Thursday, 10 October 2024
EDUCATION COLUMNIST

สินค้า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods “โอกาส” ในตลาดชนบทอินเดีย

คนทั่วไปมักจะมองว่าอินเดียมีแต่ผู้คนที่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตชนบทย่อมมีกำลังซื้อต่ำกว่าคนในเขตเมือง แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ยังไงๆ ก็ต้องกินต้องใช้สินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมเรียกกันว่า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods นั่นเอง โดย FMCG จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็วเพราะคนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป

ที่สำคัญก็คือ แนวโน้มการบริโภคสินค้า FMCG ในเขตชนบทของอินเดียกลับมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดชนบทอินเดียประกอบไปด้วยหมู่บ้านประมาณ 650,000 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 850 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของอินเดียและมีสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

และด้วยแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ก็เลยส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทจําหน่ายสินค้า FMCG  หลายบริษัทในอินเดียกลับมาบุกตลาดชนบทอินเดียอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในชนบทจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์แทนสินค้าขายปลีกที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเหล่านี้ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาทิ สบู่ แชมพู บิสกิต เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าอาจจะต้องตั้งราคาต่ำกว่าก็ตาม โดยอุปสงค์ในสินค้า FMCG จากตลาดชนบทเติบโตเร็วกว่าจากตลาดในเมืองมาหลายไตรมาสแล้ว และคาดว่าอุปสงค์ในเมืองเล็กและเขตชนบทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nestle India วางแผนที่จะขยายการเข้าถึงผู้บริโภคในเขตชนบทเพิ่มขึ้น 120,000 หมู่บ้านภายในปี 2567 โดย Nestle India พยายามที่จะขยายตลาดไปยังเขตชนบทมาหลายปีแล้ว โดยในปี 2560 สินค้าของบริษัทฯ วางจําหน่ายอยู่ในหมู่บ้านราว 1,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ในปี 2561 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยอดขายราว 75% ของ Nestle India มาจากเขตเมือง และที่เหลือมาจากเขตชนบท เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปยังเขตชนบทเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปรับสัดส่วนสินค้าหรือการออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่ายอดขายสินค้า FMCG ในเขตชนบทคิดเป็น 39% ของยอดขายสินค้า FMCG ในอินเดียทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุอีกว่าตลาด FMCG ในเขตชนบทยังขยายตัวอยู่ในอัตราสูงราว 14.2% ในเดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในเขตเมืองเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งตลาดชนบทในช่วงก่อน COVID-19 เติบโตอย่างเชื่องช้าเนื่องจากข้อจํากัดด้านรายได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทําให้มีการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากขึ้น และการบริโภคในเขตเมืองเล็กและชนบทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในตลาดเหล่านี้อาจมีความท้าทายอยู่ บริษัท FMCG จึงอาจจะใช้กลยุทธ์ในการออกสินค้าแบบเน้นความคุ้มค่า (Value Pack) เพื่อที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นได้

Marico เป็นอีกหนึ่งบริษัท FMCG ของอินเดียที่ได้เพิ่มจํานวนผู้ค้าส่งในเขตชนบท ซึ่งทําให้บริษัทฯ อาจจะสามารถขยายการกระจายสินค้าได้ถึง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทผลิตบิสกิต Britannia Industries ที่ได้เพิ่มจํานวนผู้จัดจําหน่ายในตลาดชนบทจาก 19,000 รายในเดือนมีนาคม 2563 เป็น 23,000 รายในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ การบริโภคในเขตชนบทอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากระดับรายได้และความต้องการสินค้าใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้า FMCG ในเขตชนบทคาดว่าจะเติบโตจาก 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบค้าปลีกตามร้านค้าขนาดเล็กและไม่เป็นระบบ (Kirana Store) หรือเรียกง่ายๆ แบบบ้านเราก็คือร้านโชห่วยนั่นเอง ผู้ค้าสินค้า FMCG ขนาดใหญ่ที่เป็นระบบจึงอาจจะวางแผนเจาะตลาดโดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีการกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปพร้อมกัน เนื่องจากคาดว่าการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้า FMCG ในอินเดียในปี 2563 กว่า 40% จะเป็นการซื้อขายออนไลน์ ทั้งยังคาดว่าตลาด FMCG ออนไลน์ในอินเดียในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้า FMCG ส่วนใหญ่จะมาจากเขตเมือง แต่การบริโภคสินค้า FMCG บางประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องดื่มร้อนราว 40% มาจากเขตชนบท ส่วนสินค้าประเภทอาหาร เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดว่าจะเติบโตทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยผู้เล่นสําคัญในตลาด FMCG อินเดียในปัจจุบัน ได้แก่ HUL (Hindustan Unilever Ltd.), ITC (Indian Tobacco Company), Nestle India, GCMMF (AMUL), Dabur India, Asian Paints (India), Cadbury India, Britannia Industries, Procter & Gamble (P&G) Hygiene and Health Care, Marico Industries, Nirma, Coca-Cola และ Pepsi เป็นต้น โดย HUL และ Dabur India มียอดขายกว่าครึ่งมาจากเขตชนบทของอินเดียซึ่งมีประชากรราว 850 ล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยทํางานราว 400 ล้านคน

โดยเฉลี่ยแล้วชาวอินเดียในเขตชนบทมีกําลังซื้อน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นตลาดใหม่ (Untapped Market) ที่ผู้เล่น FMCG หลายรายกําลังพยายามเข้าไปตีตลาดให้ได้ และด้วยสาเหตุที่หลายบริษัทยังคงมีมาตรการให้พนักงานทํางานที่บ้าน ประกอบกับการอพยพย้ายกลับเมืองเล็กหลังมาตรการล็อคดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ทําให้การบริโภคในเมืองรองและชนบทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตรวมถึงความนิยมในอีคอมเมิร์ซก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทําให้ตลาดชนบทเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดในเมืองใหญ่เช่นกัน

ก็ขอฝากส่งท้ายไว้ว่าอินเดียยังมีอะไรให้เราแสวงหาอีกมากมายโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่รอให้เราเปิดใจที่จะพบและคว้าไว้...แม้แต่ “ตลาดชนบท” ที่เรารู้สึกว่ายากจน แต่สุดท้ายก็ยังมี “โอกาส” ให้ทุกคนวิ่งเข้าไปแย่งชิงกันในที่สุด

