Saturday, 20 April 2024
EDUCATION COLUMNIST

5 ทักษะ พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ แก้ด้วยวิธีไหน?

เคยไหม? ที่ต้องพูดกับตัวเองว่า ทำไม่ฉันต้องมาเจอกับความสัมพันธ์ที่แย่ๆ ในที่ทำงานครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมเพื่อนร่วมงานไม่ค่อยชอบเรา ทำไมคนมักคอยจับผิดเรา และกลั่นแกล้งเราอยู่เสมอ บรรยากาศในการทำงานไม่มีความสุขอีกแล้ว หรือต้องหนีไปทำงานที่อื่นอีกครั้ง

คุณจะหนีไปไหนคะ? เพราะที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน คือมีทั้งคนที่คุณชอบ และคนที่คุณไม่ชอบ มีทั้งคนที่ชอบคุณ และคนที่ไม่ชอบคุณ ถ้าคุณตั้งข้อสังเกตก็จะพบว่า เรื่องแย่ๆ บางเรื่องก็เกิดจากเพื่อนร่วมงาน บางครั้งก็เกิดจากตัวคุณเอง จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

คุณเปลี่ยนใครไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนให้เปลี่ยนที่ตัวคุณเองเท่านั้น

1.) คุณควรทำงานอย่างคนที่มีทัศนคติเชิงบวก

หากคุณต้องการมีความสุข สนุกทุกวัน คุณควรเริ่มต้นด้วยการยุติการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผู้อื่น การคอยจับผิด การเปรียบเทียบ และการตัดสินพิพากษาผู้อื่น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมุ่งความสนใจไปในความคิดเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

คุณควรเปลี่ยนความสนใจไปที่ การรู้จักยอมรับในตัวผู้อื่นให้ได้ เหมือนกับที่คุณยอมรับนับถือในตัวเอง คุณควรยอมรับความแตกต่าง มีความเคารพผู้อื่น และบริหารความแตกต่างของคนแต่ละบุคลิกให้ลงตัว

2.) ไม่ด่วนสรุปเรื่องใดๆ ถ้ายังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์

ข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ เพราะถ้ามีใครเสียความรู้สึก และเสียศักดิ์ศรีจากการตัดสินของคุณ จะกระทบถึงความสัมพันธ์ทันที ไม่ว่าคุณจะตัดสินใครในเรื่องใดก็ตาม คุณควรเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าคุณได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ก็เท่ากับว่าคุณพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

การเข้าใจผิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นคุณควรคำนึงไว้เสมอว่า ทุกๆ คำพูดที่คุณพูดออกไป คำพูดเหล่านั้นจะกลับมาเป็นนายคุณ และคุณจำเป็นต้องรับผิดชอบทุกคำพูด

3.) ควรรู้จักการยอมรับเพื่อนร่วมงาน

คุณควรรักษาศักดิ์ศรีให้กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยความสุภาพ อ่อนน้อม มีมารยาทที่ดี ให้เกียรติทุกคนเสมอ และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ไม่ควรสร้างสถานการณ์ที่ส่งผลในเชิงลบ เช่น การใส่ร้ายป้ายสี โยนความผิดให้ผู้อื่น วู่วาม ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

คุณควรเปิดใจให้กว้าง ต้องรู้จักรักษาความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน บางเรื่องกฎเกณฑ์ก็ใช้ไม่ได้ คุณควรผสมผสานระหว่างความถูกต้องกับความถูกใจให้ลงตัว แยกให้ออกระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับหน้าที่การงาน พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณควรปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่คุณต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณเช่นกัน

4.) พัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสารให้เชี่ยวชาญ

คุณควรใส่ใจในคำพูดของเพื่อนร่วมงาน ไม่ควรมองข้าม เพราะคำพูดเหล่านนั้นเป็นผลดีต่อคุณ เป็นการช่วยให้คุณได้เข้าใจความรู้สึกและความกังวลของพวกเขาผ่านในสิ่งที่เขาพูด การตั้งใจฟังไม่มองข้าม ทำให้คุณจับประเด็นในเนื้อหาสาระสำคัญได้อย่างแท้จริง เป็นการหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด ลดข้อผิดพลาดด้านการสื่อสาร ทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพ สื่อสารได้ถูกต้อง กระชับ ฉับไว และตรงประเด็นมากขึ้น

5.) เมื่อพบปัญหาข้อขัดแย้งต้องรีบแก้ปัญหาให้เร็ว

คุณไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ต่างๆ ลุกลามและแย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายกลายเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องไหนเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งต้องรีบแก้ไขทันที ในกรณีถ้าปัญหานั้นเป็นปัญหาใหญ่ คุณคนเดียวไม่สามารถแก้ไขเองได้ ให้คุณนำปัญหานั้นเข้าที่ประชุมระดมสมอง เพื่อหาทางออกร่วมกัน หรือแจ้งไปยังผู้บริหาร เพื่อขอคำแนะนำในการช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดต่อไป

ทักษะทั้ง 5 ข้อนี้สามารถนำไปใช้ได้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ส่วนตัว ครอบครัว การทำงาน และกับเพื่อน เชื่อว่าคุณสามารถรักษาสัมพัธภาพที่ดีให้มีความสุขและยาวนานได้อย่างแน่นอน

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://www.novabizz.com/NovaAce/Relationship/Skill.htm

https://fdirecruit.co.th/10-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1/

แนะนำทักษะทางภาษา เรื่อง “Word Dissection” หรือการแยกคำในคำ

แนะนำทักษะทางภาษา เรื่อง Word Dissection หรือการแยกคำในคำ ที่จะช่วยขยายคลังคำศัพท์เราให้มากขึ้น (แนะนำการเรียนภาษา ของกระผมคนที่ไม่ได้จบทางด้านภาษาศาสตร์) 

จำสมัยเรียนภาษาไทยกันได้มั้ย เรื่อง การสมาสและการสนธิ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เข้าใจพวกคำจากรากบาลี สันสกฤต แต่ในภาษาตะวันตกอย่างอังกฤษก็มีเทคนิคคล้าย ๆ กัน ในเมื่อเค้าเอามาเชื่อมมาชนกันจนเป็นคำ เวลาเราจะดูว่าคืออะไร ก็ต้อง deconstruct หรือ dissect ส่วนประกอบของคำนั้นออกมา

“pneumonoultramicroscopicsilicovolcanoconiosis”

Pneumono (เกี่ยวกับปอด) + ultra (มาก ๆ ซึ่งตั้งแต่หน้า micro จริงใช้ขยายไมโคร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของ ขนาด) + micro (ขนาดเล็ก ประมาณ 10 ยกกำลัง -6) + scopic (ทัศนะ ที่แปลว่าการมองเห็น) + silico (เคมี silicon บนตารางธาตุ) + volcanon (ภูเขาไฟ) + osis (เป็น suffix ที่ใช้ลงท้าย พวกกระบวนการ อาการ หรือ condition ต่าง ๆ) 

ถ้าแปลเป็นคำอธิบาย ก็คือ "โรคฝุ่นจับปอดที่เกิดจากฝุ่นขี้เถ้าภูเขาไฟที่มีส่วนประกอบเป็นซิลิกาและมีขนาดเล็กมาก" (แต่น่าจะเห็นได้น้อยในไทยเพราะไม่มีภูเขาไฟที่ยังมีชีวิต) 

ข้างบนดูคำยากไปและไกลตัว แต่หากมาดูคำง่าย ๆ ที่คนไทยเจอบ่อย เช่น

Hypertension 
Hyper แปลว่า มากเกิน มากกว่าปกติ ซึ่งตรงข้ามกับ hypo ที่แปลว่า น้อยมาก น้อยกว่าปกติ กับคำว่า tension แปลว่า ความเครียด ความดึง ความดัน (ความหมายทางวิทยาศาสตร์น่ะ ซึ่งมีคุณลักษณะทางฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) ซึ่งถ้า tension ทางสัมคมศาสตร์ถูกใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน

รวม ๆ ก็ความดันที่มากกว่าปกติ ก็คือ ความดันสูง
ตรงข้ามกัน ก็คือ hypotension ความดันต่ำ

หรือหากในดูโพสต์ก่อนของเราพูดเรื่อง Ambiguous Genitalia คำนี้ถ้าใครแน่นภาษาอังกฤษแน่นแล้วยิ่งง่าย เพราะคำแรก แปลว่า คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ส่วนคำหลังเป็นคำที่มาจากที่สิ่งเราคุ้น ๆ กันดีคือ genital หรืออวัยวะเพศ (ตอนมัธยมหงุดหงิดมาก ครูสอนแต่ คำว่า penis กับ vagina แต่ไม่เคยได้ยิน genital) ดังนั้น กลุ่มอาการข้างต้น ก็คือเป็นการพูดถึง ลักษณะทาง physique ของอวัยวะเพศที่ไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ คลุมเครือ (แปลจากคำตรง ๆ ยังไม่รวมทางเทคนิคใด ๆ ทั้งสิ้น เดี๋ยวพวกเพื่อนหมอมาตอแยว่า สาระแน) 

หากแยกผิดพลาดหรือการอธิบายทางเทคนิคที่ไม่ชัดเจนต้องขออภัย ไม่ได้เรียนอักษรและแพทยศาสตร์มาโดยตรง ดังนั้นทาง Technical ของทั้งสองศาสตร์อาจจะไม่ตรงเป๊ะ แต่พอจะมีความสามารถเข้าใจได้และแยกได้ประมาณนี้ 

