Tuesday, 1 July 2025
WORLD

‘สี จิ้นผิง’ ชี้ ‘ไต้หวัน’ เป็นส่วนหนึ่งของผลแห่งชัยชนะสงครามโลก ย้ำไม่มีใครหยุดการรวมชาติได้ พร้อมขอบคุณรัสเซียที่หนุนหลัง

(7 พ.ค. 68) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เผยแพร่บทความลงนามผ่านหนังสือพิมพ์ “กาเซตต์” ของรัสเซีย ก่อนเดินทางเยือนมอสโกเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปี “ชัยชนะแห่งมหาสงครามผู้รักชาติ” โดยระบุว่า การรวมชาติของจีน โดยเฉพาะการฟื้นฟูไต้หวัน คือกระแสธารทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

สีจิ้นผิงชี้ว่า ปี 2025 จะตรงกับวาระ 80 ปีแห่งการฟื้นฟูไต้หวัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างถึงเอกสารระหว่างประเทศสำคัญอย่างปฏิญญาไคโรและแถลงการณ์พอตส์ดัมที่ยืนยันอธิปไตยเหนือไต้หวันของจีน ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หมายเลข 2758

เขาระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์ภายในไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีแรงกดดันจากกองกำลังภายนอกเพียงใด ก็ไม่อาจขัดขวางเป้าหมายสูงสุดของจีนในการรวมชาติได้ พร้อมเน้นว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจโต้แย้งได้”

ผู้นำจีนยังกล่าวชื่นชมรัสเซียที่ยืนหยัดสนับสนุนหลักการจีนเดียวและการต่อต้านการแบ่งแยกไต้หวัน โดยมอสโกยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากจีน และสนับสนุนทุกมาตรการของรัฐบาลจีนในการบรรลุการรวมชาติ ซึ่งจีนให้ความสำคัญและขอบคุณต่อจุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซีย

การแถลงของผู้นำจีนในครั้งนี้ตอกย้ำจุดยืนอันแข็งกร้าวของปักกิ่งต่อไต้หวัน และสะท้อนการประสานสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ถือเป็นผลประโยชน์หลักร่วมกันของทั้งสองประเทศ

รัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงต่างชาติลงทุน AI–เซมิคอนดักเตอร์ มั่นใจบรรลุเป้าเติบโต 8% ในปีนี้ แม้ไตรมาสแรก GDP ขยายตัวเพียง 6.93%

(7 พ.ค. 68) นายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ (Pham Minh Chinh) ของเวียดนามกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลยังคงยึดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่อย่างน้อย 8% ในปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและภาคธุรกิจเวียดนามโดยตรง

เขาระบุว่า รัฐบาลจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อรักษาสมดุลทางการค้า โดยไม่ให้ตลาดอื่นเสียประโยชน์ พร้อมเดินหน้าต่อต้านการฉ้อโกงการค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งเวียดนามซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ กว่า 30% ของ GDP กำลังเผชิญแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสูงถึง 46%

แม้ GDP ไตรมาสแรกจะขยายตัวเพียง 6.93% ต่ำกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว แต่เวียดนามยังตั้งเป้าการขยายตัวสองหลักในระยะยาว และเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูงและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตล่าสุดชี้ว่ากิจการโรงงานหดตัวต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ขณะที่รัฐบาลอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากความล่าช้าในการเติบโตและความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งทำให้ต้องเร่งใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพภายในประเทศควบคู่กันไป

‘อ.ปิติ’ ย้อนรอยความขัดแย้ง “อินเดีย–ปากีสถาน” จากข้อพิพาทเส้นแบ่งแดนสู่สงครามต่อต้านก่อการร้าย

(7 พ.ค. 68) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย – ปากีสถาน ว่าด้วยความขัดแย้งในเเคว้น #แคชเมียร์

หากกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความลึกซึ้งอย่างมากในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น หนึ่งในปัญหาที่ต้องหยิบยกเอามากล่าวไว้เป็นประเด็นแรกได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนืออาณาบริเวณที่เรียกว่า “แคชเมียร์” (Kashmir) พื้นที่แห่งนี้เป็นอาณาบริเวณอันเป็นที่อาศัยของชนเผ่าฮิมาลายันที่มีหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่มีความสวยงามอย่างมาก กล่าวได้ว่า ตลอดอาณาบริเวณที่มีขนาดราว 86,000 ตารางไมล์ หรือ 222,738 ตารางกิโลเมตรนั้น ถูกห้อมล้อมไปด้วยภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ทะเลสาบอันสวยงาม และทุ่งหญ้าที่มีต้นไม้นานาพรรณ ความสวยงามในภูมิทัศน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวิสเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” (India’s Switzerland) และได้กลายมาเป็น “แม่เหล็ก” ชั้นดีที่ดึงดูดให้ทั้งสองประเทศต่างต้องการครอบครองดินแดนแห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองให้ได้

