Wednesday, 26 March 2025
WORLD

'มาร์โก รูบิโอ' จี้!! เวียดนาม ให้เร่งแก้ปัญหาการค้าเกินดุลกับ ‘อเมริกา’ หลังยอดขาดดุล 11 เดือนแรกปีที่แล้ว พุ่งทะลุ 1.1 แสนล้านดอลลาร์

(26 ม.ค. 68) ‘มาร์โก รูบิโอ’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสภาเป็นคนแรกในรัฐบาลทรัมป์ ต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม บุ่ย แทงห์ เซิน (Bui Thanh Son) เมื่อวันศุกร์ เรียกร้องให้เวียดนาม ‘แก้ปัญหาการค้าที่ไม่สมดุลกับสหรัฐ’ และหารือเรื่องความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับจีน  

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของทางสหรัฐพบว่า เฉพาะช่วง 11 เดือนแรกของปี 2024 ยอดเกินดุลการค้าและบริการสูงถึงกว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเพราะค่าเงินดองที่อ่อนค่าลงทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์  ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตาว่าอาจจะถูกหมายหัวในยุคของรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า ในการหารือกันทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรกระหว่างนักการทูตระดับสูง 2 คน ทั้งสองได้แสดงความยินดีในวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเวียดนาม และความคืบหน้าที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งทั้งสองประเทศได้ตกลงกันในปี 2023

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐยังได้หารือถึงข้อกังวลในภูมิภาค ซึ่งรวมถึง ‘พฤติกรรมก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้’ ด้วย และในขณะที่มีการชื่นชมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน รูบิโอก็ได้เรียกร้องให้เวียดนามแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าเวียดนามจะกลายมาเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญของสหรัฐ แต่นักวิเคราะห์มองว่า

ของสหรัฐในเดือนนี้แสดงให้เห็นว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐกับเวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเวียดนามมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ ‘สูงที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหภาพยุโรป และเม็กซิโก’

ก่อนหน้านี้ที่ทรัมป์เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระแรก ทรัมป์ได้สิ้นสุดวาระปีสุดท้ายด้วยการที่กระทรวงการคลังสหรัฐออกประกาศว่า ‘เวียดนาม’ และ ‘สวิตเซอร์แลนด์’ เป็นสองประเทศที่เข้าข่าย ‘บิดเบือนค่าเงิน’ (currency manipulation) โดยมีการแทรกแซงตลาดทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงเพื่อความได้เปรียบทางการค้า

ทางด้านนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ได้กล่าวในที่ประชุม เวิลด์ อีโคโนมิ ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เวียดนามกำลังดำเนินการหาทางออกเพื่อสร้างสมดุลเรื่องดุลการค้ากับสหรัฐ โดยย้ำคำมั่นสัญญาที่จะ "ซื้อเครื่องบิน" ของบริษัทโบอิ้ง และแสดงความสนใจในการซื้อสินค้าไฮเทคอื่นๆ ของสหรัฐมากขึ้น

‘ครูเดวิด’ ฉะยุคทรัมป์ เศรษฐีครองอเมริกาจะแย่ลง ‘อาจารย์อดัม’ ซัดเดือด!! ไบเดนนั่นแหละห่วย

(25 ม.ค. 68) ภายหลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสาบานตนรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกก็ต่างจับตาถึงทิศทางการทำงานของทรัมป์โดยเฉพาะในเรื่องความร่วมมือและเศรษฐกิจ

ล่าสุด ครูเดวิด วิลเลี่ยม ติ๊กต็อกเกอร์ดัง ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ไทยมานาน ได้ออกมาเผยแพร่คลิปแสดงความคิดเห็นใจความตอนหนึ่งว่า อีลอน มัสก์ ไม่ได้เป็นคนดี สนใจแต่เงิน เขาไม่สนใจประชาธิปไตย ถามว่ารู้ได้ไง ถ้าคุณดูอย่างทวิตเตอร์จะเปลี่ยนเป็น x ทำไมไม่รู้ แต่ถ้ามีใครมาวิจารณ์เขา เขาจะเอาปิดบัญชีนั้นไปเลย แสดงว่าไม่สนใจเรื่อง Free Speech แล้วคนๆ นี้ที่เป็นเศรษฐีทำไมถึงได้เข้าไปพูดในงานที่โดนัล ทรัมป์ไปพูดได้ยังไง

ขณะเดียวกันนโยบายของทรัมป์ใช้งบประมาณมหาศาลเลยนะ งบประมาณของอเมริกาจึงต้องเพิ่มไม่ใช่ลดลง แล้วก่อนหน้านี้ทรัมป์ยังประกาศช่วงหาเสียงว่า เหตุผลที่ต้องทรัมป์เพราะจะขับไล่ต่างด้าวไปให้หมด และเก็บสิ่งดีๆ สำคัญไว้ให้คนอเมริกัน

