Thursday, 23 January 2025
POLITICS

‘วิษณุ’ เปิดงาน “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่ สู่ประชาชน” แนะ ใช้วิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส ปรับระบบให้ดีกว่าเดิม เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ปชช. 

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานผ่านระบบประชุมคอนเฟอเรนซ์ หัวข้อ “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่ สู่ประชาชน” ครั้งที่18 

โดยนายวิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตอนที่โควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ในช่วง 2563 คดีความต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไป และต้องนัดประชุมเพื่อให้ตามเรื่องให้ทัน เรื่องนี้มีผลกระทบไปทั่ว จึงทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมาคือ นิวนอร์มอล หมายถึงวิถีชีวิตใหม่ การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกด้านและทุกเรื่อง ต้องปรับปรุงวิธีการทำงาน และปรับปรุงวิธีคิด เพื่อให้เข้ากับการระบาด อะไรที่เคยทำก็ทำอย่างเดิมไม่ได้ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนา เช่น การเวียนเทียนออนไลน์ ในบางประเทศทำบุญ เช็งเม้งออนไลน์ เพราะไม่สามารถแออัดได้ หรือแม้แต่การแต่งงาน สิ่งเหล่านี้เข้ามาถึงเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องจัดระบบและเปลี่ยนแปลงใหม่ ในส่วนนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แล้วจะต้องทำอย่างไร คือจะทำอย่างไรในยุคนิวนอร์มอล และให้ได้ผลเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม หากทำใหม่แล้วแย่กว่าเดิมก็จะต้องแย่ไปหมด เช่น ความล่าช้าในการทำคดี 

นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะได้ให้ผลที่พึงปรารถนาหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อะไรในอดีตที่เคยทำไม่ได้ก็ดีขึ้น เพราะปัจจุบันเราเห็นการเรียนและการประชุมแบบออนไลน์ ประหยัดเวลา ประหยัดการเดินทางไปได้เป็นอันมาก ก่อนหน้านั้นรัฐบาลเคยคิดเรื่องเวิร์กฟอร์มโฮมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยยุคน้ำมันแพง คือเมื่อหลาย 10 ปีมาแล้ว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ พอยุคมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็คิดเรื่องเวิร์กฟอร์มโฮมเพิ่มก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อเกิดการเกิดโรคระบาด ทำให้เกิดการเวิร์กฟอร์มโฮมโดยพร้อมเพรียงกัน อะไรที่เคยยากก็ง่าย และก็ทำให้หลายอย่างสามารถเดินหน้าไปได้ ความจริงเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เทียบเคียงได้หลายเรื่อง

นายวิษณุ กล่าวว่า บางคนอาจจะพูดว่าดีอยู่แล้วจะปฏิรูปไปทำไม แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตกทุกคนก็รวมใจกันปฏิรูป ตอนนี้โควิด-19 เป็นวิกฤตก็ทำให้เกิดโอกาส ซึ่งโอกาสแผ่ซ่านไปในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี การจัดการศึกษา แม้กระทั่งการคิดค้นเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมทางไกล นี่ยังไม่รวมที่มีการพูดว่า เพราะโควิด-19 ระบาดทำให้มีการไปคุ้ยเรื่องบ่อนการพนัน แรงงานต่างด้าว และสถานบันเทิงผิดกฎหมาย คือถ้าไม่มีโควิด-19 ขึ้นมาก็คงไปคุ้ยและไปรื้อยาก ความจำเป็นมันเกิดขึ้นโดยไม่มีใครอยากละเว้น นิวนอร์มอลบังคับให้เราต้องทำในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่ปัญหามีอยู่ว่าเราจะทำอะไรและเราจะทำอย่างไร 

นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้เป็นการดีที่ผู้ใหญ่หลายท่านมาพิจารณาปัญหานี้สิ่งที่เราคิดกันอยู่ในเวลานี้คือประเทศไทยเรามีคณะกรรมการระดับชาติอยู่ชุดหนึ่งที่ชื่อว่า คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกรรมการที่สำคัญมากของประเทศ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพราะในด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น คณะกรรมการชุดนี้เป็นเวทีเดียวที่ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ ราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือหน่วยงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามานั่งอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อทำงานหรือขับเคลื่อนอะไรก็จะทำไปพร้อมกันบนเวทีระดับชาตินี้ สมมติสมัยก่อนเมื่อจัดตั้งศาลขึ้นที่ไหนสักแห่งก็ไม่สามารถตั้งได้โดยง่าย เพราะแม้ศาลพร้อมจะไปจัดตั้งที่จังหวัดนั้น แต่จังหวัดยังไม่พร้อมหรืออัยการ และคุกไม่พร้อม ก็ไปต่อไม่ได้ แต่เวทีนี้คณะกรรมการชุดนี้ทำให้เมื่อจะเปิดศาลตั้งศาลหรือจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมก็จะมีเวทีนี้ที่จะทำให้มาคิดทีเดียว 

"ผมหวังว่าทุกท่านจะช่วยสร้างมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในยุคใหม่ เพื่อให้เขาได้รับความยุติธรรมเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม แม้ว่ากระแส โควิด-19 จะทำให้สถานการณ์ไม่น่าก้าวไปได้ แต่เราเชื่อว่า เราจะสามารถคิดอะไรใหม่ ๆ แปลก ๆ จากเดิมเพราะวิกฤตจะทำให้เกิดโอกาส โดยโอกาสหนึ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือโอกาสที่จะประสิทธิ์ประสาทในการอำนวยความยุติธรรม" นายวิษณุ กล่าว