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วที่เคยไปหาหมอ แล้วเจอรังสี amazement ที่คุณหมอแผ่ใส่ เพราะว่า หมอพูดชื่อโรคบางอย่างออกมาเป็นศัพท์เฉพาะทาง (ไม่ใช้ชื่อโรคหรืออาการข้างต้น) แล้วก่อนที่หมอจะอธิบาย นี้ก็ถามว่า มันคือโรคประมาณนี้ใช่มั้ย (ตอนนั้นอาศัยการเดาล้วนๆ) แล้วการเดาชื่อโรค (ไม่ใช่การ diagnose น่ะ ไม่มีความสามารถในส่วนนั้น แค่เดาชื่อได้) ตอนนั้นก็ถูกไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ตอนนี้ ลองไปนั่งดูคำยาก ๆ หลายคำ ที่แปลไม่ออกเพราะแยกรากไม่ออก เพราะขาดความรู้ในส่วนของรากของทางกรีกและละตินไป 

*ทั้งนี้ ต่อให้รู้ชื่อรู้ที่มาของคำ ก็ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ด้วย กล่าวคือ รู้ชื่อรู้อาการไม่ใช่ว่าจะรักษาได้ ยังต้องไปหาหมอให้หมอรักษา นอกจากนี้ อีกประเด็นคือ อยากให้หมอเข้าใจว่าในสังคมปัจจุบัน คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่ก็เป็นข้อมูลผิวนอก ไม่ได้รู้ดี คนไข้แค่อ่านหนังสือออกและอ่านหนังสือเป็น คนไข้เลยสงสัย คนไข้เลยอยากรู้ คนไข้เลยอยากถาม เวลาคนไข้บังเอิญรู้จักอะไรแปลก ๆ ที่หมอพูด คนไข้อาจจะรู้จักแค่ชื่อแค่คำแปลหรือลักษณะคร่าว ๆ เท่านั้นแหละ หมออย่าเพิ่งเหวี่ยง มีหมอหลายคนที่นอกจากทักษะทางการรักษาแล้ว ยังมีทักษะเรื่องการควบคุม temper หมอเหล่านี้น่ารักมาก อธิบายดีมาก (แต่ก็เข้าใจหมอที่ทำงานหนักแล้วยังมาเจอเคสแบบนี้ ที่ทำให้บางครั้งแล้วควบคุม temper ของตัวเองไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็อยากให้หายใจเข้า หายใจออก ทำใจเย็นๆ แล้วค่อยตอบ) เข้าใจว่าการเหวี่ยง การเล่นบทโหดมีอาจจะมีผลดีต่อคนไข้ แต่อยากให้เป็นไม้ตายสุดท้าย อย่าเพิ่งรีบเอามาใช้

หากถามว่าอีกเทคนิคหนึ่งในการฝึกภาษา คือ การถอดรากคำ แต่เทคนิคนี้อาจจะยากหน่อย แต่ถ้ารู้แล้ว มีประโยชน์มาก (แต่ในบางกรณี ต้องดู context ปัจจุบันนั้น ๆ ของคำด้วยว่ามันจะแปลเป็นภาษาคนปัจจุบันยังไง)


เขียนโดย คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ 
นักเรียนทุนรัฐบาล UIS ปริญญาโท Master of Public Administration, Cornell University, สหรัฐอเมริกา

Resilience Skill จะช่วยให้เรามองอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตมนุษย์ และมองว่าอุปสรรคเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็งขึ้น

Resilience Skill หมายถึง ความสามารถในการฟื้นตัว เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูงและมีความยากลำบาก โดยที่ยังสามารถกลับมาเป็นคนที่มีความมั่นคงดังเดิม มีความมั่นใจ มองโลกในแง่ดี และสามารถกลับมาดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

Resilience สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการทำงาน

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า อนาคตจะเกิดและไม่เกิดอะไรขึ้นบ้าง การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และทักษะที่ทุกคนต้องมีเพื่อติดสปริงตัวเอง ในการดีดตัวออกมาจากหลุมพราง และสามารถฟื้นคืนชีพให้ได้เร็วที่สุด ทักษะหนึ่งเดียวที่คนทุก Generation ต้องมี คือ ทักษะ Resilience เป็น How to ที่มีความมีความยืดหยุ่นสูง สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวคุณ คนในครอบครัว อาชีพ และธุรกิจของคุณ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Resilience Skill จะช่วยให้เรามองอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตมนุษย์ และมองว่าอุปสรรคเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเจอเรื่องราวที่ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม

Resilience ทักษะที่สามารถสร้างได้ โดยอาศัยปัจจัย หลัก 6 ประการ ดังนี้

1.) การนับถือตัวเอง  ความเคารพตัวเอง รู้สึกถึงคุณค่าภายในตัวเอง ไม่ต้องรอพึ่งพาใคร หรือสิ่งใด เริ่มต้นที่ตัวเอง การควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด ก่อนแก้ไขปัญหานั่นเอง

2.) ความทะเยอทะยาน คนที่มี Resilience มีเป้าหมายชัดเจน และมุ่งความสนใจไปที่การลงมือทำ มากกว่าสิ่งอื่น เป็นนักต่อสู้ ล้มแล้วลุก มีความอดทนสูง รู้จักการรอคอยความสำเร็จ และสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา

3.) การเลือกคบคน คนที่เลือกเข้ามาในชีวิต คนที่ต้องใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุขและความสำเร็จ พวกเขาให้ความสำคัญมาก พวกเขาจะหลีกเลี่ยงคนประเภทบุคคลเป็นพิษ (Toxic Person) เช่น คนคิดลบ อีโก้ เย่อหยิ่ง และเห็นแก่ตัว พวกเขาจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการคบคน พวกเขาจะเข้าใจในการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ว่าต้องมี 2 ทาง คือทั้งให้ และรับ กำหนดความสัมพันธ์ด้วยการ ชนะ ชนะ ไปด้วยกัน

4.) รู้จักการวางตัวให้เหมาะสม พวก Resilience จะฉลาดในการวางตัว มีผลงานและการกระทำเป็นที่ประจักษ์ เพื่ออธิบายความเป็นตัวตน หรือเรียกว่าเป็นคนอยู่เป็น พวกเขาจะรู้จักพูดให้เกียรติผู้อื่น พูดดี มีมารยาทเสมอ ในขณะเดียวกัน พวกเขายังคงความเป็นตัวเองอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาเข้าใจว่าคนมีความมั่นใจในตัวเอง อย่างแท้จริง คือ การที่รู้และเข้าใจตัวเอง ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เพื่ออะไร โดยไม่ต้องพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

5.) รู้จักดูแลตัวเองและคนที่รักเป็นอย่างดี พวก Resilience จะฉลาดในการใช้ชีวิตมาก จะบริหารจัดการเวลาได้เก่ง สามารถสร้างสมดุลของชีวิต และการทำงานได้เป็นอย่างดี รู้เวลาว่าตื่นเช้ามาต้องทำทานอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องออกกำลังกายแบบไหนให้เหมาะกับช่วงเวลา มีวิธีขจัดความเครียดออกไปได้อย่างง่ายดาย รวมถึงเอาใจใส่คนที่เขารักด้วย และที่สำคัญไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิต พวกเขายังคงลุกขึ้นมาทำหน้าที่และรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี

6.) ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นอย่างจริงใจ พวกเขาไม่ตัดสินคนอื่น แต่จะมองเห็นข้อดี และฉลาดในการเรียนรู้จากจุดแข็งของคนอื่น พวกเขายินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความซาบซึ้งเสมือนว่าเป็นความสำเร็จของตัวเอง พวกเขาไม่ชอบการแย่งชิง เพราะเขารู้ว่าตัวเขาเองก็มีดีมากพอ และในโลกใบนี้มีโอกาสและมีทรัพยากรมากพอที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จของเขา จึงทำให้เขาชื่นชมคนอื่นด้วยความจริงใจเสมอ

เป็นธรรมดาที่มนุษย์ มีความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ไม่พอใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง และหมดกำลังใจไปบ้าง ซึ่งก็เป็นกลไกในการทำงานที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็อย่าให้ความคิดลบๆ เหล่านี้ดึงเราจมดิ่งอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นนานเกินไป จงหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก้าวเดินต่อไปทีละขั้นๆ ผิดตรงไหนแก้ตรงนั้น เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทำให้ดีกว่าเดิม และทบทวนตัวเองอย่าให้พลาดซ้ำ เพราะทุกก้าวของชีวิต มีพลังงานชีวิตซ่อนเร้น คนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตต่างรู้กฎเหล่านี้ดี

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce239/

https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/038-Mental-Resilience-Skill-Future-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%88

เทคนิคคาดการณ์ และประมาณการคะแนนต่ำสุดเพื่อเลือกคณะ ให้ตรงกับคะแนนตัวเอง ให้ติดรอบ กสพท Part.1

สังคมการศึกษาไทย ยังมีความคิดและค่านิยมเด็กเก่ง ต้องเรียนแพทย์ 

TCAS64 มี 3 รอบหลัก คัดแพทย์ เข้ามหาวิทยาลัย

TCAS 1 รอบ Portfolio 

TCAS 2 รอบ Quota

TCAS 3 รอบ สอบยื่น กสพท

 