อันที่จริงแล้ว หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ความขัดแย้งเหนือพื้นที่แคชเมียร์ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปีค.ศ.1947 โดยที่รัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพแห่งอินเดีย (the Indian Independence Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถานในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1947 นั้น ได้นำไปสู่การแบ่งแยกปากีสถานออกเป็นปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในปัจจุบัน) ตลอดจนการแบ่งแยกกลุ่มมุสลิม ฮินดู และซิกข์อย่างชัดเจน ผลจากการแบ่งแยกที่ว่านี้ได้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้  สำหรับพื้นที่แคชเมียร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำของดินแดนแห่งนี้มีอิสระในการเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน แต่เดิมทีกษัตริย์ที่ปกครองแคชเมียร์ในเวลานั้นที่มีพระนามว่า ฮารี ซิงข์ (Hari Singh) ต้องการให้แคว้นแคชเมียร์มีสถานะของการเป็นรัฐเอกราชที่มีอิสระในตนเอง แต่จากการที่อินเดียเข้ามาช่วยเหลือดินแดนแห่งนี้ให้พ้นจากการเข้ามารุกรานของชนเผ่าพื้นเมืองปากีสถาน ส่งผลให้กษัตริย์ฮารี ซิงข์ ตัดสินใจเลือกอยู่กับอินเดียในเดือนตุลาคม ค.ศ.1947 

ผลจากการตัดสินใจของผู้นำแคชเมียร์ในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอินเดียและปากีสถานที่ต่างจับจ้องอยากผนวกเอาพื้นที่แห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตนเอง รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจาวาฮาลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ได้ร้องขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งในประเด็นแคชเมียร์ องค์การสหประชาชาติในเวลานั้นได้ให้คำแนะนำกับผู้นำของทั้งสองประเทศว่า ควรให้ประชากรของแคชเมียร์ได้ลงคะแนนประชามติว่า พวกเขาต้องการอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน ถึงแม้ว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ทั้งสองประเทศก็ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1949 ในที่สุด 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในแคชเมียร์ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นเขตควบคุม (Line of Control) เป็นเส้นแบ่ง กล่าวคือ พื้นที่ตอนเหนือของเส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยปากีสถาน (Pakistan-Administered Kashmir) ในขณะพื้นที่ใต้เส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยอินเดีย (India-Administered Kashmir) ตามภาพ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศได้มีข้อตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่เป็นระยะ ในปีค.ศ.1965 และปีค.ศ.1999 ได้เกิดสงครามขนาดย่อมระหว่างสองประเทศขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายเริ่มฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงก่อน และการใช้อาวุธของตนเองนั้นเป็นการตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายเท่านั้น ในช่วงระหว่างปีค.ศ.2014-2015 ทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับความขัดแย้งในเรื่องแคชเมียร์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น ในปีค.ศ.2014 นายกรัฐมนตรีโมดี (Modi) ได้เชิญนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) แห่งปากีสถานมาร่วมงานแถลงนโยบายในการเข้ารับตำแหน่งของโมดี หรือการเดินทางไปเยือนปากีสถานของโมดีเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่มีผู้นำจากอินเดียเดินทางไปเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้กลับไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม สัญญาณของความล้มเหลวที่สำคัญเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.2016 เมื่อมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธได้เข้ามาโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นเขตควบคุม กองทัพของอินเดียประกาศโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งเส้นเขตควบคุมของปากีสถานในทันที ผลพวงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงในบริเวณแนวแล้วชายแดนของเส้นเขตควบคุมอยู่เป็นระยะ เช่น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2017 ได้มีการโจมตีหน่วยพลร่มของอินเดียใกล้กับศรีนาคา (Srinagar) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 ได้มีการโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียในจามูร์ (Jammu) ตลอดปีค.ศ.2017-2018 ได้มีการโจมตีในลักษณะนี้กว่าหนึ่งพันครั้ง ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้มีเครือข่ายหรือเป็นตัวแทนของกลุ่มจิฮาด (Jihad) ที่มาจากอัฟกานิสถานด้วย  เหตุการณ์นี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ความสลับซับซ้อนเหนือพื้นที่แคชเมียร์ ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน แต่กลับมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อมีกลุ่มติดอาวุธจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายเข้ามาเป็นตัวแปรร่วมที่สำคัญด้วย 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมีความพยายามในการจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ปรากฏว่าบทบาทของอินเดียในการต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในแคชเมียร์ มักไปเกี่ยวโยงกับที่ตั้งของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเขตปกครองแคชเมียร์ของปากีสถานด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงอยู่ท่ามกลางแรงกดดันและความระแวงระวังกันตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน รวมทั้งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ณ สถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบัน

ทรัมป์จัดทัพ ‘เบสเซนต์-กรีเออร์’ ลุยเจนีวา ถก ‘เหอ หลี่เฟิง’ ฟื้นสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘สหรัฐ-จีน’ หนแรกในรอบเดือน