ปธ.ศาลฎีกา ยัน ศาลทำงานเชิงรุก ปรับวิธีคิด ทิ้งขนบเก่า เน้น ’ให้ศาลเป็นงานบริการ ไม่ใช้อำนาจ-เน้นกระจายความยุติธรรม ไม่เลือกปฎิบัติ’

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” กล่าวว่า ในการพิจารณาคดีในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนในกระบวนการยุติธรรม พยายามร่วมมือทำงาน โดยไม่แบ่งส่วน แม้ความสำเร็จเป็นรูปธรรมยังไม่สมบูรณ์ตามเป้าหมายที่อยากเห็น แต่ในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นชัดขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาทำงาน และทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่หยุด แต่งานของศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหยุดได้ ที่ผ่านมาจะมองว่าศาลเป็นองค์การที่มีความอนุรักษ์นิยม มีพิธีรีตองหรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวช้า ติดขนบธรรมเดิม ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ถ้าเข้ามาจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยการพิจารณาพิพากษาไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ แต่ได้ปรับกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นการให้บริการ เพื่อให้คนที่เข้ามาติดต่อมีความสุขและได้รับความเป็นธรรม จะเห็นภาพว่าผู้พิพากษา ผู้บริหารศาล ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น ออกสืบพยานออนไลน์ ออกไปพบประชาชน ชี้แจงให้รู้สิทธิพื้นฐานของตนเอง โดยยึดนโยบาย 5 ด้าน ภายใต้หลักการ ‘บริสุทธิ์ ยุติธรรม’ ที่สำคัญกับประชาชน โดยเฉพาะกระจายความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเสมอภาคให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เลือกคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และกระจายไปกลุ่มคนในชนบทด้วย โดยมีการตั้งศาลแขวงและศาลจังหวัดเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เมื่อโควิด-19 ระบาด ลดขั้นตอนยุ่งยาก ต้องคำนึงความถูกต้อง เป็นธรรมคุ้มครองสิทธิ และต้องมีความสมดุลย์

นางเมทินี กล่าวว่า ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าล่าช้า ชี้แจงว่าขณะนี้เราก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว เห็นได้จากในศาลชั้นต้นมีคดีกว่าล้านคดี มีผู้พิพากษา 3 พันคน ซึ่งแต่ละคดีมีมาตรฐานระยะเวลากำหนดไว้ที่ต้องปฎิบัติ เพราะถือว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง รวมถึงการขอประกันในศาลชั้นต้นภายในหนึ่งชั่วโมงต้องได้รับคำสั่ง ขณะที่การปรับเปลี่ยนในศาลสูง จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ สามารถตรวจสอบว่าการทำงานจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ และจะมีการอ่านคำพิพากษาผ่านจอภาพไปยังเรือนจำ เพื่อให้จำเลยทราบสิทธิของตัวเองหลังมีคำตัดสินได้ทันที

กลุ่มรถบัสไม่ประจำทางแบกไม่ไหว! ยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่’ วอนช่วยเจรจาไฟแนนซ์ ขอลดดอกเบี้ย-หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อุ้มผู้ประกอบการ

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่บริเวณป้ายรถเมล์ด้านหน้าสำนักงาน กพ.เดิม ได้มีตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการรถบัสไม่ประจำทาง จำนวน 8 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผ่านตู้ปณ 1111 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เยียวยากับผู้ประกอบการรถบัสโดยสารไม่ประจำทาง ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการรถบัสไม่ประจำทางได้ขอให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องการลดดอกเบี้ย โดยขอให้รัฐบาลช่วยเจรจากับทางผู้ประกอบการไฟแนนซ์ หรือหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ หลังจากยื่นหนังสือผ่าน ตู้ปณ 1111 ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ได้เดินทางกลับเมื่อเวลา 10.45 น.

SMS ช่วยได้! กรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา แนะ ‘รัฐ-ศบค.’ ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ยิง SMS เข้ามือถือ แก้ปัญหายอดจองวัคซีนไม่ถึงเป้า!

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้จัดประชุมวาระเร่งด่วนทางออนไลน์ เพื่อถกปัญหาการเข้าถึงการใช้งานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากสะท้อนปัญหาการลงทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ไม่สำเร็จที่เกิดจากระบบล่ม แต่ประเด็นปัญหาใหญ่กว่านั้นดูเหมือนเป็นเรื่องของการที่ประชาชนส่วนมากของประเทศไม่สามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ด้วยตัวเอง 

“ทุกวันนี้นอกจากปัญหาเรื่องการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว ความไม่เสถียรในการใช้งานของแอปพลิเคชันในเรื่องของการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนก็เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับประชาชน ทาง กมธ. ICT มองลงไปถึงประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที จึงอยากให้รัฐบาลและ ศบค.เพิ่มช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 แบบเรียลไทม์ ด้วยการส่ง SMS ไปยังประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่านั้น เช่น ลำปางโมเดลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับการทำงานของ อสม. นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ที่สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในเรื่องของโควิด-19 อีกด้วย” พลเอก อนันตพร กล่าว

พลเอก อนันตพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหา Fake News ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยทาง กมธ. ICT ได้เชิญ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ร่วมให้ข้อมูล โดย น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงฯ ได้มีความพยายามจัดการกับปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่ออกมาสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้คำสั่งศาล แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนี้ การดำเนินการเพื่อยื่นต่อศาล เพื่อให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์หรือต้นทางการเผยแพร่ข่าวสารทางโซเชียลมีเดียยังมีอุปสรรคในเรื่องของศาลที่ไม่เปิดรับคำร้องและระงับการไต่สวนชั่วคราว ทำให้สามารถทำได้เพียงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น