นอกจากนี้คนรอบตัวทรัมป์มีแต่เศรษฐีมากกว่านักการเมืองเสียอีก นักการเมืองที่ถูกเลือกด้วยประชาชน แต่ทรัมป์เอาเจ้าของบริษัทรวยๆ ดังๆ ได้นั่งเก้าอี้พรีเมียม นั่นหมายความว่าเขาอยากจะบอกประชาชนว่าใครคือเจ้าของประเทศ คอยดูเลยนะว่า อเมริกาจะเลอะเทอะมาก คนจนจะจนลง คนรวยจะรวยมหาศาล

ต่อมา อาจารย์อดัม แบรดชอว์ ชาวอเมริกันผู้มีประสบการณ์การสอนในประเทศไทยกว่า 18 ปี และมีรายการสอนภาษาอังกฤษในโทรทัศน์ทางหลาย ๆ ช่อง ได้แชร์คลิปดังกล่าวและระบุว่า

“ถุย!! เดวิดไม่ใช่ตัวแทนชาวเมกันหรอก มีแต่แขวะเมกาและอวยประเทศไทย ผมเองก็รักประเทศไทยมาก ๆ เหมือนกัน แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมาบอกว่าเมกาแย่อย่างนี้อย่างนั้น ขณะเดียวกัน ผมเข้าใจเจตนาของเดวิดคืออยากเรียกยอดวิวด้วยการพูดในสิ่งที่เค้าคิดว่าคนไทยอยากจะฟัง

แต่ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ทราบดีว่าไบเดนนั่นแหละห่วยแตกมาก ไม่ได้ทำห่าอะไรใน 4 ปีที่ผ่านมานอกจากปิดปากทุกคนที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายชัตดาวน์และที่มาของโควิด ถามหน่อยในช่วงของไบเดนอัตราเงินเฟ้อเป็นยังไงบ้าง ? แล้วอัตราดอกเบี้ยล่ะ”

‘รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ’ ประกาศชัด!! ‘พาสปอร์ต’ ต้องระบุ!! เพศ ‘ชาย - หญิง’ เท่านั้น ห้ามขีดฆ่า

(25 ม.ค. 68) นายมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายใหม่เกี่ยวกับการระบุเพศ ใน ‘หนังสือเดินทาง’ ว่า 

มีแต่ ชาย หรือ หญิง เท่านั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้การระบุ ‘X’ หรือแทนการขีดฆ่าไม่ระบุเพศ ในหนังสือเดินทางไม่อนุญาตให้ทำได้อีกต่อไป

'บารัค โอบามา' หย่า 'มิเชล โอบามา' จบชีวิตคู่ 33 ปี โยงดาราสาว 'เจนนิเฟอร์ อนิสตัน' มือที่สาม

(24 ม.ค.68) ข่าวลือที่กำลังเป็นกระแสฮอตบนโลกโซเชียลของสหรัฐฯ กล่าวถึงการหย่าร้างของบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีและมิเชล โอบามา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง หลังจากที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา 33 ปี โดยข่าวลือเหล่านี้เริ่มต้นจากคำพูดของ 'เมแกน แมคเคน' นักจัดรายการวิทยุชื่อดังที่ออกมาเปิดเผยว่า ทั้งสองได้แยกกันอยู่และกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสื่อหลายแห่ง เช่น เดลิเมลล์ และ The Economic Times ที่เผยแพร่ข่าวว่า มิเชล โอบามา ไม่ได้เข้าร่วมงานพิธีสำคัญสองงานร่วมกับบารัค โอบามา ที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งยิ่งทำให้ข่าวลือนี้มีมูลมากขึ้น

ข่าวลือที่ทำให้เรื่องนี้ยิ่งได้รับความสนใจคือการเชื่อมโยงชื่อของ 'เจนนิเฟอร์ อนิสตัน' นักแสดงสาวจากซีรีส์ดัง 'เฟรนดส์' กับบารัค โอบามา หลายแหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งสองกำลังคบหาดูใจกัน แม้ว่าอนิสตันจะออกมาปฏิเสธในรายการ Jimmy Kimmel Live และยืนยันว่าเป็นแค่เพื่อนกัน แต่ข่าวลือดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การคาดเดาเกี่ยวกับสถานะของทั้งสามคนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามอง โดยมีการแสดงความเห็นจากนักข่าวชื่อดัง 'มีเกน เคลลี' ที่กล่าวว่า หากข่าวลือนี้เป็นความจริง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการเมืองของพรรคเดโมแครตอย่างใหญ่หลวง 