TCAS 3 กสพท 2564 เงื่อนไข ข้อกำหนดเบื้องต้น สรุปดังนี้

1.) คะแนนโอเน็ต รวม 5 วิชา ต้องเกิน 60% หรือรวมกันได้ขั้นต่ำ 300 / 500 คะแนน

2.) คะแนนจริง คิด 100% จาก 2 ส่วน

 (2.1) วิชาเฉพาะแพทย์ ความถนัดแพทย์ 30%
   (2.1.1) คณิตศาสตร์และเชาว์ปัญญา 10%
   (2.1.2) จริยมธรรมทางการแพทย์ 10%
   (2.1.3) เชื่อมโยงและการจับใจความ 10%

 (2.2) วิชาสามัญ 7 วิชา 70%
   (2.2.1) คณิตศาสตร์ 14%
   (2.2.2) วิทยาศาสตร์ 28%

       (1.)ฟิสิกส์
       (2.)เคมี
       (3.)ชีววิทยา

   (2.2.3) ภาษาอังกฤษ 14%
   (2.2.4) ภาษาไทย 7%
   (2.2.5) สังคมศึกษา 7%

รวม 100%

*หมายเหตุ แต่ละวิชาต้องมีคะแนนเกิน หรือเท่ากับ 30% จึงจะมีสิทธ์ยื่นคะแนน กสพท

 

TCAS 3 รอบ กสพท ปี 2564 มีกว่า 20 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม 55 คณะ 

มี 4 คณะหลักดังนี้

1.) แพทยศาสตร์ 22 คณะ
2.) ทันตแพทยศาสตร์ 9 คณะ
3.) สัตวแพทยศาสตร์ 11 คณะ
4.) เภสัชศาสตร์ 13 คณะ

 

หลักการตัดสินใจในการเลือก 
1.) ความสนใจส่วนตัว
2.) คะแนนที่ทำได้ เป็นตัวจัดอันดับที่จะได้เข้าเรียน

ก่อนตัดสินใจเลือกเรียน มาทำความรู้จักทุกคณะ กสพท ในปี 2564 กัน (ทุกปีมีเปลี่ยนแปลง)

1.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.md.kku.ac.th

2.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
admission.md.chula.ac.th

3.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ
admission.md.chula.ac.th

4.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.med.cmu.ac.th

5.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.med.tu.ac.th

6.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
www.meded.nu.ac.th

7.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
med.mahidol.ac.th

8.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
med.mahidol.ac.th

9.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
www.si.mahidol.ac.th

10.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลราชวิถี) (สถาบันเอกชน)
www.rsu.ac.th/medicine

11.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลเลิดสิน) (สถาบันเอกชน)
www.rsu.ac.th/medicine

12.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) (สถาบันเอกชน)
www.rsu.ac.th/medicine

13.) คณะแพทยสาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วีโรฒ
www.med.swu.ac.th

14.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
www.medaf.psu.ac.th

15.) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
www.vajira.ac.th

16.) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช-โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร
www.vajira.ac.th

17.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า **เพศชาย
www.pcm.ac.th

18.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า **เพศหญิง
www.pcm.ac.th

19.) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
http://sutgateway.sut.ac.th/admissions/

20.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
www.med.buu.acc.th

21.) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
www.admission.mfu.ac.th

22.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (สถาบันเอกชน)
www.siam.edu

23.) คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.dent.chula.ac.th

24.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
www.dt.mahidol.ac.th

25.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.dent.cmu.ac.th

26.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
www.dent.psu.ac.th

27.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
http://dent.swu.ac.th

28.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.dentistry.kku.ac.th

29.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.dentistry.tu.ac.th

30.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
www.dent.nu.ac.th

31.) สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
http://sutgateway.sut.ac.th/admissions/

32.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย
www.vet.chula.ac.th

33.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
www.vet.ku.ac.th

34.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.vet.kku.ac.th

35.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.vet.cmu.ac.th

36.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (สถาบันเอกชน)
www.vs.mahidol.ac.th

37.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
www.vs.mahidol.ac.th

38.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (สถาบันเอกชน)
www.vet.mut.ac.th

39.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
www.vet.msu.ac.th

40.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
www.vet.rmutto.ac.th

41.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
www.vet.rmutsv.ac.th

42.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
www.vet.psu.ac.th

43.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharm.chula.ac.th

44.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ)
www.pharm.chula.ac.th

45.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
www.pharmacy.mahidol.ac.th

46.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.pharmacy.cmu.ac.th

47.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวีโรฒ(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.swu.ac.th

48.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ)
www.pharmacy.swu.ac.th

49.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.pharm.tu.ac.th

50.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.msu.ac.th

51.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
www.pharm.buu.ac.th

52.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (สถาบันเอกชน) (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.siam.edu

53.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉี่ยวเฉลิมพระเกียรติ (สถาบันเอกชน)
www.hcu.ac.th/faculty-of-pharmacy

54.) คณะเกสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ (สถาบันเอกชน) (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.payap.ac.th

55.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.phar.ubu.ac.th

เทคนิคคาดการณ์ และประมาณการคะแนนต่ำสุดเพื่อเลือกคณะ ให้ตรงกับคะแนนตัวเอง ให้ติดรอบ กสพท ตอนหน้า จะกำหนดคะแนนต่ำสุดทั้ง 55 คณะกัน เพื่อไม่ให้พลาดการตัดสินใจ


เขียน และรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ
 

เคล็ดลับ 5 วิธี ไว้ปรับใช้ในการพัฒนาตนเองได้ทันที

เทรนด์การพัฒนาตนเอง ในยุคศตวรรษที่ 21 เมื่อโลกเปลี่ยน การพัฒนาตนเองย่อมต่างไปจากเดิม เพราะเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเราเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง

ผู้เขียนมีเคล็ดลับ 5 วิธี มาบอกกับทุกท่าน ไว้ปรับใช้ในการพัฒนาตนเองได้ทันที

1.) ในเมื่อเราปฏิเสธความจริงนี้ไปไม่ได้ว่า เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในชีวิตของเรา แต่เราควรจะใช้มันมากน้อยแค่ไหน อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ทุกท่านแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.1) ใช้ในการทำงานมากน้อยแค่ไหน

1.2) ใช้ในชีวิตส่วนตัวประมาณไหน ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า ต่อวันเราควรใช้เทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเราในระยะยาว

2.) การ Work from Home ที่กลายมาเป็น The New Normal จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การทำงานปรับรูปแบบมาเป็นการทำงานที่บ้าน แม้กระทั่งการเรียนหนังสือก็เปลี่ยนเป็น การเรียนออนไลน์ที่บ้าน (At Home Education) ทุกวงการมีการใช้ออนไลน์มากขึ้น เช่น ในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Google Line Zoom เพื่อให้การทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตเกิดประสิทธิภาพ

3.) การเรียนรู้แบบครบทุกมิติ โลกในศตวรรษที่ 21 เชื่อมต่อไปจนถึงโลกอนาคต สังคมแห่งการอยู่รอดต้องการมากกว่าการเรียนรู้วิชาหลักในโรงเรียน แต่โลกต้องการวิชานอกห้องเรียน เพื่อเสริมทักษะในด้านอื่นๆ เช่น วิชาว่าด้วยเรื่องการตั้งเป้าหมายในชีวิต วิชาหาเงิน วิชาสร้างคอนเนคชั่น วิชาสร้างผลลัพธ์ในการทำงาน วิชาว่าด้วยเรื่องการเข้าใจคน เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทำเพื่อสังคม กิจกรรมบันเทิง ร้องเพลง เล่นดนตรี การสื่อสาร การมีภาวะผู้นำ การเล่นกีฬา และการเข้าสังคม ฯลฯ

4.) เสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่กลัว ไม่กล้า บางครั้ง ความกล้า ความลุ่มหลง ก็สามารถเปลี่ยนให้คนธรรมดากลายเป็นคนพิเศษได้ การคิดบวก (Positive Thinking) เป็นการนำจิตวิทยาเชิงบวกมาสื่อสารกันครบทุกมิติ ไม่ว่าจะความคิดส่วนตัว ภายในครอบครัว และที่ทำงาน แทนที่จะใช้คำหยาบคาย ดุด่า ดูถูกเหยียดหยาม ต่อว่า ควรปรับเปลี่ยนมาใช้การพูดเชิงสร้างสรรค์ พูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ การพูดให้แนวคิด พูดสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจ และให้เกิดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตกันดีกว่า หรือถ้าจะตักเตือนใคร ก็ให้มีเหตุผล และให้อิสระทางด้านความคิดเขา เคารพซึ่งกันและกัน เป้าหมายในการสื่อสารนั้น อย่าลืมว่าหัวใจสำคัญคือ การรักษาศักดิ์ศรีให้กับคู่สนทนาของเราด้วย

5.) ใส่ Mindset ให้ถูกต้อง ให้ทุกท่านเข้าใจตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลง คือ นิรันดร์ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ไม่เปลี่ยนแปลง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปทีละเรื่อง และยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ยังรอให้เราปรับตามโลกใบนี้ อย่าไปฝ่าฝืนกฏของจักรวาล ถ้าไม่อยากหลุดเทรนด์ จงเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน ก่อนที่คนอื่นจะมาเปลี่ยนเรา เพราะถ้าเราเปลี่ยนเองจะถนัดมือกว่า

