5 เคล็ดลับการพูดให้ดูแพง ในโลกของการทำงาน การพูดเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

ใครๆ ก็พูดได้ ใครๆ ก็พูดเป็น แต่จะพูดอย่างไรให้ดูดีมีราคา และมีเสน่ห์น่าประทับใจ บางคนบุคลิกภาพดี หน้าตาดี แต่งตัวดี แต่พอพูดออกมา หมดเสน่ห์ไปเลยก็มี ต่างจากบางคน บุคลิกหน้าตาการแต่งตัวแสนจะธรรมดา แต่พอพูดออกมาช่างน่าฟังและมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม เป็นเพราะอะไร ความลับเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยไหน อย่างไร เรามาดูกันค่ะ

ถ้าคุณอยากเป็นคนหนึ่งที่ต้องการพูดแล้วให้มีเสน่ห์และแลดูแพง จงทำสิ่งต่อไปนี้
.
1. ฝึกพูดให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย โดยเฉพาะเรื่อง วรรณยุกต์ อักขระ และควบกล้ำ

วิธีฝึก ให้อ่านหนังสือออกเสียงเบาๆ แต่จริงจัง พวกเราติดนิสัยการอ่านหนังสือในใจ จึงทำให้ขาดทักษะในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่ภาษาไทย เป็นภาษาที่ไพเราะมาก คนที่พูดได้ไพเราะ ให้ภาษาได้ดี สละสวยฟังเพลินเหมือนฟังดนตรี เป็นเพราะเขาออกเสียงได้ตรงตามหลักของภาษาไทยนั่นเอง

2. ฝึกการแบ่งวรรคตอนให้ดี พูดให้เป็นจังหวะ อัตราความช้าเร็วของการพูดไม่มากไป ไม่น้อยไป จังหวะการพูดให้สอดคล้องกับจังหวะของลมหายใจของผู้พูด 

วิธีฝึก กำหนดจังหวะการพูดด้วยการตั้งคำถาม  ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 

3. การปรับระดับน้ำเสียงให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรากำลังพูด ระดับของน้ำเสียงต้องสอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องที่คุณกำลังพูด คุณต้องการสื่อสารให้ผู้ฟังรู้สึกอย่างไร กำหนดอารมณ์ของคุณให้ชัด เช่น มีแรงบันดาลใจ ฮึกเหิม ลุกขึ้นสู้ กังวลใจ เห็นอกเห็นใจ เช้าใจ เศร้า เสียใจ หมดหวัง สะใจ เสียดาย ฯลฯ

วิธีฝึก การฝึกพูดจากอินเนอร์ พูดให้เหมือนการร้องเพลง ลีลาให้เหมือนนักแสดง


4. ฝึกการใช้ภาษากายและลีลาท่าทางให้มีประสิทธิภาพ บุคลิกภาพการพูดการใช้ภาษากายได้ดี จะมีอิทธิพลต่อผู้ฟังมากที่สุด เช่น การใช้สายตา การใช้มือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ท่าท่างที่มั่นใจ สามารถสร้างเสน่ห์ ดึงดูด และสร้างความเชื่อมั่นได้มากทีเดียว

วิธีฝึก ประสานสายตากับผู้ฟังขณะที่พูด แต่ไม่ต้องถึงกับจ้อง ภาษามือใช้ซ้ายขวาพอประมาณ อย่าให้ดูวุ่นวายจนเกินไป


5. พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังเท่านั้น เรื่องบางเรื่องเป็นความจริง แต่ความจริงนั้นไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด เช่น เพื่อนถูกแฟนทิ้ง ความจริงคือเพื่อนถูกทิ้ง แต่พูดแล้วเกิดประโยชน์ไหม ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด 

วิธีฝึก การพูดที่ดี ผู้พูดต้องมีจิตวิทยาการพูด เรื่องที่เราพูดคู่สนทนาเราอยากฟังหรือไม่ เพราะในมุมของคนฟังเขาต้องการได้ยินในเรื่องที่เขาชอบ มีประโยชน์และทำให้เขาสบายใจเท่านั้น

การพูดไม่ยาก ทุกคนสามารถพูดได้ แค่รู้วิธี

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: #สโมสรการพูดแห่งประเทศไทย #ระบบโทสมาสเตอร์สากล 
พัฒนาศักยภาพด้านการพูดและบุคลิกภาพ ได้ที่ #Talktonitima