(7 พ.ค. 68) สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Ingraham Angle ของ Fox News เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ย้ำว่าการพบเจ้าหน้าที่จีนในสวิตเซอร์แลนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น “ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่” แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความตึงเครียด พร้อมระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ไม่ต้องการแยกตัวทางการค้าจากจีน ยกเว้นในบางอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยา และเหล็กกล้า

เบสเซนต์และจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปเจนีวาในวันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อพบกับคารีน เคลเลอร์-ซัทเทอร์ ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และเจรจากับเหอ หลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างสองมหาอำนาจ

เหอ หลี่เฟิง วัย 70 ปี มีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าเขาจัดการประชุมกับชาวต่างชาติมากถึง 60 ครั้งในรอบปี เพิ่มขึ้นจาก 45 ครั้งก่อนหน้านั้น เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่สามารถ “ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้” และได้รับคำชื่นชมจากนักธุรกิจต่างชาติที่พบปะกับเขาในกรุงปักกิ่ง

กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จีนตกลงกลับเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง โดยอิงจาก “ผลประโยชน์ของจีน ความคาดหวังจากทั่วโลก และความต้องการของอุตสาหกรรมกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ” พร้อมเตือนว่า จีนจะไม่ยอมให้การเจรจาถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันหรือข่มขู่ โดยอ้างสุภาษิตจีนว่า “จงฟังสิ่งที่พูด และเฝ้าดูการกระทำ”

เบสเซนต์กล่าวเพิ่มเติมต่อสภาคองเกรสว่าสหรัฐกำลังเจรจาการค้ากับพันธมิตร 17 ประเทศ โดยการเจรจากับจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอาจมีการประกาศข้อตกลงกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการหารือกับจีนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างเป็นทางการหรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐและจีนยังเปรียบได้กับ “เกมแมวไล่จับหนู” ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาท่าทีของตน ไม่ยอมเป็นฝ่ายถอยก่อนในสงครามภาษีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

รัฐบาลทรัมป์ เปิดโครงการให้เงิน 1,000 ดอลลาร์ แก่ผู้เข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย แลกความสมัครใจออกจากสหรัฐฯ กลับประเทศบ้านเกิด…โดยไม่ต้องถูกจับ

(7 พ.ค. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศโครงการใหม่เสนอเงิน 1,000 ดอลลาร์ (ราว 34,000 บาท) ให้แก่ผู้อพยพที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หากยินยอมเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด โดยจะได้รับเงินหลังเดินทางถึงประเทศปลายทางและยืนยันผ่านแอปพลิเคชัน CBP Home ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิพัฒนาขึ้นใหม่

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของกระบวนการจับกุมและเนรเทศผู้อพยพ ซึ่งโดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 17,000 ดอลลาร์ต่อคน ขณะที่การสมัครใจเดินทางกลับโดยได้รับเงินช่วยเหลือ จะช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 70% ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้ต้องกักขัง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถกลับเข้าสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายในอนาคตได้

โฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่ามีผู้อพยพรายแรกที่เข้าร่วมโครงการแล้ว โดยได้รับตั๋วเครื่องบินจากชิคาโกกลับฮอนดูรัส พร้อมมีการจองเที่ยวบินเพิ่มเติมให้กับผู้สมัครใจเดินทางกลับในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า รัฐบาลจะให้โอกาสแก่ “คนดี” ที่จากไปอย่างสมัครใจ ได้กลับเข้ามาอีกครั้ง

โครงการนี้ต่อยอดมาจากแอปฯ CBPOne ที่ริเริ่มในยุครัฐบาลโจ ไบเดน โดยถูกทรัมป์สั่งปิดและดัดแปลงใหม่เป็น CBP Home ซึ่งเน้นใช้เพื่อการเดินทางออกนอกประเทศ มากกว่าการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายตามแบบเดิม

ญี่ปุ่นเริ่มสร้าง MGM Osaka ‘รีสอร์ตคาสิโนแห่งแรก’ บนเกาะเทียมยูเมะชิมะ มูลค่า 1.27 ล้านล้านเยน หวังปั้นโอซาก้าเป็นฮับท่องเที่ยว-บันเทิงระดับเอเชีย

(7 พ.ค. 68) เมื่อเดือนเมษายน 2025 ญี่ปุ่นได้เริ่มต้นการก่อสร้าง 'MGM Osaka' รีสอร์ตครบวงจรแห่งแรกของประเทศ บนเกาะเทียมยูเมะชิมะ เมืองโอซาก้า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง MGM Resorts International จากสหรัฐฯ และ Orix Corporation จากญี่ปุ่น มูลค่ารวมกว่า 1.27 ล้านล้านเยน (ราว 311,500 ล้านบาท)