เปลี่ยนทุกครั้งดีขึ้นทุกครั้ง เปลี่ยนทุกครั้งเก่งขึ้นทุกครั้ง เปลี่ยนทุกครั้งได้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตทุกครั้ง เห็นไหมคะการเปลี่ยนแปลงมีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้น “อย่าบอกว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ” จงเปลี่ยนในแบบที่คุณต้องการเปลี่ยน ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนชีวิตสิ่งแรกที่คุณต้องเปลี่ยนคือ “ความคิด”

คนรักการพัฒนาตนเอง สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ #Talktonitima

• สนใจหลักสูตร #เทรนด์การสื่อสาร ยุค ศต. 21

• #เทรนด์การพัฒนาบุคลิกภาพ ยุค ศต. 21

• เทรนด์การพัฒนา mindset ยุค ศต. 21

คุณพ่อคุณแม่ต้องการเลี้ยงลูกให้เข้ากับเทรนด์ ติดตามได้ที่

https://www.disruptignite.com/blog/4-trends-of-new-age-parenting


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima

AQ (Adversity Quotient) ช่วยให้คุณปรับตัวได้เร็ว เมื่อโลกถูก Disruptions

AQ (Adversity Quotient) ช่วยให้คุณปรับตัวได้เร็ว เมื่อโลกถูก Disruptions คนที่รอดคือคนที่ปรับตัวได้เร็ว สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและไปต่อได้ IQ และ EQ ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป

AQ (Adversity Quotient) คือ ความสามารถในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และมีความพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างไม่ท้อถอย การเอาชนะอุปสรรคเพื่อบรรลุเป้าหมายในที่สุด

ความสามารถในการตอบสนองต่อปัญหาอุปสรรคนั้น มีทั้งความอดทนต่อความเจ็บปวด ทั้งด้านความยากลำบากทางกาย ความอดกลั้นทางด้านจิตใจ และจิตวิญญาณ ที่สามารถเผชิญและเอาชนะเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่มีความแน่นอน

ด้วยคุณสมบัติของ AQ จะช่วยให้ทุกคนมีศักยภาพในการดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

สตอลต์ (Paul G.Stoltz, Ph.D.) เป็นผู้เสนอแนวความคิด และแนวทางพัฒนาศักยภาพด้าน เอคิว (AQ) ขึ้น และปรับใช้กับวงการการศึกษา

ความเข้าใจแนวความคิดด้านเอคิว (AQ) ทำให้เข้าใจถึงวิธีที่บุคคลตอบสนองต่ออุปสรรคหรือสิ่งท้าทายตลอดทุกแง่มุมของชีวิต เปรียบได้กับการไต่เขา มีบันได 3 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่หนึ่ง คือ การจินตนาการความเป็นไปได้ที่ดีกว่าที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ( Dream the Dream )

ขั้นที่สอง คือ แปลงสิ่งที่จินตนาการให้เป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ( Making the Dream the Vision )

ขั้นที่สาม คือ การคงสภาพวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนนั้นจนกว่าจะดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย ( Sustaining the Vision )

อย่าลืมว่าหัวใจของเอคิว (AQ) คือดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง ไม่ท้อถอย ดังเช่น โธมัส เอดิสัน ใช้เวลาถึง 20 ปี ทำการทดลองผลิตแบตเตอรีต้นแบบ ที่เบาทนทาน ด้วยการทดลองห้าหมื่นกว่าครั้ง มีผู้สงสัยว่าเขาอดทนทำเช่นนั้นได้อย่างไร เขาตอบว่า การทดลองทั้งห้าหมื่นครั้งทำให้เขาเรียนรู้ความล้มเหลว

ตั้งห้าหมื่นกว่าแบบ เป็นเหตุให้เขาประสบความสำเร็จดังกล่าวได้ จะเห็นได้ถึงทัศนคติที่เปี่ยมไปด้วยพลังของความอดทน ความพยายาม ไม่ท้อถอย ปรับตัวเพื่อรับมือต่ออุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน จนบรรลุเป้าหมาย

เทคนิคการสร้าง AQ ง่ายๆ ต้องมี Mindset อย่างไร?

“มองปัญหาให้เป็นโอกาส” คีย์สำคัญของการพัฒนา AQ

CORE

C = CONTROL สามารถควบคุมสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

O = OWNERSHIPS ความเป็นเจ้าของปัญหาอยู่ที่ตัวเรา

R = REACH คิดว่าปัญหาทุกประเภทมีทางแก้ไข ไม่ใช่หมดหนทางแล้ว

E = ENDURANCE มีความอดทน ทนทานต่อปัญหาต่างๆ มองโลกในแง่ดี ไม่วู่วาม

มาถึงตอนนี้คงจะเห็นได้แล้วว่า เอคิว (AQ) นั้น มีประโยชน์ต่อสังคมโลกอย่างไร

และหากเด็กได้รับการพัฒนาความคิดดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและสังคมอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้มาก นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาถึง อานิสงค์แห่งการคงไว้ซึ่งเอคิว (AQ) ใน 3 ลักษณะคือ

1.) ทำให้บุคคลนั้นมีความคล่องตัวอยู่เสมอ ไม่เหี่ยวเฉา กระตือรือร้นตลอดเวลา การฝึกสมองอยู่ตลอดเวลาทำให้เซลล์สมองพัฒนาการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทตลอดเวลา ทำให้มีความคิดความจำที่ดีอยู่ตลอด

2.) เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ มาติน เซลิกมาน (Martin Seligman) ได้ศึกษาตัวแทนประกันชีวิตเป็นเวลา 5 ปี พบว่าผู้มองโลกในแง่ดี มีผลงานขายประกันสูงกว่าผู้มองโลกในแง่ร้าย ถึงร้อยละ 88

3.) งานวิจัยด้านระบบจิตประสาทภูมิคุ้มกัน (Psycho- neuroimmunology) พบว่า วิธีการตอบสนองต่ออุปสรรค มีความสัมพันธ์ทางตรงกับ สุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้ที่มีจิตใจต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วยดีขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมา โลกของเรา ประเทศไทยของเรา ก็เคยผ่านวิกฤติมานับครั้งไม่ถ้วน เช่น สงครามโลก ภัยแล้ง โรคระบาด ทุกครั้งก็จะมีคนล้มหายตายจาก และทุกครั้งก็จะมีคนที่รอด ในครั้งนี้ โรคระบาดระลอกที่ 3 เราจะเป็นฝ่ายไหน ระหว่าง รอดกับไม่รอด

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต จะมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดเป็นทุนเดิม และคุณก็คือสิ่งมีชีวิต คุณเลือกได้ว่าจะต่อสู้ชีวิตเพื่อไปต่อ หรือจะพออยู่เพียงเท่านี้

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://www.stou.ac.th/study/sumrit/11-58(500)/page3-11-58(500).html

https://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Quatient_AQ.htm

เราอยู่ในระบบที่ถูกกดขี่ให้มีความรู้ แต่กลับสร้างกรอบทางความคิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

ปรากฎการณ์สังคมปัจจุบันสะท้อนว่าเราไม่ได้คาดหวังให้เด็กได้แค่ความรู้จากการศึกษา แต่อยากให้เด็กได้มีความคิดด้วย แต่ โรงเรียน ครอบครัว สังคม ต้องร่วมกัน มาบอกให้แต่โรงเรียนสร้าง แล้วที่บ้านไม่สร้าง สังคมไม่สร้าง สุดท้ายก็ติดกรอบเดิม

แล้วถ้าที่บอกว่า ดูดีมีความคิด หรือ ดูดีมีเหตุผล มันคือมีความคิดหรือมีความเหตุผลจริง หรือว่า แค่เราคิดในแบบที่สังคมคิดและมีเหตุผลตามที่สังคมบอกว่าอะไรมีเหตุผล เราอยู่ในโลกที่ให้ความสำคัญกับการกระทำซึ่งเป็นผลของความคิด แต่เราไม่ได้ให้คุณค่ากับกระบวนการทางความคิด #เหยื่อของโลกความรู้ เพราะโลกไม่มีอะไรถูกหมด และไม่มีอะไรผิด อยู่ที่ definition ของคำว่า ถูก ผิด สมควร หรือ ไม่สมควร ของสังคมนั้นๆ ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง อะไรที่บอกว่าถูกตอนนั้น อาจจะผิดในอีก 10 ปีข้างหน้า

เราส่งเสริมให้คนมีกระบวนทัศน์ หรือความคิดที่มี dynamic ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามกรอบเวลาและสถานที่ให้ได้ เพื่อให้รับมือกับปัญหาทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งก็ aware ว่าคิดง่าย ทำยาก ดังนั้น stakeholder ของการศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการสร้างระบบ และต้องเป็นระบบมีโครงสร้างที่สามารถคงสถานะได้ แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ อันนี้แหละความยาก อารมณ์เหมือนสร้างตึกยังไง ที่สามารถยังคงเป็นตึกได้ แม้กระทั้งเจอลม เจอแรงสั่นจากแผ่นดินไหว อันนี้เป็น metaphor เฉยๆ

