Saturday, 20 April 2024
EDUCATION COLUMNIST

วิธีรับมือกับเรื่องไม่คาดคิด บริหารอารมณ์ให้นิ่งก่อนเผชิญปัญหา แชร์วิธีง่าย ๆ ที่ใช้ได้ผลจริง ทำให้เราสามารถก้าวข้ามปัญหา และสามารถพาชีวิตเติบโตแบบก้าวกระโดด

ทำไมหลายคนแก้ปัญหาชีวิตตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องง่ายๆ ก็คงจะเหมือนผงเข้าตานั่นแหละค่ะ ที่ต้องให้คนอื่นเขี่ยออก

ถ้าคุณเคยสังเกต คุณก็จะรู้ว่าปัญหา มาจาก "การขาดสติในการตอบโต้ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" นั่นเอง

วันนี้ผู้เขียน ขอแชร์วิธีง่าย ๆ ที่ใช้ได้ผลจริง

ผู้เขียนค้นพบคีย์สำคัญ ที่ทำให้เราสามารถก้าวข้ามปัญหา และสามารถพาชีวิตเติบโตแบบก้าวกระโดด

เห็นด้วยไหมคะว่า เมื่ออารมณ์ของเราไม่คงที่ เราจะแก้ปัญหาไม่ได้

มี 2 วิธีปรับอารมณ์ ให้เป็นปกติก่อนแก้ปัญหา

1.) จงทำในเรื่องที่สวนทางกับความรู้สึกในตอนนั้น

2.) ตอบโต้ให้ช้าลง แล้วทุกอย่างจะเบาลง

เช่น เจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด คุณตกงาน คุณถูกเลิกจ้าง สภาวะตอนนั้น ใจคุณสั่น ไม่ปกติ คุณโกรธ บ่น ด่า อาฆาต แค้น ของขึ้น เลือดขึ้นหน้า

เกิดคำถามมากมายตามมา เพราะอะไร ทำไมต้องเป็นคุณ เต็มหัว ความกลัวความกังวล ว้าวุ่น ความเครียด ความรู้สึกไม่มั่นคง โทษสิ่งรอบตัว ตีโพยตีพาย

ความคิดคุณตอนนั้น ถ้าเดาไม่ผิด คุณอยากเดินไปหาเจ้านาย ขอคุยตรง ๆ ทะเลาะเพื่อหาเหตุผล เอาให้ตายกันไปข้างหนึ่ง

คุณลองทำในสิ่งตรงข้ามดูสิ

- สูดลมหายใจลึก ๆ เรียกสติ ยอมรับความจริง มองอย่างเข้าใจ

- คิดใหม่ในมุมที่แตกต่าง "ถึงเวลาที่คุณจะได้หาประสบการณ์ใหม่แล้วสินะ ดีเลยได้ทำในสิ่งที่ท้าทาย ไม่แน่อาจดีกว่าเดิม ถ้าผ่านไปได้คุณจะเติบโตขึ้นอีกหนึ่งขั้น นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

- จากนั้นก็เริ่มต้นจากสิ่งที่คุณมี ไม่ใช่มองแต่สิ่งที่คุณขาด

แค่นี้คุณก็ไปต่อได้แล้ว

วิธีก้าวข้ามเหตุการณ์ที่คุณไม่คาดคิด

ได้แก่ เหตุการณ์ที่คุณไม่อยากให้เกิด แต่มันดันเกิด กับเหตุการณ์ที่คุณอยากให้เกิด แต่มันก็ไม่เกิด

จริง ๆ แล้ว เรื่องต่าง ๆ มันก็เกิดขึ้นตามปกติของมัน ที่กลายเป็นปัญหา ก็เพราะใจของคุณรับไม่ได้ มันจึงกลายเป็น "ปัญหา"

ถ้าคุณต้องการปลดล็อคปัญหา ก็แค่ ปรับใจของคุณให้ "ยอมรับความจริง" ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คุณพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว "จงยอมรับมันซะ" ขอย้ำว่า จงละทิ้งความพอใจและไม่พอใจลง แค่นั้นก็หมด "ปัญหา"

หลายคนอาจพูดว่า มันไม่ง่ายแบบนั้นหรอก แต่มันก็ไม่ยากเกินไปไม่ใช่หรอคะ

ข้อคิดสำหรับวันดี ๆ "ทุกอย่างจบลงที่ใจ❤️" "ยอมรับมันซะ" จากนั้น ตั้งสติ ปรับใจให้ปกติ ตั้งเป้าหมาย แก้ไขไปทีละเรื่อง อดทนเข้าไว้

ขอให้ทุกท่านเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต

ขอเป็นกำลังใจ


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima

ในอนาคตผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาจะลดลง แต่จะมีกลุ่มคนทำงาน และผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องมีภารกิจในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ ด้วยการ Reskill Upskill รวมถึงการพัฒนา New Skill เพื่อการประกอบอาชีพ

แนวโน้มที่คาดการณ์กันว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะประสบปัญหามีผู้เรียนลดจำนวนลง หลายแห่งจึงเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการนำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาช่วย เพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน เปิดสาขาวิชาทางเลือกเฉพาะกลุ่ม และหันไปสอนหลักสูตรระยะสั้นให้คนในวัยทำงาน หรือกระทั่งคนในวัยเกษียณมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้คนวัยทำงาน เข้ามาสังเกตการณ์การเรียนการสอนในบางวิชา

จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรอบปีที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยได้จำนวนผู้เรียนไม่เป็นไปตามเป้าในการรับนิสิตนักศึกษา จากเด็กที่เข้าเรียนในระบบมัธยมศึกษาจะสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่มหาลัยเปิดรับ แต่ในทางกลับกัน ประชาชนทั่วไปหรือคนในวัยทำงาน รวมถึงคนที่เกษียณอายุไปสู่ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคนกลุ่มวัยทำงานนี้ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรวมคือ การนำไปสู่การหาเลี้ยงชีพของตัวเอง เห็นภาพชัดขึ้น ในช่วงปี 63 ที่ผ่านมาที่เราเจอกับสถานการณ์ Covid-19 มีผลต่อการทำงาน ของคนในวัยทำงานเป็นอย่างมากบางบริษัท

ในอนาคตก็จะมีผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาลดลงแต่จะมีกลุ่มคนทำงาน และผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น นอกจาการสร้างบัณฑิตแล้ว สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องมีภารกิจในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ ด้วยการ Reskill Upskill รวมถึงการพัฒนา New Skill เพื่อการนำไปพัฒนางานเดิม ประกอบอาชีพ หรือเป้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเอง

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคน ทุกช่วงวัย รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้าง ออกแบบหลักสูตร Non Degree จะช่วยได้อีกทาง และหาก Non Degree ที่ได้เรียนนั้น สามารถนำไปสู่ Degree ได้ โดยมีระบบการเทียบโอน หรือ ระบบสะสมหน่วยกิต ที่เรียกว่าธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) รวมถึงการเทียบโอนประสบการณ์ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง  เป็นการเรียนการสอนแบบนอกเหนือจากภาคปกติ เรียนจบได้ใบประกาศนียบัตร

หลักสูตร Non Degree เพื่อการ Reskill Upskill ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั้น ต้องเปิดโอกาสให้แก่คนทุกวัยทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานหรือคนวัยเกษียณ คือ เรียนวิชาที่นำไปใช้งานได้จริง สำหรับประกอบอาชีพ ไม่ได้เน้นเชิงวิชาการหรือเชิงทฤษฎีเหมือนภาคปกติ เป็นวิชาสำหรับประกอบอาชีพเสริม เช่น การทำการเกษตรแนวใหม่ การเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาเศรษฐกิจ

การเรียนที่ออกแบบขึ้นนั้น จะศึกษาความต้องการของตลาด เราจะทำผลิตภัณฑ์อะไรที่ตอบโจทย์กับตลาด หลังจากนั้นก็เริ่มลงมือปฎิบัติจริง หรือเรียนรู้ในสถานประกอบการ เป้าหมายของการเรียน คือ คิดเป็น วางแผนเป็น และแก้ปัญหาเป็น สู่การเป็นผู้ประกอบการ สร้างรายได้ ได้อีกด้วย

วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ ม.เกษตร เปิด Non Degree รองรับคนทุกช่วงวัย หลายชุดวิชา อาทิ ชุดวิชาการสร้างความสุขของสังคมผู้สูงวัย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีจิตวิทยาในการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุมีความสุข เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย อีกกลุ่มก็คือหลักสูตรการดูแลเด็กปฐมวัยช่วงก่อนเข้าโรงเรียน สำหรับโรงเรียนอนุบาลภาคเอกชนที่มักจะไม่ค่อยมีอาจารย์ที่จบทางด้านปฐมวัยหรือด้านศึกษาศาสตร์โดยตรง

“วิชาเหล่านี้สามารถนำไปสะสมเป็นปริญญาตรีอีก 1 ใบได้ หลักสูตร Non Degree เราให้หน่วยกิตไว้ประมาณ 20 หน่วย และเรามีโครงการธนาคารหน่วยกิต ซึ่งเมื่อคุณจบ 1 ชุดวิชา แล้วคุณก็จะเก็บหน่วยกิตได้ 20 หน่วย และเมื่อคุณเรียนเพิ่มอีก 1 ชุดวิชา ก็จะได้อีก 20 หน่วย โดยใครที่จบปริญญาตรีมาแล้วก็สามารถใช้เทียบเป็นอีก 1 ปริญญาได้เลย”


เขียนโดย ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา อาจารย์ภาควิชาส่งเสริม และนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทางเลือก ตรงทางแยก ใช้เหตุผล หรือความรู้สึกใดในการเดินทางต่อ ก้าวสู่เป้าหมายอีกระดับ เก่งเกินไป สอบเข้า ม.4 โรงเรียนดัง ๆ ได้ทุกที่ เลือกเรียนที่ไหนดี (ปัญหาคนเก่ง) เป็นปัญหามาทุกปี สำหรับนักเรียนเก่ง ๆ ที่มีให้เห็น

หลายคนมีเป้าหมายชัดในการเตรียมตัวเรียนต่อ ม.4

1.) เตรียมอุดม

2.) มหิดลวิทยานุสรณ์

3.) กำเนิดวิทย์

4.) โครงการพิเศษ ของโรงเรียนต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค

จากกำหนดการ การประกาศผล รายงานตัว มอบตัว ของโรงเรียน เป้าหมายของกลุ่มนักเรียนแนวหน้าประเทศ เตรียมอุดม กำเนิดวิทย์ มหิดลวิทยานุสรณ์ และห้องพิเศษ หรือโครงการต่าง ๆ ในแต่ละโรงเรียน

หลายคนสับสนและไขว้เขวในการเลือกเรียน เหตุจากไม่ได้ตั้งเป้าหมายชัดเจนก่อนหน้า

การเลือกที่ดี ที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์ และองค์ประกอบอื่นที่ถูกต้องจะนำไปสู่ความสำเร็จในขั้นตอนต่อไป การเลือกที่ที่ไม่เหมาะอาจจะรั้งทางด้านการเรียน

จากข้อมูลที่ผ่านมา(อาจจะไม่ถูกต้องนัก) จึงขอเล่าและเขียนเป็นช่องทางในการตัดสินใจ เพื่อให้เห็นภาพปัจจุบันและอนาคต

ความสำเร็จ อยู่ที่ตัวตนมากกว่าจะมาจากสถาบัน แต่สถาบันที่ดี ที่ตรงกับความสามารถส่วนตน ก็สามารถส่งเสริมความสำเร็จ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายรุ่น จะขอเปรียบเทียบบางเรื่องของแต่ละโรงเรียน ดังต่อไปนี้ครับ

1.) ค่าใช้จ่าย เฉลี่ยต่อเดือน

- เตรียมอุดมฯ 25,000 (ที่พัก 6,000 อาหาร 10,000 เดินทาง 2,000 เรียนพิเศษ 6,000 และอื่น ๆ )

- มหิดลฯ 10,000 ที่พักฟรีที่โรงเรียน ที่พักและเดินทางไปติว กทม. 3,000 - 4,000 ติว 6,000

- กำเนิดวิทย์ 10,000 ที่พักฟรีที่โรงเรียน ที่พักและเดินทางไปติว กทม. 3,000 - 4,000 ติว 6,000

- โรงเรียนอื่นๆ ส่วนมากใกล้บ้าน หรือโรงเรียนในภูมิภาคที่เคยเรียน ม.ต้น ที่พักและติว รวมประมาณ 10,000

2.) การเดินทาง

- เตรียมอุดมฯ นักเรียนพักที่บ้านสำหรับเด็กกทม. นักเรียนต่างถิ่น จะพักหอพักใกล้โรงเรียน หรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า ไม่มีหอพักในโรงเรียน

- มหิดลฯ พักในหอพักโรงเรียนฟรี การเดินทางโดยมากคือ เสาร์อาทิตย์เข้า กทม. หาที่เรียนพิเศษ ระยะทางประมาณ 50 กม. เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว พ่อแม่รับส่ง รถเมล์ รถตู้ หรือรถไฟ

- กำเนิดวิทย์ พักในหอพักโรงเรียนฟรี การเดินทางโดยมากคือ เสาร์อาทิตย์เข้า กทม. หาที่เรียนพิเศษ ระยะทางประมาณ 150 กม. เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว พ่อแม่รับส่ง หรือรถโรงเรียนรับส่ง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

- โรงเรียนอื่น ๆ กลับบ้าน อาจจะใกล้โรงเรียน หรือ ต่างจังหวัด นานๆ ครั้ง

3.) ที่พัก

- เตรียมอุดมฯ คนต่างจังหวัด หรือบางคนใน กทม. จะเช่าหอพัก คอนโด อพาร์ทเม้นใกล้ๆ โรงเรียนหรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า

- มหิดลฯ หอพักในโรงเรียนเป็นสวัสดิการฟรี แยกหอหญิงชาย ผู้ชาย พักห้องละ 4 คน ผู้หญิง ห้องละ 6 คน

- กำเนิดวิทย์ หอพักฟรีในโรงเรียน ห้องละคน ส่วนตัว

- โรงเรียนอื่นๆ พักที่บ้านหรือหอพักโรงเรียน หรือเช่า ตามแต่โรงเรียนที่เรียน

4.) เพื่อน ๆ พี่ ๆ

- เตรียมอุดมฯ เพื่อรุ่นเดียวกัน 1,500 ต่อรุ่น ตอนนี้รุ่นที่ 84 เพื่อนจะมีทุกคณะทุกสาขาอาชีพชั้นนำ สายวิทย์และสายศิลป์ และอยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่โดดเด่นในสังคมไทย

- มหิดลฯ รุ่นละ 240 คน รวม 30 กว่ารุ่นในปัจจุบัน ทุกคนเป็นสายวิทย์ เรียนต่อในสายการแพทย์ และวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเป็นส่วนมากแทบทั้งหมด ด้านอื่นๆ แทบไม่มีหรือเป็นส่วนน้อย เรียนทั้งไทยและบางคนต่อต่างประเทศ

- กำเนิดวิทย์ รุ่นละ 72 คน รวม 7 รุ่นในปัจจุบัน ทุกคนเป็นสายวิทย์ เรียนต่อในสายการแพทย์ และวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเป็นส่วนมากแทบทั้งหมด ด้านอื่นๆ แทบไม่มีหรือเป็นส่วนน้อย เรียนทั้งไทยและบางคนต่อต่างประเทศ

- โรงเรียนอื่นๆ ประวัติที่ต่างกัน ทุกที่มีความสำเร็จในแต่ละระดับที่แตกต่างกันไปทั้งทางภูมิภาค หรือคณะในแต่ละมหาวิทยาลัย

5.) สังคมในโรงเรียน

- เตรียมอุดมฯ เป็นสังคมการศึกษาที่หลากหลายและเป็นสังคมอันดับหนึ่งทางด้านการศึกษาอย่างแท้จริงทุกสาขาวิชา