“หมอระวี” เชียร์ “บิ๊กตู่” กำหนดฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จี้ต้องเร่งทำความเข้าใจให้ ปชช.เลิกกลัววัคซีน เชื่อยอดทะลุเป้าแน่นอน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จำนวนการจองฉีดวัคซีนจากเป้าหมาย 16 ล้านคนที่วันนี้ยอดจองทะลุ 2 ล้านรายแล้ว โดยศบค.ได้มีมติกำหนดให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่รัฐบาลต้องออกมาระดมประชาชนทั่วประเทศให้ออกมามีส่วนร่วม ตนเชื่อมั่นว่าไทยต้องประสบผลสำเร็จในการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายแน่นอน 

“ผมมีข้อเสนอให้ ศบค.ไปพิจารณา คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทุกรูปแบบและทุกช่องทางให้คนไทยรู้ข่าวสารที่แท้จริงของวัคซีนจะได้หายกลัวการฉีดวัคซีนและรัฐบาลต้องหากลยุทธ์ในการระดมประชาชนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนตัว ทั้งนี้ต้องปรับแผนการกำหนดกลุ่มที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนก่อน คือคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานบริการต่าง ๆ ที่มีผู้คนมาใช้บริการมาก เช่น ร้านอาหาร ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านนวดแผนไทย โดยคนไทยจะได้เปิดกิจการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และคนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขนส่งสาธารณะ โรงแรมรีสอร์ท เพื่อให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้น รวมถึงเร่งฉีดให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัดโรงงานต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงในการระบาดสูง” นพ.ระวี ระบุ

นพ.ระวี ระบุต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการจองฉีดวัคซีนในเชิงรุกให้ถึงตัวประชาชนตามแนวทางของจังหวัดลำปาง รวมถึงคนต่างด้าวที่ทำงานในเมืองไทยที่มีอายุ 60 ปี ที่มีโรคประจำตัวและทำงานในสถานที่เสี่ยงควรให้มีสิทธิ์จองฉีดวัคซีนได้ และที่สำคัญรัฐบาลควรจะตั้งเป้ารณรงค์ให้มีคนไทยทั่วประเทศจองคิวฉีดวัคซีนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้อย่างน้อยให้ได้ 10 ล้านคนและเตรียมการฉีดวัคซีนให้ได้วันละมากกว่า 300,000 คนในต้นเดือนมิถุนายนนี้

ศรีสุวรรณ เตรียมยื่น กสทช. สอบไทยพีบีเอส ปม ปล่อยเฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่ากรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอสกู๊ปข่าวรายงานตัวเลขที่ผิดพลาดหลายจุดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้, การแปลข่าวชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำมายังประเทศไทยอย่างผิด ๆ และล่าสุดผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวได้เผยแพร่ข่าวหญิงสาวที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี แอบอ้างภาพของผู้ป่วยรายหนึ่งที่โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี ที่มีอาการแพ้ยา มีผื่นแดงเต็มตัว มาเผยแพร่ควบคู่กันจนเกิดความเข้าใจผิด  ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมนั้น

การเสนอข่าวที่ผิดพลาดในลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้เกิดขึ้นกับผู้ชมอย่างแพร่หลาย แม้จะมีการแก้ข่าวแล้วแต่ก็เกิดขึ้นอย่างล่าช้า อันชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสื่อไทยพีบีเอสที่อาจขาดความเที่ยงตรงและความรับผิดชอบต่อสาธารณชนโดยชัดแจ้ง อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.43 (1) ประกอบ ม.42 (1) (2) แห่งพรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 และข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ 2563 ข้อ 5 ประกอบข้อ 7

ยังเป็นการการทำที่อาจขัดต่อกฎหมายและหรือขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีอำนาจดำเนินการตาม พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ม.40 ประกอบ ม.39 รวมทั้งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ 2553 ประกอบธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 2563 อีกด้วย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช.ในวันศุกร์ที่ 14 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน ซอย 8 (ซอยสายลม) พญาไท กทม. เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อลงโทษผู้บริหารหรือกองบรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตามครรลองของกฎหมาย

คกก.ผู้พิการแห่งชาติ เคาะขยายเวลาพักชำระหนี้-กู้ยืมเงินฉุกเฉิน-อายุบัตรผู้พิการคุ้มครองสวัสดิการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามผู้พิการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 12 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมติที่ประชุม เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้พิการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กล่าวคือ

1.) ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินกู้ยืมประกอบอาชีพของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถึงวันที่ 31 มี.ค. ปีหน้า จากที่ต้องสิ้นสุด 31 มี.ค. 64 

2.) ขยายเวลาการยื่นขอกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ กรณีฉุกเฉิน ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ปลอดชำระหนี้ จากที่จะหมดเขต สิ้นเดือนนี้ เป็นถึง 30 ก.ย. 64 ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอกู้ของแต่ละราย ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับแต่วันยื่นเรื่องเพราะที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ล่าช้า ทำให้ผู้พิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้พิการที่รอการพิจารณาเงินกู้ฉุกเฉิน อยู่ 1.2 หมื่นราย

3.) แก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ให้องค์กรผู้พิการสามารถเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของผู้พิการได้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการกู้ยืมเงินกองทุนฯ ได้มากขึ้น