การศึกษาไทยตอนนี้ ปัญหาที่สามารถโทษมากกว่า mental model 

การศึกษาที่มุ่งแต่ให้ผู้เรียนมีความรู้ โดยไม่ได้ให้ผู้เรียนให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด ดังนั้นจึงส่งผลในการประเมินด้วยเช่นกัน เพราะมันง่าย และชัดเจน สามารถวัดว่าใครมีความรู้ผ่านข้อสอบที่วัดความรู้ แต่ไม่ได้มีข้อสอบที่ดูว่า ทำไมถึงคิดแบบนั้น แล้วในการสอนให้คิด ไม่ใช่การเอาความคิดของผู้สอนไปใส่แล้วให้ผู้เรียนคิดแบบที่ผู้สอนเข้าใจ เพราะคนเราอาจจะมีวิธีการในการเข้าใจเรื่องต่างๆ ในมุมหรือด้านที่ไม่เหมือนกัน 

เช่น ทำไมคนนึงเรียนเลขเก่ง เพราะเค้าสามารถเข้าใจตรรกะผ่านคำอธิบายและทฤษฏีของตัวเอง ทำไมภาษาเก่งเพราะสามารถทำความเข้าใจผ่านตรรกะผ่านภาษาได้มากกว่า เราอยู่ในระบบที่ถูกกดขี่ให้มีความรู้ แต่กลับสร้างกรอบทางความคิดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ไม่ใช่โรงเรียนที่ส่งผลต่อกรอบทางความคิด แต่ยังมีปัจจัยของครอบครัว และสังคมที่คอยสุมสร้าง mental model ของตัวบุคคลอยู่

กรอบหนึ่งในหลายๆ กรอบที่มองเห็นได้ชัด คือ กรอบความถูก ผิด ตั้งแต่เรียนอนุบาล เราถูกสอนแล้วว่าอะไรถูก ผิด แต่ไม่ได้ถูกทำให้ว่าอะไรถูก ผิด

หากโรงเรียนทำหน้าที่เป็นเครื่องเตรียมเด็กสู่สังคม โรงเรียนในแง่ของการสร้างคน

ชั้น ป. 1 อนุบาลวังบาดาล เปิดเทอมวันแรก โรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ห้องเรียนสะอาด ดังนั้นครูเลยบอกให้นักเรียนถอดรองเท้าไว้ที่ชั้นวางรองเท้าที่โรงเรียนจัดไว้ให้ วันหนึ่ง มีนักเรียนคนนึง ด.ช. ปอนด์ ถามว่า ทำไมเราต้องถอดรองเท้าด้วยครับ เพราะยังไงก็ต้องทำความสะอาดอยู่ดี คุณครูก็จะหาเหตุผลที่เด็กอนุบาล 1 สามารถเข้าใจได้มาตอบต่างๆ วันถัดไป นักเรียนปอนด์ ถามอีกว่า ทำไมคุณครูไม่ถอดรองเท้าครับ คุณครูก็จะหาเหตุผลต่างๆ มาบอก หรืออาจจะถอดรองเท้าให้เป็นตัวอย่าง 

วันถัดไป ดญ. ฟ้า บ่นว่าในห้องมีกลิ่นเหม็น ซึ่งมากจากถุงเท้าเพื่อน เลยถามคุณครูว่า จะทำยังไงดี คำตอบที่เป็นไปได้ก็มีหลายอย่าง ให้ไปล้างเท้า เอาสเปรย์ฉีดห้อง หรือให้ทั้งห้องใส่รองเท้าในวันนั้น วันต่อมาสมมุติครูทำตามทั้งหมด แล้วครูโดนครูใหญ่เรียกไปด่า เพราะสร้างตัวอย่างให้นักเรียนห้องข้างๆ ว่าทำไมห้องนี้ใส่รองเท้าเข้าไปในห้องเรียน วันต่อมาเพื่อตัดปัญหาคุณครูก็เลยตัดสินใจให้นักเรียนถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน ผลลัพธ์เพื่อให้ห้องสะอาด เพื่อมีความเป็นระเบียบของสังคมในการต้องถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน แต่ผลลัพธ์อีกอย่างคือ นักเรียนต้องนั่งรมกลิ่นทีนเพื่อนทุกวันจนเสียประสาทในการเรียน 

หากเรามองจากเรื่องนี้ ปัญหาของเรื่องนี้คืออะไร กฎระเบียบ กลิ่นเท้า การเป็นตัวอย่าง ลองตั้งคำถามว่า ถ้าคุณเป็นคุณครู คุณจะสร้างกระบวนทัศน์หรือกระบวนควาามคิดด้วยวิธีไหนให้เด็ก ที่ไม่ใช่บอกว่า กฎคือกฎ เพราะถ้าแบบนั้น นักเรียนก็ต้องนั่งรมเท้าเพื่อนทุกวัน แต่สมมุติให้เพื่อนหาว่าใครเท้าเหม็นแล้วแก้ไขปัญหาให้คนที่เท้าเหม็น เด็กคนนั้นอาจจะโดนเพื่อนล้อ หรือว่าคุณครูจะเดินไปหา ผอ. สับๆ แล้วบอกว่าชั้นจะไม่ทนให้เด็กชั้น ต้องนั่งรมเท้า ดังนั้นชั้นจะให้เด็กใส่รองเท้า 

จริงๆ ผลลัพธ์แบบไหนก็มีผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ทำให้เด็กคิดว่า ถ้าใส่แล้วดียังไงไม่ดียังไง ไม่ไส่แล้วดีไม่ดียังไง ถ้าคนนึงใส่อีกคนไม่ใส่มีดีมีเสียยังไง ส่วนตัวอยากให้ครูมีความ directive ให้น้อยที่สุด แต่อยากให้สร้าง simulation ให้มากกว่า แล้วให้เด็กสร้าง agreement ร่วมกันว่าจะใส่ไม่ใส่หรืออย่างไร 

ในแง่ของความรู้

ชั้น ป. 1 วิชาคณิตศาสตร์ ครูพี่ลูกปลาจบคณิตศาสตร์เกียรตินิยมอันดับ 1 Ph.d. จาก Oxford และมี ครุศาสตร์ดุษฎีมา  ดังนั้นตัดปัจจัยเรื่องความรู้ของครู ในกรณีนี้คุณครูอยากให้เด็กเข้าใจว่า 1+1 = 2 แล้ว 2+2=4 

วิธีการสอน อาจจะเป็น 1 +  _ = 2 และ _ + 2 = 4 จงเติมคำในช่องว่าง (คำถามแรกคุณจะสอนก่อนว่า 1+1=2 หรือจะให้โจทย์ก่อนแล้วค่อย) สมมุติครูให้เป็นการบ้าน

ดช. ดร๊อะ ที่มีพ่อจบ Ph.d. Cambridge ด้าน cognitive psychology ให้พ่อช่วยสอนการบ้าน 1 + _ = 2 และ _ + 2 = 4 พ่อเลยสอนว่า 1+1 = 2 และ 2 + 2 = 4 เป็นคำตอบที่สมควรเขียนตอบ แต่พ่อสอนต่ออีกว่า 1 + 1 = 1 + 1 และ 2 + 2 = 2 + 2 หรืออาจะ -2 + 3 = 1 และ   -22 + √4 = 4 เหมือนกัน พ่อเลยบอกว่า เลขอะไรไม่สำคัญ ควาสำคัญของสมการ คือ สองฝั่งต้องเท่ากัน ซึ่งมีวิธีมากมายที่ทำให้สมการเท่ากันทั้งสองฝั่ง 

แต่ด้วยธรรมชาติของ ด.ช. ดร๊อะ ที่ชอบท้าท้ายสนุกสนาน เลยเอาสิ่งที่พ่อสอนมาทำความเข้าใจเอง แล้วเอาไปเขียนทำการบ้านส่งครู เลยตอบคุณครูในการบ้านว่า 1 + -12 =2 และ sqr 4 + 2 = 4 ซึ่งจริงๆ ด.ช. ดร๊อะไม่ได้รู้หรอกว่า - ที่ - ไม่ใช้ representation ของวิธีการ แต่เป็น Negative value ของเลข  1 ซึ่งก็มีกำลังสองติดอยู่ 

ด.ช. ดร๊อะเอาที่พ่อสอนมารวมๆ กันมั่วๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจอะไรแล้วทำการบ้านส่งครู ในวันที่เด็กเอาการบ้านไปส่ง คุณครูเห็นคำตอบ คุณคิดอะไรเป็นอันดับแรกกับคำตอบ 1. ให้คนอื่น พ่อ แม่ พี่น้อง ทำให้ 2. ไปดูยูทูปมาแล้วมาตอบ หรือ 3 4 5 หน้าที่ครูตอนนั้นคือ ต้องให้คะแนน  คุณครูจะกาถูก หรือจะกาผิด คุณครูจะเรียกเด็กมาถามมั้ยว่าทำไมตอบแบบนี้ แล้วสุดท้าย คุณครูจะให้คะแนนยังไง ถ้าเด็กเข้าใจหลักการของสมการ เด็กสามารถรวมของสองกองในจำนวนที่เท่ากันได้ แต่ไม่สามารถคิดแล้วเขียนเป็นตัวเลขได้ เราจะตัดสินเด็กคนนั้นจากความรู้ หรือเราจะตัดสินเด็กคนนั้นจากความคิด 

