Monday, 20 January 2025
POLITICS

แจ้งจับ 'ฮาร์ท-สุทธิพงศ์' เข้าข่ายผิด ม.112 หลังเจตนาโพสต์ พาดพิงสถาบันชัด

ที่สน.นางเลิ้ง นายอภิวัฒน์ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมนายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และทนายความนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อธิชย์ดอนนันชัย รองผกก. (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เพื่อแจ้งความในคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 แก่นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือฮาร์ท นักร้องชื่อดัง พร้อมนำเอกสารหลักฐานข้อความการโพสต์มามอบให้พนักงานสอบสวน โดยมีพ.ต.อ.ภูมิยศ เหล็กกล้าผกก.สน.นางเลิ้ง ลงมารับเอกสารหลักฐานด้วยตนเอง

นายอภิวัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อตรวจสอบจากโพสต์ของนายสุทธิพงศ์ แม้มีการเขียนว่า คัดลอกข้อความจากบุคคลอื่นมาอีกต่อหนึ่งนั้น แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่า หลายโพสต์หลายข้อความทั้งของต้นทาง และของนายสุทธิพงศ์เอง ที่ระบุว่า “เจ้านาย” นั้น เข้าข่ายมีเจตนาทำให้คนเข้าใจผิด พาดพิงไปถึงสถาบัน แม้ว่าจะอ้างว่าก๊อปปี้ข้อความมาจากคนอื่น แต่เมื่อดูก็พบว่ามีการพูดถึงในลักษณะนี้หลายครั้ง จึงเห็นว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลบิดเบือนและเข้าใจสถาบันในทางที่ผิด

พ.ต.อ.ภูมิยศ กล่าวว่า เบื้องต้นรับเรื่องไว้พร้อมจะพิจารณาหลักฐานว่าเข้าข่ายตามที่ผู้แจ้งไว้หรือไม่ รวมถึงจะเรียกนายสุทธิพงศ์ มาให้ปากคำอีกด้วยรวมถึงคนโพสต์คนแรกที่นายสุทธิพงศ์ได้แชร์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายต่อไป


ที่มา: https://mgronline.com/crime/detail/9640000046026

'ณัฐชา-ก้าวไกล' ติง!! สองบิ๊กตำรวจ 'เบรกแย่งซีน' โชว์ผลงานอวดนาย แนะ!! เดินหน้าทำเพื่อประชาชนด้วยความจริงใจดีกว่า

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสข่าวความขัดแย้งของสองอดีตนายตำรวจชื่อดัง คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่คสช.แต่งตั้ง กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นแคนดิเดตเตรียมลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า...

ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ท่านทั้งสองคนจะมาทำคะแนน เพื่อจะเป็นแคนดิเดตผู้ว่ากทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ จนกลายเป็นภาพความขัดแย้งที่คนเห็นไปทั่ว

การลงไปอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนคลองเตย ควรเป็นภาพของการช่วยกันทำงานไม่ใช่แย่งกันเพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้หลักผู้ใหญ่

สนามเลือกตั้ง กทม.อาจเป็นความหวังของทั้งสองท่านที่จะได้มีอำนาจมีพื้นที่ทางการเมืองต่อไป แต่ไม่ว่าการหาเสียงโดยใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วเคลมผลงานประจบนายหรือการทะเลาะกันโชว์ประชาชนทั้งที่ทุกคนกำลังลำบากแบบนี้เป็นความน่าเกลียดไร้กาละเทศะ

ยิ่งทั้งสองต่างเป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จบสถาบันเดียวกันมาก่อน เมื่อมาห้ำหั่นกันแบบนี้ ก็เกรงว่าจะมีการใช้ลูกน้องเก่าเป็นมือไม้ทางการเมือง สร้างความลำบากใจและอาจเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีวงการตำรวจด้วย

"การทำงานในพื้นที่ช่วงสถานการณ์วิกฤต ประชาชนควรเป็นเป้าหมายหลักมิใช่การแย่งกันเพื่อสร้างราคาให้ตัวเอง อีกทั้งอย่าพยามจะชักชวนว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคอื่นเข้าร่วมกับตน เพราะเขาไม่ไปเลยมาฟ้อง จะบอกซึ่งหน้าก็ยังไว้หน้าท่านอยู่ แต่เขาฝากมาบอกว่า หากท่านต้องการการยอมรับจากพี่น้องประชาชนสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือมารยาททางการเมือง" โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว

“บิ๊กตู่” แจงเตรียมแผน walk in เดือนมิ.ย. ขอ ปชช. อย่าเพิ่งรีบแห่เข้ามา มั่นใจทุกคนได้ฉีดแน่ รับกังวลร้านอาหาร-ภาคบริการตกงาน ลั่นแอสตราเซเนกาไม่มีสะดุด มิ.ย. มาแน่ ทั้งเคลียร์ปมขัดแย้ง รพ.สนามหมอเหรียญทอง ชี้! เปิดได้เพียงยึดหลักเกณฑ์

