมตีอย่างแม่นยำของจีนต่อห่วงโซ่อุปทานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ” สมิธกล่าวเมื่อวันศุกร์ “สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่โลหะเท่านั้น และหากไม่มีโลหะ ฮาร์ดแวร์ขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็เสี่ยงที่จะหลุดจากความเหนือกว่าไปสู่ความล้าสมัย”

เมื่อปีที่แล้ว NioCorp เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลแร่ธาตุหายาก ควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลแม่เหล็กแร่ธาตุหายากหลังการบริโภค เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน

ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ยังคงปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาวุธความเร็วเหนือเสียงและระบบดาวเทียมขั้นสูง ซึ่งการขาดการเข้าถึงองค์ประกอบเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการจัดหาในระยะยาว

ทั้งนี้ ความตึงเครียดด้านการค้ารอบล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนมีนาคมทรัมป์ ใช้อำนาจในช่วงสงครามภายใต้พระราชบัญญัติการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญจากต่างประเทศของประเทศ

ฟิลิปปินส์เฝ้าระวังใกล้ชิด ภูเขาไฟคันลาออนปะทุเดือด เถ้าถ่านพุ่งสูง 4 กม. มีโอกาสยกระดับการแจ้งเตือนขั้นวิกฤต

(8 เม.ย. 68) สถาบันภูเขาไฟวิทยาและแผ่นดินไหววิทยาแห่งฟิลิปปินส์ (Phivolcs) รายงานว่า ภูเขาไฟคันลาออน (Kanlaon) บนเกาะเนกรอส ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ เกิดการปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ โดยพ่นเถ้าภูเขาไฟพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึงประมาณ 4 กิโลเมตร

นายเทเรซิโต บาโคลโคล ผู้อำนวยการ Phivolcs เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเปลี่ยนระดับการเตือนภัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเคลื่อนตัวของแมกมาสู่ผิวดิน โดยหากแมกมาเคลื่อนตัวเร็ว อาจมีการยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับเตือนภัยร้ายแรง แต่หากแมกมาเคลื่อนตัวช้าลงหรือหยุดนิ่ง ก็อาจลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับ 2

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและหน่วยงานรับมือภัยพิบัติกำลังเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่อันตรายและเตรียมอพยพในกรณีที่มีการปะทุรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ภูเขาไฟคันลาออนถือเป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลัง (Active Volcano) ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างจังหวัดเนโกรสโอกซีเดนตัลและเนโกรสโอเรียนตัล โดยเป็นหนึ่งในภูเขาไฟมีพลังจากประมาณ 24 ลูกในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) ของมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุบ่อยครั้งมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากพลังของธรรมชาติ

สหรัฐฯ เพิกถอนวีซ่านักเรียนต่างชาติกว่า 300 คน กรีนการ์ดก็ไม่รอด หลังตรวจพบโพสต์โซเซียลมีเดียหนุนกลุ่มฮามาส

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ตรวจสอบกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียของผู้สมัครวีซ่าบางราย โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และ อิสราเอล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีทัศนคติเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ เข้าประเทศ

โดยคำสั่งดังกล่าวถูกส่งในโทรเลขถึงคณะผู้แทนทางการทูตเมื่อวันที่ 25 มีนาคม กำหนดให้เจ้าหน้าที่กงสุลส่งผู้สมัครวีซ่า นักเรียนและนักท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนบางราย ไปที่ “หน่วยป้องกันการฉ้อโกง” เพื่อทำการตรวจสอบโซเชียลมีเดียตามข้อบังคับที่กำหนด

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า มีนักเรียนต่างชาติอย่างน้อย 300 คนที่ถูกเพิกถอนวีซ่าในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์ใช้มาตรการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมือง

“เราทำแบบนั้นทุกวัน ทุกครั้งที่ผมพบคนบ้าพวกนี้ ผมก็จะยึดวีซ่าของพวกเขาไป” เขากล่าวเสริม “ผมหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะหมดวีซ่าไป เพราะเราได้กำจัดพวกเขาทั้งหมดแล้ว แต่เรายังคงตามหาคนบ้าพวกนี้ที่คอยทำลายข้าวของทุกวัน”

นอกเหนือจากผู้ถือวีซ่านักเรียนแล้ว รัฐบาลทรัมป์ยังดำเนินการกับผู้มีถิ่นพำนักถาวรอย่างถูกกฎหมาย เช่นมะห์มุด คาลิล นักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกเพิกถอนกรีนการ์ดจากผู้มีถิ่นพำนักถาวรอย่างถูกกฎหมาย 

“รัฐมนตรีต่างประเทศตัดสินใจว่ากิจกรรมในต่างประเทศของผู้สมัคร ก่อให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติหรือต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ” รัฐบาลสหรัฐ แถลงการณ์

คำสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นการเนรเทศชาวต่างชาติที่ถูกมองว่ามี “ทัศนคติเป็นปฏิปักษ์” ต่อสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการปราบปรามสิ่งที่เขาเรียกว่า “การต่อต้านชาวยิว” โดยเฉพาะการประท้วงที่สนับสนุน “ปาเลสไตน์” ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งส่งผลให้มีการเนรเทศนักศึกษาต่างชาติที่เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าว

ทั้งนี้ การตรวจสอบโซเชียลมีเดียของผู้สมัครวีซ่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการป้องกันการเข้าประเทศของบุคคลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรือมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสหรัฐฯ รวมถึงการต่อต้านพันธมิตรสำคัญอย่างอิสราเอล โดยกระบวนการตรวจสอบจะรวมถึงนักเรียนต่างชาติในสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นวันที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top