ถึงแม้คุณครูอาจจะเห็นว่าสิ่งที่พ่อสอนมาอาจจะถูกในหลักการ แต่จริงๆ 1 + -12  = 2 จริงๆ ต้องเขียนว่า 1 + (-1)2  = 2 เพื่อให้ถูกหลักการ คุณครูจะให้คะแนนเด็กยังไง และจะอธิบายเด็กว่ายังไง เราต้องสร้างไม่ใช่ให้เด็กเข้าใจความรู้ แต่ให้เข้าใจหลักการและกระบวนการของความรู้นั้น (ความเป็นไปได้ของเหตุการอาจจะน้อยมาก แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันพ่อแม่รุ่นใหม่มีการศึกษากัน) 

ทั้งนี้ก็ มี factor อื่นๆ เช่นประสบการณ์ของครู วัยของเด็ก mental model ของครู และของเด็ก ครอบครัว สังคม

ที่อยากให้โฟกัสคือ ครูและระบบการศึกษาอยากให้เด็กรู้อะไร อยากให้เด็กรู้ว่า บวกยังไงจึงทำให้สมการเท่ากัน หรือหลักการการเท่ากันของสมการ หรือทั้งสอง หรือทั้งสองบวกการรู้ว่ารู้แล้วเอาไปทำใช้ทำอะไร 

ปัญหาการศึกษา ไม่ได้มีปัญหาคือจุดใดจุดหนึ่ง ขนาดประเทศโลกที่ 1 หรือประเทศแถวสแกนที่บอกว่ามีการศึกษาดีที่สุด ยังทำได้มากสุดแค่ทำให้ผู้เรียนรู้ แต่ทำให้ผู้เรียนคิดและให้เหตุผลของความคิด ยังคงกลายเป็นความท้าทาย เพราะคนเราคิดไม่เหมือนกัน การสำเร็จการศึกษานอกจากจะให้ได้มาซึ่ง collective/common knowledge และ social แล้วนั้น เราจะสร้างให้ผู้เรียนคิดได้อย่างอิสระได้อย่างไร 

ทั้งนี้ภายใต้ความอิสระ ต้องรวมตัวแปรทางด้านสังคม วัฒนธรรมเข้าไปด้วย เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งระหว่างคน และระหว่างธรรมชาติ จะคิดโดยไม่ดูตัวประกอบเหล่านี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาปิดกั้นความคิด 

สุดท้ายเราต้องการอะไรจากการศึกษา เราจะเป็น ไม่เป็นทาสความรู้ หากเรามีความคิด แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ในการเอามาคิด ก็ไม่มีทั้งความรู้ ความคิด ทั้งนี้ ความรู้ควรวัดจากสิ่งที่อยู่ในหนังสือหรือจากใบปริญญา แต่จะวัดคนที่มีความรู้และความคิดยังไง ตอนนี้ทั้งสอบข้อเขียน ทั้งสอบสัมภาษณ์ ทั้งทดลองงาน มีหมด จะวัดประเมินกันยังไง


เขียนโดย คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ 

นักเรียนทุนรัฐบาล UIS ปริญญาโท Master of Public Administration , Cornell University, สหรัฐอเมริกา

มากกว่า 30 รายรหัสวิชาที่ต้องสอบ เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไทย...มีอะไรบ้าง ที่ต้องรู้ ก่อนเลือกสมัครสอบตามคณะที่คาดหมาย

การเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขที่ไม่หยุดนิ่ง ทิ้งสิ่งที่เรียกว่าภาระเด็กไทย เข้ามหาวิทยาลัยสุดโหดได้อย่างไร?

จำนวนวิชาสอบที่สร้างความยุ่งยากซ้ำซ้อน กว่า 30 รายรหัสวิชาที่ต้องสอบเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไทย...มีอะไรบ้าง ที่ต้องรู้ก่อนเลือกสมัครสอบตามคณะที่คาดหมาย ให้ครบถ้วนไม่ขาด

3 กลุ่มวิชาหลักที่ขาดไม่ได้ ในการใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS (Thai University Central Admission System)

1. O-NET
   O-NET (Ordinary National Educational Test) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.

2. GAT PAT
    GAT/PAT คือการสอบความถนัดทั่วไป GAT ซึ่งย่อมาจากคำว่า (General Aptitude Test) หรือการทดสอบความถนัดทั่วไป ส่วน PAT คือการสอบความถนัดด้านวิชาการ (Professional A Aptitude Test) คือ การสอบวัดศักยภาพของนักเรียนที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

3. 9 วิชาสามัญ
    9 วิชาสามัญ คือ ข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. เพื่อใช้ในการรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย  แต่เดิมจะสอบเพียง 7 วิชา แต่เพื่อให้ครอบคลุมกับเนื้อหาของสายศิลป์ จึงเพิ่มอีก 2 วิชาเข้าไป รวมเป็น 9 วิชา ดังนี้

1.วิชาภาษาไทย
2.วิชาสังคมศึกษา
3.วิชาภาษาอังกฤษ
4.วิชาคณิตศาสตร์ 1
5.วิชาฟิสิกส์
6.วิชาเคมี
7.วิชาชีววิทยา
8.วิชาคณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์)
9.วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป (สายศิลป์)

5 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับ GAT/PAT

1. GAT คืออะไร?
เป็นการสอบที่ดูว่า นักเรียนคนหนึ่งมีความพร้อม ในการจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากน้อยแค่ไหน โดยจะทำการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) ซึ่งก็คือเป็นการวัดศักยภาพในการเรียนในมหาวิทยาลัย ให้ประสบความสำเร็จ มี 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 พาร์ทภาษาไทย คือ วัดความสามารถในการอ่าน/การเขียน/การคิดเชิงวิเคราะห์/และการแก้โจทย์ปัญหา

ส่วนที่ 2 พาร์ทภาษาอังกฤษ คือ วัดความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย Speaking and /Conversation/Vocabulary/Structure and Writing/Reading Comprehension

รวมกันสองพาร์ทนี้ 300 คะแนน

2. PAT คืออะไร?
เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test)  การวัดความรู้ที่เป็นพื้นฐาน กับศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้นๆ ดูว่านักเรียนคนหนึ่งมีแววจะเข้าสู่เส้นทางอาชีพในคณะที่เลือกไหม  มี 7 สาขาวิชาตามกลุ่มวิชาชีพดังนี้คือ

PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์
PAT 2 คือ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
PAT 3 คือ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 คือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 คือ ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 คือ ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย

PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส
PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน
PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น
PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน
PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ
PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี
PAT 7.7 ความถนัดทางภาษาเกาหลี

3. GAT PAT สำคัญต่อแอดมิชชั่นอย่างไร?
แอดมิชชั่นกลางนั้น GAT PAT รวมกันจะเป็นสัดส่วนถึง 50% และอีก 50% ที่เหลือก็มาจากสัดส่วนรวมกันของเกรด(GPAX) และคะแนน O-NET นั่นเอง นั่นหมายความว่า ถ้าไม่มี GAT PAT ก็จะไม่สามารถแอดมิชชั่นได้ นอกจากนี้การรับตรงในบางมหาลัยนั้นก็ใช้ GAT PAT เป็นเกณฑ์คัดเลือกสำคัญด้วย อาทิ รับตรงปกติ จุฬาฯ, รับตรง มธ.บางคณะ, รับตรงแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

และรับตรงรอบแรกส่วนใหญ่ก็จะใช้ GAT PAT รอบแรกเท่านั้น เพราะรับตรงโครงการนั้นๆ จะเสร็จสิ้นก่อนจะสอบ GAT PAT จึงใช้ได้แค่รอบเดียว ดังนั้น เตือน ม.6 ถ้าถึงเวลาสมัครสอบแล้ว ก็อย่าลืมสมัครด้วยนะ จะได้ไม่เสียสิทธิ์รับตรง (ในบางคณะ)

4. คณะไหนใช้ PAT อะไรบ้าง
PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มคณะวิทยาศาสตร์กายภาพ กลุ่มเกษตร-วนศาสตร์ กลุ่มบริหาร-บัญชี เศรษฐศาสตร์ กลุ่มมนุษยฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์ (ยื่นคะแนนรูปแบบที่1)

PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์

PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์

PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์

PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มการโรงแรมและท่องเที่ยว(ยื่นคะแนนรูปแบบที่2) กลุ่มมนุษยฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์ (ยื่นคะแนนพื้นฐานศิลป์ รูปแบบ2)

5. ใครสอบได้บ้าง
สำหรับการสอบ GAT PAT ค่อนข้างจะอิสระพอสมควร เพราะทุกคนมีสิทธิในการสอบหมด ทั้ง ม.6 เด็กซิ่ว และ สายอาชีพ และจะสมัครกี่ครั้งก็ได้ เพราะการสมัครสอบสามารถดำเนินการสมัครได้ด้วยตนเอง ดังนั้นอยู่ที่ความรับผิดชอบของตัวเอง หากสมัครไม่ทัน ผลเสียก็ตกอยู่ที่ตัวเอง

อายุของคะแนนสอบ GAT PAT อยู่ได้ 2 ปี  นั่นหมายความว่า หาก ม.6 ปีนี้ อยากซิ่วในปีหน้า คะแนนของปีนี้ก็ยังใช้ได้ โดยในการสมัครแอดมิชชั่นกลางจะมีระบุไว้ว่าใช้รอบใดได้บ้าง

