(4 ธ.ค. 65) World Update เผยว่า ภายหลังรัฐบาลสหราชอาณาจักร เดินตามแนวทางของสหรัฐฯ ร่วมคว่ำบาตรพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย...ผ่านมา 9 เดือน ผลปรากฏเศรษฐกิจเละ เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คนพร้อมคณะรัฐมนตรีอีก 300 ตำแหน่ง (ครม.อังกฤษมี 100 ตำแหน่ง/ชุด)
อัตราเงินเฟ้อทะยานอวกาศเป็น 11.1% เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 41 ปี เกิดม็อบสหภาพแรงงานต่าง ๆ นัดหยุดงานประท้วงไม่เว้นแต่ละวัน เมืองใหญ่คราคร่ำไปด้วยม็อบเผาบิลค่าไฟฟ้าที่แพงจัดจนจ่ายไม่ไหว กลายเป็นฝันร้ายสำหรับคนนับล้าน
มีการคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษแท้จริงคือ 13.8% ไปแล้วแต่เมื่อรัฐบาล เยียวยาบางส่วนจึงอยู่ที่ 11.1% ส่งผลให้ลักลั่นกับค่าครองชีพที่ทะยานโด่งลิ่วไปก่อน
แต่ถึงกระนั้นนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ ก็ยังคงสานต่อนโยบายรัฐบาลชุดเดิม คือ คว่ำบาตรพลังงานราคาถูกรัสเซีย น้ำเข้าราคาแพงจากสหรัฐฯ และเป็นปฏิปักษ์จีน ด้วยการประกาศว่าความสัมพันธ์ยุคทองระหว่างอังกฤษกับจีนได้จบลงแล้ว เนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกล้ำหน้าอังกฤษเกินไป
นอกจากนี้อังกฤษ ยังคงยื้อความขัดแย้งสงครามในยูเครนต่อไป เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นผู้ให้เงินช่วยเหลือ (เงินกู้) ค่าอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน รองจากสหรัฐฯ มูลค่า 2,300 ล้านปอนด์ (99,568 ล้านบาท)
ขณะที่ปัจจัยค่าพลังงานแพง ซ้ำเติมด้วยเงินคลังไหลออกติดหล่มสงครามที่ไม่รู้จะได้เงินคืนเมื่อใด ยิ่งซ้ำเติมให้เงินหมุนเวียนภายในชาติหดหายลงไปอีก
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ ได้ประเมินว่าครัวเรือนต้องจ่ายค่าเครื่องทำความร้อนและแสงสว่างสูงกว่าปีที่แล้วถึง 88.9%
และภายในสิ้นปีนี้ จะมีค่าใช้จ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเฉลี่ย 4,960 ปอนด์/ครอบครัว ซึ่งมากกว่าปีก่อนถึง 380 ปอนด์
โพลสำรวจความคิดเห็นยังระบุอึกว่า ชาวอังกฤษมากถึง 85% หรือเกือบทั้งประเทศ วิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในชีวิตความเป็นอยู่
ชาวอังกฤษทั่วประเทศต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงคริสต์มาสปีนี้ และมีการขาดแคลนไก่งวงและนกในฤดูหนาว อาหารค่ำวันคริสต์มาสกลายเป็นภาระที่น่าเป็นห่วงสำหรับครอบครัวชาวอังกฤษจำนวนมาก
โพลระบุอีกว่า 20% ของครอบครัวในอังกฤษ จะขอให้แขกมาบ้านช่วยจ่ายค่าอาหารค่ำวันคริสต์มาส รวมถึงวางแผนที่จะใช้จ่ายของขวัญในปีนี้น้อยลงมากกว่า 36.3% และไม่สามารถจ่ายเงินฟุ่มเฟือยได้เหมือนที่ผ่านมา 33%
หากย้อนไปในเดือนที่ผ่านมา ราคาวัตถุดิบในครัวเรือน เช่น นม, เนย, ชีส, เนื้อ และขนมปัง เพิ่มขึ้นสูงถึง 42% ทำให้ชาวอังกฤษต้องพึ่งพาธนาคารอาหารบริจาคมากขึ้นกว่าเดิม
จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแพง และอาหาร ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักของภาระค่าครองชีพที่สูงเป็นประวัติการณ์ ชาวอังกฤษกำลังดิ้นรนอย่างสุดชีวิตเพื่อเอาตัวรอด ผลกระทบต่อหลายพื้นที่ของเวลส์อย่างหนัก
ชาวเวลล์บางส่วนไม่ได้รับค่าจ้างมากพอที่จะซื้อสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพที่ไม่สามารถจ่ายไหว ต้องใช้ชีวิตมาตรฐานระดับต่ำสุดเพื่อเลี้ยงครอบครัว
ชุมชนที่ยากไร้มากที่สุด 6 แห่งของเวลส์อยู่ในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ครอบครัวจำนวนมากขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ คือ 'อาหาร'