MGM Osaka ได้รับอนุมัติภายใต้กฎหมาย IR ปี 2018 ซึ่งอนุญาตให้สร้างรีสอร์ตคาสิโนแบบถูกกฎหมายได้สูงสุด 3 แห่งทั่วประเทศ โดย MGM Osaka เป็นโครงการแรกที่ผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการ นับเป็นก้าวสำคัญของญี่ปุ่นในการเปิดตลาดคาสิโน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคคันไซ

โครงการประกอบด้วยคาสิโน โรงแรม 3 แห่งกว่า 2,500 ห้อง ศูนย์ประชุม พื้นที่แสดงสินค้า โรงละคร ร้านอาหาร และค้าปลีก โดยคาดว่าจะสร้างรายได้จากการเล่นเกมราว 5.9 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานนับหมื่นตำแหน่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

แม้จะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง แต่โครงการต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านจากประชาชนบางกลุ่มที่กังวลเรื่องปัญหาการพนัน การฟอกเงิน และผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรม โครงการจึงมีการจำกัดการเข้าคาสิโนของคนญี่ปุ่น และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อควบคุมความเสี่ยง

ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการกระตุ้นการพัฒนาเมืองอย่างชัดเจน เช่น การเปิดสถานีรถไฟใต้ดินใหม่ในต้นปี 2025 และการขยายสายรถไฟเชื่อมเกาะยูเมะชิมะ ขณะเดียวกัน การก่อสร้างจะถูกปรับแผนช่วงงาน Expo 2025 ซึ่งจัดบนเกาะเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมงาน

MGM Osaka จึงไม่เพียงเป็นโครงการคาสิโนแห่งแรกของญี่ปุ่น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบาย มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงและการบริการอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบการจัดสมดุลระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม

‘อังกฤษ’ อัปเดตแผนลับฉุกเฉินรับมือภัยคุกคาม ‘รัสเซีย’ เตรียมพร้อมทั้งอพยพราชวงศ์-ต้านขีปนาวุธ-การโจมตีทางไซเบอร์

(6 พ.ค. 68) สหราชอาณาจักรกำลังทบทวนและปรับปรุงแผนการป้องกันประเทศฉบับลับที่ไม่ได้อัปเดตมาตั้งแต่ปี 2005 ท่ามกลางความกังวลต่อความเป็นไปได้ของการโจมตีจากรัสเซีย โดยเฉพาะในรูปแบบของขีปนาวุธ นิวเคลียร์ และไซเบอร์ ตามรายงานของ The Telegraph

เอกสารแผนลับดังกล่าวระบุขั้นตอนฉุกเฉิน เช่น การอพยพรัฐบาลและราชวงศ์ไปยังหลุมหลบภัย การประสานการออกอากาศฉุกเฉิน และการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างระบบขนส่งและการสื่อสาร เพื่อให้ประเทศสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่องในภาวะวิกฤต

รายงานยังเปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดทำสถานการณ์จำลองการโจมตีแบบผสมผสาน ทั้งขีปนาวุธและไซเบอร์ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง รัฐมนตรีหลายรายแสดงความกังวลถึงความพร้อมของประเทศในการรับมือสงครามสมัยใหม่

ในอีกด้าน สหราชอาณาจักรยังตรวจพบเซ็นเซอร์สอดแนมของรัสเซียในน่านน้ำใกล้ชายฝั่ง ซึ่งอาจถูกใช้เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของอังกฤษ เหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงภัยคุกคามเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังทวีความรุนแรงในภูมิภาค

แผนการทั้งหมดอยู่ภายใต้ความลับอย่างเข้มงวด และไม่น่าจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะในอนาคตอันใกล้ ขณะที่การสอดแนมและความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียยังคงเป็นประเด็นเฝ้าระวังหลักของรัฐบาลอังกฤษต่อไป

เรื่องราวชีวิตของจางเจี้ยนเหอ ผู้สร้าง ‘หว่านไจ๋หม่าโถว’ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่พลิกชีวิตจากความสิ้นหวังสู่อาณาจักรเกี๊ยวระดับโลก

(6 พ.ค. 68) จางเจี้ยนเหอ หรือ “Chong Kin Wo” คือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เปลี่ยนเกี๊ยวจีนข้างถนนให้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก “หว่านไจ๋หม่าโถว” ด้วยยอดขายกว่า 6,000 ล้านหยวน 

ชีวิตของเธอเริ่มต้นจากความลำบาก หลังสามีทิ้งไปและเธอเดินทางมาฮ่องกงกับลูกสาวเพื่อหาสามีที่หายไป แต่พบว่าถูกทิ้งจนต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากและต้องทำงานหลายอย่างเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ โดยเธอเริ่มจากการขายเกี๊ยวริมถนนที่ท่าเรือ และต่อมาก็สร้างโรงงานผลิตเกี๊ยวภายใต้ชื่อ “หว่านไจ๋หม่าโถว” ซึ่งเริ่มขยายเข้าสู่ตลาดเกี๊ยวแช่แข็งและกลายเป็นเจ้าตลาดในฮ่องกงภายในไม่กี่ปี