เขียนโดย: อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าในอินเดียแบบเจาะลึก

5 เคล็ดลับการพูดให้ดูแพง ในโลกของการทำงาน การพูดเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

ใครๆ ก็พูดได้ ใครๆ ก็พูดเป็น แต่จะพูดอย่างไรให้ดูดีมีราคา และมีเสน่ห์น่าประทับใจ บางคนบุคลิกภาพดี หน้าตาดี แต่งตัวดี แต่พอพูดออกมา หมดเสน่ห์ไปเลยก็มี ต่างจากบางคน บุคลิกหน้าตาการแต่งตัวแสนจะธรรมดา แต่พอพูดออกมาช่างน่าฟังและมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม เป็นเพราะอะไร ความลับเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยไหน อย่างไร เรามาดูกันค่ะ

ถ้าคุณอยากเป็นคนหนึ่งที่ต้องการพูดแล้วให้มีเสน่ห์และแลดูแพง จงทำสิ่งต่อไปนี้
.
1. ฝึกพูดให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย โดยเฉพาะเรื่อง วรรณยุกต์ อักขระ และควบกล้ำ

วิธีฝึก ให้อ่านหนังสือออกเสียงเบาๆ แต่จริงจัง พวกเราติดนิสัยการอ่านหนังสือในใจ จึงทำให้ขาดทักษะในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่ภาษาไทย เป็นภาษาที่ไพเราะมาก คนที่พูดได้ไพเราะ ให้ภาษาได้ดี สละสวยฟังเพลินเหมือนฟังดนตรี เป็นเพราะเขาออกเสียงได้ตรงตามหลักของภาษาไทยนั่นเอง

2. ฝึกการแบ่งวรรคตอนให้ดี พูดให้เป็นจังหวะ อัตราความช้าเร็วของการพูดไม่มากไป ไม่น้อยไป จังหวะการพูดให้สอดคล้องกับจังหวะของลมหายใจของผู้พูด 

วิธีฝึก กำหนดจังหวะการพูดด้วยการตั้งคำถาม  ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 

3. การปรับระดับน้ำเสียงให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรากำลังพูด ระดับของน้ำเสียงต้องสอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องที่คุณกำลังพูด คุณต้องการสื่อสารให้ผู้ฟังรู้สึกอย่างไร กำหนดอารมณ์ของคุณให้ชัด เช่น มีแรงบันดาลใจ ฮึกเหิม ลุกขึ้นสู้ กังวลใจ เห็นอกเห็นใจ เช้าใจ เศร้า เสียใจ หมดหวัง สะใจ เสียดาย ฯลฯ

วิธีฝึก การฝึกพูดจากอินเนอร์ พูดให้เหมือนการร้องเพลง ลีลาให้เหมือนนักแสดง


4. ฝึกการใช้ภาษากายและลีลาท่าทางให้มีประสิทธิภาพ บุคลิกภาพการพูดการใช้ภาษากายได้ดี จะมีอิทธิพลต่อผู้ฟังมากที่สุด เช่น การใช้สายตา การใช้มือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ท่าท่างที่มั่นใจ สามารถสร้างเสน่ห์ ดึงดูด และสร้างความเชื่อมั่นได้มากทีเดียว

วิธีฝึก ประสานสายตากับผู้ฟังขณะที่พูด แต่ไม่ต้องถึงกับจ้อง ภาษามือใช้ซ้ายขวาพอประมาณ อย่าให้ดูวุ่นวายจนเกินไป


5. พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังเท่านั้น เรื่องบางเรื่องเป็นความจริง แต่ความจริงนั้นไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด เช่น เพื่อนถูกแฟนทิ้ง ความจริงคือเพื่อนถูกทิ้ง แต่พูดแล้วเกิดประโยชน์ไหม ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด 

วิธีฝึก การพูดที่ดี ผู้พูดต้องมีจิตวิทยาการพูด เรื่องที่เราพูดคู่สนทนาเราอยากฟังหรือไม่ เพราะในมุมของคนฟังเขาต้องการได้ยินในเรื่องที่เขาชอบ มีประโยชน์และทำให้เขาสบายใจเท่านั้น

การพูดไม่ยาก ทุกคนสามารถพูดได้ แค่รู้วิธี

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: #สโมสรการพูดแห่งประเทศไทย #ระบบโทสมาสเตอร์สากล 
พัฒนาศักยภาพด้านการพูดและบุคลิกภาพ ได้ที่ #Talktonitima

รู้จัก Land Bridge หรือ ‘สะพานแผ่นดิน’ เส้นทางขนส่งร่นระยะทาง

วีคนี้จึงมาขอมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Land Bridge กันสักหน่อยว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง...

Land Bridge หรือแปลเป็นไทยว่า ‘สะพานแผ่นดิน’ เดิมเป็นคำศัพท์ทางชีวภูมิศาสตร์ หมายถึง พื้นที่ที่เป็น ‘คอคอด’ ซึ่งเชื่อมแผ่นดินขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน และใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ เช่น พื้นที่ประเทศปานามาที่เชื่อมระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปอเมริกาใต้

ต่อมาเริ่มมีการใช้คำนี้ในทางคมนาคม คือ เส้นทางทางบก เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างทะเลหรือมหาสมุทร แทนการใช้การขนส่งทางทะเล

ในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น มักจะใช้กับการขนส่งทางบกในระยะทางที่ไม่ไกล เนื่องจากระบบการขนส่งทางบกยังไม่พัฒนา สภาพเป็นทางเกวียนหรือเส้นทางธรรมชาติเป็นหลัก ส่งผลให้ใช้เวลาเดินทางนานและขนส่งได้น้อย เพราะข้อจำกัดของสภาพถนนและยานพาหนะ ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางบก สูงกว่าการขนส่งทางทะเลที่ระยะทางไกลกว่า

เมื่อมีการพัฒนาระบบรถไฟหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งทางบกลดต่ำลง เพราะสามารถขนสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากและทำความเร็วได้ดีกว่าเดิม เส้นทาง Land Bridge จึงมีระยะทางยาวขึ้น