4.) ขยายเวลาอายุบัตรประจำตัวผู้พิการออกไปหกเดือน เพื่อไม่ให้ผู้พิการที่บัตรฯจะหมดอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องลำบากในการเดินทางมาต่ออายุบัตร และเป็นการรักษาสิทธิและสวัสดิการคนพิการแม้บัตรจะหมดอายุก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 5 หมื่นคน 

5.) เสนอต่อศบค.พิจารณาจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้พิการที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุและไม่มี 7 โรคเสี่ยงเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8 แสนคน

6.) มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับคนพิการ

นอกจากมติที่ประชุมฯ ดังกล่าว นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รองนายกฯ ยังได้ติดตามการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะใช้สถานที่ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 220 เตียง มีล่ามภาษามือ การดูแลพิเศษ และเปิดให้ผู้ดูแลผู้พิการเข้าพักได้ด้วย โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในวันที่ 26 พ.ค. นายจุรินทร์ และกรรมการฯ จะไปตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ที่คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ วันที่ 1 มิ.ย.

ศ.ดร.กนก แนะ 4 แนวทาง  สร้างความเชื่อมั่น-กางแผนนำเข้าวัคซีนต่อสาธารณะ-เพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน-ให้คนลงทะเบียนง่าย กำหนดสถานที่และวันเวลาฉีดได้เอง เชื่อ แก้ปัญหาคนไม่อยากฉีดวัคซีนได้

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างครอบคลุมทั่วถึงว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ การสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อประโยชน์ของวัคซีนที่จะฉีด ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตาม เพราะเหตุผลทางการแพทย์สรุปชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีด นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการว่าจะฉีดอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนจะมีวัคซีนในประเทศไทยเท่าไหร่ เหมือนกับมีสินค้า ถ้ารู้ว่ามีกี่ชิ้นก็จะรู้ว่าจะกระจายขายที่ไหนบ้าง เพราะฉะนั้นโจทย์ข้อแรกต้องตอบได้ชัดเจนก่อนว่า เรามีวัคซีนจริงเท่าไหร่ ต้องกางแผนนำเข้าวัคซีนที่ได้แน่ ๆ พร้อมกำหนดเวลา ให้สาธารณชนรับทราบอย่างเป็นระบบ และสถานที่ฉีดเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลกระจายในกทม.ขณะนี้ 25 จุด แต่ยังไม่พอ เราต้องกระจาย ยังต้องเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

“การลงทะเบียนเพื่อให้ประชาชนฉีดวัคซีน ต้องทำให้ง่ายและสะดวก เช่น ในบางประเทศ ประชาชนแค่คีย์ข้อมูลลงเวปก็สามารถบอกได้เลยว่า ขอเลือกฉีดวัคซีนที่จุดไหน วัคซีนยี่ห้ออะไร แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถเลือกยี่ห้อวัคซีนได้ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องให้เขามีโอกาสเลือกสถานที่และวันเวลาฉีดวัคซีนได้ ไม่ใช่ให้เข้าไปลงทะเบียนแล้วต้องคอยการแจ้งกลับว่าจะได้ฉีดวันเวลาไหน ส่วนเรื่องระบบขนส่งวัคซีนไม่มีอะไรน่าห่วง ถ้าเราทำให้การลงทะเบียนเป็นเรื่องง่าย สร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนได้ คนจะมาลงทะเบียนครบตามต้องการ ขอให้บอกให้ได้ว่ามีวัคซีนเท่าไหร่ ฉีดแล้วเท่าไหร่ เมื่อลงทะเบียนกำหนดวันเวลาและสถานที่ที่ต้องการฉีดได้ ทุกอย่างก็เคลื่อนได้” ศ.ดร.กนก กล่าว

“บิ๊กตู่” เข้มสั่งทุกหน่วยงานเข้มงวด วางแนวทางสกัดเชื้อ โควิด-19 ทุกสายพันธุ์  

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมหารืออย่างเคร่งครัด รัดกุม และทันท่วงที ถึงแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในกรณีที่พบว่ามาจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีการพบเชื้อกลายพันธุ์นี้ในผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน หลังเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกมาตรการและระเบียบต่าง ๆ โดยทันที 

ซึ่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบพิจารณาระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry-COE) สำหรับชาวต่างชาติที่มีต้นทางหรือมีถิ่นพำนักจากประเทศอินเดีย และพิจารณาระงับการออก COE เพิ่มเติมอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงชาวต่างชาติทุกสัญชาติที่เดินทางออกจาก 4 ประเทศข้างต้นและเปลี่ยนเครื่อง (Transit) ในประเทศอื่น หรือชาวต่างชาติซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวหรือผ่านทางไปยัง 4 ประเทศข้างต้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยเช่นกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการชั่วคราวในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังสกัดเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์เข้าสู่และแพร่ระบาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้ห้ามคนไทย รวมถึงนักการทูตต่างชาติ และครอบครัวที่เข้ามาปฏิบัติงาน ตลอดจนผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย ซึ่งยังสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วันทุกกรณี เพื่อคัดกรองและควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างเข้มข้น

รมว.แรงงาน สั่งเฝ้าระวัง และตรวจสอบคนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศไทยและทำงานผิดกฎหมาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกรณีที่พบกลุ่มผู้ฉวยโอกาสลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน และเดินทางต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อลักลอบทำงานผิดกฎหมาย อาจนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่กระจายในชุมชนได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ จัดเตรียมข้อมูลสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ โดยให้ปฏิบัติงานภายใต้มาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด 

“ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563-11 พ.ค. 2564 ได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการและคนต่างด้าวทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 24,306 ราย/แห่ง ดำเนินคดี จำนวน 698 ราย/แห่ง และตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 346,449 คน ดำเนินคดี จำนวน 559 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย โดยให้ปฏิบัติงานเชิงรุก และรายงานผลการดำเนินการให้กรมทราบ เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างทันท่วงที ทั้งขอฝากถึงนายจ้าง/สถานประกอบการว่า หากรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง 

ทั้งนี้ ผู้ใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามีคนต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ดร.พิมพ์รพี คิดนอกกรอบ เสนอ ทำแอปพลิเคชันใหม่ "คนไม่พร้อม" รับลงทะเบียน คนไม่พร้อมฉีดวัคซีน ช่วยรัฐบริหารจัดการ กระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนุน "สาธิต" ระดม วัคซีนให้ภาคเอกชน-เอสเอ็มอี ฟื้นเศรษฐกิจไทย

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สส.บัญชี​รายชื่อ​ พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนแนวคิดของนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่เสนอให้นำวัคซีนล็อตใหญ่ ล็อตใหม่ กระจายให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประคับประคองการจ้างงานในทางอ้อมตามมาด้วย เพราะหากผู้ประกอบการอยู่รอด ลูกจ้างก็ไม่ตกงาน ประเทศจะเดินหน้า ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเอสเอ็มอี ต้องเปิดทางให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างทันท่วงที

"รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาผ่อนคลายมาตรการในบางพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วแบบทันท่วงที อย่าปลาอยให้เนิ่นช้าออกไป เพราะทุกนาทีมีค่า ยิ่งตัดสินใจเร็ว โอกาสฟื้นตัวของประเทศก็เร็วขึ้นตามไปด้วย และอยากให้คิดแบบใหม่ ในการแก้ปัญหาคนไม่พร้อมฉีดวัคซีน แต่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับวัคซีน ด้วยการทำแอพพลิเคชันเพิ่มอีกหนึ่งแพลตฟอร์ม ให้มีการลงทะเบียน "คนไม่พร้อม" ฉีดวัคซีนไปเลย โดยให้กรอกข้อมูล ปัญหาที่ไม่ต้องการรับวัคซีนเพราะอะไร รอวัคซีนแบบไหนอยู่ รัฐบาลจะได้ประมาณการทั้งความต้องการและวัคซีนที่มีได้อย่างถูกจุด รวมถึงยังเข้าใจปัญหาว่าทำไมประชาชนส่วนนี้จึงไม่ต้องการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากและได้ฟังความกังวลของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหา​ให้เร็วและตรงจุดขึ้น" ดร.พิมพ์รพี กล่าว

"แรมโบ้" แนะ “ชูวิทย์” หุบปากเพื่อชาติดีกว่ามือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ “บอก” ฐานะดีเอาเวลาไปบริจากสิ่งของจะได้เสียงปรบมือ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด และวัคซีนของรัฐบาลโดยกล่าวว่าว่าในเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนนั้นนายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงทุกวัน ทั้งการนำวัคซีนเข้ามาซึ่งขณะนี้ อย. ได้อนุมัติไปแล้ว 3 รายและรอประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอีก 1 ราย และทยอยยื่นเอกสารอีก 2 ราย อีกทั้งบริษัทไฟเซอร์ได้รับปากกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะสำรองการผลิตวัคซีนให้ไทยอีก 20 ล้านโดส นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันกับผู้ผลิตวัคซีนว่าพร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนวัคซีนทุกตัวในโลกแต่การนำวัคซีนเข้ามานั้นจะต้องมีมาตรฐานที่ดีมีความปลอดภัยให้กับประชาชนและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย ขณะเดียวกันในช่วงเดือนมิถุนายนก็จะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอีกจำนวนมากและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนก็ได้ช่วยกันเร่งที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง นายกฯ ยังประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ

นายเสกสกล กล่าวว่า ประเทศต้องการความร่วมมือ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่นายชูวิทย์กลับออกมาพูดหรือกล่าวโจมตีการทำงานของนายกฯ และรัฐบาล ซึ่งการออกมาพูดของนายชูวิทย์ไม่ได้เป็นผลดีต่อบ้านเมืองเลย

“นายชูวิทย์ต้องหัดดูตัวเองด้วย อย่าทำตัวเป็นคนที่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง วัน ๆ มีแต่ออกมาโจมตีคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนทำงาน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ถือเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่าทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หันมาช่วยกันสนับสนุนการฉีดวัคซีนช่วยเหลือประชาชนตามที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติดีกว่า การฉีดวัคซีนถือเป็นประโยชน์ของทุกคน เหตุใดนายชูวิทย์ถึงไม่อยากให้ประเทศชาติหายจากโควิด หรืออยากเห็นประเทศ เห็นประชาชนป่วยเพิ่มมากขึ้น นายชูวิทย์ก็เคยเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนราษฎร ประชาชนต้องมาก่อน ก็น่าจะมีจิตใจที่จะคิดถึงประชาชนบ้าง เอาเวลาไปช่วยประชาชนจะดีกว่า การพูดมากบ่อนทำลายกำลังใจกัน ทางที่ดีนายชูวิทย์ที่มีฐานะดี ควรความดีโดยการหุบปากเพื่อชาติ แล้วนำสิ่งของไปบริจาคบ้างตามความเหมาะสมจะได้รับเสียงปรบมือชื่นชมมากกว่า” นายเสกสกลกล่าว