วิชาสามัญ คือ ข้อสอบกลางที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่ตอนนี้ลดการสอบซ้ำซ้อน โดย วิชาสามัญ จะสอบแค่ 7 วิชาหลัก จะไม่มีการสอบ คณิตศาสตร์ 1 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป หากคณะ/สาขาใดใช้ 2 วิชานี้ ให้ใช้คะแนนจาก คณิตศาสตร์ O-NET และวิทยาศาสตร์ O-NET แทน วิชาสามัญจะเปิดรับสมัครสอบทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม 

วิชาสามัญ ใช้ใน TCAS รอบใด
คะแนนยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ในระบบ TCAS รอบ 2 โควตา รอบ 3 Admission 1 และรอบ 4 รับตรงเก็บตกสุดท้าย แต่น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เลือกสมัครเฉพาะวิชาที่ใช้ก็พอ แต่ปัญหาหลักคือ บางคนไม่รู้ว่าคณะที่จะเข้า ต้องใช้วิชาอะไรบ้าง

สรุปการใช้ วิชาสามัญ ของแต่ละคณะ
แต่ละคณะ/มหาวิทยาลัย กำหนดเกณฑ์การใช้ วิชาสามัญ ไม่เหมือนกัน แต่สามารถแบ่งการใช้คะแนนตามกลุ่มคณะได้ดังนี้ เพื่อการเตรียมตัว น้อง ๆ ควรรู้ก่อนว่าคณะที่เราจะเข้า ใช้คะแนนอะไรบ้าง
 
1. กลุ่มสายวิทย์สุขภาพ ใช้ 7 วิชา
เช่น คณะแพทยศาสตร์ ทันตะ เภสัช สัตวแพทยศาสตร์ พยาบาล สหเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ
4. คณิตศาสตร์ 1
5. ฟิสิกส์
6. เคมี
7. ชีววิทยา

2. กลุ่มสายวิทยาศาสตร์ ใช้ 4 วิชา
เช่น คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
1. ฟิสิกส์
2. เคมี
3. ชีวิวิทยา
4. คณิตศาสตร์ 1

3. สายศิลป์คำนวณ ใช้ 4 วิชา
เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ   คณะเศรษฐศาสตร์
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ
4. คณิตศาสตร์ 1 หรือ คณิตศาสตร์ 2 (บางสาขา เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม)

4. กลุ่มสายศิลป์แบบใช้ 5 วิชา
เช่น คณะกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ
4. คณิตศาสตร์ 2
5. วิทยาศาสตร์ทั่วไป

5. กลุ่มสายศิลป์แบบ ใช้ 3 วิชา
เช่น อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2564 ทำให้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้องปรับรูปแบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 ทำให้รอบ Admission2 ที่ใช้คะแนน O-NET ในสัดส่วน 30% ต้องถูกยุติการใช้ใน TCAS65 และจะไม่ใช้คะแนนสอบอื่นมาทดแทน เพื่อลดภาระให้นักเรียน โดยจะเหลือการรับ 4 รูปแบบ 4 รอบการสมัคร ได้แก่ รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบ 2 โควต้า รอบ 3 แอดมิสชั่นส์ และรอบ 4 รับตรงอิสระ

การวางแผน ของนักเรียน มัธยมปลายรุ่นต่อๆ ไป ภาระอาจจะลดน้อยลง จากการกำหนดการสอบที่ลดน้อยลง แต่ปัญหาใหม่ในปีนี้ที่ผ่านมา ของนักเรียนรุ่นเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นปี 2564 คือข้อสอบที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากแนวเก่าๆ เพราะหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลง และผู้ออกข้อสอบ โดย สสวท. ก็ทำให้นักเรียนรุ่นต่อไป ต้องรับศึกหนัก ข้อสอบที่ยากขึ้นมากสำหรับ คนที่อยู่ระดับล่างของการเรียนไทย การแข่งขันจะยิ่งทำให้ช่องว่าการศึกษาไทยยิ่งห่างกันอีกไกล

เตรียมตัวสอบวิชาอะไรบ้าง คณะอะไรที่จะเลือกใช้วิชาใดสอบ ยื่นรอบไหน ใช้อะไร เจอกันในบทความถัดไปครับ จะแนะนำวิธีการเลือกสอบ เลือกรอบยื่น และเลือกลำดับคณะมหาลัยที่เหมาะแต่ละคน

เว็ปไซต์ที่แนะนำติดตาม
https://www.niets.or.th/th/catalog/view/247
https://www.mytcas.com/


เขียน และรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

ไม่ว่าจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากมายแค่ไหน รักกันมากเพียงใด ถ้าไม่รู้จักการสื่อสารภาษารักที่ดีต่อกัน ความรักก็อาจเหือดแห้งหายไปได้ในที่สุด

คุณเคยมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักบ้างไหม?

บ่อยครั้งที่เราอาจรู้สึกว่า เราไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ความรัก หรือการให้ความสนใจเท่าที่ควร ในขณะที่คนที่รักเรา เขายังบอกว่ารู้สึกเป็นห่วง ใส่ใจ และต้องการดูแลเราอยู่ปกติ แต่ทำไมเราจึงรู้สึกตรงกันข้าม สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการใช้ภาษาในการสื่อสารความรักที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากมายแค่ไหน รักกันมากเพียงใด ถ้าไม่รู้จักการสื่อสารภาษารักที่ดีต่อกัน ความรักคุณอาจจะเหือดแห้งหายไปได้ในที่สุด

ภาษารัก คือ การเรียนรู้ในการแสดงความรู้สึกผ่านคำพูดและการแสดงออก เพื่อให้คนรักค่อย ๆ เดินทางเข้ามาหาเราทีละเล็กทีละน้อย ในทางจิตวิทยาได้กล่าวไว้ว่า การครองใจคน “เกิดขึ้นในขณะที่คนรักอยู่กับเราแล้วเขาและเธอรู้สึกมีคุณค่าในขณะที่อยู่กับเรา”

ระหว่างคนสองคนเมื่ออยู่ด้วยกันแล้วสามารถทำให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงคุณค่าในตัวเอง เป็นวิธีในการแสดงออกความรู้สึกรักที่แต่ละคนได้มีการเรียนรู้ ความชอบ รสนิยม ความเป็นตัวตน ซึ่งแตกต่างกันออกไป เพื่อที่จะแสดงความรู้สึกรัก การยอมรับ และการใส่ใจ โดยในการแสดงออกถึงความรักนั้นมีอยู่เพียง 5 วิธีเท่านั้น คือ

1.) การดูแลและทำเรื่องดี ๆ ให้กับคนรัก

เป็นการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ถือเป็นภาระหน้าที่ เช่น

• การช่วยเหลือเรื่องงาน

• การทำอาหารให้ทาน

• การช่วยขับรถให้

• การช่วยทำความสะอาด

• การซื้อเสื้อผ้าเครื่องประดับให้

• การช่วยถือกระเป๋า

• การให้ความสะดวกสบาย

• การดูแลเอาใจใส่ ห่วงใย

• การช่วยเป็นธุระให้

• การให้ความสำคัญ

• ฯลฯ

2.) คำพูดที่ดีต่อใจ

คือภาษารักที่สื่อสารผ่านถ้อยคำ คำพูด รวมทั้งการส่งข้อความ message ด้วย คำพูดที่เติมเต็ม (Word of Affirmation) ไม่ได้มีแต่การบอกรักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพูดในเรื่องที่สร้างความสุขให้กับคนที่รัก ให้คุณค่ากับคนที่รักด้วย เช่น

• การพูดขอบคุณ

• การพูดคำชื่นชม

• การพูดบอกรัก

• การพูดให้กำลังใจ

• การพูดให้รู้สึกสบายใจ

• การพูดให้เกียรติ

• การเคารพ

คำพูดที่เติมเต็มให้กันและกัน แม้นไม่ใช่คำพูดบอกรักกันอย่างตรงไปตรงมา และเป็นคำพูดที่อาจสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งคนเราจะมีมุมมอง ความคิดที่แตกต่างกันออกไป หากใช้คำพูดที่เติมเต็มหัวใจ การให้กำลังใจ หรือการชื่นชม ในเรื่องที่ไม่ถูกใจเรา หรือ เป็นเรื่องที่คนรักอาจไม่เคยให้คุณค่ามาก่อน อาจทำให้คนรักไม่ได้รู้สึกดี ไม่ได้รู้สึกถึงความเอาใจใส่แต่อย่างใด หรือในบางครั้งอาจถึงขั้นเกิดการทะเลาะกันก็เป็นได้

3.) การสัมผัส

เมื่อมนุษย์มีการสัมผัสกัน สมองจะหลั่งฮอร์โมนเช่นออกซิโทซิน (Oxycontin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความเกี่ยวข้องกับความรักออกมาทำให้เกิดความรู้สึก

การสัมผัส (Physical Touch) เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกที่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่ารัก ผ่านการสัมผัสของแม่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลายอย่าง เช่น

• การจับมือ

• การกอด

• การโอบ

• การจูบ

• การแตะ

• การใกล้ชิด

• การมองตา

กิริยาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของการแสดงออกความรักทั้งสิ้น