ในช่วงปี 1880 มีโครงการแรกที่ถือได้ว่าเป็น Land Bridge สมัยใหม่ที่ใช้การขนส่งระบบราง คือ เส้นทาง Canadian Pacific Railway ที่เชื่อมโยงสองฝั่งของประเทศแคนาดา เนื่องจากช่วงนั้นมีการนำเข้าสินค้าราคาสูง เช่น ผ้าไหม เครื่องเทศ ชา จากเอเชียไปยังยุโรป โดยวิธีเดิมคือการขนส่งทางเรืออ้อมทวีปแอฟริกาหรืออ้อมทวีปอเมริกาใต้

แต่การใช้เส้นทางนี้ ช่วยร่นระยะทางด้วยการขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วขึ้นฝั่งทางตะวันตกของแคนาดาและขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อไปยังท่าเรือทางตะวันออกของประเทศ แล้วขนส่งสินค้าทางเรือต่อไปยังยุโรป

อย่างไรก็ตามเส้นทางขนส่งสินค้านี้ ได้รับความนิยมอยู่ประมาณ 40 ปี ก็กลับไปใช้การขนส่งทางทะเล เพราะมีการขุดคลองสุเอชและคลองปานามาที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินเรือ แต่เมื่อคลองสุเอชและคลองปานามา มีข้อจำกัดทางการใช้งานและปัญหาทางการเมือง การขนส่งสินค้าทาง Land Bridge ของอเมริกาเหนือ ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่า การเลือกเส้นทางการขนส่งสินค้ามีปัจจัยประกอบหลายด้าน ทั้งในด้านเทคโนโลยีการขนส่ง ความสามารถของคู่แข่ง หรือรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีระยะเวลาคืนทุนหลายสิบปี จึงควรพิจารณาให้รอบคอบเพราะเหตุการณ์ในอนาคตอาจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ที่มา:
https://transportgeography.org/contents/applications/transcontinental-bridges
https://www.britannica.com/science/land-bridge

เทคนิคการอ่านหนังสือสอบให้จำได้แม่นยำ ง่ายๆ มีอะไรบ้าง? ????????

ช่วงนี้นักศึกษาหลายคนคงจะกำลังเตรียมตัวสอบกลางภาค-ปลายภาคกันแล้วนะคะ ครูพิมพ์เชื่อว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนหลายวิชา คงกำลังเลือกรายวิชาที่จะเริ่มอ่านอยู่ หรือบางคนอาจจะเลือกไม่ถูกว่าจะอ่านเล่มไหนก่อนหรือหลังดี วันนี้ครูพิมพ์มีเทคนิคในการอ่านหนังสือสอบที่สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ ง่ายๆ มาให้นักศึกษาทุกคนได้ลองทำตามกันดูนะคะ 

อันดับแรก นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมก่อนค่ะ โดยการเตรียมตำราเรียนทุกรายวิชาที่จะเข้าสอบให้เรียบร้อย และเช็คตารางสอบให้ดีว่า วิชาไหนสอบก่อน-หลัง ไล่ลำดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวิชาสุดท้ายค่ะ     

 
ตัวอย่างเช่น  วิชาแรก สอบวิชา A, วิชาที่สอง สอบวิชา B, วิชาที่สาม สอบวิชา C, วิชาที่สี่ สอบวิชา D, วิชาที่ห้า สอบวิชา E, วิชาที่หก สอบวิชา F และวิชาที่เจ็ด สอบวิชา G  รวมทั้งสิน 7 วิชา

เมื่อนักศึกษาทราบรายวิชาที่จะเข้าสอบตามลำดับก่อน-หลังแล้ว ให้นักศึกษาเลือกหยิบตำราเล่มที่สอบวิชาสุดท้ายมาเริ่มอ่านก่อนเป็นวิชาแรก ซึ่งก็คือ วิชา G เมื่ออ่านจบแล้วให้หยิบตำราเล่มวิชา F ซึ่งเป็นวิชาที่หก มาอ่านต่อ อ่านไล่ย้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชา A ที่เป็นวิชาที่จะสอบในวันแรก ซึ่งถ้านักศึกษาอ่านตำราวิชา A จบแล้ว ก็ใกล้ถึงวันที่จะเข้าสอบในวันแรกพอดี เมื่อนักศึกษาสอบวิชาแรกเสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถหยิบวิชาที่จะเข้าสอบเป็นวิชาที่สองที่ได้อ่านไว้ล่วงหน้าแล้วมาทบทวนทำความเข้าใจอีกนิดหน่อยก็เข้าสอบได้เลยค่ะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชาสุดท้าย 

เห็นไหมคะ เทคนิคง่ายๆ นิดเดียว ดีกว่าที่นักศึกษาจะต้องนั่งอ่านวิชาแรก ไล่ไปจนกระทั่งวิชาสุดท้าย พอถึงวันเวลาที่จะเข้าสอบ ก็อาจจะลืมวิชาแรกที่อ่านไปแล้ว ต้องมานั่งอ่านกันอย่างหนักอีกรอบทำให้เสียเวลานะคะ 

และที่สำคัญที่สุดก่อนที่นักศึกษาจะเริ่มอ่านหนังสือสอบนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายและสมองพร้อมที่จะเริ่มคิด วิเคราะห์และจดจำไปกับเรานะคะ และถ้าไม่จำเป็นพยายามอย่าจับสมาร์ทโฟนนะคะ ถ้าปิดเครื่องได้ยิ่งดีค่ะ เพราะอาจทำให้เราเผลอท่องโลกโซเชียลจนไม่ได้อ่านหนังสือสอบนะคะ 

เมื่อพร้อมแล้วเรามาเริ่มลงมือเปิดตำราหน้าแรก โดยเริ่มอ่านประเด็นที่สำคัญตามที่ท่านอาจารย์สอนในรายวิชานั้นๆ ได้เน้นย้ำ หรือตามแนวข้อสอบที่ท่านอาจารย์ได้ให้มาได้เลยค่ะ 

เมื่อนักศึกษาอ่านไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงผ่านไป ให้นักศึกษาหยุดพักและนอนหลับพักผ่อนให้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้หยุดพัก และตื่นขึ้นมาแล้วหาของว่างเย็นๆ ดื่ม เช่น นม หรือน้ำหวาน จะได้รู้สึกสดชื่นนะคะ แล้วอ่านต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมง และหยุดพัก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชาสุดท้ายนะคะ 


