ไม่ว่าจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากมายแค่ไหน รักกันมากเพียงใด ถ้าไม่รู้จักการสื่อสารภาษารักที่ดีต่อกัน ความรักก็อาจเหือดแห้งหายไปได้ในที่สุด

คุณเคยมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักบ้างไหม?

บ่อยครั้งที่เราอาจรู้สึกว่า เราไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ความรัก หรือการให้ความสนใจเท่าที่ควร ในขณะที่คนที่รักเรา เขายังบอกว่ารู้สึกเป็นห่วง ใส่ใจ และต้องการดูแลเราอยู่ปกติ แต่ทำไมเราจึงรู้สึกตรงกันข้าม สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการใช้ภาษาในการสื่อสารความรักที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากมายแค่ไหน รักกันมากเพียงใด ถ้าไม่รู้จักการสื่อสารภาษารักที่ดีต่อกัน ความรักคุณอาจจะเหือดแห้งหายไปได้ในที่สุด

ภาษารัก คือ การเรียนรู้ในการแสดงความรู้สึกผ่านคำพูดและการแสดงออก เพื่อให้คนรักค่อย ๆ เดินทางเข้ามาหาเราทีละเล็กทีละน้อย ในทางจิตวิทยาได้กล่าวไว้ว่า การครองใจคน “เกิดขึ้นในขณะที่คนรักอยู่กับเราแล้วเขาและเธอรู้สึกมีคุณค่าในขณะที่อยู่กับเรา”

ระหว่างคนสองคนเมื่ออยู่ด้วยกันแล้วสามารถทำให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงคุณค่าในตัวเอง เป็นวิธีในการแสดงออกความรู้สึกรักที่แต่ละคนได้มีการเรียนรู้ ความชอบ รสนิยม ความเป็นตัวตน ซึ่งแตกต่างกันออกไป เพื่อที่จะแสดงความรู้สึกรัก การยอมรับ และการใส่ใจ โดยในการแสดงออกถึงความรักนั้นมีอยู่เพียง 5 วิธีเท่านั้น คือ

1.) การดูแลและทำเรื่องดี ๆ ให้กับคนรัก

เป็นการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ถือเป็นภาระหน้าที่ เช่น

• การช่วยเหลือเรื่องงาน

• การทำอาหารให้ทาน

• การช่วยขับรถให้

• การช่วยทำความสะอาด

• การซื้อเสื้อผ้าเครื่องประดับให้

• การช่วยถือกระเป๋า

• การให้ความสะดวกสบาย

• การดูแลเอาใจใส่ ห่วงใย

• การช่วยเป็นธุระให้

• การให้ความสำคัญ

• ฯลฯ

2.) คำพูดที่ดีต่อใจ

คือภาษารักที่สื่อสารผ่านถ้อยคำ คำพูด รวมทั้งการส่งข้อความ message ด้วย คำพูดที่เติมเต็ม (Word of Affirmation) ไม่ได้มีแต่การบอกรักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพูดในเรื่องที่สร้างความสุขให้กับคนที่รัก ให้คุณค่ากับคนที่รักด้วย เช่น

• การพูดขอบคุณ

• การพูดคำชื่นชม

• การพูดบอกรัก

• การพูดให้กำลังใจ

• การพูดให้รู้สึกสบายใจ

• การพูดให้เกียรติ

• การเคารพ

คำพูดที่เติมเต็มให้กันและกัน แม้นไม่ใช่คำพูดบอกรักกันอย่างตรงไปตรงมา และเป็นคำพูดที่อาจสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งคนเราจะมีมุมมอง ความคิดที่แตกต่างกันออกไป หากใช้คำพูดที่เติมเต็มหัวใจ การให้กำลังใจ หรือการชื่นชม ในเรื่องที่ไม่ถูกใจเรา หรือ เป็นเรื่องที่คนรักอาจไม่เคยให้คุณค่ามาก่อน อาจทำให้คนรักไม่ได้รู้สึกดี ไม่ได้รู้สึกถึงความเอาใจใส่แต่อย่างใด หรือในบางครั้งอาจถึงขั้นเกิดการทะเลาะกันก็เป็นได้

3.) การสัมผัส

เมื่อมนุษย์มีการสัมผัสกัน สมองจะหลั่งฮอร์โมนเช่นออกซิโทซิน (Oxycontin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความเกี่ยวข้องกับความรักออกมาทำให้เกิดความรู้สึก

การสัมผัส (Physical Touch) เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกที่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่ารัก ผ่านการสัมผัสของแม่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลายอย่าง เช่น

• การจับมือ

• การกอด

• การโอบ

• การจูบ

• การแตะ

• การใกล้ชิด

• การมองตา

กิริยาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของการแสดงออกความรักทั้งสิ้น

4.) การให้ของขวัญพิเศษแก่คนรัก

การให้ของขวัญในวันพิเศษ การให้ช่อดอกไม้ในวันแห่งความรัก การทำเซอร์ไพรส์ เราจะเห็นคนรักแสดงออกต่อกันในรูปแบบนี้บ่อยๆ ศิลปินดารา นักร้อง คนมีชื่อเสียง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ยาวนาน ของขวัญถูกออกแบบไว้เพื่อทำให้แสดงออกถึงความรัก นั่นเอง

ของขวัญที่ให้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีราคาแพงหรือหรูหรา แต่มันอาจเต็มไปด้วยความหมาย หรืออาจเป็นบางอย่างที่ธรรมดา เช่น ของทำเอง เป็นการแสดงความตั้งใจทำให้คนรัก สื่อออกมาว่านี่คือความพิเศษสำหรับคนรักจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถทำให้เติมเต็มได้เป็นอย่างดี

5.) การมีเวลาคุณภาพร่วมกัน

เวลาคุณภาพร่วมกัน (Quality Time) เป็นภาษารักที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน มีความสนใจคล้าย ๆ กัน โดยไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอยู่ร่วมกันทางกายภาพอย่างเดียว แต่สามารถร่วมกิจกรรมกันได้หลาย ๆ ทาง เช่น

• การพูดคุยกัน

• การดูโทรทัศน์ ดูหนังด้วยกัน

• เล่นกีฬาร่วมกัน

• ทำการกุศลร่วมกัน

• การเล่นเกมส์ร่วมกัน

• การทำอาหารด้วยกัน

• การท่องเที่ยวด้วยกัน

• การเดินป่าด้วยกัน

• การดำน้ำด้วยกัน

• การตกปลาร่วมกัน

หากคุณได้ใช้เวลาร่วมกันโดยที่ไม่อยากให้มีอะไรมาแทรก ให้ความสนใจกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมอะไร สิ่งเหล่านี้คือการได้ใช้เวลาคุณภาพที่มีร่วมกันแล้ว

คุณลองพิจารณาตัวเอง เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ภาษารักแบบใด และลองสังเกตว่าคนรักของคุณมีแนวโน้มที่จะชอบใช้ภาษารักแบบไหนใน 5 แบบนี้

คุณอาจประหลาดใจว่า คนรักของคุณสามารถแสดงออกถึงความรักในรูปแบบของเขามากขึ้นจนเป็นที่พอใจ

นอกจากนี้คุณจะสามารถเข้าใจความห่วงใยของแต่ละคนที่ส่งมาให้คุณได้มากขึ้น และค่อยๆ ปรับความเข้าใจ เพื่อเข้าหากันได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://www.focusonthefamily.com/marriage/understanding-the-five-love-languages/

https://www.5lovelanguages.com/5-love-languages/

https://cratedwithlove.com/blog/five-love-languages-and-what-they-mean/