Friday, 29 March 2024
EDUCATION NEWS

หลาย ๆ คนอาจยังไม่เชื่อใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 นำไปสู่การคัดค้านไม่ให้คนในครอบครัวฉีดด้วย ในประเทศเนเธอร์แลนด์เกิดกรณีเด็กวัย 12 ขวบ ฟ้องร้องพ่อตัวเอง ที่ไม่ให้ฉีดวัคซีน เพราะต้องการไปเยี่ยมคุณยายที่กำลังจะเสียชีวิต

ที่เมืองโกรนิงเงิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เด็กวัย 12 ขวบ ชนะการฟ้องร้องในชั้นศาลเพื่อขอให้ตัวเองได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เพราะผู้เป้นพ่อไม่ยอมให้ฉีด ส่วนสาเหตุในการฉีดคือ เด็กชายต้องการเดินทางไปเยี่ยมคุณยายที่กำลังจะเสียชีวิต 

ในกรณีนี้ส่งผลให้ผู้พิพากษาตัดสินว่า การฉีดวัคซีนโรคระบาดโควิด-19 จะลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังคุณยายซึ่งกำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่มีอาการรุนแรงถ้าติดเชื้อโควิด-19 

ปัจจุบัน ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้อนุญาตให้เด็กอายุระหว่าง 12 - 17 ปีชาวดัตช์สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งตัวของคุณพ่อไม่ต้องการให้ลูกได้รับการฉีดวัคซีน

บาร์ต ทรอมป์ ผู้พิพากษาประจำศาลแขวงโกรนิงเงิน กล่าวว่า “เด็กชายควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยทันที เพราะประโยชน์ที่เขาจะสร้างมีความสำคัญมากกว่าความกังวลของพ่อ”

จากกรณีที่เด็กวัย 14 ปีเสียชีวิตจากความเครียดที่ถูกโกง หลังซื้อโทรศัพท์มือสองผ่านไอจีร้าน phonebymint พบผู้เสียหายเกิน 500 คน มีเงินหมุน 35 ล้าน ทางปปง. มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ยังจับตัวการมาลงโทษไม่ได้

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ ได้แถลงผลการจับกุม น.ส.นฤมล ชำนาญ อายุ 18 ปี และ น.ส.สายน้ำผึ้ง ชนะมาร อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาในการหลอกขายโทรศัพท์มือถือให้เด็กอายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้น้องเกิดความเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

โดยผู้ต้องหาทั้งสองอ้างว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้ น.ส.พิยดา ทองคำพันธ์ เปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านอินสตาแกรมชื่อ phonebymint โดยมียอดผู้ติดตามทั้งสิ้น 60,000 คน 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “ภัทษลัลฎาค์ เกิดพงษ์” ได้ออกมาโพสต์เนื้อหาว่า “phonebymint นางสาวพิยดา ทองคำพันธ์ ตัวจริง ณ ปัจจุบัน ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง (มีผู้เสียหายกว่า 500 คน) VS ครอบครัวน้องก้องเด็กอายุ 14 ที่เครียดจนเส้นเลือดสมองแตก ที่ต้องสูญเสียน้องไปอย่างไม่มีวันกลับ ชีวิตดี ๆ บนความตายของผู้อื่น โกงมาเกิน 5 ปี ผู้เสียหายเกิน 500 คน มีเงินหมุน 35 ล้าน นางมีหลายแอ็กเคานต์ หลายเพจ นางจ้างคนเปิดบัญชีไปทั่ว เวลาเสิร์ชชื่อคนโกงจึงไม่ขึ้น เพราะเป็นบัญชีธนาคารคนอื่นที่นางจ้าง แต่สุดท้ายเส้นทางการเงินจะไปรวมอยู่ที่นาง ส่วนเด็กอายุ 18 เมื่อวานที่โดนจับแค่คนรับเปิดบัญชี

เด็กไทยไม่แพ้ชาติใด!! คว้า 8 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน ในการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับโลก “Japan Design, Idea And Invention Expo (JDIE 2021)” ที่ประเทศญี่ปุ่น

นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ คว้ารางวัลแห่งความสามารถทางด้านนวัตกรรมเทียบชั้นนวัตกรมืออาชีพในระดับนานาชาติจากการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับโลก “Japan Design, Idea And Invention Expo (JDIE 2021)” ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 18 – 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยคว้ามาได้ 8 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 