- มหิดลฯ เหมาะสำหรับคนสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อย่างเข้มข้น สนใจงานด้านวิจัยเป็นหลัก

- กำเนิดวิทย์ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โครงงานต่าง ๆ ที่สร้างนวัตกรรม

- โรงเรียนอื่นๆ สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาบ้านเกิดหรือภูมิภาคที่สนใจ จะมีเป้าหมายในการประกอบอาชีพต่อใกล้บ้าน

6.) หลักสูตรการเรียน

- เตรียมอุดมฯ หลักสูตร สสวท. แต่เนื้อหาจริงในโรงเรียน จะเพิ่มเติมโดยอาจารย์ผู้สอนเพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียน โดยมากเนื้อหาเข้มข้น ข้อสอบยากกว่าปกติมาก

- มหิดลฯ ใช้หลักสูตร สอวน. มาใช้ในการสอน เนื้อหาล้ำหน้าไปถึงมหาวิทยาลัยในบางส่วน นักเรียนจะมีความรู้ในมหาลัยไปล่วงหน้า ทำให้ข้อสอบเข้ามหาลัยจะไม่ยากมากนักสำหรับทุกคน

- กำเนิดวิทย์ หลักสูตรแนวต่างประเทศ ใช้ตำราต่างประเทศในการเรียนการสอน นักเรียนจะมีความรู้ทันสมัย และใช้งานจริงได้ทั่วโลก มีการปฏิบัติทั้งแลปและโครงงานให้ทำมากมาย ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทขนาดใหญ่ในไทย

- โรงเรียนอื่นๆ หลักสูตรแกนกลางไม่เข้มข้นมาก แต่คุณภาพตามนักเรียนและโรงเรียนเป็นหลัก

7.) เป้าหมายระดับต่อไป

- เตรียมอุดมฯ เน้นการเรียนต่อแพทย์เป็นหลัก และทุกสาขาอาชีพ ระดับนำ การแข่งขันระดับโลกทางวิชาการ โอลิมปิก และทุนรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างชาติ ประสบความสำเร็จระดับสูง

- มหิดลฯ นโยบายทุน ม.ปลายเน้นสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อนำพื้นฐานไปใช้ในทุกคณะทุกสาขาอาชีพ นักเรียนส่วนมากกว่า 50% เรียนแพทย์ 25% วิทยาศาสตร์วิศวะ ที่เหลือเรียนต่อต่างประเทศและอื่นๆ

- กำเนิดวิทย์ นโยบายทุน ม.ปลายเน้นสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อนำพื้นฐานไปใช้ในทุกคณะทุกสาขาอาชีพ นักเรียนส่วนมากกว่า 50% เรียนแพทย์ 25% วิทยาศาสตร์วิศวะ ที่เหลือเรียนต่อต่างประเทศและอื่นๆ

- โรงเรียนอื่น ๆ จะเรียนตามภูมิภาคและหลากหลายคณะอาชีพ

8.) ความก้าวหน้าระดับการงานหลังจบสถิติการศึกษา

- เตรียมอุดมฯ รุ่นพี่รุ่นน้องค่อนข้างเหนียวแน่นและช่วยเหลือในหน้าที่การงาน ส่งเสริมความก้าวหน้าทุกสาขาอาชีพ

- มหิดลฯ ความสามารถเฉพาะตนจากพื้นฐานการเรียนทางวิทยาศาสตร์เข้มข้น จะช่วยให้ทำหน้าที่การงานก้าวหน้าดี

- กำเนิดวิทย์ การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการงานจากองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ จะทำให้โดดเด่นด้านการงาน

- โรงเรียนอื่นๆ ความสำเร็จในการงานในพื้นที่จะทำได้ง่ายสำหรับผู้ที่สำเร็จด้านการศึกษาที่ดี

9.) สถานที่เรียนและข้อมูลที่สามารถติดตามข่าวสาร

- เตรียมอุดมฯ

227 ถนน พญาไท แขวง ปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

https://www.triamudom.ac.th/

- มหิดลฯ

หมู่ที่ 5 364 ตำบล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม 73170

https://www.mwit.ac.th/

- กำเนิดวิทย์

หมู่ที่ 1 เลขที่ 999 ตำบล ป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ ระยอง 21210

https://kvis.ac.th/Home_TH.aspx

- โรงเรียนอื่น ๆ ติดตามตามที่สนใจ

อิทธิพล ในการตัดสินใจเลือกเรียนต่อระดับ ม.ปลาย

พ่อแม่ มักจะเน้นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ปลอดภัย และดูสถิติ การสอบเข้ามหาลัย และตัวอย่างรุ่นพี่เป็นหลัก

เพื่อน ๆ พี่ ๆ มักแนะนำ เรียนที่ตนเองเลือกเรียนและ เคยเรียนมาเป็นหลัก

ตัวเอง... ควรพิจารณาตามศักยภาพ ความแหมาะสม และฐานะทางครอบครัว

ทุกที่สำเร็จได้ด้วยตัวเอง มากกว่าโรงเรียน และอื่นๆ


เขียนและรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

สมัยเรียนทำกิจกรรมอะไรมาบ้างไหมคะ ? หนึ่งในคำถามที่ผู้สัมภาษณ์เข้าทำงานนิยมถามนักศึกษาจบใหม่ ในวันที่สัมภาษณ์งาน บางทีถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากเกรดใน Transcript หรืออาจจะให้ความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ

ในโลกยุคปัจจุบันที่เรียกขานว่า โลกยุคดิจิตอล ทักษะในการทำงานที่หลากหลายแบบ Muititasking Skills เป็นทักษะการทำงานที่ถูกพูดถึงเสมอ เทคโนโลยีที่มาไวไปไว ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา การมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง อีกทั้งยังต้องทำงานพร้อมกันหลายอย่าง เช่น การเช็กข้อมูล e-mail กล่องข้อความใน facebook สื่อสารกับลูกค้าผ่าน Line จัดทำเอกสารในโปรแกรม Word โปรแกรม Excel หรือ ทำ Presentation ด้วยโปรแกรม Powerpoint เป็นต้น ทักษะเหล่านี้ล้วนไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพได้ในระยะเวลาอันสั้น

การฝึกทักษะการทำงานจึงสามารถทำได้ตั้งแต่วัยเรียน จากกิจกรรมในสมัยเรียนนั่นแหละ ชมรม ชุมนุม หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ หากเด็กคนไหนได้ไปเข้าร่วม นอกจากความสนุกแล้ว สิ่งสำคัญคือการได้ทำงานร่วมกับคนอื่น การทำงานเป็นทีม การเข้าอกเข้าใจ การแก้ปัญหา หากจะกล่าวโดยรวมก็คือ เป็นการฝึก 7Q ความฉลาด 7 ด้าน นั่นเอง (ซึ่งความฉลาด 7 ด้าน ได้กล่าวถึงในบทความครั้งที่แล้ว https://www.facebook.com/thestudytimes/photos/115561173889921)

ข้อดีของยุคเทคโนโลยีแบบนี้ก็คือ การที่เยาวชนหรือเด็กๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ได้มากมาย หากเลือกใช้ในทางที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ การเสริมทักษะทั้ง 7Q ตั้งแต่ยังเด็กนั้น เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กคนนั้นเผชิญหรือรับมือกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย และยิ่งยุคสมัยนี้การแข่งขันในตลาดแรงงานก็สูงลิ่ว สวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ยิ่งต้องเพิ่มทักษะความสามารถให้เข้าสู่ตลาดแรงงานให้มากขึ้นไปอีก ใครทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หรือปรับตัวยากในยุคดิจิตอล คงไปไม่รอด ซึ่งหากยังอยู่ในวัยเรียน ผู้เขียนแนะนำว่า น้องๆ ลองหากิจกรรมทำนอกเหนือจากการเรียน แล้วจะเพิ่มทักษะความสามารถให้กับน้องๆ ได้เยอะมากกว่าที่น้องๆ คิด และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยแรงงาน น้องๆ ก็จะสามารถเข้าถึงงานที่ปรารถนาได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