ความสำเร็จของเธอไม่ได้มาจากโชคชะตา แต่เป็นผลจากความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ โดยในช่วงต้นเธอปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาลและเงินชดเชยที่เสนอให้ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและสอนลูกๆ ให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง จางเจี้ยนเหอได้เริ่มต้นจากแผงลอยบนถนนและสร้างแบรนด์ด้วยความตั้งใจและการเลือกพันธมิตรที่เหมาะสม จนกระทั่งได้รับการร่วมทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกา General Mills

การขยายแบรนด์หว่านไจ๋หม่าโถวไม่เพียงแค่ส่งสินค้าคุณภาพไปทั่วโลก แต่ยังคำนึงถึงเสียงจากลูกค้าด้วย จางเจี้ยนเหอได้ปรับกระบวนการผลิตตามคำแนะนำของลูกค้า และยึดมั่นในคุณภาพสูงสุด โดยใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดและการควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด

ในปี 2001 บริษัท General Mills ได้ซื้อกิจการ Pillsbury และเข้ามาเป็นเจ้าของแบรนด์ “หว่านไจ๋หม่าโถว” ด้วยการลงทุนอย่างมหาศาล และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าให้ดียิ่งขึ้น จางเจี้ยนเหอได้เห็นว่าความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงนั้นสำคัญในการทำธุรกิจในระดับโลก

แม้เธอจะพบความสำเร็จ แต่ก็ไม่เคยลืมจุดเริ่มต้น เธอยังคงมีความเชื่อมั่นในวิธีการทำธุรกิจที่มีความละเอียดอ่อนและเอาใจใส่ลูกค้า เธอเคยกล่าวว่า “ทุกสิ่งที่เรามีในวันนี้ เป็นเพราะคำแนะนำและเสียงสะท้อนจากลูกค้า”

จนถึงที่สุด แบรนด์ “หว่านไจ๋หม่าโถว” กลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยสามารถส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ผ่านระบบ cold chain ที่แข็งแกร่ง และยังคงรักษาภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพสูงและความพรีเมียม

จางเจี้ยนเหอเสียชีวิตในปี 2019 ด้วยวัย 74 ปี แต่เรื่องราวของเธอคือการต่อสู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายล้านคน เธอไม่เพียงแค่สร้างแบรนด์หมื่นล้าน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นและศักดิ์ศรีที่ไม่ยอมแพ้ในทุกสถานการณ์

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศยุทธศาสตร์ ‘เอเชียบริหารเอเชีย’ หวังลดบทบาทสหรัฐฯ ในภูมิภาค พร้อมประกาศแผนสร้างเสถียรภาพใหม่

(6 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ที่มุ่งเน้นการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย พร้อมประกาศ “เอเชียบริหารเอเชีย” โดยระบุว่า “เรื่องของเอเชีย คนเอเชียต้องจัดการเอง” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ว่าอาจถึงเวลาที่จะลดอิทธิพลในภูมิภาคนี้และเปิดทางให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเสถียรภาพ

ยุทธศาสตร์นี้ได้รับการขยายผลทันทีในการเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา โดยสี จิ้นผิงใช้โอกาสนี้เน้นย้ำการเป็น “เพื่อน” ของจีนในภูมิภาคและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันต่อต้านแรงกดดันจากภายนอก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในเอเชีย

การผลักดันแนวคิด “เอเชียบริหารเอเชีย” นั้นมีรากฐานมาจาก “Asian Security Concept” ที่จีนเคยประกาศไว้ในปี 2014 ซึ่งเสนอทางเลือกใหม่ให้กับประเทศในเอเชียในการรักษาความมั่นคงโดยไม่พึ่งพาการแทรกแซงจากสหรัฐฯ หรือประเทศตะวันตก โดยสีจิ้นผิงเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียสามารถจัดการปัญหาภายในได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับจีนยังคงมีอยู่ เนื่องจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และความไม่ไว้วางใจจากบางประเทศในภูมิภาคที่ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของจีนในระยะยาว แม้จะมีการเสนอแนวทางการร่วมมือ แต่หลายฝ่ายยังคงจับตาดูว่าใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารเอเชียในที่สุด

‘สี จิ้นผิง-ปูติน’ เตรียมร่วมหารือเชิงยุทธศาสตร์กลางพิธีรำลึกสงครามโลก ท่ามกลางคำขู่ของ ‘เซเลนสกี’ ลั่นชาติตะวันตก…คิดให้ดีก่อนร่วมงานที่รัสเซีย

(6 พ.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ทำเนียบเครมลินประกาศผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เตรียมหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ถึงการกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ พร้อมลงนามในเอกสารสำคัญหลายฉบับในช่วงงานรำลึกวันแห่งชัยชนะของรัสเซีย