ที่สามย่าน มิตรทาวน์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า นี่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่ต้องร่วมกันทั้งหมด ร่วมกันทำในสิ่งที่ดี ๆ และต้องมีกติกาที่เป็นมาตรการกลางที่ต้องปฏิบัติ วันนี้เป็นที่น่ายินดีที่เราเพิ่มมา 14 จุดและจะขยายได้ถึง 25 จุดในระยะต่อไปในเรื่องของสถานให้บริการเช่นนี้ โดยขึ้นอยู่กับวัคซีนที่มาเพราะต่อให้มี 100 จุดถ้าวัคซีนไม่พอก็เปิดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เดือนมิ.ย. ก็จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมอีก สำหรับการให้บริการวันนี้เป็นกลุ่มที่ได้ระบุไว้ข้างต้นแล้วในการจัดลำดับความเร่งด่วนของวัคซีน แต่ในส่วนที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องหาวิธีการบริหารให้ได้ 

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น ย้ำว่าต้องดูแลทั้งหมด โดยเฉพาะวันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะเป็นแหล่งจ้างงานแรงงานและมีผลิตภัณฑ์ส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ จึงต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดในโรงงานต่าง ๆ โดยต้องขอบคุณเจ้าของโรงงานที่มีมาตรการป้องกันที่เข้มแข็ง แต่ทุกที่วันนี้มีโอกาสเสี่ยงหมด ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด เมื่อเกิดแล้วเราต้องแก้ปัญหากันต่อไปด้วยความร่วมมือของทุกคน 

"วันนี้เรื่อง walk in ก็ได้ให้ กรุงเทพฯ และกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงให้ชัดเจนแล้ว ไม่เช่นนั้นจะไม่เข้าใจกัน ซึ่งเป็นการเตรียมการไว้สำหรับเดือน มิ.ย. ถ้าวัคซีนเพียงพอก็ได้เตรียมการส่วนนี้ไว้ แต่เมื่อเข้ามาก็ต้องรวมในระบบหมอพร้อม เดี๋ยวจะไม่เข้าใจมากันเต็มไปหมดแล้วไม่ได้ฉีด ซึ่งก็มีหลายคนก็เอารูปนายกฯ ไปใส่นู้นนี่ นายกก็โดนเละไปหมดเหมือนกัน คือจริง ๆ แล้วบางทีต้องฟังทางหมอและดูให้ละเอียด บางทีไปย่อในโซเชียลก็คือปัญหา ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง วันนี้ยืนยันว่า รัฐบาลมีแผนงานในการเปิดให้เดินเข้ามาแล้วฉีด ถ้าวัคซีนเพียงพอ ซึ่งในแต่ละวันเราก็มีสำรองไว้บ้างอาจจะเหลือบ้างคนที่ไม่มา แต่ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าทุกคนได้ฉีดแน่จะช้าจะเร็วก็อาจมีบ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันวันนี้ที่กังวลที่สุดคือ เรื่องของร้านอาหารภาคบริการที่จะตกงานกัน เพราะรายได้ลดลง ดังนั้นต้องดูทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานโรงงาน ผู้ให้บริการสาธารณะ รถเมล์ มอเตอร์ไซค์ แกร็ปและแทกซี่ ทั้งหมด ที่จะเติมกลุ่มเหล่านี้ไปตามลำดับความเสี่ยงในขณะนี้ โดยจะดูแลอย่างใกล้ชิดที่สุด

เมื่อถามว่า ในส่วนของจังหวัดมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดฉีดวัคซีนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ร่วมกับสสจ.จังหวัด และมีคณะแพทย์ของสาธารณสุขอยู่แล้ว ซึ่งต้องเข้าใจคำว่าแผน และมาตรการ ถ้ามีอะไรต้องปรับเปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ อยากให้สับสนอลหม่านไปกว่านี้เลย เพราะนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประกาศวาระแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายและนำให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ อย่างไรก็ตามวันนี้เป็นกังวลกับเฟกนิวส์ที่มีอยู่เยอะแยะไปหมด ขอร้องอย่าแพร่กันต่อเลย แล้วก็นำไปเป็นประเด็น ซึ่งห้ามไม่ได้ แต่ทุกคนต้องถือว่าวันนี้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นวาระที่เราต้องรักสามัคคีและร่วมมือกันให้มากที่สุด

เมื่อถามถึงระบบหมอพร้อม ว่าขณะนี้ยังมีปัญหาอยู่หรือไม่และจะพิจารณาใช้ระบบอื่นแทนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบวันนี้ไม่มี แต่ทุกอย่างก็มีปัญหา อะไรที่ไม่เคยทำแล้วทำก็มีปัญหาหมด โดยเฉพาะเรื่องทางเทคนิค วันนี้จำเป็นต้องเร่งรัดในระยะแรกที่มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ต้องแก้ไป เพราะระบบเช่นนี้ยังไม่เคยทำในประเทศไทยมาก่อน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเราและเตรียมความพร้อมมาหลายปีถึงมีวันนี้ ถ้าเราไม่เริ่มมาหลายปีก่อนในเรื่องดิจิตอล ออนไลน์ 5G และ 4G ก็จะทำวันนี้ไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่เกิดในประเทศไทยมาแล้ว แต่บางทีเราไม่รู้ตัวเมื่ออยากจะใช้ แต่ยังติดขัดอยู่ก็ต้องเห็นใจกันบ้าง ตนก็เห็นใจประชาชน ซึ่งไม่มีอะไรจะ 100% เราอยากให้ถึงร้อยแต่ยังไม่ถึงก็ต้องแก้กันไป ตนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะเข้ามาเดือนมิ.ย. ยังไม่มีอะไรสะดุดใช่หรือไม่ ซึ่งนายอนุทิน ที่ยืนข้าง ๆ ได้กล่าวตอบแทนทันทีว่า "ไม่มีสะดุดครับ" ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะสะดุดอะไร นายอนุทิน ยืนยันไม่มีสะดุด เราพูดคุยเจรจาได้และขอให้ส่งตามที่สัญญาเอาไว้ ยืนยันวันนี้ยังไม่หยุดหาวัคซีนอื่นและไม่ปิดกั้นใคร แต่ก็มีการไปพูดกันให้เสียหาย ซึ่งใครมีผลประโยชน์เรื่องนี้ ตนยืนยันจะต้องลงโทษเต็มที่อยู่แล้ว ต้องไม่มีใครได้รับผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น แต่คนได้รับประโยชน์คือประชาชน