อ้างอิงข้อมูล: https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/multitasking

‘กอด’ เป็นการแสดงออกสุดคลาสสิก แต่แฝงอานุภาพมหาศาล การโอบกอดที่ไม่ต้องมีคำพูดปลอบโยนใด ๆ แต่ช่วยให้ผู้ที่ถูกโอบกอดรู้สึกดีและผ่อนคลายความหนักอึ้ง เยียวยาจิตใจในวันที่อ่อนไหว

เวลาที่รู้สึกท้อแท้ เศร้าในใจ วันที่อ่อนไหว ไร้ที่พึ่ง การได้รับคำปลอบโยนทางคำพูดหรือการรับฟังอาจช่วยได้ แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่เรามองว่า ทำได้ง่ายกว่าทุกอย่าง ไม่ต้องประดิษฐ์คำพูดสวยหรู ไม่ต้องกังวลว่าจะพูดถูกหรือผิด ตรงใจของผู้ฟังหรือไม่ เป็นการแสดงออกที่ใช้พียงตัวเราและความเข้าใจ โอบรัดวามผิดหวังและความเปราะบางนั้นไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า ‘กอด’

เรามีโอกาสอ่านบทความจากต่างประเทศ เป็นบทความว่าด้วยเรื่อง การกอดเป็นประจำนำไปสู่ประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยในบทความนั้นมีข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักจิตบำบัดครอบครัว ชาวอเมริกัน กล่าวว่า เราต้องการการกอด 4 ครั้งต่อวัน เพื่อความอยู่รอด ต้องการกอด 8 ครั้งต่อวัน เพื่อการรักษาซ่อมบำรุง และต้องการกอด 12 ครั้งต่อวัน เพื่อการเติบโต และในการศึกษาที่เรียกว่า “ความหมายของการกอด: จากพฤติกรรมการทักทายไปจนถึงการสัมผัสโดยนัย” Lena Forsell และ Jan Åström ได้ระบุว่าการกอดสั้น ๆ 10 วินาที ช่วยต่อสู้กับความรู้สึกเหนื่อยล้าทางใจ

พอได้รู้แบบนี้แล้ว คงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรกอดกัน ถึงแม้การกอดบ่อย ๆ อาจจะดูเคอะเขินไปบ้าง เพราะไม่ใช่เรื่องที่คนไทยทำเป็นประจำเหมือนอย่างการทักทายของชาวต่างชาติ แต่เรากำลังจะบอกว่า การกอด ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความเสน่หา ไม่ใช่ทำแค่กับคนรัก เราสามารถกอดพ่อแม่ กอดเพื่อน กอดพี่น้อง กอดแฟน กอดสัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งกอดคนแปลกหน้าที่ต้องการกำลังใจ ใครจะไปรู้ บางครั้งการกอดของเราอาจจะช่วยใครสักคนไว้ในวันที่เค้าเคว้งคว้าง หรือบุบสลาย

วันที่เรามองหาคนที่จะอยู่ข้าง ๆ แต่กลับพบว่ารอบตัวว่างเปล่า คงเป็นความรู้สึกเคว้งคว้าปนเศร้าใจ ช่วงเวลาเหล่านั้นกลายเป็นเวลาที่ยากลำบากที่จะผ่านไปตัวคนเดียว คงจะดีไม่น้อย หากเราได้วางความเหนื่อยใจไว้ที่ไหล่ของใครสักคนสักพัก โดยที่ไม่ได้คาดหวังให้เขาเข้ามาแบกความเหนื่อยล้าตรงนั้น เพียงแต่ให้เขาเป็นที่พักพิงช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าทางจิตใจในช่วงขณะหนึ่ง

เราเองก็ชอบทั้งการเป็นผู้กอด และผู้ถูกโอบกอด ตัวเราเปลี่ยนบทบาทไปได้ตามแต่ละสถานการณ์ ในวันที่เราเข้มแข็งและเจอคนที่อ่อนแอกว่า เราคงไม่ปฏิเสธการกอดปลอบใจ กลับกันในวันที่เราเหนื่อยล้า หมดแรง เราก็อยากเป็นฝ่ายที่ถูกโอบกอดไว้เช่นกัน เรามองว่า การกอดเป็นการแสดงออกที่ง่ายที่สุด แต่มีอานุภาพที่สดชื่นเบาสบายที่สุดเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราอาจไม่ได้ต้องการคนเข้าใจ ปลอบใจ หรือพาเราก้าวข้ามผ่านมันไป แต่สิ่งที่คนเราต้องการอาจเป็นเพียงการอยู่ข้าง ๆ คอยรับฟังและไม่ทอดทิ้ง แม้จะเหน็ดเหนื่อย หมดแรง แต่การถูกโอบกอดอย่างอบอุ่นหรือตบบ่าก็สามารถช่วยให้รู้สึกดีได้จริง ๆ


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

อ้างอิงข้อมูล: https://brightside.me/inspiration-health/7-health-benefits-regular-hugs-can-bring-you-794694/

สรุปเนื้อหาจาก Webinar “เด็กโรงเรียนไทยจะฝึกภาษาอังกฤษยังไงให้ปัง?” โดยครูหญิง (Applied Linguistics จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย) ครูเต้ (TESOL จากมหาวิทยาลัยยอร์ค) และติวเตอร์พริม (อักษร จุฬาฯ ภาคอินเตอร์) จาก Edsy

จากที่ครูหญิง ครูเต้ และพี่พริม ได้แชร์ผ่าน Zoom Webinar เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทีมงาน Edsy ขอสรุปใจความมาแบ่งปันดังนี้...

เราควรเริ่มจากการหาแรงบันดาลใจก่อน อะไรคือสิ่งที่เราชอบ? อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข? เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกฝืน เช่น ถ้าเราชอบดูหนังหรือฟังเพลง ก็อาจจะเริ่มหัดเรียนภาษาอังกฤษ ฟังภาษาอังกฤษจากสิ่งเหล่านั้นก่อน พี่พริมแชร์ว่าเขาชอบฟังเพลงของ Taylor Swift จึงเริ่มดูและพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อร้อง เป็นการฝึกอ่านทำความเข้าใจ (reading comprehension) ไปในตัว ด้วยการพยายามโยงหลักการใช้ภาษากับ context ต่างๆ ในเนื้อร้อง เมื่อเริ่มเข้าใจเนื้อเพลง พี่พริมก็เริ่มสนใจในตัวคำศัพท์ (vocabulary) มากขึ้น ทำให้เริ่มรู้คำศัพท์ที่หลากหลาย ทั้งคำที่คล้ายคลึง คำที่มีความหมายตรงกันข้าม คำขยายความ และในขณะเดียวกันก็เริ่มซึมซับหลักไวยากรณ์ไปทีละเล็กน้อย

เมื่อไปเรียนที่อักษร จุฬาฯ ภาคอินเตอร์ (BALAC – Bachelors of Art in Language and Culture) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนภาษา 50% สอนวัฒนธรรมอีก 50% พี่พริมจึงได้แรงบันดาลใจและเข้าใจในตัวภาษามากยิ่งขึ้นอีก เช่น คำว่า “เกรงใจ” ไม่มีคำที่ตรงตัวเช่นเดียวกันในภาษาอังกฤษ เนื่องจากความเกรงใจเป็นวัฒนธรรมของคนไทยหรือคนเอเชียมากกว่า

ในขณะที่พี่พริมและครูหญิงเริ่มสนใจภาษาอังกฤษจากรายการเพลง รายการทีวี ครูเต้ได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์เมื่อสมัยมัธยมต้นที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีมาก สื่อสารได้เหมือนชาวต่างชาติ กลายเป็นต้นแบบหรือ Role model ที่ครูเต้อยากดำเนินรอยตาม ครูเต้เชื่อว่าหากครูผู้สอนภาษาอังกฤษสามารถนำความรักชอบในภาษาและความสามารถ ทักษะที่มีออกมาถ่ายทอด สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน เด็กนักเรียนไทยจะมีความสนใจและโอกาสที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น ด้วยการ “put oneself in the language”

