แนะ 3 เทคนิคให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูก เมื่อลูกขาดความรับผิดชอบ

คุณคงเคยหงุดหงิดใช่ไหม? ที่เห็นลูกดูเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดวินัย ไม่รู้หน้าที่ สอนจนไม่รู้จะสอนอย่างไรดี วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวดีๆ มาเล่า เกี่ยวกับเทคนิคที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูก เมื่อลูกขาดความรับผิดชอบ 

เริ่มต้นจากการค้นหาความหมายของการสอนที่ดี คืออะไร?

ช่วงนั้นโชคดี ได้เข้าอบรมหลักสูตร จิตวิทยาพัฒนาศักยภาพบุคคลสู่ความเป็นเลิศในองค์กร กับนักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ท่านพูดในคลาสว่า การสอน หมายถึง การสร้างบรรยากาศที่ดี ให้เป็นกันเอง กระทั่งเกิดความไว้วางใจ จากนั้นเขาจะเปิดใจมารับฟังในสิ่งที่เรากำลังพูดด้วยตัวเขาเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตัวเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกคำสั่ง

ผู้เขียนได้นำความหมายนี้มาสอนลูกศิษย์ มาสอนลูกน้อง และมาสอนลูก ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เกินความคาดหมายอย่างน่าแปลกใจ และเชื่อว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่นำความหมายของการสอน ไปใช้สอนกับลูกๆ ของท่าน ผู้เขียนหวังว่าจะตอบโจทย์ในการสอนลูกให้เชื่อฟัง 

1. เริ่มต้นรับผิดชอบงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกินความสามารถ
ลองมอบหมายงานบ้านให้รับผิดชอบเดือนละ 1 อย่าง ที่ผ่านมาผู้เขียนดูแลลูกสาวสองคน ดูแลหลานสาวอีก 2 คน รวมเป็น 4 สาว ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ผู้เขียนเองทำงานหนักแทบไม่มีเวลาเลย แต่สามารถดูแลพวกเขาทั้ง 4 คนมาได้ด้วยดี

ได้มอบหมายงานในรอบ 1 เดือน ให้ลูกๆ หลานๆ รับผิดชอบ ทำคนละหน้าที่ ได้แก่ กวาดบ้านถูบ้าน/ ซักผ้าเก็บผ้า/ ทิ้งขยะ/ เอานำใส่ตู้เย็น แบบนี้จะเห็นชัด ว่าเมื่อไรก็ตามที่บ้านไม่สะอาด เป็นความรับผิดชอบของใคร เห็นชัดเจนเพราะมีเจ้าภาพ น้ำในตู้เย็นหมด ก็สามารถเรียกคนรับผิดชอบเรื่องนี้มาตักเตือนได้เลย ซึ่งก็ได้ผล ที่ทุกคนยอมรับผิดในข้อบกพร่องของตัวเอง 

ผู้เขียนก็ถือโอกาสอธิบายบอกสอนในเรื่องความรับผิดชอบไปในตัว แต่คุณต้องระวังเรื่องที่อาจทำให้ลูกๆ รู้สึกว่างานที่ตนเองรับผิดชอบนั้น หนักว่าคนอื่น ผู้เขียนก็ตระหนักเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้มีการสลับหน้าที่กันไปทุกเดือน ทำให้ทุกคนได้ทำทุกหน้าที่ โดยพิจารณาความยากง่ายจากอายุ และความสามารถในการรับผิดชอบด้วย 

2. การช่วยเหลือผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จ 
กรณีถ้าน้องคนเล็กได้รับผิดชอบงานที่หนักเกินไป น้องเล็กสามารถไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากพี่ๆ ได้ เรื่องนี้ก็เป็นวิธีช่วยสอนให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปในตัว

3. การกล่าวชื่นชมเมื่อลูกมีความรับผิดชอบ 
เป็นอีกเรื่องที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบ เช่น การเก็บที่นอนให้เรียบร้อยสวยงามเรียบตึง หลังจากตื่นนอน ต้องรู้จักชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี ให้ลูกฝึกความรับผิดชอบด้วยความสุข ความสุขต้องไม่กดดัน หรือบังคับ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง อย่าทำให้บรรยากาศในการสอนเสียเป็นอันขาด 

เริ่มต้นจากความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ซึ่งมีความจำเป็น ต้องปลูกฝังกันอย่างจริงจัง ส่งเสริมการเรียนรู้และวิธีการปฎิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคม ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล:  

https://www.sanook.com/women/61307/
https://mgronline.com/qol/detail/9630000040712