ด้วยผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่เต็มเปี่ยมของนวัตกรตัวน้อย จากการส่งเสริมและสนับสนุนของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม

นวัตกรคนเก่งจากรั้วสาธิตจุฬาฯ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 เหรียญทอง 6 เหรียญเงินจากนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และ 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงินจากนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม รางวัลเหรียญทอง

– ระบบห้องน้ำอัจฉริยะ ระเบิดความสนุกสำหรับชีวิตวิถีใหม่ (FunPlosion – Smart Bathroom in the New Normal) เป็นนวัตกรรมออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ ตู้อัจฉริยะที่สามารถตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิน้ำ ไฟ เสียง ภาพหน้าจอ และกลิ่นในห้องน้ำ มีอุปกรณ์เสริมฆ่าเชื้อโรค ลดการสัมผัส ควบคุมผ่านแอพและเสียง

– ไอเมดิแคร์ โซลูชั่น (iMedicare Solution) 
เป็นนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ เครื่องจ่ายยาอัจฉริยะและแอปพลิเคชั่นที่ช่วยเตือน/บันทึกการใช้ยา ขอความช่วยเหลือ และเชื่อมต่อนัดหมายแพทย์ประจำตัวได้

– ชุดอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายในผู้ป่วยติดเตียง (Muvtivate : Muscle and Movement Stimulation Versatility Tool - for Elderly) 
เป็นนวัตกรรมพัฒนาสมองและพัฒนาข้อต่อและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทุกส่วนอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย เพื่อผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม รางวัลเหรียญเงิน
.
– “TRAVEL POTTY ห้องน้ำสัตว์เลี้ยงพกพา” 
เป็นนวัตกรรมที่ทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกสบายใจกับการขับถ่าย ใช้งานง่ายไม่เปรอะเปื้อน เก็บล้างทำความสะอาดง่าย

– “เครื่องจ่ายวิตามินทันใจ (EFFERVESCENT DISPENSER)” 
เป็นนวัตกรรมสำหรับรวบรวมวิตามินหลากหลายชนิดไว้ด้วยกัน ให้ง่ายต่อการเลือกใช้ ออกแบบให้ใช้งานง่าย ประหยัดเวลา

– “แปรงสีฟัน 3 รวมเป็น 1 (3 in 1 Travel Toothbrush)” 
เป็นนวัตกรรมที่ครบครันเรื่องของแปรงสีฟัน ที่มียาสีฟัน และ ไหมขัดฟันในตัว ใช้งานง่ายและสะดวกมาก ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ พกพาสะดวก

– “กล่องสี เอ็มไอวาย (MIY Coloring)” 
เป็นนวัตกรรมที่ช่วยนการผสมสีให้ได้สีที่ตรงใจและสามารถจดบันทึกส่วนประกอบการผสมสี ไม่ว่าจะผสมใหม่กี่ครั้งก็จะได้สีเดิมที่ต้องการอยู่เสมอ

– “คิดส์เพลิน (Kid Play & Learn)”
เป็นนวัตกรรมเกมสำหรับเด็กยุคใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะติดเกม ติดมือถือมากขึ้น โดยการนำการละเล่นพื้นบ้านของไทยและนำความรู้ทางด้านจิตเวชมาพัฒนาเกม เพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคนเล่นเกมที่ช่วยพัฒนาสมอง สมาธิและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

– “Shuttlecock Pro” 
เป็นนวัตกรรมฝึกทักษะแบดมินตันสามารถปรับใช้รับลูกแบดมินตันได้ตามความสามารถจำนวนลูกที่เข้าเป้าหมาย เก็บสถิติไว้เพื่อวัดทักษะความแม่นยำ และยังสามารถวางแผนการฝึกซ้อมแต่ละรายบุคคล

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม รางวัลเหรียญทอง

– “โปรแกรมการสอนสะกดนิ้วมือในภาษามืออเมริกันโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (INFING: INtelligent ASL FINGerspelling tutoring system)” 
เป็นนวัตกรรมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับการเรียนรู้ภาษามือแบบอัตโนมัติโดยการใช้เทคโนโลยีการรู้จำท่าสะกดนิ้วมือแบบใหม่

- “ชุดทดสอบบอแรกซ์ชนิดเจล (Jelly Borax Tube Kit)”
เป็นนวัตกรรมใช้เพื่อทดสอบสารบอแรกซ์ในอาหาร ใช้งานง่าย และไม่ต้องอาศัยความชำนาญในการใช้งาน