ดังนั้น หากน้องๆนักเรียนโรงเรียนไทยรู้สึกไม่สนุก ไม่เอ็นจอยกับการเรียนเน้นหลักไวยากรณ์และท่องศัพท์ในห้องเรียน ก็ควรลองออกไปค้นหาดูว่ามีความชอบอะไรของเราที่เกี่ยวโยงกับภาษาอังกฤษบ้างมั้ย หรือมีใครที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้เลียนแบบ เพื่อที่จะได้ทำให้ตัวเอง immerse ไปกับภาษาและรู้สึกชอบหรือมีความสุขกับการเรียน การใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น

ในการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะการพูด คุณครูทั้งสามท่านย้ำว่าเราต้องมีทัศคติที่ถูกต้อง อย่าไปกลัวที่จะลองผิดลองถูก ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในห้องเรียน (หรือในที่อื่นๆ) บ่อยครั้งที่คนไทยกันเองมักจะจ้องจับผิดสำเนียงหรือความถูกต้องในการพูดของผู้พูด เราต้องจำไว้ว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาได้ ถ้าเราไม่เริ่มมีความกล้าที่จะลอง “ยิ่งฝึกเยอะ ยิ่งผิดเยอะ ยิ่งเก่งนะ” ครูหญิงย้ำ

จากมุมมอง Applied Linguist ครูหญิงจะบอกผู้ปกครองและน้องๆ เสมอว่าเมื่อเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ “อย่าเริ่มจากแกรมม่าค่ะ วางมันไว้ข้างๆ ไว้ไกลๆก่อนเลยก็ได้” เราควรจะเริ่มจากการหากิจกรรมที่สนุก ที่จะสร้างทัศนคติและความรักชอบในตัวภาษาให้กับน้องๆ ก่อน “ปัจจุบันมีแนวคิดที่แพร่หลายในเรื่องการใช้กิจกรรม Integrated skills เพื่อสอดแทรกภาษาอังกฤษ เช่น ให้น้องๆ ไปปั้นดินน้ำมันแล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษ ให้ทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่จะทำให้เด็กๆ เขาเชื่อมโยงว่า เมื่อใช้ภาษาอังกฤษ เขาจะได้ทำอะไรสนุกๆ เช่นนั้น” ควรสนใจทุกทักษะพูด ฟัง อ่าน เขียน อาจจะเริ่มจากการพูดก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่ดี

ครูเต้เสริมว่าเด็กไทยถูกบังคับให้เรียนด้วยการเริ่มจำกฏเกณฑ์ (เช่น หลักไวยากรณ์) เร็วเกินไป ทำให้ขาดความสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษ และไม่ได้เป็นการเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ การสอนโดนเน้นหลักไวยากรณ์ คำศัพท์ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งต้องการโอกาสที่จะได้สนุกสนานกับการเรียน ได้เริ่มพัฒนาความกล้าและความมั่นใจในการใช้ภาษา

โดยสรุปแล้ว ทั้งสามท่านแนะนำให้เริ่มจากสิ่งที่เราชอบก่อน “เริ่มจากสิ่งที่สามารถทำให้เราเปิดใจได้ แล้วทุกอย่างมันจะง่ายขึ้นเอง ทุกคนมีความกลัว แต่ทุกความผิดพลาดจะทำให้เราได้เรียนรู้จากมันและพัฒนากลายเป็นความชำนาญและความมั่นใจ”

ครูหญิงฝากไว้ว่า “มันเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเหนื่อย เมื่อตั้งใจแล้วแต่ยังไม่เห็นผลหรือถึงจุด plateau stage พี่หญิงจะบอกเสมอว่าให้พัก แล้วค่อยสู้ต่อ ทักษะภาษาอังกฤษเหมือนทักษะ ความสามารถอื่นๆ เราพักได้ แล้วค่อยเริ่มใหม่”

ดูคลิปวิดีโอเต็มได้ที่ https://fb.watch/4hoOLSGfOA/

อยากฝึกภาษาอังกฤษแต่ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร...? หาแรงบันดาลใจจากที่ไหน...? ควร focus อะไรก่อน...? แล้วเมื่อไหร่จะเห็นผล...? ลงทะเบียนเพื่อทดลองเรียนฟรีวันนี้กับ Edsy! ที่ https://bit.ly/3q2kQyU


เขียนโดย : ทีมงาน Edsy สตาร์ทอัพด้านการศึกษา

Line ID : @edsy.th

Quotient หรือความฉลาดด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีการศึกษาในเชิงจิตวิทยาพัฒนาตัวเองนั้น ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีการนิยามศัพท์การพัฒนาตัวเองมากถึง 7Q จากเมื่อก่อนจะได้ยินเพียงแค่ IQ หรือ EQ เท่านั้น

“จิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ปรับปรุงได้ “ ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวเอาไว้ และคำว่า “มนุษย์” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีใจสูง” นั้น จึงอยู่คู่กับการพัฒนาเสมอ หากมนุษย์คนไหน หยุดพัฒนาตัวเอง ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่นั่นเอง บทความนี้จึงอยากจะมานำเสนอให้เห็นว่า ความฉลาด 7 ด้าน ที่เป็นทักษะการพัฒนาชีวิต เพื่อพิชิตความสำเร็จนั้น มาทำความรู้จักกันสักนิด

1.) IQ ( Intelligent Quotient )

ความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดด้านนี้เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ คำนวณ และการใช้เหตุผล การแก้ปัญหาเชิงตรรกะ การทดสอบ IQ เป็นที่นิยมสำหรับการวัดระดับความรู้เชิงวิชาการ

คนที่มี IQ สูง มักจะเป็นคนเก่งวิชาการ ประกอบอาชีพประเภทแพทย์ วิศวกร นักการเงิน เป็นต้น

2.) EQ ( Emotional Quotient )

ความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดด้านนี้เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และยับยั้งชั่งใจ แสดงออกอย่างเหมาะสม

คนที่มี EQ สูงจะมีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ทำงานเป็นทีมได้ดีอีกด้วย

3.) CQ ( Creativity Quotient )

ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ ความฉลาดด้านนี้เป็นความสามารถในการจินตนาการ สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ เช่น การเล่น งานศิลปะ และงานประดิษฐ์สิ่งของ

4.) MQ ( Moral Quotient)

ความฉลาดทางศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี มีความซื่อสัตย์ ซึ่งความฉลาดทางด้านนี้เป็นการปิดจุดอ่อนความฉลาดทางด้านอื่น ที่ว่าเก่งไปหมดแต่ไม่มีศีลธธรรมก็ไม่ดีต่อสังคม การพัฒนาตัวเองจึงควรมีความฉลาดทางด้านนี้ด้วย ซึ่งความสามารถทางด้านนี้ต้องใช้เวลาในการอบรมบ่มนิสัย และขัดเกลาเป็นเวลานาน ซึ่งสถาบันครอบครัวจะมีส่วนมากในการเสริมสร้างความฉลาดด้านนี้

5.) HQ ( Health Quotient )

การมีสุขภาพที่แข็งแรง ข้อนี้มีความสำคัญมากและเป็นพื้นฐานให้กับความฉลาดทางด้านอื่น เพราะหากร่างกายไม่แข็งแรง การพัฒนาความฉลาดในด้านอื่น ๆ จะเกิดขึ้นได้ยากขึ้น

6.) AQ ( Adversity Quotient )

ความฉลาดในการแก้ปัญหา หมายถึงการยืดหยุ่นและปรับตัวในการเผชิญกับปัญหาได้ดี และสามารถเอาชนะอุปสรรคด้วยความยากลำบาก อดทน ไม่ท้อถอย มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทายและกล้าฟันฝ่า

7.) SQ ( Social Quotient )

ความฉลาดทางสังคม เป็นความสามารถในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความสามารถด้านนี้จะทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และทำให้สังคมเกิดความสงบสุขด้วย