สำหรับเนื้อหาการหารือจะครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้นำจากหลายประเทศ เช่น บราซิล เซอร์เบีย และสโลวาเกีย เดินทางไปร่วมงานรำลึก ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม รำลึกการที่สหภาพโซเวียตสามารถขับไล่นาซีกลับไปเบอร์ลินได้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้านประธานาธิบดีปูตินเสนอหยุดยิงกับยูเครนเป็นเวลา 3 วันในช่วงวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ปฏิเสธแนวคิดนี้ พร้อมยืนยันว่า “การหยุดยิงที่ไม่มีเงื่อนไข” ควรมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้มีผลอย่างแท้จริง โดยระบุว่า “ในเวลาเพียง 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้มันมีความหมายอะไรขึ้นมา”

เซเลนสกียังเตือนผู้นำต่างชาติที่วางแผนเดินทางไปรัสเซียในช่วงวันงานว่า “สำหรับทุกประเทศที่วางแผนจะเดินทางไปรัสเซียในวันที่ 9 พฤษภาคม เราไม่สามารถรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนของรัสเซียได้” โดยเป็นถ้อยแถลงระหว่างการแถลงข่าวตามรายงานของอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งเปิด ‘คุกอัลคาทราซ’ อีกครั้ง หลังปิดไป 60 ปี เตรียม!! ขังอาชญากรโหด

(5 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เผยว่า ได้สั่งการให้รัฐบาลเปิดและต่อเติมอัลคาทราซ อดีตเรือนจำชื่อกระฉ่อน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก ที่ปิดมานานกว่า 60 ปีอีกครั้ง

ทรัมป์ระบุผ่านโพสต์บนทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่า "นานเกินไปแล้วที่อเมริกาเต็มไปด้วยอาชญากรที่โหดร้าย รุนแรง และกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเดนสังคมที่ไม่เคยทำอะไรนอกจากสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ยาก เมื่อก่อนตอนที่เราเป็นชาติที่จริงจังกว่านี้ เราไม่เคยลังเลที่จะกักขังอาชญากรอันตรายเหล่านี้และกีดกันให้พวกเขาออกจากใครก็ตามที่เขาจะทำร้ายได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไม วันนี้ผมจึงได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เอฟบีไอ (FBI) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เปิดเรือนจำอัลคาทราซ ที่ได้รับการต่อขยายและบูรณะขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อใช้คุมขังผู้กระทำความผิดที่โหดเหี้ยมและรุนแรงที่สุดในอเมริกา"

โดยคำสั่งดังกล่าวของทรัมป์ถือเป็นความพยายามล่าสุดในการยกเครื่องวิธีการและสถานที่คุมขังนักโทษของรัฐบาลกลางและผู้ต้องขังในคดีตรวจคนเข้าเมือง แต่การดำเนินการดังกล่าวน่าจะมีความยากลำบากและค่าใช้จ่ายที่สูงจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรมและต้นทุนในการซ่อมแซมและจัดหาสิ่งของต่างๆที่สูง เนื่องจากต้องขนทุกอย่างตั้งแต่เชื้อเพลิงไปจนถึงอาหารมาทางเรือ

ทั้งนี้ เรือนจำอัลคาทราซแห่งนี้ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2506 และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งขึ้น!! ภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่สร้างนอกสหรัฐฯ 100% ส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

(5 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า … 

การที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่สร้างนอกสหรัฐฯ 100% สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

นายโทนี่ เบิร์ค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ตอบโต้กลับโดยระบุว่า พวกเขาจะปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนอย่าง "ชัดเจน"
ด้านนายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน ของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า พวกเขากำลังรอรายละเอียดอยู่ แต่ไม่ต้องกังวล พวกเขาจะเป็น "แชมป์เปี้ยนที่ยิ่งใหญ่" สำหรับทีมงานภาพยนตร์ของพวกเขา

หมายเหตุ : ประมาณ 20-30% ของภาพยนตร์อเมริกัน โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ใช้งบสูง จะถ่ายทำในต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำกว่า แรงจูงใจทางภาษี และสถานที่ถ่ายทำที่หลากหลาย

‘มาเลเซีย’ ไม่เคยมีดินแดน หรือพรมแดนทางด้านเหนือ มากกว่าที่มีอยู่ ‘มลายา’ ไม่ได้เป็นประเทศเดียว หรือรัฐที่รวมศูนย์ แต่เป็น กลุ่มรัฐอิสระ 