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย นายกฯ ย้ำ ชู วัคซีน เป็นวาระแห่งชาติ เร่งระดมฉีดวัคซีนปชช. ระบุ มิ.ย.นี้ รับมอบแอสตราฯ ผลิตในไทยล็อตแรก 6 ล้านโดส สั่งฟัน คนผลิต-แชร์ ‘เฟคนิวส์’ เขย่าความเชื่อมั่นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงข้อสั่งการ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้แจ้งว่า อยากให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จากนี้ไปการรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนจะเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าภาครัฐสามารถที่จะจัดหาวัคซีนเข้ามาได้ทันท่วงที และสามารถฉีดให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในเรื่องนี้ทางนายกฯ ได้ขอให้ทุกหน่วยงานเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยเข้ามารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการต่อไปได้ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเปิดประเทศ และการกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจ 

นายอนุชา กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อเราฉีดวัคซีนได้ครบก็จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้การติดเชื้อรุนแรงเกิดในคนไทยน้อยลง ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างแน่นอน โดยบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบหมดแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการเพิ่มเติมให้กับบุคลากรส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือมีความเสี่ยงได้รับวัคซีนเพิ่มเติม เช่น พนักงานส่งของ พนักงานขับรถสาธารณะ พนักงานขายร้านสะดวกซื้อ ผู้ให้บริการในร้านอาหาร ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น โดยรัฐบาลมีความตั้งใจว่าในเดือนมิถุนายน 2564 นี้จะปูพรมระดมฉีดเข็มแรกให้กับหลาย ๆ ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน 14 ศูนย์ โดยจะเปิดบริการในเดือนมิ.ย. เพื่อฉีดให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ศูนย์ในอนาคต 

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนก็จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพ.ค. นี้ 3.5 ล้านโดส จากซิโนแวค และเดือนมิถุนายนอีก 6 ล้านโดส จากแอสตราเซเนกา ที่ผลิตในประเทศไทย จากนั้นเดือนกรกฎาคม จะได้รับอย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น เช่น ไฟเซอร์ สปุกนิกวี หรือ Johnson & Johnson ขณะนี้รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ได้ 100 ล้านโดส ก็ตั้งใจที่จะจัดหามาให้ครบ 150 ล้านโดสภายใน 2564 นี้

ส่วนเรื่องการดูแลรักษาประชาชนที่ป่วยและติดเชื้อก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลรักษาค่าพยาบาลและออกค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทุกคนตามสิทธิ์ ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีน การชดเชยกรณีผลข้างเคียง หากมีประกันส่วนบุคคลทางโรงพยาบาลจะเรียกเก็บกับบุคคลก่อน ส่วนที่เหลือก็จะให้เรียกเก็บกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอย้ำอีกครั้งว่า ห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชาคนเป็นอันขาดหากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนโรงพยาบาลที่อิมแพค เมืองทองธานี ที่ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลปกติ จะเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองโดยเฉพาะ คือกลุ่มที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ไม่รุนแรง ปัจจุบันพร้อมรับผู้ป่วย 1,092 เตียงและสามารถขยายในเฟสที่สอง และเฟสที่สามต่อเนื่องได้อีกอย่างน้อย 1,000 กว่าเตียง หากมีความจำเป็นจริง ๆ สามารถที่จะขยายโรงพยาบาลบุษราคัมให้มากถึง 5,000 เตียง 

นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวการจัดเก็บการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกขององค์การเภสัชกรรม ขอชี้แจงว่า ทางองค์การเภสัชฯ ไม่ได้คิดค่าบริหารจัดการวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งนี้เมื่อเอกชนกับผู้ผลิตวัคซีนสามารถตกลงราคาวัคซีนได้แล้ว จะมีค่าจัดส่ง ค่าตรวจห้องปฏิบัติการ ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ซึ่งเป็นส่วนที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เหมือนกับกรมควบคุมโรคนำวัคซีนอื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทย การคิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงไม่มีการบวกเพิ่มค่าบริหารจัดการร้อยละ 10 อย่างที่มีข่าวแต่อย่างใด

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ มีความกังวลและเป็นห่วงพี่น้องประชาชนถึงความลำบากที่จะเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยตั้งครัวสนามในชุมชนกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งทราบว่ามีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือในต่าง ๆ โดยทางกองทัพได้เข้ามาช่วยเหลือตามชุมชนต่าง ๆ แล้ว เช่น ชุมชนของเตย ชุมชนบางแค ส่วนชุมชนกำลังเตรียมดำเนินการ เพื่อดูแลประชาชนที่ถูกกักตัวในบ้าน 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ มีความกังวลถึงเฟกนิวส์หรือข่าวปลอม ที่มีหลายส่วนมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน ทำให้เกิดความสับสนและวุ่นวายให้กับสังคม ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มที่เจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี ก็ได้เผยเผยแพร่ข้อมูลเป็นเท็จมากขึ้น นายกฯ จึงอยากจะขอให้กลุ่มหรือผู้ที่กระทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้หยุดการกระทำ เพราะถือเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้นายกฯ ยังได้สั่งการให้ดำเนินการทางกฎหมายทันทีหากพบการกระทำผิด ทั้งผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและแชร์ข้อมูล จึงอยากขอให้ทุกคนคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันและอย่าสร้างความตระหนกตกใจโดยไม่จำเป็น

‘ก้าวไกล’ จ่อชงกฎหมายเอาผิด ‘ศาล-อัยการ-ตำรวจ’ ฐานบิดกฎหมาย ‘โรม’ ยกคดี ม.112 สร้างเงื่อนไข ‘ค้านประกัน’ แบบตีความเกินกฎหมาย ส่วนกรณี ‘ธรรมนัส’ ตัดสินเหมือนอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีปัญหา ‘สิทธิสภาพนอกอาณาเขต’