จะเห็นว่าการพัฒนาของมนุษย์นั้นมีหลายด้าน ประกอบกันเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พัฒนาการเหล่านี้หากได้รับการพัฒนาตั้งแต่ยังเด็กก็จะสามารถทำให้เด็กคนนั้นมีศักยภาพและภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตในสังคมได้ดีและง่ายขึ้น หรือแม้จะเป็นผู้ใหญ่ การพัฒนาตัวเองก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่จำกัดอายุ ลองไปปรับใช้และพัฒนาตัวเองกัน เพราะมนุษย์พัฒนาได้เสมอ


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

อ้างอิงข้อมูล: ความฉลาดของเด็กยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ IQ และ EQ แต่มีถึง 7Q (hellomagazine.com)

7Q เพื่อความสำเร็จในการทำงาน (7Q for Success) (happy-training.com)

รักในวัยเรียน อาจจะไม่ใช่การจุดเทียนกลางสายฝนเสมอไป หากรู้จักจัดลำดับความสำคัญ และรักอย่างเหมาะสม ในวัยที่รักเป็นเรื่องรอง

รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน ประโยคยอดฮิตที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนชอบพูดกับเด็กในวัยที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะคงอยากอยากให้ตั้งใจเรียนมากกว่าสนใจเรื่องความรักที่พวกเขามองว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จริง ๆ แล้ว การมีความรักในวัยเรียน ไม่ดีจริงหรือ?

ทุกคนมีความรักครั้งแรกเข้ามาทักทายตอนอายุเท่าไหร่กันคะ อาจจะเป็นตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม หรือตอนขึ้นมหาวิทยาลัยเลย แล้วเราก็เชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนที่โตมาต้องเคยได้ยินประโยคเด็ดที่ว่า ‘รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน’ ฟังดูก็แสนจะโบราณเหลือเกิน แต่ลองมองดี ๆ ในมุมของผู้ที่เตือน หรือก็คือผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน นั่นก็เพราะความหวังดีและเป็นห่วง

พวกเขามองว่าความรักในวัยเรียน อย่างไรก็ไม่มีทางยั่งยืน เพราะความเป็นเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ ไม่มีทางที่จะพาความสัมพันธ์ให้ไปกันรอด เปรียบกับเทียนที่ถูกจุดขึ้นกลางสายฝน จุดอย่างไรก็ไม่มีทางติดได้ สู้เอาเวลาที่จะมาคิดเรื่องนี้ไปตั้งใจเรียน โฟกัสที่หน้าที่ของตัวเองดีกว่าไหม เพราะเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ดูจะไร้สาระ รังแต่จะสร้างความรำคาญใจตามมา

คิด ๆ ดูแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังจะสื่อสารก็เข้าใจได้ แต่ก็มีส่วนที่เรายังไม่เห็นด้วย การมีความรักในวัยเรียนสำหรับเราไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะในหนึ่งชีวิตมีหลายพาร์ทมากกว่านั้น กลับกัน เรามองว่าเป็นเรื่องดีซะอีก เราได้เรียนรู้ที่จะรักและรู้จักความรักในแต่ละช่วงวัย เป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ทำให้เราเติบโต แต่เรื่องบทบาทหน้าที่ของนักเรียนนักศึกษานั้นอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ การวางตัว และการบริหารจัดการตัวเองมากกว่า

เราอาจจะมีความรักหรือคนพิเศษในช่วงขณะที่ใช้ชีวิตบนเส้นทางการศึกษา สิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงคือความวอกแวก การเอาใจไปใส่กับอะไรที่ยังไม่ถึงเวลา จนหลงลืมหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเรามองว่าถ้าความรักหรือความสัมพันธ์นั้นดีพอ จะยิ่งก่อให้เกิดข้อดีด้วยซ้ำ เพราะสิ่งนั้นจะเป็นแรงผลักดันให้เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้น การมีกำลังใจที่สำคัญ มีคู่หูที่คอยรับฟัง มีคนให้คำปรึกษา มีเพื่อนอ่านหนังสือ มีความฝันและเป้าหมายร่วมกัน ความรักจะกลับกลายเป็นพลังและแรงผลักดันให้เราพยายามพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นตัวยืนยันข้อครหาทั้งหมด

แต่เพราะภาพคนที่สมหวังและจับมือไปถึงเป้าหมายร่วมกัน มีน้อยกว่าคนที่อกหักร้องไห้ฟูมฟาย การที่จะพิสูจน์ให้คนอื่นเชื่อมั่นและลดความเป็นห่วงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นมา นั่นหมายความถึงผลกระทบต่อเส้นทางในอนาคต

เราเชื่อมั่นว่าคนเราสามารถมีความรักและรักการเรียนควบคู่กันไปได้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากตัวเราเอง เรามีแฟนคนแรกตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 มีช่วงที่อินเลิฟ เที่ยวเล่น พากันอ่านหนังสือ แบ่งปันเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ แต่บทที่ต้องเลิกราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าร้องไห้ฟูมฟายเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ถึงขนาดนั่งเรียนไปร้องไห้ไปก็มี แต่ก็ยังแบกตัวเองไปเรียนได้ แถมวิชานั้นก็ยังได้เอมา (อวด)

อย่างที่บอกว่าสุดท้ายมันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ การจัดการอารมณ์ความรู้สึก รู้จักแยกแยะและไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง เสียใจได้ ผิดหวังได้ แต่สุดท้ายก็ต้องก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวด เติบโตจากความผิดหวังและพลั้งพลาด เป็นการเรียนรู้รสชาติชีวิตนอกเหนือจากการเรียนเอาความรู้ในตำรา


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

วิทยาศาสตร์พัฒนาชาติ Part.2 เส้นทางการคัดเลือก 240 ทุน ม.ปลาย ก้าวเข้าโรงเรียนวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งไทย (MWIT)

กว่า 50% ของ 240 คน แต่ละรุ่น เข้าเรียนคณะแพทย์ จุฬาฯ ศิริราช รามา และอื่นๆ

กว่า 25% คณะวิศวะฯ สถาปัตฯ วิทยาศาสตร์

25% ที่เหลือโดยประมาณ เลือกเรียนตามคณะที่สนใจ ทุนต่างประเทศมากมายที่ได้ไปเรียนต่อ

นี่คือผลสำเร็จที่เป็นตัวชี้วัดได้ว่า นักเรียนมหิดลทุกคนสำเร็จในก้าวแรกสู่อาชีพที่มั่นคง และเป็นขุมกำลังและความหวังประเทศไทย

ผลงานชัดทุกปีของนักเรียนที่นี่ คือการนำชื่อเสียงมายังโรงเรียน และประเทศชาติผ่านการแข่งขันทางด้านวิชาการ หลากหลายรูปแบบ ทั้งโครงงาน โอลิมปิกวิชาการ และด้านอื่นๆ

ทุกปี มีตัวแทนประเทศไทย โอลิมปิกวิชาการ ทุกสาขาวิชา

คณิตศาสตร์ โอลิมปิก ,ฟิสิกส์ โอลิมปิก ,เคมี โอลิมปิก ,ชีววิทยา โอลิมปิก ,คอมพิวเตอร์ โอลิมปิก และดาราศาสตร์ โอลิมปิก

ทุนเรียนต่อในประเทศ ต่างประเทศมากมาย ที่ได้รับ และนักเรียนมหิดลฯ สนใจไปเรียนกัน

-ทุนเล่าเรียนหลวง

-ทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

-ทุนกระทรวงการต่างประเทศ

-ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย

-ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์

-ทุนโอลิมปิก

-ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho:MEXT)

-ทุนมหาวิทยาลัย KAIST (Korea Advanced Institute of Science & Technology)

และอื่นๆ ทั้งไทย และต่างประเทศ

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ ทั้ง 240 คน โดดเด่นและสำเร็จได้ 100% เริ่มต้นจากการคัดสรรที่เข้มข้น คัดกรองจากทั่วประเทศ ผ่านคุณสมบัติตามกำหนด มาสอบรอบแรกกว่า 15,000 คน แข่งขันเข้มข้น จากการสอบสองรอบ สอบสองวิชา คือ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา) โดยรอบแรก รับมา 600 คน จากนั้นคัดต่อ เหลือแค่ 240 คน เข้าเรียนห้องละ 24 คน 10 ห้องเรียน (เรียนเฉพาะ สายวิทย์ คณิตศาสตร์)