สาเหตุที่ไม่ควรอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน เพราะจะทำให้สมองทำงานหนักและล้าจนเกิดความง่วง เบื่อหน่าย เสียสมาธิในการอ่านและการจดจำค่ะ และสิ่งที่อันตรายที่สุดที่สามารถทำลายสมาธิจนอาจทำให้หลายคนสอบตกนั่นก็คือ การแอบเล่นสมาร์ทโฟนจนไม่ได้อ่านหนังสือ สุดท้ายแล้วเมื่อถึงเวลาสอบก็ไม่สามารถทำข้อสอบได้ ผลที่ได้รับคือ สอบตก ค่ะ 

เทคนิคการอ่านหนังสือสอบดังกล่าวที่ครูพิมพ์ได้แนะนำไปแล้วนั้น ครูพิมพ์ได้ทดลองทำด้วยตนเอง ตั้งแต่สมัยที่ศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งสอบครั้งนึงก็ไม่ต่ำกว่า 7-8 รายวิชา จึงคิดว่าทำอย่างไรให้อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วง และสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ จึงได้คิดเทคนิคการอ่านวิธีนี้ขึ้นมา ซึ่งฟังดูแล้วอาจเหมือนคนที่ขี้เกียจ แบบอ่านไป นอนไป หลับไป แต่ทำแล้วได้ผลนะคะ 

ซึ่งผลการเรียนที่ได้ในขณะนั้น ในช่วงเรียนปี 1 ครูพิมพ์ได้เกรดเฉลี่ย 3.83 ไปจนกระทั่งได้เกรดเฉลี่ยสูงที่สุดในชีวิต คือ 4.00 ซึ่งเป็นเกรดเฉลี่ยที่สูงที่สุดในระดับห้องและระดับชั้น ทำให้เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ตนเองเป็นอย่างยิ่งและอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ที่สามารถทำเกรดเฉลี่ยได้สูงเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาในระดับมัธยมศึกษา เกรดเฉลี่ยจะต่ำมากๆ ค่ะ ซึ่งครูพิมพ์ก็ใช้เทคนิคนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันครูพิมพ์จบปริญญาตรี 5 ใบ จบปริญญาโท 1 ใบ และปัจจุบันครูพิมพ์กำลังจะจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการบริหารรัฐกิจ อีก 1 ใบ ค่ะ 

เทคนิคง่ายๆ แค่นี้ ครูพิมพ์ขอแนะนำให้ทุกคนนำไปลองฝึกปฏิบัติกันนะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าให้ครูพิมพ์ฟังกันด้วยนะคะ 

ท้ายนี้ครูพิมพ์จะขอฝากไว้ให้นักศึกษาทุกคนเพื่อเป็นกำลังใจนะคะ “สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้” 

มุ่งต่อยอดความรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด  


เขียนโดย ครูพิมพ์ฑักษอร แสงทองไชย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ 

วิกฤตหรือโอกาส? พลิกโฉมการศึกษาไทยยุค New Normal

โควิดระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้หากจะพูดถึงผลกระทบของโควิด ทุกคนคงกระจ่างแจ้งอย่างที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันหลายคำ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ประสบภัยกันทั่วหน้า แม้ผลกระทบมากน้อยอาจต่างกัน 

โควิดส่งผลกระทบมากมายอย่างคาดไม่ถึง ทั้งด้านชีวิตและสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากปกติเดิม จนต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ อย่างคำว่า “New Normal” วิธีชีวิตปกติแบบใหม่ นี้ก็คือการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเพื่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนี้เอง เช่น การทำงานก็เปลี่ยนจากการที่ต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ ไปสำนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานที่บ้าน หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันอย่างติดปากว่า Work From Home การประชุมติดต่อประสานงานนั้นก็ทำได้โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย 

และไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับขบวนกันยกใหญ่ ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับจากการเรียนในสถานศึกษา มาเป็นห้องเรียนออนไลน์กันทุกระดับชั้นต้องแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อมาตรการในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของโรค

1 ปีกว่าผ่านมาหากจะชวนคิด ชวนตั้งคำถามว่าการศึกษาในยุค New Normal นี้ โอกาสหรือเป็นวิกฤต กับสังคมไทยนั้นก่อนจะสรุปว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ลองมาสำรวจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ กันก่อน

จากการเรียนในห้องเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้อง มีคุณครู มีประตู หน้าต่าง มีการพบหน้าคาดตา ปรับมาเป็นการเรียนออนไลน์ ต่างคนต่างอยู่บ้าน เจอหน้ากันผ่านจอคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ตไว้เพื่อการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ จากข่าวคราวที่ปรากฎในสื่อเห็นชัดว่าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศไทย เพราะด้วยเหตุผลหลายประการในเชิงโครงสร้าง  

ประการแรก เรายังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบในระบบการศึกษาไทย จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 26018.42 ในขณะที่มีรายจ่ายปี 2562 อยู่ที่ 20,742.12 และล่าสุดรายจ่ายของครัวเรือนของไทยในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท โดยร้อยละ 87 ของค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค และร้อยละ 13 เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง / หวย ดอกเบี้ย) ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสรรเงินสำรองเพื่อการศึกษาที่ไม่มากนั้น ยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด ที่อาจทำให้รายรับของครอบครัวลดน้อยลงไปอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับครอบครัวที่ถูกซ้ำเติมในยามโควิดระบาดนี้อยู่แล้ว จะจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่องว่างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอีกในระบบการศึกษาไทย  

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาของ TDRI ที่พบว่าปัญหาของครัวเรือนในประเทศไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ในภาคกลางร้อยละ 21 ส่วนในภาคเหนือ ร้อยละ 19 ในภาคใต้ ร้อยละ 17 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 14  ซึ่งสถิตเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย 

นอกจากความไม่พร้อมในเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ประการต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องความไม่พร้อมของการจัดการเรียนการสอน ทั้งในแง่หลักสูตร ความพร้อมของครูอาจารย์ ตลอดจนความพร้อมในการเรียนของนักเรียนนักศึกษาในการเรียนออนไลน์มีมากน้อยเพียงใด 

จากเสียงสะท้อนของทั้งผู้สอน และผู้เรียน ตลอดจนผู้ปกครองต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ฝั่งผู้สอน ครูอาจารย์ก็รู้สึกท้อแท้กับการไม่มีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาจากการใช้ระบบออนไลน์ ยิ่งเป็นการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่ให้ความไว้วางใจว่านักศึกษาโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ ยิ่งพบว่าบรรดาอาจารย์ต่างปรับทุกข์ในทำนองเดียวกันว่านักศึกษาแทบไม่ค่อยมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เปิดกล้อง ไม่ถามคำถาม ไม่ตอบคำถาม ส่วนในมุมผู้เรียนก็มองว่าเรียนออนไลน์น่าเบื่อ ไม่มีบรรยากาศการเรียนที่กระตุ้นการอยากรู้อยากเห็น ครูอาจารย์ไม่มีกลวิธีการสอนที่ดึงดูดใจพอ 