4.) การให้ของขวัญพิเศษแก่คนรัก

การให้ของขวัญในวันพิเศษ การให้ช่อดอกไม้ในวันแห่งความรัก การทำเซอร์ไพรส์ เราจะเห็นคนรักแสดงออกต่อกันในรูปแบบนี้บ่อยๆ ศิลปินดารา นักร้อง คนมีชื่อเสียง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ยาวนาน ของขวัญถูกออกแบบไว้เพื่อทำให้แสดงออกถึงความรัก นั่นเอง

ของขวัญที่ให้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีราคาแพงหรือหรูหรา แต่มันอาจเต็มไปด้วยความหมาย หรืออาจเป็นบางอย่างที่ธรรมดา เช่น ของทำเอง เป็นการแสดงความตั้งใจทำให้คนรัก สื่อออกมาว่านี่คือความพิเศษสำหรับคนรักจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถทำให้เติมเต็มได้เป็นอย่างดี

5.) การมีเวลาคุณภาพร่วมกัน

เวลาคุณภาพร่วมกัน (Quality Time) เป็นภาษารักที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน มีความสนใจคล้าย ๆ กัน โดยไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอยู่ร่วมกันทางกายภาพอย่างเดียว แต่สามารถร่วมกิจกรรมกันได้หลาย ๆ ทาง เช่น

• การพูดคุยกัน

• การดูโทรทัศน์ ดูหนังด้วยกัน

• เล่นกีฬาร่วมกัน

• ทำการกุศลร่วมกัน

• การเล่นเกมส์ร่วมกัน

• การทำอาหารด้วยกัน

• การท่องเที่ยวด้วยกัน

• การเดินป่าด้วยกัน

• การดำน้ำด้วยกัน

• การตกปลาร่วมกัน

หากคุณได้ใช้เวลาร่วมกันโดยที่ไม่อยากให้มีอะไรมาแทรก ให้ความสนใจกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมอะไร สิ่งเหล่านี้คือการได้ใช้เวลาคุณภาพที่มีร่วมกันแล้ว

คุณลองพิจารณาตัวเอง เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ภาษารักแบบใด และลองสังเกตว่าคนรักของคุณมีแนวโน้มที่จะชอบใช้ภาษารักแบบไหนใน 5 แบบนี้

คุณอาจประหลาดใจว่า คนรักของคุณสามารถแสดงออกถึงความรักในรูปแบบของเขามากขึ้นจนเป็นที่พอใจ

นอกจากนี้คุณจะสามารถเข้าใจความห่วงใยของแต่ละคนที่ส่งมาให้คุณได้มากขึ้น และค่อยๆ ปรับความเข้าใจ เพื่อเข้าหากันได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://www.focusonthefamily.com/marriage/understanding-the-five-love-languages/

https://www.5lovelanguages.com/5-love-languages/

https://cratedwithlove.com/blog/five-love-languages-and-what-they-mean/

เรื่องที่คนเก่งควรรู้ ก่อนตกหลุมพราง ฝึกเข้าใจคน พื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้มีแต่คน อยากเป็นคนรวย อยากเป็นคนเก่ง และอยากเป็นคนประสบความสำเร็จ แต่น้อยนักที่จะมีคน อยากเป็นคนที่เข้าใจคน แปลกไหม ทั้งๆ ที่การเข้าใจคน คือพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ศาสตร์ของการพัฒนาคนมีให้ศึกษาอยู่ทั่วไป แต่ละแนวคิดมีปรัชญาที่น่าสนใจแตกต่างกันไป สำหรับผู้เขียนไปสะดุดหูกับปรัชญา “ขงจื้อ” ซึ่งเน้นในเรื่องการเข้าใจคน โดยใช้คุณธรรมนำชีวิต มาเป็นแก่นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตแบบยั่งยืน

ขงจื้อ ได้กล่าวไว้ว่า วิกฤตชีวิตเกิดขั้น 4 ช่วง ถ้าใครรู้เรื่องนี้จะเข้าใจชีวิตและบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาด ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

• ช่วงแรก - ช่วงวัยรุ่น อายุ 13-25 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมไม่หมกมุ่นเรื่องกามารมณ์

ช่วงนี้เป็นช่วงฮอร์โมน กำลังพลุ่งพล่าน เสี่ยงต่อการหลงผิด คิดผิด พูดผิด ทำผิด ถ้ารู้ไม่เท่าทันก็อาจถูกกระแสสังคมชักจูงได้ง่าย เช่น คิดว่าการเสพยาเสพติดเป็นเรื่องเท่ การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนเป็นเรื่องธรรมดา หรือมีความคิดว่าการทำเรื่องผิดศีลธรรมได้เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ทำกัน ต้องคอยระมัดระวังในการคบเพื่อน และการเสพสื่อต่างๆ ควรคัดกรองให้ดีเสียก่อน

• ช่วงที่สอง - ช่วงวัยทำงาน อายุ 25 - 40 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับผู้อื่น

ช่วงนี้เป็นช่วงความคิดกำลังพลุ่งพล่าน มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใช้ศักยภาพที่มี มุ่งสู่เป้าหมายในชีวิต มีความทะเยอทะยาน อยากได้อยากมีสูง เสี่ยงต่อการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว ทำให้มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น และอาจนำไปสู่ความหลงผิดคิดสบายทางลัด คิดกลโกง การแย่งชิงในรูปแบบต่าง ๆ ทิฐิมานะ กิเลส ตัณหา ความโกรธ เข้ามาในชีวิตได้ง่าย พยายามคิดบวก รักษาศีล ฝึกสมาธิ รักษาใจให้ดีเข้าไว้ อย่าให้ไหลไปกับอารมณ์และความคิดลบ

• ช่วงที่สาม - ช่วงวัยกลางคน อายุ 40 - 55 ปี

คนที่ฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมสามารถสร้างความสำเร็จในอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องพัฒนาตัวเอง ทุกมิติ ใช้สติและความรอบคอบ ใช้การบริหารจัดการเชิงระบบ ทบทวนตัวเอง เพื่อการแก้ไขข้อผิดพลาด มุ่งเรื่องการสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว เพื่อให้สังคมยอมรับ เมื่อทำงานหนัก ก็จะเกิดความเครียด จึงเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล เช่น อาจทำงานจนลืมสุขภาพ ทำงานจนลืมครอบครัว ทำงานจนลืมสังคมเพื่อนฝูง มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ช่วงนี้จึงต้องใส่ใจสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ เรื่องงานกับครอบครัวให้สมดุลควบคู่ไปด้วย

จากสถิติ ช่วงวัยนี้จะมีปัญหาสุขภาพจิต และนำไปสู่การนอกใจ และมีปัญหาหย่าร้างมากที่สุด ผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง ส่วนผู้ชายก็เข้าสู่การแปรปรวนทางอารณ์ ทั้งคู่จึงตกอยู่ในสภาวะ “วิกฤตวัยกลางคน” ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็หาทางออกแบบผิดๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ

• ช่วงที่สี่ - ช่วงสูงวัย อายุ 55 ปีขึ้นไป

คนที่ฝึกจิตมาดี ย่อมเป็นที่เคารพนับถือ สามารถรักษาทรัพย์ที่หามาได้ และส่งต่อให้แก่ลูกหลาน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ปล่อย ๆ วาง ๆ ใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน วางตัวควรค่าต่อการเคารพนับถือ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตแก่ลูกหลาน ช่วยเหลือ ให้แง่คิดมุมมองที่ดี

“ขงจื้อ” ได้กล่าวไว้ว่า ไม่ต้องกังวลว่าใครจะไม่เคารพนับถือเรา แต่ให้หันมาดูในสิ่งที่เรากำลังทำ ว่าควรค่าต่อการเคารพนับถือหรือไม่ ช่วงนี้ก็พยายามทำใจ ลดละเลิก ปล่อยวาง ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย คบเพื่อนให้น้อยลง เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข ที่สำคัญความสุขของเราต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

จะเห็นได้ว่าการฝึกจิตให้นิ่ง มีสติ จะช่วยให้เราสามารถ ใช้ความรู้คู่คุณธรรม นำชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนได้

แต่ให้เข้าใจตรงกันนะคะว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การศึกษาระดับไหน ยากดีมีจนเพียงใด ฝึกจิตมาดีแค่ไหน ก็มีสิทธิทำผิดพลาดกันทุกคน “เมื่อทำผิดพลาดก็ให้แก้ไขอย่าแก้ตัว” และ เมื่อมีการทำผิดครั้งต่อไป อนุญาตให้ผิดเรื่องใหม่ได้ แต่ห้ามทำผิดซ้ำเรื่องเดิม จะถือว่าเราไม่พัฒนา

ข่าวดีก็คือ ทุกคนสามารถสร้างความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้เท่าเทียมกัน ด้วยการฝึกจิต

3 วิธีง่ายต่อการฝึกจิต

1.) ตั้งเป้าหมายชีวิต ในการรักษาศีล 5 อย่างตั้งใจ

2.) เป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ทำ 3 สิ่งนี้ด้วยหัวใจ

3.) ฝึกนั่งสมาธิ ให้จิตตื่นรู้ ทุกวัน

เห็นไหมคะ การใช้ชีวิตให้ดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ จงเริ่มต้นจากการเข้าใจคนค่ะ

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: http://www.ci.au.edu/th/index.php/about/2015-08-24-11-58-20


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top