– “Less Snore More Sleep” 
เป็นนวัตกรรมลดการนอนกรน ปรับสมดุลการนอน ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย AI ที่ช่วยตรวจจับการนอนกรน การหยุดหายใจขณะหลับสำหรับผู้ใช้แต่ละบุคคล

– “โปรแกรมฝึกคลื่นสมองด้วยเทคนิคสะท้อนกลับ ป้องกันสมองเสื่อมและลดปัญหาความรุนแรงจากสมาธิสั้น (TRaIN)”  
เป็นนวัตกรรมจับสัญญาณคลื่นสมอง เพื่อฝึกฝนให้สามารถตั้งสมาธิจดจ่อ คลายความกังวล และเปลี่ยนเป็นการใช้สมาธิที่เพ่งสูงสุด

– “Up lift shift life” 
เป็นนวัตกรรมเพื่อให้ผู้ใช้งานนั่งอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (ออฟฟิสซินโดรม)

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม รางวัลเหรียญเงิน

– “ปากกาต้านโรคระบาด (Anti-Pandemic Pen) 
เป็นนวัตกรรมต่อต้านโรคระบาดจึงได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น มีฟังก์ชันสเปรย์เเอลกอฮอลล์และสบู่เหลวแบบโรลออน

– พราวด์(มะ)พร้าว (ECO NUT) 
เป็นนวัตกรรมวัสดุทดแทนพลาสติกและหนังสัตว์จากผลิตผลทางการเกษตรที่สามารถนํามาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าชอปปิง พวงกุญแจ


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/276892
 

ผู้ว่าฯ สงขลา มอบโล่เกียรติคุณ แก่น้องสไปรท์ นักเรียนโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่ ที่คว้าเหรียญทอง จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 62 ประจำปี 2564 (IMO 2021)

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบโล่เกียรติคุณแก่เด็กชายพิพิชชญะ ศรีดำ หรือน้องสไปรท์ นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 62 ประจำปี 2564 (IMO 2021) ซึ่งเป็นการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์จากประเทศไทย โดยมีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 14–24 กรกฎาคม 2564 



สำหรับการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีเยาวชนกว่า 619 คน จาก 107 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ข้อสอบประกอบไปด้วยคำถาม 6 ข้อที่ถูกเลือกมาจากเนื้อหาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาหลายสาขา ผู้เข้าแข่งขันจะต้องหาคำตอบและแสดงวิธีทำ โดยแต่ละคำถามมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน ผู้เข้าแข่งขันต้องทำคะแนนรวมให้ได้ 24, 19 และ 12 คะแนนจากคะแนนเต็ม 42 คะแนน จึงจะได้เหรียญทอง, เงิน และทองแดงตามลำดับ



ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวชื่นชม และแสดงความยินดีกับน้องสไปรท์ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมต้น Year 9 ของโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่ ที่เป็นตัวแทนนักเรียนไทย 1 ใน 6 คน เข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวสงขลาทุกคน เพราะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นในต่างจังหวัดเพียงคนเดียวของประเทศไทย ที่ผ่านเข้าไปแข่งขันกับนักเรียนมัธยมปลาย จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 62 ผ่านระบบออนไลน์ และได้รับคะแนนสูงสุด สามารถคว้าเหรียญทองได้เพียงคนเดียวของทีม


 

อว. จับมือ บีโอไอ ป้อนแรงงานคุณภาพสูงตามความต้องการอุตสาหกรรมไฮเทคจากไต้หวัน ได้ฝึกทักษะควบคู่ทำงานจริง รูปแบบ “โรงเรียนในโรงงาน” รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 15,000/เดือน

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังการประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เรื่องการสนับสนุนกำลังคนทักษะสูงตามความต้องการของอุตสาหกรรมระดับสูงจากต่างประเทศ โดยกล่าวว่า

อว. พร้อมสนับสนุนบีโอไอ ในการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนักลงทุนเก่าและนักลงทุนใหม่ ที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย ซึ่งต้องการแรงงานคุณภาพสูง มีทักษะที่จำเป็นในการทำงานในโรงงานที่มีเทคโนโลยีระดับสูง โดย สอวช. และ สวทช. มีประสบการณ์ในการจัดหา ดูแล ประสานงาน และฝึกอบรมแรงงาน ภายใต้โครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) ในรูปแบบ โรงเรียนในโรงงาน โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในวันนี้ คือบริษัทแคล-คอมพ์จากไต้หวัน เป็นผู้ผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยมากว่า 30 ปี มีความต้องการขยายฐานการผลิตร่วมกับบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา โดยต้องการแรงงานทักษะสูงประมาณ 400 ตำแหน่งภายในปีนี้

