เรื่องที่คนเก่งควรรู้ ก่อนตกหลุมพราง ฝึกเข้าใจคน พื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้มีแต่คน อยากเป็นคนรวย อยากเป็นคนเก่ง และอยากเป็นคนประสบความสำเร็จ แต่น้อยนักที่จะมีคน อยากเป็นคนที่เข้าใจคน แปลกไหม ทั้งๆ ที่การเข้าใจคน คือพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ศาสตร์ของการพัฒนาคนมีให้ศึกษาอยู่ทั่วไป แต่ละแนวคิดมีปรัชญาที่น่าสนใจแตกต่างกันไป สำหรับผู้เขียนไปสะดุดหูกับปรัชญา “ขงจื้อ” ซึ่งเน้นในเรื่องการเข้าใจคน โดยใช้คุณธรรมนำชีวิต มาเป็นแก่นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตแบบยั่งยืน

ขงจื้อ ได้กล่าวไว้ว่า วิกฤตชีวิตเกิดขั้น 4 ช่วง ถ้าใครรู้เรื่องนี้จะเข้าใจชีวิตและบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาด ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

• ช่วงแรก - ช่วงวัยรุ่น อายุ 13-25 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมไม่หมกมุ่นเรื่องกามารมณ์

ช่วงนี้เป็นช่วงฮอร์โมน กำลังพลุ่งพล่าน เสี่ยงต่อการหลงผิด คิดผิด พูดผิด ทำผิด ถ้ารู้ไม่เท่าทันก็อาจถูกกระแสสังคมชักจูงได้ง่าย เช่น คิดว่าการเสพยาเสพติดเป็นเรื่องเท่ การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนเป็นเรื่องธรรมดา หรือมีความคิดว่าการทำเรื่องผิดศีลธรรมได้เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ทำกัน ต้องคอยระมัดระวังในการคบเพื่อน และการเสพสื่อต่างๆ ควรคัดกรองให้ดีเสียก่อน

• ช่วงที่สอง - ช่วงวัยทำงาน อายุ 25 - 40 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับผู้อื่น

ช่วงนี้เป็นช่วงความคิดกำลังพลุ่งพล่าน มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใช้ศักยภาพที่มี มุ่งสู่เป้าหมายในชีวิต มีความทะเยอทะยาน อยากได้อยากมีสูง เสี่ยงต่อการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว ทำให้มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น และอาจนำไปสู่ความหลงผิดคิดสบายทางลัด คิดกลโกง การแย่งชิงในรูปแบบต่าง ๆ ทิฐิมานะ กิเลส ตัณหา ความโกรธ เข้ามาในชีวิตได้ง่าย พยายามคิดบวก รักษาศีล ฝึกสมาธิ รักษาใจให้ดีเข้าไว้ อย่าให้ไหลไปกับอารมณ์และความคิดลบ

• ช่วงที่สาม - ช่วงวัยกลางคน อายุ 40 - 55 ปี

คนที่ฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมสามารถสร้างความสำเร็จในอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องพัฒนาตัวเอง ทุกมิติ ใช้สติและความรอบคอบ ใช้การบริหารจัดการเชิงระบบ ทบทวนตัวเอง เพื่อการแก้ไขข้อผิดพลาด มุ่งเรื่องการสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว เพื่อให้สังคมยอมรับ เมื่อทำงานหนัก ก็จะเกิดความเครียด จึงเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล เช่น อาจทำงานจนลืมสุขภาพ ทำงานจนลืมครอบครัว ทำงานจนลืมสังคมเพื่อนฝูง มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ช่วงนี้จึงต้องใส่ใจสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ เรื่องงานกับครอบครัวให้สมดุลควบคู่ไปด้วย

จากสถิติ ช่วงวัยนี้จะมีปัญหาสุขภาพจิต และนำไปสู่การนอกใจ และมีปัญหาหย่าร้างมากที่สุด ผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง ส่วนผู้ชายก็เข้าสู่การแปรปรวนทางอารณ์ ทั้งคู่จึงตกอยู่ในสภาวะ “วิกฤตวัยกลางคน” ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็หาทางออกแบบผิดๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ

• ช่วงที่สี่ - ช่วงสูงวัย อายุ 55 ปีขึ้นไป

คนที่ฝึกจิตมาดี ย่อมเป็นที่เคารพนับถือ สามารถรักษาทรัพย์ที่หามาได้ และส่งต่อให้แก่ลูกหลาน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ปล่อย ๆ วาง ๆ ใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน วางตัวควรค่าต่อการเคารพนับถือ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตแก่ลูกหลาน ช่วยเหลือ ให้แง่คิดมุมมองที่ดี

“ขงจื้อ” ได้กล่าวไว้ว่า ไม่ต้องกังวลว่าใครจะไม่เคารพนับถือเรา แต่ให้หันมาดูในสิ่งที่เรากำลังทำ ว่าควรค่าต่อการเคารพนับถือหรือไม่ ช่วงนี้ก็พยายามทำใจ ลดละเลิก ปล่อยวาง ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย คบเพื่อนให้น้อยลง เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข ที่สำคัญความสุขของเราต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

จะเห็นได้ว่าการฝึกจิตให้นิ่ง มีสติ จะช่วยให้เราสามารถ ใช้ความรู้คู่คุณธรรม นำชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนได้

แต่ให้เข้าใจตรงกันนะคะว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การศึกษาระดับไหน ยากดีมีจนเพียงใด ฝึกจิตมาดีแค่ไหน ก็มีสิทธิทำผิดพลาดกันทุกคน “เมื่อทำผิดพลาดก็ให้แก้ไขอย่าแก้ตัว” และ เมื่อมีการทำผิดครั้งต่อไป อนุญาตให้ผิดเรื่องใหม่ได้ แต่ห้ามทำผิดซ้ำเรื่องเดิม จะถือว่าเราไม่พัฒนา

ข่าวดีก็คือ ทุกคนสามารถสร้างความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้เท่าเทียมกัน ด้วยการฝึกจิต

3 วิธีง่ายต่อการฝึกจิต

1.) ตั้งเป้าหมายชีวิต ในการรักษาศีล 5 อย่างตั้งใจ

2.) เป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ทำ 3 สิ่งนี้ด้วยหัวใจ

3.) ฝึกนั่งสมาธิ ให้จิตตื่นรู้ ทุกวัน

เห็นไหมคะ การใช้ชีวิตให้ดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ จงเริ่มต้นจากการเข้าใจคนค่ะ

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: http://www.ci.au.edu/th/index.php/about/2015-08-24-11-58-20