ถึงแม้ว่าบารัค โอบามา และมิเชล โอบามาจะไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวลือนี้ แต่มีการพบเห็นทั้งสองปรากฏตัวพร้อมกันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ร้านอาหารในลอสแอนเจลิส ซึ่งยังคงเป็นที่จับตาของสาธารณชนทั่วโลก

ทรัมป์เผย น้ำมัน-ก๊าซคือทรัพย์สินล้ำค่า พร้อมขู่ใช้ภาษีเป็นอาวุธทุบจีน

(24 ม.ค.68) ในการสัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ นิวส์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับจีนเกี่ยวกับไต้หวันและการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่เหมือน 'บ่อทองคำ' ซึ่งจีนต้องการ

ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ มีภาษีที่เป็น 'แต้มต่อ' เหนือจีน และแม้ว่าตนจะไม่อยากใช้มาตรการภาษี แต่การกำหนดภาษีก็เป็น อำนาจมหาศาล ที่สหรัฐฯ มีเหนือจีน

"เรามีทั้งน้ำมันและก๊าซมากกว่าประเทศอื่น ๆ... นี่คือทรัพย์สินอันล้ำค่า จีนไม่มีสิ่งเหล่านี้... เราจะทำให้ประเทศของเราร่ำรวยอีกครั้ง และพลังงานจะเป็นตัวนำทาง แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ เช่น ภาษี" ทรัมป์กล่าว

ในสัปดาห์นี้ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก 10% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมกับการใช้ภาษี 25% กับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากจีนส่งออกเฟนทานิลไปยังแคนาดาและเม็กซิโก

ก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว ทรัมป์เคยกล่าวว่าเขาจะเพิ่มภาษีสินค้าจากจีนถึง 60%

ทางด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 'เป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน' และรัฐบาลจีนมั่นใจว่าทั้งสองประเทศจะสามารถหาทางประนีประนอมกันได้ แต่จีนพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเสมอ

'ทรัมป์' สั่งเปิดแฟ้มลับคดีลอบสังหาร 'เจเอฟเค' และ 'มาร์ติน ลูเธอร์ คิง'

(24 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจัดทำแผนการเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารที่สำคัญ 3 เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ได้แก่ การสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี, โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ทรัมป์กล่าวเมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า "หลายคนรอคอยการเปิดเผยนี้มานาน และเราจะเปิดเผยทุกอย่าง" พร้อมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องส่งแผนการเปิดเผยเอกสารภายใน 15 วัน

การลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีเกิดขึ้นที่ดัลลาสในปี 1963 ขณะที่โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีถูกยิงเสียชีวิตในปี 1968 ขณะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในแคลิฟอร์เนีย และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนก็ถูกสังหารในเมมฟิส รัฐเทนเนสซี

เอกสารเกี่ยวกับการสืบสวนเหล่านี้ได้ถูกเปิดเผยบางส่วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีเอกสารอีกจำนวนมากที่ถูกเก็บเป็นความลับ โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีของเคนเนดีที่มีรายละเอียดซับซ้อน

การสืบสวนเกี่ยวกับการสังหารของเคนเนดีระบุว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ เป็นผู้ลงมือเพียงคนเดียว แต่ยังมีข้อสงสัยและทฤษฎีเกี่ยวกับการมีส่วนเกี่ยวข้องของกลุ่มต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐบาล มาเฟีย หรือบุคคลอื่น ๆ ซึ่งได้สร้างข้อสงสัยในหมู่ประชาชน

ในปี 1992 สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายให้เปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนภายใน 25 ปี ซึ่งมีการเปิดเผยเอกสารจำนวนมากในยุคของทรัมป์และโจ ไบเดน แม้ว่าเอกสารบางส่วนยังคงเป็นความลับ

ทรัมป์เคยสัญญาว่าจะเปิดเผยเอกสารทั้งหมดในระหว่างการดำรงตำแหน่งครั้งแรก แต่ไม่ได้ทำตามสัญญา หลังจากที่หน่วยงานอย่างซีไอเอและเอฟบีไอขอให้เก็บเอกสารบางส่วนเป็นความลับ

การลงนามในคำสั่งล่าสุดของทรัมป์ระบุว่า การรักษาความลับไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสาธารณชน ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการลอบสังหารและความเชื่อมโยงของออสวอลด์กับหน่วยงานต่าง ๆ