แรงงานดังกล่าวจะได้รับการฝึกฝนทักษะไปพร้อม ๆ กับการทำงานจริง ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาโทเป็นพี่เลี้ยง ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายโรงงานและรับแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 2,000 ตำแหน่งในอนาคต

“นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหนึ่งบริษัทจากต่างประเทศที่เลือกลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมของประเทศไทยโดยบีโอไอ ประกอบกับการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน โดย อว. จะทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีแรงงานทักษะสูงที่พร้อมป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไฮเทค สร้างงานและรายได้ให้แก่คนไทย เพิ่มจีดีพีให้แก่ประเทศ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวหรือ Resiliency ของประเทศไทย ที่จะผ่านพ้นวิกฤตและมุ่งสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว


ที่มา: https://www.facebook.com/184257161601372/posts/4950589134968127/

กระทรวงศึกษาธิการจีนสั่งเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากหลายสถาบัน รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเกริกของไทย หากไม่ได้รับการรับรองจะทำให้ปริญญาบัตรไม่สามารถใช้เรียนต่อและทำงานในประเทศจีนได้

ศูนย์นักศึกษาต่างชาติ กระทรวงศึกษาธิการจีน ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ระบุว่าได้รับการร้องเรียนจำนวนมากว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด สถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพต่ำเพื่อดึงดูดนักศึกษา

เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักศึกษาชาวจีนที่ไปเรียนในต่างประเทศ และการดำเนินการที่เหมาะสมของตลาดการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจีนจะเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้

1. Sekolah Tinggi Ilmu Ekonomi IBMT อินโดนีเซีย

2. University of Perpetual Help System Dalta ฟิลิปปินส์

3. มหาวิทยาลัยเกริก ประเทศไทย

4. Universidad Rey Juan Carlos สเปน

กระทรวงศึกษาธิการจีนจะเพิ่มระยะเวลาในการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ โดยใช้เวลาไม่เกิน 60 วันทำการ โดยจะตรวจสอบเอกสารและสถานภาพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นอิสระ

ต้นฉบับประกาศ http://www.cscse.edu.cn/web/xsy/411032/504070/index.html

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า มหาวิทยาลัยเกริก ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่มทุนจากประเทศจีน เพื่อขยายหลักสูตรนานาชาติโดยมีนักศึกษาชาวจีนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่หลักสูตรของนักศึกษาไทยก็ยังทำการเรียนการสอนตามปกติ

ขณะนี้ รัฐบาลจีนมีนโยบายจัดระเบียบธุรกิจด้านการศึกษา โดยสั่งระงับกิจการโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมาก และกำลังขยายผลมายังการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดหลักสูตรเพื่อดึงดูดนักศึกษาจีน โดยไม่ได้มาตรฐาน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการจีนได้มีคำสั่งระงับการรับรองวุฒิการศึกษาของ North Borneo University College ประเทศมาเลเซีย และสั่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศเบราลุส


ที่มา: https://mgronline.com/china/detail/9640000087937

การศึกษาโลกอนาคต อีกนานไหม(ไทย)ถึงพร้อม | เปิด(ปม)ภาคการศึกษา EP.5

จากวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเขย่าวงการการศึกษา เรียกได้ว่าแตกกระจุยไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ การปรับหลักสูตรและวิธีการสอน รวมไปถึง Mindset ของครูอาจารย์และผู้ปกครอง

หลายคนสามารถปรับตัวได้ แต่ก็มีอีกหลายคนท่ีไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันประเทศไทย อยู่จุดไหนของโลก ชมจากคลิปนี้พร้อมๆ กันเลย‼️

.

.