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเล็ก ๆ ในชั้นอนุบาลหรือประถมต้นนั้นก็เหนื่อยไม่แพ้กันเพราะเหมือนต้องคอยดูแลกำกับให้ลูก ๆ หลาน ๆ นั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ ในยุคก่อน new normal พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจมีหน้าที่ช่วยสอนลูกหลานในการทำการบ้าน แต่เหมือนว่าในยุค new normal นี้ต้องทั้งเรียนด้วย สอนด้วย ดูแลบุตรหลานด้วย ความเครียดจึงบังเกิดแด่พ่อแม่ผู้ปกครองกันทั่วหน้า

ดังนั้นปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่มีพลิกโฉมการเรียนการสอนจากห้องเรียนทางกายภาพสู่ห้องเรียนออนไลน์ หากมองดี ๆ แล้ว จะพบว่าความปกติใหม่ หรือ New normal นี้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่และกระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษามากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักสูตร ที่ควรตั้งคำถามว่าหลักสูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษานั้นเหมาะสมสำหรับพัฒนาการการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่ หลักสูตรที่มีเหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น ในพื้นที่ของเด็ก ๆ หรือไม่ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่แท้จริงแล้วสำคัญหรือไม่อย่างไร หากเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น การแต่งชุดนักเรียนและการไว้ทรงผม และกติกาหรือระเบียบวินัยแบบไหนที่ควรต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แทน เป็นต้น 

นอกจากตัวเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว กลวิธีการสอนและรูปแบบในการนำเสนอสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์นั้นก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเนื้อหาและธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ด้วย การใช้วิธีการเดียวกันกับการสอนในห้องเรียนปกตินั้นคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ TDRI ได้ทำการศึกษาเราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยมากในหลายประเด็น เช่น 

• ให้น้ำหนักกับปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ

• ให้น้ำหนักกับการประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ ทุกวัย 

• ให้น้ำหนักกับการจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศไปด้วย 

ดังนั้น หากย้อนกลับมาที่คำถามของเราว่า การศึกษาไทยในยุค New normal นี่เป็นวิกฤตหรือโอกาส ก็คงตอบได้อย่างชัดเจนว่ามีทั้งสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นวิกฤต และโอกาส เพราะวิกฤตในวันนี้เราสามารถพลิกให้เป็นบทเรียนเพื่อสร้างโอกาสในวันหน้าได้ เพียงแต่ต้องปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับวิธีคิดของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือกันใหม่ในการมีส่วนช่วยกันยกเครื่องระบบการศึกษา ทั้งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคคลกรทางการศึกษา พัฒนาแนวทางและรูปแบบ

โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้อาจจะต้องดึงภาคเอกชนและหน่วยงานนอกระบบราชการ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาร่วมมือกันออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเราจะพบว่าแนวโน้มในการความเป็น New normal นี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เช่น เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเกิดเทคโนโลยี disruptive หรือแม้แต่การเปลี่ยนด้านการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการสร้างคน สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและโลก ซึ่งการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนนั้นเอง 

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเป็นประจำตั้งแต่ปี 2500 (nso.go.th)
New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ - TDRI: Thailand Development Research Institute
วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์ - TDRI: Thailand Development Research Institute

5 วิธีสร้างผลลัพธ์ให้ปัง วิธีคิดมาก่อนวิธีการ ตามด้วยการลงมือทำ

เพราะวิธีคิดเปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าติดถูก ก็ถูกทั้งแถว แต่ถ้าติดผิดก็เบี้ยวทั้งแถวเช่นกัน

จากผลงานวิจัยของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบกับผู้เขียนทำงานเกี่ยวกับด้านการพัฒนาคนมานาน จึงรู้ว่าวิธีคิด ต้องมาก่อนวิธีการเสมอ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึง แม้นว่ามีวิธีคิดที่ดีและวิธีการเยี่ยม แต่ไม่ลงมือทำก็ไม่เกิดผลลัพธ์ ผลงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่งมาก หรือเก่งน้อย แต่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ต่างหาก

ถ้าต้องการผลลัพธ์ที่ดี ต้องเริ่มต้นอย่างไร?

1.) มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนจริง ๆ  
อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการกันแน่ สิ่งที่ตอบสนองทั้งรายได้ และตอบสนองทั้งจิตวิญญาณของคุณสิ่งนั้นคืออะไร นำสิ่งที่คุณต้องการไปสอดรับกับความฝันและเป้าหมายของคุณ ตกลงคุณจะเลือกชีวิตแบบไหน คุณต้องตัดสินใจ เป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าคุณอยากเป็นอะไร อยากทำงานอะไร คุณต้องเลือก อย่าทำงานเฉพาะเรื่องที่ชอบ และ ตามความถนัดโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะความสำเร็จจริงจริงแล้ว คุณต้องทำทั้งเรื่องที่คุณถนัดและทำในเรื่องที่คุณไม่ถนัด ให้กลายเป็นเรื่องที่ถนัดให้ได้ ถ้าคุณทำงานโดยขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ยิ่งคุณเก่งเท่าไหร่ คุณยิ่งพบกับความล้มเหลวเร็วเท่านั้น เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ

2.) รับผิดชอบตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์
รับผิดชอบต่อเป้าหมายและความต้องการของคุณอย่างแน่วแน่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องดีและไม่ดี คุณต้องรับผิดชอบตัวเอง 100% ไม่โทษใครทั้งนั้น คุณต้องไปต่อให้ถึงเป้าหมายให้ได้ เอาเวลาในการนั่งโทษคนอื่น มาทบทวนและพัฒนาตัวเองดีกว่า ว่าเราขาดอะไรไป เราผิดพลาดตรงไหน เรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นทันที

ถ้าพิจารณาดี ๆ  ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วเรามีส่วนในข้อผิดพลาดนั้นเสมอ จงเรียนรู้ และพัฒนาเพื่อปิดช่องโหว่นั้นเสีย