นอกจากนี้ เอกสารที่เปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ยังมีการเพิ่มข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการติดตามออสวอลด์โดยซีไอเอ รวมถึงการให้ข้อมูลจากพยานเห็นเหตุการณ์ ซึ่งทำให้ทฤษฎีที่ว่าออสวอลด์เป็นผู้ลงมือเพียงคนเดียวต้องได้รับการพิจารณาใหม่

ในคดีของโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีและมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็ยังมีความสงสัยในคำกล่าวอ้างว่า เซอร์ฮานและเจมส์ เอิร์ล เรย์ เป็นผู้ลงมือเพียงคนเดียว เนื่องจากครอบครัวของทั้งสองได้ตั้งคำถามว่า การลอบสังหารเป็นผลจากแผนการสมคบคิดที่กว้างขวางกว่าที่เคยเชื่อกัน

สส.รีพับลิกัน ผุดไอเดียแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดัน 'ทรัมป์' นั่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3

(24 ม.ค.68) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 มกราคม เพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีในอนาคตสามารถดำรงตำแหน่งได้มากถึง 3 สมัย

ญัตติที่เสนอขึ้นมาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง โดยนายแอนดี้ โอเกิลส์ สส.พรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นผู้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้กล่าวว่า นายทรัมป์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นฟูสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่และควรได้รับโอกาสอีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบัน มาตราที่ 22 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกสามารถดำรงตำแหน่งได้สูงสุดเพียง 2 สมัย โดยระบุว่า "ไม่มีบุคคลใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่า 2 ครั้ง" ในขณะที่การแก้ไขครั้งนี้จะเปลี่ยนเป็น "ไม่มีบุคคลใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่า 3 ครั้ง"

นอกจากนี้ยังมีการเสนอการแก้ไขเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เกิน 2 ปีในระหว่างที่บุคคลอื่นดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะสามารถลงเลือกตั้งได้อีกเพียงครั้งเดียว

นายโอเกิลส์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะช่วยให้สหรัฐสามารถรักษาผู้นำที่กล้าหาญไว้ในประเทศได้

มาตราที่ 22 ได้รับการเสนอในปี 2490 และมีการรับรองในปี 2494 เพื่อป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีคนใดดำรงตำแหน่งยาวเกินไป โดยอ้างอิงถึงอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ผู้เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่จำนวนที่นั่งเพียงแค่ 3 ที่นั่งทำให้การผ่านญัตตินี้ยังมีความยากลำบาก และคาดว่าแนวทางนี้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต

นักวิชาการชำแหละ ทรัมป์บอกลา WHO ถอนข้อตกลงปารีส เปิดช่องจีนครองบทบาทผู้นำโลก

(24 ม.ค.68) หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยสองเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกใน 2 องค์กรระดับโลกคือ การถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การอนามัยโลก และการถอนตัวสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งท่าทีทั้งสองดังกล่าว นักวิชาการจากสถาบันในรัฐแคลิฟอร์เนียมองว่า เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น 

ศาสตราจารย์โรเดอริก เคียวเวียต (Roderick Kiewiet) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) เผยต่อสำนักข่าวสปุตนิกว่า ในกรณีการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะสหรัฐและประเทศอื่น ๆ แทบไม่มีทางบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ได้อยู่แล้ว

“การถอนตัวของสหรัฐเป็นเพียงการยืนยันว่าทั่วโลกยังคงใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอัตราเดิมต่อไปอีกนาน” เคียวเวียตกล่าว ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับศาสตราจารย์คานิชกัน สถาสิวัม (Kanishkan Sathasivam) จากมหาวิทยาลัยเซเลมสเตต รัฐแมสซาชูเซตส์ เห็นด้วยว่าการถอนตัวครั้งนี้เป็นเพียง 'เชิงสัญลักษณ์' และคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว  

“หลายสิ่งที่สหรัฐทำในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นดำเนินการผ่านกฎหมายในประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐ ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง” สถาสิวัมกล่าว  

ด้าน ศาสตราจารย์ริชาร์ด เบนเซล (Richard Bensel) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า การถอนตัวของสหรัฐจากข้อตกลงปารีสจะลดบทบาทของประเทศในเวทีโลก ขณะเดียวกัน จีนอาจใช้โอกาสนี้เพื่อเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำของตัวเอง “ผลกระทบหลักจากการถอนตัวครั้งนี้คือการสูญเสียอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ ขณะที่จีนจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ทรัมป์ทิ้งไว้” เบนเซลกล่าว  