นายกฯ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนี้ตนได้ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยและได้ตอบคำถามว่าเราจะเดินหน้าประเทศอย่างไรหลังโควิด พร้อมลดปัญหาอุปสรรค ความขัดแย้ง ดึงนักลงทุนเข้ามาและเปิดการท่องเที่ยว ตนคิดว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเบาบางลงประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน ถ้าเราช่วยกันตอนนี้ ดังนั้นเราอย่าทำลายกันตอนนี้ เพราะโอกาสจะหายไปเรื่อย ๆ เราต้องไม่ทำลายประเทศชาติของเรา และความเป็นหนึ่งเดียวของเราต้องไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งนายกฯ โทษใครไม่ได้ แต่กำกับดูแลและบริหารได้

เมื่อถามถึง ความขัดแย้งระหว่างนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ และนพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลพระมงกุฎวัฒนะ ในเรื่องการจัดตั้งรพ.สนามพลังแผ่นดิน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรียบร้อยแล้ว คุยกันแล้ว อย่าเอาไปเป็นประเด็นมากนักเลย ไม่ใช่ไม่ทราบ ตนทราบและได้สั่งการไปแล้ว ขณะที่หัวหน้าพรรคก็เรียกจัดการไปแล้ว 

เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วยังให้มีการเปิดใช้รพ.สนามพลังแผ่นดินได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เขาก็ดูแลอยู่แล้วนิ เปิดให้บริการได้แล้วไม่ใช่เหรอ เพราะมันเป็นวาระฉุกเฉินไม่ต้องขออนุญาตอะไรหรอก เพียงแต่ทำให้เข้ากติกาหลักเกณฑ์ก็เปิดได้ ดังนั้นอาจจะมีคนไม่เข้าใจไปขัดแย้งอะไรก็ว่ากันไป อย่านำเป็นประเด็นนักเลย” นายกฯ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายกับสื่อมวลชนว่า "ดีใจได้เจอพวกเราทุกคน คิดถึงอยู่เหมือนกัน"

‘อธิบดีกรมการแพทย์’ แจง สร้างเตียงไอซียู 7 วัน ไร้ปัญหา รับหาบุคลากรดูแลยากกว่า ชี้ หากติดวันละพันคน ต้องมี 33 เตียงรองรับ วอน ปชช. ป้องกัน ช่วยลดเคสป่วยหนัก

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังแถลงศบค. ถึงการสร้างห้องไอซียูโควิด ส่วนต่อขยายแบบเบ็ดเสร็จภายใน 7 วัน ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจกว่า 400 คน และช่วงนี้การรับจะตึงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่มีคลัสเตอร์ ไซต์ก่อสร้าง ชุมชนคลองเตย และติดเชื้อในเรือนจำ 

ดังนั้นอยากให้กระบวนการค้นหาเชิงรุก แยกกลุ่ม แยกผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชนโดยเร็ว เพราะคนไข้ตกค้างในชุมชนบางครั้ง 3-4 วันกว่าจะเจอหมอ ทำให้ผู้ป่วยสีเขียวที่รอเวลา เป็นสีเหลือง และเวลานี้ผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในหนึ่งสัปดาห์

นพ.ธีรพล กล่าวว่า หากมีคนไข้วันละ 1,000 คน จะต้องใช้เตียงเพิ่มวันละ 33 เตียง หรือประมาณ 3% ซึ่งทางภาครัฐและเอกชน มีประมาณ 100 กว่าเตียง ถ้าไม่มีคนไข้ออกจะมีเตียงรองรับ 5 วันเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังมีขยับเข้าออก ถ้าคนไข้ใหม่ไม่เยอะจำนวนเตียง 33 เตียง ก็จะลดลงไปด้วย ยอมรับว่ากรมการแพทย์ไม่สบายใจ และเตรียมการขยายเตียงไอซียูโดยร่วมกับ SCG สร้างห้องไอซียูภายใน 7 วันจำนวน 10 เตียง เรื่องการสร้างเตียงไม่ยากแต่ที่ยากมีปัญหาคือการเตรียมคนมาดูแล ซึ้งจะหารือกับโรงเรียนแพทย์ที่จะหมุนเวียนบุคลากร และฝึกพยาบาลเข้ามาดูแล 