(5 พ.ค. 68) อ.แพท แสงธรรม ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

SODOMIZED NARRATIVE:
คำพูดของมหาเธร์ คือ วาทกรรม กะโหลกกะลา มาเลเซียไม่เคยมีดินแดน หรือพรมแดนทางด้านเหนือมากกว่าที่มีอยู่ และก่อนปี พ.ศ. 2329 ดินแดนที่เป็น มลายา หรือคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรือรัฐที่รวมศูนย์ แต่เป็น กลุ่มรัฐอิสระ ที่มีระบบการปกครองของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็น รัฐสุลต่านมลายู ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจักรวรรดิใหญ่โดยรอบ เช่น จักรวรรดิมลายู เมืองมะละกา, อโยธยา, และ จักรวรรดิอิสลามในชวา ดินแดนที่อ้างว่าเสียให้ไทย ตกไปเป็นของอังกฤษ และก็ได้คืนไปแล้ว จึงได้ก่อตั้งประเทศมาเลเชีย เมื่อ 62 ปีก่อน (พ.ศ. 2506) ผู้ที่เป็นเด็กในยุคก่อนนั้น จะรู้จักแต่ มาลายู หรือ มาลายา ไม่มี "มาเลเซีย" 

มหาเธร์ เป็นผู้นำของมาเลเซีย ที่ชาวมาเลเซีย ถือว่ายิ่งใหญ่ นำความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาประเทศในหลายมิติให้กับมาเลเชีย ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร ไม่เกรงกลัวอิทธิพลตะวันตก แต่ในการเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง(ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525-2539 และครั้งที่สองในปี 2552-2562) ก็มีข้อสงสัยและการต่อต้าน ด้วยพฤติกรรมใช้อำนาจแบบเผด็จการ ปิดปากฝ่ายตรงข้ามและสื่อมวลชน มีกรณีเรื่องคอรัปชั่น และรัฐบาลของเขา เป็นผู้ดำเนินคดีกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย ด้วยคดีคอรัปชั่นและคดีร่วมเพศทางทวารหนัก (มีเซ็กส์กับผู้ชาย) จนนายอันวาร์ ถูกตัดสินจำคุก 6 ปีในข้อหาคอร์รัปชัน และอีก 9 ปีในข้อหาการร่วมเพศกับบุรุษ 

คำตัดสินในคดีของอันวาร์ได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งมองว่าการพิจารณาคดีเหล่านั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง ในปี 2004 ศาลสูงสุดของมาเลเซียได้ให้คำตัดสินในคดีร่วมเพศกับบุรุษเป็นโมฆะ ส่งผลให้อันวาร์ได้รับการปล่อยตัว แต่เขาถูกตัดสินจำคุกอีกครั้งในข้อหาคล้ายกันในปี 2015 แต่ได้รับการอภัยโทษจากกษัตริย์ในปี 2018 (“ยังก์ดีเปอร์ตวนอากง" Yang di-Pertuan Agong หมุนเวียนจากรัฐต่างๆ ทุก 5 ปี)

ในขณะนั้น ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีต่ออันวาร์ แม้ว่ามหาเธร์จะไม่ได้เป็นผู้ยื่นฟ้องโดยตรง แต่เขามีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองในช่วงเวลานั้น.... อาการฟูมฟายโทษประเทศไทยเรื่องดินแดนที่มีขนาดเท่าที่เห็น อาจจะเกิดจากความโหยหา การร่วมเพศทางประตูหลัง ที่ขาดแคลนมานาน
**

คาบสมุทรมลายู (ซึ่งในอดีตมักเรียกว่า "มลายา") ค่อย ๆ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยสามารถสรุปเหตุการณ์สำคัญได้ดังนี้

ปี 1786 (พ.ศ. 2329 ตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1)) – บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้รับสิทธิ์ครอบครอง เกาะปีนัง จากสุลต่านแห่งเกอดะฮ์ (ไทรบุรี) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของอังกฤษในภูมิภาคนี้

ปี 1819 (พ.ศ. 2362) – เซอร์สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ก่อตั้ง สิงคโปร์ ขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ของอังกฤษ

ปี 1824 (พ.ศ. 2367) – สนธิสัญญาอังกฤษ–ดัตช์ กำหนดให้พื้นที่คาบสมุทรมลายูอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ส่วนดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ได้ครอบครองหมู่เกาะอินโดนีเซียในปัจจุบัน ถือเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลอย่างเป็นทางการ

ปี 1826 (พ.ศ. 2369) – อังกฤษจัดตั้งอาณานิคมที่เรียกว่า นิคมช่องแคบ (Straits Settlements) ซึ่งรวมปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ไว้ด้วยกัน

ปี 1874 (2417) – สนธิสัญญาปังโกร์ ทำให้อังกฤษเริ่มเข้ามาแทรกแซงการปกครองภายในของรัฐมลายู โดยเริ่มจากรัฐ เประ ภายใต้ข้ออ้างในการยุติความขัดแย้งภายใน

ปี 1895 (พ.ศ. 2438) – อังกฤษรวมรัฐมลายูบางส่วน (เประ เซอลาโงร์ เนกรีเซมบิลัน และปะหัง) เข้าด้วยกันเป็น สหพันธรัฐมลายู (Federated Malay States) โดยมีข้าหลวงอังกฤษประจำแต่ละรัฐ ปกครองผ่านระบบ “อาณานิคมโดยอ้อม”