ขณะที่กรณีทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) สะท้อนว่าทรัมป์ละเลยความเป็นจริงของวิกฤตภูมิอากาศและผลกระทบในระดับโลก แกเร็ธ เจนกินส์ นักวิจัยอาวุโสอิสระจากโครงการศึกษาซิลค์โร้ดและศูนย์ตุรกีแห่งสถาบันนโยบายความมั่นคงและการพัฒนาในกรุงสตอกโฮล์มกล่าวว่า 

"ทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิก เช่นเดียวกับที่เราทุกคนต้องรับผลกระทบ หากสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันมากขึ้น ก็จะสร้างมลพิษมากขึ้น และเช่นเดียวกับที่การแพร่ระบาดของโควิดแสดงให้เห็นว่าโรคระบาดเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน แน่นอนว่า WHO จะทำงานได้อย่างแข็งแกร่งหากสหรัฐยังเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นการถอนตัวจาก WHO จะจะยิ่งทำให้องค์กรนี้อ่อนแอลง" เจนกินส์กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เจนกินส์ เห็นพ้องกับนักวิชาการคนอื่นๆ ว่า การที่สหรัฐถอนตัวจาก WHO จะเป็นโอกาสทองที่จีนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกนี้มากขึ้น 

อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำไทย จ่อนั่งผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ คุมการเมืองเอเชีย ดูแลความสัมพันธ์จีน-เกาหลีเหนือ

(24 ม.ค.68) สำนักข่าวนิเคอิรายงานว่า นาย ไมเคิล ดีซอมบรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับตำแหน่งนักการทูตระดับสูงด้านเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลชุดใหม่

ดีซอมบรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะได้รับตำแหน่งแทน แดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตอาวุโสในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการขั้นสุดท้าย ก่อนจะเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณา

ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีความรับผิดชอบในการจัดการกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนในภูมิภาค ทั้งความสัมพันธ์กับจีน ปัญหาความมั่นคงของเกาหลีเหนือ และการรักษาความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับพันธมิตรสำคัญ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ดีซอมบรีมีความรู้และประสบการณ์ด้านการควบรวมกิจการในเอเชีย โดยได้ใช้ชีวิตอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนจะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถในการพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว และยังสามารถสื่อสารภาษาเกาหลีและญี่ปุ่นได้บ้าง

สหรัฐร่อนจดหมายถอนตัว WHO เป็นทางการ จับตา 'จีน' ผงาดชาติผู้สนับสนุนรายใหญ่แทน

(24 ม.ค.68) องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่าได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันพุธ เกี่ยวกับการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ WHO โดยการถอนตัวนี้จะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2569

ทั้งนี้ กระบวนการถอนตัวจะใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี หลังจากประเทศที่ต้องการลาออกแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการต่อ WHO โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายค้างชำระทั้งหมด ตามมติของสภาคองเกรสซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2491  

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO ด้วยสัดส่วนประมาณ 18% ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับปี 2567-2568 งบประมาณของ WHO อยู่ที่ประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 230,894 ล้านบาท)  ตามด้วยประเทศจีนมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งการออกของสหรัฐกำลังจะเปิดทางให้จีนกลายเป็นชาติผู้สนับสนุน WHO เป็นอันดับหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ยกเลิกการประชุมกับหน่วยงานภายนอก ระงับการเผยแพร่สิ่งพิมพ์บางฉบับ และสั่งให้พนักงานหยุดการเดินทาง หลังได้รับคำสั่งจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์  

แหล่งข่าวเผยว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา การประชุมระดับรัฐและรัฐบาลกลางเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโคนมและปศุสัตว์ในหลายรัฐ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) ได้ถูกยกเลิก นอกจากนี้ การฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขก็ถูกเลื่อนออกไป  

ปกติแล้ว การประชุมเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 จะจัดเป็นประจำ แต่แหล่งข่าวระบุว่าการประชุม 'One Health' ซึ่งมุ่งเน้นผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ ที่กำหนดจัดในวันพฤหัสบดีนี้ ถูกยกเลิกอย่างไม่คาดคิด  

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านระหว่างประธานาธิบดีมักส่งผลให้เกิดการชะลอการสื่อสารอยู่บ้าง แต่แหล่งข่าวกล่าวว่าการระงับกิจกรรมครั้งนี้มีขอบเขตที่กว้างขวางผิดปกติ  

การยกเลิกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่โดโรธี ฟิงค์ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งให้หยุดการเผยแพร่เอกสารและการสื่อสารต่อสาธารณะทั้งหมดทันที รวมถึงห้ามเจ้าหน้าที่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยคำสั่งนี้จะมีผลจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์  

ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มแสดงความกังวลต่อการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ แล้วเกือบ 70 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย CDC รายงานว่าส่วนใหญ่เป็นคนงานฟาร์มและมีอาการเพียงเล็กน้อย

ชาติตะวันตกส่งทหารล็อตใหญ่ 50,000 นาย ช่วยรับมือสู้ศึกรัสเซีย ปูทางสู่การยุติสงคราม

(23 ม.ค.68) เว็บไซต์สปุตนิกรายงานว่า รัฐบาลยูเครนเชื่อว่าบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกอาจส่งทหารอีกจำนวน 50,000 นาย มายังยูเครนเพื่อช่วยรับมือศึกรัสเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความขัดแย้งระหว่างสองชาติ

ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ที่อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลเคียฟระบุว่า 
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้กล่าวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรตะวันตกส่งทหารไปยูเครนเพื่อรักษาความปลอดภัยหากมีข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ในขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า ทหารต่างชาติจะไม่ได้ถูกส่งไปยังเคียฟตามที่บางประเทศในยุโรปต้องการ พร้อมเสริมว่า ยูเครนต้องการกองทัพขนาดหนึ่งล้านนายซึ่งต้องรักษาไว้

รายงานจากไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างอิงแหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการหารือระหว่างเคียฟและพันธมิตรตะวันตก ว่า เจ้าหน้าที่ของยูเครนเชื่อว่า ตะวันตกอาจส่งทหารระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยบนแนวรบยาว 1,000 กิโลเมตร (621.4 ไมล์) 

อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า กำลังทหารประมาณ 40,000 นายอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแกร่งจนไม่ตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซีย และอาจไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะไม่ต้องการกำลังเสริม หากว่าต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งทหารจำนวน 50,000 นายนี้จะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นการผูกมัดลับของนาโต้ด้วย

ด้าน Camille Grand อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต้ เสริมว่า กองทัพนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มชั่วคราวที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยการเข้าร่วมจากประเทศในแถบบอลติกและนอร์ดิก

อย่างไรก็ตาม โฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การหยุดความขัดแย้งในยูเครนไม่สามารถยอมรับได้สำหรับรัสเซีย ในเดือนธันวาคม 2024 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวว่า รัสเซียไม่ต้องการแค่การหยุดยิง แต่ต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนโดยมีการรับประกันความปลอดภัยที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศและประชาชนของตน

พิพิธภัณฑ์เยอรมนีปลดป้ายอวยยศอีลอน มัสก์ เชื่อปมเชียร์ขวาจัด - ชูมือคล้ายสัญลักษณ์นาซี

(23 ม.ค.68) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 'Deutsches Museum' ในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้ปลดแผ่นป้ายที่เคยยกย่องอีลอน มัสก์ ในฐานะนักสร้างแรงบันดาลใจด้านอวกาศออกจากนิทรรศการ โดยไม่มีการระบุเหตุผลอย่างชัดเจนถึงการนำป้ายดังกล่าวออก  

โฆษกของพิพิธภัณฑ์ชี้แจงว่า “การยกย่องบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สำคัญของนิทรรศการ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการยกย่องที่ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์” พร้อมเสริมว่าความสำเร็จตลอดชีวิตของบุคคลหนึ่งมักสามารถประเมินได้อย่างเหมาะสมในภายหลังเท่านั้น  

ก่อนหน้านี้ ป้ายดังกล่าวได้นำเสนออีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ควบคู่กับนักบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์จรวดในอดีตอย่างแม็กซ์ วาลีเออร์ และแฮร์มันน์ โอเบิร์ธ ในส่วนจัดแสดง “ผู้สร้างแรงบันดาลใจจากอดีตและปัจจุบัน”  

อย่างไรก็ตาม มัสก์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นการใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สนับสนุนการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และการสนับสนุนพรรคขวาจัด AfD ของเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขายังจุดกระแสความไม่พอใจจากการแสดงท่าทางคล้ายกับการทำความเคารพแบบนาซีระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ฉลองพิธีสาบานตนของทรัมป์

จีนเรียกร้อง 'ไทย-เมียนมา' หยุดภัยคุกคามฉ้อโกงออนไลน์อย่างจริงจัง

(23 ม.ค. 68) หลิวจิ้นซง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชีย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีนหวังว่าไทยและเมียนมาจะปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนด้วยมาตรการที่เข้มงวด และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

หลิวกล่าวถ้อยคำข้างต้นระหว่างการพบปะหารือแยกกับฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน และติน หม่อง ชเว เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำจีน โดยหลิวได้แสดงความกังวลและหารือถึงความร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หลิวกล่าวว่าเกิดเหตุฉ้อโกงทางโทรคมนาคมร้ายแรงหลายคดีในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์สำคัญของประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ

จีนหวังว่าทั้งไทยและเมียนมาจะให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ใช้มาตรการเข้มงวดปราบปรามการกระทำผิดลักษณะนี้ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล

จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทวิภาคีและพหุภาคีร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนในหมู่ประชาชน และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมทั่วไป

ด้านเอกอัครราชทูตไทยและเมียนมาประจำจีนกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อกังวลของจีนและรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อหลายเหตุการณ์ฉ้อฉลที่เกิดขึ้น พวกเขาตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมาในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาดผ่านมาตรการที่ครอบคลุมและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกักขัง กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อแก๊งอาชญากรอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย เสริมสร้างการควบคุมชายแดนและกำกับดูแลพื้นที่สำคัญ ตลอดจนจัดตั้งกลไกระยะยาวเพื่อกำจัดแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามพรมแดน

เปิดหลักฐาน!! ยันจีนไม่เคยคุมคลองปานามา หลังทรัมป์กล่าวหาปักกิ่งบงการค่าผ่านทาง

(23 ม.ค.68) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัย 2 เพียงไม่กี่วัน ได้มีคำสั่งให้นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีการทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนปานามาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนลาตินอเมริกา สะท้อนท่าทีจริงจังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยึดคลองปานามาคืน นอกจากนี้ รูบิโอยังมีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกาด้วย

การเดินทางครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของรูบิโอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ม.ค.) การเยือนครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการสกัดกั้นการอพยพผิดกฎหมายผ่านเส้นทางอเมริกากลาง และผลักดันให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศต้นทาง

รายงานข่าวระบุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มักจะเลือกเยือนประเทศพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นทริปแรก เช่น แอนโทนี บลิงเคน ที่เลือกไปญี่ปุ่น หรือเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เลือกไปเยอรมนี

ทรัมป์ได้ประกาศจุดยืนว่าต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาควบคุมคลองปานามา หากไม่มีการลดค่าธรรมเนียมผ่านคลองสำหรับเรือรบและเรือพาณิชย์ พร้อมทั้งกล่าวหาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการคลองแห่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีปานามารีบออกมาตอกย้ำอธิปไตยเหนือคลองปานามา และยืนยันว่าจีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบริหารจัดการคลอง

จากข้อมูลซึ่งเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะพบว่า คลองปานามาซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร (51 ไมล์) เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ถูกสร้างขึ้นและเป็นของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ก่อนที่จะถูกมอบให้กับปานามาในที่สุดในปี 1977 ภายใต้สนธิสัญญาที่รับประกันความเป็นกลางปานามา โดยในปี 2021 ข้อตกลงที่อนุญาตให้ Panama Ports Company ดำเนินการต่อไปได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 25 ปี

สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด และรับผิดชอบการขนส่งสินค้าประมาณสามในสี่ส่วนในแต่ละปีจีนตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ถึง ก.ย. 2024 จำนวนเรือขนส่งสินค้าของจีนที่เดินทางมาที่คลองปานามาคิดเป็น 21.4% ปริมาณการขนส่งทางเรือทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ

คำกล่าวของทรัมป์ที่ว่า "จีนคุมคลองปานามาจากทั้งสองฝั่งคลอง" อาจหมายถึง การมีอยู่ของท่าเรืออยู่สองฝั่งของคลองปานามาซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในฮ่องกง ซึ่งตลอดเส้นทางคลองปานามานั้น มีท่าเรือทั้งหมด 5 แห่งอยู่ติดกับคลองปานามา โดยมีท่าเรืออื่นๆ เป็นของบริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ด้วย ท่าเรือ 2 แห่งจากที่มีทั้งหมด 5 แห่งบริเวณใกล้เคียงกับคลองปานามา ดำเนินการโดยบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต โฮลดิ้งส์ มาตั้งแต่ปี 1997 ท่าเรือทั้ง 2 แห่งได้แก่ ท่าเรือบัลบัวที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลที่ตั้งอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

ในปี 1996 ปานามาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในฮ่องกงที่ชื่อ ฮัทชิสัน-วัมเปา (hutchison whampoa) ในตอนนั้นในการดำเนินการท่าเรือบัลโบอาในฝั่งแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลในฝั่งแอตแลนติก สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฮัทชิสัน-วัมโปอาเป็นเจ้าของท่าเรือ แต่ให้สิทธิแก่บริษัทดังกล่าวในการดำเนินการในนามของรัฐบาลปานามา