ทั้งนี้การเพิ่มเตียง ในรพ.ราชวิถีสร้างเพิ่ม 10 เตียง และตั้งเป้าไว้จะขยายได้ถึง 30 โดยดูตามสถานการณ์ และเตรียมไว้ที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ซึ่งใช้วอดเก่ามาดัดแปลงใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วย และจะนำพยาบาลมาเทรนสำหรับดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ แพทย์และพยาบาลยินดีทำงานเต็มที่ แต่ประชาชนก็ต้องช่วยกันป้องกัน เพราะถ้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือ 500 คนต่อวัน คนไข้อาการหนักจะลดลงไปได้และแพทย์ก็จะดูแลประชาชนได้เต็มที่

รมว.พม.-ประธานรัฐสภา ร่วมลงพื้นที่ จ.นนทบุรี มอบหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น ให้กลุ่มเปราะบาง กำชับช่วยกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ลงทะเบียนออนไลน์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายใน 20 พ.ค. นี้

เมื่อวันนี้ 13 พฤษภาคม 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี เพื่อมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 10,000 ชิ้น จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม ให้กับจังหวัดนนทบุรี โดยมีนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบางและประชาชนในพื้นที่สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

นายจุติ กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับทีม One Home พม. นนทบุรี โดยได้ให้แนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ การลงทะเบียนออนไลน์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ เช่น คนพิการกลุ่มออทิสติก ผู้บกพร่องทางสติปัญญา การเรียนรู้ ดาวน์ซินโดรม และสมาธิสั้น รวมทั้งสมาชิกครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดียวกัน ระหว่างวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2564 นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ณ สถาบันราชานุกูล เขตดินแดง กรุงเทพฯ 

ซึ่งตนได้กำชับให้หน่วยงานของกระทรวง พม. ที่ดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าวทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ เพื่อสำรวจว่ามีจำนวนคนเท่าไหร่ และได้มีการลงทะเบียนมากน้อยเพียงใด แล้วลงพื้นที่รายครอบครัวเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อสนับสนุนให้มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีนมากที่สุด เนื่องจากมีความห่วงใยในความปลอดภัยของกลุ่มบุคคลนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อีกทั้งเน้นย้ำให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ครอบครัวที่มีกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเข้มงวด ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนว่า “การ์ดอย่าตก” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่  

นายจุติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีจำนวนลดน้อยลงในภาะวิกฤตโควิด-19 ตนได้กำชับให้แต่ละหน่วยงานเร่งสำรวจสิ่งของบริจาคว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีสิ่งของอะไรบ้างที่ขาดแคลนและต้องการเร่งด่วน เพื่อจะได้เห็นภาพรวมทั้งหมด จากนั้นจะได้ประชาสัมพันธ์การรับบริจาคผ่านศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบางในหน่วยงานทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ สามารถบริจาคสิ่งของที่จำเป็นได้ที่ ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกณม กรุงเทพฯ หรือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

"บิ๊กป๊อก" สั่งการผู้ว่าฯ คุมเข้มโควิด เร่งกระจายฉีดวัคซีน ปชช.ให้ทั่วถึงหลังวัคซีนเข้าเพิ่มช่วง มิ.ย. สกัดต่างด้าวเข้าเมืองผิด กม.เด็ดขาด

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายเพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และหารือข้อราชการอื่น ๆ โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี และนายทรงศักดิ์ ทองศรีรมช.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ร่วมการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังผู้ว่าฯ ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางประจำภูมิภาค

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวมอบนโยบายในการป้องกัน ควบคุม และสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่

1.) การเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนของจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยนายกฯ ได้กำหนดให้เรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย บริหารจัดการวางแผนการกระจายวัคซีน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยให้เร็วที่สุด โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป จะมีวัคซีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถ้าประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ก็จะทำให้การแพร่ระบาดบรรเทาลง สิ่งที่ต้องเตรียมการ คือเมื่อวัคซีนเข้ามาในระยะต่อไปเป็นจำนวนมาก เราต้องกระจายและฉีดให้กับพี่น้องประชาชน ขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้เข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง พร้อมมอบหมายข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือประชาชนในการกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อสามารถบริหารจัดการจำนวนวัคซีนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า

2.) มาตรการควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ขอให้ทุกพื้นที่ดำเนินการกักกันผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้อง ให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น และสกัดกั้นควบคุมการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างสูงสุด พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชนช่วยสำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน มิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางระบบการตรวจตราโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก

3.) การป้องกันการรวมกลุ่มเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้รณรงค์ประชาชนและทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ให้ชัดเจนและต่อเนื่อง

4.) ให้ทุกจังหวัดพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทั้งด้านสถานที่ ระบบบริหารจัดการ ระบบการบูรณาการข้อมูลผู้ติดเชื้อและการส่งต่อ

5.) มาตรการช่วยเหลือประชาชน (มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า-น้ำประปา) ขอให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง
 

ราเมศ เผย ปชป. รุก เพิ่มสมาชิก เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคว่า...