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ นักเรียน และ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เกิดจากองค์ประกอบ 5 อย่าง ดังต่อไปนี้

1.กระบวนการสรรหานักเรียนที่มีประสิทธิภาพ การคัดทั้งรอบแรกและรอบสอง

2.) หลักสูตรที่เน้นการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล เหมาะตามความสนใจและส่งเสริมในความถนัด เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ ทุกแขนง

3.) ครูที่มีคุณภาพสูง ในแต่ละด้าน แต่ละวิชา จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ประสบการณ์สูง

4.) อาคาร สถานที่ สื่อ เครื่องมือ อุปกรณ์ดีเยี่ยม ซึ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน

5.) บิดา มารดา และผู้ปกครองนักเรียน ที่มองเห็นถึงโอกาส และให้การสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานตั้งแต่เด็ก จนถึงปัจจุบัน และมุ่งมั่นต่อไปในอนาคต

เส้นทางสู่ MWIT”

เส้นทางสู่การเป็นนักเรียน MWIT มีดังต่อไปนี้

1.) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้มีคุณสมบัติตามประกาศการรับสมัคร ฯ สมัครเข้าสอบเพื่อเป็นนักเรียนของโรงเรียนรอบที่หนึ่งในช่วงปลายปีของแต่ละปี ผ่านทางเว็บไซต์ของโรงเรียน MWIT

2.) นักเรียนที่สมัครสอบรอบที่หนึ่งเข้าสอบในศูนย์สอบที่โรงเรียนจัดทั่วประเทศตามประกาศในแต่ละปี

3.) ประกาศรายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านในรอบที่หนึ่ง จำนวน 600 คน

4.) นักเรียนที่สอบผ่านรอบที่หนึ่ง เข้าสอบรอบที่สอง ซึ่งเป็นการสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

5.) ประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตัวจริง 240 คนแรก และสำรอง อีก 360 คนที่เหลือ เรียกสำรองทุกปี ประมานอันดับที่ 120 - 190

ประวัติจุดเริ่มต้นก่อตั้ง MWIT

https://www.facebook.com/292042747492220/posts/3587365571293238/?sfnsn=mo

มหิดลวิทยานุสรณ์ นามพระราชทาน

https://www.facebook.com/292042747492220/posts/3591326447563817/

ตัวอย่างรายละเอียดการรับสมัครสอบ เข้าม.4  รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ปีการศึกษา 2564

https://www.facebook.com/292042747492220/posts/3594006723962456/?sfnsn=mo

ตัวอย่างประกาศรายชื่อรอบแรกปี การศึกษา 2564

https://www.facebook.com/292042747492220/posts/4020235601339564/?sfnsn=mo

รายละเอียดหลักสูตรการเรียน

https://www.facebook.com/292042747492220/posts/3911333725563086/?sfnsn=mo

นักเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นนักเรียนทุน ม.ปลาย ทุน 100% เรียนฟรี มีค่าใช้จ่ายรายเดือน ที่พัก และสวัสดิการอื่นๆ อีกมากมาย

จากความสำเร็จแต่ละขั้นตอน ของนักเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังว่า ประเทศไทยจะมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มารับใช้ชาติในวันและโอกาสข้างหน้า


เขียนและรวบรวมข้อมูล โดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

อ้างอิงข้อมูลและบทความจาก เว็ปไซต์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และเพจ โรงเรียน Mahidol Wittayanusorn School (Official)

“อ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบเก่า การเตรียมตัวสำหรับลงสนามสอบที่วัดผลคะแนนของแต่ละสนาม เป็นเรื่องที่ต้องทำ ถ้าไม่เช่นนั้นคะแนนที่ปรารถนาคงไม่ได้มา แต่การบริหารจัดการเวลาใน “วันสอบ” คือสุดยอดเทคนิคให้สิ่งที่เตรียมตัวมาเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“สิงห์สนามสอบ” เป็นอีกหนึ่งคำนิยามที่คิดว่าผู้เขียนมีคุณสมบัตินี้อยู่พอตัว ไม่ใช่เพราะว่า ทำข้อสอบอะไรก็ผ่านฉลุย หรือว่าได้คะแนนดีไปซะทั้งหมด แต่ถ้าเทียบกับการเข้าสู่สนามสอบหลายรอบ หลายครั้ง ก็นับว่ามากพอสมควร อาจเนื่องด้วยผู้เขียนร่ำเรียนชั้นอุดมศึกษาในคณะ “นิติศาสตร์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อเรียนจบชั้นปริญญาตรีแล้ว หากประสงค์จะประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ก็ต้องมีการเข้าสู่สนามสอบหลายสนาม นับจากเรียนจบ เส้นทางกว่าจะประกอบวิชาชีพกฎหมายอย่าง “ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ” จึงต้องเข้าสู่สนามสอบมากมาย และใช้เวลายาวนาน

หากเทียบกับผู้ที่มีความเลิศในทางวิชาการ ผู้เขียนถือว่าเป็นรอง สอบตกบ้าง สอบผ่านบ้าง แต่มาถึงวันนี้ ผู้เขียนก็ได้ผ่านสนามสอบมาพอสมควร หากต้องการเทคนิคการสอบให้ได้ที่ 1 อาจข้ามบทความนี้ไป แต่หากต้องการเทคนิคของคนกลางๆ ทางวิชาการแล้วสอบผ่าน ให้อ่านให้จบ!!!

ในที่นี้ผู้เขียนจึงอยากมาแบ่งปันเทคนิคส่วนตัว ซึ่งเชื่อมโยงจากการสอบผ่านในระดับชั้น “เนติบัณฑิต” และประสบการณ์การสอบ “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” สนามใหญ่ของผู้เขียนมาเล่าสู่กันฟัง

เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้ที่สนใจเทคนิคนี้นำไปใช้บ้าง ไม่ใช่เพียงในสนามสอบวิชากฎหมายเท่านั้น สนามสอบอื่นก็อาจมีประโยชน์ได้ ต้องบอกว่า “เทคนิค” ล้วนๆ ไม่มี “เนื้อหา” ปนเลยหล่ะ

ทุกครั้งที่ผู้เขียนจะเข้าสู่สนามสอบ สิ่งที่ผู้เขียนจะรู้สึกสนุกและมีพลังอย่างมาก ต้องบอกว่าไม่ใช่เนื้อหาที่จะสอบเลย เพราะเนื้อหาที่ว่าเป็นเนื้อหาวิชากฎหมายที่เยอะและยาก หัวไม่ดีเลิศอย่างเรา อ่าน 3 รอบ บางทียังไม่เข้าใจ แต่เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วว่าต้องสอบให้ได้ เพราะฉะนั้นการวางแผนจึงสำคัญพอ ๆ กับการเตรียมตัวด้านวิชาการ

1.) รู้จักตัวเอง

สำคัญมากสำหรับการสอบแต่ละครั้ง เราจะต้องรู้จักและประเมินความสามารถในทางวิชาการของเราอย่างถ่องแท้ และเป็นธรรมกับตัวเองมากที่สุด ไม่เข้าข้างตัวเอง หรือประเมินตัวเองต่ำเกินไป เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราต้องเตรียมในส่วนของเนื้อหาอย่างไรและใช้เวลาเท่าไหร่

2.) จะเอาแค่สอบผ่าน หรือต้องการได้คะแนนดีที่สุด

หากประเมินตัวเองแล้ว เราจะต้องรู้ว่าสนามสอบนั้น ต้องการอะไร ? บางสนามสอบต้องทำคะแนนได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเรียงลำดับคะแนนในการถูกคัดเลือก แต่บางสนามสอบต้องการคะแนนผ่านเกณฑ์ก็ถือว่าผ่าน ซึ่งตัวเราเองต้องตัดสินใจว่าเราต้องการแบบไหน การตัดสินใจสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราวางแผนในการเตรียมตัวได้ชัดเจนมากขึ้น