3.) แผนสำรอง  
เมื่อมีแผนหลักที่ชัดเจนแล้ว ก็ควรมีแผนสำรอง คุณต้องคิดเสมอว่าความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ถ้าคุณพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ยังออกมาไม่ดีพอ ถึงเวลาที่คุณต้องใช้แผนสำรอง ปรับวิธีการ โดยที่เป้าหมายยังเหมือนเดิม ที่สำคัญที่สุด คือแผนสำรองจะนำออกมาใช้ก็ต่อเมื่อพยายามในแผนหลักอย่างเต็มความสามารถแล้วเท่านั้น

4.) เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ  
ผู้ที่ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาวิชาชีพ ล้วนมีทักษะพิเศษที่คนธรรมดาไม่เคยรู้มาก่อนเสมอ พวกเขามักทิ้งร่องรอยของวิธีคิดและวิธีทำ วิธีการใช้ชีวิต วิธีพิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ คุณต้องเป็นนักแกะรอย เพื่อนำมาปรับใช้กับตัวเองในสไตล์ของคุณให้ได้ คุณต้องค้นหาเส้นทางลัดนี้ให้เจอ
 

5.) คุณต้องแน่วแน่กับเป้าหมายของคุณในข้อ 1.) 
อย่าทำตัวเป็นนักชอปปิงไปเรื่อย ๆ คุณต้องโฟกัส การมีสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตมากเกินไปก็อาจทำให้คุณสับสนและหวั่นไหวได้ คุณต้องดึงตัวเองมาโฟกัสในสิ่งที่คุณอยากได้จริง ๆ ตัดสิ่งดี ๆ ที่ไม่ใช่ออกให้หมด ให้เหลือไว้เฉพาะดีเดียวที่ใช่จริง ๆ ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จก่อน แล้วสิ่งดี ๆ ที่อยู่รอบตัวจะวิ่งกรูเข้ามาหาคุณเอง เมื่อนั้น รางวัลชีวิตจะเป็นของคุณ เพราะถึงเวลาที่คู่ควร 

เชื่อว่าเมื่อคุณฝึกฝนใน 5 ข้อนี้เพื่อเป็นทางลัดของความสำเร็จ คุณจะได้ Model ความสำเร็จในสมอง และสามารถนำ Model นี้ไปใช้ได้กับชีวิตในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการทำงาน ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล:

http://www.novabizz.net/management-104.html
https://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Achievement_Needs.htm

5 วิธี พัฒนาตนเองให้เป็นคนเก่ง และฉลาด เพราะคนเก่งและฉลาด มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

การพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ดี อยากเป็นคนเก่ง ฉลาด ได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่นต้องเริ่มต้นจากอะไร?

1. รู้จักตัวเองให้มากกว่าผู้อื่น ถ้าอยากประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาตัวเองมากกว่าคนอื่นหลายเท่า มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด มุมมองในการใช้ชีวิต และการเลือก และการตัดบางอย่างออกจากชีวิต เพราะรู้ความต้องการของตัวเองชัดเจน  

2. สำรวจตัวเองตลอดเวลา ว่าตัวเองขาดอะไร ไม่รู้อะไร ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนที่หยุดอยู่กับที่เท่ากับเดินถอยหลัง เพราะกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกความเร็วมันต่างกัน ดังนั้นคนที่หยุดอยู่กับที่ คิดว่าตัวเองดีแล้ว พอแล้ว เก่งแล้ว จึงยากที่จะเป็นคนเก่ง และฉลาด เพราะความรู้ที่มีนั้นไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป อาจใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น การหยุดเรียนรู้ทำให้ตามโลกไม่ทัน 

3. ให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งสำคัญ ใส่ใจเฉพาะสิ่งสำคัญ โฟกัสในเรื่องสำคัญ ที่เป็นสาเหตุของความสำเร็จในเป้าหมายเท่านั้น จะไม่สนใจกับสิ่งนอกกายที่ดึงดูดความสนใจทำให้เสียเวลา เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ทรัพย์สมบัติ เพราะยิ่งมีมาก ก็ยิ่งทำให้เสียเวลา คนเก่งหลายคนจึงมีชีวิตที่เรียบง่าย เพื่อลดปัญหาการบริหารจัดการ ความวุ่นวายที่ทำให้เสียสมาธิ เสียเวลาทำงาน เสียโอกาสดีๆ ที่เข้ามา 

4. ควบคุมตัวเองได้ดี ทำงานร่วมกับใครก็ได้ มีวินัยสูง และควบคุมตัวเองได้ดี เป็นคุณสมบัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จ เพราะการทำงานใหญ่ต้องใช้เวลานาน ต้องมีความอดทนสูง และต้องมีทีมงานในการขับเคลื่อน หากควบคุมตัวเองได้ไม่ดี ก็ยากที่จะทำงานสำเร็จ การทำงานใหญ่ต้องร่วมมือกับคนหมู่มาก การรู้ว่าจะต้องวางตัวและปฎิบัติตัวกับผู้อื่นอย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

5. มีความอึด ถึก ทน มุ่งมั่นเมื่อต้องทำงานใหญ่ เมื่อตัดสินใจเลือกว่าจะทำอะไร มีจุดหมายชัดเจนแล้ว ก็จะลุยเต็มที่ งานไม่เสร็จยังไม่พัก สู้ยิบตาไม่มีถอย คนรวย และคนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม มักมีคุณสมบัติสำคัญนี้ เพราะความสำเร็จมีความจำเป็นต้องลงมือทำด้วยตัวเองก่อน

คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ ใครฝึกฝนตัวเองมาก ทำมาก จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นอยู่บ่อยๆ ว่าคนที่ประสบความสำเร็จ และคนรวย มักใช้ชีวิตที่เรียบง่ายมาก เช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก วอร์เรนท์ บัฟเฟด บิลเกต เป็นต้น

การเป็นคนเก่ง ฉลาด และมีสติ เป็นคุณสมบัติของบุคคลในยุค ศต.21 ดูเหมือนยาก แต่สามารถทำได้ จงฝึกฝนด้วยตัวคุณเอง ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: http://www.siamebook.com/lbro/en/personal-developement/5452-intelligent-guides.html

3 เคล็ดลับ เรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ เรียนออนไลน์อย่างไรให้สนุก และได้ผลลัพธ์