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ย้ำกับบุคลากรทุกภาคส่วนของพรรค ให้มีการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เห็นความสำคัญของสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ รัฐธรรมนูญจึงได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมโดยการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองให้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายหรือการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ร่วมในการหาแนวทางการพัฒนาประเทศ การร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงกิจกรรมอื่นที่ยังประโยชน์ต่อการปกครองในระบบประชาธิปไตย

ปัจจุบันมีประชาชนสนใจเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก และพรรคก็จะยังดำเนินการในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคให้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รับฟังแลกเปลี่ยน ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและทำงานร่วมกัน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีสมาชิกพรรคได้เข้ามาร่วมกับพรรคในการดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ และอีกหลายกิจกรรมที่พรรคได้จัดก็จะมีสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ บางคนเข้ามาร่วมบ่อยครั้งและมีความตั้งใจที่สนใจการเมือง นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคก็ให้โอกาสในการทำงานการเมือง จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค มีส่วนร่วมดังที่ได้กล่าวมาอย่างแท้จริง

โดยสามารถสมัครด้วยตัวเอง ที่สำนักงานใหญ่พรรคฯ หรือ สมัครด้วยตัวเอง ณ จุดรับสมัครกว่า 287 จุด รวมถึงสาขาอีก 18 จุด  ตัวแทนพรรคอีก 269 จุด ที่พรรคฯ ประกาศมอบหมายทั่วประเทศ โดยนำเอกสาร บัตรประชาชน เอกสารการโอนเงิน ค่าบำรุงพรรค รูปถ่าย 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว 1 รูป อีกหนึ่งช่องทางที่สะดวกคือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากเว็บไซต์พรรค กรอกใบสมัครแล้วส่งมาที่สำนักงานใหญ่ของพรรค

‘บิ๊กป้อม’ เร่งช่วยเกษตรกร สั่งยกระดับการพัฒนา "กว๊านพะเยา เวียงหนองหล่ม" เป็นโครงการสำคัญ  พร้อมติดตามฟื้นฟู “บึงบอระเพ็ด" กำชับ! เร่งกำจัดผักตบชวา/วัชพืช ย้ำทุกหน่วยงาน ใช้งบประหยัด-คุ้มค่า

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.00น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.รง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน การพัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ บึงสีไฟ จ.พิจิตร, หนองหาร จ.สกลนคร และบึงราชนก จ.พิษณุโลก ซึ่งมีเป้าหมายหลัก เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ สำหรับการอุปโภคบริโภค การประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลอดจนเป็นพื้นที่สันทนาการ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจระดับท้องถิ่น มีการจัดทำโครงการภายใต้นโยบาย กนช. ซึ่งมีความคืบหน้าและความต่อเนื่อง อย่างน่าพอใจหลังจากนั้นที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ให้มีการทบทวนแผนพัฒนา อนุรักษ์  ฟื้นฟู บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพื่อรองรับการปรับเขตพื้นที่ให้เหมาะสม กับมาตรการ "ให้ หวง ห้าม" เช่นผลกระทบต่อการกำหนดแนวคลองดักตะกอน เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้เห็นชอบให้ยกระดับ การพัฒนา กว๊านพะเยา จ.พะเยา และเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย ให้เป็นโครงการสำคัญ และให้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบแผนพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู กว๊านพะเยา และเวียงหนองหล่ม ตามลำดับ

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งรัดการดำเนินแผนงาน/โครงการ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เน้นสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน/เกษตรกรในพื้นที่ อย่างทั่วถึง และเห็นประโยชน์ร่วมกัน สำหรับการบริหารงบประมาณ จะต้องโปร่งใส ประหยัด และคุ้มค่า ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาน้ำอย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน/เกษตรกร ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ

‘วิษณุ’ เปิดงาน “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่ สู่ประชาชน” แนะ ใช้วิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส ปรับระบบให้ดีกว่าเดิม เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ปชช. 

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานผ่านระบบประชุมคอนเฟอเรนซ์ หัวข้อ “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่ สู่ประชาชน” ครั้งที่18 

โดยนายวิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตอนที่โควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ในช่วง 2563 คดีความต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไป และต้องนัดประชุมเพื่อให้ตามเรื่องให้ทัน เรื่องนี้มีผลกระทบไปทั่ว จึงทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมาคือ นิวนอร์มอล หมายถึงวิถีชีวิตใหม่ การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกด้านและทุกเรื่อง ต้องปรับปรุงวิธีการทำงาน และปรับปรุงวิธีคิด เพื่อให้เข้ากับการระบาด อะไรที่เคยทำก็ทำอย่างเดิมไม่ได้ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนา เช่น การเวียนเทียนออนไลน์ ในบางประเทศทำบุญ เช็งเม้งออนไลน์ เพราะไม่สามารถแออัดได้ หรือแม้แต่การแต่งงาน สิ่งเหล่านี้เข้ามาถึงเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องจัดระบบและเปลี่ยนแปลงใหม่ ในส่วนนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แล้วจะต้องทำอย่างไร คือจะทำอย่างไรในยุคนิวนอร์มอล และให้ได้ผลเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม หากทำใหม่แล้วแย่กว่าเดิมก็จะต้องแย่ไปหมด เช่น ความล่าช้าในการทำคดี 

นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะได้ให้ผลที่พึงปรารถนาหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อะไรในอดีตที่เคยทำไม่ได้ก็ดีขึ้น เพราะปัจจุบันเราเห็นการเรียนและการประชุมแบบออนไลน์ ประหยัดเวลา ประหยัดการเดินทางไปได้เป็นอันมาก ก่อนหน้านั้นรัฐบาลเคยคิดเรื่องเวิร์กฟอร์มโฮมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยยุคน้ำมันแพง คือเมื่อหลาย 10 ปีมาแล้ว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ พอยุคมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็คิดเรื่องเวิร์กฟอร์มโฮมเพิ่มก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อเกิดการเกิดโรคระบาด ทำให้เกิดการเวิร์กฟอร์มโฮมโดยพร้อมเพรียงกัน อะไรที่เคยยากก็ง่าย และก็ทำให้หลายอย่างสามารถเดินหน้าไปได้ ความจริงเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เทียบเคียงได้หลายเรื่อง

นายวิษณุ กล่าวว่า บางคนอาจจะพูดว่าดีอยู่แล้วจะปฏิรูปไปทำไม แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตกทุกคนก็รวมใจกันปฏิรูป ตอนนี้โควิด-19 เป็นวิกฤตก็ทำให้เกิดโอกาส ซึ่งโอกาสแผ่ซ่านไปในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี การจัดการศึกษา แม้กระทั่งการคิดค้นเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมทางไกล นี่ยังไม่รวมที่มีการพูดว่า เพราะโควิด-19 ระบาดทำให้มีการไปคุ้ยเรื่องบ่อนการพนัน แรงงานต่างด้าว และสถานบันเทิงผิดกฎหมาย คือถ้าไม่มีโควิด-19 ขึ้นมาก็คงไปคุ้ยและไปรื้อยาก ความจำเป็นมันเกิดขึ้นโดยไม่มีใครอยากละเว้น นิวนอร์มอลบังคับให้เราต้องทำในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่ปัญหามีอยู่ว่าเราจะทำอะไรและเราจะทำอย่างไร 

นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้เป็นการดีที่ผู้ใหญ่หลายท่านมาพิจารณาปัญหานี้สิ่งที่เราคิดกันอยู่ในเวลานี้คือประเทศไทยเรามีคณะกรรมการระดับชาติอยู่ชุดหนึ่งที่ชื่อว่า คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกรรมการที่สำคัญมากของประเทศ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพราะในด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น คณะกรรมการชุดนี้เป็นเวทีเดียวที่ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ ราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือหน่วยงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามานั่งอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อทำงานหรือขับเคลื่อนอะไรก็จะทำไปพร้อมกันบนเวทีระดับชาตินี้ สมมติสมัยก่อนเมื่อจัดตั้งศาลขึ้นที่ไหนสักแห่งก็ไม่สามารถตั้งได้โดยง่าย เพราะแม้ศาลพร้อมจะไปจัดตั้งที่จังหวัดนั้น แต่จังหวัดยังไม่พร้อมหรืออัยการ และคุกไม่พร้อม ก็ไปต่อไม่ได้ แต่เวทีนี้คณะกรรมการชุดนี้ทำให้เมื่อจะเปิดศาลตั้งศาลหรือจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมก็จะมีเวทีนี้ที่จะทำให้มาคิดทีเดียว 

"ผมหวังว่าทุกท่านจะช่วยสร้างมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในยุคใหม่ เพื่อให้เขาได้รับความยุติธรรมเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม แม้ว่ากระแส โควิด-19 จะทำให้สถานการณ์ไม่น่าก้าวไปได้ แต่เราเชื่อว่า เราจะสามารถคิดอะไรใหม่ ๆ แปลก ๆ จากเดิมเพราะวิกฤตจะทำให้เกิดโอกาส โดยโอกาสหนึ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือโอกาสที่จะประสิทธิ์ประสาทในการอำนวยความยุติธรรม" นายวิษณุ กล่าว

ปธ.ศาลฎีกา ยัน ศาลทำงานเชิงรุก ปรับวิธีคิด ทิ้งขนบเก่า เน้น ’ให้ศาลเป็นงานบริการ ไม่ใช้อำนาจ-เน้นกระจายความยุติธรรม ไม่เลือกปฎิบัติ’

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” กล่าวว่า ในการพิจารณาคดีในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนในกระบวนการยุติธรรม พยายามร่วมมือทำงาน โดยไม่แบ่งส่วน แม้ความสำเร็จเป็นรูปธรรมยังไม่สมบูรณ์ตามเป้าหมายที่อยากเห็น แต่ในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นชัดขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาทำงาน และทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่หยุด แต่งานของศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหยุดได้ ที่ผ่านมาจะมองว่าศาลเป็นองค์การที่มีความอนุรักษ์นิยม มีพิธีรีตองหรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวช้า ติดขนบธรรมเดิม ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ถ้าเข้ามาจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยการพิจารณาพิพากษาไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ แต่ได้ปรับกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นการให้บริการ เพื่อให้คนที่เข้ามาติดต่อมีความสุขและได้รับความเป็นธรรม จะเห็นภาพว่าผู้พิพากษา ผู้บริหารศาล ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น ออกสืบพยานออนไลน์ ออกไปพบประชาชน ชี้แจงให้รู้สิทธิพื้นฐานของตนเอง โดยยึดนโยบาย 5 ด้าน ภายใต้หลักการ ‘บริสุทธิ์ ยุติธรรม’ ที่สำคัญกับประชาชน โดยเฉพาะกระจายความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเสมอภาคให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เลือกคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และกระจายไปกลุ่มคนในชนบทด้วย โดยมีการตั้งศาลแขวงและศาลจังหวัดเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เมื่อโควิด-19 ระบาด ลดขั้นตอนยุ่งยาก ต้องคำนึงความถูกต้อง เป็นธรรมคุ้มครองสิทธิ และต้องมีความสมดุลย์