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 รังสิมันต์ โรม และ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ซึ่งปรากฎชัดในหลายกรณีช่วงที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลเตรียมยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

รังสิมันต์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อนักกิจกรรมทางการเมืองที่ได้รับการประกันตัวซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้จับตามาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม การได้รับการประกันตัวทั้งเมื่อวานนี้และหลายกรณีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่ายินดีก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ลบล้างว่าภายใต้การได้รับการประกันตัวดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างไร และจากความไม่ธรรมเหล่านั้นจึงเป็นเหตุที่มีความจำเป็นในการร่างกฎหมายฉบับนี้

“สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือการเพิ่มฐานความผิดเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ได้แก่ความผิดฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”

รังสิมันต์ ระบุว่า เหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากในสังคมที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นงานสอบสวนทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าคดี พนักงานอัยการ ตลอดไปจนถึงผู้พิพากษาและตุลาการ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้มีหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง เมื่อมีข้อกล่าวหาในทางคดีเกิดขึ้น การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรมจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีบัญญัติ โดยกล่าวได้ว่าเจ้าพนักงานในการยุติธรรมคือผู้รักษากฎหมาย ย่อมจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมายอย่างถึงที่สุด

“แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเวลาผ่านไป บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนด ราวกับว่าพวกเขามีอคติบังตา แน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นมนุษย์ทั่วไปก็อาจกระทำไปโดยความรู้สึกส่วนตัวโดยไม่ได้สนใจว่า กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับตัวเองอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีการบิดเบือนในหลายกรณีและทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่ใช่ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่เสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมที่อุตส่าห์สร้างและสั่งสมมาและอาจจะถูกทำลายด้วยระยะเวลาที่ไม่นาน เพราะคดีเพียงไม่กี่คดีก็อาจทำให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้”

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างที่ทำให้ประชาชนรู้สึก เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญรับในข้อเท็จจริงกลาย ๆ ว่า เขาเคยถูกพิพากษาโดยศาลออสเตรเลียในประเด็นเรื่องการค้ายาเสพติด แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างถึงอำนาจอธิปไตยทำราวกับว่ายังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากในปัจจุบันระบบกฎหมายไทยก็ยอมรับผลบางประการของคำพิพากษาของศาลต่างชาติ ทั้งกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่คนไทยกระทำนอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษและอยู่ในเกณฑ์ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนหากต่างประเทศมีบทบัญญัติความผิดลักษณะเดียวกันด้วย และนั่นไม่ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยในทางศาลเหมือนในอดีต ในขณะที่บทบัญญัติลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. และรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญนั้นมุ่งเน้นที่จะคัดกรองมิให้ผู้มีประวัติมัวหมองเข้ามาใช้อำนาจในตำแหน่งสำคัญ แม้จะเป็นการต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศก็ถือเป็นประวัติที่มัวหมองได้เช่นกัน คำวินิจฉัยดังกล่าวได้ก่อประโยชน์ต่อ ร.อ.ธรรมนัส ให้ยังคงเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีต่อไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเคยมีการกระทำที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง คือเมื่อปี 2556 มีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นักการเมืองท้องถิ่นกล่าวในรายการวิทยุเปรียบเปรยถึงบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าขาดอิสระเสรีภาพ โดยถูกพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างว่ากฎหมายมิได้บัญญัติว่าห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น และการหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ทั้งที่การที่มาตรา 112 กำหนดกรรมของการกระทำไว้ที่เฉพาะบุคคลใน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ย่อมหมายถึงบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวและมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งดังกล่าว ณ ปัจจุบันเท่านั้น มิได้รวมถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งหากตีความแบบนี้ก็ต้องรวมพระเจ้าเอกทัศน์ด้วยใช่หรือไม่ มิเช่นนั้นแล้วมาตรานี้ก็ยังต้องใช้กับการหมิ่นประมาทผู้ที่เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเสียหมดทุกคน ซึ่งนั่นไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมายมาตราดังกล่าวอย่างแน่นอน ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าว แม้จะให้รอลงอาญา แต่ก็ได้สร้างความเสียหายแก่จำเลยให้กลายเป็นผู้มีความผิดติดตัว ทั้งที่เขาไม่ได้กระทำการอันเข้าข่ายความผิดนั้น จึงต้องถามว่าเป็นการตีความเกินกฎหมายและเป็นตัวอย่างของการบิดเบือนกฎหมายใช่หรือไม่

“ตัวอย่างล่าสุดคือในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ในเวลาต่อมามีความพยายามแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมคนสำคัญ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปพบพนักงานสอบสวนหรือขึ้นศาล ไม่พบพฤติการณ์ของการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานแต่อย่างใด แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเกี่ยวกับมาตรา 112 ศาลกลับไม่ให้ประกันตัว หรือกว่าจะให้ประกันตัวต้องไปยื่นนับสิบครั้งถึงจะได้ เช่น กรณีคุณเพนกวิ้น และสร้างเงื่อนไขที่ไม่ได้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แต่ไปห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามว่าจะต้องไม่เข้าไปร่วมกับการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเท่ากับว่าศาลกำลังตัดสินให้คนเหล่านี้ผิดไปแล้วโดยยังไม่มีการดำเนินการพิจารณาตามกฎหมายแต่อย่างใด กลายเป็นศาลได้สร้างเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งกฎหมาย ศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ไม่ได้ละเมิดเหตุแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งไม่หลบหนีหรือไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การที่ศาลใช้ดุลพินิจแบบนี้ก็เกิดคำถามว่าศาลเอาฐานกฎหมายอะไรในการมาดำเนินคดีหรือพิจารณากับประชาชน”