ในยุคสมัยที่การเรียนออนไลน์ เป็นเรื่องปกติของน้องๆ นักเรียนไปแล้ว หลายคนมองว่า ตอนแรกก็ตื่นเต้นดี แต่พอนานๆ ไป กลับกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่สนุก และได้ผลลัพธ์น้อยกว่าการเรียนแบบออฟไลน์  วันนี้ผู้เขียนมีทริคดีๆ ในการเรียนออนไลน์อย่างไรให้สนุกและได้ผลลัพธ์มาฝากกันค่ะ

1. ทบทวนบทเรียน
ไม่ว่าจะเรียนออฟไลน์ในห้องเรียน หรือเรียนออนไลน์ผ่าน ZOOM หลังจากเรียนจบ ให้น้องๆ นักเรียนทบทวนบทเรียนในแต่ละวิชาบ่อยๆ และในระหว่างเรียนน้องๆ ควรจดโน้ตตามความเข้าใจ เพราะในขณะที่เราจด สมองกับมือทำงานสัมพันธ์กัน เท่ากับได้ตอกย้ำความจำและความเข้าใจในเบื้องต้น  น้องๆ หลายคนอาจจะจดโน้ตไม่ทันที่ครูสอน แต่ข้อดีของการเรียนออนไลน์คือ น้องๆ สามารถมาดูย้อนหลังได้หลังจากที่ครูสอนจบแล้ว เพื่อทบทวนความจำและทำความเข้าใจได้ดีมากยิ่งขึ้น 

2. สร้างบรรยากาศในการเรียน
บรรยากาศการเรียนสำคัญมาก เพราะบรรยากาศที่ดีจะช่วยทำให้น้องๆ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่เรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งน้องๆ ควรหาห้องที่อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนอึดอัด เป็นห้องที่เงียบสงบ ไม่เปิดเพลงเสียงดัง และไม่ทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยในตอนเรียน เรื่องนี้ต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะการเล่นโทรศัพท์มือถือ เข้าโซเชียลมีเดียขณะที่กำลังเรียนอยู่ หรือแม้แต่การเข้าไปเช็กข้อความเพียงไม่กี่นาที สิ่งเหล่านี้จะทำให้สมาธิเราหลุดโฟกัสจากเนื้อหาที่เรียนได้ ซึ่งถ้าหากเป็นช่วงสำคัญก็จะทำให้เราต่อไม่ติด พลาดเนื้อหาตรงนั้นไป และอาจไม่เข้าใจในเนื้อหาต่อไปได้ 


เพราะฉะนั้นควรหาห้องเงียบๆ และสร้างบรรยากาศการเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เลือกโต๊ะ เก้าอี้ให้นั่งสบาย แสงไฟในห้องต้องสว่าง อย่าใช้ไฟสีส้ม เพราะจะทำให้ง่วงนอน โต๊ะขาวสะท้อนแสงอาจทำให้แสบตาถ้าต้องนั่นเรียนนานๆ รวมถึงการโฟกัสกับการเรียนอย่างเข้มข้น ลดกิจกรรมที่เข้ามาแทรกระหว่างการเรียนจะช่วยทำให้เรียนได้อย่างเข้าใจและเก็บข้อมูลแต่ละวิชาได้ครบถ้วน

3. การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน
การเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ การนิ่งฟังอย่างเดียวคงขาดสีสันในการเรียน น้องๆ นักเรียนควรมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอน เช่น การพูดคุยทักทาย สอบถามในเรื่องทั่วไปเพื่อสร้างความเป็นกันเอง ถามตอบในสิ่งที่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือแชร์มุมมองส่วนตัว เป็นต้น

ด้วย 3 วิธีนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถทำให้น้องๆ นักเรียนบันเทิงไปกับการเรียนออนไลน์ และไม่ใช่แค่น้องๆ เท่านั้นที่สนุก แต่สามารถทำให้ครูผู้สอนสนุกไปกับการสอนในแต่ละครั้งด้วย 

ขอให้ทุกท่านเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของกันและกันในโลกออนไลน์คะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล:

https://www.chula.ac.th/news/40851/
https://www.hubbathailand.com/hubba-blog/8-tips-for-effective-onlinelearning
 

แนะ 3 เทคนิคให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูก เมื่อลูกขาดความรับผิดชอบ

คุณคงเคยหงุดหงิดใช่ไหม? ที่เห็นลูกดูเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดวินัย ไม่รู้หน้าที่ สอนจนไม่รู้จะสอนอย่างไรดี วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวดีๆ มาเล่า เกี่ยวกับเทคนิคที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูก เมื่อลูกขาดความรับผิดชอบ 

เริ่มต้นจากการค้นหาความหมายของการสอนที่ดี คืออะไร?

ช่วงนั้นโชคดี ได้เข้าอบรมหลักสูตร จิตวิทยาพัฒนาศักยภาพบุคคลสู่ความเป็นเลิศในองค์กร กับนักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ท่านพูดในคลาสว่า การสอน หมายถึง การสร้างบรรยากาศที่ดี ให้เป็นกันเอง กระทั่งเกิดความไว้วางใจ จากนั้นเขาจะเปิดใจมารับฟังในสิ่งที่เรากำลังพูดด้วยตัวเขาเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตัวเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกคำสั่ง

ผู้เขียนได้นำความหมายนี้มาสอนลูกศิษย์ มาสอนลูกน้อง และมาสอนลูก ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เกินความคาดหมายอย่างน่าแปลกใจ และเชื่อว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่นำความหมายของการสอน ไปใช้สอนกับลูกๆ ของท่าน ผู้เขียนหวังว่าจะตอบโจทย์ในการสอนลูกให้เชื่อฟัง 

1. เริ่มต้นรับผิดชอบงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกินความสามารถ
ลองมอบหมายงานบ้านให้รับผิดชอบเดือนละ 1 อย่าง ที่ผ่านมาผู้เขียนดูแลลูกสาวสองคน ดูแลหลานสาวอีก 2 คน รวมเป็น 4 สาว ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ผู้เขียนเองทำงานหนักแทบไม่มีเวลาเลย แต่สามารถดูแลพวกเขาทั้ง 4 คนมาได้ด้วยดี