3.) ศึกษา “ข้อสอบ” และ “การตอบ”

ข้อนี้การตอบข้อสอบกฎหมายจะชัดเจน เพราะการตอบข้อสอบกฎหมายจะเป็นอัตนัยทั้งหมด โจทย์ยาวและซับซ้อน การตอบต้องตรงประเด็น ในชั้นเนติบัณฑิตและระดับผู้ช่วยพิพากษา ต้องแม่นในตัวบทกฎหมาย และคำพิพากษาฎีกา ที่สำคัญเวลาในการสอบก็จำกัด เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาลักษณะของ “ข้อสอบ” สังเกตการตั้งคำถาม และรู้ว่าเขาถามอะไร เพื่อจะได้ตอบให้ตรงตำถาม ที่สำคัญคือการตอบ วิธีการตอบให้ดี เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ฝึก ฝึกและฝึก จนสามารถสังเคราะห์คำตอบที่ออกมาจากการเขียนสไตล์ของตัวเองให้ได้ ซึ่งข้อนี้คนที่สอบได้คะแนนดี จะฝึกจนชินในการใช้ภาษา แล้วทำให้มีเวลาในการไป Focus กับประเด็นที่ต้องตอบ เพราะวิธีการหรือรูปแบบการตอบ เราได้ฝึกมาแล้ว

4.) ศึกษา “กฎระเบียบ” ใน “วันสอบ” “สนามสอบ” ให้ละเอียดและแม่นยำ

เรื่องนี้ เพื่อบริหารเวลาและสถานการณ์ในห้องสอบให้ราบรื่น และทำให้เราไม่ตื่นสนามสอบหากมีความเข้าใจในกระบวนการ ขั้นตอน กฎระเบียบใน “วันสอบ” ทั้งหมด ข้อนี้ผู้เขียนให้ความสำคัญมาก !! ถามว่าทำไม ? ก็เพราะผู้เขียนไม่ใช่ผู้ที่เลิศทางวิชาการ แต่ผู้เขียนตั้งเป้าว่าต้องสอบผ่าน ซึ่งการสอบให้ได้คะแนน ก็ต้องทำข้อสอบให้ได้มาก และทันเวลาด้วย ! การบริหารเวลาและสถานการณ์ในห้องสอบจึงสำคัญ

ผู้เขียนขอแบ่งปันประสบการณ์ครั้งที่ผู้เขียนสอบในระดับชั้นเนติบัณฑิตและการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาก็แล้วกัน

ผู้เขียนก็จะต้องรู้ว่าสนามสอบอยู่ที่ไหน ใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปสนามสอบเท่าไหร่ เดินทางอย่างไร เผื่อให้ทันเวลา จะขับรถหรือนั่งรถโดยสารสาธารณะ ผู้เขียนรู้ว่าการเดินทางในกรุงเทพมหานครนั้นรถติด หากผู้เขียนขับรถไปก็จะทำให้เสียเวลาในการท่องหนังสือ ในวันสอบทุกครั้งผู้เขียนก็จะให้คุณพ่อไปส่งบ้าง หรือนั่งรถโดยสารสาธารณะบ้าง เพื่อจะได้มีเวลาทวนก่อนเข้าห้องสอบ

-การบริหารเวลาในการทำข้อสอบเนติบัณฑิต

เนื่องจากว่าในแต่ละวิชาผ่านเกณฑ์ 50 คะแนน ผู้เขียน “ตัดสินใจ” แล้วว่าจะเอาแค่ผ่านเกณฑ์ ข้อสอบมี 10 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน ผู้เขียนใช้วิธีเลือกมา 4 ข้อแม่น หมายถึงว่า 4 ข้อนี้ผู้เขียนต้องได้ 7 คะแนนขึ้นไป เพื่อจะได้เน้นการอ่านเตรียมตัวสอบให้จำกัดขึ้น เพราะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย 7 คูณ 4 ได้ 28 คะแนน / 50 - 28 เหลือ 22 คะแนนก็จะผ่าน เพราะฉะนั้น 6 ข้อที่เหลือก็ข้อให้ได้ข้อละ 3 - 4 คะแนนก็พอ และห้ามมีข้อที่ได้ 0 คะแนน ซึ่งหมายความว่า ต้องเขียนทุกข้อ เขียนอะไรได้ก็เขียนพอให้มีคะแนน

นอกจากนี้เวลาในการทำข้อสอบนั้นมีจำกัดมาก ตกข้อละ 24 นาที แต่ผู้เขียนให้เวลาข้อละ 20 นาทีเท่านั้น หากยังเขียนตอบไม่เสร็จก็เปลี่ยนข้อทันที แล้วค่อยมาเก็บตกประเด็นที่เหลือ เพราะอย่าลืมว่าทุกข้อคะแนนเท่ากันคือ 10 คะแนน หากข้อนึงได้่ 10 อีกข้อนึงได้ 0 ก็ไม่คุ้มค่ะ ทำให้ข้อนึงได้ 6 แล้วอีกข้อได้ 5 รวมกันก็ยังได้ 11 คะแนน และอาจได้มากกว่านั้นอีก

ไม่เพียงเท่านั้น การจัดการตัวเองในการทำธุระส่วนตัวก็สำคัญเช่นกัน ในห้องสอบจะเปิดแอร์เย็นมากและจะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย การเตรียมเสื้อกันหนาวมาเผื่อเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเสียเวลาเข้าห้องน้ำอยู่นั่นแหละ เสียเวลาทำข้อสอบไปอีก หรือหากสนามสอบไหนมีให้พักเบรกเข้าห้องน้ำ ก็ต้องประเมินดีๆ ว่าช่วงพักเบรกเราจะเข้าห้องน้ำทันหรือไม่ ซึ่งในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้เขียนประเมินแล้วว่าใน 1 ฮอล์สอบ คนสอบเป็นพันคนและห้องน้ำมีน้อย ช่วงพักเบรกเข้าห้องน้ำก็สั้นเหลือเกิน ต้องต่อแถวเข้าห้องน้ำ คงไม่ทันแน่นอน ผู้เขียนจึงเตรียมแพมเพิสผู้ใหญ่พกติดไปเลยเผื่อฉุกเฉิน ! แม้เรื่องจริงจะไม่ได้ใช้ แต่ก็อุ่นใจขึ้นเยอะ หรือแม้กระทั่งเรื่องจำนวนปากกา ดินสอ นาฬิกา บัตรสอบที่ต้องพกเข้าไป รายละเอียดพวกนี้ หากสามารถเตรียมตัวได้ไม่ติดขัด ก็จะทำให้การทำข้อสอบของเราราบรื่นขึ้นไม่มากก็น้อย

5.)นอนให้พอ ผ่อนคลาย มั่นใจในตัวเองก่อนลงสู่สนามจริง

ไม่มีวันไหนสำคัญเท่าวันสอบจริง ต่อให้เตรียมตัวมาดีแค่ไหน แต่วันสอบจริงสมองเบลอเพราะนอนไม่พอหรืออยู่ในภาวะเครียดจนคิดคำตอบไม่ออก ก็น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นจงมั่นใจในตัวเองให้มาก เพราะที่ผ่านมาเราก็เตรียมตัวดีที่สุดในเวลาที่มีแล้ว หากสอบครั้งนี้ไม่ผ่าน ก็เป็นบทเรียนในครั้งหน้า จะได้แก้ไขอย่างถูกทาง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเคล็ดลับส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง แบ่งปันในฐานะผู้ที่เคยเป็น “สิงห์บ้างแมวบ้าง” ในสนามสอบ ผู้เขียนไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่เมื่อต้องสอบเมื่อไหร่ผู้เขียนก็เต็มที่และมีพลังสนุกไปกับมันอยู่เสมอ ขอให้ “สิงห์สนามสอบ” ทุกท่านโชคดีในการสอบของท่านนะคะ


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of content editor THE STUDY TIMES


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top