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ถ้าปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คงไม่มีประชาชนเชื่อกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป กระบวนการยุติธรรมจะพังทลาย และถ้ากระบวนการยุติธรรมพังทลาย ประเทศนี้จะอยู่อย่างไร จึงเป็นที่มาที่พรรคก้าวไกลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ไปการศึกษา พบว่า ในต่างประเทศได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายให้การบิดเบือนกฎหมายนั้นเป็นความผิดอาญา เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา (Strafgesetzbuch-StGB) มาตรา 339 (Section 339) ความว่า “ผู้พิพากษา เจ้าพนักงานของรัฐ หรืออนุญาโตตุลาการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย กระทำการบิดเบือนกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายของคู่ความ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี” (Judges, other public officials or arbitrators who, in the course of conducting or deciding a legal matter, bend the law for the benefit or to the detriment of a party incur a penalty of imprisonment for a term of between one year and five years.) โดยนัยก็คือเขามองว่า เจ้าพนักงานเหล่านี้เช่นศาลก็สามารถกระทำความผิดบิดเบือนกฎหมายได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีนักกฎหมายไทยให้ความสนใจในการศึกษา เช่น ในวิทยานิพนธ์ “ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษา: ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายเยอรมัน” ของ เหมือน สุขมาตย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนขึ้นเมื่อปี 2560 ได้เสนอว่า ควรมีการกำหนดฐานความผิดดังกล่าวไว้ในระบบกฎหมายของไทย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังมิได้กำหนดฐานความผิดดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงนำขอเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ในวรรคหนึ่ง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี และพนักงานสอบสวน ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือกระทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี”

ส่วนในวรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาและตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี”

“ร่างกฎหมายพรรคก้าวไกลฉบับนี้จะเสนอสู่สภาโดยเร็ว หากผ่านกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นนิมิตรใหม่หรือเป็นก้าวย่างสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าศาลยุติธรรมอยู่ในสภาวะที่จะเรียกว่าจะโปร่งใสก็ไม่โปร่งใส จะมืดมนก็ไม่มืดมน ที่ผ่านมาอาจจะได้ยินมาตลอดว่าศาลยุติธรรมอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลกันข้างใน แต่จากกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกำลังแสดงให้เห็นว่า ศาลที่กำลังเป็นอยู่ เป็นศาลที่ปราศจากการยอมรับของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เราหวังว่า ผู้เกี่ยวของในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการบิดเบือนกฎหมายต่อไป เราเชื่อว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทวงกระบวนการยุติธรรมจากขุนนางผู้ใช้กฎหมายเพื่อห้ำหั่นผู้บริสุทธ์ ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะถูกทำให้ไร้ความหมายไปมากกว่านี้ จึงอยากให้ทุกคนได้ติดตามและเราจะยื่นสู่สภาในเร็ววันนี้ ” รังสิมันต์ กล่าว

 

“บิ๊กตู่” ตรวจความพร้อมสถานที่ฉีดวัคซีนนอก รพ. สำหรับกลุ่มเป้าหมายแรก บุคลากรด่านหน้าและอาชีพเสี่ยง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ตรวจเยี่ยมสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ณ บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ปและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล หรือ "หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย" ณ บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เป็น 1 ใน 14 แห่ง โดยความร่วมมือบริการวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกรุงเทพมหานคร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลรามาธิบดี มีความพร้อมในการให้บริการวัคนตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วน อาทิ จุดลงทะเบียน จุดวัดน้ำหนักส่วนสูง จุดวัดความดัน จุดฉีดวัคชีน และจุดพักสังเกตอาการหลังการฉีด สามารถให้บริการ 1,000 คน ต่อวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. กลุ่มเป้าหมายแรกของการให้บริการเป็นกลุ่มบุคลากรด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติงานในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมากซึ่งได้รับการลงทะเบียนกับสำนักอนามัย กทม. แล้วเบื้องต้น 

กรุงเทพมหานครร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนเพื่อให้บริการฉีดวัคซึนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล พร้อมให้บริการ 14 แห่ง ได้แก่

1.) เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี

2.) เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

3.) ไอคอนสยาม ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช

4.) True Digital Park ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช

5.) สามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

6.) SCG บางชื่อ ร่วมกับกรมการแพทย์

7.) เดอะมอลล์ บางกะปิ ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

8.) เดอะมอลล์ บางแค ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์

9.) ธัญญาพาร์ค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก

10.) เอเชียทีค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก

11.) โรบินสันลาดกระบัง ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก

12.) โลตัส มีนบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก

13.) บิ๊กชี บางบอน ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก และ

14.) PTT Station พระราม 2 ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก 

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอสถานที่ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 11 แห่ง

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพร้อมอุปกรณ์และบุคลากร โดยสำนักอนามัยจะลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐานที่ กำหนด และเมื่อสามารถเปิดให้บริการ "หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ครบทั้ง 25 แห่ง แต่ละแห่งจะมีศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1,000-3,000 คนต่อวัน รวมสามารถให้บริการได้ 38,000-50,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ "หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย" ทุกแห่งจะเปิดให้บริการต่อเนื่อง 7 เดือน เพื่อให้การบริการวัคซีนเป็นไปอย่างทั่วถึง รวดเร็วและปลอดภัยสำหรับประชาชนสูงสุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top