อว. ก้าวข้ามกรอบทำงานรูปแบบเดิม อนุญาตบัณฑิตทุน พสวท. ใช้ทุนด้วยการทำงานในภาคเอกชน เดินหน้าร่วมเอกชนพัฒนาไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมบัณฑิตทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน ว่า ภาคเอกชนนับเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนในการลงทุนวิจัยและพัฒนากว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของประเทศ 

ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนก็ต้องเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนวิจัยและพัฒนาได้ การปลดล็อกเพื่อให้บัณฑิตทุนไปทำงานภาคเอกชน จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของภาคเอกชน 

ซึ่งขณะนี้ อว. ได้ร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงความต้องการของภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยของรัฐและบัณฑิตทุนเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Talent Thailand Platform ที่มีทั้งระบบการวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและงานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนาแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ 

โดยในการดำเนินงานจะมีการส่งเสริมให้บัณฑิตทุนทุกคนได้รับการบ่มเพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการร่วมงานกับเอกชน และ ส.อ.ท. จะนำความเชี่ยวชาญของบัณฑิตทุนแต่ละคนมาวิเคราะห์เพื่อดูความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับสนับสนุนให้ไปทดลองงานกับภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 เดือน และหากภาคอุตสาหกรรมสนใจที่จะว่าจ้างบัณฑิตทุนต่อ ก็สามารถจัดทำเป็นสัญญาเพื่อดำเนินการจ้างต่อได้ 

ถือเป็นอีกก้าวที่การอุดมศึกษาจะเข้าไปเติมเต็ม ช่วยแก้ปัญหาการทำงานของภาคเอกชน และได้ก้าวข้ามกรอบการทำงานรูปแบบเดิมที่นักเรียนทุนต้องทำงานกับภาครัฐเท่านั้น โดยมุ่งหวังที่จะสามารถนำเอาศักยภาพของบัณฑิตทุนมาช่วยพัฒนาประเทศร่วมกับภาคเอกชนและเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี 

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีพลิกโฉม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด -19 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 

ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกำลังคนผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชน 

แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีระบบส่งเสริมการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพสูงผ่านการให้ทุนการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถสร้างนักเรียนทุนรัฐบาลที่เป็นกำลังสำคัญที่จะใช้ความรู้และความสามารถช่วยพัฒนางานวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้อย่างต่อเนื่อง 

แต่นักเรียนทุนรัฐบาลส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีรูปแบบการชดใช้ทุนโดยการบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของภาครัฐ สถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาตามหน่วยทุนต้นสังกัด และข้อจำกัดจากเงื่อนไขการชดใช้ทุนนี่เองที่ทำให้นักเรียนทุนบางส่วนไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ งานที่ได้รับมอบหมายขาดความท้าทายและไม่สอดคล้องกับความรู้และทักษะที่มี ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการใช้กำลังคนอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ
.
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ อาทิ ทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ทุนโครงการปริญญาเอกกาญนาภิเษก (คปก.) และทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย 

ซึ่งมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วรวมประมาณ 9,000 คน และกำลังศึกษาอยู่ประมาณ 6,000 คน และคาดว่าจะมีนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาประมาณปีละ 500-700 คน และจากข้อมูลของ พสวท. พบว่า จากพลวัตรที่โลกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว บางสาขาที่บัณฑิตทุนสำเร็จการศึกษามาอาจมีความล้ำหน้าหรือเจาะลึกและใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่มีเฉพาะในห้องปฏิบัติการต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของงานวิจัยและการศึกษาในภาครัฐของไทยในปัจจุบัน จึงส่งผลให้บัณฑิตทุน พสวท. ยังรอเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนอยู่ถึง 53 คน โดยเป็นบัณฑิตระดับปริญญาเอก 42 คน และระดับปริญญาโท 11 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564) 

ดังนั้น การเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุน พสวท. สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการใช้ประโยชน์กลุ่มกำลังคนศักยภาพสูง 


ที่มา : https://www.nxpo.or.th/th/8759/

อว. เดินหน้าโครงการ "อว. ลดค่าเทอม" ตามนโยบายรัฐบาล เบิกจ่ายเงินส่งให้มหาวิทยาลัยที่ยืนยันข้อมูลครบถ้วนแล้ว 29 แห่ง จำนวน 2,250 ล้านบาท ย้ำเงินทุกบาทที่รัฐสนับสนุนต้องถึงมือนักศึกษา

ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ อว. ดำเนินโครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้ ได้เริ่มการเบิกจ่ายเงินสำหรับโครงการ "อว.ลดค่าเทอม" แล้วตั้งแต่วันที่พฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564 