นางเมทินี กล่าวว่า ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าล่าช้า ชี้แจงว่าขณะนี้เราก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว เห็นได้จากในศาลชั้นต้นมีคดีกว่าล้านคดี มีผู้พิพากษา 3 พันคน ซึ่งแต่ละคดีมีมาตรฐานระยะเวลากำหนดไว้ที่ต้องปฎิบัติ เพราะถือว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง รวมถึงการขอประกันในศาลชั้นต้นภายในหนึ่งชั่วโมงต้องได้รับคำสั่ง ขณะที่การปรับเปลี่ยนในศาลสูง จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ สามารถตรวจสอบว่าการทำงานจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ และจะมีการอ่านคำพิพากษาผ่านจอภาพไปยังเรือนจำ เพื่อให้จำเลยทราบสิทธิของตัวเองหลังมีคำตัดสินได้ทันที

กลุ่มรถบัสไม่ประจำทางแบกไม่ไหว! ยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่’ วอนช่วยเจรจาไฟแนนซ์ ขอลดดอกเบี้ย-หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อุ้มผู้ประกอบการ

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่บริเวณป้ายรถเมล์ด้านหน้าสำนักงาน กพ.เดิม ได้มีตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการรถบัสไม่ประจำทาง จำนวน 8 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผ่านตู้ปณ 1111 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เยียวยากับผู้ประกอบการรถบัสโดยสารไม่ประจำทาง ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการรถบัสไม่ประจำทางได้ขอให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องการลดดอกเบี้ย โดยขอให้รัฐบาลช่วยเจรจากับทางผู้ประกอบการไฟแนนซ์ หรือหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ หลังจากยื่นหนังสือผ่าน ตู้ปณ 1111 ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ได้เดินทางกลับเมื่อเวลา 10.45 น.

SMS ช่วยได้! กรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา แนะ ‘รัฐ-ศบค.’ ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ยิง SMS เข้ามือถือ แก้ปัญหายอดจองวัคซีนไม่ถึงเป้า!

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้จัดประชุมวาระเร่งด่วนทางออนไลน์ เพื่อถกปัญหาการเข้าถึงการใช้งานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากสะท้อนปัญหาการลงทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ไม่สำเร็จที่เกิดจากระบบล่ม แต่ประเด็นปัญหาใหญ่กว่านั้นดูเหมือนเป็นเรื่องของการที่ประชาชนส่วนมากของประเทศไม่สามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ด้วยตัวเอง 

“ทุกวันนี้นอกจากปัญหาเรื่องการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว ความไม่เสถียรในการใช้งานของแอปพลิเคชันในเรื่องของการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนก็เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับประชาชน ทาง กมธ. ICT มองลงไปถึงประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที จึงอยากให้รัฐบาลและ ศบค.เพิ่มช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 แบบเรียลไทม์ ด้วยการส่ง SMS ไปยังประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่านั้น เช่น ลำปางโมเดลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับการทำงานของ อสม. นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ที่สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในเรื่องของโควิด-19 อีกด้วย” พลเอก อนันตพร กล่าว

พลเอก อนันตพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหา Fake News ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยทาง กมธ. ICT ได้เชิญ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ร่วมให้ข้อมูล โดย น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงฯ ได้มีความพยายามจัดการกับปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่ออกมาสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้คำสั่งศาล แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนี้ การดำเนินการเพื่อยื่นต่อศาล เพื่อให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์หรือต้นทางการเผยแพร่ข่าวสารทางโซเชียลมีเดียยังมีอุปสรรคในเรื่องของศาลที่ไม่เปิดรับคำร้องและระงับการไต่สวนชั่วคราว ทำให้สามารถทำได้เพียงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น

“หมอระวี” เชียร์ “บิ๊กตู่” กำหนดฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จี้ต้องเร่งทำความเข้าใจให้ ปชช.เลิกกลัววัคซีน เชื่อยอดทะลุเป้าแน่นอน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จำนวนการจองฉีดวัคซีนจากเป้าหมาย 16 ล้านคนที่วันนี้ยอดจองทะลุ 2 ล้านรายแล้ว โดยศบค.ได้มีมติกำหนดให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่รัฐบาลต้องออกมาระดมประชาชนทั่วประเทศให้ออกมามีส่วนร่วม ตนเชื่อมั่นว่าไทยต้องประสบผลสำเร็จในการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายแน่นอน 