ปัจจุบันผู้ประกอบการท่าเรือนี้รู้จักกันในชื่อ Hutchison Ports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CK Hutchison Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีหลี่ กาชิง (Li Ka-shing) ซึ่งบริษัท Hutchison ต่างก็เข้าไปลงทุนบริหารท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบริหารท่าเรือแหลมฉบังของไทยด้วย

อีกทั้งในปี 1999 จากการสอบสวนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ต่อกรณีที่รัฐบาลปานามาจะมอบสัมปทานแก่ฮัทชิสัน-วัมโปอา ว่า จ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วและ "ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่จะควบคุมการดำเนินงานคลอง" 

ท่ามกลางคำกล่าวของทรัมป์ที่อ้างถึงรัฐบาลปักกิ่งว่าอยู่เบื้องหลังคลองปานามา ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า “จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของคลอง และไม่เคยแทรกแซงกิจการของคลอง”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก ไรอัน เบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาศึกษา แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ มองว่า การบริหารท่าเรือเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเค ฮัตชิสัน มีข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากของเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้

"ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น" เบิร์กกล่าว "ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดสงครามเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้น"

ถึงแม้ว่าซีเค ฮัตชิสัน จะไม่ได้มีรัฐบาลเป็นจีนเป็นเจ้าของ แต่เบิร์กมองว่า รัฐบาลสหรัฐอาจหวาดระแวงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาแทรกแซงในบริษัทบริหารท่าเรือดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

ทรัมป์สั่งพนักงานรัฐแจ้งเบาะแส หากเจอโครงการหนุนความหลากหลายทางเพศ

(23 ม.ค.68) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งให้พนักงานรัฐรายงานหากพบว่ามีการซ่อนโครงการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก (Diversity, Equity, and Inclusion – DEI) โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางวินัยหากไม่รายงานภายใน 10 วัน

คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ในการยกเลิกโครงการ DEI ในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นการกลับลำนโยบายจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับ DEI

คำสั่งระบุว่ามีการปกปิดโปรแกรม DEI บางส่วนในรัฐบาลโดยใช้ภาษาที่คลุมเครือ ผู้ที่รายงานภายในเวลาที่กำหนดจะไม่ถูกลงโทษ แต่หากไม่รายงานภายใน 10 วันอาจเผชิญกับผลกระทบทางวินัย

คำสั่งนี้ได้ถูกส่งไปยังพนักงานหลายกระทรวง ซึ่งอ้างว่ามาจากรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ เช่น จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากมาร์โก รูบิโอ และจากกระทรวงยุติธรรม โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งจากรักษาการอัยการสูงสุด เจมส์ แมคเฮนรี

ทรัมป์มองว่าโครงการ DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันบางกลุ่ม โดยมุ่งเน้นที่เชื้อชาติและเพศมากกว่าคุณสมบัติของผู้สมัคร ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองกลับมองว่า DEI เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่มีมายาวนาน

การกระทำของทรัมป์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง โดยศาสตราจารย์ไซคี วิลเลียมส์-ฟอร์สัน มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่าความไม่พอใจในหมู่ชายผิวขาวกำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ทรัมป์กลับมามีบทบาททางการเมืองได้ แม้จะเผชิญกับคดีความหลายคดี

ขณะเดียวกัน สส. แฮงค์ จอห์นสัน จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์กำลังทำลายความก้าวหน้าที่คนผิวดำได้สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ

นอกจากนี้ ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา ทรัมป์ยังได้ยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหารปี 2508 ของอดีตประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ที่ห้ามผู้รับเหมาของรัฐบาลกลางเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และยังพยายามกดดันบริษัทเอกชนที่รับงานจากรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการ DEI โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม

ล่าสุด รัฐบาลทรัมป์ได้เรียกร้องให้พนักงานรัฐรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ DEI ที่อาจถูกซ่อนไว้ โดยกำหนดให้พนักงานแผนก DEI หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างภายในเวลา 17:00 น. ของวันพุธที่ 22 มกราคม และปิดเว็บเพจของหน่วยงาน DEI ทั้งหมดภายในเวลานี้

แคโรไลน์ ลีวิตต์ เลขาธิการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาวกล่าวว่า คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้แล้ว และหน่วยงานของรัฐบาลกลางจะต้องส่งแผนการเลิกจ้างพนักงานภายในวันที่ 31 มกราคม

ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองได้ออกมาต่อต้านการกระทำนี้ โดยมองว่าโครงการ DEI มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่ยาวนาน ขณะที่ทรัมป์และผู้สนับสนุนมองว่า DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันคนอื่น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top