ได้มอบหมายงานในรอบ 1 เดือน ให้ลูกๆ หลานๆ รับผิดชอบ ทำคนละหน้าที่ ได้แก่ กวาดบ้านถูบ้าน/ ซักผ้าเก็บผ้า/ ทิ้งขยะ/ เอานำใส่ตู้เย็น แบบนี้จะเห็นชัด ว่าเมื่อไรก็ตามที่บ้านไม่สะอาด เป็นความรับผิดชอบของใคร เห็นชัดเจนเพราะมีเจ้าภาพ น้ำในตู้เย็นหมด ก็สามารถเรียกคนรับผิดชอบเรื่องนี้มาตักเตือนได้เลย ซึ่งก็ได้ผล ที่ทุกคนยอมรับผิดในข้อบกพร่องของตัวเอง 

ผู้เขียนก็ถือโอกาสอธิบายบอกสอนในเรื่องความรับผิดชอบไปในตัว แต่คุณต้องระวังเรื่องที่อาจทำให้ลูกๆ รู้สึกว่างานที่ตนเองรับผิดชอบนั้น หนักว่าคนอื่น ผู้เขียนก็ตระหนักเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้มีการสลับหน้าที่กันไปทุกเดือน ทำให้ทุกคนได้ทำทุกหน้าที่ โดยพิจารณาความยากง่ายจากอายุ และความสามารถในการรับผิดชอบด้วย 

2. การช่วยเหลือผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จ 
กรณีถ้าน้องคนเล็กได้รับผิดชอบงานที่หนักเกินไป น้องเล็กสามารถไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากพี่ๆ ได้ เรื่องนี้ก็เป็นวิธีช่วยสอนให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปในตัว

3. การกล่าวชื่นชมเมื่อลูกมีความรับผิดชอบ 
เป็นอีกเรื่องที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบ เช่น การเก็บที่นอนให้เรียบร้อยสวยงามเรียบตึง หลังจากตื่นนอน ต้องรู้จักชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี ให้ลูกฝึกความรับผิดชอบด้วยความสุข ความสุขต้องไม่กดดัน หรือบังคับ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง อย่าทำให้บรรยากาศในการสอนเสียเป็นอันขาด 

เริ่มต้นจากความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ซึ่งมีความจำเป็น ต้องปลูกฝังกันอย่างจริงจัง ส่งเสริมการเรียนรู้และวิธีการปฎิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคม ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล:  

https://www.sanook.com/women/61307/
https://mgronline.com/qol/detail/9630000040712

แนะนำสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อส่งเสริมความถนัดและความสนใจของลูก ช่วยลูกค้นหาความถนัดของตัวเอง

พ่อแม่ส่วนใหญ่ในบ้านเมืองเรามักคาดหวังกับการเรียนของลูกเป็นอย่างมาก ต่างตะบี้ตะบันส่งลูกไปเรียนกวดวิชา เพื่อหวังให้ลูกเรียนเก่ง ได้เกรดเฉลี่ยดีๆ และพุ่งเป้าไปสู่การสอบเข้าคณะดังๆ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง

เด็กบางคนต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะนั้นคณะนี้ให้ได้ บางคนถึงขนาดต้องแบกทั้งชีวิตเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ ! 

สังคมไทยอยู่กับค่านิยมและทัศนคติเรื่องเกรดเฉลี่ย หรือ ผลการเรียนมาโดยตลอด และเมื่อเด็กเกรดเฉลี่ยเรียนดี ค่านิยมของสังคมแกมขอร้องหรือบังคับ เพื่อให้เด็กเลือกสายวิทย์คณิตเท่านั้น

ยังมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม? ที่เปิดกว้างและให้โอกาสลูกได้เดินตามความถนัดหรือในสิ่งที่ลูกชอบ

ผู้เขียนเองมองว่า ในเรื่องการส่งเสริมความถนัดและความสนใจของลูก เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่สามารถช่วยลูกให้ค้นหาความถนัดของตัวเองได้ ขอแนะนำสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ

1. เป็นโค้ชที่ดีให้กับลูก
พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี รวมไปถึงควรชื่นชมเมื่อลูกทำเรื่องที่ดี และให้กำลังใจทุกครั้งที่ลูกทำสิ่งใดได้ดีเป็นพิเศษ พร้อมพูดกระตุ้นให้ลูกทำดียิ่งๆ ขึ้นไป จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี

2. เป็นผู้รับฟังที่ดี 
อย่าตัดสินใจแทนลูก การพูดว่า พ่อแม่อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นการปิดกั้นทางความคิด ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนและทุกวัยต้องการให้พ่อแม่รับฟังเขา ยิ่งลูกเติบโตมากเท่าไหร่ พ่อแม่ยิ่งต้องพูดน้อยลงและรับฟังลูกมากขึ้น การรับฟังอย่างตั้งใจ โดยพ่อแม่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวออกมาให้ได้ เพื่อที่พ่อแม่จะได้รับรู้ และช่วยเกลาความคิดให้ลูกไปพร้อมๆ กัน


 

3. การเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำในสิ่งที่เขาชอบ 
ให้เขาได้ค้นหาตัวตน ให้เขาได้ลองทำในสิ่งใหม่ เพราะโอกาสคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเขา เป็นที่น่าเสียดาย ที่ผ่านมาเด็กเก่งหลายคนไม่ได้รับโอกาสแสดงศักยภาพที่มี

4. ให้ลงมือทำ 
หาเวทีให้ลูกลงมือทำให้เหมาะสม เพราะการลงมือปฏิบัติจริง เขาจะได้ทักษะในการคิด วิเคราะห์ การแก้ปัญหา ในขั้นตอนนี้ให้พ่อแม่คอยสังเกต การคิดวิเคราะห์และวุฒิภาวะทางอารมณ์ จะได้ประเมินลูกได้อย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะแปลกใจว่า พอลูกมาทำกิจกรรมนอกบ้านทำไมลูกดูเป็นผู้ใหญ่กว่าที่คิด

5. เข้าใจและยอมรับ 
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ถนัดเรื่องไหน อาจจะตรงใจหรือไม่ตรงความคาดหวังของพ่อแม่ก็ตาม พ่อแม่ควรยอมรับ และเข้าใจลูกอย่างลึกซึ้ง 

สุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อแม่ทำ เพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จและมีความสุขในอาชีพที่เขารัก และสามารถตอบสนองได้ทั้งการเลี้ยงชีพและจิตวิญญาณ จุดนั้นถ้าทำได้ ถือเป็นความสำเร็จในชีวิตมนุษย์

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล  

https://mgronline.com/qol/detail/9620000028682
https://www.parentsone.com/how-to-help-child-for-find-talent/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top