“ผมมีข้อเสนอให้ ศบค.ไปพิจารณา คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทุกรูปแบบและทุกช่องทางให้คนไทยรู้ข่าวสารที่แท้จริงของวัคซีนจะได้หายกลัวการฉีดวัคซีนและรัฐบาลต้องหากลยุทธ์ในการระดมประชาชนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนตัว ทั้งนี้ต้องปรับแผนการกำหนดกลุ่มที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนก่อน คือคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานบริการต่าง ๆ ที่มีผู้คนมาใช้บริการมาก เช่น ร้านอาหาร ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านนวดแผนไทย โดยคนไทยจะได้เปิดกิจการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และคนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขนส่งสาธารณะ โรงแรมรีสอร์ท เพื่อให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้น รวมถึงเร่งฉีดให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัดโรงงานต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงในการระบาดสูง” นพ.ระวี ระบุ

นพ.ระวี ระบุต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการจองฉีดวัคซีนในเชิงรุกให้ถึงตัวประชาชนตามแนวทางของจังหวัดลำปาง รวมถึงคนต่างด้าวที่ทำงานในเมืองไทยที่มีอายุ 60 ปี ที่มีโรคประจำตัวและทำงานในสถานที่เสี่ยงควรให้มีสิทธิ์จองฉีดวัคซีนได้ และที่สำคัญรัฐบาลควรจะตั้งเป้ารณรงค์ให้มีคนไทยทั่วประเทศจองคิวฉีดวัคซีนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้อย่างน้อยให้ได้ 10 ล้านคนและเตรียมการฉีดวัคซีนให้ได้วันละมากกว่า 300,000 คนในต้นเดือนมิถุนายนนี้

ศรีสุวรรณ เตรียมยื่น กสทช. สอบไทยพีบีเอส ปม ปล่อยเฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่ากรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอสกู๊ปข่าวรายงานตัวเลขที่ผิดพลาดหลายจุดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้, การแปลข่าวชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำมายังประเทศไทยอย่างผิด ๆ และล่าสุดผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวได้เผยแพร่ข่าวหญิงสาวที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี แอบอ้างภาพของผู้ป่วยรายหนึ่งที่โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี ที่มีอาการแพ้ยา มีผื่นแดงเต็มตัว มาเผยแพร่ควบคู่กันจนเกิดความเข้าใจผิด  ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมนั้น

การเสนอข่าวที่ผิดพลาดในลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้เกิดขึ้นกับผู้ชมอย่างแพร่หลาย แม้จะมีการแก้ข่าวแล้วแต่ก็เกิดขึ้นอย่างล่าช้า อันชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสื่อไทยพีบีเอสที่อาจขาดความเที่ยงตรงและความรับผิดชอบต่อสาธารณชนโดยชัดแจ้ง อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.43 (1) ประกอบ ม.42 (1) (2) แห่งพรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 และข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ 2563 ข้อ 5 ประกอบข้อ 7

ยังเป็นการการทำที่อาจขัดต่อกฎหมายและหรือขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีอำนาจดำเนินการตาม พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ม.40 ประกอบ ม.39 รวมทั้งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ 2553 ประกอบธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 2563 อีกด้วย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช.ในวันศุกร์ที่ 14 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน ซอย 8 (ซอยสายลม) พญาไท กทม. เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อลงโทษผู้บริหารหรือกองบรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตามครรลองของกฎหมาย

คกก.ผู้พิการแห่งชาติ เคาะขยายเวลาพักชำระหนี้-กู้ยืมเงินฉุกเฉิน-อายุบัตรผู้พิการคุ้มครองสวัสดิการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามผู้พิการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 12 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมติที่ประชุม เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้พิการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กล่าวคือ

1.) ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินกู้ยืมประกอบอาชีพของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถึงวันที่ 31 มี.ค. ปีหน้า จากที่ต้องสิ้นสุด 31 มี.ค. 64 

2.) ขยายเวลาการยื่นขอกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ กรณีฉุกเฉิน ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ปลอดชำระหนี้ จากที่จะหมดเขต สิ้นเดือนนี้ เป็นถึง 30 ก.ย. 64 ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอกู้ของแต่ละราย ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับแต่วันยื่นเรื่องเพราะที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ล่าช้า ทำให้ผู้พิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้พิการที่รอการพิจารณาเงินกู้ฉุกเฉิน อยู่ 1.2 หมื่นราย

3.) แก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ให้องค์กรผู้พิการสามารถเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของผู้พิการได้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการกู้ยืมเงินกองทุนฯ ได้มากขึ้น

4.) ขยายเวลาอายุบัตรประจำตัวผู้พิการออกไปหกเดือน เพื่อไม่ให้ผู้พิการที่บัตรฯจะหมดอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องลำบากในการเดินทางมาต่ออายุบัตร และเป็นการรักษาสิทธิและสวัสดิการคนพิการแม้บัตรจะหมดอายุก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 5 หมื่นคน 

5.) เสนอต่อศบค.พิจารณาจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้พิการที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุและไม่มี 7 โรคเสี่ยงเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8 แสนคน

6.) มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับคนพิการ

นอกจากมติที่ประชุมฯ ดังกล่าว นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รองนายกฯ ยังได้ติดตามการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะใช้สถานที่ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 220 เตียง มีล่ามภาษามือ การดูแลพิเศษ และเปิดให้ผู้ดูแลผู้พิการเข้าพักได้ด้วย โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในวันที่ 26 พ.ค. นายจุรินทร์ และกรรมการฯ จะไปตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ที่คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ วันที่ 1 มิ.ย.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top