ปี 1909 (พ.ศ. 2452 ในรัชสมัยของ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)) – สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม โอนรัฐมลายูทางเหนือ ได้แก่ เคดาห์ กลันตัน ปะลิส และตรังกานู จากอิทธิพลของสยามไปอยู่ภายใต้อังกฤษ - รัฐทั้ง 4 รัฐนี้ มีสถานะเป็นรัฐบรรณาการของสยาม มีผู้ปกครองของตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและยอมรับอำนาจอธิปไตยของสยาม สยามไม่ได้ปกครองรัฐเหล่านี้โดยตรงในลักษณะของอาณานิคม แต่มีอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่เหล่านี้มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

ภายในปี 1910 (พ.ศ. 2453) - ดินแดนส่วนใหญ่ในคาบสมุทรมลายูก็ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทั้งทางตรง (เช่น นิคมช่องแคบ) และทางอ้อม (รัฐมลายูต่าง ๆ)

ก่อนปี พ.ศ. 2329 ดินแดนที่เป็น มลายา หรือคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรือรัฐที่รวมศูนย์ แต่เป็น กลุ่มรัฐอิสระ ที่มีระบบการปกครองของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็น รัฐสุลต่านมลายู ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจักรวรรดิใหญ่โดยรอบ เช่น จักรวรรดิมลายู เมืองมะละกา, อโยธยา, และ จักรวรรดิอิสลามในชวา

‘คาซัคสถาน’ เตรียมเป็นเจ้าภาพ ‘Astana International Forum 2025’ เวทีที่รวมผู้นำโลก นักเศรษฐศาสตร์ และนักคิดระดับนานาชาติ

(5 พ.ค. 68) ในวันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2568 กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน จะกลายเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงระดับโลกอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลคาซัคสถานประกาศจัดเวที Astana International Forum 2025 (AIF2025) ภายใต้แนวคิด “Connecting Minds, Shaping the Future” (เชื่อมโยงความคิด สร้างอนาคตร่วมกัน)

ภายใต้สถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และระบบการเงินที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน คาซัคสถานจึงเสนอให้ AIF เป็นพื้นที่กลาง (neutral platform) สำหรับการสร้างความเข้าใจร่วม และพัฒนาทางออกที่ใช้ได้จริงโดยไม่ยึดโยงกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

3 หัวข้อหลักที่เวทีจะเน้นในปีนี้ ได้แก่:
• 🌐 การต่างประเทศและความมั่นคง: สำรวจมิติใหม่ของความมั่นคงโลกหลังยุคสงครามเย็น
•⚡️ พลังงานและสภาพอากาศ: ถ่วงดุลระหว่างความต้องการพลังงานและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
• 💰 เศรษฐกิจและการเงินโลก: เสนอแนวทางใหม่ในการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ

รายชื่อผู้เข้าร่วมในอดีตที่สร้างความน่าสนใจให้เวทีนี้ ได้แก่:
• เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัลธานี
• ประธานาธิบดีคีร์กีซสถาน ซาดีร์ จาปารอฟ
• ผู้อำนวยการ UNESCO ออเดรย์ อาซูเลย์
• ผู้อำนวยการ IMF คริสตาลินา จอร์จีวา

ในปี 2025 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยรายจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยรวมถึงผู้นำประเทศ ผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชน นักคิด นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ

ภาพแห่งความรักที่งดงามของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี แห่งภูฏาน กับสมเด็จพระราชินี เจ้าชาย และพระธิดาน้อย ในทะเลทรายโกบี

(5 พ.ค. 68) แสงแห่งความรัก และอบอุ่นหัวใจของครอบครัวพระราชา

ภาพแห่งความรักที่งดงามของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี แห่งภูฏาน กับสมเด็จพระราชินี เจ้าชาย และพระธิดาน้อย

รอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนในค่ำคืนหนึ่งของทะเลทรายโกบี เป็นภาพสะท้อนถึงพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยครอบครัว — เฉกเช่นเดียวกับความรักอันลึกซึ้งที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรชาวภูฏาน

และนั่นเอง...ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงร่วมรับเสด็จในหลวงของไทยอย่างอบอุ่น ใส่ใจ และเปี่ยมด้วยไมตรีจิตสมกับเป็นมิตรแท้ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง

ขอขอบคุณ Gan-Ulzii Photographer ซึ่งคุณ Gan Ulzii เป็นช่างภาพประจำประธานาธิบดีแห่งมองโกเลีย ผู้บันทึกภาพนี้ไว้ได้อย่างละเมียดละไม และอนุญาตให้เผยแพร่เพื่อแบ่งปันความประทับใจให้กับชาวโลก 
(ภาพถ่าย ณ ทะเลทรายโกบี ระหว่างการเสด็จเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top