สำหรับมหาวิทยาลัยและสถาบันที่ได้จัดส่งข้อมูลผ่านการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง เสนอครบถ้วนแล้ว มีจำนวน 29 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,250 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาจะนำไปใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2564 ในสัดส่วนเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้แจ้งไปแล้ว โดยเน้นย้ำให้กระบวนการอนุมัติงบประมาณมีความรวดเร็ว รอบคอบ รัดกุม ขั้นตอนจ่ายเงินขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถติดตามตรวจสอบการจ่ายเงินทุกขั้นตอน ไม่ให้เกิดการทุจริตอย่างเด็ดขาด

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทางอว. ได้เร่งติดตามและตรวจสอบระบบการเบิกจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด โดยเงินทุกบาทที่รัฐบาลสนับสนุน ต้องถึงมือนิสิตนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยจะจ่ายเงินคืนกับนิสิตนักศึกษาที่ได้ชำระค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาไปแล้วหรือใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับผู้ที่กำลังจะชำระเงิน โดยทางมหาวิทยาลัยไม่เก็บเงินดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. รายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานปลัด อว. ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเรื่องดังกล่าวและทำงานร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.), ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล( ทปอ.มทร.), สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษานอก อว. กันอย่างใกล้ชิด ใช้ระบบฐานข้อมูลการอุดมศึกษากลางของประเทศ ซึ่งดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมาก 

โดยเมื่อสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบโครงการแล้ว ส่งต่อให้กรมบัญชีกลางเพื่อโอนเงินโครงการนี้มาให้ อว. ซึ่ง อว. ได้สั่งการเบิกจ่ายไปยังมหาวิทยาลัยที่ได้จัดส่งและยืนยันข้อมูลเข้ามาครบถ้วนแล้วในสัปดาห์เดียวกันเลย

 “การดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม อว. ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ให้เร่งตรวจสอบและยืนยันข้อมูลนักศึกษาส่งมาที่กระทรวงโดยเร็ว เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาต่อไป” ปลัด อว. สรุป


ที่มา : Facebook Page : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
https://www.facebook.com/184257161601372/posts/4931132673580440/

กระทรวงศึกษาธิการ โอนเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท เริ่ม 1-7 ก.ย. เช็กช่องทางตรวจสอบสิทธิ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ https://student.edudev.in.th

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการ โดยมีความคืบหน้าดังนี้

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เริ่มการเบิกจ่ายเงินสำหรับโครงการ “อว.ลดค่าเทอม” แล้วตั้งแต่ 26 ส.ค. 64 สำหรับมหาวิทยาลัยและสถาบันที่ได้จัดส่งข้อมูลผ่านการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง ขณะนี้มีจำนวน 29 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,250 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาจะนำไปใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2564 ในสัดส่วนเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้เร่งติดตามและตรวจสอบระบบการเบิกจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด เงินทุกบาทที่รัฐบาลสนับสนุน ต้องถึงมือนิสิตนักศึกษา คืนให้กับคนที่ได้ชำระค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาไปแล้ว หรือใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับผู้ที่กำลังจะชำระเงิน โดยมหาวิทยาลัยไม่เก็บเงินดังกล่าวไว้แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้เร่งตรวจสอบและยืนยันข้อมูลนักศึกษาส่งมาที่กระทรวงโดยเร็ว เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายแก่สถาบันที่เหลือ อีกประมาณ 100 กว่าแห่ง ให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาต่อไป

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน จำนวน 2,000 บาท กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณ จำนวน 1.95 หมื่นล้านบาท สำหรับเด็กนักเรียน 9.79 ล้านคน เมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา และทำการจัดสรรไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลแล้ว ได้แก่

 - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ทั้งการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่โรงเรียน

- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ทั้งการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่โรงเรียน

- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ทั้งการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่สถานศึกษา

- สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท โดยรับเงินสดที่สถานศึกษา 

ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่ไม่ได้รับเงินภายในเวลาดังกล่าว ขอให้ติดต่อโรงเรียนที่บุตรหลานศึกษาอยู่ หรือโทร หมายเลข 1579 / 1693

“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทั้งสองกระทรวง ติดตามตรวจสอบระบบการจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด ทุกขั้นตอน ไม่ให้มีการทุจริต ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องถึงมือผู้ปกครองนักเรียน และนักศึกษาอย่างครบถ้วน ” น.ส.รัชดา กล่าว

สำหรับ ช่องทางเช็กสิทธิรับเงินเยียวยา 2,000 บาท สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ ได้ที่ https://student.edudev.in.th โดยระบบจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนของนักเรียน เลขประจำตัวนักเรียน เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูล
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top